ThaiPublica > คอลัมน์ > ไทยต้องมีโรงเรียนเฉพาะทางด้านศิลปะ หากจะพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์

ไทยต้องมีโรงเรียนเฉพาะทางด้านศิลปะ หากจะพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์

20 มีนาคม 2025


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

เมื่อพูดถึงโรงเรียนมัธยมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หลายประเทศมีโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์และกีฬาที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง แต่เมื่อเป็นเรื่องศิลปะ สถานการณ์กลับแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ไทยเองมีโรงเรียนที่เน้นศิลปะอยู่บ้าง เช่น โรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนดุริยางคศิลป์ หรือในระดับอุดมศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป์

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หรือ กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ได้รับเงินอุดหนุนจำนวนมาก ด้วยเหตุที่รัฐบาลมองว่า STEM (science, technology, engineering, mathematics) จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

โรงเรียนกีฬาเองก็ได้รับการสนับสนุนบนความเชื่อว่า ไทยสามารถพัฒนาศักยภาพนักกีฬาเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติได้ แต่ศิลปะนั้นไม่ได้ถูกมองว่า เป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศ ทำให้การสนับสนุนจากภาครัฐมีน้อยนิด และส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะสั้นหรือขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก นอกจากนี้ ทุนการศึกษาต่อที่เป็นระบบด้านศิลปะและสังคมโดยรัฐบาลไทย ยังมีปริมาณและคุณภาพน้อยกว่าทุนด้านวิทยาศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด

นำไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมไทยถึงไม่มีโรงเรียนมัธยมเฉพาะทางด้านศิลปะที่เทียบเท่าโรงเรียนวิทยาศาสตร์หรือโรงเรียนกีฬาที่รัฐสนับสนุนโดยตรง

ในขณะที่ประเทศอย่างเกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น มีโรงเรียนมัธยมเฉพาะทางด้านศิลปะที่โดดเด่น ไทยกลับไม่มีโรงเรียนลักษณะนี้ที่ได้รับการสนับสนุนในระดับเดียวกัน คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไม และเราสามารถเรียนรู้อะไรจากโมเดลของประเทศอื่นได้บ้าง

สำรวจโรงเรียนศิลปะมัธยมในต่างประเทศ

เกาหลีใต้ เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โรงเรียนศิลปะมัธยมที่โดดเด่นของเกาหลีคือ Seoul Arts High School (서울예술고등학교) ซึ่งผลิตศิลปินระดับโลกมากมาย โรงเรียนแห่งนี้มีการคัดเลือกนักเรียนที่มีพรสวรรค์และฝึกฝนอย่างเข้มข้นในสาขาดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะเห็นว่า นักเรียนด้านศิลปะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการส่งออกวัฒนธรรม เช่น อุตสาหกรรม K-pop และภาพยนตร์ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล

ฝรั่งเศส มีโมเดลการศึกษาศิลปะที่ผสมผสานกับระบบโรงเรียนรัฐบาล นักเรียนสามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะระดับภูมิภาคหรือ conservatoire ซึ่งเป็นสถาบันฝึกฝนศิลปินมาตั้งแต่วัยเด็ก รัฐบาลฝรั่งเศสให้ทุนสนับสนุนแก่สถาบันเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นรากฐานของอัตลักษณ์ประจำชาติ

สหราชอาณาจักร มี BRIT School ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถทางศิลปะได้เรียนรู้ด้านการแสดง ดนตรี และสื่อสร้างสรรค์ โรงเรียนนี้ผลิตศิลปินดังระดับโลก เช่น Adele และ Amy Winehouse ความน่าสนใจของ BRIT School คือการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐและเอกชนร่วมกัน ทำให้โรงเรียนสามารถจัดหลักสูตรที่เข้มข้นและมีคุณภาพสูงได้

สหรัฐอเมริกา มีระบบโรงเรียนศิลปะมัธยมที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เช่น LaGuardia High School of Music & Art and Performing Arts ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์และละครทีวีเรื่อง Fame โรงเรียนแห่งนี้รับนักเรียนผ่านการออดิชันและฝึกฝนพวกเขาในระดับเข้มข้น โดยผสมผสานหลักสูตรศิลปะเข้ากับการศึกษาทั่วไป ทำให้นักเรียนสามารถเรียนต่อในมหาวิทยาลัยศิลปะระดับสูงได้โดยง่าย

ญี่ปุ่น มี Tokyo University of the Arts ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุด แต่ในระดับมัธยม การศึกษาศิลปะส่วนใหญ่อยู่ภายใต้โรงเรียนมัธยมเฉพาะทาง เช่น Tokyo Metropolitan High School of Fine Arts ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกฝนทักษะศิลปะในระดับสูง และเตรียมตัวเข้าสู่มหาวิทยาลัยศิลปะโดยตรง

สำหรับผู้สนใจภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในไทยเอง นอกจากโรงเรียนที่เน้นศิลปะใกล้เคียงกันอย่างการแสดงแบบสากล ก็มีจำนวนน้อยนิดและอยู่ภายใต้การบริหารของเอกชน ในขณะที่ California School of the Arts (CSArts) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีหลักสูตรเฉพาะทางด้าน Film & Television Conservatory เปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์จริงในวงการภาพยนตร์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท การกำกับ การตัดต่อ ไปจนถึงการใช้เทคนิคพิเศษ (VFX) นักเรียนจะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในวงการโดยตรง และได้รับโอกาสในการทำโปรเจกต์ที่สามารถนำไปใช้สมัครมหาวิทยาลัย หรือใช้เป็นพอร์ตโฟลิโอในอุตสาหกรรม หรือ Liceo Artistico Statale ในอิตาลี เป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและไม่มีค่าเล่าเรียนสำหรับนักเรียนชาวอิตาลี

สนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ต้นน้ำ

รัฐบาลเองสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจัง แม้ว่าการสนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาปลายน้ำ เช่น การนำหนังไทยไปโชว์เคสในเวทีต่างๆ การจัดงานมหกรรม หรือการให้ทุนสนับสนุนเป็นครั้งๆ แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านศิลปะยังไม่เด่นชัด

สังคมไทยเองมองศิลปะเป็นเรื่องรอง อาชีพที่เกี่ยวข้องกับศิลปะไม่ถูกมองว่าเป็นเส้นทางที่มั่นคงเทียบเท่ากับอาชีพในสายวิทยาศาสตร์หรือธุรกิจ หลายคนยังคงมองว่าศิลปะเป็นงานอดิเรกมากกว่าวิชาชีพที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล ซึ่งแตกต่างจากเกาหลีใต้หรือฝรั่งเศส ที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างจริงจัง

การขาดงบประมาณและการสนับสนุนจากรัฐเป็นอีกสิ่งสำคัญ รัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนวิทยาศาสตร์อย่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หรือโรงเรียนกีฬาของ กกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) โรงเรียนศิลปะกลับไม่ได้รับการสนับสนุนในระดับเดียวกัน สะท้อนว่า ภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมศิลปะในฐานะปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจ แม้จะพบว่า K-pop และอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้สร้างรายได้มากกว่า 12.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

นอกจากนี้ UNESCO Creative Economy Report 2022 ยังระบุว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีมูลค่ากว่า 3% ของ GDP โลก และสร้างงานกว่า 30 ล้านตำแหน่งทั่วโลก โดยประเทศที่สนับสนุนศิลปะในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ได้ดีกว่า ในด้านการเรียนรู้เอง พบว่า เด็กที่ได้รับการศึกษาด้านศิลปะตั้งแต่มัธยมมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่า 20% และมีทักษะการแก้ปัญหาดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนศิลปะ

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาไทยยังเน้นความเป็นกลางมากกว่าความเชี่ยวชาญ โรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่เปิดสอนหลักสูตรศิลปะในฐานะวิชาเสริมหรือสายการเรียน แต่ไม่ได้มีการฝึกฝนเชิงลึกเหมือนโรงเรียนเฉพาะทางในต่างประเทศ นักเรียนที่ต้องการเรียนศิลปะอย่างจริงจังจึงต้องอาศัยการเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปะ เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งหมายความว่าการฝึกฝนศิลปะเชิงลึกจะเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ

ในแง่งบประมาณ รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ทุนสนับสนุนโรงเรียนศิลปะเฉพาะทางกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในขณะที่ฝรั่งเศส École des Beaux-Arts และเครือข่ายโรงเรียนศิลปะระดับมัธยมได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลปีละกว่า 150 ล้านยูโร ไทยเองมีงบประมาณด้านศิลปะจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบดั้งเดิม มากกว่าการพัฒนาโรงเรียนศิลปะเฉพาะทาง

หากรัฐบาลไทยต้องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นจุดแข็งของประเทศ นอกจากส่งเสริมตลาดแรงงานศิลปะในไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างความมั่นคงและอนาคตให้อาชีพด้านศิลปะ ให้ศิลปินไม่ต้องดิ้นรนสร้างผลงานเองอยู่ฝ่ายเดียวแล้ว การพัฒนาโรงเรียนศิลปะควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ถือเป็นการลงทุนก้าวสำคัญในการสร้างบุคลากรที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเตรียมรสนิยมทางศิลปะให้ก้าวจากไทยนิยมสู่ไทยสากลได้ด้วย การมีโรงเรียนเฉพาะทางจะช่วยให้นักเรียนที่มีความสนใจ ตลอดจนมีพรสวรรค์ สามารถพัฒนาทักษะและค้นหาความชอบตัวเองได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

หากรัฐบาลเห็นความสำคัญในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ในระยะยาว เราอาจมีโรงเรียนแบบ “ศิลปะวิทยานุสรณ์” ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง และเป็นโอกาสให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์ศิลปะเชิงลึก หากเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยก็อาจมีอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้มแข็งในอนาคต