ThaiPublica > คนในข่าว > “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ชู CSR “Care-Share-Respect” แก้ภาพปตท.ผูกขาด-ผลประโยชน์ทับซ้อน

“ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ชู CSR “Care-Share-Respect” แก้ภาพปตท.ผูกขาด-ผลประโยชน์ทับซ้อน

22 พฤษภาคม 2012


ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน

เมื่อเอ่ยชื่อ “ปตท.” คงไม่มีใครไม่รู้จักกลุ่มธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทย มีปั๊มน้ำมันกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,400 แห่ง ปี 2554 ปตท. มีกำไรสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาท มีรายได้นำส่งรัฐปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ปตท. ได้รับรางวัลด้านธรรมาภิบาลมากมาย ด้วยความที่เป็นยักษ์ใหญ่ของวงการพลังงาน เวลาเคลื่อนไหวเรื่องใดๆ เป็นอันต้องถูกมองว่ามีอิทธิพลเหนือตลาดเสมือนมีอำนาจลึกลับค่อยให้ความช่วยเหลือ

ขณะที่บทบาทของ ปตท.เอง ยังไม่สามารถแยกบทบาทได้ชัดเจนระหว่างบริษัทมหาชนกับรัฐวิสาหกิจ จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นภาพลักษณ์ที่ ปตท.พยายามสร้างใหม่ว่าเป็นบริษัทพลังงานที่ยั่งยืนให้ลูกหลานไทยได้มีพลังงานใช้อย่างไม่ขาดมือ

“ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) CEO คนใหม่ ให้สัมภาษณ์เพื่อบันทึกเทปรายการสยามวาระ สำนักข่าวไทยพับลิก้าในฐานะผู้ร่วมสนับสนุนข้อมูล จึงนำรายละเอียดคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมานำเสนอ เป็นคำถามที่ ปตท. ในฐานะจำเลยสังคมจะต้องตอบ

ไทยพับลิก้า : มีหลายคนตั้งข้อสังเกตุว่าทำไม ปตท. กำไรเยอะจัง

ผมขอเรียนว่า ปตท. มีภาระกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ต้องออกไปแสวงหาพลังงานมาให้คนไทย 60 ล้านคนได้มีพลังงานใช้ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า และมีบางท่านถามผมว่า กำไรตั้งแสนล้านบาททำไม ปตท. ไม่เจียดเงินสัก 10,000 ล้านบาทไปช่วยแท็กซี่บ้าง ผมก็ตอบเขาไปว่า คุณต้องไปขออนุญาตคน 67 ล้านคนก่อน ว่าทำไมต้องมาเอาเงินพวกเขาไปช่วยแท็กซี่ แต่ถ้าจะให้ ปตท. เอาเงินไปช่วยเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะตอนนี้ ปตท. แบกรับภาระเอ็นจีวีปีละหลายหมื่นล้านบาท

ส่วนคำถามที่ว่าทำไม ปตท. กำไรเยอะจัง จริงๆ กำไรปีละแสนล้านบาทไม่ได้มากอย่างที่คิด ถ้าเอา 67 ล้านคนหาร ตกคนละ 1,000 บาทต่อปีเท่านั้น ขณะที่ ปตท. มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกสำรวจค้นหาแหล่งพลังงาน เพื่อนำมาให้คนไทยได้ใช้กันอย่างเพียงพอ ในอนาคตต้องเดินทางไปพม่า ตะวันออกกลาง ขั้วโลกเหนือ

ไทยพับลิก้า : คุณไพรินทร์วางเป้าหมาย หรือกำหนดวิสัยทัศน์ของ ปตท. เอาไว้อย่างไรบ้าง

เป้าหมายคือ ผมต้องการผลักดันให้ ปตท. เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่มีความยั่งยืน การที่จะไปถึงจุดหมายได้ต้องทำ 2 ภารกิจให้สำเร็จ ภารกิจแรก คือ สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน ภารกิจที่สอง ต้องสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ นี่คือภารกิจหลัก

ความยั่งยืนมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน ประการแรก ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นในระดับที่เหมาะสม

ประการที่ 2 ปตท. ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ สิ่งที่สังคมคาดหมายคือต้องมีบรรษัทภิบาล โปร่งใส และที่สำคัญ ปตท. ต้องปฎิบัติตามกฏหมายทั้งหมดอย่างเคร่งครัด ฝรั่งใช้คำว่า “compliance unit” และผู้ให้บริการที่ดีแก่ประชาชน

ประการที่ 3 ปตท. เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ จำเป็นต้องมีโรงกลั่นน้ำมันโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับชุมชน ดังนั้น ในการทำธุรกิจของ ปตท. ทุกครั้งต้องได้รับฉันทานุมัติจากชุมชน จึงต้องมีกิจกรรมเพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม หรือที่เรียกว่า “CSR” ภาคธุรกิจจะเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ปัจจุบันมีตำราที่เขียนเกี่ยวกับ CSR มากมาย มีการกำหนดมาตรฐานสากล ISO 20006 ว่าด้วยเรื่อง CSR แต่การทำ CSR จริงๆ ต้องทำอย่างมีจิตวิญญาณ เมื่อทำแล้วต้องได้รับความไว้วางใจและความเชื่อถือจากสังคม

CSR ของ ปตท. คือ C : Care, S:Share, R : Respect กล่าวโดยรวมคือ Care-Share-Respect จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นรับรู้ว่า ปตท. ห่วงใยพวกเขาในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ก่อนจะทำอะไรควรแจ้งให้ชุมชนทราบ เรื่องนี้สำคัญมาก หาก ปตท. ไม่ได้รับความไว้วางใจหรือความน่าเชื่อถือจากสังคม มันจะทำอะไรไม่ได้เลย นี่คือหัวใจของการทำ CSR

ไทยพับลิก้า : ปตท. ต้องดูแลผลประโยชน์ของสาธารณะในฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่อีกด้านต้องทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นในฐานะบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ผ่านมาบริหารอย่างไรให้เกิดความสมดุล

เมื่อปี 2554 ยอดขาย ปตท.อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาทกำไรสุทธิรวมบริษัทย่อยประมาณ 1 แสนล้านบาท กำไรของ ปตท. มีสัดส่วนแค่ 5% ของยอดขายเท่านั้น แต่เวลาพูดกันที่ตัวเลข 1 แสนล้านบาท มันเป็นตัวเลขที่เยอะมาก ความหมายคือ ลงทุนซื้อของมาขาย 100 บาท กำไร 5 บาท จริงๆ แล้ว ปตท.ไม่ได้มีกำไรอะไรมากอย่างที่คิด

และถ้าไปดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดคือกระทรวงการคลังถืออยู่ 60% ที่ผ่านมา ปตท. จ่ายปันผลส่งเป็นรายได้แผ่นดิน 4 แสนล้านบาท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละหลายหมื่นล้านบาท สุดท้ายเงินเหล่านี้กลับไปสู่ประชาชนในรูปของงบประมาณ

ในฐานะที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะมี สตง. เป็นผู้สอบบัญชีและยังมีคณะกรรมการอิสระเข้ามากำกับดูแล จนทำให้ ปตท. ได้รับรางวัลด้านธรรมาภิบาลหลายรางวัล ตรงนี้เป็นเครื่องยืนยันความโปร่งใส ผมได้แจ้งคณะกรรมการ ปตท. ไปแล้วว่า ผมจะประกาศเป็นนโยบายว่าต่อไปนี้ ปตท. จะต้องปฎิบัติตามกฏหมายและกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด (compliance) เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา

ทุกวันนี้คนมักเข้าใจว่า ปตท. กำไรแสนล้านบาท แต่กำไรนั้นไม่ใช่ของ ปตท. แห่งเดียวแต่มาจากธุรกิจอื่นด้วย ส่วนเรื่องการเป็นผู้ให้บริการที่ดี “service mind ” นั้น อย่างเช่น ธุรกิจขายน้ำมันทำอย่างไรถึงจะให้ผู้ใช้น้ำมันของ ปตท. มีความสุข ดังนั้น ปั๊มน้ำมันของ ปตท. ห้องน้ำต้องสะอาด บริการต้องดี นี่คือเป้าหมายหลัก

ช่วงปลายปีที่แล้วเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 20-30 จังหวัด อย่างเช่น นครศรีอยุธยา ปทุมธานี ถูกน้ำท่วม 90% ของพื้นที่ แต่ ปตท. ยังสามารถจัดส่งน้ำมันไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้มีน้ำมันใช้ไม่ขาดแคลน ภาคกลางจะเสียหายแค่ไหนเราก็ต้องส่งน้ำมันให้ได้ นี่คือภาระกิจรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงาน

ไทยพับลิก้า : ต่อข้อกล่าวหาที่ว่า ปตท. เป็นกิจการผูกขาดกำไรเยอะ เอาเปรียบผู้บริโภคจะชี้แจงอย่างไร

ผมรู้สึกเห็นใจนะครับ หลังจากแปรรูป ปตท. ปั๊มน้ำมันมีทั้งเอสโซ่ บางจาก คาร์ลเทค จริงๆ ปตท. ขายน้ำมันแค่ 30-40% ของตลาดเท่านั้น ปตท. ไม่ได้เป็นผู้ค้ารายใหญ่ ไม่มีอำนาจพิเศษอะไร เพราะทุกวันนี้ไม่มี พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแล้ว

ไทยพับลิก้า : ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฯ จึงไม่สามารถเอาผิดได้

ในเมืองไทยมีกลไกคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรก เป็นกฏหมายป้องกันการผูกขาด กระทรวงพาณิชย์เป็นคนดูแล แต่รัฐวิสาหกิจได้รับการยกเว้น เนื่องจากมีกิจกรรมหลายประเภทต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่รัฐจึงไม่ควรอยู่ภายใต้กฏหมายฉบับนี้ อย่างเช่น กิจการรถไฟขาดทุนมหาศาล รัฐต้องให้เงินอุดหนุนตลอด จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดไม่ได้

รูปแบบที่สอง กลไกตลาดใช้ไม่ได้เลย อย่างเช่น กิจการโทรคมนาคมมีอยู่ 3 ราย ตั้งเสารับส่งสัญญาณไปทั่วประเทศแล้ว คงจะไม่มีรายที่ 4 มาเริ่มตั้งเสาแข่งกับรายเก่า กิจการน้ำมันก็เหมือนกัน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกมีอยู่ 3 บริษัท คือ เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ คงจะไม่มีรายที่ 4 แต่ก็ห้ามไม่ได้ กรณีนี้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้

ในเมืองไทย กรณีของโทรคมนาคม จึงใช้รูปแบบของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ส่วนน้ำมันจะเป็นมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดูแล กระทรวงพลังงานดูแลในเรื่องนโยบาย ส่วน ปตท. เป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่ง อย่างกรณีที่ ปตท. สร้างท่อก๊าซขึ้นมา ปตท. เป็นเจ้าของแต่ค่าผ่านท่อ ปตท. กำหนดเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กกพ. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลความเที่ยงธรรมและรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ

ไทยพับลิก้า : “ทีดีอาร์ไอ” เสนอให้ยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เข้ามาอยู่ภายใต้กฏหมายแข่งขันทางการค้า

ปตท.ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยถ้าจะเข้าไปอยู่ในกฏหมายแข่งขันทางการค้า แต่ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ถือหุ้น การที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ปตท. ต้องเข้าใจโครงสร้างด้วย ทุกวันนี้ในการประกอบธุรกิจด้านพลังงาน ผู้ที่ออกใบอนุญาตธุรกิจนี้คือ กกพ.ไม่ใช่กระทรวงพลังงานด้วย ปตท.ไม่สามารถกำหนดราคาพลังงานได้เอง ถ้าจะเข้าไปอยู่ภายใต้กฏหมายการแข่งขันทางการค้าก็ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมา ปตท. มีการพัฒนาเรื่องความโปร่งใสไว้อย่างไร

การพัฒนาเรื่องความโปร่งใสเสมือนแนวคิดที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งเราคิดว่าดีแล้วแต่พอมีแนวคิดดีๆ ขึ้นใหม่เราก็ต้องทำต่อ สมัยก่อนกำหนดให้มีกรรมการอิสระในบอร์ด 1 ใน 3 แต่สมัยนี้ต้องมีอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสภาวะสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่ง ปตท. ต้องตามให้ทัน ผมคิดว่ากลุ่มบริษัทของ ปตท. ทั้ง 5 บริษัททำตามเกณฑ์นั้นได้ สังเกตจากรางวัลที่เราได้รับทั้งในประเทศก็ดี ต่างประเทศก็ดี

ไทยพับลิก้า : หลักเกณฑ์ที่เป็นตัวชี้วัดเรื่องธรรมาภิบาลภายในองค์กรมีอะไรบ้าง

ตัวชี้วัดเรื่องธรรมาภิบาลของ ปตท. เราทำเป็นรายหัวข้อแต่ละเรื่องอย่างละเอียดมาก อย่างเช่น เรื่องการเปิดเผยข้อมูล ปตท. ทำอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นข้อมูลเจาะลึกมากๆ ก็มาดูได้ที่แบบ 56-1 เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ และจากการที่ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องมี สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าข้อมูลของ ปตท. มีความน่าเชื่อถือ ตัวชี้วัดอีกตัวคือ การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน

ไทยพับลิก้า : กรณีที่มีข้าราชการประจำมานั่งเป็นกรรมการบริษัท ปตท. รับโบนัสเบี้ยประชุมปีละหลายล้านบาท ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ผมมองไม่เห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนตรงไหนเลย กล่าวคือ รัฐบาลเป็นถือหุ้นใหญ่ของ ปตท. ก็ต้องส่งตัวแทนมากำกับดูแล และมันคงเป็นเรื่องน่าแปลกมากถ้าผมเป็นเจ้าของบริษัทแล้วผมไม่ส่งคนเข้ามาดูแล และที่สำคัญ รัฐวิสาหกิจต้องทำงานให้สอดคล้องกับนโยบาย

