ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 15 ปีที่รอคอย “ชาวคลิตี้ล่าง” ชนะคดีกรมควบคุมมลพิษ – คณะทำงานออกแถลงการณ์จี้คพ.เร่งทำให้ปลอดสารตะกั่ว

15 ปีที่รอคอย “ชาวคลิตี้ล่าง” ชนะคดีกรมควบคุมมลพิษ – คณะทำงานออกแถลงการณ์จี้คพ.เร่งทำให้ปลอดสารตะกั่ว

12 มกราคม 2013


ชาวคลิตี้

หลังจากรอคอยมานานกว่า 15 ปี ผู้ฟ้องร้องคดีชาวคลิตี้ล่างรวม 22 คน ชนะคดีที่ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้รับเงินชดเชยคนละกว่า 1.7 แสนบาท และ คพ. ต้องฟื้นฟูลำห้วยให้สารตะกั่วไม่เกินค่ามาตรฐานอย่างน้อย 1 ปี ด้าน คพ. คาดว่า หากไม่ติขัดเรื่องงบประมาณ จะสามารถฟื้นฟูลำห้วยได้ภายใน 2 ปี ส่วนค่าชดเชยจะเร่งของบกลางมาจ่ายให้เร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 เวลา 9.00 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.597/2551 ที่ชาวคลิตี้ล่าง จำนวน 22 คน จ.กาญจนบุรี ยื่นฟ้อง คพ. ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ในการกำจัดมลพิษและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และชดใช้ค่าเสียหายจากการละเลยล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วยที่ผ่านมาให้แก้ผู้ฟ้องคดี โดยชาวบ้านมอบหมายให้สภาทนายความและโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมเป็นผู้แทน ซึ่งศาลแถลงคดีไปแล้วเมื่อ 26 มิถุนายน 2555

โดยศาลพิพากษาให้กรม (คพ.) กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจ และวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่า สารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน ทราบอย่างเปิดเผยโดยปิดประกาศในที่สาธารณะของชุมชน และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน รายละ 177,199.55 บาท ภายใน 90 วันนับแต่คดีสิ้นสุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

สำหรับข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ให้ คพ. ทำแผนกำหนดระยะเวลาฟื้นฟูนั้น ศาลเห็นว่าการฟื้นฟูตามธรรมชาติไม่อาจกำหนดแผนเป็นระยะเวลาได้ แต่ก็สั่งให้ คพ. ต้องกำหนดแผนงานฟื้นฟูต่อไปจนกว่าลำห้วยคลิตี้จะมีสารตะกั่วไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี

ด้านนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านคลิตี้ล่าง หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวถึงการตัดสินของศาลว่า ค่อนข้างพอใจเพราะ ได้ค่าชดเชยความเสียหาย ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำไปตั้งเป็นกองทุนด้านการรักษาพยาบาลในส่วนของค่ารถ เพราะแม้ปกติจะรักษาฟรีโดยใช้สิทธิการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) อยู่แล้ว แต่จะขาดแคลนเงินค่าเดินทางไปโรงพยาบาล สำหรับเงินอีกส่วนหนึ่งก็นำไปสร้างและซ่อมแซมน้ำประปาของหมู่บ้าน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า คำพิพากษาที่เราคาดหวังคือ การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ คพ. ต้องดูแล แต่หน้าที่ของเราก็คือต้องติดตามว่าเขาทำงานจริงหรือไม่ โดยเราจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลหลังจากนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ คพ. ทำฝ่ายเดียวโดยไม่ตรวจสอบเหมือนที่ผ่านมาคงไม่ไหว เพราะทำเหมือนไม่จริงจัง และบางครั้งไม่เปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านทราบ สำหรับเงินชดเชยจาก คพ. ที่ศาลปกครองตัดสินนี้คิดว่าได้รับแน่เพราะรัฐมีเงินอยู่แล้ว แต่ในส่วนของศาลยุติธรรมที่เราฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตอนนี้อยู่ในชั้นฎีกา ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าจะตัดสินอย่างไร และไม่รู้ว่าบริษัทจะมีทรัพย์สินอีกหรือไม่ เพราะเจ้าของเสียชีวิตไปแล้ว

“เรื่องเงินเราไม่เน้นเท่าการแก้ไขลำห้วยให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม เช่น กำหนดชัดเลยว่าภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ชาวบ้านจะใช้น้ำในลำห้วยได้อย่างปลอดภัย เพราะปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูเองมา 15 ปีแล้ว ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เราต้องช่วยธรรมชาติ ผมเชื่อว่าธรรมชาติฟื้นเองได้แต่ต้องใช้เวลา ทุกวันนี้ที่สารพิษในธรรมชาติน้อยลงมันไม่ได้ไปไหน มันก็กระจายสู่ร่างกายคน สัตว์ป่า สัตว์น้ำ แล้วสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็ตายไป อย่างคนรุ่นนี้โดนสารตะกั่วตาย เมื่อเผาแล้วสารตะกั่วก็หายไปหมด” นายกำธรกล่าว

นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา
นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา

ส่วนวิถีชีวิตของชาวบ้านคลิตี้หลังจากที่ประกาศว่าลำห้วยคลิตี้มีสารพิษเยอะ ห้ามดื่ม-ใช้น้ำ และกินสัตว์น้ำจากลำห้วย ชาวบ้านพยายามห่างจากลำห้วยคลิตี้ แต่บางครั้งก็ยังต้องพึ่งพาน้ำจากลำห้วยอยู่ เช่น กรณีน้ำประปาไม่ไหล หรือในฤดูฝนต้องจับปลาและสัตว์น้ำกินเป็นกับข้าว เนื่องจากรถขายของไม่สามารถวิ่งเข้ามาในหมู่บ้านได้ และในด้านสุขภาพ ชาวบ้านเจ็บป่วยกันทุกคนเพียงแต่ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร ยังไม่มีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสารตะกั่วสะสมหรือไม่ หมอก็รักษาไปตามอาการ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็เข้ามาตรวจเลือดชาวบ้านเพียงปีละครั้ง

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านคลิตี้ล่างทั้ง 22 คน กล่าวว่า ชาวคลิตี้รอคอยความยุติธรรมมานานแล้ว คำพิพากษานี้เป็นทั้งการเยียวยาชาวคลิตี้ล่าง และเป็นการสร้างบรรทัดฐานสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ที่จะฟื้นฟูเยียวยาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน และการชดเชยค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลต่อแนวทางของหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหาเช่นนี้ในพื้นที่อื่นๆ ของสังคมไทย

นอกจากนี้ กรณีคลิตี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐขาดมาตรการและนโยบายเพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากมลพิษอุตสาหกรรมให้รวดเร็วและเป็นธรรม อันเป็นหลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามกฎหมาย ทำให้ภาระตกอยู่กับชุมชนที่ต้องใช้สิทธิทางศาลจนเกินควร ทั้งๆ ที่ความเสียหายดังกล่าวรัฐต้องมีมาตรการแก้ไขเยียวยาอย่างทันท่วงที ส่วนภาคประชาชนยังคงต้องขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างแท้จริงต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังระดมเงินทุนและคณะทำงาน ทั้งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักสังคมศาสตร์ นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ เพื่อติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ คพ. ตามคำสั่งศาล

รวมถึงทางเครือข่ายภาคประชาชนจะผลักดันให้รัฐตราหรือแก้ไขกฎหมายที่กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว เช่น มีระบบกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องให้ประชาชนมาฟ้องศาล หรือระบบภาษีสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้คำตัดสินของศาลจะไม่ตรงใจชาวคลิตี้ 100% เพราะศาลไม่ได้กำหนดเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ แต่ศาลก็ระบุว่า คพ. ต้องปฏิบัติการฟื้นฟู ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่า คพ. จะต้องฟื้นฟูจนกว่าลำห้วยคลิตี้จะมีสารตะกั่วไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพราะนั่นคือไม่ใช่การปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูไปเอง แต่ต้องทำให้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานด้วย ตรงนี้คณะทำงานก็จะติดตามดูว่าแผนของ คพ.จะเป็นอย่างไรและผลักดันให้มีการทำอย่างจริงจัง

“ปัญหาของไทยคือยังไม่มีค่ามาตรฐานตะกอนดิน ถ้า คพ. ใช้เฉพาะค่ามาตรฐานของน้ำจะเป็นปัญหา เพราะว่าประเด็นการปนเปื้อนในน้ำส่วนใหญ่ไม่เกินอยู่แล้วหากไม่เกิดการฟุ้งกระจาย แต่หากไปเทียบกับกฎหมายของไทยซึ่งยังไม่มีมาตรฐานตะกอนดินแล้ว ก็อาจจะเป็นปัญหาได้เพราะสารพิษสะสมอยู่ที่ดิน” นายพรายกล่าว

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงกรณีคลิตี้ในงานประชุมวิชาการ “อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 ว่า ด้านเงินชดใช้ค่าเสียหาย ตอนนี้กำลังเร่งของบกลางจากรัฐบาลมาเยียวยาประชาชนให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันตามที่ศาลสั่งไว้ใน 90 วัน แต่ถ้าไม่ทันก็เร็วที่สุดเพราะเข้าใจพี่น้องประชาชน

ส่วนเรื่องที่ศาลสั่งให้ทำแผนฟื้นฟูนั้น ขณะนี้ก็ดำเนินการอยู่ว่าจะทำอะไรเมื่อไร แต่ส่วนที่เราทำได้เลยคือนำตะกอนตะกั่วที่เอาขึ้นมาฝังกลบอยู่ 8 หลุม ออกมาจากพื้นที่ เนื่องจากประชาชนเกรงว่าอาจจะไม่ปลอดภัยเพราะสารตะกั่วที่กองไว้ตรงนั้นอาจรั่วไหลลงสู่พื้น ซึ่ง คพ. คาดว่าภายในเดือนนี้น่าจะได้ผู้รับจ้างและเริ่มจะเคลื่อนย้ายตะกอนดินออกมาได้บางส่วน ส่วนตะกอนดินที่เหลือ ถ้ายังไม่มีงบประมาณก็จะรีบขอรัฐบาลเพื่อไปดำเนินการเอาออกมาให้หมด สำหรับที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูลำห้วยเราก็จะสำรวจ จัดทำแผน และของบประมาณมาดำเนินการต่อไป

“สำหรับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูนั้นเราจะทำให้เร็วที่สุด ในวันนี้เราก็ไม่ได้ทอดทิ้งปัญหา ก็ยังไปเก็บตัวอย่างน้ำ ดิน มาตรวจอยู่ ยืนยันว่าตอนนี้ปริมาณตะกั่วในน้ำไม่เกินค่ามาตรฐานแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราก็ทำแผนเพื่อให้ครบตามคำสั่งศาล ก็จะไปเก็บปลา สัตว์น้ำและผัก ถ้าหากว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างไรเราก็จะรีบทำ แต่ก็อาจมีปัญหาเรื่องงบประมาณซึ่งเราก็จะรีบดำเนินการขอจากรัฐบาล ส่วนจะทำได้กี่ปีนั้นทางเราก็ร้อนใจ และอยากทำให้เร็วที่สุด ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณคาดว่าน่าจะเสร็จใน 2 ปี” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว

อนึ่ง ผลศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้และดินของกรีนพีชซึ่งเก็บในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ยังคงพบการปนเปื้อนสารตะกั่วในตะกอนดินสูงกว่าภาวะปกติทั่วไปที่มีอยู่ตามธรรมชาติหลายร้อยเท่า รวมทั้งตรวจพบสารตะกั่วในดินบริเวณที่เคยถูกน้ำในลำห้วยท่วมสูงเกินค่ามาตรฐานคุณภาพดินของประเทศไทยสูงสุดประมาณ 5 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลการตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วของกรมควบคุมมลพิษที่ตรวจในเดือนกันยายน 2554 โดยพบว่า ใน กุ้ง หอย ปู ปลา มีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนหลายเท่า เช่น พบสารเกินค่ามาตรฐาน 100-400 เท่าในหอย

แถลงการณ์กรณี คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ ภาคประชาสังคม ได้แถลงการณ์ว่าสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556 กรณีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ ระหว่างชาวบ้านคลิตี้ล่าง จำนวน 22 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ชี้ว่ากรมควบคุมมลพิษผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าจนเกินสมควร จากกรณีที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ผู้ก่อมลพิษได้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำดินตะกอนดินพืชและสัตว์น้ำ โดยกรมควบคุมมลพิษไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผน หรือกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายจากมลพิษไว้ล่วงหน้า และไม่ทำการควบคุมตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัทตามเวลาอันสมควร จนทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ ซึ่งนอกจากศาลจะกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน 22 ราย รวม 3.89 ล้านบาท แล้วศาลยังมีคำบังคับให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงานวิธีการและดำเนินการฟื้นฟู ตรวจวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกฤดูกาลจนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี นั้น

ทางภาคประชาสังคม ซึ่งทำงานติดตามกรณีปัญหาดังกล่าว ได้มีการประชุมและจัดตั้ง คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ โดยมีมติแถลงการณ์เรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษ ดังนี้

1.คณะทำงานฯ คัดค้านท่าทีและความเห็นของกรมควบคุมมลพิษหลังศาลตัดสินที่ยืนยันจะใช้แนวทาง ให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งหมายถึงการไม่ดำเนินการฟื้นฟูใดๆ และได้พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์จากระยะเวลาการใช้วีธีดังกล่าวนับสิบปีแล้วว่าแนวทาง ให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วที่มีผลกระทบต่อชุมชนได้จนถึงปัจจุบัน มาตรการดังกล่าวไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษจึงต้องเปลี่ยนวิธีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เพื่อให้ปริมาณการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหารและสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนคลิตี้โดยเร็ว

2. กรมควบคุมมลพิษต้องเร่งกำหนดแผนงาน วิธีการ ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนกว่าสารตะกั่วจะลดลงในระดับที่ปลอดภัย ตลอดจนแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ตามเงื่อนไขคำบังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยเร่งด่วน ซึ่งในการดำเนินการต้องเปิดเผยข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใส รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ทั้งนี้คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ภาคประชาสังคมอยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และกรณีศึกษาการฟื้นฟูจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อนำเสนอต่อกรมควบคุมมลพิษให้พิจารณาดำเนินการ และจะติดตามผลการบังคับตามคำพิพากษาคดีนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมต่อไป

คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย
1. ชุมชนคลิตี้ล่าง
2. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
3. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
4. มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
5. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
6. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
7. กลุ่มสตรีกาญจนบุรี
8. กลุ่มดินสอสี