ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศนโยบายลอยตัวราคาพลังงาน ด้วยการทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ไปจนถึงสิ้นปี 2555 และเพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และลดกระแสต่อต้านการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี
วันที่ 1 ธันวาคม 2554 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำบัตรเครดิตพลังงานพร้อมกับบัตรส่วนลดไปแจกให้กับคนขับรถแท็กซี่ รถสามล้อ และรถตู้ร่วมบริการ ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยมีผู้ได้รับบัตรเครดิตพลังงานไปทั้งสิ้น 22,800 ราย และบัตรส่วนลดอีก 85,000 ราย
ปรากฏว่า ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ปตท. ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้เสีย สมาชิกบัตรเครดิตพลังงานกว่า 4,000 ราย นำบัตรเครดิตไปรูดเติมก๊าซเอ็นจีวีแล้วไม่จ่ายเงินกับธนาคารกรุงไทยภายใน 60 วัน ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ยังคงได้รับสิทธินำบัตรส่วนลดไปใช้ในการเติมก๊าซเอ็นจีวีได้รับส่วนลดกิโลกรัมละ 2 บาทด้วย
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้น และส่งเสริมสมาชิกผู้ถือบัตรที่เป็นคนดีมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน วันที่ 15 สิงหาคม 2555 ปตท. เปิดตัว “โครงการบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2” โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์มากมายให้แก่สมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตพลังงาน พร้อมกับขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นำบัตรเครดิตพลังงานไปรูดและใช้เป็นส่วนลดในการเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์
นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการบัตรเครดิตพลังงานของ ปตท. มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 6.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของวงเงินที่ให้เครดิตทั้งหมด ปัญหาคือ มีผู้ถือบัตรบางรายนำบัตรเครดิตไปรูดเติมก๊าซเอ็นจีวีแล้วไม่มาชำระหนี้ แถมยังนำบัตรส่วนลดไปเติมก๊าซเอ็นจีวีแล้วได้ส่วนลดอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้น ปตท. จึงตัดสินใจเปลี่ยนระบบใหม่ โดยนำ “บัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2” มาใช้แทนบัตรเครดิตพลังงานรูปแบบเดิม ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป
บัตรเครดิตพลังงานรูปแบบใหม่ จะรวมบัตรเครดิตพลังงานกับบัตรส่วนลดที่ใช้ในการเติมก๊าซไว้ในบัตรเดียวกัน วงเงินเครดิตเริ่มต้นที่ 3,000 บาท เงื่อนไขเดิมกำหนดให้ผู้ถือบัตรต้องนำเงินมาชำระหนี้กับธนาคารกรุงไทยภายใน 30 วัน แต่เงื่อนไขใหม่ขยายเป็น 45 วัน สามารถชำระหนี้ผ่านร้านค้าที่มีเครื่องหมายเคาน์เตอร์เซอร์วิสและสาขาของธนาคารกรุงไทยได้
หากสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 นำเงินมาชำระหนี้ตรงตามกำหนดระยะเวลาต่อเนื่องเป็นเวลา 10 เดือน ปตท. จะขยายวงเงินเครดิตเป็น 5,000 บาท แต่หากผู้ถือบัตรทำผิดเงื่อนไข ไม่นำเงินมาชำระหนี้ สมาชิกผู้ถือบัตรจะนำบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 ไปใช้เป็นส่วนลดในการเติมก๊าซเอ็นจีวีไม่ได้
“ส่วนลด 2 บาทต่อกิโลกรัม ที่ ปตท. มอบให้กับผู้ถือบัตร สำหรับคนขับแท็กซี่ สามล้อ รถตู้ ถือว่ามีความหมายมาก เพราะสามารถเป็นส่วนลดในการเติมเอ็นจีวีไปจนถึงสิ้นปี 2558 คิดเป็นเม็ดเงินหลายหมื่นบาท เชื่อว่าวิธีใหม่นี้จะบังคับให้ลูกค้าประพฤติตัวดีขึ้น ระบบใหม่ที่ ปตท. นำมาใช้คือเราต้องการสนับสนุนคนดี นอกจากจะได้รับส่วนลด 2 บาทแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์หรือโปรโมชั่นอื่นๆ ที่ ปตท. กำลังทยอยออกมาอีกหลายรายการ เช่น ใช้บัตรเครดิตเป็นส่วนลดในการซื้อผลิตภัณฑ์ของ ปตท. หรือชิงโชค เป็นต้น” นายเติมชัยกล่าว
นายเติมชัยกล่าวต่อไปอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป สมาชิกบัตรเครดิตพลังงานเดิมจะนำบัตรส่วนลดไปใช้เติมเอ็นจีวีไม่ได้แล้ว เพราะจะถูกยกเลิกทั้งหมด ส่วนผู้ขับขี่รถแท็กซี่ สามล้อ และรถตู้ที่จะเข้าร่วมโครงการบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 ยื่นใบสมัครได้ที่เจเจมอลล์ จตุจักร แต่ผู้สมัครต้องชำระหนี้เก่าก่อนจะมารับบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 ซึ่งตามระเบียบเดิมกำหนดว่า ต้องนำเงินมาชำระหนี้ที่ติดค้างเต็มจำนวน ตอนนี้ ปตท. อนุโลมให้สมาชิกบัตรเครดิตพลังงานเลือกผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำอย่างน้อย 10% ของยอดหนี้ค้างชำระได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่องวด
“แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 อย่างเช่น กลุ่มผู้ประกอบการรถบัส ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ต้องการใช้บัตรเครดิตพลังงาน กลุ่มนี้ ปตท. คงต้องใช้บัตรส่วนลดต่อไป”นายเติมชัยกล่าว
ส่วนเครื่องรูดบัตรบัตรเครดิต คงต้องเปลี่ยนใหม่หมด เพราะเครื่องรูดบัตรรุ่นเก่าจะอ่านข้อมูลไม่ได้ ซึ่งในขณะนี้ ปตท. กำลังประสานงานไปยังธนาคารกรุงไทย ให้นำเครื่องรูดบัตรมาติดตั้งที่สถานีบริการทุกแห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“โครงการนี้ รัฐบาลต้องการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มคนขับแท็กซี่ สามล้อ รถตู้ และวินมอเตอร์ไซค์ และที่สำคัญ ต้องการสนับสนุนคนดีให้มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน หากคนกลุ่มนี้สามารถรักษาเครดิตของเขาเอาไว้ได้ ในอนาคตรัฐบาลอาจจะใช้ฐานข้อมูลเครดิตของคนกลุ่มนี้ไปทำโครงการอื่นๆ ต่อไป เช่น ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซื้อรถ หรือใช้เป็นทุนหมุนเวียน เป็นต้น” นายเติมชัยกล่าว