ข้าราชการระดับสูงมานั่งเป็นบอร์ด ปตท. ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงาน ป.ป.ช.ผมคิดว่ากรรมการแต่ละท่านมีความโปร่งใส จึงมองไม่เห็นผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร บริษัท ปตท. มียอดขาย 2.4 ล้านล้านบาท เท่ากับงบประมาณแผ่นดิน ประเด็นคือควรจะจ่ายผลตอบแทนกรรมการเท่าไหร่ แม้แต่รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนยังจ่ายผลตอบแทนกรรมการเลย

นอกจากนี้ คณะกรรมการและผู้บริหารต้องรับผิดชอบคนไทย 67 ล้านคนให้มีพลังงานใช้ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ตอนนี้พวกเราต้องถูกฟ้องหลายคดี เป็นภาระที่กรรมการและผู้บริหารต้องรับผิดชอบมัน จะคุ้มไหมกับผลตอบแทนที่ได้รับ

ไทยพับลิก้า : ค่าตอบแทนกรรมการขึ้นอยู่กับผลกำไรการออกกฏระเบียบต่างๆ อาจจะถูกมองว่าไปเกื้อหนุนธุรกิจ ปตท.

ผมเข้าใจว่าเรื่องการออกนโยบายเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตัวรัฐมนตรีไม่ได้มานั่งเป็นบอร์ด ปตท. มีแต่ข้าราชการ ดังนั้น คนออกนโยบายจึงไม่มีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน

ไทยพับลิก้า : แต่คนออกนโยบายมีอำนาจสั่งโยกย้ายข้าราชการได้

นโยบายถูกกำหนดมาจากข้างบน (รัฐบาล) ข้างล่างไม่มีสิทธิกำหนดนโยบาย จึงมองไม่เห็นประเด็นความขัดแย้ง ยกเว้นถ้ารัฐมนตรีมานั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจแต่นโยบายไม่ได้ถูกกำหนดโดยข้าราชการ ตรงกันข้าม หากรัฐวิสาหกิจไม่สนองนโยบายก็มีปัญหา เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นของรัฐต้องสนองนโยบายถูกไหม

ไทยพับลิก้า : ปตท. เป็นบริษัทขนาดใหญ่เกินกว่าที่ กกพ. จะกำกับดูแลหรือเปล่าแม้แต่สื่อเองก็ไม่กล้าตรวจสอบ เพราะ ปตท. จัดงบฯ ประชาสัมพันธ์ไปลงตามสื่อต่างๆ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้นปี 2555 กรณีภาคขนส่งชุมนุมคัดค้านการปรับราคาเอ็นจีวี ผมไม่เห็น ปตท. จะได้ประโยชน์อะไรจากการลงโฆษณาตามสื่อต่างๆ เพราะสื่อมีเสรีภาพ น้ำมันขึ้น น้ำมันลง น้ำมันแพง ก็โทษ ปตท. แต่ผมไม่ไปโทษประชาสัมพันธ์น่ะ ปัญหาน้ำมันแพงนี่ต้นเหตุมาจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง

ส่วนคำถามที่ว่า ปตท. ใหญ่เกินไปหรือเปล่า วันนี้เรามอง ปตท. เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทย แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับโลก ปตท. ไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ เชลล์ เอสโซ คาลเท็กซ์ ใหญ่กว่า ปตท. 100 เท่า แต่วันนี้ สิ่งที่ ปตท. พยายามทำคือแสวงหาแหล่งพลังงานเพื่อให้คนไทยได้มีพลังงานใช้ในอนาคต เพราะไทยไม่มีบ่อน้ำมันขนาดใหญ่

“การออกไปแสวงหาพลังงานในต่างประเทศต้องเจอกับบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า ปตท.100 เท่า หลายๆ ครั้งบริษัทต่างชาติใหญ่ๆ เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของเขา ถ้า ปตท. ไม่มีขนาดใหญ่พอสมควรจะออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างไร บางครั้งเราถูกแกล้ง ถูกดูถูก ถึงแม้ ปตท. จะมีขนาดใหญ่แค่ไหน เงินเดือนผมก็ไม่ได้ขึ้น ผมมีคณะกรรมการ ปตท. เป็นคนดูแลเรื่องเงินเดือนของผมอยู่”

ไทยพับลิก้า : รู้สึกหนักใจหรือไม่ที่มานั่งเป็นซีอีโอ ปตท. และพอใจผลงานของตนเองแค่ไหน

วันนี้ ปตท.อายุ 33 ปี เราเติบโตจากที่ไม่มีอะไรเลย ความสำเร็จของ ปตท. เกิดจากกำไรสะสมมานาน ถือว่าเป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่องในการทำงานมาก โดยเฉพาะอดีตผู้บริหารแต่ละท่านเป็นคนเก่งๆ ทั้งนั้น มีมาตรฐานสูงมาก หากเปรียบเทียบกับอดีตผู้บริหารเหล่านี้ผมก็รู้สึกหนักใจ แต่ถ้าถามว่าพอใจกับผลงาน 6 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่ ผมตอบว่า “ไม่”

ช่วงที่ผมเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ก็มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ แม้กระทั่งสำนักงานใหญ่ ปตท. ก็ถูกน้ำท่วม ภารกิจแรกของผม คือ ต้องปกป้องทรัพย์สินของ ปตท. ไม่ให้ได้รับความเสียหาย ทั้งที่สำนักงานใหญ่ วังน้อย บางปะอิน ลำลูกกา ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้รับความเสียหายเลย หลังจากที่เราป้องกันตัวเองได้แล้วจากนั้น ปตท. ถือเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ออกไปช่วยเหลือผู้ปประสบอุทกภัย

ไทยพับลิก้า : โจทย์ที่ถือเป็นความท้าทายของ ปตท. ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

คือ ตอนนี้ ปตท. ทำธุรกิจกับ 14 ประเทศ ต้องออกไปหาพลังงาน ขณะที่โลกมีความผันผวน จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถมากและต้องทุ่มเทให้กับการทำงาน มีความท้าทายใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวเราอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น เช่น น้ำท่วมกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ แต่มันเกิดขึ้นแล้ว หรือแม้แต่ความไม่สงบในตะวันออกกลางก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดการโจมตีกันเมื่อไหร่ แค่ช่วงข้ามคืนราคาพลังงานก็เปลี่ยนไป 10 เซนต์ ซึ่งเราต้องพยายามพาธุรกิจของ ปตท. ไปให้ได้

ไทยพับลิก้า : การเข้าสู่ AEC จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และ ปตท. ต้องปรับตัวอย่างไร

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นตลาดใหญ่มากก็จริง แต่การจะได้ประโยชน์จากตลาดที่ใหญ่ขึ้นเราต้องแข่งขันเป็น เสรีต้องมีการแข่งขัน ถ้ามองในในแง่ความได้เปรียบ อย่างประเทศสิงค์โปร์ที่ผ่านมาได้เข้าสู่เวทีการแข่งขันภายใต้กติกาของตลาดโลกอยู่แล้ว สิงค์โปร์จะเข้าร่วม AEC หรือไม่ ก็ไม่เสียเปรียบประเทศใด

ส่วนกรณีของประเทศไทย กลุ่มธุรกิจภายในประเทศต้องการให้รัฐบาลปกป้องตลาดภายใน อย่างภาคการเงินเรียกร้องให้แบงก์ชาติอุ้มแบงก์ ภาคเกษตรกรรม ชาวนาก็เรียกร้องให้รัฐบาลรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาทต่อตัน กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่อย่าง ปตท. หรือซีพี คงจะไม่มีผลกระทบอะไร เพราะออกไปแข่งขันตามกติกาของตลาดโลกอยู่แล้ว แต่กลุ่มธุรกิจที่รัฐบาลยังให้ความคุ้มครองอยู่ พวกนี้จะตายหมดเมื่อถึงเวลาที่เราต้องเปิดตลาดเสรี ปี 2015 ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะไหลเข้าไทย ขณะที่ก๊าซแอลพีจีของไทยก็จะไหลออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม เปรียบเทียบกับราคาตลาดโลกมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น

“หากเราไม่หยุดให้เงินช่วยเหลือแล้วปล่อยให้เป็นไปตามราคาตลาดโลก เราก็ต้องให้เงินช่วยเหลือคน 600 ล้านคน เชื่อว่าแม่บ้านในเวียงจันทน์ พนมเปญ ย่างกุ้ง หรือคนต่างชาติที่อยู่ตามชายแดนไทยใช้ก๊าซจากเมืองไทยทั้งหมด หากจำเป็นต้องจ่ายเงินอุดหนุนก็ควรทำเฉพาะกับภาคครัวเรือน ไม่ควรจ่ายให้กับตัวเนื้อก๊าซ ซึ่งเงินที่เอามาอุดหนุนก็เรียกเก็บมาจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้วคนไทยก็ต้องใช้ก๊าซตามราคาในตลาดโลก”

และที่แย่กว่านั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ การให้เงินอุดหนุนทำให้เกิดความสิ้นเปลืองอย่างมหาศาล เหมือนกับการเปิดน้ำล้างมือ ปล่อยน้ำไหลทิ้งไปในระหว่างที่ฟอกสบู่ จะปิดก็ได้แต่ไม่ปิด เพราะมันไม่เจ้งหรอก แต่จะทำอย่างนี้ที่อิสราเอลไม่ได้น่ะ

ตอนนี้ก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือนมีราคาถูกมาก ขณะที่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยเริ่มลดน้อยลงไปทุกวัน เราต้องออกไปค้นหาก๊าซธรรมชาติไกลถึงขั้วโลกเหนือ คุณมีสิทธิใช้พลังงานราคาถูก แต่ก็ต้องคำนึงถึงลูกหลานของเราด้วยว่าอนาคตเขาจะมีก๊าซใช้ไหม เพราะเป็นของที่ใช้แล้วหมดไป ผลิตขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้ มีบางประเทศในเอเชียเคยเป็นสมาชิกโอเปค แต่ต้องลาออกจากสมาชิกเพราะใช้พลังงานเกือบหมดประเทศแล้ว

“คนขับรถแท็กซี่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีราคาถูกๆ แต่คนที่แบกรับภาระคือมอเตอร์ไซด์รับจ้างหรือคนที่ใช้รถเก๋งรุ่นเก่า แบกรับภาระแทนคนที่ขับรถเบนซ์รุ่นใหม่ที่ใช้เอ็นจีวี ถ้าใช้กันอย่างไม่มีเหตุไม่มีผล ใช้กันจนเกือบหมด สุดท้ายเราคงจะต้องไปบอกลูกหลานของเรา –ขอโทษลูก พ่อใช้ก๊าซไปเกือนหมดแล้ว”

ไทยพับลิก้า : ปตท. มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือพลังงานสะอาดอย่างไร

สินค้าของ ปตท. คือพลังงาน เมื่อมีการเผาไหม้ก็เกิดก๊าซเรือนกระจก ในอดีต ปตท. เป็นหน่วยงานแรกที่เริ่มปลูกป่าเริ่มจากโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ของ ปตท. ซึ่งสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายล้านตันเป็นเครื่องยืนยัน และ ปตท. ยังผลักดันเรื่องพลังงานทดแทนอีกหลายโครงการ

ไทยพับลิก้า : เอ็นจีวีของ ปตท. เป็นพลังงานสะอาดคุณภาพเทียบเท่าสากลจริงหรือไม่

เอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดจริง ราคาถูก แต่ไม่สะดวก ผมขอชี้แจ้งเพิ่มเติมคือ พลังงานที่ใช้กันในโลกมีอยู่ 3 ตัวหลักๆ คือ ถ่านหิน มีราคาถูกมากแต่สกปรก, น้ำมัน เป็นพลังงานที่สะอาดในอดีตมีราคาถูก แต่วันนี้มีราคาแพงมาก และก๊าซธรรมชาติ เป็นพลังงานที่มีความสะอาดแต่มีข้อเสียคือเอามาใช้ไม่สะดวก เพราะก่อนที่จะนำมาใช้ต้องทำเป็นของเหลวก่อน เพื่อบรรทุกใส่รถขนส่งไปยังปั๊มหรือส่งผ่านท่อส่งก๊าซ โดยเฉพาะก๊าซเอ็นจีวี ต้องเอาก๊าซอัดใส่ถัง เติมแค่ครึ่งถังก็ไม่ได้ จึงใช้เวลาเติมนาน รถที่มาใช้บริการจึงต้องต่อคิวยาว

ไทยพับลิก้า : มาตรฐานถัง ISO 11439 กำหนดว่าเอ็นจีวีจะมี CO2 ปนอยู่ในก๊าซได้ไม่เกิน 4% แต่ของ ปตท. มีถึง 12% ขณะที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดไว้ไม่เกิน 18% ถือว่าไม่ได้มาตรฐานสากลหรือไม่

เรื่องคุณภาพของเนื้อก๊าซไม่มีมาตรฐานสากลหรอกครับ การผสม CO2 เข้าไปในเนื้อก๊าซก็เหมือนค่าออกเทนของน้ำมัน อย่างเมืองไทยใช้เบนซินออกเทน 91-95 แต่ญี่ปุ่นใช้ออกเทน 100 ค่าออกเทนยิ่งสูงในทางเศรษฐกิจถือว่าไม่ประหยัด น้ำมันแต่ละประเทศมีค่าออกเทนไม่เท่ากัน กรณีของก๊าซธรรมชาติก็เหมือนกัน เอ็นจีวี 100% ก็มีใช้ในต่างประเทศเหมือนกัน ถามว่าใช้ได้ไหมตอบว่าใช้ได้ แต่มีปัญหาคือรถยนต์บางรุ่นไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวี 100% เพราะเอ็นจีวีมันให้พลังงานสูงมาก

ก๊าซที่มาจากอ่าวไทยผ่านกระบวนการแยกก๊าซ ให้ค่าพลังงานสูงกว่าก๊าซที่มาจากพม่าที่มีก๊าซไนโตรเจนปนอยู่ซึ่ง ปตท.ไม่สามารถแยกออกได้ ทำให้เมืองไทยมีปัญหาก๊าซ 2 คุณภาพ วิธีแก้คือ ต้องพยายามปรับจูนค่าพลังงานที่แตกต่างกันเข้ามาหากันโดยการเติม CO2 เข้าไป

ส่วนการกำหนดค่าพลังงานความร้อน กระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนด ปตท. ไม่ได้เป็นผู้กำหนดแต่มีหน้าที่ปรับจูนค่าพลังงานความร้อนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ถามว่า ปตท. ได้ประโยชน์อะไรจากการเติม CO2 หรือไม่ ผมยืนยันว่า “ไม่” แถม ปตท. ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เองอีกต่างหาก ปตท. ไม่มีผลประโยชน์ตรงนี้ และไม่ได้มีเจตนาที่จะทำแบบนี้เลย เพียงแต่ว่ารัฐบาลต้องการให้ก๊าซเอ็นจีวีมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ไทยพับลิก้า : ถ้าไม่เติม CO2 มีทางเลือกอื่นหรือไม่

ผมทราบว่า CO2 ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเราไปใช้ไนโตรเจนมาผสมมันจะมีราคาแพงกว่า แต่ CO2 ที่เอามาใช้นี่เราไม่ได้ผลิตขึ้นมาใหม่ มันเป็นผลพลอยได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ มันมีอยู่แล้ว ถ้าไม่เอามาผสมกับเอ็นจีวีก็ต้องทิ้งไป จึงไม่มีผลบวกหรือผลลบต่อสิ่งแวดล้อมเลย

ไทยพับลิก้า : คุณภาพเนื้อก๊าซไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะมีความเสี่ยงถังระเบิดเหมือนเมื่อปี 2551 หรือไม่

ปกติถังก๊าซถูกควบคุมโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน แต่บางครั้งมีการนำเข้าถังก๊าซเก่ามาใช้ กรณีนี้ ปตท. ไม่มีอำนาจไปควบคุม แต่ถังส่วนใหญ่ ปตท. เป็นผู้นำเข้า ถ้าเป็นกรณีนี้หาก ปตท. รับผิดชอบ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับแอลพีจีแล้วเอ็นจีวีปลอดภัยกว่า เพราะเป็นก๊าซเบา พอรั่วออกมาก็ลอยขึ้น ผมจึงขอฝากประสัมพันธ์ไปถึงผู้ใช้รถ หากจำเป็นต้องติดตั้ง ควรจะต้องไปติดตั้งกับผู้ที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากกระทรวงพลังงาน

ไทยพับลิก้า : ราคาก๊าซเออ็นจีวีที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงอย่างไร

ความเป็นมาของเอ็นจีวี คือ ปตท. ต้องการให้รถที่ใช้แอลพีจีหันมาใช้เอ็นจีวี ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เดิมตกลงกันว่าจะต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาดีเซล จึงกำหนดที่ราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม และใช้ราคานี้มาตลอด 10 ปี ควรจะยกเลิกโปรโมชั่นพิเศษนี้ได้แล้ว เดิมราคาเอ็นจีวีอยู่ที่ครึ่งหนึ่งของราคาดีเซล วันนี้ดีเซล 30 บาท เอ็นจีวีก็ต้อง 15 บาทต่อกิโลกรัม

ทุกวันนี้ก๊าซเอ็นจีวีที่วิ่งมาตามท่อก๊าซมีต้นทุนอยู่ที่ 9 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนก๊าซพม่าก็มีราคาแพงกว่าก๊าซอ่าวไทย บางครั้งไม่พอใช้ในประเทศก็ต้องไปนำเข้าแอลเอ็นจีมาจากต่างประเทศซึ่งราคาแพงมาก ส่วนก๊าซที่ขุดขึ้นมาก็ไม่ใช่ของ ปตท. แต่เป็นของบริษัทที่ได้รับสัมปทานอย่างบริษัทเชฟรอน ซึ่ง ปตท. ก็ไปรับซื้อมาอีกทอดหนึ่ง ค่าผ่านท่อเราไม่ได้กำหนดเอง ถามว่าราคาต้นทุนที่รับซื้อมาโปร่งใสหรือไม่ ตรงนี้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของกรมธุรกิจพลังงานหรือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

หลังจากที่จัดหาเนื้อก๊าซได้แล้ว ปตท. ก็เอาราคาก๊าซจากหลายแหล่งก๊าซมาเฉลี่ยกัน ส่งมาตามท่อก๊าซแล้วอัดใส่รถบรรทุกน้ำหนัก 20 ตัน แต่บรรทุกก๊าซได้แค่ 3 ตัน ส่งไปยังสถานีลูก ก๊าซไม่เหมือนกับน้ำมัน น้ำมันสามารถเติมเข้าไปในถังได้เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นก๊าซ หากยังไม่หมดดี รถบรรทุกต้องขนถังเก่ากลับสถานีแม่ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจึงแพงมาก

ส่วนต้นทุนเอ็นจีวีที่ ปตท. นำออกมาเผยแพร่ ปตท. ไม่ได้มั่วข้อมูลทั้งหมด มีผู้สอบบัญชีและยังมีสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตรวจสอบ ต้นทุนจริงอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม คนไม่เชื่อกระทรวงพลังงานก็ไปจ้างบุคคลที่ 2 และบุคคลที่ 3 มาทำการตรวจสอบ

การกำหนดราคาที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีรถบ้านจำนวนมากเลิกใช้เบนซินแล้วเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีวันละหลายร้อยคัน เพราะราคาน้ำมันต่างจากราคาก๊าซถึง 5 เท่าตัว หากตรึงราคาไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัมต่อไปเรื่อยๆ ก็จะมีรถเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นมากมาย

ขณะที่ราคาต้นทุนจริงๆ อยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม ในส่วนต่าง 7 บาท รัฐแบกรับภาระอยู่ 2 บาทต่อกิโลกรัม ปตท. แบก 5 บาทต่อกิโลกรัม ขาดทุนปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนที่รัฐแบกรับภาระ 2 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ก็เอามาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเก็บมาจากรถบ้านที่ใช้เบนซิน 91 และคนขับมอเตอร์ไซด์เป็นคนจ่าย

ไทยพับลิกก้า : ต้นทุนเอ็นจีวี 14.96 บาทต่อกิโลกรัม กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคระบุว่าเป็นราคาที่รวมกำไรแล้ว

“ราคาต้นทุนเอ็นจีวีจริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ต่อให้ไปจ้างบุคคลที่ 4 ที่ 5 มาศึกษาอีกก็ได้ แต่ที่ผมกลัวคือ เราที่ไม่ยอมรับความจริงว่าราคาต้นทุนมันแพงจริงๆ ยอมรับหรือไม่ว่าราคา 8.50 บาทที่ใช้กันมา 10 ปี จากตอนนั้นน้ำมันดีเซลลิตรละ 8 บาท วันนี้ลิตรละ 30 กว่าบาท นี่คือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้แต่เราไม่ยอมรับ หรือว่าเรากลัวที่จะต้องยอมรับมัน”

ข้อเสียของก๊าซคือ มันเก็บมากไม่ได้ ขนส่งได้ไม่มาก เพราะมันหนัก ในอดีตก๊าซที่ตลาดเฮนรี่ฮับเคยขึ้นไปถึง 12-14 เหรียญ แต่ไปนำมาใช้ที่เมืองไทยไม่ได้ เพราะต้องทำให้เป็นของเหลวก่อน เหมือนราคาน้ำมันที่ซาอุดิอาระเบีย ทำไมราคาถูกมาก เพราะเป็นประเทศผู้ผลิต

ส่วนก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทยมีราคาแพงเพราะมันอยู่ลึกลงไปในทะเลหลายร้อยกิโลเมตร เป็นหลุมเล็กๆ มันไม่ได้เป็นหลุมใหญ่ๆ เราต้องเอาหลุมเล็กๆ เอามารวมกัน และ ปตท. ไปซื้อจากผู้รับสัมปทานในอดีต แต่ถ้าไปซื้อจากหลุมใหม่ๆ ที่เพิ่งขุดเจอราคาก็จะแพงขึ้นไปอีก เพราะหลุมอยู่ลึกขึ้น หายากขึ้น ต้นทุนต่างๆ ก็แพงขึ้น

ไทยพับลิก้า : โจทย์ใหญ่ๆ ที่ ปตท. ต้องลงมือทำในช่วงนี้คืออะไร

ผมพูดเสมอว่าเราต้องวางรากฐาน ปตท. ให้มั่นคง การสร้างองค์กรก็เหมือนกับการสร้างตึกที่มีความมั่นคงแข็งแรง ฐานต้องมั่นคง ซึ่งต้องใช้เวลา เป้าหมายของ ปตท. คือ เราต้องเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกในอาเซียนที่เข้าสู่ Fortune 100 แต่กว่าจะไปสู่จุดนั้นได้ต้องมีบริหารจัดการภายในที่แข็งแรง มีความโปร่งใส และมีความมั่นคง

“ผมอยากให้สังคมไทยจดจำ ปตท. ว่าเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่คนไทยสามารถพึ่งพาได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นเพื่อนตาย เพื่อนแท้”

ไทยพับลิก้า : องค์กรใหญ่ขนาดนี้มีเทคนิคในการบริหารองค์กรบริหารคนอย่างไร

เทคนิคของผมคือ ตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้จริงจัง และที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้ถูกต้อง คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ถ้าไม่ถูกต้องอย่าทำดีกว่า ต้องทำงานอย่างทุ่มเท เสียสละ และอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ผมเป็นผู้บริหาร ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องแบกรับ ยอมรับ พยายามที่จะแก้ไขชี้แจงสิ่งที่ถูกต้อง มีธรรมาภิบาล โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ปฏิบัติตามกฏหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด