ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ทุนนิยมหรือนิเวศวัฒนธรรมชนพื้นเมือง ทางออกต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทุนนิยมหรือนิเวศวัฒนธรรมชนพื้นเมือง ทางออกต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

29 พฤษภาคม 2021


กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for All

วัฒนธรรมทุนนิยมจะจัดการปัญหาโลกร้อน?

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “สภาวะโลกร้อน” สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยม ที่ไม่เพียงกอบโกยธรรมชาติเพื่อความมั่งคั่งของกลุ่มทุน แต่ยังได้เปลี่ยนผืนป่า สายน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศต่างๆ ให้เป็น “ทรัพยากร” ที่เป็นปัจจัยการผลิตหรือกำไรที่ผูกขาดผ่านระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจก จากทรัพยากรที่กำหนดหน่วยได้ชัดเจน เช่น ผืนดินกลายเป็น “ที่ดิน” ไปสู่ธรรมชาติที่ไม่คงตัว เช่น น้ำ พันธุ์พืช และอากาศ ฯลฯ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

มนุษย์ยุคสมัยใหม่ยังพึ่งพาธรรมชาติ แต่เป็นการพึ่งพาที่ไม่สัมพันธ์หรือผูกพัน เป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางและแยกส่วนจากธรรมชาติ และมีอำนาจนำเกือบเบ็ดเสร็จในการครอบงำ จัดการธรรมชาติ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในยุคสมัยใหม่ที่เรียกว่า “Anthropocene” นี้ จึงทำให้แม้จะมีแนวคิด การปกป้อง ฟื้นฟู จัดการธรรมชาติอย่างไร แต่ธรรมชาติในมนโนทัศน์ดังกล่าว กลับยิ่งกลายเป็นสินค้าสีเขียวเพื่อนำมาค้ากำไรกันอีกรอบ ไม่ได้มีสายสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ เหมือนดังเช่นนิเวศวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นแต่โบราณ ที่ทุกวันนี้ยังปรากฏอยู่มากมายทั่วโลก

การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศก็เป็นตัวอย่างของการใช้ระบบทุนนิยมที่เป็นปัญหาของสภาวะโลกร้อนมาเป็นแนวทางจัดการปัญหา (เป็นการวนลูปเหตุและผล เมื่อเอาผลมาแก้เหตุ) ก็เลยยิ่งทำให้สภาวะโลกร้อนถูกแปรสภาพ “คาร์บอน” ถูกสร้างเป็นหน่วยชั่งตวงวัด เพื่อใช้วัดมาตรการการปลดปล่อยและดูดซับ และเป็นสินค้าที่ใช้ค้าขายแลกเปลี่ยน จัดทำเป็นบัญชีทรัพย์สิน โดยมีเป้าหมายสร้างบัญชีให้สมดุล (carbon neutral) อันหมายถึง การลงทุน ค้าขาย ให้ได้หน่วยคาร์บอนที่ถูกดูดซับมาหักลบกับปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมา

ปัญหาโลกร้อนควรทำให้เราเห็นความหายนะของธรรมชาติ เห็นการสูญพันธุ์ของสรรพชีวิต ความทุกข์ยากของผู้คนที่ได้รับผลกระทบการดำรงชีพจากสภาวะธรรมชาติปั่นป่วน และตื่นตัวด้วยความรักและความหวังที่จะปกป้องโลกที่เราเป็นส่วนหนึ่งทางชีวิตและจิตวิญญาณโลก แต่ทุนนิยมคาร์บอนไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมนิเวศจิตวิญญาณได้เลย แต่ยังเป็นการเดิมตามระบบการสร้างกำไร ความมั่งคั่ง และผลักผลกระทบให้สาธารณะโดยเฉพาะคนจนต้องรับภาระ ไม่ว่าจะเป็นนามของพลังงานฟอสซิล หรือในนามของพลังงานคาร์บอนต่ำก็ตาม

ดังนั้น การเอาคำตอบของทุนนิยมซึ่งเป็นต้นเหตุมาแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเป็นการวนซ้ำของวงจรปัญหาเหมือน “หมาไล่งับหางตัวเอง” เพราะทุนนิยมไม่ได้มุ่งตอบคำถามเรื่องการปกป้องโลก แต่ตอบคำถามเรื่องการผูกขาดความมั่งคั่ง

แล้วเราจะหาความหมายทางจิตวิญญาณ วัฒนธรรมที่ไปพ้นจากทุนนิยม สู่วัฒนธรรมนิเวศที่ตั้งรับ ปรับตัว และฟื้นฟูโลกจากสภาวะโลกร้อน โดยเป็นวัฒนธรรมที่ให้ความหมายธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง และมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ผูกพันกับธรรมชาติทั้งกายและจิตวิญญาณได้จากไหน คำตอบนี้น่าจะพบได้ในวัฒนธรรมมของชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ที่ยังไม่ถูกกลืนกลายด้วยระบบทุนนิยม

ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แม้ในทุกวันนี้ที่โลกกระโจนเข้าสู่สังคมดิจิทัล แต่ก็ยังมีชนพื้นเมืองกว่า 1,500 ล้านคนทั่วโลกที่ยังพึ่งพาผูกพันกับระบบนิเวศธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ชนพื้นเมืองอยู่อาศัย มีชนพื้นเมืองในพื้นที่สมบูรณ์ทางนิเวศไม่ต่ำกว่า 370 ล้านคน กระจายตัวอยู่ 90 ประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 22 ของพื้นที่โลก ความรู้ท้องถิ่นต่อความหลากหลายทางชีวภาพ คือคลังทางปัญญาของโลกทั้งเรื่องอาหารและยา และที่สำคัญคือ ความรู้ต่อผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ชนพื้นเมืองแม้จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปตามภูมินิเวศ แต่พวกเขามีจุดร่วมทางวัฒนธรรมที่ก่อรูปเป็นวัฒนธรรมนิเวศ ที่สังคมสมัยใหม่ควรต้องเรียนรู้และนำไปทบทวนตนเอง ดังนี้

1) การมองธรรมชาติเป็นโลกศักดิ์สิทธิ์และมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกด้วย ทุกผืนป่า สายน้ำ ขุนเขา ท้องทะเล ล้วนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติคุ้มครองดูแล ซึ่งไม่เพียงดูแลธรรมชาติแต่ยังดูแลมาถึงชีวิตชุมชนด้วย ในแง่นี้ในโลกทัศน์ของชนพื้นเมือง ธรรมชาติที่มีจิตวิญญาณจึงเป็นองค์ประธานของสิทธิ หรือมีสิทธิของธรรมชาติของตัวเอง หลักคุณค่าดังกล่าวได้ทำให้เกิดวิถีการดำรงชีพนอบน้อมต่อธรรมชาติได้พัฒนามาสู่วิถีการทำมาหากิน การผลิต การจัดความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีธรรมชาติเป็นตัวตั้ง ชนเผ่าในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ลีชู ลาหู่ ชาวเล และอีกมากมาย ไปจนถึงชุมชนพื้นบ้านทั่วไป ก็มีวัฒนธรรมที่ให้ธรรมชาติมีความศักดิ์สิทธิ์ดังปรากฏในความเชื่อเรื่อง “ผี” ต่อธรรมชาติและผีบ้านผีเรือน

