ThaiPublica > คอลัมน์ > ถึงเวลาสถาบันอุดมศึกษาไทย สลัดหลุด ‘ถ้ำเพลโต’ ลุกชี้นำการเปลี่ยนแปลง

ถึงเวลาสถาบันอุดมศึกษาไทย สลัดหลุด ‘ถ้ำเพลโต’ ลุกชี้นำการเปลี่ยนแปลง

7 เมษายน 2025


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ในภาวะ “โลกผันผวน ไทยอ่อนแอ” ดังเช่นในปัจจุบัน ถ้าจะพลิกฟื้นประเทศไทย การปรับโครงสร้างทั้งระบบ (Structural Transformation) ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือ ใครจะเป็นเฟืองตัวสำคัญในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างประเทศไทยทั้งระบบ หากไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา

ที่สำคัญ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ตั้งขึ้นมา โดยมีเจตจำนงเพื่อเป็นกระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งโอกาส และกระทรวงแห่งอนาคต เพราะเป็นกระทรวงที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าในหลายหลากมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครอง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

อย่างไรก็ดี เกิดอะไรขึ้นกับระบบการอุดมศึกษาไทย จึงทำให้ไม่สามารถชี้นำและขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวตามที่สังคมคาดหวังไว้

สถาบันอุดมศึกษาในถ้ำของเพลโต

ถ้ำของเพลโต (The Allegory of Plato’s Cave) เป็นอุปมาเรื่องหนึ่งของเพลโต เพื่ออธิบายธรรมชาติของความรู้ การรับรู้ และความเป็นจริง

เพลโตชวนให้พวกเราจินตนาการถึงกลุ่มนักโทษที่ถูกล่ามโซ่ให้นั่งอยู่ในถ้ำตั้งแต่เกิด พวกเขาหันหน้าเข้าหาผนังถ้ำ ไม่สามารถขยับตัวไปไหนมาไหนได้ ด้านหลังพวกเขามีแสงจากกองไฟ และมีวัตถุหรือบุคคลเดินผ่านหน้ากองไฟ ทำให้เกิดเงาสะท้อนบนผนังถ้ำ ผู้คนที่ถูกล่ามโซ่เหล่านั้นไม่เคยเห็นสิ่งอื่นใดเลย นอกจากเงาที่ปรากฏบนผนัง พวกเขาจึงเชื่อว่า เงาเหล่านั้นคือ “ความจริง” ทั้งหมดของโลก

จนมีอยู่วันหนึ่ง มีนักโทษคนหนึ่งถูกปล่อยเป็นอิสระออกจากถ้ำ เมื่อออกไปเขาได้เจอแสงแดด เผชิญกับโลกภายนอก และค้นพบความจริงแท้ เขาได้เริ่มตระหนักว่า ที่ผ่านมา เขาและนักโทษคนอื่นถูกหลอกโดยเงาในถ้ำ เมื่อเขากลับมาบอกเพื่อนๆที่ยังอยู่ในถ้ำ คนเหล่านั้นกลับไม่เชื่อเขา กลับมองว่าเขาเสียสติ ประณามและต่อต้านเขา

หากถอดรหัสเชิงปรัชญา ถ้ำคือสัญลักษณ์ของโลกที่เต็มไปด้วยมายาและความไม่รู้ เงาบนผนังถ้ำ คือภาพลวงตาหรือความเชื่อผิด ๆ เป็นชุดข้อมูลที่ถูกบิดเบือนโดยสังคมหรือประสบการณ์จำกัดของมนุษย์ แสงแดดและโลกภายนอก คือ สัจจธรรม ความจริงแท้ ปัญญาที่ลึกซึ้ง ความรู้ที่เปลี่ยนโลกทัศน์และเปิดมุมมองที่กว้างขึ้น ส่วนนักโทษที่หลุดออกจากถ้ำ ก็คือ นักปราชญ์หรือผู้ที่แสวงหาความรู้ที่แท้จริง การต่อต้านจากคนในถ้ำ คือการที่ผู้คนในสังคมมักปฏิเสธแนวคิดใหม่ๆ ที่ท้าทายสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคย

ในบริบทของการอุดมศึกษา คณาจารย์ นักวิจัยและบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ถูกคาดหวังจากสังคมให้เป็นนักปราชญ์ ผู้ทรงภูมิปัญญา เป็นเมธีผู้แสวงหาความจริง ความงาม และความดี เป็นผู้ที่ขยายปริมณฑลของปัญญาและองค์ความรู้ เป็นแกนหลักสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านของมนุษยชาติ

น่าเสียดายที่ยังมีคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรจำนวนไม่น้อย ที่นอกจากจะไม่ตระหนักถึงนัยยะความสำคัญในภารกิจของตน ยังติดอยู่ในกระบวนทัศน์ หลักคิด และวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนปฏิเสธแนวคิดใหม่ๆ ที่ท้าทายสิ่งที่พวกเขาเชื่อและคุ้นเคย พวกเขาเหล่านั้นจึงไม่ต่างจากนักโทษที่ยังคงพอใจกับการถูกจองจำอยู่ในถ้ำของเพลโตไม่เปลี่ยนแปลง

สามกับดัก การอุดมศึกษาไทย

ภายใต้พลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลง สถาบันอุดมศึกษาไทยกำลังเผชิญกับสภาวะ Work Hard, Not Be Smart หลายสถาบันมีการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ไว้สวยหรู แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีผลกระทบเชิงบวกได้

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษาไทย? อาจจะถึงเวลาที่ไม่ใช่แค่ทบทวนวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และผลการดำเนินงาน แต่ต้องก้าวข้ามความคิดและวิธีการทำงานแบบเดิมๆ โดยย้อนกลับไปทบทวนสมมุติฐาน โลกทัศน์ และความเชื่อที่สถาบันอุดมศึกษามีอยู่ ว่ายังสอดคล้องกับพลวัตของโลกปัจจุบันและตอบโจทย์ฉากทัศน์ของโลกอนาคตหรือไม่

มี 3 กับดักที่สถาบันอุดมศึกษาไทยยังติดอยู่ในถ้ำของเพลโต ทำให้ไม่มีพลังเพียงพอในการชี้นำการเปลี่ยนแปลง

1) กับดักเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Traps)
2) กับดักในขีดความสามารถ (Capability Traps)
3) กับดักในตัวสมมติฐาน (Assumption Traps)

กับดักเชิงยุทธศาสตร์: ความไม่สอดรับกันระหว่างสถานะปัจจุบันของสถาบันอุดมศึกษา กับ ความคาดหวังและความต้องการของเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สาเหตุหลักมาจาก

  • การพัฒนาทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
  • การปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษาไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
  • ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและสถาบันอุดมศึกษายังอยู่ในระดับต่ำและไม่ตอบโจทย์
  • รูปแบบการกำกับดูแลและการจัดหาเงินทุนที่ไม่โปร่งใส และล้าสมัย
  • ปัญหาความเสมอภาคและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน
  • การเอนเอียงไปกับความคิดและระบบการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาประเทศ และชุมชนท้องถิ่น
  • การจะหลุดออกจากกับดักเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้ ต้องเริ่มจากความกล้าของสถาบันที่จะเปิดใจ ยอมรับความจริง นำมาสู่การยอมปรับเปลี่ยน อาทิ

  • เปลี่ยนไปสู่การศึกษาตามความสามารถ โดยเน้นที่ทักษะในโลกแห่งความเป็นจริง การแก้ปัญหา และการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ
  • บูรณาการ AI และดิจิทัล ด้วยการฝัง AI ระบบอัตโนมัติ และการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลลงในทุกสาขาการศึกษา
  • สร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรม โดยสร้างโปรแกรมที่ออกแบบร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าตอบโจทย์ตลาดงาน
  • ออกแบบการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว มุ่งสู่รูปแบบการจัดหาเงินทุนแบบกระจายตัว
  • มีนโยบายการศึกษาแบบครอบคลุม ขยายการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลและทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ด้อยโอกาส
  • กับดักในขีดความสามารถ: ความไม่สอดรับกันระหว่างทักษะและความรู้ที่มหาวิทยาลัยมอบให้ กับ สมรรถนะและความสามารถที่อุตสาหกรรม สังคม และเทคโนโลยีใหม่ต้องการ

  • ทักษะที่พัฒนาขึ้นมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
  • วิธีการเรียนการสอนที่ล้าสมัย
  • มีช่องว่างการวิจัยและนวัตกรรม ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง
  • นโยบาย ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง และกฎระเบียบที่เข้มงวด
  • ผู้บริหารและคณาจารย์ขาดการพัฒนาทักษะใหม่ๆที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง
  • ตัวอย่างแนวทางการหลุดออกจากกับดักในขีดความสามารถ ประกอบไปด้วย

