ThaiPublica > คอลัมน์ > Squid Game 2 ความโหดเบื้องหลังเพลงประกอบ

Squid Game 2 ความโหดเบื้องหลังเพลงประกอบ

18 มกราคม 2025


1721955

แม้โดยส่วนตัวเราจะไม่ค่อยปลื้ม Squid Game 2 สักเท่าไร แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือมันมีรายละเอียดและนัยยะเชิงเปรียบเทียบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมอยู่มากมาย และเชื่อว่าหลากหลายประเด็นได้ถูกหยิบยกกันไปเขียนจนปรุหมดแล้ว ทว่าสิ่งที่เราจะเล่าต่อไปนี้เป็นประวัติศาสตร์จริงที่เคยเกิดขึ้นกับเพลงคลาสสิคติดหูเพลงหนึ่ง ที่ถูกใช้ประกอบอย่างมีนัยยะสำคัญในซีรีส์ Squid Game ทั้งสองภาค และความจริงอันโหดเหี้ยมส่วนหนึ่งเพิ่งจะถูกเปิดเผยเมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

ใน Squid Game ทั้งสองภาค ในฉาก “ผู้เล่นในชุดวอร์มสีเขียว” เดินเวียนบนบันไดสีหวาน แทบทุกครั้งเราจะได้ยินเพลงคลาสสิคหลอนหูอยู่เพลงหนึ่ง เพลงนั้นมีชื่อว่า “The Blue Danube”

เพลงดังที่ล้มเหลวตั้งแต่แรกเปิดตัว

The Blue Danube คือชื่อที่ชาวโลกรู้จักของเพลงที่มีชื่อดั้งเดิมในภาษาเยอรมันว่า “An der schönen blauen Donau Op. 314” เป็นเพลงวอลทซ์ของโยฮันน์ ชเตราส์ที่ 2 นักประพันธ์ชาวออสเตรีย แต่งขึ้นเมื่อปี 1866 เล่นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1867 ในคอนเสิร์ต Wiener Männergesang-Verein (สมาคมนักร้องประสานเสียงชายเวียนนา) เป็นหนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมาทุกยุคสมัย ทั้งที่ความจริงแล้วในการแสดงครั้งแรกนั้นมันแทบจะไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย

เว็บ classicfm เล่าให้ฟังในบทความ “เรื่องราวเบื้องหลัง The Blue Danube” ว่า ‘จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เพลงวอลทซ์เพลงเดียว แต่เป็นเพลงวอลทซ์ 5 เพลงที่เชื่อมโยงกันเป็นชุด เพลงนี้นับเป็นเพลงชาติเพลงที่สองของออสเตรีย และเป็นเพลงปิดท้ายคอนเสิร์ตวันปีใหม่ที่เวียนนาทุกครั้ง แต่มีใครบ้างที่เคยได้ยินเพลงต้นฉบับของชเตราส์?

…เวลานั้นออสเตรียพ่ายแพ้ต่อปรัสเซียในสงครามเจ็ดสัปดาห์ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามทำให้ขวัญกำลังใจของชาวเวียนนาถดถอย ชเตราส์ได้รับการสนับสนุนให้มารับหน้าที่แต่งเพลงวอลซ์ที่สนุกสนานเพื่อปลุกเร้าจิตวิญญาณประเทศ

ชเตราส์เล่าถึงบทกวีของคาร์ล อิซิดอร์ เบค (1817-1879) แต่ละบทจะลงท้ายว่า “ริมแม่น้ำดานูบสีน้ำเงินอันงดงาม” อันเป็นแรงบันดาลใจและชื่อผลงานใหม่ของเขา แม้ว่าดานูบในเวลานั้นจะไม่ใช่สีน้ำเงิน และสมัยที่เขาแต่งเพลงนี้ขึ้น แม่น้ำดานูบก็ยังไม่ได้ไหลผ่านเวียนนา (เว็บ visitingvienna อธิบายว่าเพิ่งจะมีการตัดคลองจากแม่น้ำดานูบให้ผ่านเวียนนาในปี 1970) โจเซฟ ไวล์ ผู้เป็นกวีของคณะนักร้องประสานเสียงได้เพิ่มเนื้อเพลงขบขันเพื่อเสียดสีสงครามที่พ่ายแพ้ เมืองที่ล้มละลาย และบรรดานักการเมือง โดยเขียนว่า “Wiener seid’s froh! Oho! Wieso?” (“ชาวเวียนนามีความสุขจริงหนอ! โอ้โฮ! แต่ทำไมล่ะ”)

การแสดงรอบปฐมทัศน์ในเวียนนา จัดขึ้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 1867 เมื่อพิจารณาถึงความนิยมที่ตามมา การตอบรับค่อนข้างจะเงียบเชียบ (เห็นได้ชัดจากการถูกแสดงซ้ำเพียงครั้งเดียว ซึ่งสำหรับคนดังระดับชเตราส์ถือว่าล้มเหลว) สาเหตุอาจเพราะผู้ชมและคณะนักร้องต่างก็ไม่ชอบเนื้อหาของเพลง กระทั่งต่อมาในปีเดียวกันนั้น ชเตราส์ได้นำท่อนเพลงวอลทซ์ในชุดออร์เคสตรานี้ไปแสดงที่ปารีสในงานนิทรรศการโลก เพลงดังกล่าวถึงเพิ่งจะฮือฮาเป็นอย่างมาก สำเนาโน้ตเพลงนี้ถูกจำหน่ายมากกว่าหนึ่งล้านชุด แล้วอีก 23 ปีต่อมา ฟรานซ์ ฟอน เกอร์เนิร์ธ สมาชิกศาลฏีกาออสเตรีย ได้แต่งเนื้อร้องสำหรับท่อนเพลงนี้ใหม่ให้สง่างามยิ่งขึ้นว่า “Donau, so blau, so blau” (“Danube, so blue, so blue”)’

Fun fact หนึ่งที่เว็บ classicfm เล่าเพิ่มด้วยว่า ‘ชเตราส์ เปิดตัวเพลงนี้อย่างยิ่งใหญ่ในมหกรรมดนตรีนานาชาติอเมริกาที่บอสตันเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1872 โดยชเตราส์ทำหน้าที่วาทยกร ควบคุมนักดนตรีจำนวนสองพันคน และคณะนักร้องประสานเสียงจำนวนสองหมื่นคน ในเพลง The Blue Danube เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองสันติภาพโลก’

แล้วที่เราขอเรียกความยิ่งใหญ่นี้ว่า ฟันแฟคต์ เพราะมันเป็นความจริงอันแสนเย้ยหยัน ที่เพลง The Blue Danube ถูกแสดงเพื่อเฉลิมฉลองสันติภาพโลก เพราะความจริงอีกด้านหนึ่งเพิ่งจะถูกเปิดเผยเมื่อ 10 มีนาคม 2013 อันเป็นความจริงสุดดาร์กของเพลงนี้ The Blue Danube

ด้านดาร์คสุดพลังของเพลงดัง

จากบทความของจอร์จินา พรอดฮัน จากสำนักข่าวรอยเตอร์ เล่าว่า ‘วง Vienna Philharmonic อันลือลั่นเพิ่งออกมายอมรับว่านักดนตรีหลายคนของวงเป็นสมาชิกพรรคนาซี และผู้อำนวยการวงเคยวางแผนจะมอบรางวัลออร์เคสตราอันทรงเกียรติให้กับอาชญากรสงคราม ในช่วงสองทศวรรษหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง!’

เราขอเล่าเรื่องนี้อย่างง่าย ๆ ให้ฟังว่า วงออร์เคสตร้าเวียนนา ฟิลฮาร์โมนิค ได้ปกปิดประวัติศาสตร์สุดดาร์กนี้มานานกว่าหกทศวรรษ ว่าสมาชิกวงส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกนาซี อวยนาซี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงสมาชิกของวงบางคนที่เป็นยิว ยังเคยถูกขับออกจากวงแล้วส่งให้ไปตายในค่ายกักกันของนาซีด้วย!

รอยเตอร์บอกความจริงอีกข้อหนึ่งว่า ‘ออสเตรียใช้เวลากว่าสี่ทศวรรษหลังสิ้นสุดสงคราม คือเมื่อปี 1991 นี้เองจึงจะยอมรับอย่างเป็นทางการและแสดงความเสียใจต่อบทบาทของประเทศตนเองในสมัยไรช์ที่สามของฮิตเลอร์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

เวียนนา ฟิลฮาร์โมนิค เป็นวงออร์เคสตราชั้นนำวงหนึ่งของโลก เป็นที่รู้จักจากการแสดงคอนเสิร์ตประจำปี New Year’s Concert อันเป็นการแสดงเพลงวอลทซ์ของชเตราส์ที่ถ่ายทอดให้ผู้ชมกว่า 50 ล้านคนใน 80 ประเทศได้รับชมในทุก ๆ ปีมาอย่างยาวนาน

แต่สิ่งที่ไม่ค่อยมีใครรู้คือ คอนเสิร์ตดังกล่าวมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นหนึ่งในเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อในช่วงการปกครองของนาซีในปี 1939 แม้ว่าก่อนหน้านั้นวงนี้แทบจะไม่เคยเล่นเพลงของตระกูลชเตราส์เลย

การเปิดเผยในปี 2013 ออร์เคสตร้าวงนี้ยังปูดชื่อผู้ที่เคยได้รับแหวนและเหรียญเกียรติยศ ซึ่งเดิมทีจะมอบให้แก่ศิลปิน แต่ในช่วงนาซีปกครอง ในปี 1942 ออร์เคสตราวงนี้มีแผนจะมอบรางวัลเหล่านี้ส่งต่อให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้นำทางทหาร บาลดูร์ ฟอน ชีรัค ผู้ว่าการนาซีแห่งเวียนนาผู้ทำหน้าที่ควบคุมการเนรเทศชาวยิวหลายหมื่นคนไปยังค่ายกักกัน และเขาเคยถูกศาลอาชญากรรมสงครามนูเรมเบิร์กตัดสินจำคุก 20 ปีในภายหลังสงครามโลก

ในปี 2013 เว็บไซต์ของวงนี้ wienerphilharmoniker ยังได้ตีพิมพ์บทความโดยนักประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเวียนนา โอลิแวร์ รัตคอล์บ ได้ระบุว่า สุดท้ายมีการแอบมอบแหวนทดแทนจริง ๆ แก่ชีรัค ในช่วงปี 1966 หรือไม่ก็ 1967 หลังจากชีรัคได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก

บทความดังกล่าวยังแฉด้วยว่า ‘ตามคำบอกเล่าจากพยานที่เชื่อถือได้ว่าบุคคลที่ส่งมอบแหวนดังกล่าวให้คือ เฮลมุต วอบิช นักทรัปเป็ต ซึ่งในช่วงปีนั้นเขาเป็นผู้อำนวยการวง และยังเคยเป็นอดีตสมาชิก SS (Schutzstaffel กองกำลังกึ่งทหารพรรคนาซี)’

เคลเมนส์ เฮลส์แบร์ก ประธานของวงนี้ในปี 2013 เปิดเผยด้วยว่า “ในเวลานั้นมีสมาชิกวง 60 คนจากทั้งหมด 123 คนเคยเป็นสมาชิกพรรคนาซี หรือไม่ก็ฝักใฝ่นาซี รวมถึงในช่วงปี 1942 อันเป็นช่วงกลางสงครามโลกครั้งที่สอง ยังมีอยู่ 2 คนเป็นสมาชิกหน่วย SS อีกด้วย”
ยิ่งไปกว่านั้นในปี 1992 เมื่อเฮลส์แบร์กพยายามจะเขียนประวัติของวง ในบทความ Democracy of Kings ซึ่งในนั้นพยายามจะระบุข้อเท็จจริงอันน่าอึดอัดใจหลายอย่าง แต่ไม่สามารถตีพิมพ์ได้ในเวลานั้น เนื่องจากเขาไม่มีสิทธิ์ให้เข้าถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเมื่อจะเขียนเรื่องนี้

เฮลส์แบร์กยังระบุอีกว่า “ทางวงได้ดำเนินการตามรอยประวัติศาสตร์อย่างเงียบ ๆ มาหลายทศวรรษแล้ว และเพิ่งจะทำได้ในปี 2013 นี้เองที่เราตระหนักได้แล้วว่าจำเป็นต้องรายงานความจริงเรื่องนี้อย่างเหมาะสมทางออนไลน์ เพราะผมเติบโตมาในยุคที่หนังสือเคยเป็นสื่อที่สำคัญที่สุด แต่เวลานี้เราต้องยอมรับความจริงที่ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นอีกสื่อหนึ่งที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน และเป็นที่ที่ต้องเปิดเผยตัวตนของเราออกมา”

เฮลส์แบร์ก เล่าต่อว่า “เวลานั้นมีนักดนตรี 13 คนที่ถูกขับไล่ออกจากวง เนื่องจากพวกเขาเป็นยิวหรือมีความสัมพันธ์กับชาวยิว หลังจากช่วงที่เยอรมันผนวกกับออสเตรียในปี 1938 ในบรรดานั้นมี 5 คนเสียชีวิตในค่ายกักกันของนาซี และเรื่องนี้เพิ่งจะถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกบนเว็บไซต์ของวงอีกด้วย”

เบอร์นาเดตต์ มายเออร์โฮเฟอร์ นักประวัติศาสตร์อิสระอีกคนจากมหาวิทยาลัยเวียนนาเล่าว่า “การขับไล่พวกนักดนตรีชาวยิวเริ่มขึ้นก่อนพวกเยอรมันจะเข้ามาในปี 1938 ภายใต้การปกครองแบบออสโตรฟาสซิสต์ อันเป็นช่วงที่อิตาลีปกครองแบบเผด็จการในออสเตรีย…เป็นที่ทราบกันดีว่าใครมีเชื้อสายยิวหรือมีภรรยาเป็นชาวยิวก็จะถูกอัปเปหิออกจากวงไป”

ในเวลานั้นแม้ว่าพรรคนาซียังเป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย แต่มีสมาชิกหลายคนได้เข้าร่วมพรรคนาซีเยอรมันมาตั้งแต่ก่อนการผนวกดินแดนในปี 1938 และแม้แต่ในช่วงการปลดนาซีออกหลังสงครามโลกในสมัยเสรีประชาธิปไตย ก็มีเพียงสิบคนเท่านั้นที่ถูกขับออกจากวงไป อย่างไรก็ตามแม้ว่า เฮลมุต วอบิช จะเคยถูกขับออกในปี 1945 ด้วย แต่เขากลับเข้ามาร่วมวงเวียนนา ฟิลฮาร์โมนิคอีกครั้งในตำแหน่งนักทรัมเป็ตเมื่อปี 1947 แล้วพอเขามีอำนาจในช่วง 1966-1967 จึงมอบรางวัลดังกล่าวให้กับอาชญากรสงคราม

ฟริตซ์ ทรูมปิ นักประวัติศาสตร์อีกคนยังแฉด้วยว่า เมื่อปี 2003 เขาพยายามจะเข้าถึงข้อมูลเพื่อเขียนงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2011 เรื่อง “Politisierte Orchester” (“วงออเคสตราที่ถูกทำให้เป็นการเมือง”) แต่กลับต้องใช้เวลานานถึงสามปี จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล หนังสือดังกล่าวเป็นการศึกษาวงเวียนนา ฟิลฮาร์โมนิคกับเบอร์ลินภายใต้ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติ

และความจริงอีกข้อหนึ่งคือ คอนเสิร์ตปีใหม่ที่เวียนนาจัดเป็นประจำทุกปี กำเนิดขึ้นจากสมัยนาซี อันเป็นหนึ่งในกลยุทธส่งเสริมภาพลักษณ์ของนาซีที่ดำริโดย โจเซฟ เกิบเบลส์ รัฐมนตรีโฆษณาชวนเชื่อแห่งนาซี ทรูมปิยังย้ำด้วยว่า “คอนเสิร์ตนี้คือหนึ่งในอาวุธทางวัฒนธรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยพวกนาซี!”

วงออร์เคสตราซึ่งมีภาพลักษณ์ที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเวียนนาในศตวรรษที่ 18 ของคีตกวีดัง ๆ อย่าง ไฮเดิน, โมสาร์ท และเบโธเฟน อีกทั้งที่ตั้งของวงยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเวียนนามาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญของการสร้างแบรนด์ของเมืองหลวงออสเตรีย ทรูมปิคาดว่า “ในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนที่ทางวงตระหนักได้สักทีว่านโยบายที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องแบรนด์ของตน แท้จริงแล้วกำลังทำลายภาพลักษณ์ของตนเองต่างหาก มันเป็นปัญหาในการจัดการภาพลักษณ์ คือแทนที่จะตีแผ่ความจริงออกมา ทว่าในท้ายที่สุดต้องขอบคุณแรงกดดันทางการเมืองที่ทำให้เกิดการเปิดกว้างทางความคิดและมีทางออกในเรื่องนี้”

บทความจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ในปี 2015 เรื่อง “เต้นรำแด่หมอผู้สั่งฆ่าพ่อแม่ของเธอ” เล่าเรื่องของตำนานนักบัลเลต์หญิง อีดิธ เอวา อีเกอร์ ว่า ‘ภาพถ่ายขาวดำเป็นภาพของอีเกอร์ในวัย 16 ปี สวมชุดว่ายน้ำ ยิ้มแย้มขณะทำกายกรรมแยกขา เธอเล่าว่าผู้ที่ถ่ายภาพนี้คือ อิมเร เด็กชายชาวยิวที่แอบชอบเธอตั้งแต่วัยรุ่น …เขาและคนอื่น ๆ อีกหลายคนไม่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อีเกอร์เล่าด้วยว่า “ฉันฉลองวันเกิดครบ 17 ปีในค่ายกักกันของนาซีออชวิทซ์”

อีเกอร์เผยเรื่องนี้ในขณะที่เธออายุ 87 ปี เวลานั้นเธอกำลังฝึกซ้อมยิมนาสติกเพื่อเข้าแข่งขันในทีมโอลิมปิกของฮังการี “แต่แล้วฉันก็ต้องถูกเฉดหัวให้ไปฝึกที่อื่น เพราะฉันเป็นยิว และไม่มีสิทธิ์ไปแข่งโอลิมปิก…ความฝันของฉันพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง”

ในเดือนมีนาคม 1944 ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง อีเกอร์ถูกพวกนาซีบุกบ้าน ชาวยิวในฮังการีเป็นกลุ่มสุดท้ายในยุโรปที่ตกเป็นเป้าหมายของนาซี ทั้งครอบครัวเธอถูกนำตัวไปแคมป์อื่น ๆ ก่อนจะย้ายไปยังออชวิทซ์ในโปแลนด์

“เธอแค่จะไปอาบน้ำ”

