ThaiPublica > คอลัมน์ > “อ่านพม่าจากข่าว”

“อ่านพม่าจากข่าว”

14 พฤศจิกายน 2012


ดร.วิรไท สันติประภพ
[email protected]

ที่มาภาพ : http://www.irrawaddy.org
ท่าเรือน้ำลึกทิลาวา ที่มาภาพ : http://www.irrawaddy.org

หลังจากผ่านไปหกเดือน ผมได้มีโอกาสกลับไปย่างกุ้งและเนย์ปิดอว์อีกครั้งหนึ่งเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว เพื่อติดตามความช่วยเหลือเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดทุนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงาน กลต. จะให้แก่ธนาคารกลางของพม่า กลับไปครั้งนี้ได้เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่ารถที่ติดมากขึ้นในย่างกุ้ง การก่อสร้างโรงแรมเพิ่มขึ้นอีกหลายตึกในเนย์ปิดอว์ รวมทั้งราคาห้องพักโรงแรมที่แพงขึ้นมาก

เมื่ออ่านหนังสือพิมพ์ The Myanmar Times ยิ่งสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของพม่าที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างชัดเจน แม้ว่าพม่าจะปิดประเทศมาหลายสิบปี แต่คุณภาพของ The Myanmar Times ถือว่าดีมาก ดีกว่าในหลายประเทศที่สื่อถูกแทรกแซงโดยรัฐบาล The Myanmar Times จัดได้ว่าเป็นสื่ออิสระที่ได้รับความนิยมสูง ผู้บริหารของหนังสือพิมพ์เคยถูกรัฐบาลทหารกักขังไว้ช่วงหนึ่ง จึงนับได้ว่ามีประวัติที่รับประกันความอิสระได้อย่างดี

The Myanmar Times ฉบับอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคมต่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2555 สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าในหลายมิติ ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสามข่าวที่น่าสนใจ ต้องติดตาม และคิดต่อเป็นอย่างยิ่ง

ข่าวแรก คือข่าวที่ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง จัดให้มีการแถลงข่าวในพม่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดี การจัดให้ประธานาธิบดีพบกับสื่อมวลชนท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศประชาธิปไตย แต่ในพม่าซึ่งเคยมีธรรมเนียมการแทรกแซงสื่อ และไม่ค่อยเห็นความสำคัญต่อสื่อท้องถิ่นที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลนั้น นับว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดที่สำคัญมาก

การจัดงานประธานาธิบดีพบกับสื่อมวลชนในครั้งนี้ ไม่ใช่การให้สัมภาษณ์ตามขั้นบันไดเหมือนกับที่ผู้นำไทยชอบทำ แต่ใช้เวลากว่าสองชั่วโมง และมีสื่อมวลชนเข้าร่วมกว่า 100 คน เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนถามคำถามตรงไปตรงมาในเรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปัญหาความรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ แนวทางการเจรจาสันติภาพในรัฐคะฉิ่น ปัญหาการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่ถูกหน่วยงานของรัฐเวนคืนที่ดิน ตลอดไปจนถึงการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าสื่อพม่าจะรายงานว่ายังไม่ค่อยพอใจกับช่วงเวลาที่ให้ถามประธานาธิบดีเท่าไหร่นัก แต่ก็นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าชื่นชม

ข่าวที่สอง รายงานความคืบหน้าของเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา (Thilawa) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้อย่างจริงจังต้นปี 2556 เขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา เป็นหนึ่งในสามเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลพม่าจัดสรรให้กับพันธมิตรต่างชาติ 3 ประเทศ คือ ทิลาวาเป็นของญี่ปุ่น เจ้าผิว (Kyaukphyu) เป็นของจีน และทวาย (Dawei) เป็นของไทย ดังนั้น จะจัดว่าโครงการทิลาวาเป็นคู่แข่งกับโครงการทวายก็เป็นได้ ในขณะที่เรายังต้องลุ้นกันอยู่ว่าโครงการทวายจะเดินหน้าได้อย่างไร จะจัดสรรประโยชน์ระหว่างไทยกับพม่าให้ลงตัวได้อย่างไร โครงการทิลาวาซึ่งได้รับสัมปทานทีหลังกลับมีความคืบหน้าที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมกว่าโครงการทวายมาก

รัฐบาลพม่าประกาศโครงการทิลาวาให้คนทั่วไปทราบเมื่อต้นปี 2554 นี้เอง แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าโครงการทวายมาก แต่ได้เปรียบโครงการทวายเพราะทิลาวาอยู่ห่างจากย่างกุ้งเพียง 25 กิโลเมตร และจะเชื่อมโยงกับท่าเรือเก่าที่ปากแม่น้ำย่างกุ้งได้อย่างดี

โครงการทิลาวา ถือหุ้นโดยรัฐบาลพม่าร้อยละ 51 และญี่ปุ่นร้อยละ 49 โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น 3 บริษัทเข้าร่วมเป็นพันธมิตร คือ Mitsubishi, Marubeni และ Sumitomo ทั้งสามบริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและเจ้าของเทคโนโลยี (ระดับโลก) หลายด้าน คาดว่าโครงการในทิลาวาจะผลิตสินค้าสำหรับทั้งการส่งออกและตอบสนองความต้องการของตลาดภายในพม่าที่โตขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานให้แก่ประชาชนพม่าในวงกว้างอีกด้วย

การที่รัฐบาลพม่าสามารถขับเคลื่อนโครงการทิลาวาได้รวดเร็วนั้น เป็นตัวอย่างสำคัญที่รัฐบาลไทยและธุรกิจไทยจะต้องเร่งศึกษาและนำมาปรับใช้สำหรับทั้งโครงการทวายและโครงการความร่วมมืออื่นๆ เพื่อที่เราจะไม่เสียโอกาสร่วมกับพม่าเดินไปข้างหน้าแบบชนะร่วมกัน (win-win) รัฐบาลพม่าใช้การเลือกตั้งในปี 2558 เป็นเงื่อนเวลาที่สำคัญสำหรับโครงการเหล่านี้ เพราะต้องแสดงให้ประชาชนพม่าเห็นก่อนการเลือกตั้งว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ถ้าโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่ายังขับเคลื่อนด้วยกำหนดเวลาแบบไทยไทยแล้ว คงจะไม่ทันใจพม่าและคู่แข่งจากประเทศรอบข้างที่รอเสียบอยู่อย่างแน่นอน

ข่าวที่สาม เกี่ยวกับความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในย่างกุ้ง ทั้งที่อยู่อาศัยและสำนักงาน คนท้องถิ่นพม่ากำลังเดือดร้อนอย่างหนัก จากการที่ชาวต่างชาติจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปหลังจากพม่าเปิดประเทศ ในช่วงที่พม่าปิดประเทศนั้น การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานใหญ่ๆ จำกัดมาก ชาวต่างชาติมักจะเช่าห้องพักตามโรงแรมทำเป็นสำนักงานและที่พักระยะยาว แต่เมื่อห้องพักโรงแรมขาดแคลน พวกฝรั่งอยู่ยาวและสำนักงานเหล่านั้นจึงต้องย้ายออกจากโรงแรมไปหาที่พักใหม่ ซึ่งหนีไม่พ้นว่าคนที่รับกรรมคือคนท้องถิ่นพม่าที่ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ราคาบ้านเช่าในย่างกุ้งโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และคนพม่าต้องย้ายออกไปเช่าบ้านไกลมากขึ้น ต้องเสียเวลาเดินทางเข้ามาทำงานและทำให้เกิดปัญหารถติด ปัญหาค่าเช่าบ้านในย่างกุ้งเป็นปัญหาที่อ่อนไหวมาก และถ้าไม่ได้รับการจัดการที่ดีแล้ว จะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่พอใจของคนชั้นกลางพม่าได้

นอกจากสามข่าวข้างต้นแล้ว The Myanmar Times ยังได้รายงานอีกหลายข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพม่า และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งสองเรื่องนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจของพม่า พม่าขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานแทบจะทุกด้าน แม้ว่าพม่าจะส่งออกพลังงานหนึ่งในสิบอันดับต้นๆ ของโลก แต่คนพม่าไม่สามารถเข้าถึงพลังงานของตนเองได้ เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานและขาดระบบบริหารจัดการที่ดี

นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนของชาวต่างชาติจะต้องเปลี่ยนจากที่เน้นให้บริษัทต่างชาติเข้าไปขุดเอาพลังงานพม่าแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประชาชนพม่า เพื่อจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนพม่าในวงกว้างด้วย

The Myanmar Times ฉบับนี้ไม่ได้รายงานเฉพาะข่าวภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีข่าวรอบโลกและข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยอยู่ 2 ข่าว ข่าวแรกเป็นข่าวเกี่ยวกับโครงการผ่าตัดหัวใจฟรีให้แก่เด็กพม่าของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ The Myanmar Times รายงานว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ทำโครงการนี้เพื่อตอบแทนคนพม่าที่เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของโรงพยาบาล กิจกรรมเพื่อสังคมเช่นนี้เป็นกิจกรรมที่น่าชื่นชมยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับพม่าแล้ว ยังเป็นการตอบโจทย์ที่ตรงกับความต้องการของพม่าอย่างตรงประเด็น

สำหรับอีกข่าวหนึ่งเกี่ยวกับเมืองไทยนั้น อ่านแล้วอายพม่า The Myanmar Times รายงานเกี่ยวกับปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไทย ที่กำลังทำให้ไทยสูญเสียความเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวให้แก่ผู้เล่นรายใหม่ เช่น กัมพูชาและพม่า (ไม่ใช่แค่อินเดียหรือเวียดนามที่เรามักได้ยินกันเท่านั้น) รวมทั้งยังรายงานถึงผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา โดยเฉพาะการขาดแคลนโกดังเก็บข้าว จนต้องคิดที่จะใช้อาคารคลังสินค้าของสนามบินดอนเมือง

อ่าน The Myanmar Times ฉบับนี้แล้วได้ข้อคิดหลายอย่าง เพราะ The Myanmar Times ไม่ได้แค่สะท้อนการปฏิรูปในพม่าอย่างมีทิศทางชัดเจน รวดเร็ว และเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังทำให้ธุรกิจไทยและรัฐบาลไทยต้องคิดว่า ทำอย่างไรที่เราจะเดินหน้าไปกับพม่าอย่างชนะร่วมกัน และทำอย่างไรที่คนไทยจะมีโอกาสอ่านข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปในหนังสือพิมพ์ไทยได้บ้าง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555