2) การจำแนกแยกแยะธรรมชาติที่ละเอียดลึกซึ้ง จากโลกทัศน์และวิถีที่ผูกพันกับธรรมชาติ ทำให้ชนพื้นเมืองมีความรู้และวิถีต่อธรรมชาติที่ละเอียดลึกซึ้ง และมีความรัก ผูกพันกับธรรมชาติมากว่านักสิ่งแวดล้อมการศึกษาสูงจากเมืองใหญ่มากมายนัก ดังกรณีชุมชนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีงานศึกษาพบว่า ชุมชนที่นั่นจำแนกป่าได้หลายสิบประเภท ลึกซึ้งกว่านักวนศาสตร์มากนัก หรือชุมชนแม่น้ำโขงตั้งแต่เชียงรายจรดอุบลฯ พรานปลาเข้าใจทุกนิเวศย่อย และสรรพชีวิตในลุ่มน้ำแม่โขงและแม่น้ำสาขาอย่างที่นักวิชาการกรมประมงไม่เข้าใจ หรือชาวเลทั้งมอแกน มอแกลน อุรักลาโว้ย แห่งท้องทะเลอันดามันก็รู้จักนิเวศและชีวิตแห่งท้องทะเลอย่างลึกล้ำ และแม้แต่ชาวนาผู้ปลูกข้าวพื้นบ้านหลากหลายแห่ง ก็เข้าใจธรรมชาติข้าว แยกแยะ คัดเลือกพันธุ์ข้าวได้มากกว่ากรมการข้าวมากมาย

3) หลักการพึ่งพา ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่ครอบครอง ชนพื้นเมืองทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ในนิเวศและพึ่งพาใช้สอยธรรมชาติแบบไหน ล้วนมีหลักของการใช้ประโยชน์โดยไม่ครอบครองเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะในฐานะกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หรือกรรมสิทธิ์กลุ่ม เพราะเจ้าของคือธรรมชาติ มนุษย์จึงขอใช้และพึ่งพาธรรมชาติ เมื่อไม่ครอบครอง จึงทำให้การใช้ธรรมชาติเป็นตามที่จำเป็นดำรงชีพ และไม่กีดกันคนภายนอกในการเข้าถึงธรรมชาติ ยกเว้นแต่คนนอกจะเข้ามาทำลาย หรืออ้างกรรมสิทธิ์ต่อธรรมชาติเพื่อกีดกันคนอื่นๆ รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือ ไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยง ไร่และผืนป่าเกิดขึ้นจากการขอใช้ประโยชน์จากผืนป่าเปลี่ยนเป็นผืนดินชั่วคราวเพื่อปลูกข้าวและพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็ทำเป็นร่วมกันกับสมาชิกในชุมชน เมื่อฤดูการผลิตผ่านพ้นก็คืนพื้นที่ให้ฟื้นกลับเป็นป่าของส่วนรวม ซึ่งสมาชิกชุมชนครอบครัวอื่นก็เข้ามาใช้ประโยชน์ได้ เพราะหากมีการครอบครองเมื่อไหร่ คนกะเหรี่ยงก็จะไม่มีพื้นที่ทำไร่พอเพียงทุกครอบครัว เช่นเดียวกับชาวเล พวกเขามีที่พักริมชายฝั่งเพื่อเตรียมกลับไปหาปูปลาในทะเล ไม่ได้ครอบครองที่ตั้งบ้านเรือนอย่างตายตัว แต่เพราะวิถีไม่ครอบครองดังกล่าว จึงกลายเป็นช่องว่างให้คนภายนอก นายทุน หรือรัฐปฏิเสธสิทธิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ธรรมชาติของพวกเขา และยึดมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทุนและรัฐ ด้วยเหตุเพราะชุมชนเหล่านี้ไม่ครอบครอง

4) วิถีเศรษฐกิจดำรงชีพพึ่งตนเอง ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองที่เก็บของป่าล่าสัตว์ หรือชุมชนที่ทำการผลิตการเกษตร พวกเขามีอุดมการณ์การผลิต หรือวิถีการผลิตที่มุ่งความมั่นคงอาหาร หรือความพอกินในครอบครัวและแบ่งปันในเครือญาติ ชุมชน และแลกเปลี่ยนค้าขายกับภายนอก ด้วยเทคโนโลยีพื้นบ้าน ผสานกับแรงงานในครัวเรือน จึงไม่ได้ทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มุ่งสั่งสมความมั่งคั่ง การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติจึงไม่ก้าวสู่การทำลายล้าง เพราะหากธรรมชาติเสียหายจะวนกลับมากระทั่งต่อการดำรงชีพและความมั่นคงอาหารของพวกเขา

วัฒนธรรมชนพื้นเมืองกับผลกระทบและการปรับตัวต่อสภาวะโลกร้อน

ด้วยความที่ชนพื้นเมืองมีวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งต่อธรรมชาติ ทำให้พวกเขามีภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อการบ่งชี้สภาวะความสมบูรณ์และการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาล การเจริญโตเติบโตของสรรพชีวิต การเคลื่อนย้ายพืชและสัตว์ และอื่นๆ เพื่อใช้แสวงหาทางดำรงชีพ และด้วยชีวิตที่ต้องพึ่งพากับธรรมชาติมากกว่าสังคมอื่นๆ เมื่อธรรมชาติผันผวนจากสภาวะโลกร้อน ชนพื้นเมืองจึงเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ภัยพิบัตินานาประการทั้งความแห้งแล้ง สายน้ำผันผวน ไฟป่า ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุมชนพื้นเมืองหรือชุมชนท้องถิ่นย่อมรับรู้ มีประสบการณ์ บทเรียนตรงต่อการทำความเข้าใจความผันผวน ผลกระทบ และการปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลง และเกิดเป็นต้นแบบที่ชุมชนอื่นๆ และสังคมได้นำไปปรับใช้

การศึกษาผลกระทบและการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะแต่ชุมชน สาธารณะจะได้เรียนรู้สิ่งบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชิงลึกที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง และพัฒนาเป็นเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงและเตือนภัยในระดับพื้นที่ แนวทางช่วยเหลือชุมชน และยังจะได้เห็นแบบแผนจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการตั้งรับ ปรับตัว ผลกระทบ และการดูดซับก๊าซเรือนกระจกผ่านมนโนทัศน์เชิงนิเวศ วิถีดำรงชีพ การผลิตที่ยั่งยืนได้

ความย้อนแย้งของโลกสมัยใหม่ต่อวิถีชนพื้นเมืองในสภาวะโลกร้อน

แม้เป็นที่ยอมรับระดับโลกโดยสหประชาชาติว่า วัฒนธรรมนิเวศและภูมิปัญญาท้องถิ่นชนพื้นเมืองที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้และจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านผลกระทบ การปรับตัว การเป็นต้นแบบของวิถีชีวิตที่รักษาธรรมชาติ กระทั่งบทบาทของชนพื้นเมืองที่มีส่วนสำคัญในการปกป้องธรรมชาติจากการทำลายของการพัฒนาโดยรัฐและกลุ่มทุน แต่ชนพื้นเมืองก็ยังเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

วัฒนธรรมนิเวศของชนพื้นเมืองขัดแย้งกับระบบการจัดการทรัพยากรของโลกสมัยใหม่ที่ยังอยู่ในกระบวนทัศน์ทุนนิยมที่ยั่งมุ่งแสวงหาความมั่งคั่งด้วยการสถาปนาระบบทรัพย์สินทุกมิติของธรรมชาติ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า มิติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชนพื้นเมืองที่เป็นทางออกต่อปัญหาโลกร้อน กลับไม่เป็นที่เข้าใจของผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญเท่ากับระบบบัญชีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนฯ องค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาไม่เคยมีที่ทางนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่ากับเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม และกลไกกฎหมายของรัฐ

และยิ่งในบริบทรัฐ-ชาตินิยมที่ผูกขาดทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมนิเวศของชนพื้นเมืองที่หลากหลาย กลับเป็นความย้อนแย้งที่รัฐไม่ยอมรับ จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า คุณค่าทางนิเวศของวัฒนธรรมชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นแค่วาทกรรมที่สร้างความสวยงามแก่ระบบทุนนิยมสีเขียวและรัฐอำนาจนิยมเท่านั้น

นั่นจึงเป็นเหตุว่า ทำไมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ชุมชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่กับป่า ท้องทะเล จึงยังคงถูกรัฐและทุนปิดล้อม ขับไล่ ในนามของ “การอนุรักษ์” และการ “พัฒนา” อยู่ในเวลานี้