เมื่อถึงค่ายกักกัน ดร.โจเซฟ เมงเกเล หนึ่งในเจ้าหน้าที่การแพทย์ระดับสูงของออชวิทซ์ ยืนอยู่ปลายแถวนักโทษเพื่อคะเนว่าจะส่งใครไปเข้าห้องรมแก๊ส หรือใครจะถูกพาไปค่ายทหารของเรือนจำ “เขาชี้ให้แม่ของฉันไปทางซ้าย แล้วฉันก็เดินตามแม่ไป” ก่อนที่ดร.เมงเกเลจะคว้าตัวฉันไว้ แล้วบอกฉันว่า “เดี๋ยวเธอก็จะได้เจอแม่…เธอแค่จะไปอาบน้ำ”

แล้วนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่อีเกอร์ได้พบหน้าพ่อแม่ของเธอ พวกเขาเสียชีวิตในห้องรมแก๊สพิษร่วมกับชาวยิวอีกกว่าล้านคน

“ดร.เมงเกเลมาหาฉันที่ค่ายทหาร เขาต้องการความบันเทิง” เมงเกเลสั่งให้ทหารนาซีเล่นเพลงวอลต์ซ The Blue Danube ในขณะที่อีเกอร์เต้นรำให้กับอาชญากรสงครามอันโหดเหี้ยมในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

หลายปีหลังจากนั้นเธอได้พบรักและแต่งงานกับชาวยิวฮังกาเรียนผู้เป็นนักรบปลดแอกต่อต้านนาซี เธอและเขาพร้อมด้วยลูกสาววัยทารกได้ย้ายไปตั้งรกรากในสหรัฐเพื่อหลบหนีการปกครองของพวกคอมมิวนิสต์ในฮังการี

อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งของเพลง The Blue Danube ก็คือ ในค่ายกักกันนาซี นอกจากจะมีการบรรเลงเพลงนี้เพื่อใช้ปลอบขวัญนักโทษผ่านลำโพงขยายเสียงแล้ว เพลงนี้ยังถูกใช้บรรเลงเพื่อเบนความสนใจ แล้วควบคุมนำขบวนเหยื่อชาวยิวกับพวกนอกรีตทั้งหลายไปยังห้องรมแก๊สด้วย เป็นเสมือนเพลงที่ทำให้เหยื่อตายใจไม่คาดคิดว่าการถูกหลอกไปอาบน้ำนั้นจะหมายถึงการถูกคร่าชีวิตอย่างเลือดเย็น เช่นเดียวกับใน Squid Game “ผู้เล่นเกม” ถูกทำให้ไร้ความเป็นมนุษย์ ผู้ควบคุมเกมเรียกพวกนี้ว่า “ขยะ” หรือไม่ก็ “สัตว์”

อย่างไรก็ตามอย่างที่เราเคยบอกไปในอีกบทความหนึ่งก่อนหน้านี้

เกาหลีเป็นนักลอกเลียน ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้เพลง The Blue Danube ในเนื้อหาแนวสังหารหมู่ เพราะอันที่จริงเพลงนี้เคยถูกใช้ในแบบเดียวกันนี้มาก่อนแล้วในหนัง Battle Royale (2000)

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง แม้ว่าสงครามโลกจะยุติลงหลังจากอเมริกาส่งนิวเคลียร์ไปสร้างบาดแผลฉกรรจ์ที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ เมื่อปี 1945 แต่มนุษย์ไม่เคยจดจำประวัติศาสตร์ร้าวฉานที่ตนเองได้สร้างขึ้น เพราะจนถึงเวลานี้ยังคงมีระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกคิดค้นและมีอานุภาพทารุณไม่น้อยไปกว่ากัน หนึ่งในนั้นมันมีชื่อว่า Blue Danube อันเป็นอาวุธนิวเคลียร์ ที่ใช้งานได้จริงชิ้นแรกของอังกฤษ มันมีชื่อเล่นอีกหลากหลายชื่อ อาทิ Smallboy, Mk.1 Atom Bomb, Special Bomb และOR.1001

กองกำลังทิ้งระเบิด RAF V ของอังกฤษเดิมตั้งใจจะใช้บลูดานูบเป็นอาวุธหลักในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการคิดค้นระเบิดไฮโดรเจนลูกแรก และนักวางแผนการทหารของอังกฤษยังคงเชื่อว่าสงครามนิวเคลียร์สามารถเกิดขึ้นได้และจะชนะได้โดยใช้ระเบิดปรมาณูที่มีพลังทำลายล้างใกล้เคียงกับระเบิดที่ฮิโรชิม่า ด้วยเหตุนี้จึงวางแผนสำรองระเบิดไว้มากถึง 800 ลูก โดยมีพลังทำลายล้าง 10-12 กิโลตัน ช่องใส่ระเบิดของเครื่องบินรบ V-bomber มีขนาดพอเหมาะกับการบรรทุกบลูดานูบ ซึ่งเป็นระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่สุดที่เคยออกแบบได้ด้วยเทคโนโลยีในสมัยปี 1947

ดานูบแม่น้ำสีเลือด

ในบทความปี 2003 ของเดอะนิวยอร์กไทม์ บรรยายเกี่ยวกับแม่น้ำดานูบที่ทอดยาว 1,775 ไมล์ (2,856 กิโลเมตร) เอาไว้ว่า ‘แม่น้ำดานูบถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญในยุโรป แม้มันจะไม่ใช่แม่น้ำที่ยาวที่สุด (ซึ่งเกียรติประวัตินี้ตกเป็นของแม่น้ำโวลก้า) แต่เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านประเทศต่าง ๆ มากที่สุดและมีจำนวนประชากรหลากหลายเชื้อชาติมากที่สุด แล้วด้วยเหตุผลดังกล่าวแม่น้ำดานูบจึงเป็นสัญลักษณ์ของโศกนาฏกรรมในยุโรปในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

แม่น้ำดานูบเป็นทั้งความงดงามและความเศร้า แม่น้ำแห่งเมืองที่งดงามและประสบความหายนะของอดีตจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี แม่น้ำแห่งเพลงวอลทซ์ The Blue Danube ของโยฮันน์ ชเตราส์ ซึ่งยังคงบรรเลงในคอนเสิร์ตฤดูร้อนสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นเคยที่เวียนนา
แต่เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 19 และ 20 ก็เกิดขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำดานูบด้วยเช่นกัน อาทิ การลุกฮือของลัทธิชาตินิยมอันน่าเกลียดชังในช่วงปลายศตวรรษที่ 19, สงครามโลกทั้งสองครั้ง, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, การปิดฉากม่านเหล็ก, การเปลี่ยนแปลงประเทศทางตะวันออกให้กลายเป็นรัฐตำรวจที่ยากจน และเมื่อปัญหาสำคัญ ๆ ดูเหมือนจะคลี่คลายลงด้วยการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียต ความป่าเถื่อนทางเชื้อชาติก็ปะทุขึ้นอีกครั้งในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย

ในปี 1805 นโปเลียนเอาชนะออสเตรียในการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่บนแม่น้ำใกล้เมืองอูล์ม ซึ่งยังคงมีอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะของฝรั่งเศสอยู่ จากนั้นออสเตรียก็เอาชนะนโปเลียนได้ในปี 1809 ในยุทธการที่แอสเพิร์นบนแม่น้ำดานูบเช่นกัน

ในปี 1942 ชาวยิวและชาวเซิร์บถูกลากไปสังหารหมู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำในเมืองโนวีซาด ซึ่งปัจจุบันคือประเทศเซอร์เบีย ในปี 1999 สะพานต่าง ๆ ที่นั่นถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรระหว่างสงครามโคโซโว และค่ายกักกันนาซีที่เมืองเมาเทาเซนซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 คนตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำนี้’

“เสียงกรีดร้องของเหยื่อความรุนแรงนับไม่ถ้วนเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งแม่น้ำดานูบ จึงอาจกล่าวได้ว่าแม่น้ำสายนี้ไหลผ่านความป่าเถื่อนและความโหดร้ายมากกว่าแม่น้ำสายอื่นใดในโลก”