  • การบูรณาการ AI และดิจิทัล ในระบบการเรียนรู้รายบุคคล และการติดตามทักษะแบบเรียลไทม์
  • การนำเสนอโปรแกรมสหกิจศึกษา การฝึกงาน และการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติม
  • การรับรองคุณวุฒิระดับย่อม (Micro-Credentials) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการเรียนรู้ตามความสามารถที่สามารถสะสมได้แทนที่จะเป็นโปรแกรมระดับปริญญาที่เข้มงวด
  • การปรับเปลี่ยนตัวชี้วัด จากอัตราการสำเร็จการศึกษาไปสู่การจัดหางาน ผลผลิตนวัตกรรม และผลกระทบในโลกแห่งความเป็นจริง
  • กับดักในตัวสมมติฐาน: ความเชื่อ โลกทัศน์ หรือสมมุติฐานที่ล้าสมัย ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง อาทิ

  • ปริญญารับประกันความสำเร็จ
  • การจัดอันดับสะท้อนคุณภาพของสถาบัน
  • โมเดลการเรียนรู้แบบเดียวใช้ได้กับทุกคน (One-Size-Fits-All)
  • สถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งเตรียมความพร้อมหลักให้นักศึกษาสู่อนาคต
  • อาจารย์เป็นผู้ทรงปัญญา เป็นกูรูผู้รู้ดีที่สุด
  • หลักสูตรในสถาบันการศึกษากับความรู้และทักษะที่อุตสาหกรรมต้องการมีความสอดคล้องกันอยู่แล้ว
  • การเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ
  • ตัวอย่างการสลัดหลุดออกจากกับดักในตัวสมมติฐาน อาทิ

  • การเปลี่ยนจากรูปแบบการเรียนรู้ตามระดับปริญญาเป็นการเรียนรู้ตามทักษะอาชีพ
  • การผสานรวม AI เครื่องมือดิจิทัล และความร่วมมือของอุตสาหกรรมเข้ากับหลักสูตรการศึกษา
  • การนำกรอบการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ยืดหยุ่นมาใช้ นอกเหนือจากหลักสูตรระดับปริญญาแบบดั้งเดิม
  • การวัดความสำเร็จสถาบันอุดมศึกษา โดยพิจารณาจากการจ้างงาน นวัตกรรม และผลกระทบในโลกแห่งความเป็นจริง มากกว่าการจัดอันดับเพียงอย่างเดียว
  • หลุดออกจากถ้ำของเพลโต ชี้นำการเปลี่ยนแปลง

    ศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาในการชี้นำการเปลี่ยนแปลง จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสลัดหลุดจากทั้ง 3 กับดัก ควบคู่ไปกับการวาดฉากทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตของสถาบันฯ ผ่าน 3 ชุดความคิดหลัก ดังต่อไปนี้

    1. Significance x Profundity : นัยยะความสำคัญในบทบาทภารกิจ ที่ต้องมาพร้อมกับ ความคมชัด ความลึกซึ้ง และการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นทั้งเชิงลึกและในวงกว้าง สามารถแปลง Real World Challenge เกิดเป็น Real World Impact

    2. Relevance x Rigor : ภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ และตอบโจทย์ประชาคมโลก/ ประเทศ/ สังคม/ ชุมชนหรือไม่ แต่ต้องมาพร้อมกับ การสร้างความน่าเชื่อถือ ธรรมาภิบาล มาตรฐาน คุณภาพ และความถูกต้องแม่นยำ

    3. Competition x Collaboration: สถาบันอุดมศึกษาต้องมีอัตลักษณ์ และตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ผ่านการสร้าง “จุดเด่น” “จุดร่วม” และ “จุดเริ่ม” จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาขีดความสามารถของตนในระดับสากล ไปพร้อมๆกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับโลก

    เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การผลักดันทั้ง 3 ชุดความคิดหลักนี้ จะดำเนินการผ่าน “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงปฎิบัตินิยม” (Strategic Pragmatism) กล่าวคือ สถาบันอุดมศึกษาจะต้องมีวิสัยทัศน์ ควบคู่ไปกับความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวในเวลาเดียวกัน เป็นความสามารถในการผสมผสานอุดมคติ (Idealism) และโลกความเป็นจริง (Realism) ได้อย่างลงตัว

    เมื่อการอุดมศึกษาปรับ ประเทศไทยเปลี่ยน