ThaiPublica > Sustainability > Headline > สหรัฐถอนตัวจาก Loss and Damage Fund

สหรัฐถอนตัวจาก Loss and Damage Fund

10 มีนาคม 2025


ที่มาภาพ: https://www.unwater.org/water-facts/water-and-climate-change

สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากคณะกรรมการกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากสภาพอากาศ Loss and Damage Fund ของสหประชาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนและเปราะบางให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ดำเนินการเพื่อถอนสหรัฐฯ ออกจากคณะกรรมการกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากสภาพอากาศ(Loss and Damage Fund) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

จดหมายถึงฌอง-คริสตอฟ ดอนเนลลิเยร์ รองประธานร่วมกองทุน ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เห็น ระบุว่าทั้งสมาชิกคณะกรรมการของสหรัฐฯ และสมาชิกคณะกรรมการสำรองของสหรัฐฯ จะลาออก “โดยมีผลทันที” แต่จดหมายดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าหมายความว่าสหรัฐฯกำลังถอนตัวออกจากกองทุนนี้ทั้งหมดหรือไม่

กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากสภาพอากาศที่จัดตั้งขึ้นได้หลังใช้ความพยายามกันมาอย่างหนักนี้ มีธนาคารโลกทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลกองทุน

กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากสภาพอากาศ ถูกบรรจุในวาระการประชุม COP27 ในปี 2565 ครั้งแรก ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาที่แสวงหาความยุติธรรมสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตที่ตนไม่ได้ก่อขึ้น ประเทศต่างๆ เกือบ 200 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ ได้อนุมัติกรอบการทำงานของกองทุนนี้ที่การประชุม COP28 ในอีกหนึ่งปีต่อมา

กลไกการทำงานของกองทุนความสูญเสียและความเสียหายต้องการการระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีส่วนต่อการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก และควรมีส่วนสนับสนุนการแก้ไขปัญหา โดยในการประชุม COP28 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะประธานการประชุมได้ให้คำมั่นสนับสนุนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุน ในขณะที่เยอรมนีจะให้เงินช่วยเหลือ 100 ล้านดอลลาร์ สหภาพยุโรปจะให้ 245.39 ล้านดอลลาร์ สหราชอาณาจักรจะให้อย่างน้อย 51 ล้านดอลลาร์ สหรัฐอเมริกาตกลงที่จะให้ 17.5 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 10 ล้านดอลลาร์

ณ วันที่ 23 มกราคม 2568 มี 27 ประเทศและภูมิภาคที่ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงินรวม 741 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับกองทุน จากตัวเลขของสหประชาชาติ โดย 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐมาจากสหรัฐฯ

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังลงคะแนนเสียงคัดค้านมติของสหประชาชาติเกี่ยวกับการจัดตั้งวันแห่งสันติภาพสากลและยืนยันการไม่รับวาระการประชุม 2030 ซึ่งเป็นกรอบการทำงานระดับโลกเพื่อให้บรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลก โดยสหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวที่ปฏิเสธมติดังกล่าว ขณะที่อีก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เปรู และปารากวัย งดออกเสียง

นายเอ็ดเวิร์ด ฮาร์ตนีย์ ผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร(4 มีนาคม 2568)ว่า วาระ 2030 “ส่งเสริมธรรมาภิบาลโลกแบบอ่อนไหวซึ่งไม่สอดคล้องกับอำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และขัดต่อสิทธิและผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน”

วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ซึ่งได้รับการรับรองเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดในปี 2558 ประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ส่งเสริม “วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ และความมั่นคงที่บูรณาการ เปลี่ยนแปลงได้ และอยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน” เป้าหมาย SDGs ที่จะต้องบรรลุให้ได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เกี่ยวข้องกับหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่การบรรเทาความยากจน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ และการศึกษาที่มีคุณภาพ

นายเอ็ดเวิร์ด อ้างนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน American First” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยกล่าวว่าสหรัฐฯอเมริกาพร้อมที่จะ “ดูแลประเทศของเราก่อนเป็นอันดับแรก” และยังกล่าวอีกว่า “การปรับเปลี่ยนที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิด ‘เพศ’ และสภาพอากาศ” ของทรัมป์ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ SDGs ส่งเสริมอีกต่อไป

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 5 เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยมุ่งหวังที่จะให้สิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันแก่สตรีและเด็กหญิงในการใช้ชีวิตโดยปราศจากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ ส่วนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 13 มุ่งส่งเสริมการดำเนินการเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น

“พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ ความพยายามของโลก เช่น Agenda 2030 และ SDGs หายไปในการเลือกตั้ง ดังนั้น สหรัฐฯ จึงปฏิเสธและยกเลิกวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะไม่รับรองสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป” นายฮาร์ตนีย์กล่าว

ความเคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่แล้วเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่อต้านการจัดการกับสภาพอากาศในภาพรวมของรัฐบาลชุดใหม่ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ทรัมป์ได้ดำเนินการถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพอากาศ ระงับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ และยกเลิกสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีในได้ดำเนินการด้านสภาพอากาศและการปกป้องสิ่งแวดล้อม

เมื่อเดือนที่แล้ว คณะผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศถูกห้ามเดินทางไปจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสำคัญของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change :IPCC) นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้สั่งให้นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลกลางที่สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration :NOAA) และโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงโลกของสหรัฐฯ (US Global Change Research Program ) หยุดดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการประเมินสภาพอากาศของ IPCC

IPCC ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 เพื่อส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเผยแพร่การประเมินทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมทุก ๆ 5 ถึง 7 ปี เพื่อแจ้งให้ผู้กำหนดนโยบายทราบเกี่ยวกับวิกฤตและความเสี่ยงในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น และเสนอคำแนะนำในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบ หน่วยงานของสหประชาชาติถือเป็นหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกในเรื่องนี้