ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คำต่อคำของนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาสปสช. ชี้แจงปมร้อนๆ “ผลตรวจสอบสตง.”

คำต่อคำของนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาสปสช. ชี้แจงปมร้อนๆ “ผลตรวจสอบสตง.”

10 ธันวาคม 2011


จากผลการตรวจสอบการใช้งบบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 โดยพบว่าการบริหารจัดการยังไม่ถูกต้องและเหมาะสมในหลายประเด็น1.การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด 2.การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนด 3.การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการไม่เหมาะสม 4.การจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545

5.ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง 6.การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพ.ร.บ.หลักประกันสุภาพแห่งชาติ และ7.การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด(อ่านสตง.ตรวจสอบการดำเนินงานสปสช.ระบุไม่โปร่งใส ใช้งบสุขภาพถ้วนหน้า เหมาจ่ายรายหัวผิดประเภทเกือบ 100 ล้าน)

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการสปสช.ได้มีการประชุม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า

ไทยพับลิก้า : ประชุมบอร์ดมีการคุยเรื่องสตง.หรือไม่

ไม่มี

ไทยพับลิก้า : จะทำอย่างไรต่อ

ที่ประชุมยกเรื่องนี้ขึ้นมา รัฐมนตรีบอกว่าท่านจะไปดูและจะดำเนินการเอง (ซึ่งรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นรถว่าวันที่ 7 ธันวาคมนี้จะออกหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ)

เรื่องนี้เราได้ชี้แจงสตง.ไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2554 เป็นเอกสาร จริงๆเขาให้เวลา 60 วัน

เรื่องที่สตง.ทักท้วงเขาดูย้อนหลังนานตั้งแต่ปี 2546 บางเรื่องมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เมื่อเจออะไรเขาก็ทักท้วง เป็นหน้าที่ของสตง. เราชี้แจงไปทั้งหมดทุกข้อ

ไทยพับลิก้า : กังวลไหมกับรายงานผลตรวจสอบสตง.

ไม่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สตง.เขาตรวจตั้งแต่ปี 2546 – 2553 มีประเด็นที่เขาทักท้วง และเป็นเรื่องปกติของ สตง.

ไทยพับลิก้า : ประเด็นที่ทักท้วงมีนัยะไหม

ต้องถามว่าประเด็นไหน

ไทยพับลก้า : ทั้ง 7 ประเด็น อย่างกรณีการจัดซื้อ

ปี 2554 สำนักงบประมาณให้สปสช.เช่ารถ 37 คัน วงเงิน 11 ล้านเศษ เราเช่าแล้วยังเหลืองบ 2 ล้านบาท หากขบวนการต่อรองหลายครั้งแล้วทำให้เสียหายก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

หากไปดูรายละเอียด การที่เราต่อรองสองครั้ง ผมว่าถ้าไปดูการจัดซื้อจัดจ้างเวลาเราเปิดซองปั้บ เราเรียกคนมาต่อรองราคาอีก เราถือว่าเราทำดี แต่เขาบอกว่าการที่เราทำอย่างนั้นทำให้คนที่เสนอราคาครั้งแรกเสียโอกาส แต่เราได้ซื้อของราคาต่ำ ผมอยากรู้ว่าหน่วยงานอื่นเขาเช่าได้ถูกเท่าเราไหม ขบวนการต่อรองเพิ่มขึ้น ไม่น่าจะมีปัญหา

ไทยพับลิก้า : เขาท้วงติงประเด็นการจัดซื้อ มีการเรียกคนที่เสนอต่ำสุดมาต่อรองราคา จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลไม่รั่ว

เวลาเปิดซองราคาเราให้ทุกคนฟัง และผมให้คุณไปทำมาใหม่ มาต่อรองอีกรอบ หากต่อรองแบบนี้แล้วผิด มีความเสียหายอย่างไร ผมไม่รู้นะ ไม่มีในระเบียบ หรือทำให้เกิดโปร่งใส ไม่โปร่งใสอย่างไร ก็ต้องดูผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ผมไม่ได้มีปัญหาการทักท้วงของสตง.เขาเห็นข้อบกพร่องก็ท้วงติงมา

ถ้าบริษัทที่ประมูลอยากได้เงิน หากบริษัทแรกเสนอแพง พอเห็นอีกบริษัทเสนอถูกกว่า เขาอาจจะเห็นว่ายังมีมาร์จินอยู่ เขาก็ลดราคาลงได้อีก

อีกอย่างการอ้างระเบียบสำนักนายกฯ มันไม่ใช่ระเบียบที่เราใช้ สปสช.เรามีระเบียบของเราเองในการจัดการ

ไทยพับลิก้า : แต่สตง.บอกว่าทำแบบนั้นผิดระเบียบ

ระเบียบของผม(สปสช.)มันคนละระเบียบกับสำนักนายกฯ จะเอาระเบียบสำนักนายกฯมาใช้ได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าบอร์ดสปสช.มีอำนาจจะตั้งกฏอย่างไรก็ได้

หลักการองค์กรอิสระ เขาต้องการให้มีความคล่องตัวในการจัดการ เขาถึงจัดโครงสร้างองค์กรแบบนี้ ไม่งั้นทำไมเขาไม่ตั้งเป็นหน่วยงานราชการล่ะ

ไทยพับลิก้า : แล้วสปสช.มีตัวอ้างอิงในการตั้งเกณฑ์ปฏิบัติที่เหมาะสมถูกต้องอย่างไร

ผมว่าน่าจะดูผลการจัดซื้อจัดจ้างของเราเป็นอย่างไร น่าจะถามว่าสปสช.ประหยัดเงินไปได้เท่าไหร่ หากได้ของถูกมีคุณภาพ อย่างเรื่องการซื้อ สเตนท์ เราซื้อราคาจาก 80,000 บาท เหลือ 18,000 บาท

ไทยพับลิก้า : แต่คนใช้บอกว่าไม่ได้คุณภาพ

หัวใจนะ หากไม่ได้คุณภาพ มีปัญหาในการใส่ เช่น ใส่แล้วหลุด มีคนโวยวายอยู่แล้ว เราประมูลมาหลายครั้ง หากมีปัญหาในการใส่สเตนท์ ผมโดนอัดเละแน่ คนไข้ไม่เก็บผมไว้หรอก

ไทยพับลิก้า : สปสช.มีกรอบชัดเจนในการตัดสินใจ

ชัดเจนในการตัดสินใจ ว่าสำนักงานมีการประหยัดในการใช้เงิน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ไทยพับลิก้า : กรณีการใช้เงินผิดประเภทที่ไม่ถึงหน่วยบริการ

นั่นเป็นการตีความที่มีความแตกต่าง เขาไม่ได้ท้วงติงประเด็นนั้น เราเขียนในคู่มือไม่ชัดเจน ใน พ.ร.บ.มาตรา 36 เงินกองทุน มีไว้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนบริการสาธารณสุข เช่น กรมอนามัย อบต.ปีหนึ่งเราให้อบต.2,000 ล้านบาท ก็ไม่ใช่หน่วยบริการโดยตรง แต่หน่วยงานเหล่านั้นมาช่วยดำเนินการในการส่งเสริมสุขภาพ และตามมาตรา 47 การเอาเงินไปให้มหาวิทยาลัย ก็เป็นการส่งเสริม เพราะฉะนั้นปีหน้าเราต้องเขียนคู่มือการปฏิบัติงานให้ชัดเจน

ไทยพับลิก้า : ใช้งบป้องกันมากขึ้นแต่คนไข้ไม่ได้ลดลง กลับเยอะขึ้น

คนไข้เยอะขึ้นเพราะสามารถเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น ปัจจุบันระบบทำให้คนไข้เข้าถึงบริการมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าการป้องกันล้มเหลว เมื่อก่อนคนใช้บริการคลินิก ร้านขายยา เพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ปัจจุบันเขาไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน คนไม่ซื้อยาที่ร้านขายยา

ประเทศไทยคนมาโรงพยาบาลเฉลี่ย 3 ครั้งต่อคนต่อปี ไต้หวัน 14 ครั้งต่อคนต่อปี อังกฤษ 8 ครั้งต่อคนต่อปี ถามว่าคนไทยเข้าถึงบริการดีหรือยัง ใช้บริการมากหรือไม่

ไทยพับลิก้า : แต่หมอ พยาบาลให้บริการไม่เพียงพอ

จะให้ทำอย่างไร เป็นเรื่องรัฐบาล กพ.เป็นคนกำหนดกรอบอัตรากำลัง สปสช.ไม่สามารถแก้ได้ทุกเรื่องได้ ทุกคนรู้ว่าแพทย์ พยาบาลไม่พอกับจำนวนคนไข้

ไทยพับลิก้า : นโยบายรักษาฟรี คนไข้มาใช้บริการเยอะมาก

ถ้าเป็นประชาชน ต้องถือว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จมาก ทำโพลออกมาประชาชนพอใจมาก เพราะประชาชนเข้าถึงสิทธิ โรคที่ต้องล้มละลาย อย่าง ไตวายได้รับการรักษาดีขึ้น เรารู้ว่าผู้ให้บริการ หมอ พยาบาลเหนื่อย เพราะการเข้าถึงบริการที่มากขึ้น

ไทยพับลิก้า : คนไข้ได้คุยกับหมอแค่ 2 นาที แล้วคุณภาพอยู่ที่ไหน

จะให้ทำอย่างไร เพราะว่าหมอ พยาบาลไม่พอ ไม่ใช่เรื่องสปสช.อย่างเดียว เป็นเรื่องรัฐบาล

ไทยพับลิก้า : งบป้องกันโรคก็ทำเยอะ แต่คนก็มาใช้บริการเยอะ หมอพยาบาลก็ไม่พอ สวนทางกันไหม

ถ้าเทียบเหมาจ่ายรายหัวของสปสช.มันต่ำมาก ข้าราชการใช้ต่อคนต่อปีเท่าไหร่ งบประมาณของระบบมันน้อย แต่สปสช.สามารถจัดการได้ขนาดนี้ก็แปลกมาก

ถ้าเปรียบเทียบสปสช.เหมือนกับสำนักงานประกันสังคม เหมือนบริษัทประกัน ที่ต้องดูแลคน 48 ล้านคน สปสช.มีฐานะเท่ากับประกันสังคม กับกรมบัญชีกลาง

ไทยพับลิก้า : เลขาสปสช.มีอำนาจอนุมัติการจัดซื้อครั้ง 1,000ล้านบาท เหมาะสมหรือไม่

เราซื้อได้เฉพาะที่องค์การเภสัช เราซื้อยาเอดส์ปีละ 3 พันล้านบาท น้ำยาล้างไต 3-4 พันล้านบาท และต้องเป็นโครงการที่บอร์ดอนุมัติ ไม่งั้นเราต้องซอยวงเงินย่อย การซื้อองค์การเภสัชกรรมเหมือนซื้อรัฐต่อรัฐ

ไทยพับลิก้า : ข้อท้วงติงประเด็นการจัดซื้อไม่ใช่อำนาจหน้าที่สปสช.

ผมว่าไม่มีข้อห้าม เราไม่ได้ซื้ออะไรจากเอกชน เราไม่อยากซื้อหรอก อย่างการซื้อสเตนท์

ไทยพับลิก้า : ประเด็นการแต่งตั้งที่ปรึกษา

ทำสัญญาปีต่อปี บางปีไม่ได้ต่อสัญญา ซึ่งเป็นข้อท้วงติง เราก็รับทราบข้อท้วงติง มีคณะกรรมการประเมินผล เพียงแต่ว่าเมื่อประเมินผลแล้วแต่ไม่ได้ทำสัญญา ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำเพราะเข้าใจผิด เรายอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของเรา

ไทยพับลิก้า : ตกลงว่าสปสช.มีสถานะเป็นอะไร

เป็นองค์กรจัดตั้งโดยกฏหมายเฉพาะ ภายใต้กับกำของคณะกรรมการ มีรมต.เป็นประธาน ในกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ(ก.พ.ร.)แบ่งกลุ่มองค์กรเฉพาะเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่1 เงินเดือนสูงสุด 300,000 บาท กลุ่มที่2 เงินเดือน 250,000 บาท สปสช.อยู่กลุ่มที่ 3 เงินเดือนเลขาสูงสุด 200,000 บาท

ไทยพับลิก้า : การขึ้นเงินเดือนเลขาสปสช.

ผมจะไปขอขึ้นเงินเดือนตัวเองได้อย่างไร ผมไม่มีอำนาจขึ้นเงินเดือนตัวเอง เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ผมไม่สามารถทำได้ ผมไม่กล้าเสนอขึ้นเงินเดือนตัวเอง

ไทยพับลิก้า : ทราบไหมว่าผิดระเบียบ

ผมไม่รู้ ผมไม้รู้จริงๆ เพราะว่าเขามีขบวนการในการประเมิน และการประเมินผลผมได้ A มาทุกปี เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของผมในการจัดการ และผมไม่รู้ว่าทำไมขึ้นเงินเดือนเยอะขนาดนั้น

ไทยพับลิก้า : ใครเป็นคนเสนอ ขึ้นเงินเดือนจาก 170,000 บาท เป็น 200,000 บาท

เข้าใจว่าเขาตั้งคณะกรรมการ และจ้างบริษัทมาประเมินผลงานผมทุกๆปี เรื่องนี้ผมไม่รู้จะชี้แจงอย่างไร

ไทยพับลิก้า : จริงๆไม่ทราบใช่ไหมว่าปรับไม่ได้

จริงๆ สตง.อ้างกฏหมายมติครม.ให้ปรับเป็นขั้นๆ เขาไม่ได้ห้าม แต่ตามคำต่อคำให้ชวนว่าค่อยๆปรับ ผมไม่รู้จะชี้แจงอย่างไร ก็เข้าใจว่าเป็นหลักเกณฑ์ของกพร. เพราะเงินเดือนเลขาฯสปสช.เทียบเท่ากับผอ.โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ถามว่าเงินเดือนหมอ ถ้าเทียบเงินเดือนผอ.โรงพยาบาลอำเภอ 140,000 -150,000 บาท องค์กรแบบผมไม่มีเครื่องราช ถามว่าวิชาชีพหมอ เงินเดือน 2 แสนบาท ไม่แพง ถ้าถามว่าแพงไหม ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

หนังสืออนุมัติค่าตอบแทนอนุกรรมการตรวจสอบ
หนังสืออนุมัติค่าตอบแทนอนุกรรมการตรวจสอบ

ไทยพับลิก้า : ประเด็นเบี้ยเลี้ยงอนุกรรมการตรวจสอบสูงไป

สตง.เขาใช้คำว่าเบี้ยประชุม เราไม่ได้บอกว่าเป็นเบี้ยประชุม เราบอกว่าเป็นผลตอบแทน ลักษณะเหมาจ่ายอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 เป็นคำสั่งตั้งแต่สมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เขียนเอาไว้ชัดเจนตั้งแต่ปี 2546 เป็นค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน เราไม่ได้เขียนว่าเป็นเบี้ยประชุม เป็นการตีความที่ต่างกัน

คณะอนุกรรมการตรวจสอบ อาทิ นายล้วน บูชากรณ์ นางสาวนวพร เรืองสกุล นายคัมภีร์ สมใจ นายสมศักดิ์ แก้วสุทธิ นายเปล่ง ทองสม คณะอนุกรรมการตรวจสอบ เขาไม่ได้ตรวจสอบการทำงานในแง่กติกา ระเบียบ แต่เขาลงพื้นที่ บางเดือนเขาลงไป 3 ครั้ง ดูว่าประชาชนมีปัญหาในการรับบริการอะไรไหม เราจ่ายแบบเหมาค่าตอบแทนเป็นรายเดือนที่บอกว่าจ่ายไป 3 กว่าล้านบาท และอนุกรรมการตรวจสอบที่เขาลงพื้นที่ เขาเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่มเป็นประสบการณ์เรื่องดีๆ

หนังสือ"เรื่องเด่นที่่เห็นมา" ผลงานอนุกรรมการตรวจสอบ
หนังสือ"เรื่องเด่นที่่เห็นมา" ผลงานอนุกรรมการตรวจสอบ

ไทยพับลก้า : ประเด็นเงินกิจกรรมสนับสนุนจากองค์การเภสัชเอาไปใช้ไม่เหมาะสม

เป็นการเข้าใจผิด เอกสารจากองค์กรเภสัชระบุชัดเจนว่าสนับสนุนโครงการใด เราชี้แจงสตง.ไปแล้ว ซึ่งสตง.ต้องการให้เอาเงินนี้จัดสนับสนุนให้หน่วยบริการ

ไทยพับลิก้า : การนำเงินส่วนนี้ไปใช้ 95 ล้านบาทที่บอกว่าไปดูงานต่างประเทศ

ประเด็นสตง.ไม่ได้ติดใจเรื่องไปดูงานต่างประเทศ ติดใจเรื่องการไม่ให้เงินหน่วยบริการ

