ThaiPublica > เกาะกระแส > การบินไทย กางผลประกอบการปี 2567 รายได้เพิ่ม เร่งออกจากแผนฟื้นฟู พ.ค.นี้

การบินไทย กางผลประกอบการปี 2567 รายได้เพิ่ม เร่งออกจากแผนฟื้นฟู พ.ค.นี้

26 กุมภาพันธ์ 2025


การบินไทยกางผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีรายได้ 187,989 ล้านบาท ขาดทุน 26,901 ล้านบาท จากแปลงหนี้เป็นทุน ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ที่ 41,515 ล้านบาท คาดสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในเดือนพฤษภาคม และกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือนมิถุนายนนี้

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ได้ร่วมแถลงผลการดำเนินงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยระบุว่า ปี 2567 การบินไทยมีผู้โดยสารประมาณ 16 ล้านคนเพิ่มขึ้นประมาณ 17 % จากปีก่อน แต่ยังน้อยกว่าปี 2562 ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด เพราะการบินไทยปัจจุบันมีจำนวนเครื่องบินเพียง 79 ลำเท่านั้น ขณะที่ปี 2562 มีเครื่องบิน 103 ลำ

อย่างไรก็ตามผลประกอบการของการบินไทยในปี 2567 รวมทั้งบริษัทย่อยมีจำนวน 187,989 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 161,067 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 16.7% จากปี 2566 และเพิ่มมากกว่ารายได้ในปี 2562 แม้ว่าจะมีจำนวนเครื่องบินจะน้อยกว่า เนื่องจากค่าโดยสารปรับตัวสูงขึ้นมาค่อนข้างมากจากปัจจัยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ผลประกอบการ ปี 2567  การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 41,515 ล้านบาท ทำให้รายได้ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 40,211 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 3.2%   ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ  และ  EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินก็อยู่ในระดับ 41,839 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่รายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวประมาณ 45,000 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิติดลบ 26,901 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามงบการเงินรวมสำหรับปี 2567 การบินไทยมีผลขาดทุน 26,901 ล้านบาท เกิดจากผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 45,271 ล้านบาท ที่บริษัทฯ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยผลขาดทุนทางบัญชีส่วนใหญ่ประมาณ 40,582 ล้านบาท เกิดจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ราคาตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม

ส่วนที่เหลือมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้ที่เร็วกว่ากำหนดที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ดี รายการดังกล่าวเป็นผลขาดทุนทางบัญชีซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และไม่ได้ส่งผลต่อการออกจากการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นบวก

นายปิยสวัสดิ์  กล่าวถึงแผนที่จะออกจากการฟื้นฟูกิจการนั้นมีเงื่อนไขทางการเงิน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ หนึ่ง EBITDA  หักค่าเช่าเครื่องบินในรอบ  12 เดือนต้องเกินกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยต้องเป็น EBITDA เฉพาะของการบินไทยไม่รวมบริษัทย่อย  ซึ่ง EBITDA ของการบินไทย หลังหักค่าเช่าเครืองบินก็อยู่ที่ระดับ 41,473 ล้านบาท จึงสามารถที่จะออกจากแผนฟื้นฟูได้ ส่วนเงื่อนไขที่สองคือ ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตามงบเฉพาะกิจการกลับมาเป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาทจากที่เคยติดลบ 43,352 ล้านบาท จึงถือว่าเป็นบวกในระดับที่ถือว่าดีพอสมควร

อย่างไรก็ตามในการออกจากแผนการฟื้นฟู ต้องมีเงื่อนไขอยู่ 5 ข้อจึงจะสามารถยุติการฟื้นฟูได้ ซึ่งการบินไทยได้ดำเนินการไปเกือบทั้งหมดแล้วประกอบด้วย

1) การจดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อ 14 ธันวาคม 2565
2) ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูโดยไม่เกิดเหตุผิดนัดซึ่งก็ไม่มีเหตุผิดนัด
3) EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000ล้านบาท ซึ่งตลอด 12 เดือนที่ผ่านมาการบินไทยสามรถทำได้ 41,473 ล้านบาท
4) ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องปรับขึ้นมาเป็นบวกซึ่งเรื่องนี้ก็ดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย เพราะตอนนี้เป็นบวกแล้ว 45,495 ล้านบาท
5) ต้องดำเนินการคือ การมีกรรมการใหม่ ซึ่งในเรื่องนี้จะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 เมษายนนี้ เพื่อเลือกกรรมการใหม่

นายปิยสวัสดิ์  กล่าวว่า  การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 เมษายน  2568  จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (Record Date) เป็นวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568 เพื่อพิจารณาอนุมัติกำหนดจำนวนกรรมการบริษัท จำนวน 11 คนหรือ 12 คน

สำหรับกรรมการที่จะเสนอในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยกรรมการในปัจจุบันจำนวน 3 คน ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และพลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย  โดยทั้ง 3 คนจะยังเป็นกรรมการต่อไปอีก 1 ปี และกรรมการเข้ามาใหม่จำนวน 8 คนหรือ 9 คน (ตามแต่จำนวนกรรมการที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ) โดยรายนามกรรมการเข้าใหม่ที่เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวน 6 คน ได้แก่ นายลวรณ แสงสนิท ดร. กุลยา ตันติเตมิท นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ พลตำรวจเอก ธัชชัย ปิตะนีละบุตร นายชาติชาย โรจน์รัตนางกูร และนายชาย เอี่ยมศิริ และกรรมการอิสระจำนวน 3 คนได้แก่ นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล และนายสัมฤทธิ์ สำเนียง

นายปิยสวัสดิ์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท จำนวนหุ้นเท่าเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีของบริษัทฯ ให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ลดลงจากจำนวนประมาณ 283,033 ล้านบาท เป็นจำนวนประมาณ 36,794 ล้านบาท ทำให้ผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 180 ล้านบาท และเมื่อรวมกับผลประกอบการในไตรมาส1ของปีนี้ก็เชื่อว่าในปลายไตรมาสนี้การขาดทุนสะสมก็จะหายไปกลายเป็นกำไรสะสมได้ ซึ่งหมายความว่าการบินไทยจะสามารถจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นได้

ทั้งนี้การลดราคาพาร์ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือบริษัทฯ แต่อย่างใด และไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในงบการเงินของบริษัทฯ และ ไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าบริษัทหรือมูลค่าต่อหุ้น เนื่องจากมูลค่าต่อหุ้นไม่ได้ถูกกำหนดจากมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน และเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นให้แก่นักลงทุนภายหลังการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหากในอนาคต บริษัทฯ ต้องการที่จะระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการหรือชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดเรื่องผลขาดทุนสะสมซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีอีกต่อไป

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

ส่วนขั้นตอนการออกจากแผนฟื้นฟู และการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า  ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้บริหารได้มติอนุมัติงบการเงินปี 2567 ซึ่งการบินไทยกลับมามีทุนเป็นบวก และมีมติเรื่องการลดราคาพาร์ ทำให้ภายในเดือนมีนาคม 2568 จะสามารถยื่นต่อขอจดทะเบียนลงทุน ลดทุนด้วยการลดพาร์ต่อกระทรวงพาณิชย์

ในวันที่ 18  เมษายน ซึ่งเป็นวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติแต่งตั้งกรรมการ และ ภายในเดือนเมษายน 2568 จะยื่นต่อศาลเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และภายในเดือนพฤษภาคมก็คาดว่าศาลจะอนุมัติยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หลังจากนั้นเมื่อแผนฟื้นฟูยุติลงแล้ว หน้าที่ของผู้บริหารแผนฟื้นฟูจะหมดลง ทำให้กรรมการบริษัทจะข้ามาดูแลบริษัทเหมือนกับบริษัททั่วไป  หลังจากนั้นก็สามารถยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำหุ้นการบินไทยเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถจะสามารถซื้อขายได้ในเดือนมิถุนายน 2568

รายละเอียดผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567

สำหรับ รายละเอียดผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,922 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 161,067 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.7% โดยในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทฯ มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 16.14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.38 ล้านคนจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปรับตัวลดลงจาก 79.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 78.8% ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฝูงบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเพิ่มจุดบินใหม่เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เท่ากับ 146,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวม 120,856 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 21.2% โดยส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 50,474 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.5% ของค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 41,515 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งมีกำไร 40,211 ล้านบาท

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 18,781 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวม 49,260 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 45,271 ล้านบาท ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี รายการดังกล่าวเป็นผลขาดทุนทางบัญชีซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และไม่ได้ส่งผลต่อการออกจากการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นบวก

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิตามงบการเงินรวมเท่ากับ 26,901 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 28,123 ล้านบาท และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 41,839 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อน 1,036 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 292,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 53,517 ล้านบาท หรือ 22.4% หนี้สินรวมจำนวน 246,919 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 35,214 ล้านบาท หรือ 12.5% และส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 45,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 88,731 ล้านบาท ซึ่งโดยหลักมาจากกำไรจากการดำเนินงานในระหว่างปี และผลจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 79 ลำ แบ่งเป็นแบบลำตัวกว้างและลำตัวแคบ จำนวน 59 ลำ และ 20 ลำตามลำดับ โดยตารางบินฤดูหนาว ประจำปี 2568 ของบริษัทฯ วางแผนทำการบินไปยัง 64 จุดบินเช่นเดียวกับในปี 2567 แต่มีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 883 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปี 2567 ที่มี 843 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางบินยอดนิยม รวมถึงรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบิน จำนวนเที่ยวบิน และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป