ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

วันที่ 10 มกราคม 2568 สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำเมียนมา ได้ร่วมกับหอการค้าอินเดีย-เมียนมา(India-Myanmar Chamber of Commerce : IMCC) จัดการประชุมใหญ่นักธุรกิจชาวอินเดียและเมียนมา ประจำปี 2568 ขึ้น ที่โรงแรมแพนแปซิฟิค ในกรุงย่างกุ้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 300 คน
ตามข้อมูลจากเอกสารแถลงข่าวที่ถูกเผยแพร่โดยสถานทูตอินเดียประจำเมียนมา การประชุมครั้งนี้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและส่งเสริมความสัมพันธ์-ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า ระหว่างอินเดียกับเมียนมา เป็นเวทีที่ช่วยให้ภาคธุรกิจของอินเดีย สามารถวางแผนและกำหนดนโยบายองค์กรของตนเกี่ยวกับเมียนมา
นอกจากประธานหอการค้าอินเดีย-เมียนมา รองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา(UMFCCI) ผู้บริหารสมาคมการค้าผลผลิตการเกษตรโพ้นทะเล สมาคมพ่อค้าพืชไร่เมียนมา ที่มาร่วมในการประชุมนี้แล้ว ยังมีผู้บริหารองค์กรธุรกิจของอินเดียและเมียนมาอีกหลากหลายสาขา เช่น ธนาคารพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย
ตัวแทนจากรัฐบาลเมียนมาที่เข้าประชุมและขึ้นนำเสนอข้อมูลบนเวที ประกอบด้วย อู มินมิน รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงวางแผนและการคลัง กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และการชลประทาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรม และตัวแทนจากธนาคารกลางเมียนมา(CBM)
ส่วนตัวแทนรัฐบาลอินเดีย ได้แก่ Shri Siddharth Mahajan เลขานุการร่วม กระทรวงพาณิชย์ และ Shri Abhay Thakur เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำเมียนมา
หัวข้อสำคัญที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุม มุ่งเน้นไปยังกลไกที่จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มปริมาณการค้าของ 2 ประเทศ ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจในการชำระเงินค่าสินค้า-บริการโดยตรงด้วยสกุลเงินท้องถิ่น”รูปี-จั๊ต”

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาข้อสรุปล่าสุดของข้อตกลงเรื่องการขนส่งชายฝั่ง, ข้อตกลงความร่วมมือด้านปิโตรเลียม ไฟฟ้า และพลังงาน และข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างกลไกชำระเงินระหว่างอินเดียและเมียนมาผ่านระบบดิจิทัล เช่น RuPay card รวมถึงระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์สำหรับแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ(Unified Payments Interface : UPI)…
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปลายปี 2564 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ได้ประกาศนโยบายให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะนับแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา เมียนมาต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจการเงินอย่างหนัก โดยเฉพาะการขาดแคลนเงินดอลลาร์ในประเทศ
วันที่ 14 ธันวาคม 2564 ธนาคารกลางเมียนมาประกาศให้สามารถใช้เงินหยวนโดยตรงในการค้าชายแดนเมียนมา-จีน ต่อมาได้ประกาศให้ใช้เงินบาทในการค้าชายแดนเมียนมา-ไทยได้ในวันที่ 3 มีนาคม 2565
แต่การค้าชายแดนระหว่างเมียนมากับอินเดีย ซึ่งมีช่องทางการค้าหลักอยู่ที่ด่านชายแดนตะมู-โมเรห์ ที่เชื่อมระหว่างภาคสะกาย ของเมียนมา กับรัฐมณีปุระ ของอินเดีย ยังไม่สามารถใช้เงินรูปีในการซื้อขายตรงได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่มั่นคงภายในรัฐมณีปุระและรัฐมิโซรัมของอินเดียเอง รวมถึงความขัดแย้งและสงครามภายในเมียนมา ทำให้ทางการอินเดียต้องประกาศปิดชายแดนอินเดีย-เมียนมา ที่ยาวกว่า 1,600 กิโลเมตร และทำให้การค้าชายแดนผ่านด่านโมเรห์-ตะมูไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง….
ในการประชุมนักธุรกิจอินเดีย-เมียนมา เมื่อวันที่ 10 มกราคม ยังได้มีการหารือเรื่องความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน(Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project : KMTT) และโครงการทางด่วน 3 ประเทศ ไทย-เมียนมา-อินเดีย
2 โครงการนี้ รัฐบาลอินเดียหมายมั่นปั้นมือมานานแล้วว่า จะเป็นเส้นทางหลักสำหรับการเชื่อมต่อเศรษฐกิจของอินเดียกับประชาคมอาเซียน เปรียบได้ดั่งเส้นทางสายไหมของอินเดีย แต่หลายปีมานี้ ด้วยหลายปัจจัย ทำให้ทั้ง 2 โครงการ เดินหน้าช้ามาก
อย่างไรก็ตาม เอกสารแถลงข่าวของสถานทูตอินเดียประจำเมียนมา ไม่ได้บอกถึงรายละเอียดหรือผลการหารือเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ทั้ง 2 โครงการ ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม

……
โครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน เป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมโดยตรงระหว่างอินเดียและเมียนมา จากท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย ปากแม่น้ำคาลาดาน ในรัฐยะไข่ ไปยังท่าเรือกัลกัตตา มีมูลค่าการลงทุนรวม 484 ล้านดอลลาร์
รัฐบาลอินเดียกับเมียนมาได้ลงนามในกรอบความร่วมมือ KMTT ไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 รายละเอียดโครงการแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1.การเชื่อมการขนส่งทางน้ำระหว่างท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย รัฐยะไข่ บริเวณปากแม่น้ำคาลาดาน กับท่าเรือกัลกัตตาของอินเดีย ระยะทาง 420 ไมล์ทะเล โดยรัฐบาลอินเดียเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณ 120 ล้านดอลาร์ เพื่อก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าที่เมืองซิตต่วย เมืองหลวงของรัฐยะไข่
2.การเชื่อมการขนส่งในภาคพื้นทวีปผ่านแม่น้ำคาลาดาน จากท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย ขึ้นไปยังเมืองปะแลตวะ ทางตอนใต้ของรัฐชิน ระยะทาง 160 กิโลเมตร ซึ่งต้องมีการสร้างท่าเรือสินค้าริมแม่น้ำคาลาดานที่เมืองปะแลตวะ มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์
3.การสร้างทางหลวงเชื่อมจากเมืองปะแลตวะ รัฐชิน ข้ามชายแดนไปสู่เมือง Aizawl ในรัฐมิโซรัม ของอินเดีย ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 324 ล้านดอลลาร์
โครงการ KMTT เริ่มต้นสร้างในปี 2560 ก่อนการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทั้งการสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย และถนนจากเมืองปะแลตวะข้ามชายแดนเข้าไปในรัฐมิโซรัม มีความคืบหน้าไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหาร ข่าวความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ปรากฏออกมาไม่มากนัก
ท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วยได้สร้างเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ส่วนการสร้างถนนเชื่อมจากเมืองปะแลตวะข้ามชายแดนไปยังรัฐมิโซรัม ได้หยุดชะงักไป หลังกองทัพอาระกัน(AA) ได้บุกยึดเมืองปะแลตวะเอาไว้ได้เมื่อต้นปี 2567
กองทัพอาระกันกับกองทัพพม่าได้กลับมารบกันอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 และกองทัพอาระกันได้ชัยชนะ สามารถยึดครองหลายเมืองของรัฐยะไข่ ยกเว้นเมืองซิตต่วย เจ้าก์ผิ่ว และมานอ่อง
รวมถึงยังสามารถยึดเมืองปะแลตวะในรัฐชินที่อยู่ทางทิศเหนือ ติดกับรัฐยะไข่

5 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 หลังเริ่มต้นก่อสร้างโครงการ KMTT ได้ 2 ปี The Irrawaddy ได้เสนอ ข่าวการสัมภาษณ์นายพลทูนเมียตไหน่ ผู้บัญชาการกองทัพอาระกัน เขาได้พูดไว้อย่างชัดเจนว่า โครงการ KMTT เป็นโครงการที่สร้างขึ้นในรัฐยะไข่และรัฐชิน ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองทัพอาระกัน ดังนั้น โครงการนี้จะต้องจ่ายภาษีให้กับกองทัพอาระกัน
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 The Lairam Times เพจข่าวท้องถิ่นของรัฐมิโซรัม มีรายงานว่า Pu K Vanlalvena สมาชิกสภารัฐมิโซรัมได้เดินทางไปบริเวณชายแดนอินเดีย-เมียนมา เพื่อดูความคืบหน้าการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมจากเมืองปะแลตวะข้ามไปยังรัฐมิรัม

ตามข่าว สส.มิโซรัม ได้พบและเจรจากับตัวแทนจากกองทัพอาระกันในสถานที่แห่งหนึ่ง เพื่อแจ้งความประสงค์ว่า รัฐมิโซรัมต้องการสร้างทางหลวงสายนี้ที่ค้างคาอยู่ให้เสร็จ เพื่อผลประโยชน์ร่วมของทั้ง 2 ประเทศ และต้องการให้กองทัพอาระกันรับรองความปลอดภัยของการก่อสร้าง
ล่าสุด ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคมที่ผ่านมา Shri Abhay Thakur เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำเมียนมา ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและดูการปฏิบัติงานของท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย ที่เมืองซิตต่วย รัฐยะไข่…
–โครงการทางด่วน 3 ประเทศ ไทย-เมียนมา-อินเดีย เป็นเส้นทางคมนาคมภาคต่อเนื่องจากระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ EWEC(East-West Economic Corridor) ระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร

ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก มีจุดเริ่มจากชายฝั่งทะเลที่ท่าเรือดานัง ของเวียดนาม ทางทิศตะวันออก ผ่านแขวงสะหวันนะเขต ของลาว ข้ามแม่น้ำโขงมายังจังหวัดมุกดาหาร ต่อไปออกชายแดนไทยด้านตะวันตกของไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ส่วนทางด่วน 3 ประเทศ มีจุดเริ่มต้นจากอำเภอแม่สอด ข้ามไปยังเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตามทางหลวงเอเซียหมายเลข 1(AH 1) สู่เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ผ่านภาคพะโค กรุงเนปิดอ ภาคมัณฑะเลย์ ข้ามชายแดนฝั่งตะวันตกของเมียนมาที่ช่องทางตะมู-โมเรห์ ในภาคสะกาย เพื่อเข้าสู่เมืองโมเรห์ รัฐมณีปุระ ของอินเดีย(โปรดดูแผนที่ประกอบ)
วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ดร.สุพรหมยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อินเดีย ได้มาเป็น ประธานร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา(MGC) ที่กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย อู ตานส่วย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เมียนมา และ สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว
หนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือเร่งรัดโครงการทางด่วน 3 ประเทศ และเร่งหาบทสรุปข้อตกลงยานยนต์ 3 ประเทศ
รัฐบาลอินเดีย เมียนมา และไทย มีข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่จะสร้างทางด่วนเชื่อมชายแดนไทยผ่านเมียนมาไปยังอินเดีย โดยเริ่มจากในปี 2563 รัฐบาลอินเดียสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างและซ่อมแซมสะพานในเมียนมาจำนวน 73 แห่ง ที่ถูกสร้างไว้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการรัฐประหารในเมียนมารวมถึงการที่กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเงา(PDF) จับมือกับทหารบางกลุ่มของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) ปิดทางหลวง AH 1 ช่วงจากบ้านปางกาน(ติงกานหญี่หน่อง) ไปยังเมืองกอกะเร็ก ในรัฐกะเหรี่ยง ไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ทำให้การก่อสร้างทางด่วน 3 ประเทศ ต้องหยุดชะงักลงไปโดยสิ้นเชิง
……

หากระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา เป็น 1 ในเส้นทางสายไหมใหม่ ตามข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทาง(BRI) ของจีน ที่มีเมียนมาเป็นทางผ่านเพื่อออกสู่ทะเลทางมหาสมุทรอินเดีย
โครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน และทางด่วน 3 ประเทศ ก็เป็นเหมือนเส้นทางสายไหมของอินเดีย ที่มีเมียนมาเป็นประตูเพื่อต่อกับประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
แต่จากปัญหาความขัดแย้งและสงครามภายในเมียนมา ทำให้จนถึงทุกวันนี้ เส้นทางสายไหมของอินเดียไม่ราบเรียบเท่าใดนัก…