ASEAN Roundup ประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์- 1 มีนาคม 2568
-
-ฮานอยตั้งเป้ากิจการในท้องถิ่นกว่า 50% ใช้นวัตกรรมในการดำเนินงาน
-โฮจิมินห์ตั้งงบวิจัยและพัฒนาถึง 2% ของ GRDP
-ดานังสร้างเศรษฐกิจไร้เงินสด
เวียดนามวางยุทธศาสตร์ดิจิทัลสู่ความรุ่งเรืองยุคใหม่

มติหมายเลข 57-NQ/TWระบุว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เป็นปัจจัยชี้ขาดในการพัฒนาประเทศ เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นและโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับเวียดนามในการเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจในยุคใหม่ ยุคแห่งความรุ่งเรืองของประเทศเวียดนาม
รัฐบาลเวียดนามได้เปิดตัวโครงการริเริ่มภายใต้มติที่ 57 เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัลของประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์หลักสองประการ วาง 7 แนวทางที่มุ่งพัฒนานวัตกรรม ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
รัฐบาลเวียดนามได้ระบุสิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆหลายข้อที่ต้องให้ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมติที่ 57 ภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดทั่วประเทศไปสู่การยอมรับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง และความมุ่งมั่นทางการเมืองที่แน่วแน่ จะมีความสำคัญในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและเอกชนในเส้นทางแห่งการพลิกโฉมนี้
รัฐบาลยังตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในปัจจุบัน จะดำเนินการทันทีเพื่อขจัดอุปสรรคทางสถาบัน โดยเปลี่ยนกรอบการกำกับดูแลให้เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่ส่งเสริมนวัตกรรมและทำให้เกิดความก้าวหน้าทางดิจิทัล
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่มุ่งเน้นคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลวางแผนที่จะลงทุนมหาศาลในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติให้ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการพลิกโฉมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและรองรับการเติบโตในอนาคต
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้คำมั่นที่ชัดเจนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลคุณภาพสูง ความสำเร็จของโครงการริเริ่มนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูด พัฒนา และรักษาผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล ส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์นี้จะเกี่ยวข้องกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเฟื่องฟูของผู้มีความสามารถ พร้อมโอกาสในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและการพัฒนาทางวิชาชีพ
มติที่ 57 ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเร่งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลภายในระบบของรัฐบาล ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ รัฐบาลสามารถยกระดับประสิทธิภาพการบริหาร เสริมความมั่นคงของชาติ และปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลได้ นอกจากนี้ยังจะช่วยในการสร้างภาครัฐที่โปร่งใสและตอบสนองประชาชนมากขึ้น
รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคธุรกิจด้วย การสนับสนุนบริษัทต่างๆ ให้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และโซลูชั่นดิจิทัลมาใช้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามในเวทีระดับโลก
มติเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความพยายามของเวียดนามในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล โดยเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับโลก
มติที่ 57 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2568 นับเป็นก้าวสำคัญสู่วิสัยทัศน์ของเวียดนามในการเป็นประเทศสมัยใหม่ที่เจริญรุ่งเรืองที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการจัดการกับความท้าทายที่มีอยู่และคว้าโอกาสระดับโลก เวียดนามกำลังวางตำแหน่งตัวเองเพื่อเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล
มติดังกล่าวเป็นแผนที่ชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งจะนำประเทศไปสู่นวัตกรรมมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป
ด้วยเหตุนี้สามเมืองหลักของเวียดนามขานรรับนโยบาย ด้วยการตั้งเป้าก้าวสู่ผู้นำทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและดิจิทัล โดยฮานอย เมืองหลวงของประเทศตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นนำภายในปี 2573 ขณะที่โฮจิมินห์ ซิตี้ เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจมุ่งสู่อนาคตดิจิทัลเพื่อก้าวสู่การเป็นเทคโนโลยี ฮับ และดานังตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมชั้นนำภายในปี 2573

ฮานอยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2573 และยังมีเป้าหมายว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนอย่างน้อย 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภูมิภาค (GRDP) ควบคู่ไปด้วย
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ฮานอยกำลังดำเนินนโยบายและโครงการริเริ่มต่างๆ ขณะเดียวกันก็ขอการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนธุรกิจเพื่อสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
ประธานคณะกรรมการประชาชนฮานอย เจิ่น ซี แทงห์ ได้ประกาศเป้าหมายนี้ระหว่างการประชุมกับนักวิทยาศาสตร์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของฮานอยในการรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภูมิภาค
การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังคณะกรรมการถาวรแห่งสมัชชาแห่งชาติเวียดนามให้ความเห็นชอบมติที่ 57-NQ/TW ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของประเทศ
กรุงฮานอยยังได้กำหนดหมุดหมายไว้สูงนี้หลายด้านในปี 2573 หนึ่งในนั้นคือตั้งเป้าให้กิจการในท้องถิ่นมากกว่า 50% นำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงาน ขณะเดียวกันวางแผนที่จะดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หนึ่งหรือสองแห่งให้ลงทุนในการวิจัยและการผลิตในเมือง โดยมุ่งหวังที่จะสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่แข็งแกร่งที่เชื่อมโยงองค์กร สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ราบรื่นในทุกภาคส่วน
ปัจจุบัน ฮานอยกำลังลงทุนอย่างมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเน้นไปที่การขยายความครอบคลุมของ 5G ทั่วทั้งเมืองโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของแอปพลิเคชันเทคโนโลยีขั้นสูง
ฮานอยยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า บล็อกเชน เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ และแพลตฟอร์มดิจิทัล เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของฮานอย และการผลักดันไปสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรม
อีกหนึ่งด้านที่ฮานอยมุ่งเน้นคือ การพัฒนาระบบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แบบเปิด เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนี้จะมีความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการขนส่ง การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการจัดการทรัพยากร
กรุงฮานอยยังทำงานเพื่อสร้างโมเดลเมืองอัจฉริยะ โดยผสมผสานข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกรดับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานของเมือง ตลอดจนจะยังคงปรับปรุงกลไกและนโยบายเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

คณะกรรมการพรรคประจำนครโฮจิมินห์ระบุว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลถือเป็นความก้าวหน้าที่มีความสำคัญสูงสุด ตลอดจนเป็นแรงผลักดันหลักในการพัฒนากำลังการผลิตที่ทันสมัยอย่างรวดเร็ว ยกระดับความสัมพันธ์ทางการผลิต สร้างสรรค์วิธีการกำกับดูแลระดับชาติ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ป้องกันความเสี่ยงที่จะล้าหลัง และนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ก้าวล้ำและความเจริญรุ่งเรืองในยุคใหม่
นครโฮจิมินห์ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 ค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) จะสูงถึง 2% ของ GRDP โดยมีการจัดสรรอย่างน้อย 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมดเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดการพัฒนา
นครโฮจิมินห์ต้องการที่จะสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางระดับชาติที่โดดเด่นสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ติดอันดับหนึ่งใน 100 เมืองชั้นนำของโลกที่มีนวัตกรรมที่มีพลวัตและระบบนิเวศของสตาร์ทอัพมากที่สุด และเป็นผู้นำเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัด/เมืองชั้นนำในด้านนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
นครโฮจิมินห์มีเป้าหมายให้สัดส่วนของธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสูงและเป็นผู้นำทั่วประเทศ และดึงดูดกลุ่มองค์กรและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกให้มาตั้งสำนักงานใหญ่ โรงงานผลิต และศูนย์วิจัยและพัฒนาภายในพื้นที่ของเมือง
นอกจากนี้ โฮจิมินห์ยังมุ่งมั่นที่จะติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัด/เมืองชั้นนำของประเทศ ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันและความก้าวหน้าของการกำกับดูแลดิจิทัล รวมทั้งมุ่งหวังที่จะให้เศรษฐกิจดิจิทัลบรรลุมีส่วนร่วมประมาณ 40% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคและจังหวัด (Gross Regional and Provincial Product:GRDP) ตลอดจนดึงดูดองค์กรเทคโนโลยีที่โดดเด่นระดับโลกอีกอย่างน้อย 3 แห่งให้จัดตั้งสำนักงานใหญ่และลงทุนในการวิจัยและการผลิตภายในโฮจิมินห์
ในขณะเดียวกัน โฮจิมินห์จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ล้ำสมัย และค่อยๆ เพิ่มเทคโนโลยีดิจิทัลเชิงยุทธศาสตร์
ภายในปี 2588 นครโฮจิมินห์ต้องการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับการวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการที่มีระบบนิเวศวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาโดยรวมของเมือง โดยทำให้รายได้ต่อหัวของเมืองอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดของประเทศ
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าที่จะยกระดับระบบนิเวศนวัตกรรมให้ใกล้เคียงกับศูนย์กลางเมืองชั้นนำ 50 แห่งของโลก จัดตั้งศูนย์วิจัย การประยุกต์ใช้ และนวัตกรรมที่ได้รับการรับรองในระดับสากลอย่างน้อย 5 แห่ง และขยายเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างน้อย 50% ของ GRDP
เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้สูงนี้ นครโฮจิมินห์จะให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชน และส่งเสริมการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการคิดเชิงยุทธศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำทางการเมืองในชุมชนที่แน่วแน่ต่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
โดยจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สาธารณะและความคิดริเริ่มการฝึกอบรมเพื่อขยายความตระหนักและความมุ่งมั่นในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่นเดียวกับการดำเนินการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลทั่วทั้งระบบการเมืองทั้งหมด ในหมู่ประชาชน และภายในแวดวงธุรกิจ
หน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานบริหารแต่ละแห่งจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการโดยละเอียดซึ่งกำหนดโครงร่างความรับผิดชอบของผู้นำและบุคลากรในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน ในขณะเดียวกันก็กำหนดเกณฑ์วัดตามวัตถุประสงค์และภารกิจให้ชัดเจน เพื่อการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้จะเน้นไปที่การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ เพื่อมีส่วนร่วมในการวิจัย การพัฒนา และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จะสนับสนุนและปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินงานเชิงรุกและมีนวัตกรรม โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
นครโฮจิมินห์ยังจะดำเนินการทบทวนเกณฑ์ความเป็นผู้นำและตำแหน่งผู้บริหารภายในหน่วยงานบริหารของรัฐอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเสนอการบูรณาการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคให้เข้าอยู่ในคณะกรรมการพรรคและทีมผู้นำ เพื่อให้มั่นใจว่ามีตัวแทนที่เหมาะสมในทุกส่วนงานและทุกหน่วยงาน
นครโฮจิมินห์จะปรับปรุงนโยบายอย่างรวดเร็ว ขจัดอุปสรรคเพื่อส่งเสริมกรอบสถาบันการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ซึ่งจะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลโดยการลงทุนในศูนย์กลางนวัตกรรม ขยายห้องปฏิบัติการ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูง
ยุทธศาสตร์สำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวข้องกับการขยายการลงทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานสำหรับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะและรักษาผู้มีความสามารถคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของภาคส่วนเหล่านี้
นครโฮจิมินห์จะให้ความสำคัญกับการบูรณาการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ากับระบบการเมือง เร่งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเพื่อสนับสนุนธรรมาภิบาลและปกป้องความมั่นคงของชาติ ซึ่งรวมถึงการปรับใช้แพลตฟอร์มรัฐบาลดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ดูแลการทำงานร่วมกันและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ใช้ร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของรัฐในทุกภาคส่วน และส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลที่ไร้รอยต่อ
นครโฮจิมินห์จะเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการและติดตามอัจฉริยะ (Intelligent Operation and Monitoring Center :IOC) ปรับปรุงขั้นตอนการบริหารให้ทันสมัย และให้บริการสาธารณะแบบไร้พรมแดน
การนำดิจิทัลมาใช้ให้แพร่หลายจะช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและพลเมือง ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัล และปลูกฝังสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย จะมีการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างและเสริมความสามารถหลักในการป้องกัน
ในขณะเดียวกัน นครโฮจิมินห์จะส่งเสริมนวัตกรรมในภาคธุรกิจอย่างจริงจัง จะมีนโยบายกระตุ้นผู้ประกอบการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนสตาร์ทอัพ และดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจะช่วยเร่งความก้าวหน้าของเมืองต่อไป
สำหรับการดำเนินการตามแผนข้างต้น นครโฮจิมินห์จะจัดตั้งคณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการของเมือง(City Steering Committee)เพื่อดำเนินการตามมติที่ 57 โดยมีเลขาธิการพรรคประจำเมืองเป็นประธาน
คณะกรรมการพรรคของคณะกรรมการประชาชน(People’s Committee)นครโฮจิมินห์จะกำกับดูแลคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ให้พัฒนาแผนการดำเนินงานโดยละเอียดสำหรับมติที่ 57 และโครงการปฏิบัติการของคณะกรรมการพรรคโฮจิมินห์ ควบคู่กับการกำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงาน ส่วนงาน และท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประจำปี
นอกจากจะให้ความสำคัญกับความเป็นผู้นำในการคิดเชิงนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมเชิงรุก ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความรับผิดชอบในหมู่บุคลากรในการพัฒนาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
ตลอดจนจะให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการดำเนินการตามความคิดริเริ่มด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่ามีการลงทุนสาธารณะและเงินทุนในการดำเนินงานที่เพียงพอ และจะเร่งรัดการพัฒนาและเสนอนโยบายสนับสนุนไปยังสภาประชาชนนครโฮจิมินห์เพื่อประกาศใช้

ดานังกำลังก้าวใหญ่ไปสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลชั้นนำในเวียดนามและอาเซียน ด้วยการเปิดตัวแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามมติที่ 57 ที่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเป็นกำลังหลักของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม
แผนปฏิบัติการเน้นความเป็นผู้นำที่ครอบคลุมจากหน่วยงานในเมือง ระดมสรรพกำลังจากธุรกิจ สถาบันวิจัย และประชาชน เพื่อเร่งการกำกับดูแลทางดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้
ดานังตั้งเป้าที่จะบูรณาการโซลูชั่นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบทั่วทั้งหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ และบริการสาธารณะ เพื่อให้มั่นใจว่า 85% ของประชาชนและองค์กรต่างๆ ใช้บริการสาธารณะออนไลน์ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะพัฒนาระบบนิเวศเมืองอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายดิจิทัลของอาเซียน
ภายในปี 2588 ดานังมุ่งที่จะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลและนวัตกรรมชั้นนำของเวียดนามและอาเซียน โดยเศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนอย่างน้อย 60% ของ GRDP รวมทั้งมีแผนที่จะดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลกให้มาจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) และจะสนับสนุนองค์กรดิจิทัลในประเทศอย่างน้อยสองแห่งเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ยังได้ให้คำมั่นทางการเงินอันแรงกล้า โดยจัดสรรงบประมาณประจำปีอย่างน้อย 3% เพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล โดยภาคเอกชนจะมีส่วนสมทบ 60% ของการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา
แผนงานของดานังยังไปไกลกว่าเป้าหมายระดับชาติตามมติที่ 57 ในด้านสำคัญ ภายในปี 2573 ตั้งเป้าที่จะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล 35-40% ของ GRDP (เทียบกับเป้าหมายระดับชาติที่ 30%) นอกจากนี้ ตั้งเป้าธุรกรรมไร้เงินสดไว้ที่ 90% ซึ่งเกินเป้าหมายระดับชาติที่ 80%
การส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงคาดว่าจะมีสัดส่วนอย่างน้อย 50% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งเสริมบทบาทของดานังในฐานะศูนย์กลางสำหรับการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ แอปพลิเคชัน AI และองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ก้าวไปสู่การปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของเวียดนาม
เพื่อให้วิสัยทัศน์นี้เป็นจริง ดานังได้วางแนวทางปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ไว้ 6 กลุ่มพร้อมโครงการริเริ่มแบบเจาะจง 50 โครงการ รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรม AI และเซมิคอนดักเตอร์ การขยายโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ และใช้การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพหลักสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
ผู้นำเมืองย้ำว่านวัตกรรมดิจิทัลจะต้องกลายเป็นรากฐานที่สำคัญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของรัฐบาลท้องถิ่นจะวัดจากความสามารถในการบูรณาการการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเข้ากับการปฏบัติงานประจำวัน
ด้วยเป้าหมายที่ใหญ่และความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ดานังกำลังอยู่ในเส้นทางที่จะสร้างตัวเองให้เป็นเมืองอัจฉริยะอันดับต้นๆ ของเวียดนาม และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอาเซียน
เลขาธิการใหญ่พรรคเวียดนามเรียกร้องให้ลดอุปสรรคทางธุรกิจลง 30%

ในการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการนโยบายและกลยุทธ์ ภายใต้คณะกรรมการกลางพรรคเกี่ยวกับเป้าหมายการเติบโตอย่างน้อย 8% ที่กำหนดไว้ในปี 2568 นายโต เลิ่ม เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันต่อไปและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยการลดระยะเวลากระบวนการขั้นตอนการบริหารลงอย่างน้อย 30% ลดต้นทุนทางธุรกิจอย่างน้อย 30% และขจัดเงื่อนไขทางธุรกิจที่ไม่จำเป็นอย่างน้อย 30%
โดยมีเป้าหมายคือให้เวียดนามติด 1 ใน 3 อันดับแรกของอาเซียนในแง่ของสภาพแวดล้อมการลงทุนภายใน 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า
นายโต เลิ่ม เสนอแนะให้กล้าใช้กรอบกฎหมายเฉพาะทาง เนื่องจากระบบกฎหมายของประเทศยังคงตามหลังการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม และการบูรณาการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นอกจากนี้ขอให้มีกรอบกฎหมายสำหรับการควบคุมนำร่องภาคเทคโนโลยีเกิดใหม่และอื่นๆ สำหรับเขตเศรษฐกิจและเทคโนโลยีพิเศษ มีกลไกสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษ และกลไกเฉพาะสำหรับการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าภายในเขตพิเศษดังกล่าว
รวมทั้งต้องมีความพยายามมากขึ้นในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในเมืองคุณภาพสูงและเชื่อมกันให้เสร็จสมบูรณ์ สร้างระบบแผนที่ดิจิทัลระดับชาติสำหรับการวางแผนและราคาที่ดิน และจัดตั้งกองทุนการเคหะแห่งชาติ(National Housing Fund)เพื่อพัฒนาบ้านราคาไม่แพงในเมืองใหญ่ ๆ
สิ่งสำคัญคือต้องใช้นโยบายทางการเงินแบบเปิดสำหรับโมเดลศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ สร้างรูปแบบท่าเรือปลอดภาษีเพื่อเปลี่ยนเวียดนามให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญ เปิดตัว National Investment Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเวียดนามอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และจัดการกับมลพิษทางอากาศในกรุงฮานอยและโฮจิมินห์อย่างละเอียด
เลขาธิการใหญ่พรรคเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการดึงดูดคนเก่งและการสร้างแรงจูงใจพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่มีผลงานโดดเด่น ปรับปรุงกลไกการจัดองค์กรของรัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลไกการกระจายอำนาจและการมอบอำนาจ และมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับความท้าทายของประชากรสูงวัย
ในด้านการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ เลขาธิการใหญ่พรรคฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนเพิ่ม ซึ่งรวมถึงการขยายการลงทุนของรัฐบาลในระบบโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดี มีความโปร่งใส ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ พร้อมเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่าย
สิ่งสำคัญคือต้องส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากสามารถสร้างการเติบโตของ GDP ที่ยั่งยืน และเพิ่มการส่งออกสุทธิ นายโต เลิ่มกล่าว และแนะว่าการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรแทนที่ผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว การพัฒนาการเกษตรอุตสาหกรรม การปรับนโยบายการใช้ที่ดินเพื่ออำนวยความสะดวกในการรวบรวมที่ดิน และสนับสนุนการดำเนินการนำร่องของความร่วมมือรูปแบบใหม่ในด้านการเกษตร
สำหรับมาตรการเฉพาะด้านเพื่อส่งเสริมการเติบโตจากด้านอุปสงค์นั้น ผู้นำระดับสูงชี้ให้เห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย นโยบายการเงินที่ยืดหยุ่น และการผ่อนคลายทางการเงินอย่างรอบคอบ
สำหรับการบริหารจัดการสกุลเงินดิจิทัลนั้น จะต้องไม่มีความล่าช้า ไม่พลาดโอกาส และไม่สร้างช่องว่างหรือแยกตัวจากการเงินรูปแบบใหม่และวิธีการทำธุรกรรมสมัยใหม่
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เวียดนามทำรายได้ 18.7 พันล้านดอลลาร์

บริษัทในประเทศยังคงมีบทบาทไม่มากในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
กระทรวงการวางแผนและการลงทุน ซึ่งเพิ่งควบรวมกับกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการ FDI ที่จดทะเบียนแล้ว 174 โครงการในภาคเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม โดยมีเงินลงทุนรวมเกือบ 11.6 พันล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีต่อๆ ไป
บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Intel จากสหรัฐอเมริกา, Marvell Technology จากสหรัฐอเมริกา, Samsung จากเกาหลีใต้, CoAsia SEMI จากเกาหลีใต้ และ Renesas จากญี่ปุ่น ได้เข้ามาในเวียดนามแล้ว ซึ่งตอกย้ำถึงความโดดเด่นที่เพิ่มขึ้นของประเทศในอุตสาหกรรมนี้
การขยายตัวของธุรกิจ FDI ในเวียดนามเห็นได้ชัดเจน ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 บริษัท Amkor Technology จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้ให้บริการประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์จากภายนอกชั้นนำของโลก ได้ยื่นขออนุมัติเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเป็น 3 เท่าในจังหวัด บั๊กนิญ ทางตอนเหนือเพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 3.6 พันล้านหน่วยต่อปี
โรงงานของ Amkor ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนตุลาคม 2568 จะมีพนักงานประมาณ 7,200 คน และใช้ระบบอัตโนมัติ 70%
จากข้อมูลของฝ่ายบริหารของ Amkor เวียดนามมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงยุทธศาสตร์ โดยใกล้กับศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ เช่น จีน ไทย และเกาหลีใต้ ช่วยให้มั่นใจได้ถึงห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและต้นทุนที่แข่งขันได้
Le Quang Dam ซีอีโอของ Marvell Vietnam LLC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Marvell Technology เชื่อว่าการขยายตัวของ Amkor เป็นการส่งสัญญาณถึงความสามารถของเวียดนามในการตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก
การขยายกำลังการผลิตสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลงทุนระยะยาว และเน้นย้ำถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเวียดนามในด้านบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์และการทดสอบภายในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
นอกจาก Amkor แล้ว บริษัท Hana Micron ของเกาหลีใต้ยังได้ลงทุนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโรงงานบรรจุภัณฑ์และทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ในจังหวัด บั๊กซางทางตอนเหนือตั้งแต่ปี 2562 โดยมีแผนที่จะขยายเพิ่มเติม
บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกาก็กำลังขยายธุรกิจในเวียดนามเช่นกัน Marvell Technology บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัย การพัฒนา การออกแบบชิป ดำเนินธุรกิจในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 470 คน โดย 98% เป็นวิศวกร
จากข้อมูลของ Le Quang Dam จำนวนบริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ผู้นำในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น Nvidia, Google, Qualcomm, Synopsys, Faraday และ Infineon ยังคงรับสมัครวิศวกรในเวียดนามต่อไป ซึ่งส่งสัญญาณถึงความต้องการแรงงานที่มีทักษะในภาคส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น
แม้จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง โดยมีรายได้สูงถึง 18.7 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของในประเทศ ตามการระบุของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม
แม้ว่ารายได้จะสูง แต่ผลกำไรส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริษัท FDI มากกว่าบริษัทในประเทศ ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าจำนวนบริษัทเวียดนามที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ Intellectual Property Cores และการผลิตชิป ยังคงค่อนข้างน้อยมาก
“เวียดนามเผชิญกับการขาดแคลนวิศวกรที่มีทักษะสูงซึ่งสามารถออกแบบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ที่สมบูรณ์ได้ โดยทั่วไปแล้ววิศวกรเวียดนามจะมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ในฐานะสมาชิกในทีม มากกว่าที่จะเป็นหัวหน้านักออกแบบหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจ แม้ว่าจะมีส่วนร่วมในการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ แต่การมีส่วนร่วมของพวกเขามักจะถูกจำกัดอยู่ในขั้นตอนเฉพาะมากกว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสมบูรณ์” Le Quang Dam กล่าว
เหวียน แทงห์ เอียน ผู้อำนวยการทั่วไปของ CoAsia SEMI Vietnam ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ CoAsia SEMI ชี้ให้เห็นว่าวิศวกรออกแบบเซมิคอนดักเตอร์คลื่นลูกแรกของเวียดนามเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของสมาร์ทโฟน ปัจจุบัน เทรนด์ที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับชิป AI
การพัฒนาที่สำคัญในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาคือการเกิดขึ้นของวิศวกรออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ชาวเวียดนามหลายพันคนและพนักงานในโรงงานบรรจุภัณฑ์และทดสอบ ปัจจุบันวิศวกรชาวเวียดนามจำนวนมากทำงานในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงทั่วโลก ทำให้ยังมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไว้
เหวียน แทงห์ เอียนเชื่อว่าวิศวกรเหล่านี้เป็นรากฐานสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคตของเวียดนาม
“ไม่มีอุตสาหกรรมใดที่ได้รับความสนใจมากเท่ากับภาคเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบัน ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มโอกาสในปัจจุบันให้สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งภายในของอุตสาหกรรม” เหวียน แทงห์ เอียนกล่าว
เพื่อเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ รัฐบาลเวียดนามได้ออกนโยบายเพื่อสนับสนุนบริษัทในประเทศ
ภายใต้มติใหม่ที่ส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล องค์กรในประเทศที่จัดตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกจะได้รับการสนับสนุนทางการเงิน 30% ของการลงทุนทั้งหมด และสูงสุด 1 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีคุณสมบัติที่จะรับสิทธิประโยชน์เหล่านี้ บริษัทต่างๆ จะต้องก่อสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จและเริ่มการผลิตก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2573
นอกจากนี้ ธุรกิจที่ลงทุนในโครงการเซมิคอนดักเตอร์สามารถจัดสรรรายได้ที่ต้องเสียภาษีได้ 10-20% ต่อปีให้กับกองทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การจัดสรรทั้งหมดต้องไม่เกินการลงทุนโครงการทั้งหมด
ในส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามในปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์สู่ปี 2593 รัฐบาลตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญเซมิคอนดักเตอร์ 50,000 คนภายในปี 2573 และเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต่อปีเป็นมากกว่า 25 พันล้านดอลลาร์
เวียดนามออกเกณฑ์ประเมินการลงทุนจากต่างประเทศ

เกณฑ์ทางเศรษฐกิจ 29 ข้อแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม โดยประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดการลงทุน การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ขีดความสามารถด้านนวัตกรรม ประสิทธิภาพการดำเนินงาน การชำระภาษี ผลกระทบที่ต่อเนื่อง และการเชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศ
ส่วนเกณฑ์ทางสังคมทั้ง 8 ข้อมุ่งเน้นไปที่การสร้างงาน รายได้ของพนักงาน ความเท่าเทียมทางเพศ และการปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะที่เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 ข้อจะวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ต่างชาติลงทุน และมาตรการที่ธุรกิจซึ่งมีต่างประเทศลงทุนดำเนินการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม
ภายในสิ้นปี 2567 เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่ารวม 502.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ 42,002 โครงการ
อุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปเป็นผู้นำด้วยมูลค่า 308.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ 73.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า 41.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเวียดนามด้วยมูลค่ากว่า 92 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง
โฮจิมินห์ซิตี้เป็นผู้รับ FDI รายใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าเกือบ 59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย จังหวัดบิ่ญเซือง 42.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และฮานอย 42.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
กัมพูชาหันไปมุ่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

เศรษฐกิจคาดว่าจะเติบโตประมาณ 6% ในปี 2567 และประมาณ 6.3% ในปี 2568 ตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในกรอบการเงินสาธารณะระยะกลาง ภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยมีสัดส่วนประมาณ 8.5% ในการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 และคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 8.6% ในปี 2568
ในพิธีปิดการประชุมทบทวนแผนประจำปี 2567 และวางแผนสำหรับปี 2568 ของกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เมื่อวันพุธ(26กุมภาพันธ์ 2568)ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี นายวงศรี วิสุทธิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรีด้วย ยังได้เน้นย้ำถึงความหลากหลายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของกัมพูชาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
โดยชี้ว่ากัมพูชาได้สร้างความร่วมมือทางการค้ามากขึ้นและดึงดูดการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าสูงนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการประกอบรถยนต์ เป็นผลให้ทั้งการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและไม่ใช่เสื้อผ้ากลายเป็นภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ที่สุด
“การส่งออกในปี 2567 ขยายตัว 15.7% และมีสินค้ากัมพูชาเข้าสู่ตลาดระดับภูมิภาคและต่างประเทศมากขึ้น” นายวงศรีกล่าว “ในกระบวนการพัฒนาระยะกลางและระยะยาว กัมพูชาจะต้องเสริมสร้างและเร่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนปรับตัวและกระจายโครงสร้างทางเศรษฐกิจและฐานที่สนับสนุนการเติบโตมานานกว่าสองทศวรรษ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถรักษาการเติบโตในระดับสูงต่อไปได้ในระยะยาวและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น”
แม้จะมีความสำเร็จและความก้าวหน้าที่โดดเด่นในปี 2024 แต่กระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่ต้องให้ความสนใจมากขึ้น
นายวงศรีเน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญบางประการ ซึ่งรวมถึงองค์กรทางเศรษฐกิจที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมมีจำนวนไม่มาก คิดเป็น 16% ของธุรกิจทั้งหมดในภาคส่วนเหล่านี้ นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ ประมาณ 97% ยังคงดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจนอกระบบ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่และบริษัทการลงทุนจากต่างประเทศได้
การจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ การรับรองความปลอดภัย และการกำหนดมาตรฐานยังคงไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การเข้าถึงเครือข่ายน้ำประปาก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน เนื่องจากการเชื่อมต่อส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองซึ่งขยายไปสู่ชุมชนในชนบทไม่มากนัก
“ดังนั้น กัมพูชาจำเป็นต้องเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการดึงดูดอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนฐานการผลิตเพื่อเตรียมที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตทางเลือก” นายวงศรีกล่าว
นายวงศรีย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ระดับภูมิภาคและระดับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบนิเวศของผู้ประกอบการและนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็จัดการกับความท้าทายที่สำคัญในด้านโลจิสติกส์ โทรคมนาคม และภาคดิจิทัล รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตและการขนส่ง
“กัมพูชายังจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการส่งเสริมสุขภาพ การศึกษา และการฝึกอบรมทักษะทางเทคนิค โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิมและมีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มระดับโลก กัมพูชาต้องเตรียมพร้อมที่จะยอมรับการดำเนินการตามหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว” นายวงศรีกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนายเฮ็ม แวนดี กล่าวว่า กระทรวงฯมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก