ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ยกเลิกเบนซิน 91 และความจริงของแก๊สโซฮอล์

ยกเลิกเบนซิน 91 และความจริงของแก๊สโซฮอล์

8 ธันวาคม 2011


กลับมาเป็นประเด็นกันอีกครั้ง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)มีมติยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน,ลดการนำเข้าน้ำมันเบนซิน,ส่งเสริมผลิตผลทางการเกษตร และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยให้เวลาผู้บริโภคปรับตัวภายใน 1 ปี ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็จะต้องเร่งเคลียร์สต็อกเก่าให้หมดก่อนที่กฏหมายมีผลบังคับใช้

แหล่งข่าวจากคณะวิศวกรรมยานยนต์กล่าวว่า กรณีรัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 91 ก่อนล่วงหน้า 1 ปี เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัว เนื่องจากปัจจุบันน้ำมันเบนซิน 91 ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ถ้าดูข้อมูลปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินของกรมธุรกิจพลังงาน พบว่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินโดยรวมอยู่ที่ 20.065 ล้านลิตรต่อวัน ประกอบไปด้วยเบนซิน 91 มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 10.001 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮอล์ 91 จำนวน 5.003 ล้านลิตรต่อวัน,แก๊สโซฮอล์ 95 จำนวน 4.226 ล้านลิตรต่อวัน, ส่วนเบนซิน 95 มีปริมาณการใช้อยู่ 0.161 ล้านลิตรต่อวัน,แก๊สโซฮอล์ E-20 จำนวน 0.643 ล้านลิตรต่อวัน,แก๊สโซฮอล์ E-85 จำนวน 0.0306 ล้านลิตรต่อวัน,

ดังนั้นถ้าหากมีการยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 คนกลุ่มนี้ก็จะต้องหนีไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 หรือ 95 ถ้ามีฐานะดีหน่อย ก็หันไปใช้เบนซิน 95 หรือติดก๊าซธรรมชาติที่ราคากำลังจะเริ่มลอยตัวตั้งแต่ต้นปีหน้า แต่ปัญหาของกลุ่มที่ใช้น้ำมันเบนซิน 91 ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องยนต์รุ่นเก่าที่ผลิตก่อนปี 1995 เครื่องยนต์ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับใช้กับแก๊สโซฮอล์ ทั้งระบบคาร์บูเรเตอร์และหัวฉีดรุ่นเก่า ที่ผ่านมาพยายามปรับเปลี่ยนท่อยางและอุปกรณ์ส่งน้ำมันแล้ว แต่ไม่สามารถทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีที่ช่วยเพิ่มค่าออกเทน และเอทานอลที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบนซินได้ จอดอยู่เฉยๆก็มีน้ำมันเบนซินรั่วไหลนองอยู่ใต้ท้องรถ ถึงแม้เปลี่ยนท่อยางที่วางขายตามท้องตลาด ด้านข้างของท่อน้ำมันสกรีนคำว่า “GASOHOL E20-85” เมื่อใช้ได้สักพัก ก็แตกรั่วเหมือนเดิม ต้องเปลี่ยนท่อยางกันบ่อยๆ เพราะปัจจุบันยังไม่มีท่อยางและอุปกรณ์ส่งน้ำมันที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากมอก.ว่าใช้กับแก๊สโซฮอล์ได้

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนใช้รถหันไปเติมเบนซิน 91 เพราะเมื่อเติมแก๊สโซฮอล์แล้วมีความรู้สึกว่าวิ่งได้ระยะทางน้อยลงกว่าเบนซิน 91 หรือ 95 เนื่องจากเอทานอลที่เติมเข้าไป 10 % จะให้ค่าความร้อนน้อยกว่าเบนซิน ทำให้รถยนต์วิ่งได้ระยะทางน้อยลงเล็กน้อยลง และอีกส่วนหนึ่งอาจจะมีการระเหยออกไปด้วย ค่าออกเทนหายไปบางส่วน

ปัญหานี้ถ้าไปถามเจ้าของปั้มน้ำมันในต่างจังหวัดว่าแต่ละวันมีน้ำมันในถังที่ฝังไว้ใต้ดินหายไปมากน้อยแค่ไหน ยิ่งหน้าร้อนยิ่งระเหยเร็ว โดยเฉพาะถังรุ่นเก่าที่ไม่มีตัวดักไอน้ำมัน ปั้มตามต่างจังหวัดจึงไม่อยากขายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพราะมันระเหยเร็วกว่า วันที่ขนน้ำมันออกจากโรงกลั่นมีค่าออกเทนมากกว่า 95 เล็กน้อย พอไปถึงปั้มน้ำมันค่าออกเทนเหลือ 93 แต่ก็ยังพอขายได้ แต่ถ้าเป็นน้ำมันเบนซินออกกเทน 91 ถึงปั้มน้ำมันอาจจะเหลือค่าออกเทน 89 โดยเฉพาะปั้มที่อยู่ไกลๆอย่างแม่ฮ่องสอน ชาวบ้านเองก็ใช้น้อยเติมครั้งหนึ่งใช้ไปได้ 1-2 อาทิตย์ ค่าออกเทนก็อาจจะเหลือแค่ 87 เครื่องยนต์ก็อาจจะมีอาการสะดุด

ถึงแม้รัฐบาลจะกำหนดโครงสร้างอัตราภาษีเพื่อสนับสนุนให้คนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ โดยการทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์มีราคาถูกกว่าเบนซิน 91 ลิตรละ 2-3 บาท แต่เมื่อนำมาคำนวณรวมกับค่าบำรุงรักษาเครื่องยนต์และระยะทางที่หายไป คนก็ยังนิยมใช้น้ำมันเบนซิน 91 อยู่เหมือนเดิม

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าในส่วนของผู้ผลิตน้ำมันก็เป็นปัญหา กระบวนการผลิตไม่ใช่เอาน้ำมันเบนซิน 91 มาผสมกับเอทานอล 10 % แล้วใช้ได้เลย ซึ่งกระบวนการผลิตจะต้องมีการนำเข้าสารเคมีที่ช่วยเพิ่มค่าออกเทนเพื่อใช้เตรียมน้ำมันเบนซินพื้นฐานก่อนที่จะนำมาผสมกับเอทานอลซึ่งมีราคาแพง ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันอย่างปตท. มีต้นทุนที่สูงขึ้นเกือบ 2 บาทต่อลิตร ดังนั้นที่ประชุมกพช.เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ไปหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการผลิตและการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานมาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป
อ่านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์