ThaiPublica > Native Ad > สมาคมไทย-ญี่ปุ่นจัดงานสัมมนา ฉายภาพนโยบายฟื้นเศรษฐกิจไทย สร้างความมั่นใจนักธุรกิจ

สมาคมไทย-ญี่ปุ่นจัดงานสัมมนา ฉายภาพนโยบายฟื้นเศรษฐกิจไทย สร้างความมั่นใจนักธุรกิจ

4 ธันวาคม 2021


การลงทุนของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนจากการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศระลอกแรกที่เริ่มขึ้นในปี 2528 ด้วยปัจจัยต้นทุน ภายหลังการทำข้อตกลงในสนธิสัญญาพลาซ่าในปีเดียวกัน

การย้ายฐานการค้าและการลงทุนเข้าไทยของธุรกิจญี่ปุ่นยังมีอย่างต่อเนื่อง แม้ในปี 2554 ที่ประเทศไทยประสบภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตเข้าไทยและอาเซียนมากขึ้น

ในปี 2563 ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด -19 เงินลงทุนจากญี่ปุ่นไหลเข้าไทยจนกลายเป็นประเทศที่ลงทุนสูงสุดในไทยอีกครั้ง จากจำนวนแบบรับคำขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ

นายกลินท์ สารสิน นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และประธานอาวุโส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายกลินท์ สารสิน นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และประธานอาวุโส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดประเทศหลังวิกฤติโควิดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีแนวทางที่ให้ประเทศสามารถแข่งขันได้และยังคงเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

“การให้ข้อมูลนโยบายของประเทศ ตั้งแต่การจัดการกับวิกฤติโควิด การวางโครงสร้างในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจ และชี้ให้เห็นถึงโอกาสให้กับนักลงทุนจึงมีความสำคัญและช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต”

สมาคมไทย-ญี่ปุ่น ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และสภาหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จึงจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Post-COVID-19: Rain or Sunshine?” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจไทยและญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวต่อไปหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 และภาครัฐมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว รวมถึงตระหนักถึงโอกาสในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่สอด คล้องไปกับกระแส ESG อันจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า

ไทยขยายตัวญี่ปุ่นก็เติบโต

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร (JETRO) สำนักงานกรุงเทพ

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร (JETRO) สำนักงานกรุงเทพ ได้ให้ข้อมูลที่จัดทำโดย Toyo-Keizai ว่า ไทยเป็นประเทศที่รับการลงทุนด้านการผลิตจากญี่ปุ่นสูงสุดในอาเซียนโดยมีจำนวนบริษัทในเครือของญี่ปุ่น 2,721 ราย ณ สิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 1,678 รายในปี 2553 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทด้านการผลิตเกือบ 1,400 ราย

นอกจากนี้ในช่วงปี 2560-2563 ธุรกิจบริการ(non-manufacturing)ของญี่ปุ่นได้ขยายการลงทุนยังไทยมากขึ้น หรือขยายตัว 12.7%

“ประเทศไทยไม่เพียงเป็นฐานการลงทุนของภาคการผลิตของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังดึงการลงทุนจากภาคบริการของญี่ปุ่นมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการเติบโตของญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็มาจากไทย ประเทศไทยเติบโต ญี่ปุ่นก็เติบโตด้วย ประเทศไทยยังมีความสำคัญกับญี่ปุ่นอย่างมาก”

ผลสำรวจธุรกิจญี่ปุ่นใน 5 ประเทศอาเซียน คือ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์และอินโดนีเซีย พบว่า มีจำนวนบริษัทญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคการผลิต แต่ไทยยังมีข้อด้อยด้านสิทธิประโยชน์ภาษีและค่าจ้างแรงงาน โดยพบว่าต้นทุนค่าแรงงานในไทยไม่ว่าจะเป็นแรงงาน หรือวิศวกร สูงกว่าเวียดนามเกือบ 2 เท่า จึงจัดว่าเป็นข้อเสียเปรียบ แต่ก็ต่ำกว่าต้นทุนแรงงานในสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้และฮ่องกง

นายทาเคทานิ กล่าวว่า คุณภาพแรงงานในไทยก็มีความสำคัญเช่นกัน บริษัทญี่ปุ่นไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ก็ต้องการเห็นคุณภาพของแรงงานที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ประชากรในวัยทำงานลดลง