ไทยพับลิก้า : ดูงานต่างประเทศ 95 ล้านบาทมากไปไหม

ไม่ใช่ไปดูงานต่างประเทศ 95 ล้านบาทแน่นอน มีรายละเอียดอยู่

ไทยพับลิก้า : กรณีที่สตง.บอกว่าเอาเงินของผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกไปใช้เรื่องการส่งเสริมสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข

การให้บริการที่มีคุณภาพ เราจะให้มั่นใจว่าเขาได้บริการที่ดี เราก็ต้องมีหน่วยกำกับดูแลการให้บริการ มีเกณฑ์การวัดการให้บริการผู้ป่วย ในประเด็นนี้สตง.เขาตีความไม่ตรงกัน เราต้องชี้แจง บางเรื่องไม่ใช่ความรับผิดชอบของผมทั้งหมด อย่างการตรวจบสอบงบในปี 2546 -2547 -2548 แต่ผมต้องรับผิดชอบในการชี้แจงทั้งหมด

ไทยพับลิก้า : เรื่องการจ่ายโบนัสไม่ผ่านคณะกรรมการ

ทริสประเมินสปสช.ให้ A เมื่อได้ A ตามเกณฑ์จะได้โบนัส 12 % ปี 2549 ผมเป็นรองเลขาฯตอนนั้นก็ไม่ได้เสนอบอร์ด เราเข้าใจว่าได้ A ก็อัตโนมัติว่าจ่ายโบนัสได้เลย แต่เมื่อท้วงติงเราก็ต้องชี้แจง แต่ปีถัดๆมาเราก็เสนอบอร์ด

การท้วงติงส่วนใหญ่เป็นเรื่องบกพร่อง แต่ไม่มีการท้วงติงเรื่องทุจริต เป็นหน้าที่ของสตง.ว่าอะไรไม่ถูกระเบียบ หรือมติครม.เรื่องเบี้ยประชุม เราใช้กฎหมายในเรื่องค่าตอบแทน ก็แล้วแต่สตง.จะพิจารณา มันไม่ใช่เรื่องทุจริต ผมว่าไม่เกี่ยวกัน คงไม่เกี่ยวกับปปช. ผมกลัวเรื่องนี้ว่าชี้แจงแล้วเป็นการโต้แย้งกับสตง. มันจะไม่ดี

ในเรื่องเดียวกันนี้นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และในฐานะกรรมการสปสช.ได้ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้ที่ประชุมถือว่าเป็นอำนาจรัฐมนตรี ในฐานะเป็นรัฐมนตรี และประธานบอร์ดสปสช. ได้มอบให้รมต.ตัดสินใจ เช่น จะให้สปสช.ชี้แจง หรือให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อันนี้ขึ้นอยู่ที่รมต. ท่านทราบเรื่องทุกอย่าง ถือเป็นอำนาจว่าความเหมาะสมจะเลือกแนวทางไหน

ไทยพับลิก้า : จะมีการส่งเรื่องถึงปปช.ไหม

โดยขั้นตอนมันทำได้สองอย่าง แต่ว่าขั้นตอนอาจจะ…(หยุดคิด)..ดูการตัดสินใจท่านรมต.ดีกว่า โดยหลักการ มีตั้งแต่ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือตั้งกรรมการพิจารณา แต่ครั้งนี้สตง.ดูจะชี้…

ไทยพับลิก้า : ชี้ ..ถือว่ามีความผิดไหม

ต้องไปดูว่าผิดหรือไม่ แต่ละประเด็น ต้องให้ความเป็นธรรม กับผู้ที่โดนกล่าวหา

ไทยพับลิก้า : สตง.ชี้หลายประเด็นชวนให้คิด

เขามีหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงิน เราใช้เงินมีหน้าที่ระมัดระวัง

ไทยพับลิก้า : จะมีการทบทวนบทบาทสปสช.หรือไม่

ต้องคุยเชิงนโยบาย ถามผมไม่ได้

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ..อย่าเป็นเครื่องมือให้ใคร

ในขณะที่นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการ สปสช.ในฐานะตัวแทนผู้สูงอายุ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสูงในคณะกรรมการชุดที่ผ่านมา และครั้งนี้ได้กลับเข้ามาเป็นกรรมการอีกครั้ง ได้กล่าวถึงเรื่องผลการตรวจสอบสตง.ว่า
“ผมไม่ทราบเรื่องเลย”

ไทยพับลิก้า : ในฐานะบอร์ดชุดเก่าจะทำอย่างไร

เป็นเรื่องข้อสังเกต ผมไม่ทราบรายละเอียดเลย ผมให้ความคิดเห็นอะไรไม่ได้

ไทยพับลิก้า : รายงานสตง.ออกมาหลายวันแล้ว

อันนี้เป็นเรื่องสำนักงานสปสช.

