ThaiPublica > เกาะกระแส > ประวัติศาสตร์สงครามยูเครน “ฉบับร่างครั้งแรก” ยูเครนหลีกเลี่ยงสงครามกับรัสเซียได้หรือไม่

ประวัติศาสตร์สงครามยูเครน “ฉบับร่างครั้งแรก” ยูเครนหลีกเลี่ยงสงครามกับรัสเซียได้หรือไม่

8 มีนาคม 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : Council on Foreign Relations.webp

ก่อนหน้าจะเกิดการปะทะคารม ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2025 ที่ทำเทียบขาว ทรัมป์เคยเรียกเซเลนสกีว่าเป็น “เผด็จการที่ไม่มีการเลือกตั้ง” ขณะที่เซเลนสกีก็เคยวิจารณ์ว่า การประชุมสหรัฐฯ กับรัสเซียเรื่องยูเครนที่ซาอุดีอาระเบีย ไม่มีตัวแทนยูเครนในที่ประชุม ทรัมป์ตอบโต้กลับเซเลนสกีว่า “คุณอยู่กับมันมาสามปีแล้ว คุณควรจะยุติมันลงได้แล้ว คุณไม่ควรจะเริ่มต้นมันขึ้นมา”

ทรัมป์เป็นฝ่ายถูกมากกว่าที่เข้าใจกัน

บทความชื่อ Could Ukraine Have Avoided War With Russia? ในเว็บไซต์ www.19fortyfive.com เขียนไว้ว่า สงครามยูเครนอาจไม่มีฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด มีแต่ฝ่ายยูเครนกับฝ่ายรัสเซีย หากตัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกออกไป หลักฐานต่างๆ บ่งชี้ว่าทรัมป์ค่อนข้างจะเป็นฝ่ายถูกมากกว่าที่เข้าใจกันทั่วไป

ผู้นำตะวันตกและสหรัฐฯ รวมทั้งสื่อกระแสหลักมีทัศนะที่ว่า ยูเครนไม่ใช่ฝ่ายเริ่มต้นสงคราม แต่สงครามเริ่มจากกองทัพรัสเซีย ที่บุกยูเครนครั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 แต่ความเป็นจริงนั้นแตกต่างออกไป นโยบายของประเทศตะวันตกเรื่องสงครามยูเครนจึงมีความเสี่ยง เพราะตั้งบนสมมติฐานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สงครามยูเครนจะลากยาวมานานกว่า 3 ปีแล้ว คนนับล้านต้องเสียชีวิต และนับตั้งแต่เริ่มต้นเกิดสงคราม ยูเครนไม่มีวันจะชนะสงครามนี้

จุดเริ่มต้นเกิดจากการขยาย “นาโต้”

กล่าวอย่างสรุป ข้อเท็จจริงของสงครามยูเครนก็คือว่า สงครามความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครน ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่กองทัพรัสเซียบุกเข้าไปดินแดนยูเครน แต่จุดเริ่มต้นมาจากการขยายสมาชิกของ “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” หรือนาโต้

หนังสือชื่อ Provoked เขียนถึงเรื่องที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มสงครามเย็นครั้งใหม่กับรัสเซีย โดยกล่าวว่า เมื่อปี 1990 ในการประชุมที่มอสโก ระหว่างมิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีโซเวียต กับเจมส์ เบเกอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในเวลานั้น โดยเจมส์ เบเกอร์ แถลงว่า นาโต้จะไม่ขยายสมาชิกมาทางตะวันออก “แม้แต่นิ้วเดียว” หากสหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากเยอรมันตะวันออก และยอมให้เยอรมนีรวมเป็นประเทศเดียวกันอย่างสันติ

เจมส์ เบเกอร์ ถามกอร์บาชอฟว่า “ท่านต้องการเห็นเยอรมนีรวมเป็นประเทศเดียว แต่อยู่นอกองค์การนาโต้ เป็นอิสระ ไม่มีกองทหารสหรัฐฯ หรือเยอรมนีที่รวมประเทศ เกี่ยวพันกับนาโต้ และหลักประกันที่ว่า นาโต้จะไม่ขยายตัวมาตะวันออกแม้แต่นิ้วเดียวจากที่เป็นอยู่” กอร์บาชอฟตอบว่า “การขยายขอบเขตของนาโต้จะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้”

คำแถลงของเจมส์ เบเกอร์ ไม่ได้เขียนเป็นข้อตกลงเป็นทางการ ส่วนกอร์บาชอฟเป็นผู้นำประเทศที่เคยเรียกว่า “สหภาพโซเวียต” ที่เวลาต่อมาล่มสลายลงไป ส่วนประเทศที่เป็นแกนหลักอย่างรัสเซีย ก็ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มาจากนโยบายแปรรูปเศรษฐกิจเป็นเอกชนแบบฉับพลัน การที่รัสเซียอ่อนแอดังกล่าว ทำให้สหรัฐฯ มองข้ามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้

ต่อมาในปี 1999 นาโต้ดึงโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และฮังการีเข้าเป็นสมาชิก แต่กรณียูเครนเป็นประเทศที่แตกต่างออกไป แม้แต่เฮนรี คิสซินเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่เป็นสายเหยี่ยว ก็ไม่เห็นด้วยที่จะดึงยูเครนมาเป็นสมาชิกนาโต้ โดยกล่าวว่า…

ยูเครนจะอยู่รอดและรุ่งเรืองได้ จะต้องไม่ทำตัวเป็น “ด่านหน้า” ของฝ่ายหนึ่ง ที่ต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่ง ยูเครนจะต้องทำหน้าที่เหมือนสะพานเชื่อมโยงระหว่างสองฝ่าย

เมล็ดพันธุ์สงครามเกิดในปี 2008

เมล็ดพันธุ์สงครามยูเครนนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2008 ที่นครบูคาเรสต์ โรมาเนีย เมื่อองค์การนาโต้ประกาศว่า “นาโต้ยินดีต้อนรับยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกนาโต้” วันต่อมา ปูตินประกาศว่า ความพยายามที่จะขยายนาโต้มายังยูเครน ทางรัสเซียถือเป็น “ภัยคุกคามโดยตรง” แต่สหรัฐฯ และตะวันตกเพิกเฉยต่อคำเตือนของปูติน และประกาศจะเชิญยูเครนเข้าร่วมนาโต้

ปี 2014 เกิดเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลยูเครน เรียกว่า “การปฏิวัติไมดาน” (Maidan Revulution) ฝ่ายสหรัฐฯให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผย โดยวิกตอเรีย โนแลนด์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางไปพบผู้ประท้วงในกรุงเคียฟ ที่ต้องการล้มรัฐบาลของวิกตอร์ ยานูโควิช ที่มาจากการเลือกตั้ง

ในปี 2014 เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในยูเครน และรัฐบาลยานูโควิชถูกโค่นลงไป ปูตินสนับสนุนกลุ่มกบถเชื้อสายรัสเซียที่อยูในเขตดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน และเดือนมีนาคม 2014 รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นของรัสเซีย

ปูตินประกาศว่า ตะวันตกได้ข้ามเส้นแดงที่ประนีประนอมไม่ได้ เมื่อสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นตัวอย่างการขยายนาโต้มาตะวันออก เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางทหารที่พรมแดนรัสเซีย

เซเลนสกีก้าวขึ้นเวที

ปี 2019 เซเลนสกีได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดียูเครน มีนโยบายสร้างสันติภาพกับรัสเซีย The New York Times รายงานว่า ต่อมาเซเลนสกีได้พบกับผู้นำฝรั่งเศส เยอรมัน และปูตินที่ปารีส การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องให้มีการบังคับใช้ข้อตกลงเรียกว่า Minsk Agreement 2015 เพื่อยุติสงครามระหว่างกลุ่มแยกดินแดนรัสเซียกับกองทัพยูเครน ในเขตดอนบาสของยูเครน

The New York Times รายงานว่า ข้อตกลงนี้กำหนดให้ยูเครนแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้อำนาจอิสระทางการเมือง แก่ดินแดนตะวันออกของยูเครน ที่คนท้องถิ่นพูดภาษารัสเซีย แต่ก็เหมือนข้อตกลงอื่นๆใน Minsk Agreement ที่ไม่ได้เกิดผลหรือดำเนินการทางการปฏิบัติแทนที่จะนำข้อตกลงดังกล่าวมาดำเนินการ เดือนมีนาคม 2021 เซเลนสกีกลับทำในทางตรงกันข้าม โดยลงนามในกฎหมายประกาศว่า ยูเครนจะนำดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะคาบสมุทรไครเมีย กลับอยู่ภายใต้ยูเครน หนึ่งเดือนต่อมารัสเซียระดมกำลังทหาร 1 แสนคนใกล้พรมแดนยูเครน

ในการสำแดงกำลังของรัสเซีย ปูตินต้องการสื่อสารถึงรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ คือ โจ ไบเดน ว่า จะต้องไม่พยายามเปลี่ยนแปลง “สภาพเดิมที่เป็นอยู่” โดยการนำยูเครนเข้าใกล้ชิดนาโต้มากขึ้น หรือช่วยเหลือยูเครนในการปลดปล่อยดินแดนดอนบาสที่ถูกยึดครอง ทั้งไบเดนและเซเลนสกีเพิกเฉยคำเตือนนี้

เซเลนสกียังมุ่งมั่นที่จะนำไครเมียและดินแดนดอนบาสกลับคืนยูเครน ส่วนสหรัฐฯ และตะวันตกยังคงประกาศที่จะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ วันที่ 22 ธันวาคม 2021 สองเดือนก่อนบุกยูเครน ปูตินประกาศว่า…

“สิ่งที่สหรัฐฯ ดำเนินการอยู่ในยูเครน คือการอยู่ที่ประตูหน้าบ้านของเรา พวกเขาควรเข้าใจว่า เราไม่มีที่จะถอยมากไปกว่านี้อีกแล้ว”

มาถึงจุดนี้ ไบเดนและเซเลนสกีรู้แล้วว่า ปูตินเอาจริงที่จะป้องกันไม่ให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต้ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2022 ก่อนหน้า 13 วันที่รัสเซียจะบุกยูเครน ไบเดนประกาศเตือนว่า แหล่งข่าวกรองเผยว่า เป็นไปได้สูงที่รัสเซียจะโจมตียูเครน เพื่อกันไม่ให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต้ และรักษาคาบสมุทรไครเมีย

พลาดโอกาสป้องกันสงครามไม่ให้เกิดขึ้น

เดือนธันวาคม 2021 สามเดือนก่อนเกิดสงคราม ปูตินเสนอสนธิสัญญาสหรัฐฯ กับรัสเซีย สาระสำคัญคือ สหรัฐฯ จะดำเนินการไม่ให้มีการขยายนาโต้มาทางตะวันออกมากกว่านี้ และปฏิเสธที่จะยอมรับประเทศที่เคยอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ซึ่งก็หมายถึงยูเครน

บทความใน 19fortyfive.com ให้ความเห็นว่า สนธิสัญญานี้ไม่ได้เรียกร้องให้เสียดินแดนแก่รัสเซีย ไม่ได้ห้ามที่ยูเครนจะมีข้อตกลงทางเศรษฐกิจหรือทางทหารกับประเทศยุโรปเป็นรายประเทศ สงครามเลี่ยงได้ เพียงแค่ “ยินยอม” ในสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว คือยูเครนไม่สามารถเป็นสมาชิกนาโต้

ดังนั้น เมื่อทรัมป์กล่าวว่าเซเลนสกีสามารถป้องกันไม่ให้เกิดสงครามนี้ขึ้นมาได้ จึงไม่ใช่คำพูดที่ว่างเปล่า แต่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ความจริง ส่วนเซเลนสกีไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นมา ยังผิดพลาดในการปฏิเสธโอกาสต่างๆ ที่จะยุติสงครามยูเครน

สองเดือนหลังจากเกิดสงคราม รัสเซียและยูเครนเจรจากันที่กรุงอิสตันบูล เพื่อหากรอบความตกลงยุติสงคราม ทั้งสองฝ่ายบรรลุความก้าวหน้าในการยุติสงคราม โดยยูเครนประกาศที่จะเป็นกลาง ส่วนรัสเซียจะถอนตัวกลับไปอยู่ในสภาพก่อนเกิดสงคราม และให้หลักประกันความมั่นคงแก่ยูเครน แต่เซเลนสกีประกาศเองว่า ตัวเขาเองที่ล้มข้อตกลงนี้ หากเซเลนสกียอมรับข้อตกลง การสูญเสียจากสงครามของยูเครนก็มีจำกัด เพราะสงครามเพิ่งเริ่มต้นได้ 2 เดือน

ทุกวันนี้ กองทหารรัสเซียเข้มแข็งมากกว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่บุกยูเครน เศรษฐกิจก็ไม่ได้เสียหายจากการคว่ำบาตรของตะวันตก อุตสาหกรรมป้องกันประเทศสามารถทำงานเพื่อสนองการทำสงครามต่อเนื่อง หากไม่มีการยุติสงคราม กองทัพรัสเซียคงจะสู้รบต่อไป เพื่อได้พื้นที่ที่ปูตินคิดว่า จำเป็นที่จะทำให้ดินแดนตะวันตกรัสเซียมีความมั่นคง

จอห์น เมียร์ไชเมอร์ นักรัฐศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐฯ เคยตอบคำถามสื่อที่ว่า “เป็นความผิดหรือไม่ ที่คนยูเครนต้องการอิสรภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตยเสรี ที่นิยมอเมริกา” เมียร์ไชเมอร์กล่าวว่า หากยูเครนเป็นประเทศประชาธิปไตยเสรี นิยมอเมริกา เป็นสมาชิกนาโต้ และ EU สิ่งนี้เป็นเรื่องที่รัสเซียยอมรับไม่ได้ แต่หากไม่มีการขยายสมาชิกนาโต้ ยูเครนเป็นเพียงประเทศประชาธิปไตยเสรี โดยทั่วไปเป็นมิตรกับสหรัฐฯ และกับตะวันตก ยูเครนจะสามารถก้าวเดินหน้าต่อไปได้

เอกสารประกอบ
Provoked: How Washington Started the New Cold War with Russia and the Catastrophe in Ukraine, Scott Horton, The Libertarian Institute, 2024.
Could Ukraine Have Avoided War with Russia? February 19, 2025, 19fortyfive.com