ThaiPublica > สู่อาเซียน > พลวัตของภูมิรัฐศาสตร์ในอาเซียน และนัยต่อเศรษฐกิจ

พลวัตของภูมิรัฐศาสตร์ในอาเซียน และนัยต่อเศรษฐกิจ

30 เมษายน 2025


วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์เศรษฐกิจของอาเซียนผ่านมุมมองของพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์ ใน Research Intelligence เพื่อประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาเซียนอาจเผชิญ ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากจีน ที่อาจเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจในภูมิภาค

บทนำ

อาเซียนมีบทบาทสำคัญในเวทีภูมิรัฐศาสตร์โลกทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในด้านเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออาเซียน โดยเฉพาะในยุค Trump 2.0 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ผลักดันนโยบายภาษีนำเข้าครั้งใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 ซึ่งกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นกับเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศในอาเซียน ด้วยความหวังว่าจะสามารถจัดระเบียบการค้าโลกและลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนได้ นโยบายนี้จึงเพิ่มความซับซ้อนให้กับพลวัตทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยบทบาทของอาเซียนในฐานะจุดเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศมหาอำนาจ ภูมิภาคนี้จึงต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น การศึกษานี้มุ่งวิเคราะห์เศรษฐกิจของอาเซียนผ่านมุมมองของพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาเซียนอาจเผชิญในอนาคต ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากจีน ที่อาจเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจในภูมิภาค

พลวัตของภูมิรัฐศาสตร์ในอาเซียน

ในช่วงที่ผ่านมา อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางของการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีเป้าหมายในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การทหารและความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นสำคัญอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและรัสเซีย ที่มีบทบาทเฉพาะด้านในการสร้างความร่วมมือกับประเทศในอาเซียน การทำความเข้าใจบทบาทของแต่ละฝ่ายจึงเป็นกุญแจสำคัญในการประเมินผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย

อิทธิพลของจีน
จีนมีบทบาทในอาเซียนทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยเฉพาะโครงการ BRI และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

จีนได้ขยายอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ความมั่นคง โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญคือ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง [One Belt One Road หรือ Belt and Road Initiative (BRI)] ซึ่งเป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่ครอบคลุมทั้งการคมนาคม การสื่อสาร พลังงาน และเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง โดยมีการลงทุนจำนวนมหาศาลในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชาและ สปป. ลาว1

นอกจากนี้ จีนยังสร้างอิทธิพลด้านความมั่นคงผ่านประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ (South China Sea) โดยอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ภายใต้แนวเส้นประเก้าเส้น (Nine-Dash Line, ภาพที่ 1) ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดกับหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์และเวียดนาม2 โดยในระยะหลังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างเรือของจีนและเรือของฟิลิปปินส์หลายครั้ง ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องเพิ่มความร่วมมือด้านการทหารกับสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลอำนาจ ทั้งนี้ ข้อพิพาททะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าได้ เนื่องจากทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศของหลายประเทศในอาเซียน และการที่สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้ ทำให้สถานการณ์มีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

อิทธิพลของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ มีอิทธิพลกับอาเซียนผ่านการสร้างความมั่นคงทางการทหาร ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้มาช้านาน และปัจจุบันได้ใช้การถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity หรือ IPEF) ที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคง การค้า และการทูต โดยกองกำลังทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในภูมิภาคสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการป้องกันการแผ่ขยายอำนาจของจีนในทะเลจีนใต้ โดยตัวอย่างความร่วมมือ ได้แก่ การที่สหรัฐฯ มีฐานทัพสำคัญในสิงคโปร์และฟิลิปปินส์3 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีนในระดับภูมิภาคผ่านการสร้างพันธมิตรทางความมั่นคง เช่น Quad และ AUKUS4

ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ มีความสำคัญในฐานะตลาดขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งรองรับสินค้าส่งออกจากอาเซียน (ภาพที่ 2) ขณะเดียวกัน ยังมีบทบาทในการส่งเสริมการค้าผ่านกรอบความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น สิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และเวียดนามที่ได้ยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในปี 2567 เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม (comprehensive strategic partnership) เพื่อเพิ่มการลงทุนในเวียดนามและสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทาน

ผู้เล่นอื่นๆ ที่มีความสำคัญ
นอกจากสหรัฐฯ และจีนแล้ว อาเซียนยังต้องเผชิญกับอิทธิพลจากประเทศอื่นๆ ที่ส่งผลต่อดุลอำนาจในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น ที่สนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance หรือ ODA) และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซียและเวียดนาม พร้อมส่งเสริมความมั่นคงผ่าน Quad และความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลจีน ส่วนรัสเซียเน้นความร่วมมือด้านกลาโหมและพลังงาน เช่น การจัดหาอาวุธให้เมียนมาและสำรวจข้อตกลงพลังงาน แม้อิทธิพลจะยังจำกัดเมื่อเทียบกับสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน

นอกจากนี้ ไต้หวันเป็นอีกผู้เล่นสำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม ซึ่งเน้นในด้านการผลิตและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานในอาเซียน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์5 อีกทั้งท่าทีของอาเซียนต่อนโยบายจีนเดียว (One China Policy) จะกำหนดความสัมพันธ์กับไต้หวันและความร่วมมือในอนาคต

เปรียบเทียบอิทธิพลของสหรัฐฯ และจีนในอาเซียน

เราสามารถสรุปอิทธิพลของสหรัฐฯ และจีนที่มีต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ (พิจารณาจากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงหรือ FDI) และมิติทางการทหารและความมั่นคง ได้ดังนี้ (ตารางที่ 1)

เราสามารถจัดกลุ่มประเทศต่างๆ ในอาเซียนตามอิทธิพลของสหรัฐฯ และจีน ได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

1. กลุ่มที่เอนเอียงไปทางจีน (China-Leaning Countries)

กัมพูชา: มีความใกล้ชิดกับจีนอย่างมาก โดยจีนเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ การที่จีนได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ฐานทัพเรือ Ream Naval Base ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร สะท้อนถึงอิทธิพลด้านความมั่นคงของจีนในกัมพูชา

สปป.ลาว: เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พึ่งพาการลงทุนจากจีน กอปรกับมีการกู้ยืมจากจีนจำนวนมาก โดยโครงการ BRI เช่น รถไฟจีน-ลาว ได้เชื่อมโยงลาวเข้ากับโครงข่ายเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเพิ่มอิทธิพลด้านความมั่นคงของจีนในลาวตามไปด้วย

เมียนมา: มีความสัมพันธ์กับจีนที่แน่นแฟ้นกว่าสหรัฐฯ มาก ผ่าน FDI และโครงการ BRI เช่น ท่าเรือเจ๊าะผิ่ว (Kyaukphyu Port) รวมถึงการสนับสนุนด้านอาวุธให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ในขณะที่สหรัฐฯ แทบจะไม่มีบทบาทกับเมียนมาเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตร

2. กลุ่มที่เอนเอียงไปทางสหรัฐฯ (US-Leaning Countries)

ฟิลิปปินส์: มีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง (สัดส่วน FDI จากสหรัฐฯ สูงกว่าจีนอย่างมีนัยสำคัญ) และปัจจุบันมีความสัมพันธ์ผ่านข้อตกลงทางการทหารเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้

3. กลุ่มที่พยายามรักษาความเป็นกลางหรือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-alignment Countries)

สิงคโปร์: พยายามรักษาความสมดุลระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ และมีสัดส่วนการลงทุนจากสหรัฐฯ มากกว่า แต่สิงคโปร์ก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับจีนอย่างแน่นแฟ้น สะท้อนจากการที่จีนยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของสิงคโปร์ และมีโครงสร้างประชากรและวัฒนธรรมคล้ายกัน

อินโดนีเซีย: พยายามรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้จะมีสัดส่วน FDI จากจีนสูงกว่าสหรัฐฯ และยังมีส่วนร่วมในโครงการ BRI เช่น รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง แต่ก็ร่วมฝึกซ้อมทางทหารกับสหรัฐฯ ด้วย

เวียดนาม: ใช้นโยบายการทูตแบบ “ไผ่ลู่ลม” (Bamboo Diplomacy)6 แม้ตอนนี้เวียดนามพึ่งพาจีนในด้านห่วงโซ่อุปทานและการลงทุน แต่ก็ยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุมเพื่อลดการพึ่งพาจีน

ไทย: พยายามรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยแม้ปัจจุบันมีการลงทุนจากจีนมากกว่า รวมถึงมีการจัดซื้ออาวุธจากจีน แต่ก็มีความสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐฯ ผ่านการฝึกซ้อม Cobra Gold7

