รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อวันศุกร์ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดฉากสงครามการค้าขึ้นมาใหม่อีก เมื่อข่มขูว่าจะใช้ภาษี 50% กับสินค้านำเข้าจากกลุ่ม EU และภาษี 25% กับสมาร์ทโฟนที่ผลิตจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Apple หรือ Samsung ทรัมป์กล่าวว่า
“ผมบอกกับทิม คุกของ Apple ว่า ผมคาดหมายที่ iPhone ขายในสหรัฐฯ จะประกอบ และผลิตในสหรัฐฯ ไม่ใช่ในอินเดีย หรือจากที่อื่น”
ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีมองว่า การประกอบการผลิต iPhone บางส่วนในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่การผลิตชิ้นส่วนของ iPhone ทั้งหมด และประกอบในสหรัฐฯ จะมีต้นทุนสูง iPhone ประกอบด้วยชิ้นส่วนที่ซับซ้อน มีแหล่งผลิตจากหลายประเทศ และนำเอามาประกอบในจีน สหรัฐฯไม่มีช่องทางต่างๆคล้ายกับโครงสร้างพื้นฐานห่วงโซ่อปทาน ที่พัฒนาขึ้นมาในจีน และก็ขาดแรงงานทักษะ มากพอที่จะประกอบ iPhone ในจำนวนมากดังกล่าว
Apple ลงทุนในจีนเหมือน “การสร้างชาติ”
หนังสือที่เพิ่งพิมพ์ออกวางตลาด Apple in China (2025) เขียนโดย Patrick McGee นักข่าว Financial Times กล่าวว่า ในตะวันตก เรื่องราวเกี่ยวกับ Apple จะบรรยายแบบน่าเบื่อหน่ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ Apple เช่น คนงานได้รับค่าแรงต่ำ ทำงานวันหนึ่ง 16 ชั่วโมง การฆ่าตัวตายของคนงาน Foxconn และการใช้แรงงานบังคับกับคนอุยกูร์ เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ผิดความจากความจริงอะไร
แต่พลาดในการสังเกตุและเข้าใจในปัญหาใหญ่ที่ว่า ไม่เพียงแต่ Apple ที่เอาเปรียบแรงงานคนจีน แต่รัฐบาลจีนปล่อยให้ Apple เอาเปรียบแรงงานตัวเอง เพื่อที่ต่อมาจีนจะได้เอาเปรียบ Apple

Apple in China กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะบอกว่า…
หากไม่มีจีน Apple จะไม่สามารถเป็น Apple ได้ในแบบทุกวันนี้ ไม่มีที่ไหนในโลกเทียบได้กับจีน ที่สามารถป้อนแรงงาน ที่มีค่าแรงถูก มีประสิทธิภาพ และมีปริมาณมาก เช่นเดียวกัน หากไม่มี Apple จีนก็อาจไม่ได้เป็นจีนในแบบทุกวันนี้
การลงทุนของ Apple ในจีนก็เป็นสิ่งที่น่าประทับใจ เปรียบเทียบได้กับความพยายามของ Apple ใน “การสร้างชาติ” (nation-building) ทั้งในแง่ต้นทุนที่ลงไป เวลาที่ลงแรงไป และผลกระทบที่เกิดขึ้น Apple ประมาณการณ์ว่า นับจากปี 2008 เป็นต้นมา Apple ได้ฝึกอบรมแรงงานจีนไปทั้งหมด 28 ล้านคน จำนวนที่มากกว่าแรงงานทั้งหมดในรัฐคาลิฟอร์เนีย ส่วนจีนนั้นหวังผลประโยชน์ในระยะยาว ในการสนองผลประโยชน์ระยะสั้นให้กับ Apple
ปี 1999 ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่ผลิตในจีนเลย เมื่อถึงปี 2009 ผลิตภัณฑ์ Apple แทบทั้งหมดผลิตในจีน การรวมศูนย์การผลิตของ Apple ในจีน สะท้อนการถ่ายโอนเทคโนโลยีครั้งใหญ่ เทียบได้กับเหตุการณ์สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน จนถึงปี 2015 การลงทุนของ Apple ในจีน มากถึงปีละ 55 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่กฎหมาย The CHIP and Science Act ในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน ที่รัฐบาลสหรัฐฯอุดหนุนการผลิตคอมพิวเตอร์ชิปในสหรัฐฯ ด้วยเงิน 52 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลา 4 ปี ส่วนช่วงปี 1991-2022 ทางการไต้หวันคำณวนว่า เอกชนไต้หวันเข้าไปลงทุนในจีนทั้งหมดมูลค่า 203 พันล้านดอลลาร์
ส่วนผลกระทบแก่จีนจาก Apple เป็นประเด็นที่ยากจะเข้าใจ เหมือนที่เคยมีการคาดการณ์ว่า คนจีน 1.4 พันล้านคนบริโภคสินค้าอเมริกา ทำให้มีการจ้างงาน 1-2.6 ล้านคนในสหรัฐฯ ทิม คุก CEO ของ Apple เคยให้สัมภาษณ์สื่อจีนว่า Apple เองทำให้เกิดการจ้างงานในจีน 5 ล้านงาน โดย 3 ล้านงานเป็นการประกอบการผลิต และ 1.8 ล้านคนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ จุดนี้ทำให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทเดียว ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในจีน มากกว่าจีนทั้งประเทศทำให้เกิดการจ้างงานในสหรัฐฯ
iPhone เรือธงนำของ Apple
Apple in China กล่าวว่า Apple คาดว่าปี 2025 จะมียอดขายทั่วโลก 414 พันล้านดอลลาร์ นับจากปี 2007 เป็นต้นมา เฉพาะ iPhone มียอดขายสะสมมาแล้ว รวมทั้งหมด 2 ล้านล้านดอลลาร์ ธุรกิจของ Apple ใหญ่โตและมีผลกำไรมาก ปี 2024 มีกำไรสุทธิ 94 พันล้านดอลลาร์ ปี 2025 ผลิตภัณฑ์ Apple ที่ยังมีการใช้งานอยู่มีจำนวน 2.3 พันล้านเครื่อง เป็น iPhone 1.4 พันล้านเครื่อง คนใช้งานเฉลี่ยวันละ 4 ชม. ในปีหนึ่ง Google จ่ายเงินให้ Apple 20 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้เป็น search engine อยู่บน iPhone
แต่ Apple in China ก็กล่าวว่า สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของ Apple ก็คือ การทำให้ชะตากรรมการผลิตด้านอุปกรณ์ทั้งหมดของ Apple ไปอยู่ในจีน ประเทศที่เป็นคู่แข่งรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ และการมีระบบห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนกระจุกตัวอยู่ในประเทศเดียว นักวิเคราะห์เทคโนโลยีคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า
“เป็นเรื่องยากที่จะเอาความจริงสองอย่างมาอยู่รวมกันได้ คือ บริษัทอเมริกันที่ยิ่งใหญ่สุด เป็นแบบทุนนิยมที่สุดในโลก มีพื้นฐานการดำรงอยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าคอมมิวนิสต์”
ทุกวันนี้ Apple ร่วมงานกับ 1,500 ซับพลายเออร์ใน 50 ประเทศ แต่ถนนทุกสายมุ่งหน้าไปสู่จีน 90% ของผลิตภัณฑ์ Apple ผลิตในจีน iPhone มีสายพานการผลิต 200 แห่งในจีน แต่ละแห่งผลิต iPhone วันหนึ่ง 3,300 เครื่อง ปีหนึ่งรวมกัน 240 ล้านเครื่อง Apple เป็นบริษัทต่างชาติที่มียอดขายในจีนมากสุดปีหนึ่ง 70 พันล้านดอลลาร์

ออกแบบในสหรัฐฯ ประกอบในจีน
ในปี 2015 สี จิ้นผิง ประกาศนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม เรียกว่า Made in China 2025 เรียกร้องบริษัทจีนให้ “เรียนรู้สิ่งที่เป็นหัวใจเทคโนโลยี สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้สมบูรณ์ และสร้างความสามารถในการพัฒนาของตัวเองขึ้นมา” สิ่งนี้ทำให้เกิด “ห่วงโซ่อุปทานแดง” (red supply chain) ในจีน
ดังนั้น บริษัทจีนมองว่า หนทางการบรรลุเป้าหมายนี้ คือการหาทางทำงานกับบริษัทต้นแบบของทุนนิยม Apple อาจไม่ได้ต้องการให้มีบริษัทจีนมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง แต่ Apple มีแนวโน้มจะอาศัยซัพพลายเออร์จีนมากขึ้น เพราะบริษัทจีนต้องการทำงานแบบมีประสบการณ์ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และมีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน
ปี 2012 Apple เปิดเผยเป็นครั้งแรกรายชื่อซัพพลายเออร์ ซัพพลายเออร์หลักของ Apple มี 200 บริษัท เป็นบริษัทจีน 16 บริษัท เพิ่มเป็น 41 บริษัทในปี 2019 มากกว่าจำนวนซัพพลายเออร์จากสหรัฐฯ ในปี 2021 จำนวนซัพพลายเออร์จีนเพิ่มเป็น 51 บริษัท มากกว่าจำนวนซัพพลายเออร์จากไต้หวัน หนังสือพิมพ์ China Daily เปิดเผยว่า ในปี 2023 ซัพพลายเออร์หลักของ Apple จำนวน 151 บริษัท ทั้งของจีนและต่างประเทศ ล้วนมีฐานการผลิตอยู่ในจีน
สำหรับซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple ที่เรียกว่า “ห่วงโซ่อุปทานแดง” ประกอบด้วย 4 บริษัทจีน คือ Luxshare BYD Electronic Goertek และ Wingtech ยักษ์ใหญ่ซัพพลายเออร์ของจีนดังกล่าว ทำให้ Apple ตกอยู่ในสถานการณ์ใหม่ คือ จีนอาจเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ในแต่ละปี สามารถผลิต iPhone ได้หลายร้อยล้านเครื่อง
เรื่องราวของ Apple ในจีนคือ การอาศัยจีนมาสร้างความมั่งคั่ง จน Apple กลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของโลก ขณะเดียวกัน การพึ่งพาและพัวพันกับจีนของ Apple ทำให้ Apple จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ก็ทำได้ยากลำบาก จนสิ่งนี้กลายเป็น “ความเสี่ยงต่อการดำรงอยู่” ของตัวเอง
เอกสารประกอบ
Apple in China: The Capture of the World’s Greatest Company, Patrick McGee, 2025, Scribner.