อุตสาหกรรมพลาสติก” ถูกมองเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด ท่ามกลางกระแสสังคมจากคู่ค้า คู่แข่ง ผู้บริโภค และสังคม ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ต่างตระหนักที่จะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมาตรฐานโลก มาตรฐานในประเทศที่เข้มขึ้น
นายทศพล จินันท์เดช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เจ.พลาสท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลาสติกมีประเด็นเกี่ยวข้องกับข่าวเชิงลบของพลาสติกค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องพยายามพัฒนาต่อเพื่อไม่ให้พลาสติกถูกมองเป็นผู้ร้าย ประกอบกับปัจจุบันโลกให้ความสนใจในเรื่อง ESG (Environment, Social and Governance ) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คู่ค้า และลูกค้ามาผลักดันให้ทำเรื่อง ESG ต่อเนื่อง
“เรื่องความยั่งยืน ถ้าทำเพื่อตอบได้ว่ามี ESG เราจะเหนื่อยมาก แต่ถ้าเราทำโดยเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องประจำวันที่เราทำอยู่แล้ว สอดคล้องกับแนวทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจความยั่งยืนของบริษัทฯ เราจะไม่หลงทาง ไม่หลงทิศ จะต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ” นายทศพลกล่าว
สำหรับนโยบาย ESG ในเรื่อง E: Environment เป้าหมาย คือ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งตอนนี้กำลังเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ปล่อยน้อยที่สุด ลดการใช้น้ำด้วยการทำบ่อกักเก็บน้ำฝน แล้วทำกระบวนการภายในใช้น้ำเอง การติดตั้งแผงโซลาร์เซล
ในเรื่องของ S: Social ให้ความร่วมมือกับชุมชนโดยรอบบริษัท มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้คนและสังคม ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคม และสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น การสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่ และการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมความร่วมมืออื่น ๆ กับชุมชนตลอดเวลา
ในส่วนของ G: Governance ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด เริ่มจากการทำอย่างตรงไปตรงมา เป็นตัวตนให้มากที่สุด
“คณะกรรมการบริหาร ประธานบริษัท ให้นโยบายที่ชัดเจนว่า Governance เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่องที่เราอยากให้ทุกระดับ ทุกคนมีความโปร่งใส แล้วสามารถตรวจสอบกันได้หมด อันนี้เป็นจุดที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน ทำอะไร ที่ทำแล้ว เราไม่เหนื่อย เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด และทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ”
นายทศพลกล่าวต่อในมิติของความยั่งยืน การทำให้เกิดผลครอบคลุมในวงกว้าง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมกันทำ โดยมองว่าสังคมในอนาคต ถ้าทำโปรเจกต์อะไรต่าง ๆ คนเดียว โอกาสจะสำเร็จในระดับที่ครอบคลุมทั้งประเทศหรือทั้งโลกนั้นยากมาก จะด้วยสเกลของเราเองหรืออื่น ๆ ฉะนั้นจำเป็นต้องหาคู่ที่จะมาร่วมด้วย ทั้งคู่ค้า หรือพันธมิตรทางธุรกิจ หรือองค์กร หรือสังคมที่มาร่วมทำงานด้วยกัน น่าจะทำแล้วต่อเนื่องได้มากที่สุด
“เราร่วมกับคู่ค้าต้นน้ำ พัฒนาอะไรใหม่ ๆ ได้ ทำร่วมกับคู่ค้าของเราโดยตรง หรือจากปลายน้ำต่อไปถึงสังคมต่อได้ ผมว่าเราทำแบบนี้จะเห็นผลได้มากกว่า เพราะว่าถ้าเราทำเพียงคนเดียว ยังไงก็เป็นเม็ดเล็ก ๆ เม็ดเดียว แต่ถ้าเราทำก้อนใหญ่ได้ ผลที่ได้ต่อเนื่อง จะได้มากกว่า ทั้งผลกระทบที่จะมีต่อสังคม ผลกระทบที่จะขยายต่อไปได้ ก็วนกลับมาคล้าย ๆ เป็นโดมิโนเหมือนกัน ถ้าเราทำอย่างนี้ได้สำเร็จ ก็จะต่อเนื่องไปสู่จุดอื่นต่อไปได้เรื่อย ๆ”
อ่านบทความฉบับเต็ม เอ.เจ.พลาสท์ ชี้ ESG ต้องอยู่ในสิ่งที่เราทำทุกวัน สร้างมิติใหม่ชู “ซัพพลายเชน-คู่ค้า” ร่วมก้าวสู่ความยั่งยืน ได้ที่เว็บไซต์ไทยพับลิก้า