มาเลเซีย: พยายามรักษาความเป็นกลาง แม้มีสัดส่วนการลงทุนจากสหรัฐฯ ที่เยอะกว่า และได้รับการส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ แต่ก็มีความสัมพันธ์กับจีนจากการเข้าร่วม BRI ผ่านโครงการ East Coast Rail Link

ความสัมพันธ์ทางอำนาจจากมุมมองภูมิรัฐศาสตร์ของผู้เล่นต่างๆ ซึ่งมีผลต่อประเทศในภูมิภาค สามารถสรุปได้ใน ภาพที่ 3

การประเมินท่าทีของประเทศต่างๆ ข้างต้น ส่วนใหญ่สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของหน่วยงานวิจัยในต่างประเทศอย่าง Capital Economics (ภาพที่ 4)8 ยกเว้นท่าทีของเวียดนาม ที่ Capital Economics มองว่าเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ สาเหตุอาจมาจากการให้น้ำหนักด้านการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์และการทูตระหว่างเวียดนามกับสหรัฐฯ ที่มีพัฒนาการอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เช่น การยกระดับสู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership)

ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญและนัยทางเศรษฐกิจ

ในช่วงเวลานี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่โดดเด่น ได้แก่ การแข่งขันทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคงของภูมิภาค

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก และได้ทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยที่สองของนายทรัมป์ (Trump 2.0) สะท้อนถึงความพยายามในการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ผ่านนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจและการกีดกันทางการค้า ด้วยเป้าหมายที่จะลดอิทธิพลของจีนในระบบเศรษฐกิจโลก และป้องกันการเป็นทางผ่านของสินค้าจีน (Rerouting) โดยล่าสุด การขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นการยกระดับความขัดแย้งครั้งสำคัญ โดยครอบคลุมทั้งจีนและประเทศอื่นๆ รวมถึงในอาเซียน ซึ่งสร้างความซับซ้อนทั้งในมิติการค้า เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์9

ท่าทีของประเทศต่างๆ ต่อมาตรการภาษีศุลกากรล่าสุดสะท้อนถึงการปรับตัวในบริบทใหม่ที่แตกต่างจากสมัยแรกของทรัมป์ (2561-2563) ซึ่งเน้นการกดดันจีนเป็นหลัก โดยมาตรการปัจจุบันส่งผลกระทบวงกว้างไปยังพันธมิตรและคู่ค้าอื่นๆ ด้วย ซึ่งนำมาสู่ข้อสังเกตในมุมมองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ดังนี้

  • ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่พยายามรักษาความเป็นกลางระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีนำเข้าล่าสุดของสหรัฐฯ อาจบีบให้บางประเทศต้องเลือกข้างอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชาที่เร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อเสนอข้อตกลงลดภาษีศุลกากรและเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หลายรายการ ซึ่งขัดแย้งกับท่าทีเดิมที่คาดว่าอาเซียนจะพยายามรักษาจุดยืนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
  • จีนอาจใช้โอกาสนี้ในการขยายอิทธิพลในอาเซียน ผ่านการเสนอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการลงทุน ขณะที่สหรัฐฯ อาจสูญเสียความน่าเชื่อถือในภูมิภาค หากนโยบายกีดกันทางการค้าของตนกระทบต่อพันธมิตรทางเศรษฐกิจ >ในขณะเดียวกัน การจำกัดการส่งออกแร่ธาตุหายาก (rare earth) ของจีน10 อาจทำให้ความขัดแย้งขยายจากการค้าระหว่างประเทศไปสู่สงครามเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ซึ่งอาเซียนอาจถูกบีบให้ต้องเลือกข้างอย่างชัดเจนมากขึ้น

    ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

    ในระยะสั้น การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการค้าและการเงินทั่วโลก โดยประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทย เวียดนาม และกัมพูชา จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด นอกจากนี้ การที่จีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ลดลง อาจส่งผลให้เกิดการไหลบ่าของสินค้าราคาถูกมายังอาเซียนมากขึ้น (dumping) ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายต่อผู้ผลิตภายในประเทศได้ ขณะเดียวกัน ประเทศในอาเซียนที่เคยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีน อาจเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ ให้เข้มงวดกับสินค้าที่มีต้นกำเนิดจากจีนมากขึ้น โดยสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (rules of origin) หากสงสัยว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนเส้นทางการส่งสินค้าจากจีน (rerouting) เท่านั้น

    ในระยะยาว หากความขัดแย้งทางการค้าทวีความรุนแรงและการเจรจาล้มเหลว อาเซียนอาจสูญเสียความน่าสนใจในฐานะฐานการผลิตสินค้าสำคัญของโลก นอกจากนี้ การเลือกเข้าข้างสหรัฐฯ อย่างชัดเจนขึ้นของบางประเทศในภูมิภาค อาจนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจจากจีน โดยเฉพาะการลดหรือถอนการลงทุน ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจของอาเซียนเปราะบางยิ่งมากขึ้น

    ผลกระทบต่อความมั่นคงและการทหาร

    การถูกบังคับให้เลือกข้างอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาค เนื่องจากในยุค Trump 2.0 สหรัฐฯ อาจมุ่งขยายอิทธิพลทางการทหารและความมั่นคงในอาเซียน ผ่านข้อแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ ต้องการ เช่น การตั้งฐานทัพหรือเพิ่มการลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ เพื่อแลกกับการลดภาษีนำเข้าหรือข้อตกลงการค้าที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม หากข้อแลกเปลี่ยนเหล่านี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้น และบั่นทอนการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนพยายามรักษามาอย่างยาวนาน

    มุมมองวิจัยกรุงศรี

    จากการวิเคราะห์เกี่ยวกับพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน พบว่าอาเซียนไม่เพียงเป็นพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจสำคัญระดับโลก แต่ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างต้องการขยายอิทธิพลในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และเทคโนโลยี โดยในภาพรวม ประเทศในอาเซียนมีท่าทีและระดับความสัมพันธ์ที่หลากหลายกับทั้งสองมหาอำนาจ บางประเทศเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน ขณะที่บางประเทศพยายามรักษาสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

    นโยบายการค้าใหม่ของสหรัฐฯ ในยุค Trump 2.0 โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้า นำมาซึ่งความท้าทายครั้งใหญ่ และเน้นย้ำถึง “ระเบียบโลกใหม่” ที่สหรัฐฯ ต้องการผลักดัน ซึ่งไม่เพียงแต่ระเบียบการค้าเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการแบ่งขั้วอำนาจโลกครั้งใหม่ที่อาเซียนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และอาจบั่นทอนแนวคิด “ภูมิภาคนิยม” (regionalization) และความเป็นเอกภาพของอาเซียน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนยังมีความสำคัญในห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของประเทศสมาชิกอาเซียน

    ในการรับมือกับความท้าทายนี้ อาเซียนจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การถ่วงดุล (hedging) โดยการกระจายความสัมพันธ์และสร้างพันธมิตรกับผู้เล่นอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ และจีน เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย โดยข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างของโอกาสที่อาเซียนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับการค้า การลงทุน การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน การส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค (regional integration) ก็เป็นกลไกสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของอาเซียน เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นกรอบการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ที่ช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระยะยาว นอกจากนี้ อาเซียนควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างเอกภาพภายในกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของอาเซียนในเวทีโลก ผ่านความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น การประสานจุดแข็งของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ภายในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนได้11

    โดยสรุป การสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่หลากหลาย การส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค และการผลักดันความเป็นเอกภาพของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยให้อาเซียนสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนสร้างความพร้อมเพื่อพลิกความท้าทายและความเสี่ยง ให้กลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต

    แหล่งอ้างอิง

    Books:

    Zeihan, P. (2022). The end of the world is just the beginning: Mapping the collapse of globalization. Harper Business.

    ปิติ แสงศรีนาม, & จักรี ไชยพินิจ. (2566). สมรภูมิพลิกอำนาจโลก: Amidst the geo-political conflicts. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

    Articles and Reports:

    Cosar, K., & Thomas, B. (2021). The geopolitics of international trade in Southeast Asia. National Bureau of Economic Research (NBER). Retrieved from https://www.nber.org/papers/w28048

    Center for Strategic and International Studies (CSIS). (2023). Assessing U.S. and Chinese influence in Southeast Asia. Retrieved from https://www.csis.org/analysis/assessing-us-and-chinese-influence-southeast-asia

    Capital Economics. (2025, January 7). Trump and the implications for global fracturing. Global Economic Focus.

    ISC Special Talk. (2024, August). Global geopolitical developments: Implications for ASEAN. Seminar Report. Retrieved from https://www.csis.org/analysis/assessing-us-and-chinese-influence-southeast-asia

    ISEAS – Yusof Ishak Institute. (2024, October). The curious case of sluggish US economic influence perceptions in ASEAN (Issue: 2024 No. 81). Retrieved from https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2024-81-the-curious-case-of-sluggish-us-economic-influence-perceptions-in-asean-by-kristina-fong/

    Seah, S., et al. (2024). The state of Southeast Asia: 2024 survey report. Singapore: ISEAS – Yusof Ishak Institute. Retrieved from https://www.iseas.edu.sg/centres/asean-studies-centre/state-of-southeast-asia-survey/the-state-of-southeast-asia-2024-survey-report/

    1/ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “เสถียรภาพบนเส้นด้ายของ สปป. ลาว และกัมพูชา: ความแตกต่าง แนวโน้ม และนัยต่ออาเซียน”
    2/ ฟิลิปปินส์ได้เคยยื่นฟ้องจีนต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Permanent Court of Arbitration หรือ PCA) และได้รับคำตัดสินในปี 2016 ว่าจีนไม่มีสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จีนปฏิเสธคำตัดสินและยังคงเดินหน้าก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารบนเกาะเทียม นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว เวียดนามยังประสบความขัดแย้งกับจีนเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำพิพาทเช่นกัน
    3/ ได้แก่ ฐานทัพเรือ Changi ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ และฐานทัพสหรัฐฯ ใน Subic Bay และ Clark Air Base ในฟิลิปปินส์
    4/ ที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการลาดตระเวนทางทะเล Quadrilateral Security Dialogue (Quad) เป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษากฎระเบียบระหว่างประเทศ, ความมั่นคงทางทะเล, และการรับมือกับความท้าทายในภูมิภาค และ AUKUS เป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงสามฝ่ายระหว่าง สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรมีเป้าหมายชัดเจนในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารเพื่อรับมือกับความท้าทายในอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะการขยายอำนาจทางทหารของจีน AUKUS มีลักษณะเป็นพันธมิตรทางทหารที่ชัดเจนกว่า Quad
    5/ เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของ Foxconn และ Pegatron
    6/ การดำเนินนโยบายทางการทูตให้มีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนจุดยืนให้เข้ากับสถานการณ์ระหว่างประเทศ หรือสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดันภายนอกได้
    7/ การฝึกซ้อม Cobra Gold เป็นการฝึกทางทหารประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดโดยไทยและสหรัฐฯ ร่วมกับประเทศพันธมิตร เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง ฝึกปฏิบัติการร่วม และรับมือภัยพิบัติ โดยการฝึกนี้พเริ่มตั้งแต่ปี 2525
    8/ หลักเกณฑ์ที่ Capital Economics ใช้ประเมินท่าทีของแต่ละประเทศ มีดังนี้ 1) ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การค้ากับสหรัฐฯ เทียบจีน, การลงทุนจากทั้งสองฝ่าย และการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน 2) ด้านการเมือง ได้แก่ ความเห็นสาธารณะต่อสหรัฐฯ/จีน, การลงคะแนนใน UN, ความสัมพันธ์กับไต้หวัน และการเข้าร่วมโครงการเช่น BRI และ 3) ด้านความมั่นคง ได้แก่ พันธมิตรทางการทหาร, ข้อพิพาทดินแดน และปัจจัยเฉพาะ เช่น การสำรวจในภูมิภาค
    9/ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศระงับการขึ้นภาษีตอบโต้กับหลายประเทศเป็นเวลา 90 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2568 โดยยกเว้นประเทศจีน ซึ่งยังคงมีการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ระหว่างกัน
    10/ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และอาวุธ ปัจจุบันจีนครองส่วนแบ่งการผลิตถึง 70% ของโลก (ตาม US Geological Survey) ทำให้จีนมีอำนาจต่อรองในด้านนี้ และจีนได้ใช้นโยบายการควบคุมการส่งออกแร่สำคัญ เช่น แกลเลียม เจอร์เมเนียม กราไฟต์ และแอนติโมนี ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามการค้า
    11/ ตัวอย่างเช่น การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านการผลิตของเวียดนามและมาเลเซียร่วมกับศักยภาพด้านเทคโนโลยีของสิงคโปร์ และระบบโลจิสติกส์ของไทย