ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน(ตอน 2) :ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน(ตอน 2) :ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

7 พฤศจิกายน 2019


วิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์อนาคตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในบทความ “อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งจากตอนที่แล้วที่ได้พูดถึงปัจจัยที่จะมีผลต่ออนาคตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก วิจัยกรุงศรีมองว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผ่านการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และรูปแบบของปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังปรับตัวตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยยึดหลัก 4 ประการ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งผลิตภัณฑ์และการผลิต (More efficient) การเพิ่มระยะเวลาการใช้ยาวนานขึ้น (Longer life) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Re-process) และรูปแบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันหรือ sharing economy โดย the European Automobile Manufacturers’ Association (ACEA) และ the European Association of Automotive Suppliers (CLEPA) ประเมินว่า การผลิตรถยนต์ในปัจจุบันใช้ชิ้นส่วนใหม่ถึง 83% ของชิ้นส่วนทั้งหมด มีเพียง 17% เท่านั้นที่เป็นชิ้นส่วนที่ถูกใช้แล้ว นอกจากนี้ CLEPA ยังประเมินอีกว่า ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน 48% ของชิ้นส่วนทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งการใช้ชิ้นส่วนที่นำกลับมาใช้ใหม่นี้จะช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถลดต้นทุนวัตดุดิบและพลังงานได้ถึง 70-90% เมื่อเทียบกับการใช้ชิ้นส่วนใหม่

ที่มาภาพ : https://www.daimler.com/innovation/case/electric/battery-cell-modules-electric-trucks.html

การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์เองที่กำลังมุ่งสู่เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจะทำให้เกิดชิ้นส่วนใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้ยังคงมีมูลค่าสูง แม้หมดอายุการใช้งานแล้ว เนื่องจากมีส่วนประกอบของโลหะมีค่า เช่น โคบอลต์ แมงกานีส เทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟ้ฟ้าจึงเป็นอีกปัจจัยเร่งให้เกิดการนำชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ การออกกฎระเบียบใหม่ก็เป็นอีกปัจจัยที่นำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น EU ตั้งเป้าหมายว่า 85% ของชิ้นส่วนทั้งหมดจะถูกใช้ซ้ำและ 95% จะต้องถูกนำมารีไซเคิล

ในปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์เร่งปรับตัวในสามรูปแบบ คือ (1) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในรถยนต์ (2) การออกแบบและการพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ ที่สามารถทำให้ชิ้นส่วนถูกนำมาใช้ใหม่ได้และมีต้นทุน (3) รูปแบบ Sharing economy มีแนวโน้มลดการเป็นเจ้าของของการถือครองรถยนต์ เพื่อให้รถยนต์ถูกใช้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น (Maximize usage of cars)

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบสูง ตัวอย่างเช่น การผลิตขวดพลาสติกจาก PET มีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 56% และต้นทุนด้านพลังงานประมาณ 15% ดังนั้น ความต้องการวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ ทำให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและการเข้าถึงวัตถุดิบ นอกจากนี้ ในด้านสิ่งแวดล้อม หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ และให้แรงจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทที่ใช้พลาสติกย่อยสลายได้ เป็นต้น

ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและการรณรงค์จากทางภาครัฐทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้และย่อยสลายได้ง่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทนทาน สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย รวมถึงใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ (Bio-based feedstock) ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะขยายธุรกิจไปยังธุรกิจรีไซเคิลเพื่อนำวัตถุดิบมาใช้ใหม่

ที่มาภาพ : https://thaipublica.org/2018/10/recycled-pet-advertorial/

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้วัตถุดิบที่มีมูลค่าสูง เช่น โลหะ โลหะหายาก พลาสติก และยาง ในปัจจุบัน อายุของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สั้นลง โดย UNEP คาดว่าในหนึ่งปีมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นมากกว่า 50 ล้านตัน ในปัจจุบันมีเพียง 13% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำมารีไซเคิล และส่วนใหญ่เป็นการรีไซเคิลแบบไม่มีระบบและไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่เพียงเกิดความสูญเสียในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เอง แต่ยังนำไปสู่ผลเสียทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมา สร้างผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก นอกจากนี้ การสกัดโลหะมีค่าจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีต้นทุนถูกกว่าการถลุงแร่โลหะใหม่ โดยการรีไซเคิลทองคำ เงิน และทองแดงจากขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถลดการใช้พลังงานประมาณ 2-10 เท่าและในขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ตันมีโลหะมีค่ามากกว่าในแร่โลหะในปริมาณเดียวกันถึง 40-100 เท่า

ดังนั้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงกำลังปรับตัวเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งหลายบริษัทเริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความคงทน นำกลับมาซ่อมแซมใช้ใหม่ และรีไซเคิลได้ง่าย เห็นได้ว่าการนำสินค้ากลับมาใช้ใหม่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจและนำไปสู่การเกิดของธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งรูปแบบธุรกิจแบบนี้จะช่วยให้โลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse logistic) ทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนยังช่วยสร้าง Branding ให้กับธุรกิจด้วย

ระบบเศรษฐกิจและกระบวนการผลิตกำลังปรับตัวเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งเกิดจากรับรู้ถึงปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงการตระหนักของภาคเอกชนถึงประโยชน์จากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเงินและสังคม (Economic, financial and social benefits) ซึ่งนำไปสู่การเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทำให้ การเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้สูง โดยวิจัยกรุงศรีมีความเห็นว่า การพัฒนาสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยมีความเป็นไปได้ทั้งหมดสามแบบ ได้แก่

  • การพัฒนาแบบตัวใครตัวมัน (Fragmented transition to CE) เนื่องจากภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจหมุนเวียนจากความสามารถการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้แต่ละบริษัทเร่งพัฒนาตามแนวคิดนี้ ซึ่งการพัฒนาในรูปแบบนี้สามารถทำได้โดยมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน มักมีการปรับตัวเป็นส่วนๆ เช่น ในบางขั้นตอนการผลิต หรือบางหมวดสินค้า อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในรูปแบบนี้มักทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงการประหยัดต่อขนาดในวงกว้างได้ (Economies to scale) ได้จึงทำให้ได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่
  • การเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในห่วงโซ่การผลิตแบบปิด (Circularity in closed supply chains) การพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนพัฒนาไปสู่บริษัทอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปสงค์เดียวกัน เพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยิ่งสูงขึ้นอีก สร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนปรับตัวให้เข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • การเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับ Ecosystem (Circularity in closed ecosystem) เป็นการพัฒนาทั้งระบบเพื่อให้ต้นทุนการปรับเข้าสู่แนวคิด CE ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือทั้งในระดับเอกชนและภาครัฐ ในการมุ่งสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับ Ecosystem ภาคเอกชนจะต้องแชร์ข้อมูลที่สำคัญ

เมื่อพิจารณาถึงความเป็นได้ของแต่ละ Scenario วิจัยกรุงศรีมองว่า การพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบการผลิตแบบปิด (CE in closed supply chain) มีความเป็นได้มากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากเป็น scenario ที่ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการปรับตัวเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากบริษัทที่สามารถปรับตัวแนวคิดนี้ในระดับ Supply chain ได้จะมีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด

ในขณะเดียวกัน การมุ่งสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับ Ecosystem ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากทางภาครัฐที่ต้องสร้างเครือข่ายการแชร์ข้อมูล และ/หรือสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยวิจัยกรุงศรีมองว่า ความท้าทายที่สำคัญของการปรับเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการพัฒนาในคนละทิศทาง เนื่องจากขาดการพัฒนาร่วมกันทั้งในระดับ Supply chain และระดับ Ecosystem รวมถึงการแชร์ข้อมูล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการก้าวไปสู่โลกของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน