ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียประธานอาเซียน ผู้นำการเจรจาภาษีศุลกากรสหรัฐฯ

ASEAN Roundup มาเลเซียประธานอาเซียน ผู้นำการเจรจาภาษีศุลกากรสหรัฐฯ

6 เมษายน 2025


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 30 มีนาคม-5 เมษายน 2568

  • มาเลเซียประธานอาเซียน ผู้นำการเจรจาภาษีศุลกากรสหรัฐฯ
  • ประธานอาเซียนชวนสมาชิกร่วมมือหาแนวทาง
  • ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนคุยทางออก
  • นายกฯมาเลเซียติดต่อบุคคลใกล้ชิดทรัมป์
  • เลขาธิการพรรคเวียดนามยกหูคุยทรัมป์พร้อมลดภาษีเหลือ0%
  • นายกฯเวียดนามตั้งคณะทำงานปรับตัวเชิงรุกรับนโยบายการค้าสหรัฐฯ
  • เวียดนามขอสหรัฐเลื่อนบังคับใช้ 3 เดือน
  • หอการค้าเวียดนามและอเมริกันส่งจดหมายถึงรมต.พาณิชย์สหรัฐ
  • กัมพูชาเดินหน้าเจรจา-เสนอลดภาษีสินค้าสหรัฐเหลือ 5%
  • อินโดนีเซียส่งตัวแทนเจรจาสหรัฐฯ
  • สิงคโปร์พร้อมร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน
  • นายกฯสิงคโปร์เตือนรับมือผลกระทบภาษีสหรัฐ
  • ไทยพร้อมเจรจา-นำเข้าสินค้าสหรัฐมากขึ้น

    มาเลเซียประธานอาเซียน ผู้นำการเจรจาภาษีศุลกากรสหรัฐฯ

    นาย อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่มาภาพ:เพจ FB Anwar Ibrahim

    มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน(ASEAN) จะเป็นผู้นำการเจรจาอาเซียนเกี่ยวกับผลกระทบของภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และการตอบสนองในภูมิภาค โดยจะหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นภาษีศุลกากรแบบ reciprocoal tariffs ที่ประกาศโดยสหรัฐฯ เพื่อให้แน่ใจว่าหลักการแห่งความเที่ยงธรรมจะคงอยู่ในการค้าระหว่างประเทศ

    เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ โดยจะขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำจากทุกประเทศ 10% (Universal Tariffs) กับสินค้าทุกประเภท ซึ่งมีผล 5 เมษายน พร้อมประกาศขึ้นภาษีเพิ่มเติม (Reciprocal Tariffs) กับ 60 ประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูง ในอัตราภาษีที่แตกต่างกัน โดยเก็บเพิ่มอัตราสูงสุดที่ 50% มีผลวันที่ 9 เมษายน

    ประเทศสมาชิกอาเซียนในกลุ่ม CLMV ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาษีนำเข้า โดยกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐานและภาษีนำเข้าตอบโต้รวม 49% รองลงมาคือลาว (48%) เวียดนาม (46%) และเมียนมา (44%)

    ส่วนประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 36% อินโดนีเซีย 32% บรูไนและมาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอัตราภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10%

    จากข้อมูลสรุป(fact sheet)จากทำเนียบขาวลงวันที่ 2 เมษายน 2568 อัตราภาษีนำเข้า 10%สำหรับทุกประเทศจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน 2568 ในขณะที่อัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นแบบ reciprocol tariffs กับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าสูงสุดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568

    ประเทศอื่นๆ ทั้งหมดจะยังคงอยู่ภายใต้อัตราภาษีนำเข้าพื้นฐานเดิมที่ 10%

  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กว่า 180 ประเทศ ยกระดับสงครามการค้าครั้งใหญ่
  • ประธานอาเซียนชวนสมาชิกร่วมมือหาแนวทาง

    นาย อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า จะเชิญชวน ผู้นำอาเซียนให้ร่วมมือกันในการตอบสนองมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ก่อนเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน

    ความริเริ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการตอบสนองของมาเลเซียและเรียกร้องให้หลักการของความเที่ยงธรรมถูกนำไปใช้ในการค้าระหว่างกับต่างประเทศ รวมถึงอาเซียนและสหรัฐอเมริกา

    “เราได้รับผลกระทบจริง ๆ ถึงแม้ว่าอัตราจะสูง แต่ก็ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศของเรา ดังนั้น เราจึงตัดสินใจที่จะหารือกับคู่ค้าของเรา” เขากล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์(4 เม.ย.)

    นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า เขาได้ติดต่อไปยังผู้นำประเทศอื่นๆ รวมถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต ของอินโดนีเซีย

    นายอันวาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย จะหารือกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ และนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ เกี่ยวกับประเด็นการใช้ภาษีแบบเก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocol tariffs) จากสหรัฐฯ

    ในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันศุกร์(4 เมษายน) นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เขาได้หารือกับผู้นำประเทศอาเซียนหลายประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และสิงคโปร์ เมื่อวันศุกร์ ซึ่งเป็นการหารือผ่านทางโทรศัพท์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสานการตอบสนองร่วมกันต่อประเด็นภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ

    “ในฐานะประธานอาเซียน มาเลเซียยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิก และยึดมั่นในหลักการของความเที่ยงธรรมและความเสมอภาคในการเจรจาการค้าทั้งหมด รวมถึงในกรอบการเจรจาอาเซียน-สหรัฐฯ” อันวาร์ระบุในโพสต์

    อันวาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า จะยังคงหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป และมองหาแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับประเทศสมาชิกทุกประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/news/nation/2025/04/04/anwar-discusses-mutual-response-to-us-tariffs-with-asean-leaders

    สำหรับการดำเนินการของมาเลเซียเอง ในวันที่ 4 เมษายน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย และคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีร่วมด้วย และกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศในการแก้ไขปัญหานี้

    นายกรัฐมนตรีอันวาร์ กล่าวว่า รัฐบาลยังคงประเมินผลกระทบของมาตรการภาษีล่าสุดของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (Miti) จะเป็นผู้นำกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบของภาษีศุลกากร ก่อนที่จะมีการตอบสนองและจะดำเนินการที่จำเป็นตามมา

    อันวาร์กล่าวอีกว่า นายซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) มีกำหนดประชุมกับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกในวันพฤหัสบดีหน้าเพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการด้านภาษีศุลกากร

    ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนคุยทางออก

    เต็งกู ดาโต๊ะ ซาฟรุล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรม มาเลเซีย ที่มาภาพ : https://www.bernama.com/en/news.php?id=2018155
    ในฐานะประธานอาเซียนของมาเลเซียในปี 2025 ภายใต้เสาหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นายซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม จะเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน นัดพิเศษ ในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีศุลกากรแบบที่เรียกเก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocol tariffs) ใหม่ของสหรัฐฯ

    “การประชุมครั้งนี้คาดว่าจะหารือถึงผลกระทบในวงกว้างของมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อกระแสการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค และการตอบสนองที่ประสานงานกันของอาเซียนในการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและความมุ่งมั่นในระยะยาวต่อระบบการค้าที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และมีกฎเกณฑ์” กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) กล่าวในแถลงการณ์ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวานนี้(4 เมษายน)

    จากนั้น ผู้นำอาเซียนจะประชุมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการของประเทศสมาชิกอาเซียน และเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการค้าในภูมิภาค เครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน และการลงทุนข้ามพรมแดน กระทรวงฯระบุและว่า เพื่อให้อาเซียนจะยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนระดับโลกที่มั่นคง มีการแข่งขัน และน่าดึงดูด

    สำหรับการตอบสนองของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อมาตรการภาษีของสหรัฐ แต่ละประเทศ มีท่าทีที่ไม่แตกต่างกันคือ พร้อมที่จะเจรจา

    นายกฯมาเลเซียติดต่อบุคคลใกล้ชิดทรัมป์

    นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า เขาได้เข้าร่วมการเจรจาระดับสูง กับสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ กำหนดมาตรการภาษีศุลกากรต่อมาเลเซียและอีกกว่า 180 ประเทศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

    แม้นายอันวาร์จะกล่าวว่าผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากร reciprocal tariff ในอัตรา 24% ต่อมาเลเซียนั้นยังไม่ชัดเจน แต่มั่นใจว่าประเทศจะรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ หากอาเซียนร่วมมือกันโดยได้รับความช่วยเหลือจากชาติชั้นนำอื่นๆ ในเอเชีย

    “ผมได้ติดต่อกับบุคคลหลายคนที่ใกล้ชิดกับ (ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) ของสหรัฐฯ เป็นการส่วนตัว” เขากล่าวในการเฉลิมฉลองวันฮารีรายา อิดิลฟิตรี ที่เมืองมะละกาเมื่อวันที่ 5 เมษายน

    “และเมื่อวานนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของเรา โมฮัมหมัด ฮะซัน ได้รับโทรศัพท์จากมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้ดำเนินการเจรจาต่อไป

    “ทุกประเทศในโลกต้องการยืนหยัดอย่างมั่นคงในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แต่ยังคงเปิดพื้นที่สำหรับการเจรจา”

    นายอันวาร์กล่าวว่าเมื่อที่ 4 เมษายน เขาใช้เวลาหารือเรื่องภาษีศุลกากรกับผู้นำอาเซียนเพื่อให้บรรลุฉันทามติ และเสริมว่า เขาจะติดต่อผู้นำของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะหาทางตอบสนองอย่างสอดประสานกัน

    นายอันวาร์กล่าวว่า จากการหารือกับผู้นำอาเซียน พวกเขาเห็นพ้องกันว่ากลุ่มภูมิภาคควรดำเนินการอย่างระมัดระวัง

    “อาเซียนต้องเข้มแข็ง แต่เราต้องไม่ทำอะไรโดยหุนหันพลันแล่น เพราะยังไม่มีความแน่นอนว่าภาษีศุลกากรเหล่านี้จะไปอย่างไร จะไปไกลแค่ไหน อาจมีมาตรการผ่อนปรนหรือยกเว้นอะไรบ้าง และการเจรจาเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ จะมีความป็นไปได้ไหมที่จะลดแรงกดดันลงได้” นายอันวาร์กล่าว

    “แต่มาเลเซีย หรือไทย หรืออินโดนีเซีย เพียงประเทศเดียวจะไม่แข็งแกร่งพอ เว้นแต่เราจะใช้กำลังทั้งหมดของอาเซียนในฐานะกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อเจรจาด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน ผมมั่นใจว่าด้วยความประสงค์ของพระเจ้า เราจะเอาชนะสิ่งนี้ได้ร่วมกันด้วยปัญญาและความอดทน”

    เลขาธิการพรรคเวียดนามยกหูคุยทรัมป์พร้อมลดภาษีเหลือ0%

    ลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นายโต เลิ่ม ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-party-chief-holds-phone-talks-with-us-president-post312898.vnp
    สำหรับการดำเนินการของเวียดนามนั้นใน เริ่มต้นด้วยเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นายโต เลิ่ม ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อคืนวันที่ 4 เมษายน (ตามเวลาฮานอย) เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐอเมริกา โดยมีนายกรัฐมนตรีเวียดนามฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ประธานสำนักงานคณะกรรมการกลางพรรค นายเล หวาย จุง และรองนายกรัฐมนตรี โฮ ดึ๊ก ฟุก ได้เข้าร่วมการพูดคุยทางโทรศัพท์ด้วย

    นายโต เลิ่ม กล่าวชื่นชมการเจรจา ที่ผู้นำทั้งสองยืนยันว่าจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และสนับสนุนสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในภูมิภาคและโลกด้วย

    เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกล่าวชื่นชมการเจรจาครั้งนี้ โดยผู้นำทั้งสองยืนยันว่าจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และสนับสนุนสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในภูมิภาคและโลกด้วย

    ผู้นำทั้งสองเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ ได้พัฒนาไปอย่างมีประสิทธิผลในหลายๆ ด้าน ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี ทั้งคู่หารือถึงมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการค้าต่อไป

    เลขาธิการพรรคฯ ยืนยันว่าเวียดนามพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลงเหลือ 0% และเสนอให้สหรัฐฯ ใช้ภาษีในอัตราที่ใกล้เคียงกันกับสินค้าที่นำเข้าจากเวียดนาม และกล่าวว่าเวียดนามจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นตามความต้องการของเวียดนาม ตลอดจนสนับสนุนและสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้บริษัทสหรัฐฯ ขยายการลงทุนในประเทศ

    ผู้นำทั้งสองสัญญาว่าจะหารือกันต่อไปเพื่อลงนามข้อตกลงทวิภาคีในเร็วๆ นี้เพื่อสรุปคำมั่นข้างต้นให้ชัดเจน

    ในโอกาสนี้ เลขาธิการโต เลิ่มได้เชิญประธานาธิบดีทรัมป์และภริยาให้เดินทางเยือนเวียดนามอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอบรับคำเชิญด้วยความยินดีและแสดงความปรารถนาที่จะพบกับผู้นำเวียดนามอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ขอให้เลขาธิการแลมส่งคำทักทายไปยังผู้นำและประชาชนชาวเวียดนาม

    นายกฯเวียดนามตั้งคณะทำงานปรับตัวเชิงรุกรับนโยบายการค้าสหรัฐฯ

    รองนายกรัฐมนตรี บุ่ย แทงห์ เซิน เวียดนาม ที่มาภาพ:https://en.baochinhphu.vn/task-force-established-to-proactively-adapt-to-us-economic-trade-policies-111250405083848732.htm
    นายกรัฐมนตรีเวียดนามฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม ได้จัดตั้ง คณะทำงานเพื่อปรับตัวเชิงรุกต่อนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี บุ่ย แทงห์ เซิน เป็นประธานคณะทำงานและะมี นายเหวียน ฮ่อง เดียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเป็นรองประธาน

    การจัดตั้งคณะทำงานมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา กำหนดอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้กับสินค้าที่นำเข้าจากหลายประเทศ รวมถึงอัตราภาษีศุลกากร 46% สำหรับสินค้าที่ส่งออกจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เรียกประชุมกับกระทรวงต่างๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวทันที

    คณะทำงานประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม ผู้นำจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงก่อสร้าง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกีฬา และกระทรวงการท่องเที่ยว และสำนักงานรัฐบาล

    คณะทำงานมีหน้าที่ช่วยเหลือนายกรัฐมนตรีในการติดตามสถานการณ์ระดับโลกและระดับภูมิภาคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และได้รับมอบหมายให้ในการให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ระดับโลกและระดับภูมิภาค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ ในอนาคตได้อย่างยืดหยุ่น ทันท่วงที เหมาะสม และมีประสิทธิผล

    คณะทำงานจะต้องประสานงานการดำเนินการระหว่างกระทรวง หน่วยงาน และหน่วยงานในพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย

    เวียดนามขอสหรัฐเลื่อนบังคับใช้ 3 เดือน

    รองนายกรัฐมนตรี โฮ ดึ๊ก ฟุก เวียดนาม ที่มาภาพ:https://vietnamnews.vn/politics-laws/1695282/viet-nam-seeks-us-s-delayed-imposition-of-new-tariffs-for-negotiations-deputy-pm.html
    นอกจากเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นายโต เลิ่ม ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีเวียดนามฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับตัวเชิงรุกต่อนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯแล้ว รองนายกรัฐมนตรี โฮ ดึ๊ก ฟุก ของเวียดนาม ได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเวียดนามได้เสนอให้สหรัฐฯ ชะลอการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเวียดนาม 46% ออกไปเป็นเวลา 1-3 เดือน เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาที่รับรองการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม

    นายเหวียน ฮ่อง เดียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ได้ร้องขออย่างเป็นทางการให้สหรัฐฯ ชะลอการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ 46%สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากเวียดนาม โดยอ้างถึงความจำเป็นในการใช้เวลาเพื่อหารือและหาแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

    กระทรวงฯได้จัดให้มีการโทรศัพท์หารือระหว่างรัฐมนตรีเดียนและนางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีการหารือในระดับเทคนิคระหว่างเจ้าหน้าที่ของเวียดนามและตัวแทนจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ในเร็วๆ นี้

    รองนายกรัฐมนตรีฟุก ได้แถลง ในการประชุมหารือที่กรุงฮานอยร่วมกับบริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯ สมาคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    รองนายกรัฐมนตรีแม้แปลกใจต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน แต่เน้นย้ำถึงความเปิดกว้างและความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างสม่ำเสมอในการกำหนดอัตราภาษีที่เป็นธรรม ควบคุมการขนส่งสินค้า และส่งเสริมการค้าที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

    รองนายกรัฐมนตรีฟุกได้ชี้ไปที่กฎหมายฉบับล่าสุดที่ออกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จำนวน 23 รายการ ซึ่งปัจจุบันหลายรายการมีอัตราภาษีที่ 0% ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความตั้งใจดีของเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามยังได้เร่งรัดสัญญาสำหรับผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ เช่น เครื่องบินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนและการค้าของสหรัฐฯ

    เมื่อมองไปข้างหน้า รองนายกรัฐมนตรีฟุกยืนยันเจตนารมณ์ของเวียดนามที่จะเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์ของสหรัฐฯ โดยระบุว่าสินค้าของทั้งสองประเทศจะเสริมซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะแข่งขันกัน รวมทั้งย้ำจุดยืนที่มั่นคงของเวียดนามในการต่อต้านการฉ้อโกงการค้า โดยรับรองว่าจะไม่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการขนส่ง และให้คำมั่นว่าจะยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของเวียดนาม การบริโภคของสหรัฐฯ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

    รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่าเวียดนามจะดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในสหรัฐฯ เช่นกัน

    นอกจากนี้สนับสนุนให้ผู้ส่งออกของเวียดนามคงราคาไว้ในขณะที่รอผลการเจรจา และใช้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ และกล่าวว่ารัฐบาลเวียดนามจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจต่างๆ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้

    รองนายกรัฐมนตรียังเรียกร้องให้หอการค้าอเมริกัน (American Chamber of Commerce:AmCham) ในเวียดนามและสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน( US-ASEAN Business Council) ส่งต่อข้อความแห่งความตั้งใจดีจากรัฐบาลเวียดนามและชุมชนธุรกิจไปยังรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อส่งเสริมการเจรจาที่มีประสิทธิผล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ ได้ดียิ่งขึ้น

    ภาคธุรกิจในเวียดนามหวังว่าการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของรองนายกรัฐมนตรีฟุกจะนำไปสู่การเจรจาระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ เพื่อบรรลุข้อตกลงที่สมดุลเพื่อบรรเทาความเสียหายต่อธุรกิจในบริบทที่ท้าทายในปัจจุบัน ตามกำหนดการ ในระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศระหว่างวันที่ 6-14 เมษายน องนายกรัฐมนตรีฟุกจะเข้าร่วมการเจรจาระดับสูงด้านนโยบายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อธุรกิจในสหรัฐฯ ก่อนจะเดินทางเยือนคิวบาอย่างเป็นทางการ

    รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Tuoi Tre ระบุว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังเตรียมการสำหรับการเยือนของรองนายกรัฐมนตรีฟุก

    สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาหลายปีแล้ว ในปี 2567 มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐอเมริกาอยู่ที่เกือบ 120,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 23.2%จากปีก่อน และคิดเป็น 29.5%ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม

    ในสองเดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 19,560 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    หอการค้าเวียดนามและอเมริกันส่งจดหมายถึงรมต.พาณิชย์สหรัฐ

    ธุรกิจของสหรัฐและเวียดนามได้เรียกร้องให้รัฐบาลทรัมป์เลื่อนการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเวียดนามที่ 46% ออกไป โดยระบุว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาและความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี

    หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม(Vietnam Chamber of Commerce and Industry:VCCI) และหอการค้าอเมริกัน(American Chamber of Commerce:AmCham) ในกรุงฮานอยแสดงความกังวลต่อนายฮาวเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในจดหมายลงวันที่วันเสาร์ (5 เมษายน) โดยระบุว่าอัตราภาษีนำเข้าที่จะมีผลบังคับใช้ในวันพุธนั้น “สูงอย่างน่าตกใจ”

    AmCham และ VCCI ระบุใน แถลงการณ์ว่า “การลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่ส่งมายังเวียดนามและสำหรับสินค้าที่ส่งถึงผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเป็นสิ่งที่จะช่วยเหลือบริษัทของสหรัฐ เศรษฐกิจ และผู้บริโภค แต่ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจะไม่ช่วยอะไร”

    AmCham และ VCCI กล่าวว่า “ข้อตกลงที่รวดเร็วและเป็นธรรมจะเพิ่มความมั่นใจให้กับธุรกิจ และจะช่วยแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ”

    กัมพูชาเดินหน้าเจรจา-เสนอลดภาษีสินค้าสหรัฐเหลือ 5%

    นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต กัมพูชา ที่มาภาพ:เพจ FB Hun Manet
    นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 4 เมษายนว่า จะทำอย่างเต็มที่เพื่อจะเจรจากับสหรัฐ กรณีภาษีสินค้ากัมพูชาที่ส่งออกไปสหรัฐฯถูกเก็บภาษี 49%

    นายฮุน มาเนตกล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้ากัมพูชา อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อกัมพูชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่งข้อความกัน พร้อมขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ได้

    นายกฯ กล่าวว่า การประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ มาจากการที่สหรัฐขาดดุลการค้าจำนวนมากจากการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลทรัมป์จึงได้ประกาศกำหนดอัตราภาษีศุลกากรแลกเปลี่ยนกับประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้า

    กัมพูชา ถูกเก็บภาษีนำเข้า 49% เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับกัมพูชา 97% และการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเหล่านี้เป็นเพียง 50% ของอัตราที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับกัมพูชา

    ต่อมาในเย็นวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้โพสต์ในสื่อโซเชียลจดหมายที่ส่งถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อแจ้งว่า กัมพูชายินดีที่จะลดภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ใน 19 รายการ จากอัตราภาษีสูงสุด 35% เป็นอัตราภาษีที่ใช้บังคับ 5% เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี

    ในจดหมายถึงประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาระบุว่า ตามที่สหรัฐฯได้ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากัมพูชา 49% ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 กัมพูชาเสนอให้มีการเจรจากับฝ่ายบริหารของสหรัฐโดยเร็วที่สุด และขอให้พิจารณาเลื่อนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าออกไปก่อน

    “อัตราภาษีนำเข้าสูงสุดของกัมพูชาในปัจจุบันอยู่ที่ 35% เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ดีของเราและเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี กัมพูชาจึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา โดยจะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้า 19 ประเภททันทีจากอัตราภาษีนำเข้าสูงสุด 35% เป็นอัตราภาษีนำเข้าที่ใช้ 5%”

    โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา

    กัมพูชายังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีให้ลึกยิ่งขึ้น เพื่อให้ทั้งสองประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์ที่จับต้องได้จากความสัมพันธ์ทางการค้าที่สำคัญเหล่านี้

    ต่อมานางจอม นิมล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ทำจดหมายถึงเจมีสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ แจ้งรายละเอียดของสินค้า 19 รายการที่กัมพูชาพร้อมลดอัตราภาษีลงเหลือบังคับใช้ 5% อาทิ วิสกี้ ถ่วเหลือง เนื้อหมู รถยนต์ รถจักรยานยนต์

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501665321/details-of-proposed-cambodian-tariff-cuts-on-us-goods-released/

    อินโดนีเซียส่งตัวแทนเจรจาสหรัฐฯ

    นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจอาวุโสของอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันอาทิตย์(6 เมษายน)ว่า อินโดนีเซียจะไม่ตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ต่ออินโดนีเซียซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอัตรา 32% ซึ่งถือเป็นการตอบสนองครั้งแรกของรัฐบาลต่อการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

    นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจ กล่าวในแถลงการณ์ว่า อินโดนีเซียจะดำเนินทางการทูตและการเจรจาเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน หลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทั่วโลกครั้งใหญ่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

    นายแอร์ลังกา กล่าวว่า “การเลือกแนวทางดังกล่าว เพราะได้คำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวของความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี ตลอดจนรักษาบรรยากาศการลงทุนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ” และเสริมว่า อินโดนีเซียจะสนับสนุนภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า

    มาตราภาษีนำเข้าของทรัมป์ต่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก กำหนดจะมีผลบังคับใช้ในวันพุธนี้

    รัฐบาลอินโดนีเซียจะรวบรวมข้อมูลจากภาคธุรกิจในวันจันทร์(7 เมษายน)เพื่อช่วยกำหนดกลยุทธ์เพื่อรับมือกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และจะหาวิธีเพิ่มการค้ากับประเทศในยุโรปเป็นทางเลือกอื่นแทนสหรัฐฯ และจีน นายแอร์ลังกา กล่าว

    อินโดนีเซียกล่าวว่าจะส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปสหรัฐฯ เพื่อเจรจากับรัฐบาลโดยตรง

    กระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียได้ออก แถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดี(3 เมษายน)ที่ผ่านมา หลังจากการหารือเป็นการภายในรัฐบาล โดยระบุว่า อินโดนีเซียตระหนักดีว่าประเทศจะเป็นเป้าหมายของภาษีศุลกากรของทรัมป์ไม่ช้าก็เร็ว และได้มีการเจรจากับทำเนียบขาวมาเป็นเวลานานแล้ว โดยหวังว่าทำเนียบขาวจะพิจารณานโยบายนี้อีกครั้ง

    “ตั้งแต่ต้นปี รัฐบาลอินโดนีเซียได้เตรียมกลยุทธ์และขั้นตอนต่างๆ ไว้เพื่อรับมือกับภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ เราได้เจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่” แถลงการณ์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศระบุ

    รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้ “ประสานงานอย่างเข้มข้น” กับนักธุรกิจอินโดนีเซียเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบ โดยภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน ก่อนที่อัตราภาษีตอบโต้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 4 วันต่อมา ซึ่งน่าจะทำให้อินโดนีเซียมีเวลามากขึ้นในการเสนอแนวทางแก้ไขบางส่วน ตามแถลงการณ์ อินโดนีเซียตั้งใจที่จะพูดคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไป “ในทุกระดับ”

    “เราจะส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง” แถลงการณ์ระบุ

    นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย ที่มาภาพ:เพจ FB Airlangga Hartarto

    รัฐบาลไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นตัวแทนระดับสูง โดยในระหว่างการเจรจา อินโดนีเซียระบุว่าได้เตรียมขั้นตอนบางอย่างที่ยังเปิดเผยไม่ได้เพื่อตอบสนองต่อประเด็นการค้าที่สหรัฐฯ หยิบยกขึ้นมา รายงานที่เผยแพร่โดยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ไม่กี่วันก่อนที่ทรัมป์จะลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่ได้เน้นย้ำถึงความกังวลของธุรกิจในสหรัฐฯ เกี่ยวกับระบบใบอนุญาตนำเข้าของอินโดนีเซีย และข้อกำหนดการนำเข้าที่สอดคล้องกับกฎหมายฮาลาลหรืออิสลาม เป็นต้น

    ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีปรับปรุงหรือยกเลิกกฎระเบียบที่อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร จากเอกสารข่าวที่เผยแพร่ อินโดนีเซียยังสัญญาด้วยว่าจะ “ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน” อินโดนีเซียยังได้ติดต่อไปยังมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเตรียมการสำหรับ “ขั้นตอนร่วมกัน” เนื่องจากสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะต้องเสียภาษีศุลกากรของทรัมป์

    ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ได้พบกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในระหว่างการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือเกี่ยวกับการร่วมกันตอบสนองต่อการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

    อินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ สูงกว่าอัตราภาษีพื้นฐาน 10% ซึ่งกำหนดขึ้นจากการกล่าวหาว่าปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

    นายแอร์ลังกาเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ในการประสานจุดยืนร่วมกันเพื่อต่อต้านนโยบายการค้าใหม่ของสหรัฐฯ ภาษีศุลกากรดังกล่าวยังกำหนดต่อสมาชิกอาเซียนอื่นๆ รวมถึงเวียดนามและไทย โดยมีการกำหนดอัตราภาษีเป็นรายประเทศ

    นายแอร์ลังกากล่าวในแถลงการณ์ว่า “เราจำเป็นต้องประสานการตอบสนองของอาเซียน เนื่องจากประเทศสมาชิกได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของสหรัฐฯ อาเซียนต้องยืนหยัดร่วมกันในการสร้างการสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯ”

    ข้อมูลจากกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียระบุว่า อินโดนีเซียมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มูลค่า 16,840 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นดุลการค้าเกินดุลสูงสุดเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่นๆ รองลงมาคือเกินดุลกับอินเดีย 15,390 ล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ 8,850 ล้านดอลลาร์ มาเลเซีย 4,130 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 3,710 ล้านดอลลาร์

    ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2568 อินโดนีเซียมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มูลค่า 3,140 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 2,650 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอกย้ำว่าสหรัฐฯเป็นประเทศที่อินโดนีเซียเกินดุลการค้ามากที่สุด

    สินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้า และรองเท้า

    สิงคโปร์พร้อมร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/spore-msia-sign-agreement-on-johor-singapore-special-economic-zone-20000-jobs-to-be-created
    นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับมาเลเซียและพันธมิตรอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับพันธมิตรการค้าระดับโลก

    สิงคโปร์เป็นสมาชิกอาเซียนรายเดียวที่สหรัฐใช้อัตราภาษีพื้นฐานที่ 10%

    นายกรัฐมนตรี หว่อง เปิดเผยความเห็นของเขาในโพสต์บน Facebook เมื่อช่วงค่ำวันที่ 4 เมษายน ภายหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้าจากอเมริกาทั้งหมด

    นายกรัฐมนตรี หว่อง โพสต์ข้อความหลังจากพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียทางโทรศัพท์ เพื่อส่งคำอวยพรวันฮารีรายา อิดิลฟิตรี โดยกล่าวว่า แม้ว่าการเฉลิมฉลองจะยังเดินหน้า แต่ก็เป็นสัปดาห์ที่น่าหดหู่ใจ จากเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นในภูมิภาคและนอกภูมิภาค

    “ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ สิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่เคยสำหรับสิงคโปร์ มาเลเซีย และเพื่อนบ้านอาเซียนของเราคือการเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” นายหว่องกล่าว

    “นายกรัฐมนตรีอันวาร์และผมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมาภายหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรายังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วย”

    นายกรัฐมนตรีหว่องกล่าวอีกว่า ตั้งตารอที่จะหารือแบบพบหน้ากับผู้นำของประเทศสมาชิกอื่นอีกครั้ง เมื่อพวกเขาพบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัวลาลัมเปอร์ในเดือนพฤษภาคม

    มาเลเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2568 กล่าวว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 26 และ 27 พฤษภาคม

    นายกฯสิงคโปร์เตือนรับมือผลกระทบภาษีสหรัฐ

    นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สิงคโปร์ ที่มาภาพ:เพจ FB Lawrence Wong
    วันที่ 4 เมษายน นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ได้กล่าวถึงภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในวิดีโอ YouTube ว่า สิงคโปร์ต้องเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ช็อกอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากความสงบและเสถียรภาพระดับโลกที่เคยมีในอดีต “จะไม่กลับคืนมาเร็ว”

    นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ให้ความเห็นหลังจากที่สหรัฐฯ กำหนดภาษีศุลกากรใหม่ครั้งใหญ่กับคู่ค้าเกือบทั้งหมดเมื่อวันที่ 2 เมษายน ส่งผลให้ประเทศที่เป็นเป้าหมายต่าง ๆ ออกมาตอบโต้กันหลายครั้ง

    “เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่ากฎเกณฑ์ที่ปกป้องรัฐเล็กๆ จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป” นายหว่องกล่าว “ผมขอแบ่งปันเรื่องนี้กับคุณเพื่อให้เราทุกคนเตรียมใจไว้”

    “เพื่อที่เราจะไม่ตกใจโดยที่ไม่ทันตั้งตัว อย่าปล่อยให้ตัวเองหลงระเริง ความเสี่ยงมีอยู่จริงและเดิมพันก็สูง”

    อย่างไรก็ตาม เขาให้ความเชื่อมั่นว่าหากสิงคโปร์ยังคงแน่วแน่และเป็นหนึ่งเดียว สิงคโปร์จะยังคงยืนหยัดได้ในสิ่งที่เขาเรียกว่า “โลกที่มีปัญหา” ซึ่งกำลังเผชิญกับความเป็นไปได้ที่สงครามการค้าโลกจะรุนแรงขึ้น

    นายหว่องกล่าวอีกว่า สิงคโปร์จำเป็นต้องตระหนักถึงอันตรายที่กำลังก่อตัวขึ้นในโลก โดยสถาบันระดับโลกจะอ่อนแอลงและบรรทัดฐานระหว่างประเทศจะเสื่อมถอยซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่างๆดำเนินการโดยอาศัยผลประโยชน์ส่วนตัว และใช้กำลังหรือแรงกดดันเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นความจริงอันเลวร้ายของโลกในปัจจุบัน

    “เราจะเฝ้าระวัง เราจะสร้างศักยภาพของเรา เราจะเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดเหมือนกัน” นายหว่องกล่าว

    “เรามีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นๆ มากมาย ทั้งในด้านทุนสำรอง ความสามัคคี และความมุ่งมั่นของเรา”

    นายหว่องตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้มีบางคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการประเมินของเขาว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้เศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์เสียเปรียบ

    การดำเนินการล่าสุดของสหรัฐฯ ครั้งนี้ “ไม่ต้องกังขาเลย” เขากล่าวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ในระเบียบโลกที่โลกาภิวัตน์อยู่พื้นฐานของกติกาและการค้าเสรีสิ้นสุดลงแล้ว และกลายเป็นระเบียบโลกที่ “ไร้เหตุผล กีดกันทางการค้า และอันตรายมากขึ้น”

    สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการค้าเสรีมานานหลายทศวรรษและเป็นผู้นำในการสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดโยงกับกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานที่ชัดเจน ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันผ่านการค้าได้ นายหว่องกล่าว

    “ระบบ WTO (องค์การการค้าโลก)” นี้ทำให้โลกมีเสถียรภาพและความมั่งคั่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน – และสำหรับสหรัฐฯ เอง

    “แต่ก็ชัดเจน ระบบนี้ไม่สมบูรณ์แบบ สิงคโปร์และประเทศอื่นๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปมานานแล้ว – เพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์และปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น” นายหว่องกล่าว

    “แต่สิ่งที่สหรัฐฯ กำลังทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการละทิ้งระบบทั้งหมดที่สหรัฐฯ สร้างขึ้น แนวทางใหม่ของสหรัฐฯ ที่ใช้ภาษีศุลกากรต่างตอบแทนในแต่ละประเทศถือเป็นการปฏิเสธกรอบการทำงานขององค์การการค้าโลกอย่างสิ้นเชิง”

    สิงคโปร์ถูกเก็บภาษีในระดับฐานต่ำสุดในอัตรา 10% ดังนั้นผลกระทบโดยตรงอาจจำกัดอยู่เพียงเท่านี้ในขณะนี้ แต่นายหว่องกล่าวว่าจะมีผลที่ตามมาในวงกว้างและลึกยิ่งกว่านั้นหากประเทศอื่นๆ ทำตาม เพราะนั่นจะนำไปสู่ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศเล็กๆ เช่น สิงคโปร์

    “เรามีความเสี่ยงที่จะถูกบีบให้ออก ถูกละเลย และถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นายหว่องกล่าว และว่า ครั้งสุดท้ายที่โลกประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้คือในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามการค้าทวีความรุนแรงกลายเป็นความขัดแย้งด้วยอาวุธ และในที่สุดก็กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2

    ไทยพร้อมเจรจา-นำเข้าสินค้าสหรัฐมากขึ้น

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/95158
    สำหรับประเทศไทยซึ่งถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนี้สูงถึง 36% ติดอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลก และเป็นอันดับ 9 ของเอเชียนั้น นางแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับถึงท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยฉบับแรกวันที่ 3 เมษายน 2568 ระบุว่า ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในโอกาสแรก เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด และทั้งสองประเทศสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเอื้อซึ่งกันและกัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดโลก อาทิ ในภาคเกษตร-อาหาร ที่สหรัฐฯ มีสินค้าเกษตรจำนวนมากที่ไทยสามารถนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกไปตลาดโลก และในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ขณะที่การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิต Hard Disk Drive ที่สำคัญของโลก และอุปกรณ์ดังกล่าวก็จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Data Center และ AI ของสหรัฐฯ

    แถลงการณ์ฉบับที่ 2 วันที่ 6 เมษายนระบุว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ขึ้นมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคมปีนี้ และมีการหารือกับภาคเอกชนรวมทั้งตัวแทนของสหรัฐฯถึงข้อเสนออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มาโดยตลอด และในสัปดาห์หน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือ กับหลายภาคส่วนในสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย จากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญ ของรัฐบาลสหรัฐฯในครั้งนี้

    ขณะนี้ รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่นการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และ สินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก โดยขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ประเทศไทย จะมีการเจรจา เรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯและลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ

  • สำรวจทั่วโลกตอบสนองมาตรการภาษีของทรัมป์อย่างไร