ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ สมาคมไทย-ญี่ปุ่น (TJA) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดสัมมนา Strengthening Thailand-Japan Cooperation on the Face of Renewed Trade Tensions ยกระดับความร่วมมือในการเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก เพื่อรับความท้าทายการค้าโลก
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับสมาคมไทย-ญี่ปุ่น (TJA) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดงานสัมมนา “Strengthening Thailand-Japan Cooperation on the Face of Renewed Trade Tensions” เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่นได้ยกระดับความร่วมมือ ในการเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ในการสนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจ
นายกลินท์ สารสิน นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า ความตึงเครียดทางการค้าและสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก กลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น และมีผลกระทบต่อหลายประเทศรวมทั้งไทยและญี่ปุ่น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว สมาคมไทย-ญี่ปุ่น (TJA) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เห็นตรงกันว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะจัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้สมาชิกและผู้นำที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองประเทศได้รับข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเป็นแนวทางเดินหน้าและบริหารความเสี่ยงจากความตึงเตรียดทางการค้า ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต และช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ด้วยความแข็งแกร่งท่ามกลางความท้าทายหลายด้าน และประสบความสำเร็จฝ่าฝันอุปสรรคไปได้อย่างดี
ทูตญี่ปุ่นชี้รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมอย่างสมดุล

ญี่ปุ่นและไทยเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกันมานาน ผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้โดยเจโทร กรุงเทพฯ พบว่า จำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมีมากกว่า 6,000 ราย ยอดสะสมของการลงทุนกลับสูงถึงประมาณ 4 ล้านล้านบาท ญี่ปุ่นจึงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดที่ลงทุนในประเทศไทย
นายมาซาโตะแชร์มุมมองต่อประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ และผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นเริ่มลงทุนในประเทศไทยในช่วงทศวรรษปี 1960 และประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางหลักสำหรับอุตสาหกรรมนี้ จากความได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุปทานครบวงจร บริษัทและกิจกรรมทางธุรกิจของญี่ปุ่นมีส่วนทำให้ GDP ของประเทศไทยเติบโต อย่างไรก็ตาม จากการนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้เพิ่มมากขึ้น บริษัทญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันให้ปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดรับสถานการณ์ใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในรูปแบบใหม่จากรากฐานทางธุรกิจเดิมที่แข็งแกร่ง ดังนั้น ประเทศไทย ควรสนับสนุนรถยนต์แต่ละประเภทอย่างสมดุล ทั้งรถ EV รถไฮบริดรวมไปถึงรถยนต์ประเภทอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
รัฐบาลมุ่ง Ease of Doing Business สร้างการแข่งขันเท่าเทียม

“ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยที่มีมานาน และมีความสัมพันธ์ด้านการลงทุนมานานหลายศตวรรษ ประกอบกับความได้เปรียบด้านการแข่งขันของไทย ผมเชื่อว่า ญี่ปุ่นและไทยร่วมมือกันสามารถรับมือกับความท้าทาย แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน” นายเอกนัฏกล่าว
รัฐบาลไทยได้การปรับเปลี่ยนนโยบายหลายด้าน เพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม เช่น การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับรถยนต์ไฮบริด ด้วยตระหนักว่าภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นภาคส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงนำข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยจากทุกค่าย และจากข้อมูลที่ได้จากการหารือกับหน่วยงานภาครัฐในญี่ปุ่น มาดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในหลายด้าน
“อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น เป็นอุตสาหกรรมที่มีการบูรณาการลึกในห่วงโซ่อุปทานระดับชาติของไทย เช่น รถยนต์อีโคคาร์ และรถปิคอัพ มีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากถึง 90% ผมขอขอบคุณเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ลงทุนในการสร้างห่วงโซ่อุปทานครบวงจรในไทย” นายเอกนัฏกล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญอย่างมากในการปรับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดขั้นตอน การปฏิบัติที่ไม่จำเป็น โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อส่งเสริมให้มีความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) มากขึ้น รวมไปถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศให้ดำเนินกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ การดำเนินการกับผู้ที่กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานมาในไทย และการจัดทำร่างกฎหมายป้องกันการลักลอบขนย้ายกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งการกำกับดูแลการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรเข้าสู่ BCG เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
รัฐบาลไทยยังมุ่งมั่นพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายอุตสาหกรรม และการขยายการผลิตของนักลงทุนต่างชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ EEC เพื่อให้แน่ใจว่า กฎหมาย ข้อบังคับพิเศษในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะส่งเสริมการลงทุน
นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของไทยในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นในการผลิตวิศวกรที่มีทักษะจำนวน 80,000 คน ภายใน 5 ปี
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนใหม่ และการขยายการลงทุนที่มีอยู่ โดยใช้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ด้านภาษี เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างทรัพยากรบุคคล เพื่อสนับสนุนธุรกิจไทย และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
ไทย-ญี่ปุ่นร่วมฝ่าความท้าทายด้วยระบบเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น เน้นนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไทย-ญี่ปุ่นต้องร่วมกันกำหนดนโยบายตอบสนองความท้าทายระดับโลก
ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนายังมีช่วงอภิปรายโดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ, นายโคโซ โท ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ, ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายมาซาฮิโระ คิมูระ ประธานกรรมการ บริษัท โทเรอินดัสตรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โดยนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นำเสนอประเด็นสำหรับการอภิปรายจากแนวนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีเพิ่มจากประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งในปีที่แล้วญี่ปุ่นเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 11 ดังนั้น การดำเนินนโยบายภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นยังให้ความสนใจ และเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น เมื่อประเมินสถานการณ์ทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า มีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุน
“ด้วยมาตรการสนับสนุนทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับการลงทุนในช่วงทศวรรษหน้า โดยไทยมีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาอย่างดี โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นอกจากนี้ ไทยยังมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งประเทศไทยยังมีแรงงานที่มีคุณภาพสูง ทั้งช่างเทคนิคและวิศวกร และข้อดีอื่นๆ เช่น คุณภาพชีวิตของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ระบบการดูแลสุขภาพที่ยอดเยี่ยม มีโรงเรียนนานาชาติ และวิถีชีวิตที่สามารถดึงดูดผู้มีความสามารถจากทั่วโลกให้มาทำงานในประเทศไทยได้” นายนฤตม์กล่าว
นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานและความไว้วางใจระหว่างสองประเทศ โดยมองว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นมีศักยภาพที่จะร่วมมือกันใน 2 ด้านหลัก คือ เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการใช้ระบบอัตโนมัติและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการผลิต
“ผมคิดว่าความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอนและการใช้ระบบอัตโนมัติ จะทำให้เรารักษาความสามารถในการแข่งขันได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการค้าของสหรัฐ ฯ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามทำงานร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยและบริษัทไทย ในการฝึกอบรมพนักงานให้ความสามารถด้านดิจิทัล หรือทักษะในเทคโนโลยีที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือไทยและญี่ปุ่น” นายคุโรดะกล่าว
นายโคโซ โท ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อช่วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแวดวงธุรกิจญี่ปุ่นในไทย รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพของแรงงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตลอดจนการจัดการกับปัญหาสินค้าจีนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย
“การเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นเป็นสิ่งสำคัญ การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดี ตราบใดที่การแข่งขันนั้นยุติธรรมและเท่าเทียมกันสำหรับทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและธุรกิจญี่ปุ่นในไทยด้วย” นายโคโซกล่าว
นายมาซาฮิโระ คิมูระ ประธานกรรมการ บริษัท โทเรอินดัสตรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากในแง่ของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น การใช้เส้นใยจากมันสำปะหลังและอ้อยมาแปรรูปเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ซึ่งต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลญี่ปุ่นและไทยในด้านการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีขยะจำนวนมากที่สามารถนำมารีไซเคิลและสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ ได้ นอกจากเหนือจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นควรร่วมมือกันในด้าน AI เพื่อแก้ปัญหาแรงงานที่ลดลง
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยและญี่ปุ่นสามารถกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในอาเซียนได้
“ความร่วมมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคเกษตรกรรมจะหนุนการเติบโตระยะยาว และเมื่อผนวกกับจากนโยบายเศรษฐกิจ bio-circular-green (BCG) economy จะส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยต้องเปลี่ยนการค้าที่พลิกผันอย่างรวดเร็วให้เป็นโอกาส และใช้ภาคเกษตรและอาหารเป็นเครื่องยนต์ในการเติบโต หอการค้าแห่งประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ความยั่งยืน และความร่วมมือในภูมิภาค เราสามารถสร้างอนาคตที่บูรณาการและมีเป้าหมายร่วมกันมากขึ้น” ดร.พจน์กล่าว