ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอน1) : ปัจจัยที่มีผลต่ออุตฯปิโตรเคมีในอนาคต

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอน1) : ปัจจัยที่มีผลต่ออุตฯปิโตรเคมีในอนาคต

3 พฤศจิกายน 2019


เครื่องประดับ จากพลาสติก

วิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์อนาคตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในหัวข้อ “ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงวางแผนกลยุทธ์ใหม่เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจใน landscape ใหม่ได้

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเติบโตอย่างเข็มแข็ง และเมื่อมองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงได้รับปัจจัยบวก จากทั้งอุปสงค์ที่ขยายตัวและความได้เปรียบด้านวัตถุดิบ (Feedstock advantage) วิจัยกรุงศรีคาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของโลกในช่วงสามปีข้างหน้า (2019-21) มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมสามารถรักษาระดับรายได้ที่อยู่ในระดับสูงไว้ได้ แม้ว่าอาจจะเผชิญมาร์จิ้นที่แคบลง ซึ่งมุมมองเชิงบวกดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมละเลยที่จะปรับตัวให้เข้ากับ Landscape ใหม่ของอุตสาหกรรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมพลาดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวลาอันใกล้

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกำลังเปลี่ยนไปจากรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและการขยายตัวของความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ไปเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม โดยวิจัยกรุงศรีประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสาเหตุจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกอุตสาหกรรม

โดยปัจจัยภายในอุตสาหกรรมมาจากประสิทธิภาพของรูปแบบธุรกิจเก่าที่ลดลง (Inefficiency of old business model) เห็นได้จาก มาร์จิ้นของธุรกิจที่มีแนวโน้มลดลง การถดถอยของประสิทธิภาพของรูปแบบธุรกิจในแบบดั้งเดิมเกิดจากความได้เปรียบด้านวัตถุดิบเริ่มหมดไปและอุปสงค์ที่เริ่มอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจำเป็นต้องหารูปแบบการทำกำไรแบบใหม่ ขณะที่ปัจจัยภายนอกอุตสาหกรรมมาจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดในระบบเศรษฐกิจจากแบบเส้นตรงไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า ทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่แนวคิดนี้

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการใช้ทรัพยากร ห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริโภคในแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดดั้งเดิมในระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear economy) มีจุดประสงค์เพื่อลดส่วนรั่วไหลและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้มากที่สุด จากตัวอย่างในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก ตามลักษณะการผลิต-ใช้-ทิ้ง (make-use-dispose) ในแนวคิดเศรษฐกิจเส้นตรง ที่ทำให้เกิดส่วนรั่วไหลออกจากระบบเศรษฐกิจถึง 95% ของมูลค่าการใช้พลาสติกทั้งหมด

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงมุ่งเน้นให้สามารถรักษามูลค่าของสินค้าและบริการให้อยู่ในระบบเศรษฐกิจนานขึ้นหรือทำให้ระบบเศรษฐกิจมีส่วนรั่วไหลลดลง โดยปกติมีขั้นตอนหลัก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การทำให้ใช้ได้นานขึ้น (Longer use) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการนำพลังงานกลับมาใช้ (Energy recovery)

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ปัจจัยที่นำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมี 4 ปัจจัย ได้แก่

  • ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน (Mismatch in demand and supply) ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่ในทางกลับกัน วัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ความไม่สมดุลนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงนำไปสู่กระแสความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบให้มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เน้นการเพิ่มอรรถประโยชน์ (Utility maximization) จากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้มากที่สุด
  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค (Changing customer preference) เกิดใน 3 มิติด้วยกัน ได้แก่
    • 1)มีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Environmental awareness) นำไปสู่ความต้องการสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้ อีกทั้งยังทำให้สินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกลายมาเป็นที่นิยมด้วย

      2)ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของลดลง (Less interest in ownership) จึงเกิดเป็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing economy) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความถี่ของการใช้สินค้า (Increasing frequency in product usage) ซึ่งคือการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรตามแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน

      3)มีความรู้มากขึ้น (More educated) ทำให้ความคุ้มค่าและความคงทนเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องออกแบบและผลิตสินค้าที่มีความทนทานและแข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องออกแบบให้สามารถซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย ต้นทุนต่ำ

    ซีพี ออลล์ ร่วมกับ เอสซีจี และ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ต่อยอดแคมเปญลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดตัวโครงการ 7 Go Green Recycled Plastic Road เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นถนน

    นอกจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคแล้ว การตระหนักถึงความจำเป็นในการเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งจากฝ่ายการเมืองและสังคมเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเร่งให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นจริง เห็นได้จากมาตรการต่างๆ มากมายทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ภาคเอกชนก็มีแนวโน้มเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ จากการสำรวจของ World Business Council for Sustainable Development ชี้ว่า 97% ของ CEO ของธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกประเมินว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพของธุรกิจ นอกจากนี้ 86% ยังบอกว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จของธุรกิจในอนาคต และจะเพิ่มการลงทุนตามแนวคิดนี้ในอนาคตอันใกล้ เห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้ซื้อ รวมถึงการตระหนักของเอกชน สังคมและภาครัฐเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดเศรษฐกิจเส้นตรงไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

  • เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า (Advancing technology) จะช่วยยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรม ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปได้ วิจัยกรุงศรีมองว่าการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การเกษตรสมัยใหม่ (Smart farming) เครื่องพิมพ์สามมิติ (3-D printing), ระบบเก็บพลังงาน (Energy storage (ESS)), เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) และความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ (Material science) จะช่วยเร่งการเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนให้เร็วขึ้น ทั้งในด้านของความพร้อมด้านวัตถุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการผลิตและการวางแผน รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้เล่นใน ecosystem
  • มาตรการภาครัฐ (New government measures and regulations) จะช่วยสนับสนุนการเกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการศึกษาของ World Economic Forum ระบุว่า
    • 1) ภาคเอกชนเห็นว่ามาตรการทางภาษีและการคลังเป็นมาตรการที่สำคัญในเร่งให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรการที่มีความสำคัญรองลงมา คือ
      2) การเพิ่มการศึกษา ความตระหนักและการรับรู้ข้อมูล
      3) การสร้าง Platform เพื่อเพิ่มความร่วมมือ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลของหลายประเทศออกมาตรการและกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ประเทศในยุโรปเริ่มมีกฎหมายลดภาษีเงินได้กับบริษัทที่ใช้วัสดุหมุนเวียนหรือมีการจัดการหลังการใช้ (After-use process)

    ขณะที่ประเทศจีนออกประการว่าในปี 2025 อย่างน้อย 20% ของสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศต้องสามารถนำมารีไซเคิลได้ การออกมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงมีผลในประเทศที่ออกมาตรการเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อทั้งห่วงโซ่การผลิตด้วย เช่น ผู้ผลิตที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้ผู้ผลิตในประเทศจีนก็ต้องเปลี่ยนไปส่งออกวัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิลได้แทนมาตรการและกฎระเบียบ