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นคุณหมอเป็นบอร์ดด้วย

ใช่ บอร์ดดูโพลิซี ดูนโยบาย อันนี้เป็นเรื่องการปฏิบัติ เป็นเรื่องสำนักงาน ไม่เกี่ยวกับบอร์ด บอร์ดเป็นเรื่องนโยบาย ยกตัวอย่างนโยบายหลายๆเรื่อง เช่น เราขยายการฉีดวัคซีน ในสมัยที่ผมมาเป็นบอร์ด เรามาดำเนินการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นี่เป็นนโยบาย หรือนโยบายการล้างไตทางช่องท้อง อย่างน้ำท่วมครั้งนี้โกลาหลหมดเลยเพราะโรงพยาบาลบางแห่งปิด ผมผลักดันเรื่องนี้ ไม่ต้องพึ่งโรงพยาบาล ล้างไตอยู่กับบ้านทำให้มีปัญหาน้อยมาก อันนี้เรียกว่าโพลิซี ผมจะดูแลเรื่องพวกนี้

ไทยพับลิก้า : แล้วการบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง

(ร้อง…โอ้โฮ)บอร์ดไม่เกี่ยวๆ (ย้ำ)

ไทยพับลิก้า : แล้วการจ่ายโบนัสที่บอกว่าไม่เสนอบอร์ด

อันนั้นเป็นเรื่องสำนักงาน บอร์ดไม่เกี่ยวข้อง ถ้าไม่เสนอบอร์ด บอร์ดไม่รับรู้ ก็ไม่เกี่ยวกับบอร์ดซิ

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าเลขาฯสปสช.ต้องรับผิดชอบ

ไม่ใช่ๆๆ คืออย่างนี้ เป็นเรื่องที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เท่าที่ผมพลิกดูข่าว ยังไม่มีเวลาอ่านวันนี้(6ธันวาคม) เลขาฯเขาบอกว่าพร้อมชี้แจงหมดทุกข้อ ไปถามเลขาฯซิ

ไทยพับลิก้า : วันนี้มีการเสนอบอร์ดหรือไม่

ยังไม่มี ในระเบียบวาระการประชุมวันนี้ ไม่มีเลย ไม่มี นี่พลิกดู(เปิดแฟ้มให้ดู)

ไทยพับลิก้า : สตง.ส่งรายงานให้บอร์ดไหม

ไม่ส่ง ไม่มี(เสียงสูง) ไม่ใช่หน้าที่ ผมไม่รู้เรื่องเลย

ไทยพับลิก้า : คราวนี้ถือว่าเป็นการพาดพิงที่ค่อนข้างแรงไหม เป็นการกล่าวโทษไหม

ไม่ทราบๆๆ สตง.เวลาเขาตั้งข้อสังเกต ก็มีเยอะแยะเลยในทุกหน่วยงาน คุณไปอ่านดูซิ แต่กรณีนี้ผมไม่ทราบว่าทำไมกลายเป็นเรื่อง

ไทยพับลิก้า : กรณีนี้เป็นเรื่องที่ไม่โปร่งใสหรือไม่

คุณอย่าไปสรุปอย่างนั้นซิ

ไทยพับลิก้า : สตง.บอกว่าใช้เงินผิดประเภท เขียนค่อนข้างแรง

ใช้เงินผิดประเภทก็มีทั่วไปในหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ ใช้เงินผิดประเภทก็ต้องชี้แจง

ไทยพับลิก้า : ถือว่าไม่ได้ทุจริตใช่ไหม

มีหรือเปล่าล่ะ ผมไม่ได้ดูรายงานนะ ในรายงานมีหรือเปล่าล่ะ เขาเขียนหรือเปล่าว่าทุจริต

ไทยพับลิก้า : คล้ายๆไม่โปร่งใส

คำว่าไม่โปร่งใสแปลว่าตรวจสอบไม่ได้ คือที่นี่ ผมไม่แน่ใจ ปกติแล้วเขามีการตรวจสอบกองทุน ปกติกองทุนไม่จำเป็นต้องให้สตง.ตรวจสอบ ให้สำนักงานบัญชีเป็นผู้ตรวจก็ได้ แต่ที่นี่ให้สตง.ตรวจสอบ เอาหน่วยงานที่เคร่งครัดที่สุดแล้วมาตรวจสอบ นี่แสดงว่าตรวจสอบได้ โปร่งใสแปลว่าตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้นจะว่าตรวจสอบไม่ได้ มันผิดแล้ว

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสปสช.ในฐานะตัวแทนผู้สูงอายุ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสปสช.ในฐานะตัวแทนผู้สูงอายุ

ไทยพับลิก้า : การบริหารของบอร์ดชุดที่แล้วเรื่องโรงพยาบาลขาดทุนเยอะๆ

เรื่องโรงพยาบาลขาดทุน ผมเคยเขียนบทความไว้ หนังสือ”ทำความจริงให้ปรากฏ” ผมสรุปเไว้ลยซึ่งทางสปสช.พิมพ์ออกมาแล้ว ต้องติดตามข่าวให้ลึก ไม่งั้นแล้วจะเข้าใจผิด

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้สปสช.มีข้อกล่าวหาเยอะ

อ๋อ..มันมีขบวนการ(หัวเราะ)คือ สปสช.ทำงานกับประชาชน ได้ประโยชน์มากทีเดียว และมีเงินมาก มีความพยายามดึงเงินไปที่อื่น มันไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมาน่ะ หากคุณตีหน่วยงานนี้ คุณทำบาปเลย ผมจะบอกให้

ไทยพับลิก้า : ทำไมสปสช.กันเงินไว้เยอะ

ไหน..กันไว้เยอะ คำว่ากันเยอะ คุณเอาตัวเลขตรงไหนมา

ไทยพับลิก้า : 5 หมื่นล้านบาท

คุณรู้ไหมว่าสปสช. สมัยก่อนเงินงบประมาณเอาไปกองที่หน่วยงาน และหน่วยงานเข้าไปบริหารจัดการ เงินไปถึงปลายทางน้อยมาก แต่สปสช.เข้ามา พอถึงเดือนตุลาคม งบประมาณผ่านแล้ว ขึ้นเลยว่าโรงพยาบาลไหนได้เงินเท่าไหร่ เขาทำดีที่สุดเลย คุณไปศึกษาดีๆ เรื่องนี้อย่าไปเป็นเครื่องมือเขา

ไทยพับลิก้า : สตง.รายงานแบบนี้ทำให้ภาพลักษณ์สปสช.เสียไปไหม

ไม่ใช่ ไม่เป็นไร สตง.มีหน้าที่ในการตรวจสอบ เขาเจอ เขาก็ออกข่าว ก็เป็นเรื่องของเขา เรามีหน้าที่ตรวจสอบข่าว อะไรเป็นอะไร ทุกแง่ทุกมุม ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย อย่าไปเป็นเครื่องมือใคร

ไทยพับลิก้า : แล้วจะชี้แจงอย่างไร

ไม่ใช่ผม คุณถามผิดคนแล้ว คุณไม่รู้ว่าหน้าที่ใครรับผิดชอบตรงไหน ทำไมมาถามผม

ไทยพับลิก้า : คุณหมออยู่ในบอร์ดและคณะอนุกรรมการหลายชุดด้วยในช่วงที่ผ่านมา

คืออันนี้เป็นหน้าที่อนุกรรมการตรวจสอบ ผมไม่ได้อยู่ในอนุตรวจสอบนั้นเลย ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ว่าผมนั่งอยู่แล้วผมจะรู้ทุกเรื่อง ผมรับผิดชอบ ผมไม่ได้มานั่งที่สปสช. 24 ชั่วโมง บอร์ดเข้าไปดูเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง แล้วเราทำเฉพาะนโยบายที่สำคัญๆเท่านั้น เราจะมานั่งดูตลอดเวลา มันไม่ได้(เน้นเสียงสูง) ไม่ใช่หน้าที่ และเราเข้ามานั่งดู มานั่งจี้ มันเป็นการก้าวก่าย

พูดถึงการบริหารจัดการ ที่นี่บริหารจัดการดีที่สุด ผมจะบอกให้ คุณเอาง่ายๆนะ สปสช.เริ่มต้นใช้เงินแค่ 1,202 บาทต่อหัว ใช้ 3 ปี ต่อเนื่องกัน เทียบกับการใช้เงินรักษาพยาบาลของข้าราชการใช้เท่าไหร่ 4-5 เท่าตัว คุณต้องไปตีข้าราชการ แล้วถามว่า 4-5 เท่าตัว แล้วบริการดีหรือไม่ บริการแย่กว่าเยอะเลย ยกตัวอย่าง ราชการทำมาแล้วร่วม 100 ปี ประกันสังคมทำมาก่อนสปสช. 10 ปี คุณไปดูนะว่ามาตรา 41 เวลาผู้เสียหาย ตายหรือพิการ มีการจ่ายเงินช่วยเหลือ ไม่มีใครเคยคิดทำเรื่องนี้ ทั้งที่ประกันสังคมใช้มากกว่า 50 % ข้าราชการใช้เงินมากกว่า 5 เท่า แต่ที่นี่ใข้เงินนิดเดียว ใช้เงินที่น้อยมาก บริหารอย่างโปร่งใส มาดูแลคนที่ตายโดยไม่สมควร นี่คือข้อดี คุณไปวิเคราะห์ดู ไม่มีใครคิดทำทั้งประกันสังคม ข้าราชการ เวลามีเรื่องไปฟ้อง ส่วนใหญ่แพ้ เดี๋ยวคุณก็จะโดน คุณจะไม่มีที่พึ่ง เพราะไม่มีหมอมาเป็นพยาน เขาจะมีแต่มารุมคุณ ผมจะบอกให้ ผมเนี่ยไปเป็นพยานให้คนไข้ ลำบากมากเลย กว่าจะช่วยคนไข้ได้ยากเย็นแสนเข็ญ ผู้ประกันตนแต่ละราย พอไปโรงพยาบาลก. โรงพยาบาลดูแลเขาไม่ดี เขากลัวตาย เปลี่ยนไปโรงพยาบาลข. หมดเงินเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน พอเข้ากรรมการแพทย์ประกันสังคม โรงพยาบาลบอกว่าคนไข้หนีไปเอง เพราะฉะนั้นจ่ายเอง ผมต้องมาสู้กรณีอย่างนี้

ไทยพับลิก้า : คุณหมอมองว่าระบบกองทุนสุขภาพดีถ้วนหน้า ยังดีอยู่

โดยภาพรวมใช่ แต่ไม่ใช่เพราะผมมาอยู่ตรงนี้ ผมใช้บริการประกันสังคม ผมใช่สิทธิข้าราชการ ผมจะบอกให้ว่าตรงนี้ดีที่สุด

ไทยพับลิก้า : แต่โรงพยาบาลเจ๊ง

โรงพยาบาลไม่เจ๊ง ไปอ่านหนังสือที่ผมเขียน ไม่เจ๊งจริง ไม่จริง คุณไปศึกษาจะพบว่าเกิดจาก 3 สาเหตุ 1.โรงพยาบาลอยู่ไกลๆ เงินไม่ค่อยเข้า คนจนเยอะ อันนี้น่าสงสาร ถามว่าสปสช.ทำอย่างไร เขาทำ จัดเงินให้ไปเยอะหน่อย ในอัตราที่สูงกว่าธรรมดา 2.เจ๊งเพราะใช้ยาแพงๆ ไม่โปร่งใส 3.เงินกระจายไม่เหมาะสม โรงพยาบาลสาธารณสุข กว่า 800 แห่ง บางทีรวยมากเกิดการลักหลั่น จนที่เกิดปัญหาสภาพคล่อง ไม่ได้เจ๊ง ไม่มีที่ไหนเจ๊ง

ไทยพับลิก้า : บริษัทขายยาฟ้องโรงพยาบาล

เขาอาจจะจ่ายช้า ตอนที่เกิดปัญหาสภาพคล่องลดลง เพราะจ่ายเงินค่าตอบแทนเช่น ค่าอยู่เวร เป็น 1,000ล้านบาท เกิดจากปัญหาจ่ายเงินตอบแทน คุณไปอ่านหนังสือที่ผมเขียน

ไทยพับลิก้า : อีกสาเหตุมาจากสปสช.ไม่ยอมจ่ายเงิน

คุณต้องไปทำการบ้านมา ถามผมแบบนี้ ผมตอบไม่ได้หรอก

ไทยพับลิก้า : ดูจากงบสปสช.

มันต้องตรวจสอบ (พร้อมเปิดประตูรถ บอกว่าต้องรีบไป)