ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ธปท. เจาะลึกวิกฤตหนี้ยุโรป ประเมินความเป็นไปได้ 4 กรณี

ธปท. เจาะลึกวิกฤตหนี้ยุโรป ประเมินความเป็นไปได้ 4 กรณี

31 พฤษภาคม 2012


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

เศรษฐกิจโลกที่กำลังถูกบั่นทอนจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซและเศรษฐกิจยุโรป ส่งผลให้ใครๆ ก็จับตามองปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปอย่างใกล้ชิด ว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาจะนำไปสู่ทิศทางที่คลี่คลาย ยืดเยื้อ หรือรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซและปัญหาเศรษฐกิจยุโรปยืดเยื้อมา 2-3 ปีแล้ว และมีทีท่าว่าจะ “อมโรค” ไปอีกหลายปี

เนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะและเศรษฐกิจยุโรปเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีสาเหตุมาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของยุโรป ปัญหาดังล่าวบ่มเพาะมาตลอดช่วง 10 ปี โดยเริ่มปะทุตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 จากการที่รัฐบาลกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถชำระคืนหนี้ ส่งผลให้ถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดลงต่อเนื่อง และทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ จนต้องขอรับความช่วยเหลือจากสมาชิกกลุ่มประเทศยูโรและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในที่สุด

ทั้งนี้ กรีซได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 110 พันล้านยูโร ในเดือนพฤษภาคม 2553 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2553 และเมษายน 2554 ไอร์แลนด์และโปรตุเกสได้รับความช่วยเหลือจำนวน 85 และ 78 พันล้านยูโร ตามลำดับ

แต่สถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปกลับไม่ดีขึ้น เริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายปี 2554 ทำให้เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2555 ส่งผลให้รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดทางด้านการคลัง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับคืนมา

ล่าสุด ปัญหาการเมืองของกรีซเริ่มสร้างความเสี่ยงระลอกใหม่ หลังจากที่การเลือกตั้งของกรีซเสร็จสิ้นลงเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แต่กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จนต้องกลับไปเลือกตั้งใหม่อีกในวันที่ 17 มิถุนายน 2555

การเมืองกรีซ ตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหา

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุโรปขณะนี้น่าเป็นห่วง จากเมื่อ 6 เดือนที่แล้วที่ยังประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปมีลักษณะเป็น “เมฆสีเทา” แต่ 6 เดือนต่อมาหรือในขณะนี้ ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปกลายเป็น “เมฆสีดำ” และกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด

“การแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซจะเป็นอย่างไร ตัวแปรที่สำคัญ คือ การเลือกตั้งในกรีซ” ดร.ประสารกล่าว

ธปท. ตั้งคณะอนุกรรมการฯรับวิกฤตหนี้ยุโรป

ทั้งนี้ ธปท. ให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซและเศรษฐกิจยุโรป จึงมีการตั้ง “คณะอนุกรรมการเสถียรภาพระบบการเงิน” หรือ อสร. โดยมีผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน และมีผู้บริหารระดับสูงจาก 4 สายงานที่สำคัญเป็นคณะทำงาน คือ สายนโยบายการเงิน สายตลาดการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน และสายกำกับสถาบันการเงิน

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าว่า อสร. มีหน้าที่ในการติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศและในประเทศที่อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพสถาบันการเงินของไทย และทำหน้าที่เสนอแนะมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

ประเมินวิกฤตกรีซ 4 กรณี

โดยในกรณีวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซและเศรษฐกิจยุโรป คณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินว่า สถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นใน 4 กรณี หรือ 4 เหตุการณ์ (scenario) ดังนี้

1. กรณีกรีซเป็นเหมือนปัจจุบัน คือ กรีซยังอยู่ในกลุ่มประเทศยูโรต่อไป กรณีนี้จะมีความผันผวนเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตลาดการเงินจะไม่ค่อยสงบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงกรีซจะปฏิบัติตามเงื่อนไขได้หรือไม่

สำหรับผลกระทบกรณีนี้ ธปท. คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปถดถอย 0.5% และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา ซึ่งยากที่จะประเมินว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร

2. กรณีกรีซต้องออกจากยูโร โดยผู้ทำนโยบายในยุโรปสามารถดำเนินนโยบายจำกัดขอบเขตความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปยังประเทศอื่น คือ สามารถดูแลไม่ให้คนแห่ถอนเงินในสเปน อิตาลี และ โปรตุเกส

การจำกัดขอบเขตไม่ให้ลุกลามอาจฟังดูไม่ง่าย แต่ก็มีนโยบายบางอย่างที่ทำแล้วจำกัดขอบเขตได้ แต่มาตรการที่ทำต้องมีความมุ่งมั่นและเด็ดขาดทางการเมือง เช่น ธนาคารกลางยุโรปประกาศรับประกันเงินฝากธนาคารในยุโรปทุกแห่ง ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง เช่น มาตรการกำหนดความรับผิดชอบทางการคลังร่วมกัน โดยให้ประเทศหลักๆ ได้แก่ เยอรมัน และฝรั่งเศส ออกพันธบัตรยูโรซึ่งเป็นพันธบัตรของยูโร ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อนำเงินไปช่วยประเทศที่ต้องการสภาพคล่อง นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรปต้องประกาศพร้อมเข้าไปดูแลไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงเกินไป จนมีปัญหากับเศรษฐกิจประเทศที่อ่อนแอ

“มีอีกหลายมาตรการที่จะจำกัดความเสียหายไม่ให้ลุกลาม แต่ทางการเมืองต้องมีความมุ่งมั่นและแน่วแน่ ถึงจะทำให้กรีซออกจากยูโรได้อย่างสงบสุข” นายไพบูลย์กล่าว

3. กรณีกรีซออกจากยูโร แต่มาตรการจำกัดขอบเขตความเสียหายไม่สำเร็จ หรือไม่สามารถจำกัดความเสียหลายได้ กรณีนี้จะสร้างปัญหาให้ยุโรปและเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดย ธปท. ประเมินว่า กรณีนี้จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปถดถอยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือมากกว่า 0.5%

4. กรณีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือ เงินยูโรล่มสลาย กรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำมาก แต่ถ้าเหตุการณนี้เกิดขึ้น เศรษฐกิจโลกอาจมีปัญหารุนแรง และอาจรุนแรงมากกว่า The Great Depression ที่เกิดขึ้นเมื่อ 80 ปีที่แล้ว

“นี่คือสิ่งที่เราพยายามประเมินความเป็นไปได้แต่ละเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ธปท. ก็พร้อมดำเนินมาตรการรองรับผลกระทบ เพื่อการบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบ” นายไพบูลย์กล่าว

นโยบายการเงิน-การคลัง พร้อมรับมือ

เพราะฉะนั้น ประเด็นสำคัญคือ ความพร้อมในการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง ซึ่งนายไพบูลย์มั่นใจว่า นโยบายการเงินและการคลังของไทยมีช่องว่างเพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก 4 เหตุการณ์ข้างต้น

โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่อยู่ที่ 3% นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่าเป็นอัตราค่อนข้างต่ำ และถ้าดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยก็ต่ำกว่าในภูมิภาค ดังนั้น ยังมีช่องว่างที่จะปรับได้ ถ้าสถานการณ์เลวร้ายจริงๆ ก็สามารถปรับให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกได้

ส่วนนโยบายการคลัง ดูจากหนี้สาธารณะของไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ก็ยังอยู่ระดับต่ำกว่ามาตรฐานโลก เพราะฉะนั้น ยังมีช่องว่างให้สามารถใช้มาตรการทางการคลังรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และรัฐบาลก็มีแผนที่จะดำเนินด้านต่างๆ

ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มกราคม 2555 มีจำนวน 4,362,357.32 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.06 % ของจีดีพี

“นโยบายการเงิน การคลัง ตอนนี้พอมีช่องว่างอยู่ ต้องเก็บรักษากระสุนที่อยู่ ต้องไม่ยิงทิ้งๆ ขว้างๆ ต้องเก็บรักษาไว้ในยามจำเป็น” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ย้ำ

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีเครื่องมือดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ด้วยการนำเครื่องมือด้านกำกับดูแลสถาบันการเงิน หรือ Macro prudential มาเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาดูแลร่วมกับการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะที่ด้านตลาดการเงิน หากมีปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องเงินดอลลาร์ เนื่องจากสถาบันการเงินต่างประเทศกอดเงินดอลลาร์ไว้ไม่ยอมปล่อยออกมา ธปท. ก็มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากพอจะนำมาใช้ดูแลสภาพคล่องเงินดอลลาร์ให้กับธนาคารพาณิชย์ไทยได้ รวมถึงความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคก็มีการประสานงานกัน

แจงผลกระทบ “ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว”

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรฐกิจระหว่างประเทศ ธปท. กล่าวว่า ธปท. ได้วิเคราะห์วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทางที่สำคัญ ได้แก่

1. ช่องทางการค้าและการการท่องเที่ยว ในปี 2554 ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปมากนัก โดยการส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปมีสัดส่วน 10.6% ของการส่งออกทั้งหมด การส่งออกของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดยุโรปที่อ่อนแอลงในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2555 โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัว 16.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ หากวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะขยายวงกว้างจนกระทบต่อประเทศหลักในยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ยังมีผลกระทบทางอ้อมผ่านประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน อาเซียน-4 ญี่ปุ่น และสหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปยุโรปสูงเช่นกัน

การเข้าสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย และมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และการลงทุนโดยตรงจากยุโรปในไทยคิดเป็นสัดส่วน 16% ของ FDI ทั้งหมด

กระทบสถาบันการเงินไทยในวงจำกัด

2. ช่องทางการเงิน ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปหลายแห่งต้องลดขนาดงบดุลลง (deleveraging) และอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินไทยผ่านการเรียกคืนเงินให้กู้ยืม ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจไทยที่กู้ยืมในสกุลเงินตราต่างประเทศ และการถอนคืนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของไทย รวมถึงผลกระทบต่อค่าเงินบาทจากการเรียกคืนเงินดังกล่าว สำหรับประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยง (exposure) โดยตรงต่อสถาบันการเงินในยุโรปต่ำมาก เพราะมีสาขาของธนาคารยุโรปจำนวน 3 แห่งในประเทศไทย (ไม่รวมอังกฤษ) ซึ่งมีสัดส่วนเงินกู้จากสำนักงานใหญ่รวมเงินกู้ระหว่างประเทศจากต่างประเทศต่อสินทรัพย์รวมค่อนข้างต่ำ ทำให้ความเสี่ยงต่อการ deleverage ผ่านสาขาสำนักงานต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับกรณีที่อาจจะเกิดผลกระทบรอบสองนั้น สถาบันการเงินชาติอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบจากการ deleverage ซึ่งจะส่งผลต่อ credit availability ของไทยบ้าง แต่ด้วยสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อของสาขาสำนักงานต่างประเทศที่ไม่สูงนัก จึงทำให้ผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัด

ส่วนผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร สำหรับกรณีของไทยนั้น ธปท. พบว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความสัมพันธ์กับราคาสินทรัพย์ในตลาดโลกสูง แต่พันธบัตรไทยยังนับเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าความสัมพันธ์ไม่สูงนัก จึงอาจถูกใช้เป็นการลงทุนเพื่อการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน สะท้อนจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่สูงขึ้นเป็นระยะๆ ตามความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ผลกระทบเงินบาทไม่รุนแรงเท่าปี 51

ธปท. ประเมินว่า จากการที่กระบวน deleverage อาจจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกนั้น ส่งผลให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ขนาดและความเร็วของการอ่อนค่า จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเงินทุนไหลออกเป็นสำคัญ รวมทั้งขึ้นอยู่กับภาวะตลาดด้านอื่นๆ ณ ช่วงนั้น แต่กระบวนการ deleveraging ในครั้งนี้ ธปท. คาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2551 เนื่องจากทางการของประเทศหลักได้พยายามป้องกันปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐในตลาดอย่างฉบับพลัน

ความแตกต่างในวิกฤตเอเชียเมื่อปี 2540 กับยุโรปวันนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างวิกฤตเอเชียเมื่อปี 2540 กับวิกฤตยุโรปขณะนี้ ซึ่งเงื่อนไขของไทยและเอเชียต่างจากยุโรปวันนี้ คือ

1. เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย เศรษฐกิจโลกไม่ได้อ่อนแอ หรือเพิ่งประสบกับวิกฤตซับไพร์ม ดังนั้น เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลง การส่งออกของไทยจึงช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นจากาวะซบเซาได้ เพราะกำลังซื้อในตลาดโลกยังดีอยู่

2. ประเทศไทยและเอเชียมีขนาดเล็กในเศรษฐกิจโลก โดยมีขนาดประมาณ 4% ของจีดีพีโลก แต่วิกฤตยุโรปวันนี้รุนแรงกว่า เพราะจีดีพีของกลุ่มประเทศมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 20% ของจีดีพีโลก และระบบการเงินของยูโรโซนก็มีความเชื่อมโยงสูงมากกับระบบการเงินโลก ดังนั้น เศรษฐกิจโลกจึงต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว

3. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของยุโรปที่กระทบประชาชนมากที่สุด คือ การปรับสวัสดิการแรงงาน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่ยากสำหรับประเทศอุตสาหกรรม เพราะประชาชนที่คุ้นเคยกับการมีคุณภาพชีวิตที่อยู่ในระดับสูงแล้วย่อมปรับตัวได้ยาก แต่เครื่องมือในการปรับตัว เช่น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน หรือนโยบายการคลังไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว จึงเหลือเพียงนโยบายเชิงโครงสร้างที่จำเป็นในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและแรงงาน

การสูญเสียรายได้ (welfare loss) ของแรงงานที่ยุโรปกำลังประสบอยู่ขณะนี้ ประเทศไทยก็เคยผ่านมา เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลง บรรดาผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในต่างประเทศต่างก็เรียกตัวกลับมา เพราะค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากในภาวะที่ผู้ปกครองขาดรายได้ แต่ในที่สุดระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวจะทำให้ภาวการณ์มีงานทำกลับมา