ThaiPublica > คนในข่าว > เปิดใจ “วุฒิสาร ตันไชย” ผลลัพธ์จาก “ผลวิจัย” ประเทศไทยยัง “ปรองดอง” ยาก – รีเพลย์ฉาก “ดูไบ” ต้นตอวิจัย “รับจ็อบ”

เปิดใจ “วุฒิสาร ตันไชย” ผลลัพธ์จาก “ผลวิจัย” ประเทศไทยยัง “ปรองดอง” ยาก – รีเพลย์ฉาก “ดูไบ” ต้นตอวิจัย “รับจ็อบ”

25 มีนาคม 2012


รศ.วุฒิสาร ตันไชย  รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

“ผมคิดว่า…วันนี้นะครับ ความขัดแย้งอาจจะจบยากเหมือนกัน เพราะเราเห็นแล้วว่าคนที่มีจุดยืนแตกต่างนั้นไม่พยายามลดถอย ไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจ”

“รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า” ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน กลายเป็นปมปัญหาใหญ่ เมื่อถูกหลายฝ่ายหยิบยกข้อเสนอจากผลวิจัยมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
โดยเฉพาะประเด็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุทางการเมืองทุกประเภท จนไปถึงการเสนอให้มีการยกเลิก “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.)” ที่ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” แต่งตั้งขึ้นมาสอบสวนคดีทุจริต “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”

ลุกลามถึงขั้นมีการตั้งข้อกล่าวหารุนแรงต่อ “พล.อ.สนธิ” ในฐานะ “ประธานคณะกรรมาธิการฯ” “คณะนักวิจัย” ไปจนถึง “สถาบันพระปกเกล้า” ว่าเป็นหนึ่งในความพยายามช่วยเหลือ “อดีตนายกรัฐมนตรี” พลัดถิ่น

จน “รศ.วุฒิสาร ตันไชย” รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ถึงกับเอ่ยปากว่า “เสียใจ” และล่าสุดต้องออกแถลงการณ์ยืนยันความบริสุทธิ์ใจ ด้วยการยื่นเงื่อนไขให้กับ “คณะกรรมาธิการฯ” ห้ามไม่ให้มีการนำผลการวิจัยไปใช้ในการอ้างอิงเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อให้สร้างความปรองดอง

ภายหลังออกแถลงการณ์และยื่นให้กับ “คณะกรรมาธิการฯ” เรียบร้อย “วุฒิสาร” เปิดใจนั่งคุยกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ถึงที่มาที่ไป กระบวนการ เป้าหมาย และผลกระทบอันเกิดขึ้นจากผลการวิจัย ซึ่งทำให้เขาได้ข้อสรุปว่า “ความปรองดอง” ที่คณะผู้วิจัยกำลังศึกษาค้นคว้า หาหนทางที่จะผลักดันให้สังคมไทยได้ออกจากวิกฤติความขัดแย้งนั้น ยังเป็นไปได้ “ยาก”

ไทยพับลิก้า : บทสรุปของการวิจัยครั้งนี้มุ่งนำเสนออะไร

ผลการวิจัยคราวนี้มีข้อเสนอหลายส่วน ส่วนแรกเลยที่เราเสนอคือการสร้างบรรยากาศของการปรองดอง นั่นแปลว่าจะต้องมีบรรยากาศที่สังคมต้องการความปรองดอง ท่าทีของแต่ละฝ่ายต้องชัดเจนว่าอยากจะปรองดอง ซึ่งไม่เพียงแค่บอกว่าอยากจะปรองดอง แต่ต้องมีแนวทางที่จะดำเนินการร่วมกัน รวมไปถึงลดเงื่อนไขที่รู้สึกว่าเป็นเงื่อนไขของสังคม เช่น การแสดงพลังที่อาจจะทำให้คนรู้สึกว่าไม่ใช่ความปรองดอง การขยายตัวของหมู่บ้านแดง หรือใช้พลังมวลชนให้รู้สึกว่าอยู่เหนือกฎหมาย

