ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลเลือกตั้ง นายก อบจ. เปิด 3 เหตุผลใหญ่ เพื่อไทยเหมือนจะชนะ แต่พ่ายแพ้ทางการเมือง

ผลเลือกตั้ง นายก อบจ. เปิด 3 เหตุผลใหญ่ เพื่อไทยเหมือนจะชนะ แต่พ่ายแพ้ทางการเมือง

5 กุมภาพันธ์ 2025


นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงใหม่ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/@pichai.lertpongadisorn

ความทุ่มเททางการเมือง ของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากการเป็นผู้ช่วยหาเสียงแล้วเขายังตั้งฉายาให้ตัวเองด้วยตัวย่อว่า “สทร.” พร้อมบอกความหมายด้วยว่า “เสือกทุกเรื่อง”

ในเวทีเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นับเป็นเวทีการเมืองแรก ที่ทักษิณ ชินวัตร ประกาศลงมือ-ลงเสียง ขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมืองอย่างเต็มตัว-เต็มที่กับทุกพื้นที่-ทุกจังหวัด

การกลับมาในกระดานการเมืองของทักษิณ ในรอบ 18 ปี นับว่าช้ากว่า “เนวินและพวก” ไปหลายสิบก้าว

ด้วยวิถีทางการเมืองแบบ “จับตัววางตาย-สไตล์เนวินและพวก” ที่พัฒนาโมเดลการเมืองต้นแบบจากมังกรการเมือง “บรรหารบุรี” ที่ครอบครองพื้นที่ทางการเมืองภาคกลาง จากแกนกลางโมเดลจังหวัดสุพรรณบุรี

แต่ด้วยบริบทของการเมืองใหม่ ระบบนิเวศน์ของพรรคการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สไตล์ของภูมิใจไทย ที่มีเนวิน ชิดชอบ นักการเมืองรุ่นเก๋า ที่ผันตัวไปเป็นเจ้าพ่อวงการธุรกิจการกีฬา ส่องแสงให้สนามการเมืองในกลุ่มจังหวัดอีสานใต้เกือบทั้งหมด มีแกนกลางอยู่ที่บุรีรัมย์ยูในเตด สโมสรฟุตบอล อันดับ 1 ของประเทศ ด้วยมูลค่าทีมกว่า 500 ล้าน

ผนึกแน่นกับอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ครอบครองตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เจ้าของธุรกิจและทรัพย์สินที่เปิดเผยได้กว่า 4.5 พันล้านบาท มีทั้งกิจการรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ สนามกอล์ฟ

ด้วยความเข้าถึง-เข้าใจเกมเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ การเลือกตั้งท้องถิ่น และการเลือกวุฒิสมาชิกแบบพิศดาร ผลการเลือก สว.-เสียงสภาสูง จึงตกอยู่ในกลุ่มอำนาจ “สว.สีน้ำเงิน” แบบเกินครึ่ง ต่อยอดอำนาจในการจับตัววางตายในระดับการคัดเลือก-สรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสสระ ในระยะต่อไปแบบไม่ไกลเกินเอื้อม

ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.ล่าสุด ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จการเมืองสไตล์เนวินและพวก อย่างน้อย 8 พื้นที่ พรรคเพื่อไทย โดยฝีมือ-ฝีปากทักษิณ ต้องยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้ให้กับวิถีการเมืองของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” หรือในนามของกลุ่มการเมือง “สีน้ำเงิน”

นายทักษิณ ชินวัตร เยือนหนองคาย ช่วยปราศรัยหาเสียงผู้สมัครนายกอบจ.พรรคเพื่อไทย
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/wuttigaichanglek

เฉพาะจังหวัดที่นายทักษิณ เดินทางไปขึ้นเวทีกลางแดด 8 จังหวัด ขณะที่ฝ่ายกลุ่มการเมืองสีน้ำเงิน ไม่มีเงาของเนวิน-อนุทิน ปรากฏกาย แต่ได้ชัยชนะมาถึง 4 จังหวัด ในภาคเหนือและภาคอีสาน คือ เชียงราย, ลำพูน, บึงกาฬ, ศรีสะเกษ

สรุปผลเลือกตั้ง อบจ.ฝ่ายกลุ่มการเมืองสีน้ำเงิน กำชัยชนะถึง 10 จังหวัด
1.ศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล
2.บุรีรัมย์ นายภูษิต เล็กอุดากร
3.บึงกาฬ นางแว่นฟ้า ทองศรี
4.อำนาจเจริญ นายพนัส พันธุ์วรรณ
5.ลพบุรี นางอรพิน จิระพันธุ์วาณิช
6.พิจิตร นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา
7.เชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงค์
8.กระบี่ นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล
9.สตูล นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์
10.นครศรีธรรมราช วาริน ชิณวงศ์ (เลือกตั้งก่อนหน้านี้)

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครในนามพรรค 14 คน และในนามสมาชิกพรรคอีก 2 จังหวัด ได้ชัยชนะครอบครองเก้าอี้นายกฯ อบจ.ฝ่ายเพื่อไทยไป 10 จังหวัด โดยภาคเหนือ ชนะ 4 จังหวัดจาก 6 จังหวัดที่ส่งผู้สมัคร ภาคอีสาน ชนะ 5 จาก 9 จังหวัดที่ส่งผู้สมัคร และภาคตะวันออก 1 ที่นั่ง ประกอบด้วย

1.เชียงใหม่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร
2.น่าน นพรัตน์ ถาวงศ์
3.แพร่ อนุวัธ วงศ์วรรณ
4.ลำปาง ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร
5.นครราชสีมา ยลดา หวังศุภกิจโกศล
6.สกลนคร นฤมล สัพโส
7.หนองคาย วุฒิไกร ช่างเหล็ก
8.มหาสารคาม พลพัฒน์ จรัสเสถียร
9.นครพนม อนุชิต หงษาดี
10.ปราจีนบุรี ณภาภัช อัญชสาณิชมน

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา จึงได้ยินเสียงเฉลยปัจจัยความพ่ายแพ้จาก แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคก้องทั่วพรรคว่า “พรรคทำเต็มที่ พยายามประสานความเห็นที่แตกต่าง ทำให้เหนื่อยในการเคลียร์ อยากให้ปล่อยวาง ถ้ารวมใจกันก็ชนะได้ แต่จังหวัดที่มีความขัดแย้งเพราะไม่ยอมกัน…เราแตกสามัคคี บางจังหวัดแยกกันสามสี่ก๊วน ทำให้งานลำบาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือพรรคไม่ได้นายก อบจ.ตามเป้า อยากให้สามัคคีกัน ไม่งั้นจะกระทบการเลือกตั้งใหญ่”

ทั้ง ๆ ที่นายทักษิณ ชินวัตร พ่อของนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรค ลงพื้นที่อย่างหนัก ขึ้นเวทีปราศรัยหลายเวทีตามจำนวนที่พรรคเพื่อไทย ส่งข่าวต่อสื่อมวลชนคือ 24 เวทีในรอบ 30 วัน ก่อนวันลงคะแนน

ในหลายเวทีหาเสียง นายทักษิณ มักจะพูดพุ่งเป้าเรียกคะแนนด้วยคีเวิร์ดที่มีนัยสำคัญ เช่น…“บ้านเมืองนี้หลังจากที่ผมออกไปก็ขาดการบริหารอย่างมีเป้าหมายไปเยอะ ก็เหมือนการบริหารที่ไม่บริหาร บ้านเมืองจึงแย่ไปหลายจุด”

และวรรคที่สำคัญ คือ “ผมกลับมาแล้ว ในฐานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และได้รับพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ ให้ผมได้กลับมารับใช้ประชาชน จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเราอยู่อย่างมีความสุข”

ววรรคทองเรื่องปากท้อง ทักษิณปราศรัยจับใจเช่นเดิม ด้วยคำว่า “ผมจากไป 18 ปีรวยขึ้นหรือไม่ เมื่อก่อนตอนผมอยู่ คนอุดรฯ มีควายหลายตัว แต่วันนี้เหลือกี่ตัว หายหมดแล้วเหลือแต่ชีวิต”

หลังการประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แกนนำพรรคเพื่อไทยสรุปบทเรียนการเลือกตั้ง และบทบาทการทางการเมืองในการเป็นรัฐบาล 2 ปี ที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปอย่างช้าปี 2570 ไว้ว่า…”พรรคเพื่อไทย ได้สูญเสียจุดยืนสำคัญไป 3 ข้อ”

จุดยืนและจุดเด่นที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่หายไป 3 ข้อ คือ

1.พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคฝ่ายประชาธิปไตย อีกแล้ว รูปธรรมคือ งานในฝ่ายนิติบัญญัติที่ขาดการเป็นผู้นำ ทั้งการเสนอแนวทางที่ไม่ชัดเจนกลับไปกลับมาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ – การนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง การเสนอกฎหมายทำได้เพียงจัดทำร่างประกบกับพรรคประชาชน (ปชน.)

2.พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคที่เก่งกาจ หรือมีจุดแข็งเรื่องการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ มีแต่เพียงมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการแจกเงินหมื่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท หรือแม้กระทั่งโครงการแลนด์บริดจ์ ทีไม่ได้มาจากร่างนโยบายหาเสียงของพรรค

3.พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่พรรคที่มุ่งพัฒนาองค์กรเป็นสถาบัน แต่กลับไปสู่การเป็น “พรรคบ้านใหญ่” ต่างจากยุคไทยรักไทย ที่นายทักษิณ มุ่งรวบรวมนักการเมืองรุ่นใหญ่เข้ามาใส่เสื้อพรรคไทยรักไทย เป็นหนึ่งเดียว รวบรวมความเป็นเอกภาพทางการเมืองไว้ มีนักการเมืองรุ่นใหญ่ เป็นตัวเลือกในการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดังนั้น เป้าหมายที่ทักษิณ ชินวัตร ตั้งตัวเลขในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ว่าต้องได้อันดับ 1 ด้วยจำนวน ส.ส.200 ปลายๆ นั้นนับว่ายังยากยิ่งกว่ายาก

เพราะแกนนำพรรคหลายคนพูดตรงกันว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า น่าสนใจว่าระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับพรรคเพื่อไทย ใครจะเข้าเส้นชัยมากกว่ากัน

ขณะที่ตัวเลขผลการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา เพื่อไทยทำผลงานได้ย่ำแย่ พ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชนในปัจจุบัน) เป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี

การแก้ 3 โจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย จึงสำคัญและยิ่งใหญ่ไม่แพ้การสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมในนามของพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อบรรลุชัยได้ตัวเลข สส.ตามที่พ่อของนายกรัฐมนตรีปักธงไว้