ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (7): ประเมินเอเอ็มซีไทยล้ำหน้าต่างประเทศ

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (7): ประเมินเอเอ็มซีไทยล้ำหน้าต่างประเทศ

17 ตุลาคม 2012


ไทยพับลิก้า : ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นนี่สามารถเปรียบเทียบได้

บรรยง : ผมว่าเดินไปอยู่แถวหน้าแล้ว

ไทยพับลิก้า: ช่วยขยายความคำว่าแถวหน้านี้

บรรยง : แถวหน้า คือ เป็นการดำเนินการที่ละเอียด ที่ครบวงจร อย่างที่ว่า ไม่ได้ซื้อมาขายไป แล้วทำอย่างถาวร สามารถที่จะอยู่คู่กับเศรษฐกิจทั้งระบบปกติและวิกฤติได้ อันนั้นผมถือว่าเป็นเอเอ็มซีที่อยู่แนวหน้าแล้ว เอเอ็มซีที่อื่น เท่าที่ดูการทำงาน ผมยกตัวอย่างเรื่องเดียว เรื่องเอ็นพีเอ ผมแทบไม่เห็นเอเอ็มซีต่างชาติเขาเข้ามาทำ

แต่เรื่องการแก้หนี้เสียจริงๆ มี 2 ส่วน คือทั้งเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอ คือมีทั้งสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และมีทรัพย์สินรอการขาย ส่วนใหญ่ต่างประเทศก็จะทำสินเชื่อปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น พอมาเป็นเอ็นพีเอก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ บสก. ทำครบทั้งส่วนที่เป็นสินเชื่ออย่างเอ็นพีแอลและส่วนที่เป็นทรัพย์สินซึ่งคือเอ็นพีเอ มีที่ดินมา มีบ้านที่รกร้างมาก็ต้องทำเป็นครับ ต้องทำเป็น ทำให้ครบไง ทำให้มันครบแล้วกลับไปเป็นหนี้ที่ดีให้ได้ ไม่ใช่ทำครึ่งเดียว อย่างนี้ผมถือว่ายังเป็นเอเอ็มซีที่ไม่ครบวงจร

แต่ประเทศอื่นไม่มีนะครับ ไปเช็คดูแล้วประเทศอื่นไม่มีทำซีกเอ็นพีเอ แทบจะไม่มีเลยเพราะว่าทำยาก แล้วก็เกี่ยวกับคนด้วย พื้นฐานคนที่เป็นเอเอ็มซีมาจากแบงก์พาณิชย์ เรื่องสินเชื่อนี่เขาชำนาญอยู่แล้ว ไม่มีใครเถียง ด้านหนี้เป็นสินเชื่อคือเอ็นพีแอล หรือหนี้ด้อยคุณภาพ แต่พอเป็นเอ็นพีเอแล้วคนละประเภทกัน การจัดการเรื่องนี้ต้องใช้คนอีกชนิดหนึ่ง คือ เป็นนักการตลาด บ้างก็เป็นนักอสังหาฯ คนละกลุ่มกัน แนวคิดอาจจะต่างกันนิดหนึ่ง

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

เพราะฉะนั้น การที่จะใช้คนคนเดียวกันทำ 2 ซีก มันยากหน่อย เราจึงไม่ค่อยเห็นเอเอ็มซีซีกที่เป็นสินเชื่อแล้วมาทำซีกที่เป็นมาร์เก็ตติ้ง เพราะค่อนข้างจะปรับหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ที่ บสก. เราต้องทำ เพราะเราคิดว่าเราอยากเป็นเอเอ็มซีที่เป็นเอเอ็มซีหลักของประเทศ แล้วข้อสำคัญต้องทำให้ได้ เราจึงต้องเทรนคนมาก เทรนคนที่จะมีพื้นฐานด้านสินเชื่อซึ่งเก่งอยู่แล้ว ต้องใช้คนคนเดียวกันนี้มาทำซีกมาร์เก็ตติ้งด้วย ซีกอสังหาฯ เป็น property management วันนี้ก็สามารถทำได้ดีพอสมควร ก็สามารถมีแนวคิดทั้งสองด้านในคนคนเดียวกัน ในองค์กรเดียว

ไทยพับลิก้า : แสดงว่า 15 ปีของวิกฤติที่ผ่านมาทำให้เอเอ็มซีสามารถที่จะปรับตัว เรียนรู้ และพร้อมที่จะรับมือกับวันข้างหน้า หากว่าเกิดวิกฤติขึ้นอีก

บรรยง : ผมว่าวิกฤติก็มีข้อเสียอย่างที่ว่า แต่แง่ดีของมันก็คือทำให้เราได้ระวังตัวเอง เราได้เกิดของดีๆ ใหม่ขึ้นเยอะมาเหมือนกัน คือระบบแบงก์พาณิชย์ก็มีระบบตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง เห็นไหมครับ ก็จะมีการพูดถึงธรรมาภิบาลมากขึ้นในยุคหลังจากปี 2540 แต่ในอีกซีกหนึ่งที่เป็นผลผลิตของวิกฤติเศรษฐกิจก็คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ คือเอเอ็มซี ก็เป็นผลผลิตที่เกิดจากปี 2540 ถ้าไม่เกิดเราก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้ระวัง พอเรามีแล้วมันก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอันหนึ่งของวิกฤติที่ทำให้เกิดเอเอ็มซี ทำให้มีข้อดีของมันที่จะรองรับข้างหน้าได้ คือในวิกฤติก็มีข้อดี มันทำให้เราได้แข็งแรงขึ้น

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าประเทศไทยพร้อมที่จะรับวิกฤติใช่ไหม

บรรยง : พร้อมบางส่วนครับ พร้อมบางจุดพร้อมบางส่วน แต่ก็อย่าประมาทนะครับ อะไรที่มันเกิดมันเกิดเร็วมาก แล้วก็โดยวิสัยมนุษย์แล้วก็ในระบบทุนนิยม ความรู้จักพอก็มีกำจัดอยู่ มันก็จะลืมอะไรไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน พอเราลืมอะไรบางอย่าง มันมา มันมาเร็วครับ เปรียบเทียบเหมือนน้ำท่วมแหละ บางทีเราเผลอหน่อยเดียวมันอาจจะมาท่วมบ้านท่านได้ ทั้งที่เราคิดว่าเราป้องกันดีแล้ว อ่านต่อตอน 8 ประสบการณ์แก้หนี้ “อสังหาฯ” ยากสุด

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ2540 สนับสนุนโดย บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)