แต่ข้อเสนอที่มีคนพูดถึงเยอะคือ ข้อเสนอระยะสั้นเพื่อนำสังคมกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งเราเสนอไว้ 4 เรื่อง คือ

1. เรื่องของการค้นหาความจริงต่อไป เพราะเราถือว่าการปรองดองโดยที่ไม่รู้ความเป็นจริงเลยนั้นทำไม่ได้หรอก แต่กระบวนการค้นหาความจริงก็ต้องเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังการเปิดเผย ต้องทำในจังหวะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งจุดมุ่งหมายของการเปิดเผยคงไม่ได้มุ่งที่จะหาคนผิด-ถูก แต่เป็นการเปิดเผยเพื่อให้เกิดบทเรียน

2. การให้อภัย เราต้องยอมรับว่าความขัดแย้งครั้งนี้นั้น โจทย์หนึ่งก็คือการให้อภัย ซึ่งที่เราเสนอคือการนิรโทษหรือการให้อภัยต่อการชุมนุม ซึ่งแปลว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์และรับผลอันนี้คือทุกฝ่าย การชุมนุมทุกส่วนในอดีตที่เป็นการชุมนุมทางการเมืองทั้งหลายก็ต้องพิจารณา

แต่เนื่องจากเราเห็นว่าบรรยากาศการปรองดองนั้นยังไม่ชัด ทุกคนยังมีจุดยืนของตัวเองกันทุกฝ่าย เราจึงเสนอเป็นทางเลือกว่านิรโทษกรรมแล้วจะให้อภัยคดีอาญาด้วยไหม คดีอาญาในที่นี้คือคดีความผิดที่มีเจตนาหรือแรงจูงใจทางการเมือง ผมขีดเส้นให้ชัดเลยว่าคดีอาญาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งต้องให้คำนิยามให้ชัดในรายละเอียดว่าคดีประเภทใดอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องไปคุยกันต่อ ผมถึงบอกเสมอว่ายังไม่สามารถเอาข้อสรุปตรงนี้ไปทำได้เลย ต้องผ่านกระบวนการพูดคุย หารือจนกว่าจะได้ความชัดเจนตรงนี้ แต่ทั้งหมดนี้เราก็เสนอว่างดเว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ที่ยังต้องดำเนินการไปตามกระบวนการปกติ

3. จากการศึกษาในครั้งนี้ เราพบว่า ความขัดแย้งนั้นเกิดจากความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมต่อกระบวนการไต่สวนทั้งหลายของนักการเมือง พูดง่ายๆ ก็คือเรื่อง คตส. เป็นความรู้สึกของคนและข้ออ้างของคนในสังคมว่าขัดหลักนิติธรรม แม้ว่า คตส. จะทำตามกฎหมายขณะนั้น แต่คนก็ยังไม่รู้สึก ข้อเสนอของเราก็คือ ควรคืนความเชื่อมั่นให้กับสังคม ดังนั้น ทางเลือกในเรื่อง คตส. เราก็มีตั้งแต่คดีที่ผ่านแล้วก็ผ่านไป แต่ทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการปกติ หรืออาจจะนับหนึ่งใหม่หมด

4. การแก้กติกาสังคมและบ้านเมือง ซึ่งบางเรื่องที่ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เช่น ในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง ตรงนี้ต้องรีบแก้ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่ากตติกามันถูกปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้ถูกใช้อย่างไม่เป็นธรรม

ซึ่ง 4 เรื่องนี้คือเรื่องของการนำสังคมกลับมาสู่ภาวะปกติ อย่างน้อยก็ให้เกิดความสงบ ความสันติ แต่อีก 2 เรื่องที่เราเสนอในระยะยาวคือ จากประสบการณ์ต่างประเทศทั้งหมด ถ้าจะเกิดการปรองดอง สิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดร่วมกันก่อนคือการเห็นภาพอนาคตร่วมกัน การแก้ปัญหารากฐานของสังคม ซึ่งเราพบเลยว่าแก่นของปัญหา นอกจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง การตีความและให้คุณค่าประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน โดยกลุ่มหนึ่งบอกว่าประชาธิปไตยคือเสียงข้างมาก แต่อีกกลุ่มหนึ่งไปไกลกว่านั้นคือต้องมีคุณธรรม มีจริยธรรม นี่คือความขัดแย้งเชิงความเชื่อของประชาธิปไตย ประกอบกับความรู้สึกถึงความแตกต่างทางสถานะทางสังคม นี่คือปัญหารากของความขัดแย้งทางสังคม

เหตุการณ์ที่เกิดในวันนี้มันมีตัวเร่งต่างๆ อีก ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาความขัดแย้งเหล่านี้ ดังนั้น ข้อเสนอระยะยาวก็คือ เราต้องทำ 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. ปฏิรูปการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมือง เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง กับ 2. การปฏิรูปเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมและการกระจายทรัพยากร ซึ่งเคยมีคนเสนอเอาไว้แล้ว แต่ต้องหยิบมาดูและต้องวางแผนระยะยาวกับสิ่งเหล่านี้ด้วย

ไทยพับลิก้า : อะไรคือที่มาของเงื่อนไขล่าสุด ห้ามอ้างอิงผลวิจัยเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง

ถ้าจะทำเรื่องการปรองดอง จะต้องเห็นทั้ง 3 เรื่องนี้ก่อน คือ 1. ข้อเสนอระยะสั้น 2. ข้อเสนอระยะยาว และ 3. การสร้างบรรยากาศ และต้องพิจารณากันว่าจะไปอย่างไร เราอยากเห็นกระบวนการของการที่จะพูดคุย หารือ หาข้อยุติ หาปัจจัยอะไรที่เห็นร่วมกันแล้วเริ่มเดิน ซึ่งตรงนี้มันจะมากกว่าการประกาศตัวว่าอยากปรองดอง แต่มันต้องแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งเราก็เห็นว่าจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดน่าจะเป็นกรรมาธิการ ที่จะต้องสะท้อนให้ประชาชนเห็นก่อนว่ามีความพยายามจริง

ตรงนี้ เมื่อมีข่าวว่ากรรมาธิการอาจจะใช้เสียงข้างมากในการโหวตเพื่อลงมติทางเลือกหนึ่งทางเลือกใด คณะผู้วิจัยจึงมีความเป็นห่วง 2 เรื่อง คือ 1. จะเข้าใจคลาดเคลื่อนกับข้อเสนอเราทั้งหมด ว่าต้องทำอะไรบ้าง และ 2. การหยิบบางเรื่องโดยไม่คำนึงถึงฉันทามติบางอย่างก่อน ก็จะนำไปสู้ความขัดแย้งใหม่ แล้วจะกลับไปสู่ความรุนแรงอีก ตรงนี้เป็นจุดที่เราได้แสดงจุดยืนของเราในความห่วงใยต่อปัญหาของประเทศ เราไม่อยากให้รีบร้อน กระบวนการนี้ยังต้องหาข้อยุติร่วมกันก่อนในหลายเรื่อง นี่คือเป็นเหตุที่เราได้แสดงออกถึงข้อห่วงใย

ไทยพับลิก้า : ตอนแรกที่มีการประสานกับคณะกรรมาธิการเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยนั้นมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

เรื่องของเนื้อหางานวิจัยนั้น คณะกรรมาธิการส่งโจทย์ให้เราว่า ให้ค้นหาปัจจัยและแนวทางการสร้างความปรองดองในชาติ และถ้าจำเป็นให้เสนอร่างกฎหมายมา เป็นโจทย์แรกเลยที่ส่งมา แต่โดยความเห็นของสภาสถาบันพระปกเกล้า ก็มีความเห็นว่าเราสามารถดำเนินการวิจัยได้ แต่ให้เว้นในส่วนของการจัดทำกฎหมาย เพราะเราเห็นว่าการจัดทำกฎหมายนั้นไม่ใช่หน้าที่ของสถาบัน เราก็เลยรับดำเนินการเฉพาะเรื่องงานวิจัย ที่ไปตอบคำถามว่าจะแสวงหาคำตอบในเรื่องการปรองดองอย่างไร เพราะฉะนั้น เราก็มีขอบเขตชัดเจนว่าเราไม่ใช่มีหน้าที่ในการหาความจริง เพราะงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการหาทางออก แต่แน่นอน ความจริงที่ปรากฎอยู่ในเอกสารหรือรายงานต่างๆ เราเอามาประกอบเพื่อวิเคราะห์ โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณีศึกษาใน 10 ประเทศที่มีความขัดแย้ง แล้วประสบความสำเร็จในการทำความสันติให้กลับมาได้ด้วย เราก็เลือกประเทศเหล่านั้นมา

แล้วก็มีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งตอนแรกเราตั้งเป้าทั้งหมด 60 กว่าคน แต่ก็มีการปฏิเสธบ้าง เราก็ได้มาทั้งหมด 47 ท่าน ที่เป็นนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง อดีตนายกรัฐมนตรี คู่ขัดแย้งที่เป็นกลุ่มมวลชนทั้งหลาย ไปจนถึวนักวิชาการ สื่อ และเจ้าหน้าที่คือทหารและตำรวจ

ไทยพับลิก้า : หลายฝ่ายมองว่า ข้อเสนอนั้นไปเหมือนกับทางฝ่ายเสื้อแดง เพื่อไทย และฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเสนอมาก่อนหน้านี้

ด้วยความเป็นจริงนั้นเราไม่ได้ติดตามว่าใครเสนออะไร แต่เราเห็นว่าถ้าจะหาทางออกแห่งความขัดแย้งนี้ เรื่องอะไรบ้างเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำอย่างที่เสนอแล้วจะลดความขัดแย้งแล้วนะ ถ้าไม่มีกระบวนการสร้างการยอมรับร่วมกันก่อน ซึ่งนั่นแปลว่าความเห็นทั้งหมดอาจจะไม่ใช่เลยก็ได้ เมื่อมีกระบวนการทำแล้วอาจจะไปในทางเลือกที่ 4-5-6 เลยก็ได้ แต่เท่าที่เราประมวลในวันนี้ก็พบว่าทางออกของความขัดแย้งครั้งนี้ก็คือการให้อภัย

“ผมเรียนเสมอว่าตรงนี้เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้เกิดการแสดงความเห็นและข้อถกเถียงในสังคม ที่จะนำไปสู่อะไรที่เป็นตัวร่วม เพราะฉะนั้น กระบวนการจากนี้ก็คือกระบวนการที่ต้องเดินให้เกิดขึ้น อะไรที่เห็นร่วมกันก็ต้องเริ่มทำ อะไรที่คิดว่ายังห่างกันอยู่ก็ต้องละเว้น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งใหม่”

ไทยพับลิก้า : ช่องว่างตรงไหนที่ทำให้คนอีกส่วนหนึ่งเข้าใจผลวิจัยไปคนละทิศทางกับที่พยายามนำเสนอ

ช่องว่างส่วนหนึ่งก็คือ คนเอาผลวิจัยไปอ่านไม่ได้ดูครบถ้วน คือความจริงเราเสนอภาพที่ต้องทำหลายเรื่อง แต่คนจะสนใจเฉพาะบางเรื่อง แล้วหยิบออกมาขยายผลว่าใครได้ประโยชน์

“จริงๆ แล้ว การปรองดองนั้น เมื่อมีข้อสรุปออกมา มันแน่นอนว่ามีคนได้ประโยชน์ และคนที่รู้สึกว่าเสียประโยชน์ หรืออาจจะไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ดังนั้นมันต้องมีกระบวนการทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันก่อน ว่าเรื่องนี้เอาเท่านั้นนะ หรือเรื่องนี้เอาเท่านี้ คือถ้าตกลงยอมรับร่วมกัน หารือร่วมกัน แล้วสังคมส่วนใหญ่รับได้ การปรองดองมันก็เกิด เราถึงไม่เห็นด้วยกับการโหวตไงครับ…มันเป็นความยุติธรรมของผู้ชนะ คือใครมีพวกมากกลายเป็นความยุติธรรมเนี่ยไม่ใช่ ตรงนี้เราถึงบอกว่ากระบวนการนั้นสำคัญ การเดินที่มองเห็นโรดแมปร่วมกันนี่สำคัญ”

วันนี้เราไปพูดกันถึงประเด็น คตส. หรือนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการกระโดดเข้าไปสู่ข้อสรุป จริงๆ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องท้ายๆ เลยนะครับที่จะต้องหยิบขึ้นมาพูด หลังจากที่มันได้มีการหารือกันจนเกิดบรรยากาศที่ดีพอสมควรแล้ว

รศ.วุฒิสาร ตันไชย
รศ.วุฒิสาร ตันไชย

ไทยพับลิก้า : ประเมินมาก่อนหรือไม่ว่า ผลวิจัยอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่กำลังศึกษาอยู่

ตอนแรกเราไม่มีธง และไม่มีคำตอบว่ามันจะออกมาอย่างไร เราอาจจะมีข้อสรุปของต่างประเทศบ้าง พอจะรู้แนวทาง แต่สำหรับเมืองไทย เราค้นพบอย่างหนึ่งคือ ความขัดแย้งที่เราได้เสนอโมเดลไปคือความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างและตัวเร่งปฏิกิริยาทั้งหลาย

ถามว่าคาดหวังว่าทุกคนจะรับข้อเสนอเราได้ไหม ผมว่าไม่มีใครพอใจที่สุดหรอก เพราะข้อเสนอแบบนี้ไม่ใช่งานวิจัยในเชิงทฤษฎี ที่มาอธิบายทฤษฎีแล้วไม่มีใครโต้เถียง โดยเฉพาะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีจุดยืนคนละจุดชัดเจน คนละขั้วชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

“ถ้าเรามองอย่างเป็นธรรม คุณก็พูดเฉพาะเรื่องที่คุณไม่เห็นด้วย แต่เรื่องที่คุณเห็นด้วยคุณไม่พูด วันนี้จึงต้องขอร้องเลยว่าถ้าจะทำเรื่องนี้ได้ต้องเดิน ต้องทำอะไรบ้าง ไม่ใช่หยิบเรื่องเดียวมาแล้วก็มาพูดกัน แล้วก็มาพูดว่าใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ซึ่งผมว่าตรงนี้ไม่เป็นธรรม ผมคิดว่าไม่มีทางที่ทุกฝ่ายจะพอใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีจุดยืนต่างกันชัดเจน แต่ก็ต้องถามว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่ ภาคส่วนอื่น ภาคธุรกิจและประชาชนที่อยากเห็นสังคมหลุดพ้นไปจากตรงนี้อยากเห็นอะไร แล้วก็ต้องส่งสัญญาณออกมาให้มาช่วยกันคิด มาช่วยกันบอก ถ้าทุกฝ่ายปล่อยให้แต่คนที่มีจุดยืนต่างกันเสนอกันไปแล้วก็เกิดกระแสขึ้นแบบนี้ความขัดแย้งก็จะดำรงต่อไป”

ไทยพับลิก้า : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผลวิจัยสะท้อนให้เห็นอะไร

ผมคิดว่า วันนี้นะครับ ความขัดแย้งอาจจะจบยากเหมือนกัน เพราะเราเห็นแล้วว่าคนที่มีจุดยืนแตกต่างนั้นไม่พยายามลดถอย ไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจ คือมีบางเรื่องเลยที่เป็นเงื่อนไข มีกันทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นผมไม่เอ่ยว่าใครมีเงื่อนไขอะไร แต่ผมคิดว่าทุกคนมีจุดยืนบางเรื่อง ซึ่งวันนี้ยังไม่มีตัวร่วมเยอะ

ไทยพับลิก้า : ดูเหมือนว่าวันนี้ความขัดแย้งในสังคมอาจจะรุนแรงและแก้ไขยากมากกว่าที่ทีมวิจัยประเมินเอาไว้หรือไม่

คือตอนทำเราก็ไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร แต่เมื่อเห็นแนวทางของคำตอบก็รู้ว่ายาก ก็เชื่อว่ามีความยากอยู่ แต่ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วแต่ละฝ่ายก็อยากจะยุติ เพียงแต่ว่าอะไรที่ร่วมกันบ้าง ซึ่งวันนี้มันไม่มีพื้นที่ตรงนี้ไง พื้นที่ที่จะคุยกันว่าอะไรที่จะพอยอมกันได้ อะไรที่จะยุติได้ แต่ทุกอย่างแม้ยุติก็ต้องเอาหลักไว้ด้วยว่าบ้านเมืองต้องรักษากฎหมายได้นะ ต้องมีกติกากันอยู่ แต่บางเรื่องต้องให้อภัยก็ต้องให้อภัย บางเรื่องคิดกันว่าให้อภัยไม่ได้ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้อง ต้องมีจุดที่มีความสมดุล จุดของดุลยภาพที่ทุกคนยอมรับกัน ไม่ใช่ทุกคนได้รับมากที่สุด

ไทยพับลิก้า : หลายฝ่ายบอกว่างานวิจัยนี้เป็นของร้อน

ผมและทีมวิจัย รวมทั้งสถาบันพระปกเกล้า มีความบริสุทธิ์ใจที่จะทำเรื่องนี้ ซึ่งความจริงเราไม่ทำก็ได้ แต่เมื่อสภาและคณะกรรมาธิการให้ความไว้วางใจ เห็นว่าเราจะมีส่วนทำอะไรได้เราก็ต้องทำ เพราะฉะนั้น โดยบทบาทของสถาบันและคนหนึ่งในสังคม เป็นสมาชิกของสังคมก็ต้องทำ

“เมื่อเราทำเต็มที่ แล้วที่สำคัญคือเราไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ผมก็บอกทุกคนในทีมผมเลยว่าเตรียมรับนะ เพราะแน่นอนว่าข้อเสนอเรานี่ ถ้าถูกใจฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องพูดแน่นอน เพราะมันเป็นขั้วที่ชัดเจน เพราะฉะนั้น ถามผมว่าหนักใจไหม ยืนยันครับว่าเราทำหน้าที่ของเรา และนั่นคือความรับผิดชอบ เรามีเหตุมีผลอย่างไรก็ไม่ใช่แสดงว่าทุกคนจะเห็นไปด้วยกันทั้งหมด ผมรับได้กับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมด แต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่ก้าวล่วงไปสู่สถาบันพระปกเกล้าเอง ซึ่งเป็นองค์กร ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับสถาบัน ผมพูดเสมอว่าความรับผิดชอบต่อข้อเสนอนั้นเป็นความรับผิดชอบของคณะผู้วิจัยก่อน”

รีเพลย์ฉาก “ดูไบ” ต้นตอวิจัย “รับจ็อบ”

“ผมไปดูไบ เปิดเผยมากนะครับ ขอไปขออนุมัติสถาบันชัดเจน ใช้งบประมาณของสถาบันทั้งหมด”

วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า ยืนยันทันทีถึงข้อกล่าวหาที่มีต่อ “ผลวิจัย” ที่ถูกผูกโยงให้เข้ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“วุฒิสาร” เล่าว่า เมื่อเขาตัดสินใจที่จะทำงานวิจัยชิ้นที่ได้รับมอบหมายมาจาก “คณะกรรมาธิการปรองดอง” ที่จะต้องใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง

แน่นอนว่าหนึ่งในนั้น จำเป็นต้องสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ

“ผู้วิจัยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 60 กว่าคน แต่หลังจากที่บางคนปฏิเสธ บางคนไม่สะดวกจะให้สัมภาษณ์ สุดท้ายได้มา 47 คน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณนั้นสำคัญมาก เพราะเขาเป็นผู้อยู่ในความขัดแย้ง ซึ่งถ้าไม่สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ คนก็จะมาถามผมอีกว่างานวิจัยผมสมบูรณ์หรือไม่”

“วุฒิสาร” เล่าว่า เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงประสานไปยัง “วัฒนา เมืองสุข” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการปรองดอง เพื่อขอให้ส่งแบบสอบถามไปให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ทำการตอบมา

แต่ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อ “วัฒนา” ถามกลับมาที่เขาว่า “ทำไมไม่ไปถามเอง” !!!

รศ.วุฒิสาร ตันไชย
รศ.วุฒิสาร ตันไชย

“คุณวัฒนา รับปากผมว่าจะไปประสานงานให้ จากนั้นก็มีการกำหนดวันเวลานัดหมายให้ผมไปสัมภาษณ์ ผมจึงเดินทางไปกับคุณวัฒนาสองคน…

…คุณวัฒนา จองตั๋วเครื่องบินให้ แล้วผมก็เบิกค่าใช้จ่ายกับสถาบันทั้งหมด…

…สาเหตุที่ผมไปกับคุณวัฒนานั้น เพราะส่วนหนึ่งคุณวัฒนาก็ไปในฐานะของรองประธานคณะกรรมาธิการฯ ส่วนทีมวิจัยที่มีผมไปคนเดียวก็เพราะมีปัญหาเรื่องการทำวีซ่าไม่ทัน อีกทั้งก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้วย เพราะผมไปด้วยงบประมาณของสถาบันพระปกเกล้าทั้งหมด…

… คนอาจจะตั้งคำถามว่า เพราะอะไรผมถึงไปกับคุณวัฒนา คำตอบง่ายมากครับ ก็เพราะว่าผมไม่มีปัญญาติดต่อกับคุณทักษิณไง ก็ผมไม่รู้จะติดต่ออย่างไร…

…พอติดต่อวันเวลาได้ ก็เดินทางไปกัน ไปถึงก็พบคุณทักษิณ แล้วสัมภาษณ์ อัดเทปมาประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นผมก็กินข้าวเย็น พอกินข้าวเย็นเสร็จ ผมก็ขึ้นเครื่องกลับประเทศไทย คืนนั้นทันที โดยไม่ได้นอนค้าง แม้กระทั่งอาบน้ำยังไม่ได้อาบเลย” วุฒิสารยืนยันทุกฉากตอน ตั้งแต่เขาเริ่มต้นกระบวนการเดินทางไปดูไบ จนกระทั่งขึ้นเครื่องบินกลับมาประเทศไทย

เขายืนยันว่าภารกิจสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น “วันเดียวจบ” !!!

“ถามว่าถ้าผมไม่คุยกับคุณทักษิณ ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณทักษิณคิดอย่างไร มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าในทางวิชาการมันอธิบายได้ครับ บางคนบอกว่าผมไปรับจ็อบ ผมว่าไม่ค่อยเป็นธรรม เพราะพวกผมไม่มีสิทธิ์ไปอธิบาย แต่ผมคิดว่าผมไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม เพราะอธิบายไปก็ไม่จบ”