
เมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2558 น.ส.ศิวพร กาญจนภิญพงศ์ อดีตปลัดอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เข้าพบพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีถูกกล่าวหาพัวพัน “ขบวนการรับจ้างชาวอินเดียจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย” เป็นเท็จ ซึ่งเป็นคดีความมั่นคงของชาติที่กำลังแพร่ระบาดในเขตพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัด อาทิ สระบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เป็นต้น
น.ส.ศิวพร เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนถูกย้ายจากปลัดอำเภอสามพรานไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2558ได้รับแจ้งจากทางอำเภอสามพราน ว่ากรมการปกครอง ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพบความผิดปกติ กรณีสำนักทะเบียนอำเภอสามพราน รับจดทะเบียนสมรสให้หญิงไทยกับชาวต่างชาติ สัญชาติอินเดีย ในช่วงเดือนตุลาคม 2557-กุมภาพันธ์ 2558 เป็นจำนวนมากถึง 257 คู่ ตรงกับช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอสามพราน ซึ่งตนขอยืนยันว่าในระหว่างปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2557-วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ทางอำเภอสามพรานได้จดทะเบียนสมรสให้ชาวอินเดียกับหญิงไทยไป 7 คู่เท่านั้น โดยตนเป็นลงนามในทะเบียนสมรสแค่ 5 คู่ ส่วนอีก 2 คู่ ลงนามโดยปลัดอำเภอคนอื่น
“หลังจากที่ดิฉันทราบข่าว กรมการปกครองตรวจพบความผิดปกติ ทางอำเภอสามพรานจดทะเบียนสมรสให้หญิงไทยกับต่างชาติไปถึง 257 คู่ ก็รู้สึกตกใจ จึงเดินทางกลับมาที่ว่าการอำเภอสามพราน เพื่อตรวจสอบว่าปลัดอำเภอท่านใดลงนามในคำร้องขอจดทะเบียนสมรส คร.1-คร.2 ปรากฏว่าพบคำร้องขอจดทะเบียนแค่ 7 คู่ อีก 250 คู่ หายไปจากตู็เก็บเอกสาร จึงไปตรวจสอบในคอมพิวเตอร์ พบว่ายังมีข้อมูลการจดทะเบียนสมรส 250 คู่ ตกค้างอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงพิมพ์ออกมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน” น.ส.ศิวพร กล่าว
น.ส.ศิวพร กล่าวต่ออีกว่า จากนั้นตนได้นำรายชื่อหญิงไทยที่จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติมาทำการสุ่มตรวจ 2 ราย คือ น.ส.วรรณ และน.ส.ลลิตา (นามสมมติ) จึงเชิญบุคคลทั้ง 2 มาสอบถาม ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และจากการสอบถามข้อมูลจากบุคคลทั้ง 2 ราย ตรงกัน คือ ได้รับการติดต่อจากน.ส.กนกพร (นามสมมติ) ขอให้มาจดทะเบียนกับชาวอินเดีย โดยได้รับค่าตอบแทน 2,000 บาท เมื่อตอบตกลงประมาณ 1 สัปดาห์ ก็นัดหมายสถานที่ โดยให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน มาใช้เป็นหลักฐานและให้ลงลายมือชื่อในคำร้องการขอจดทะเบียนสมรส (คร.1 และ คร.2) ซึ่งทั้งคู่ยืนยันว่าไม่ได้เดินทางไปจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอสามพราน และไม่เคยพบเห็นนายทะเบียนแต่อย่างใด
กรณีของน.ส.วรรณ ให้การว่าตนลงลายมือชื่อในคำร้องขอจดทะเบียนสมรสที่บ้านของนางพนอม ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนกรณีของน.ส.ลลิตา ให้การว่าได้ไปลงลายมือชื่อที่หมู่บ้านเอื้ออาทร ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ไม่พบนายทะเบียน พบแต่นางพนอม,น.ส.กนกพร และชาวอินเดียคู่สมรสเท่านั้น หลังจากลงลายมือชื่อเสร็จก็พามาส่งบ้านพร้อมกับจ่ายเงินค่าตอบแทน 2,000 บาท
น.ส.ศิวพร กล่าวต่อว่า เมื่อทราบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาข้างต้น วันที่ 14 มิถุนายน 2558 ตนจึงพา น.ส.วรรณและน.ส.ลลิตา ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ตนได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ น.ส.กนกพร และนางพนอม ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ในข้อหาร่วมกันนำเอกสาร ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ของน.ส.วรรณและน.ส.ลลิตา ไปทำการจดทะเบียนสมรสเป็นเท็จ ทำให้ตนและอำเภอสามพรานได้รับความเสียหาย โดยมีน.ส.วรรณ และน.ส.ลลิตา ให้ปากคำเป็นพยาน ไม่เคยเดินทางมาจดทะเบียนที่อำเภอสามพราน และไม่เคยพบหน้าน.ส.ศิวพร
“สาเหตุที่ตนแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาจดทะเบียนสมรสเป็นเท็จ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้คู่สมรส ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องมาแสดงตนและลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียน โดยมีนายทะเบียนร่วมลงลายมือชื่อด้วย แต่กรณีนี้ตนยื่นยันว่าไม่เคยลงลายมือชื่อในแบบคำร้อง หรือทะเบียนสมรสของน.ส.วรรณและน.ส.ลลิตา รวมทั้งทะเบียนสมรสรายอื่นอีก 250 คู่ด้วย” น.ส.ศิวพร กล่าว
อดีตปลัดอำเภอสามพราน กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติหน้าที่ของปลัดอำเภอ โดยทุกๆวันตนต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนของตนไปเสียบที่เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อเปิดระบบ หรือ กำหนดสิทธิของนายทะเบียนที่ปฏิบัติงานด้านทะเบียนราษฎร,ทะเบียนทั่วไป และงานด้านบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในอำเภอทุกคนเปิดระบบ โดยใช้รหัสผ่านของแต่ละคน เปิดให้บริการแก่ประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่รับแบบคำร้องจากประชาชนก็จะคีย์ข้อมูลเข้าไปในเครื่อง พร้อมกับเลือกนายทะเบียน (ปลัดอำเภอปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียน) เพื่อลงลายมือชื่อในแบบคำร้อง โดยเฉพาะงานจดทะเบียนสมรส ผู้ยื่นคำร้องต้องนำเอกสารจากเจ้าหน้าที่มายื่นต่อหน้านายทะเบียน จากนั้นนายทะเบียนจะตรวจสอบข้อมูลของคู่สมรสด้วยตนเองก่อนที่จะลงลายมือชื่อในใบสำคัญการสมรสและมอบให้คู่สมรสด้วยตนเองทุกครั้ง รวมทั้งกรณีนายทะเบียนถูกเชิญให้ไปจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ด้วย
“กรณีที่กรมการปกครองตรวจพบอำเภอสามพรานจดทะเบียนสมรสให้ชาวอินเดียกับหญิงไทย 257 คู่ ขอยืนยันอีกครั้งว่าตนลงลายมือในทะเบียนสมรสแค่ 5 คู่ที่มายื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสด้วยตนเอง ที่เหลืออีก 250 คู่ ตนขอยืนยันว่าไม่ได้ลงนามในใบสำคัญการสมรส และคู่สมรสไม่ได้มายื่นคำร้อง หรือ แสดงตนต่อหน้านายทะเบียนอำเภอสามพราน” น.ส.ศิวพร กล่าว
ด้านพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า คดีนี้เป็นคดีความมั่นคงของประเทศ คงต้องขอเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล และขยายผลการสอบสวนไปยังหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องก่อน อาทิ กรมการปกครอง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงานและกระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น สำหรับมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ชาวต่างชาติว่าจ้างผู้หญิงไทยจดทะเบียนสมรส คือ ต้องการอยู่เมืองไทยนานๆ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย และต้องทำเรื่องขอวีซ่าทุกๆ 3 เดือน หากข้อมูลการจดทะเบียนสมรสระหว่างชาวต่างชาติกับหญิงไทย เป็นเท็จ ข้อมูลที่อยู่ที่สตม. หรือกระทรวงต่างประเทศ ก็เป็นเท็จด้วยเช่นกัน
(ตอนต่อไปเปิดรายชื่อ 250 คู่สมรส)