ThaiPublica > คอลัมน์ > วัคซีนเป็นปัจจัยใหม่การทูตไทย

วัคซีนเป็นปัจจัยใหม่การทูตไทย

27 กรกฎาคม 2021


กวี จงกิจถาวร

เมื่อเร็วๆ นี้ การประชุมจี7 (G7) ที่ประเทศอังกฤษจบลงด้วยคำมั่นสัญญาว่า กลุ่มประเทศมีอันจะกินจะบริจาควัคซีนจำนวนหนึ่งพันล้านโดสให้กับประเทศด้อยพัฒนา แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลา ต้องถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับประเทศที่ต้องการวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนของประเทศตน

แต่ลึกๆ แล้วข้อตกลงนี้ มีแรงกดดันแรงสูงจากประเทศจีนซึ่งได้ใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูตกับประเทศกำลังพัฒนามาก่อนทุกประเทศ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้บริจากวัคซีนมากกว่า 800 ล้านโดสทั่วโลก โดยไม่มีการตั้งแง่หรือข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น ตอนนี้วัคซีนจีนคือซิโนแวคและซิโนฟาร์มได้รับความนิยม หลังจากองค์การอนามัยโลกรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพพร้อมนำมาใช้ในโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพื่อแจกจ่ายไปทั่วโลก

การทูตวัคซีนไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตมีการใช้ความร่วมมือทางการแพทย์เป็นหนทางในการเสริมสร้างสัมพันธ์ทวิภาคีในรูปแบบต่างๆ พร้อมเพิ่มความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในการป้องกันและรักษาโรคติดต่อต่างๆ เช่น โรคอีโบล่า โรคซาร์ โรคฝีดาษ เป็นต้น

ทว่าในยุคนี้มีโซเชียลมีเดียเป็นตัวเชื่อมและสื่อสารข้อมูลข้อคิดเห็นต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้การทูตวัคซีนมีพลังอัดฉีดขึ้นมาทันที เพราะสามารถขับเคลื่อนความรู้สึกของคนได้ดี ในทุกระดับ ฉะนั้นประชาชนในประเทศต่างๆ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบริจาค รวมทั้งที่ได้สั่งซื้อมา จะเป็นผู้ตัดสินว่าวัคซีนจากประเทศไหนยี่ห้อไหนดีกว่า สามารถให้คะแนนได้ในฉับพลัน (ที่น่าสังเกตคือไทย เพราะมีการวิเคราะห์วัคซีนยี่ห้อไหนดีไม่ดีมากที่สุด จนสับสนไปหมด)

อีกสักปีสองปีข้างหน้า หลังจากประชาชนทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโดยถ้วนหน้าแล้ว คงมีการประเมินสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อโดยประชาชนและบรรดาแพทย์ในประเทศนั้นๆ ผลลัพธ์ออกมาจะมีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศอย่างมากแบบไม่เคยมีมาก่อน

เพื่อรักษาศักดิ์ศรีและชื่อเสียงในเวทีการเมืองโลก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 ว่า จะบริจาควัคซีนทั้งหมด 80 ล้านโดสให้กับประเทศด้อยพัฒนา ลบล้างนโยบาย “อเมริกาเฟิสต์” ของอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ อย่างสิ้นเชิง ในช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ทยอยส่งมอบวัคซีนทั้งหมด เจ็ดล้านโดสให้กับประเทศในเอเซีย 16 ประเทศ มีประเทศไทยรวมอยูด้วย จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการทูตวัคซีนต่อไทยมาก ทั้งๆ ที่ไทยไม่ได้เข้าโครงการโคแวกซ์ ต้องเจรจาต่างทวิภาคีต่างหาก คงไม่ลืมไทยเป็นมิตรประเทศของสหรัฐอเมริกาที่เก่าแก่ที่สุดในเอเซีย

ตามจริง ไทยเราไม่ได้หวังรอวัคซีนฟรีจากสหรัฐอเมริกาหรอก ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์และเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนได้โดยตรง มีใบอนุญาตโดยตรงจากเจ้าของสิทธิบัตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ปัจจุบันสิงคโปร์และอินโดนีเซียมีโครงการที่จะผลิตวัคซีนเองโดยร่วมมือกับบริษัทผลิตวัคซีนโดยตรง

ในภูมิภาคอาเซียน ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขจะเป็นปัจจัยใหม่ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ในระยะยาวไทยมีนโยบายที่ไม่พึ่งวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ ไทยต้องการเพิ่มความขีดความสามรถในการผลิตวัคซีนที่เพียงพอใช้ในประเทศและส่งออก พร้อมทั้งยังสามารถบริจากวัคซีนให้กับประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงการต่างประเทศเคยมีดำริที่จะใช้การทูตวัคซีนต้นปีนี้ ในกรณีที่มีวัคซีนเหลือ เพื่อให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีคนติดเชื้อมากขึ้นๆทุกวัน ประชาชนวิตกกังวล มาฉีดวัคซีนกันแน่นขนัดที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564

แต่หลังจากที่มีผู้ติดโรคโควิดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในประเทศตั้งแต่เมษายน 2564 ที่ผ่านมา วันจันทร์ที่ผ่านมา (27 ก.ค. 2564) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 15,376 ราย เฉกเช่นเดียวกับความต้องการฉีดวัคซีนที่พุ่งขึ้นมาจนรัฐบาลรับมือไม่ไหว เนื่องจากวัคซีนที่นำเข้ามา รวมทั้งที่ผลิตในประเทศ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้โครงการการทูตวัคซีนนี้ต้องพักไปก่อน

ในบริบทอาเซียน ไทยมีบทบาทสูงในการวางกรอบความร่วมมือระหว่างสมาชิกอาเซียนในยุคสมัยโรคระบาดโควิด-19 ได้เสนอการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียนให้เร็วยิ่งขึ้น ในอนาคตหลังจากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนโดยถ้วนหน้า วัคซีนไทยอาจถูกหยิบนำมาใช้เป็นปัจจัยทางการทูตอย่างแน่นอน