วางนโยบาย สร้าง ecosystem รับแผนลงทุนนักธุรกิจ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเปิดงาน ในหัวข้อ “The Shape of Things to come: Macro-economic outlook after the pandemic” โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 จากที่ตกลงไปลงกว่า 6% ในปีที่แล้วอันเป็นผลจากการใช้มาตรการสาธารณสุขและมาตรการทางสังคมที่เข้มงวด

“เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวและสดใส ในช่วงหลังโควิด ดังจะเห็นได้จากการส่งออกที่กลับมาเติบโต ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกขยายตัว 15.9% การบริโภคของภาคเอกชนที่ดีขึ้น เป็นผลจากมาตรการทางการคลังบรรเทาความเดือดร้อนและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเปิดประเทศ และความสำเร็จของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”

“รัฐบาลขอให้มั่นใจว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจจะรุ่งเรืองและเติบโต เพราะได้บรรลุเป้าหมายแรกของการฉีดวัคซีนไปแล้ว 50 ล้านโดสในเดือนตุลาคมและกำลังจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากร ที่ครอบคลุมทั้งพนักงานของบริษัทต่างชาติและแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ภายในสิ้นปีนี้”

รัฐบาลยังได้จัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 120 ล้านโดสเพื่อฉีดกระตุ้น โดยที่ 2 ใน 3 ของจำนวนนี้ได้รับการยืนยันเรียบร้อยแล้ว

“ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจไทยหลังโควิดจะเปลี่ยนไปและเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้น เราต้องเสริมสร้างอุตสาหกรรมหลักของไทยให้แข็งแกร่ง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจ health care อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนปรับตัวให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change”

จากภูมิทัศน์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยจึงได้สนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล บริการคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ พลังงานหมุนเวียน รถไฟฟ้า สถานีชาร์จ ตลอดจนสมาร์ทกริด

นอกจากนี้อุตสาหกรรมหลักของไทยยังดำเนินธุรกิจบนแนวทางเศรษฐกิจ BCG เพื่อความยั่งยืน ในทิศทางเดียวกับทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าสินค้า ขณะที่รัฐบาลมีความริเริ่มในหลายด้าน รวมทั้งรากฐานสำคัญสำหรับการขนส่งสาธารณะ พลังงานสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล รถไฟทางคู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

“การดำเนินการทั้งหมดนี้เพื่อสร้าง ecosystem ในการดึงการลงทุนใหม่ ความริเริ่มทั้งหมดเป็นการปรับปรุงนโยบายด้านการลงทุน รวมทั้งยังมีการให้สิทธิประโยชน์จูงใจเป็นรายอุตสาหกรรมอีกด้วย เช่น EV บริการคลาวด์ และยังมีสิทธิพิเศษตามพื้นที่ เช่น ใน EEC รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคในไทย”

เพื่อสนับสนุนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลยังส่งเสริมการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูง ผู้ที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลักตามสถานที่ต่างๆ(Digital Nomad) รวมทั้งผู้พำนักระยะยาว ให้ใช้ไทยเป็นฐานในการทำงานลพำนัก เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย

นายสุพัฒน์พงษ์กล่าวว่า รัฐบาลยังมุ่งมั่นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและประสานการทำงานของหน่วยงานเพื่อให้การประกอบธุรกิจในไทยง่ายขึ้นสะดวกขึ้นต่อเนื่อง และเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการ รวมทั้งการเสริมสร้าง ecosystem ทางการลงทุนของไทยจะสอดคล้องกับแผนการลงทุนของนักธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจไทยสดใสขึ้นในปีหน้า

“ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นด้วยความจริงใจมากกว่า 100 ปีนับตั้งแต่ปี 1887 นักลงทุนญี่ปุ่นทุกคน คือมิตรและหุ้นส่วนธุรกิจของไทย ดังนั้นนอกเหนือจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของหลังวิกฤติโควิดและภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ประเทศไทยจะดำเนินการให้ดีที่สุดเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวก ในการดำเนินธุรกิจในไทยให้ประสบความสำเร็จ”

ยกระดับการเป็นพันธมิตรรับโลกเปลี่ยน

นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งได้มารับตำแหน่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก่อนไวรัสโควิด-19 จะระบาดในไทยเพียง 1 เดือนแสดงความยินดีที่ไทยได้เปิดประเทศ หลังจากที่ควบคุมการสกัดการแพร่ระบาดได้ อีกทั้งยังมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน จึงหวังว่าการเดินทางระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นจะกลับสู่ปกติในเร็วๆนี้

ในช่วงการระบาดญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนไทยด้านสาธารณสุข รัฐบาลญี่ปุ่นได้บริจาควัคซีนมากกว่า 2 ล้านโดส มอบเครื่องบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ ชุดตรวจหาเชื้อ ยารักษาโรคพร้อมเวชภัณฑ์อื่นๆ

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นกลมเกลียวของไทยและญี่ปุ่น ยังเห็นได้จากสิบปีก่อนที่ญี่ปุ่นประสบกับภัยพิบัติสึนามิ ซึ่งไทยได้แสดงความมีน้ำใจช่วยเหลือ

“ผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีคุณค่าอย่างมาก และสะท้อนออกมาในความเอาใจใส่และห่วงใยซึ่งกันและกันในช่วงที่ประสบกับวิกฤติ ผมจึงยินดีที่ญี่ปุ่นได้มีส่วนในการช่วยเหลือประเทศไทย มิตรที่เก่าแก่ของเราในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังได้ดูแลให้ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยขณะนี้มีชาวญี่ปุ่นเกือบ 24,000 คนในไทยได้รับวัคซีน”

การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายด้านและความท้าทายอย่างมาก รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ความไม่สมดุลทางความมั่นคงระหว่างประเทศในอินโด-แปซิฟิก การเร่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนความท้ายต่อการรวมตัวของอาเซียน

“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจึงต้องดำเนินไปในแนวทางที่สอดคล้องกับความท้าทายนี้อย่างเหมาะสม และต้องไปยกระดับสู่อีกขั้นหนึ่ง”

แม้เกิดการระบาด ไทยยังเป็นฐานการผลิตใหญ่สุดของธุรกิจญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ สิ้นปี 2020 การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในไทยมีสัดส่วนกว่า 30% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment) โดยรวม

สำหรับรูปแบบความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศในระยะต่อไปนายนาชิดะกล่าวว่า มี 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือ การเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์(partnership of co-creation) ทั้งสองประเทศสามารถสร้างคุณค่าใหม่ด้วยนวัตกรรม ซึ่งเชื่อว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคที่มีรากฐานจากการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและความกลมเกลียว จะเสริมซึ่งกันและกันในการสร้างนวัตกรรมที่ยกระดับสังคมให้ดีขึ้น ด้วยการผสมผสานจุดเด่นทางการตลาดช่องทางของธุรกิจไทยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งจะขยายธุรกิจของทั้งสองประเทศไปในภูมิภาคและทั่วเอเชีย

รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในอาเซียน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินธุรกิจ โดยมีโครงการด้านนวัตกรรมถึง 23 โครงการในอาเซียน โดยที่ 17 โครงการอยู่ในประเทศไทย

“การสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยไทยและญี่ปุ่นจะสร้างสรรค์คุณค่าใหม่และนวัตกรรมร่วมกัน และความสัมพันธ์อันดีที่มีมายาวนานจะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม เพื่อแบ่งปันภูมิปัญญาร่วมกัน และส่งเสริมซึ่งกันและกันในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต”

ด้านที่สอง ร่วมกันเสริมสร้างความความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โลกกำลังก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอน ญี่ปุ่นเองตั้งเป้าที่จะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และการพัฒนาพลังงานทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนด้วยการจัดตั้งกองทุนมูลค่า 2.4 พันล้านเยนเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนใน 26 เมืองของอาเซียน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลไทยเพื่อให้ความแนะนำด้านนโยบายพลังงานสะอาดและสนับสนุนไทยให้เป็นผู้นำอาเซียนในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของไทยไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy through Achieving Carbon Neutrality in 2050 ของญี่ปุ่น และเปิดโอกาสของการขยายการลงทุน

ไทยมุ่งสู่ ESG

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การมุ่งสู่ ESG ของไทย” โดยเน้นย้ำถึงถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีที่ได้แสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทย ต่อที่ประชุม การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(COP26) ที่จะยกระดับและแร่งการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในหรือก่อนปี ค.ศ. 2065

“หากได้รับการสนับสนุนทางการด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่เหมาะสม ประเทศไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ในปี ค.ศ. 2065”

นายวราวุธเน้นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และสังคมต้องร่วมมือกัน ผ่านทาง Public Private Partnership (PPP) ในการสร้างกลไกตลาดคาร์บอน และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็น Climate Change จากนี้ไป ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก เช่น การมุ่งสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ แต่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแส Climate Change” นอกจากนี้ ในการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมสู่การสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) และการปลูกป่าทดแทน เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ net zero ที่ไทยได้ให้ไว้กับประชาคมโลก

“มั่นใจว่าผลลัพธ์ของ COP26 จะยิ่งกระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล จะช่วยสนับสนุนมิติของวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพราะความเจริญทางเศรษฐกิจจะต้องพึ่งพาอาศัยความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน”

ฐานะการเงินการคลังแกร่ง

ในช่วงการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางของนโยบายภาครัฐ” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ร่วมกันให้ข้อมูล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้คำนึงถึงความสมดุลระหวางการเปิดประเทศกับการระบาดของไวรัสโควิด และต้องมีความรอบคอบเพราะอาจจะมีการระบาดระลอกใหม่ขึ้นได้อีก อีกทั้งหลายประเทศก็ประสบกับการระบาดรอบใหม่

แม้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิดผ่านพ.ร.ก.เงินกู้รวมทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท แต่สถานะการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 58% ต่ำกว่าเพดานหนี้เดิมที่กำหนดไว้ 60%

ภาครัฐมีสภาพคล่องมากพอที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้ และเพื่อเตรียมการรับมือกับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ก็ได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% ของ GDPในปีงบประมาณหน้า การกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทคาดว่าหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มเป็น 62% ของ GDP เท่านั้น และถือว่ายังรักษาวินัยทางการคลังไว้ได้

“รัฐบาลไม่ได้กังวลต่อระดับเพดานหนี้ แต่ให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระคืนหนี้มากกว่า ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt Service Ratio) ของประเทศยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ไทยจะไม่มีปัญหาในการจ่ายคืนหนี้ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้เงินคงคลังยังมีสูงถึง 6 แสนล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงถึง 280 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นในด้านการเงินการคลังประเทศไทยถือว่ามีฐานะที่แข็งแกร่ง”

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการลงทุน นายอาคมกล่าวว่า รัฐบาลได้ตั้งงบการลงทุนในปี 2565 มูลค่า 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โครงการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงการลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) โครงการกู้เงินเพื่อการพัฒนา (Development Project Loan) รวมถึงแหล่งเงินกู้ยามฉุกเฉิน

รัฐบาลยังมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า โครงการ EEC และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) แล้วรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม โดยมีแผนสนับสนุนด้านภาษีสำหรับบริษัทที่จ้างงานกลุ่มคนวัยเกษียณอายุ เช่น กลุ่มคนอายุระหว่าง 60-70 ปี

รัฐบาลคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4% แต่ต้องการให้เป็นการเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) โดยรัฐบาลจะยังคงใช้จ่ายเงินเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนระดับฐานรากเพื่อให้มีรายได้ที่ดีขึ้น

นายอาคมกล่าวถึงทิศทางนโยบายการคลังในอนาคตว่ามุ่ง 1)รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ โดยมีแผนที่จะใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในต้นปีหน้าและ 2) รับมือกับการระบาดของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยจะเน้นไปที่การสนับสนุนการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน

เดินหน้าพลิกโฉมประเทศ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงแผนการปฏิรูปโครงสร้างประเทศที่คำนึงถึงประเด็นเชิงโครงสร้างทั้งการขาดแคลนแรงงาน การศึกษา สังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน

“ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ผ่านไทยเติบโตแบบเดิมจากภาคการผลิต ภาคบริการมา 20-30 ปี ในภาคการผลิตเราต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งต้องมีการ reskill แรงงาน เช่นเดียวกับภาคเกษตรที่ต้องปฏิรูป ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น”

แผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศฉบับที่ 13 มุ่งเน้นการปฏิรูปประกอบด้วย 13 หมุดหมาย ใน 4 มิติการพัฒนา ได้แก่ 1)มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย มี 6 หมุดหมาย คือ มุ่งสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม, ยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวและบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ, มุ่งสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก, เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง,เป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน

2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมายคือ ผลักดันการ พัฒนาศักยภาพของ SMEs สู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล, ให้ความสำคัญกับส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค,สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและจัดความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

3) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมายคือ มีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4) มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมายคือ มีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และภาครัฐที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

บีโอไอปรับเปลี่ยนนโยบายรับ Megatrend

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ส่วนนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวถึงการมุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงการยกระดับมูลค่าห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศมากขึ้น

“ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนในการส่งเสริมการลงทุนให้กับประเทศ บีโอไอต้องปรับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปที่มาพร้อมกับโอกาส เช่น สังคมสูงวัย การแข่งขันดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ การระบาดของไวรัสโควิด”

ในปี 2558 บีโอไอได้ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนมาแล้วครั้งหนึ่งจากที่เน้นการกระจายการลงทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาในทุกภาคของประเทศ ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนตามประเภทกิจการ(sector-based) เน้นไปที่ธุรกิจที่มีความสำคัญสูงต่อเศรษฐกิจ มีการใช้เทคโนโลยี มีการใช้แรงงานทักษะสูง และได้ปรับเปลี่ยนนโยบายมาเป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่อง

นางสาวดวงใจกล่าวถึงการดึงการลงทุนใหม่เข้าประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายว่า บีโอไอมีมาตรการพิเศษระยะสั้น หรือ Investment Acceleration Measures เป็นมาตรการเพื่่อกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศโดยเร็ว เพื่อการจ้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมและบริการที่่ใช้ เทคโนโลยีขั้้นสููง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทนต้องมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทและต้องลงทุนภายใน 12 เดือนหลังจากได้รับบัตรส่งเสริม

บีโอไอยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการลงทุนเดิมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์กับธุรกิจที่เพิ่มเครื่องจักรใหม่ เพื่อให้แข่งขันได้และมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น การลงทุนเพื่อนำระบบ automation มาใช้ในโรงงาน ใช้ระบบดิจิทัล หรือเป็นอุตสาหกรรม 4.0

“ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอหรือไม่ได้รับการส่งเสริม หากมีการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบ automation มาใช้ หรือใช้ระบบดิจิทัลสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอได้ แนวทางนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจอีกด้วย”

นอกจากนี้บีโอไอยังได้มีมาตรการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยให้สิทธิประโยชน์กับธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าให้เป็นเครื่องจักรใหม่ที่ไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ การเปลี่ยนระบบทำความเย็น หรือต้องการปรับการผลิตไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยไม่จำเป็นต้องขยายกำลังการผลิต

“นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับกระแสโลกหรือ megatrend”

นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว บีโอไอยังมีมาตรการอื่นในการส่งเสริมการลงทุน เช่น การลงนามในบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานอื่นเพื่อผลิตวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นแรงงานทักษะสูง เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงกำลังพิจารณาการออกวีซ่าพำนักระยะยาว (long-term resident visa) ให้กลุ่มชาวต่างชาติศักยภาพสูง หรือกลุ่มที่มีทักษะสูง

ภาครัฐมุ่งสู่ Digital บริการประชาชน-นักธุรกิจ

ส่วนการเสวนาในหัวข้อ “การปฏิรูปกฎระเบียบภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจ” การพัฒนาระบบราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มีการให้ข้อมูลจาก นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาไทยทำได้ดี

“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับ digital transformation และมุ่งไปสู่ digital government เพราะมีความสำคัญในโลกยุคใหม่ และเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งตอบโจทย์ภาคธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ และประชาชน”

Digital transformation ในประเทศไทยดำเนินการใน 2 ด้านแรก คือ การปรับกระบวนงานให้เป็นระบบดิจิทัล(Digitalization) และจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล (Data Digitizing) เพื่อเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้บริการประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศได้ดีขึ้น

รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลไปแล้ว 62 ฉบับจากทั้งหมด 84 ฉบับและกำลังดำเนินการกับที่เหลือ รวมทั้งกำลังจัดทำร่างกฎหมายกระบวนการทำงานดิจิทัล เพื่อเตรียมรัฐบาลให้สู่ digital transformation และได้เตรียมการอบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐรองรับการทำงานด้วยกระบวนการดิจิทัล

นางสาวอ้อนฟ้ากล่าวว่า กพร.ยังมีมาตรการปรับกระบวนการให้บริการให้มีความง่ายและสะดวกขึ้น ตามแนวนโยบายของรัฐที่จะตอบสนองข้อเสนอของนักธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย จากการเสนอแนะของเอกอัครราชทูต 5 ประเทศเพื่อการฟื้นฟูประเทศ อาทิ ได้พัฒนาระบบ Biz Portal ที่เปิดให้บริการแล้ว 78 ใบอนุญาต และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีกหลายใบอนุญาต รวมไปถึง e-service เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนของบีโอไอ

ในด้านนวัตกรรมได้มีการดำเนินโครงการจำนวนมาก เพื่อเปิดมุมมองเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้กว้างขึ้น รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงความต้องการและเข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น

ปฏิรูปกฎหมายแก้กฎระเบียบเพิ่มขีดความสามารถ

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ กล่าวว่า “เพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลวางแผนจะผ่อนคลายกฎระเบียบภาครัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industries) เช่น กฎระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ โดยหลักการในการปฏิรูปกฎหมายมี 3 ประการด้วยกัน คือ ความถูกต้อง ความจำเป็น และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ

หลังจากได้ใช้เวลากว่า 1 ปีในการศึกษาแนวทางปฏิรูปกฎหมายโดย TDRI การปฏิรูปกฎหมายในประเทศไทยมีความคืบหน้า โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งเห็นพ้องกับแนวทางที่ TDRI เสนอแนะได้ดำเนินการปฏิรูปเสร็จสิ้นไปแล้ว 424 กระบวนงาน และอยู่ในการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบและเห็นพ้องกับแนวทาง TDRI อีก 136 กระบวนงาน รวมสองส่วนนี้คิดเป็น 50% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ 378 กระบวนงาน อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ TDRI อีก 58 กระบวนงาน นอกจากนี้ยังมีหน่วยที่เหลือและยังไม่มีความเห็นหรือตัดสินใจอีก 98 กระบวนงาน

“การปรับปรุงกระบวนการงานตาม TDRI ประหยัดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้กว่า 1 พันล้านบาท”

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสนใจสมัครเข้าร่วมการประกวดการยกระดับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการของกพร.จำนวนมาก โดยมีการส่งคู่มือในการให้บริการ 882 คู่มือจากทั้งหมด 1,128 คู่มือ โดยเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ 178 คู่มือ สามารถการยกเลิกสำเนาได้ 90% ส่วนการลดค่าธรรมเนียมลดลง11% การใช้เวลาลดลง 26% รวมแล้วเป็นการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ถึง 59% และสามารถลดปริมาณธุรกรรมลงได้ 400 ล้านเท่าต่อปี

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า การปฏิรูปการให้บริการยังดำเนินการต่อเนื่อง และคณะกรรมการจะให้ความรู้แก่หน่วยงานต่อไปเพื่อให้ริเริ่มการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการฯ กำลังดำเนินเป็นรายกรณี ที่มีความยากในการดำเนินการ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว รวมไปถึงกระบวนการตรวจคนเข้ามอง

“การดำเนินการปฏิรูปจะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในระยะต่อไป”

รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการ EEC และพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งเป็นการเปิดประตูทางด้านตะวันตก ช่วยย่นเวลาในการขนส่งสินค้าจากแหลมฉบังไปยังมหาสมุทรอินเดียจาก 12-25 วันเหลือเพียง 4-7 วัน ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

รัฐบาลยังส่งเสริมธุรกิจ S-Curve ตลอด 5 ปีข้างหน้าได้แก่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์

“ที่สำคัญคือมุ่งเน้นการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบ โดยกำลังปรับปรุงแก้ไขและลดกฎระเบียบเพื่อส่งเสิมธุรกิจ MICE รวมไปถึงธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อให้ไทยเป็นฮับทางโลจิสติกส์ในอาเซียน”

ในด้านนวัตกรรมรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสตาร์ตอัพและระบบนิเวศสตาร์ตอัพใน 4 ด้าน คือ ด้านคน เงินทุน หน่วยงานสนับสนุน และกฎระเบียบ

งานสัมมนาวันนี้ยังได้รับเกียรติจากนักธุรกิจชั้นนำ และข้าราชการระดับสูงเข้าร่วมงาน ได้แก่ นายโนริอากิ ยามาชิตะ (Mr. Noriaki Yamashita) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน และนายอัทสึชิ ทาเคทานิ (Mr. Atsushi Taketani) ประธานเจโทร สำนักงานกรุงเทพ เสวนาในประเด็นความท้าทายของไทยในการก้าวข้ามปัญหาเชิงโครงสร้าง และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทย