ThaiPublica > คอลัมน์ > ผลกระทบของแผนพลังงานไฟฟ้า PDP2018 ที่มีต่ออนาคตพลังงานไทย

ผลกระทบของแผนพลังงานไฟฟ้า PDP2018 ที่มีต่ออนาคตพลังงานไทย

27 ตุลาคม 2019


ดร.ภิญโญ มีชำนะ

ผมได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงานพลังงาน รุ่นที่ 13 (วพน.13) ของสถาบันวิทยาการพลังงาน ระหว่าง มกราคม-มิถุนายน 2562 และได้ร่วมทำโครงการกลุ่ม (เบญจมาศ) หัวข้อ “PDP2018: ผลกระทบอนาคตพลังงานไทย” ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายการผลิตไฟฟ้าของไทยที่อาจมีผลกระทบต่อการใช้พลังงานของประเทศในอนาคต จึงขอนำข้อคิดเห็นบางส่วนของโครงงานเพื่อนำเสนอในบทความนี้

จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 อนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018 เมื่อวันที่ 24 มกราคม และ ครม.ได้อนุมัติแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าภาคเอกชน และประชาชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากแผน PDP ฉบับนี้มีรายละเอียดแตกต่างไปจากแผน PDP2015 ค่อนข้างมาก กล่าวคือ

    1. กำลังผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น
    2. ลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และลดสัดส่วนการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) รวมถึงการตัดแผนที่จะผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ทิ้งไป
    3. เพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น
    4. พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แต่ไปลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพ
    5. มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการด้านไฟฟ้า และมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาจัดการ

โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างแผน PDP2018 ฉบับใหม่กับฉบับเดิม PDP2015 พบว่า

แผนใหม่ได้ระบุกำลังการผลิตไฟฟ้าถึงสิ้นปี 2580 จะมีทั้งหมด 77,211 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่ 70,335 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มมากกว่าแผนเดิมร้อยละ 10 โดยยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่แผนเดิมกำหนดที่ร้อยละ 5 แต่ในแผนใหม่นี้ลดเหลือ 0 (คือหายไปร้อยละ 5) ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ถูกลดลงไปจากแผนเดิมร้อยละ 23 แต่แผนใหม่เหลือร้อยละ 12 (คือหายไปร้อยละ 11) ซึ่งสัดส่วนที่ถูกลดของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 รวมกันคือ ร้อยละ 16 นี้จะถูกนำไปเพิ่มให้กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่แผนเดิม (PDP2015) กำหนดไว้ร้อยละ 37 แต่แผนใหม่กลับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ16 กลายเป็นร้อยละ 53 (ซึ่งดูราวกับว่าต้องการลดสัดส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินลงรวมกันร้อยละ 16 เพื่อนำไปเพิ่มให้กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ)

ทั้งนี้มีการให้เหตุผลว่าแนวโน้มก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะนำเข้าเพิ่มขึ้นในอนาคตจะมีราคาถูกลง แต่มีข้อสังเกตว่า ขณะที่แผนเดิมหรือ PDP2015 ได้เน้นไปที่การเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยการ “กระจาย” เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วยการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลงไปให้เหลือร้อยละ 37 (จากปัจจุบันที่ร้อยละ 60) แต่ในแผนใหม่นี้กลับมาเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติขึ้นเป็นร้อยละ 53 (นั่นคือลดลงไปจากปัจจุบันเพียงเล็กน้อย) จนดูเหมือนว่าจะหวนกลับมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงที่ “กระจุก” ต้วอยู่ที่ก๊าซธรรมชาติ และ LNG นำเข้าจากต่างประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันราคา LNG นำเข้าในระยะสั้นอาจจะถูกลง แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆว่าราคาจะไม่แพงไปกว่านี้ในอนาตและที่สำคัญที่สุดแผน PDP2018 นี้ได้เอื้อให้ภาคเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบแทนภาครัฐ โดยกำหนดให้ลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากปัจจุบันร้อยละ 35 เหลือแค่ร้อยละ 24 ตามแผนใหม่ PDP2018 นี้ ซึ่งอาจก่อปัญหาความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศในอนาคตได้

เราได้มองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแผน PDP 2018 ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้

1. ผลกระทบจากการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในแผน PDP2018 ที่ยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมดจนอาจเพิ่มความเสี่ยงจนทำให้ประเทศเกิดความไม่มั่นคงทางพลังงานได้

ขณะที่แผนเดิมหรือ PDP2015 จะมุ่งไปที่ลดการพึ่งพาจากก๊าซธรรมชาติลง แต่แผน PDP2018 ใหม่นี้ยังคงกลับไปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติรวมถึงเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ที่ต้องนำเข้ามาเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมสัดส่วนร้อยละ 37 ไปเป็นร้อยละ 53 ในแผนใหม่ (คือประมาณครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมด) ทั้งนี้มีข้อสงสัยว่าทำไมแผน PDP2018 นี้จึงกลับไปพึ่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้สูงขึ้นอีก

แผนนี้จึงน่าจะ “เอื้อ” ให้เอกชนที่ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงได้ประโยชน์ กล่าวคือ หลังจากที่แผน PDP2018 ได้ถูกประกาศออกมาที่ได้มีการปรับเพิ่มโควต้า SPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น โดยมีการต่ออายุโรงไฟฟ้า SPP 25 โรง ซึ่ง เป็นผลดีต่อกลุ่มผู้ผลิต SPP เช่น BGRIM, GLOW หมดห่วงเรื่องโรงไฟฟ้า SPP ที่จะหมดอายุ

นอกจากนี้โรงไฟฟ้ารายใหญ่หรือ IPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG เป็นเชื้อเพลิง เช่น GULF, RATCH และ EGCO ต่างก็มีโอกาสได้รับประโยชน์มากกว่า SPP กล่าวคือ จะมีโอกาสได้สัญญาผลิตไฟฟ้าในส่วนของ กฟผ.ที่จะต้องลดกำลังการผลิตลงจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 24 โดยจะให้เอกชนผลิตไฟฟ้าแทนสัดส่วนของ กฟผ.ที่จะลดลง

ถังบรรจุก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศของปตท. จ.ระยอง

ดังนั้น แผน PDP2018 จึงส่งผลจะทำให้มีการนำเข้า LNG จากต่างประเทศเพิ่ม แม้ว่าราคา LNG ในตลาดปัจจุบันค่อนข้างต่ำ แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆว่าราคา LNG นำเข้าในอนาคตจะถูกลง และราคาอาจผันผวนดังที่เคยเป็นมาในอดีต จึงไปเพิ่มความเสี่ยงด้านราคาค่าไฟฟ้า (Price Risk) ของประเทศ ที่อาจจะผันผวนอีกได้ในอนาคต

แม้ว่าสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ประเมินว่าราคา LNG นำเข้าจะมีราคาถูกลงในอนาคตเนื่องจากมี supply เพิ่มขึ้น โดยจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกในช่วงปี 2561-2580 จะอยู่ระหว่าง 3.50-3.63 บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ยที่ 3.58 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นการคาดการณ์ราคา LNG ระยะสั้นในแง่ดี (แต่คงไม่มีใครสามารถสามารถคาดการณ์ว่าราคาจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปได้ในอนาคต)

นอกจากความเสี่ยงด้านราคา LNG ที่อาจผันผวนแล้ว ยังอาจจะมีความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศได้ เพราะหากเราสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่ม นั่นหมายความว่าเราต้องนำเข้า LNG เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะเราจะพึ่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยไม่ได้ในระยะยาว เนื่องจากแหล่งสำรองในอ่าวไทยจะค่อยๆทยอยหมดลงไป จะผลิตออกมาได้น้อยลงเรื่อยๆ และในปัจจุบันเราต้องพึ่งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าและมาเลเซียที่อาจจะมีความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลวในรูป LNG ที่จะต้องนำเข้ามากขึ้นเรื่อยๆจากตะวันออกกลางและจากบางภูมิภาคที่ที่มีโอกาสที่จะเกิดสงครามได้ นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุจากการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อส่งที่ได้เคยเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ รวมถึงความเสี่ยงด้านการก่อการร้ายอีกด้วย

2). ผลกระทบที่เกิดจากการคงสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผน PDP2018 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แต่ไปลดพลังงานชีวมวลลงไป

มีข้อสังเกตถึงการเพิ่มอย่างมากมายของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ในแผนใหม่ PDP2018 ที่เพิ่มขึ้นถึง 10,000 เมกะวัตต์ (จากเดิม 6,000 เมกะวัตต์) คือเพิ่มขึ้นมาถึง 4,000 เมกะวัตต์เลยทีเดียว แต่ที่ดูแปลกๆก็คือมีการสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์ของภาคประชาชนที่จะทะยอยติดตั้งให้ได้ปีละ 100 เมกะวัตต์ภายใน 10 ปีแรกที่จะติดตั้งได้เพียง 1,000 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 90 หรือ 9,000 เมกะวัตต์จะไปติดตั้งตอนท้ายแผนคือ 10 ปีที่เหลือ ก็ยังไม่มีความชัดเจนของเหตุผลและแผนปฏิบัติ

หากจะให้คาดเดาก็อาจเป็นไปได้ว่าภาครัฐเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า Disruptive Technology ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานลมและแสงอาทิตย์จะนำมาแทนที่การผลิตไฟฟ้าแบบดั้งเดิมได้อย่างไม่มีปัญหาในเรื่องเสถียรภาพและมั่นคง เพราะพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวยังคงเป็นพลังงานที่ไว้ใจไม่ได้ (non-firm) เหตุเพราะเทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่สุกงอม (mature) พอที่จะพึ่งพาเป็นพลังงานหลักได้ และหากรีบร้อนนำเอาพลังงานที่ไม่เสถียรเข้ามาในระบบการผลิตไฟฟ้าอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศได้ (ซึ่เราคาดเดาว่าน่าจะมีเหตุผลเช่นนี้)

อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีกระแสกดดันให้หลายๆประเทศที่จะต้องให้ความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเรามีความเห็นว่าการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยควรเน้นการสนับสนุนไปที่บทบาทของพลังงานหมุนเวียนประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพเป็นอันดับแรกก่อน ส่วนพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ควรจะสนับสนุนรองลงไป เหตุเพราะไทยมีเกษตรกรรมเป็นจุดแข็งและมีของเหลือและของเสียการเกษตรจำนวนมากที่มีศักยภาพที่สามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ค่อนข้างมากที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มติมจากการผลิตเดิมได้อีกเป็นจำนวนมาก

solar rooftop

หากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจังทั้งทางด้านเทคนิคและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น จัดเตรียมสายส่งที่สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม รวมถึงการอุดหนุนจากภาครัฐอย่างเหมาะสม พลังงานหมุนเวียนประเภทนี้จะสามารถเป็นที่พึ่งในการผลิตไฟฟ้าให้มีความเสถียร (stability) และมั่นคง (stability) จนสามารถผลิตไฟฟ้าที่ไว้ใจและพึ่งพาได้ (firm) ดีกว่าโรงไฟฟ้าหมุนเวียนจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่ไว้ใจไม่ได้ (non-firm)

ดังนั้น เราจึงควรสนับสนุนให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพในการผลิตไฟฟ้าให้เต็มศักยภาพเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการจูงใจให้เกษตรนำเอาของเหลือและของเสียการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงเป็นอันดับแรกเสียก่อน ก่อนที่จะไปสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานลมและแสงอาทิตย์ (ที่ส่วนใหญ่ที่เราต้องนำเข้าเทคโนโลยี) และรัฐควรออกมาตรการทั้งทางด้านเทคนิคเทคโนโลยีรวมถึงการจัดการที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรและเอกชนสามารถนำเอาของเหลือหรือของเสียการเกษตรเพื่อนำเอามาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพนี้เป็นอันดับแรก (ก่อนที่จะไปสนับสนุนโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์)

อนึ่ง จากที่ประเทศไทยได้ประสบปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเผาของเหลือการเกษตรในที่โล่งหลายๆครั้งเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวในรอบปีที่ผ่านมา อันเกิดจากการเผาฟางข้าว ตอซังข้าวและยอดอ้อยต้น รวมถึง ยอด ใบ และลำต้นข้าวโพด อีกทั้งยังมีการเผาป่าในฤดูแล้งของชาวบ้าน (พื้นที่เหล่านั้นส่วนใหญ่เกษตรกรอาจยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้ผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน หรือบางพื้นที่สายส่งอาจยังเข้าไปไม่ถึง หรือสายส่งอาจทำงานเต็มศักยภาพไม่เพียงพอสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหม่) ซึ่งหากไม่มีมาตรการใดๆที่จะลดการเผาไหม้ในที่โล่งดังกล่าว ก็อาจจะเกิดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศที่รุนแรงได้ในอนาคต

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรออกมาตรการเสริมเพิ่มเติมโดยสร้างแรงจูงใจทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่จะนำเอาของเหลือหรือของเสียการเกษตรที่ถูกเผาทิ้งเหล่านี้ นำเอามาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม (โดยให้เกษตรกรมีรายได้จากการกิจกรรมนี้เสริมเพิ่มเติมจากการทำการเกษตรปกติ) ซึ่งแทนที่เกษตร (ซึ่งไม่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ) จะนำเอาไปเผาทิ้งในที่โล่งจนเกิดปัญหา PM2.5 ฟุ้งกระจายกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

การออกมาตรการที่สนับสนุนให้เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มนอกจากจะช่วยลดปัญหา PM2.5 ให้น้อยลงแล้วยังจะทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินตราภายในประเทศเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ สามารถลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน สร้างความยั่งยืนให้กับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ผิดกับการสนับสนุนให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่นอกจากจะสนับสนุนให้เงินตราไหลออกนอกสู่ต่างประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีมาขายให้เรา เพราะเราไม่สามารถผลิตกังหันลมและโซล่าร์เซลล์และอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เอง ต้องนำเข้าอุปกรณ์แทบทั้งหมดมาจากต่างประเทศ (อาจจะมีบางชิ้นส่วนที่อาจผลิตได้ในประเทศแต่มีสัดส่วนที่น้อยมาก)

ถ้าหากจะมีคนในประเทศที่จะได้ประโยชน์ก็คงจะเป็นคนกลุ่มน้อยน้อยที่เกี่ยวข้องอยู่ในธุรกิจพลังงานลมและแสงอาทิตย์ เช่นผู้นำเข้าอุปกรณ์และติดตั้งเทคโนโลยี เจ้าของกิจการซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ให้แก่ภาครัฐ รวมไปถึงนักเล่นหุ้นที่ได้กำไรในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนน้อยที่ได้รับประโยชน์ที่มีจำนวนไม่มากนัก ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากการสนับสนุนพลังงานลมและแสงอาทิตย์จึงไม่ได้กระจายออกไปสู่ชาวบ้านหรือเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศโดยเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพที่ทำให้ผลประโยชน์จะกระจายสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ดีกว่า ยั่งยืนกว่า

อย่างไรก็ตาม หากรัฐได้สนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลและก๊าซชีวภาพอย่างเต็มที่จนเต็มศักยภาพแล้ว จึงค่อยพิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานลมและแสงอาทิตย์เพิ่มเติมต่อไป (เราไม่ได้ค้านการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงอาทิตย์ แต่ควรพิจารณาให้ความสำคัญเป็นระดับรองไปจากพลังงานพลังงานหมุนเวียนประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพ และการติดตั้งกังหันลมและโซล่าร์เซลล์ควรมีสัดส่วนไม่มากจนอาจก่อปัญหาทางเทคนิค และราคาค่าไฟฟ้าที่อาจจะแพงขึ้นรวมถึงความไม่มั่นคงทางพลังงานดังที่ได้อธิบายในบทความก่อน )

เป็นที่น่าเสียดายว่าในแผน PDP2018 ใหม่ได้ลดสัดส่วนพลังงานชีวมวลเหลือให้เหลือ 3,376 เมกะวัตต์ จากที่ได้กำหนดไว้ในแผนเดิม PDP2015 ที่ 5,570 เมกะวัตต์ กล่าวคือลดไปมากถึง 2,200 เมกะวัตต์เลยทีเดียว (แม้ว่าพลังงานจากก๊าซชีวภาพจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม) จนทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการและ NGO บางกลุ่มว่าแผน PDP2018 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพที่เป็นของเหลือการเกษตรและน้ำเสีย ทั้งๆที่มีการก่อสร้างเสร็จแล้วหลายโครงการ แต่กลับไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตด้วยเชื้อเพลิงดังกล่าวจากภาครัฐ ซึ่งรัฐควรเข้าไปดูในรายละเอียดและแก้ปัญหาเหล่านั้น

นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อกังขาจากสาธารณชนว่าโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าขยะที่เพิ่มขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์ของกระทรวงมหาดไทย (โดยไม่มีเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนการเพิ่มนี้) และเมื่อรวมกับของเดิมที่กำหนดไว้ที่ 500 เมกะวัตต์จึงรวมเป็น 900 เมกะวัตต์ที่ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการ จึงมีคำถามว่าจะสามารถหาขยะจำนวนมากพอที่จะมาป้อนเพื่อผลิตไฟฟ้ากำลัง 900 เมกะวัตต์ได้อย่างไร นอกจากนั้นแล้วยังมีโครงการชีวมวลประชารัฐในภาคใต้ที่ไม่ได้อยู่ในแผนเดิมแต่ถูกเพิ่มเข้ามาในระบบการผลิตไฟฟ้าอีก 120 เมกะวัตต์

เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น มีกำลังติดตั้ง 1285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบเต็มกำลังต้นเดือนพ.ย. 2562

3). ผลกระทบที่เกิดจากการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และแผนการลดการซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) รวมถึงการตัดแผนที่จะผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ทิ้งไป

ตามแผน PDP2018 นั้น กลุ่ม NGO ได้แสดงความเห็นด้วยที่จะนำเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากแผน และคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา และสนับสนุนให้โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งออกไปจากแผนและไม่ควรนำกลับเข้ามาพิจารณาใหม่ โดย NGO แสดงท่าทีสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างแข็งขันโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่อ้างว่าเป็นพลังงานที่สะอาดและมีอยู่มากมายตามธรรมชาติ และเข้าใจว่าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถทดแทนพลังงานถ่านหินได้ทั้งหมด อีกทั้งได้ตำหนิว่าแผน PDP2018 นี้มีการติดตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ค่อนข้างช้า

เรามีข้อสังเกตว่าแผน PDP2018 ได้สนองตอบข้อเรียกร้องของ NGO สาย Greenpeace เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีท่าทีต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย และเขื่อนพลังน้ำในประเทศลาวมาโดยตลอด ดังจะเห็นว่าสัดส่วนของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 ชนิดลดลงไปรวมถึงร้อยละ 22 เลยทีเดียว ทั้งนี้จำนวนถึงร้อยละ 16 ถูกแปลงให้เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแทน (สัดส่วนไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเดิมในแผนเดิม PDP2015 ที่ร้อยละ 37 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 16 กลายเป็นร้อยละ 53 ในแผนใหม่ PDP2018)

ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นภาครัฐได้ให้เหตุผลในการลดสัดส่วนลงว่าเนื่องจากต้องรอผลการศึกษาโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Stragegic Environmental Assessment หรือ SEA) สำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ซึ่งรวมถึงโครงการไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาด้วย

ส่วนการนำเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปจากแผน PDP2018 นั้นรัฐอ้างว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน

แผน PDP2018 ได้ลดสัดส่วนการนำเข้าไฟฟ้า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ) จากลาวที่กำหนดไว้ในแผน PDP2015 เดิมที่ร้อยละ 15 เหลือเพียงร้อยละ 9 ซึ่งผมเห็นว่าเป็นที่น่าเสียดายที่จะทำให้ไทยเสียโอกาสที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่มีราคาถูกและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ แม้ว่าจะมีข้ออ้างในเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของไทยเนื่องจากอาจมีความเสี่ยงในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเพราะเป็นการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามตัวเลขร้อยละ 15 นี้เป็นตัวเลขสัดส่วนกำลังการผลิตที่พอดีกับการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยที่เผื่อเอาไว้ในกรณีฉุกเฉินอยู่แล้ว

ดังนั้น ตัวเลขนำเข้าไฟฟ้าจากลาวที่ร้อยละ 15 จึงเหมาะสมซึ่งได้นำเอาปัจจัยความมั่นคงทางด้านพลังงานมาประกอบแล้ว เราจึงไม่ควรลดตัวเลขนี้ลงไป และยังมีเหตุผลสำคัญที่ไทยเราไม่สามารถสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้เนื่องจากมักมีการต่อ ต้านอยู่เสมอ ผิดกับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ มีคนต่อต้านน้อยมาก เพราะลาวมีพื้นที่กว้างขวางแต่มีประชากรน้อย อีกทั้งลาวได้ประกาศตัวว่าจะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย นั่นคือลาวต้องการจะส่งออกไฟฟ้าให้มากขึ้นเพราะมีผลดีต่อเศรษฐกิจของลาว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรลาวดีขึ้นกว่าแต่ก่อน การซื้อไฟฟ้าจากลาวจึงถือว่าไทยมีส่วนทำให้เศรษฐกิจลาวดีขึ้นจะส่งผลให้ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน

4). ผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาจัดการ

ถือว่าเป็นครั้งแรกที่แผน PDP ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาจัดการ ทั้งนี้มีข้ออ้างว่าสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าครั้งใหญ่โดยคำนึงถึงแนวโน้มเทคโนโลยีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มาจากการผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้เองหรือขายตรง (Independent
Power Supply: IPS), Disruptive Technology, การเปลี่ยนแปลงตลาดสู่ Prosumer และการพัฒนาสู่ Smart Grid และได้มีการมอบหมายให้ กฟผ.ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า (Transmission Development) ของประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเพิ่มประสิทธิภาพเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connectivity) ในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบจำหน่ายเพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) ในอนาคต

อย่างไรก็ตามภารกิจที่ กฟผ.ได้รับมอบหมายเหล่านี้จะทำให้ กฟผ.จะต้องลงทุนในการติดตั้งเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้รัฐได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิดธุรกิจติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชนจาก solar rooftop โดยมีข่าวนักวิชาการซึ่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานจะเสนอให้รัฐมนตรีทบทวนแผน PDP2018 โดยเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่มจาก 30% เป็น 40% เมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2580

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะทำให้ กฟผ.มีภาระต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นจำนวนมากเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าอันเกิดจากความผันผวนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มากจนเกินไป ซึ่งในท้ายที่สุดภาระการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีที่เพื่มขึ้นนี้จะถูกส่งผ่านไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องเฉลี่ยจ่ายด้วยการขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าซึ่งจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน

นอกจากนั้นแล้ว อาจส่งผลกระทบจนค่าไฟฟ้าของไทยแพงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังแข่งขันกับไทยในเรื่องการลงทุนจนทำให้ประเทศไทยไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันนี้พบว่ายังไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง (หรือไม่เพิ่มขึ้น) ได้เลย มีแต่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ดังที่ได้ปรากฏในหลายๆประเทศ เช่น เยอรมนี, ออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

และผลกระทบที่สำคัญที่สุดของแผน PDP2018 นี้ก็คือ รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบ จนจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลดลงจากประมาณร้อยละ 35 เหลือเพียงร้อยละ 24 โดยมีข้อสังเกตว่านโยบายที่เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าไปที่ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 53 นั้น ดูเหมือนว่าจะเปิดทางให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มนี้โดยที่ กฟผ.ไม่สามารถเข้าประมูลแข่งเพื่อแย่งส่วนแบ่งการผลิตนี้ได้ (เพราะตามกฎหมายนั้น กฟผ.ที่เป็นภาครัฐไม่สามารถเข้าประมูลแข่งกับเอกชนได้) รัฐได้กำหนดนโยบายที่จะให้ กฟผ.ลดสัดส่วนกำลังผลิตโดยให้เอกชนผลิตแทนรัฐ การกำหนดนโยบายที่ออกมาเช่นนี้รัฐคงไม่ได้คำนึงถึงความมั่นคงของการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ระบุไว้ว่ารัฐจะต้องเป็นเจ้าของกิจการสาธารณูปโภคที่เป็นความมั่นคงของรัฐ (ในที่นี้คือการผลิตไฟฟ้า) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ซึ่งประเด็นนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการตีความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

กล่าวโดยสรุปแล้วแผน PDP2018 น่าจะส่งผลกระทบต่ออนาคตพลังงานไทยใน 3 ด้านคือ

    1. ผลกระทบต่อเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้าที่รัฐจะต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าจากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน
    2. ผลกระทบค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอันเกิดจากการที่ภาครัฐ (กฟผ.)ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอันเป็นผลจากการที่เพิ่มสัดพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ที่เพิ่มสูงขึ้น (จากข้อ 1.) จนอาจส่งผลให้รัฐต้องผลักภาระการลงทุนเหล่านี้ด้วยการเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนทุกคนต้องเฉลี่ยจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น (แม้ว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ เช่น ผู้ที่ติดตั้ง solar rooftop หรือผู้ติดตั้ง solar farm แต่ก็เป็นคนกลุ่มน้อย)
    3. ผลกระทบด้านความมั่นคงทางพลังงาน ที่ยังคงพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซธรรมชาติที่มีสัดส่วนสูงกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 53) ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งจะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ความเสี่ยงจากการเมืองระหว่างประเทศที่เราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติบางส่วนจากพม่าและมาเลเซีย และปัจจุบันนี้เราต้องนำเข้าเหลวหรือ LNG จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี จนอาจมีความเสี่ยงจากสงครามในอนาคตได้ เพราะเราต้องนำเข้า LNG ส่วนใหญ่จากตะวันออกกลางที่เป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงจากภาวะสงคราม นอกจากนั้นแล้วยังมีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุจากการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อส่ง รวมถึงความเสี่ยงด้านการก่อการร้ายอีกด้วย

ในบทความต่อไปผมจะขอเสนอแนะการปรับปรุงแผน PDP2018