ThaiPublica > คนในข่าว > “โสภาวดี เลิศมนัสชัย” เลขาธิการ กบข. นักลงทุนขาใหญ่สวมบท “เจ้าของ” ใช้เครื่องมือ “ESG” กำกับธุรกิจให้ยั่งยืน

“โสภาวดี เลิศมนัสชัย” เลขาธิการ กบข. นักลงทุนขาใหญ่สวมบท “เจ้าของ” ใช้เครื่องมือ “ESG” กำกับธุรกิจให้ยั่งยืน

25 มีนาคม 2013


น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กบข.
น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กบข.

ด้วยบทบาทของนักลงทุนสถาบันนั้น หากลงทุนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างได้

เพราะในฐานะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ และเป็นผู้ลงทุนระยะยาว หากมีการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และใช้บทบาทผู้ลงทุนรายใหญ่ในการแสดงความเป็น “เจ้าของ” พร้อมส่งสัญญาณให้ดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็จะยิ่งช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง และทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่ถูกบิดเบือน

กระแสการลงทุนอย่างยั่งยืนเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นๆ กบข. หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้รับคัดเลือกจาก United Nation Environment Programme (UNEP) และ UN Global Compact ให้เข้าร่วมพิธีลงนามกับนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ พร้อมด้วยกองทุนบำนาญและนักลงทุนสถาบันชั้นนำของโลก เพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการเป็นนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และหลักธรรมาภิบาล เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 ซึ่ง กบข. เป็นกองทุนบำนาญรายแรกในทวีปเอเชียที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

การลงนามรับหลักการ PRI: Principles for Responsible Investment คือการให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG : Environmental,Social and Governance โดยนำมาบูรณาการในกระบวนการทางธุรกิจ(In-process)

ที่ผ่านมา กบข. ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว และในช่วงที่นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย นั่งเก้าอี้เลขาธิการ กบข. ก็ได้ผลักดันเรื่องนี้และดำเนินการต่อตามข้อตกลงของสหประชาชาติ โดยให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าดังนี้

ไทยพับลิก้า : ปี 2556 กบข. ประกาศนโยบายว่าจะลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ มีที่มาอย่างไร มีทิศทางอะไรที่ต้องกำหนดบ้าง

ในส่วน กบข. เอง เนื่องจากเราเป็นผู้ลงทุนสถาบันที่ค่อนข้างใหญ่ วงเงิน 580,000 ล้านบาท มีสมาชิกที่เป็นข้าราชการ 1.2 ล้านคน เป็น Public Pension Fund โดยปกติแล้ว องค์กรในลักษณะนี้ในเมืองนอก ต้องรับหลักการเรื่อง “การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ” ซึ่ง กบข. ก็ได้ไปลงนามรับหลักการการลงทุนขององค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) ตั้งแต่ปี 2549 เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย และก็เป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการลงนามนี้ ซึ่งในเอเชียก็ไม่ค่อยมีใครตื่นตัวในเรื่องนี้มากนัก แต่ต้องยอมรับว่า ในตอนแรกที่ไปลงนามก็ยังไม่มีอะไรที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจน อาจจะเป็นช่วงของการศึกษาก็เป็นไปได้

ยูเอ็นเขามี principle of responsible investment 6 หลักการด้วยกัน คือ

1. เราจะต้องเอาหลักการ ESG (Environment, Social and Corporate Governance มาปรับใช้ในการทำวิจัย ทำการวิเคราะห์ ต้องเอาเข้ามาใช้ในกระบวนการตัดสินใจเลือกหุ้น หรือตัดสินใจลงทุน

2. เราต้องวางบทบาทเหมือนเป็นเจ้าของกิจการ เพราะเราลงทุนระยะยาว เพราะปกติคนลงทุนทั่วไปนั้นไม่พอใจก็ขายทิ้ง แต่หากเป็น กบข. ควรจะต้องลงทุนในฐานะเจ้าของ ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ จะสะท้อนความเป็นเจ้าของมากกว่าผู้ลงทุนทั่วไป หากเป็นเจ้าของต้องแคร์มากกว่า ต้องมีการเสนอแนะ ปรับปรุงในทางทีดีขึ้น

3. เราเองจะต้องโปรโมท ESG ให้คนในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหรือ บลจ. และนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ด้วย

4. จะต้องเปิดเผยข้อมูลในการทำกิจกรรมเหล่านี้ และเราต้องไปส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทที่เราไปลงทุนเปิดเผยข้อมูลด้วย เพราะนักลงทุนรายอื่นจะได้ทราบข้อมูล และนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ด้วย

5. จะต้องมีเครือข่าย มีการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มีผลกระทบในภาพรวมมากขึ้น คือมี “Networking” หากเราทำไปคนเดียว ประสิทธิผลของเราอาจจะลดน้อยลงไป

6. ควรจะต้องมีการรายงานให้มีการรับรู้ในวงกว้าง

ยอมรับว่าในช่วงแรก (ปี 2549) เป็นช่วงของการศึกษา เราได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศอย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญคาลเปอร์ส (CalPERS Pension Fund) จากแคลิฟอร์เนีย มาบรรยาย คาลเปอร์สเป็นกองทุนที่มีความพยายามจะส่งเสริมให้บริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเวลา กบข. เชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย เราก็จะเชิญ บลจ. อื่นๆ มาฟังด้วย

โสภาวดี เลิศมนัสชัย-2

กบข. เริ่มทำอย่างจริงจังในปี 2554 มีการไปทำข้อผูกพันกับบริษัทที่เราเข้าไปลงทุน เป็นการเข้าไปพูดคุยให้เขารับทราบว่าสิ่งที่นักลงทุนสถาบันควรสนใจคืออะไร คือ นอกจากกำไรแล้ว เราก็ต้องการกำไรที่มันยั่งยืนด้วย ไม่ใช่แค่กำไรปีนี้ นั่นมันแค่กำไรระยะสั้น แต่กำไรที่ยั่งยืนมันต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีบรรษัทภิบาลที่ดี คือมี ESG

ในปี 2554 เราเข้าไปคุย 11 บริษัท ปี 2555 เข้าไปคุย 25 บริษัท เข้าไปคุยว่าเขาทำอะไร และจากข้อมูลที่เราดู เราก็คาดหวังว่าเขาจะทำอะไรบ้าง ก็ได้ประโยชน์ตรงบางเรื่องที่บริษัทเขาทำตามกฏหมาย เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม บ้านเราส่วนใหญ่ทำตามกฎหมาย แต่ทำขั้นต่ำและไม่เปิดเผยข้อมูล ขณะที่ในด้านสังคม บริษัทเขามองเรื่องการบริจาคและการช่วยเหลือสังคมมากกว่า ส่วนเรื่อง CG (Corporate Governance) ต้องยอมรับว่า CG เรามีการพัฒนามา 10 กว่าปี นับว่ามีความก้าวหน้ามาเยอะที่สุด ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องภาวะโลกร้อน เรื่องการกำจัดของเสีย เรื่องการจัดการน้ำ เรื่องสภาวะแวดล้อม

ขณะที่ของยูเอ็น หากเป็นเรื่องสังคม เขามองว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาไม่ได้มองการบริจาค เขามองเรื่องความเท่าเทียมกัน

หรือในเรื่อง CG เขาก็จะมองโครงสร้างกรรมการบอร์ด ความรับผิดชอบบอร์ด การดูแลสวัสดิการพนักงาน การต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้บริหาร เรื่องเหล่านี้ในเมืองนอกเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะะมีประเด็นเยอะ แต่ของเราไม่มีปัญหาพวกนี้มาก

นี่คือสิ่งที่เขากำหนด ESG คือเรื่องพวกนี้ มันควรอยู่ในกระบวนการของการดำเนินธุรกิจของบริษัท เช่น ในเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเป็นเรื่องประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มันจะมีผลต่อบรรยากาศของโลก ภาวะโลกร้อนที่ทุกคนเป็นกังวล ว่ามันอาจจะเกิดภัยพิบัติ เพราะเราใช้โลกมาก

หรือกรณี BP ที่น้ำมันรั่ว ก็จะเกิดความเสียหายกับบริษัทมากเลย พวกนี้จะเป็นแนวทางเวลาที่เราเข้าไปคุย แต่เราต้องดูว่าธุรกิจหลักของบริษัทนั้นคืออะไร อย่างธุรกิจน้ำมัน เราก็ดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ถ้าเป็นสถาบันการเงิน จะเน้นที่ CG มากกว่า

เท่าที่เข้าไปคุยกับบริษัทต่างๆ ผลที่ออกมาก็คือ อาจเพราะเราเป็นกองทุนแรก หรือนักลงทุนสถาบันแรกๆ ที่เข้าไปคุย เขาอาจจะสงสัยว่าทำไมเราเข้าไปคุยกับเขา แต่ถ้าบริษัทที่เขาทำ ESG อยู่แล้ว เขาจะรู้สึกว่าดี เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นได้รับการยอมรับและมีคนรับรู้

ไทยพับลิก้า : ลงนาม MOU ปี 2549 แต่เริ่มทำจริงๆ ปีไหน

ปี 2553 ทำในลักษณะการเผยแพร่ เชิญเขามาบรรยาย เชิญ บลจ. มาฟัง ปี 2554-2555 เริ่มไปคุยกับบริษัทต่างๆ แต่ปีนี้เราจะเริ่มต่อ คิดว่าผู้จัดการกองนอก(ผู้บริหารกองทุน)ที่เราจ้างบริหารในประเทศไทยจะต้องใช้เรื่องนี้เป็นหลักการพิจารณาในการลงทุน เป็นไกด์ไลน์ในการลงทุน เราจะส่งเสริมให้ใช้แนวทางนี้ในการลงทุน และอีกอันที่เราทำคือเข้าไปร่วมในเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้กัน และบางเรื่องที่จะทำร่วมกัน เช่น การโหวตการประชุมผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เราไปลงทุน ถ้ามีบางเรื่องที่ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยเสียเปรียบ เราน่าจะร่วมกันมากกว่าที่จะเป็นต่างคนต่างไป จะเป็นการส่งเสียงของเราให้ได้ยินชัดเจนมากขึ้น

โสภาวดี เลิศมนัสชัย-4

ไทยพับลิก้า : น่าสนใจมากประเด็นนี้

ก็คงทำในลักษณะพันธมิตรร่วมกันมากขึ้น และมีการแชร์ความรู้มากขึ้น

ไทยพับลิก้า : เครือข่ายที่ว่ามีใครบ้าง

ที่ทำกันมากจะเป็นกลุ่ม บลจ. และกองทุนประกันสังคม โดยปกติผู้ลงทุนสถาบันจะเข้าไปประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองทุกๆ ปี กบข. จะมีการโหวตติ้งไกด์ไลน์ เป็นแนวทางการออกเสียง ว่าอะไรที่เราจะออกเสียงเห็นด้วยและอะไรที่เราจะออกเสียงไม่เห็นด้วย

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกรรมการมากกว่า เช่น แต่งตั้งกรรมการที่เราคิดว่าอิสระแต่ไม่อิสระ อย่างบางคนเป็นที่ปรึกษา เราถือว่าไม่เป็นอิสระแล้ว มีการรับค่าจ้าง หรือว่าเป็นกรรมการอิสระเกินกว่า 3 วาระ ถือว่าอาจจะสนิทชิดเชื้อ ก็ไม่อิสระแล้ว หรือว่าการแต่งตั้งกรรมการใหม่คนเดิมเข้าไปต่อ แต่ว่ากรรมการคนเดิมอาจจะไม่ค่อยมาประชุม หรือมาประชุมน้อยกว่า 75% กบข. ก็จะไม่โหวตให้ อันนี้เป็นแนวทางที่เราให้กับผู้จัดการกองทุนที่เราจ้างให้บริหารด้วย

ไทยพับลิก้า : จำนวน 11 บริษัท และ 25 บริษัทที่ กบข. เข้าไปคุยนั้นใช้เกณฑ์คัดเลือกอย่างไร

จริงๆ ตอนแรกที่เลือกเราคิดถึงบริษัทที่พร้อม อยากให้เราเข้าไปคุย เพราะถ้าบริษัทที่ไม่ค่อยพร้อม เราก็ไม่อยากเข้าไป ในปี 2554 จำนวน 11 บริษัทที่เราเข้าไปคุย อาทิ แอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส, บางจาก, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ซีพีออลล์, ปตท., ปูนซีเมนต์ไทย,การบินไทย,ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป และเซ็นทรัลพัฒนา พอมาปี 2555 ก็กระจายมากขึ้น ผลตอบรับก็ออกมาดี

ถ้าเป็นบริษัทน้ำมัน เราดูเรื่องสิ่งแวดล้อมว่ามีระบบงานที่แน่ใจได้ไหม ถ้าเป็นธุรกิจทางการเงิน เราจะมองเรื่องการดำเนินธุรกิจที่เขาปล่อยสินเชื่อ เช่น ถ้าลูกค้าที่มากู้เงินเขาดูเรื่องประเด็นพวกนี้ (ESG) หากเป็นบริษัทที่ทำพวกนี้ สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยพิเศษ เป็นการจูงใจให้ไหม เพราะเอกชนเขามีต้นทุนในการรับผิดชอบต่อสังคม หากเอกชนด้วยกันเองไม่ส่งเสริมกัน คงจะไม่มีกลไกที่จะส่งเสริมได้

ไทยพับลิก้า : คล้ายๆ ดูทั้งซัพพลายเชน กบข. ในฐานะลงทุนรายใหญ่ที่คอยตรวจสอบบริษัทที่ไปลงทุน และลงลึกไปถึงลูกค้าและซัพพลายเชนด้วยว่าต้องมี ESG ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

บางคนมองว่าสถาบันไม่น่าจะทำอะไรได้ จริงๆ สถาบันการเงินน่าจะทำอะไรในการให้สินเชื่อได้เยอะ น่าจะเป็นกติกาสำหรับลูกค้าที่มากู้เงิน หากมีกติกาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ความเสี่ยงคุณจะลดลง อัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในกลุ่มลูกค้าชั้นดีไหม สถาบันการเงินยินดีให้กู้ไปวางระบบที่ส่งเสริมเรื่องแวดล้อม เป็นต้น

ไทยพับลิก้า : เท่าที่เข้าไปคุย บริษัทเขาโอเคไหม และเขารับแนวทางของ กบข. ไหม

เขาโอเค แต่เขาอาจจะแปลกใจช่วงแรกที่มาคุยเรื่องอะไรพวกนี้ เพราะเดิมที่ กบข. เข้าไปคุยกับบริษัทต่างๆ เรื่องESG นั้น เราไปคุยคนละทีมกับทางทีมนักวิเคราะห์ แต่หลังจากปีนี้แล้ว มันเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานแล้ว เพราะฉะนั้น ต่อไปนักวิเคราะห์เราไปเจอบริษัทจดทะเบียน ESG จะเป็นหัวข้อหนึ่งที่จะคุยกับผู้บริหารด้วย

ตอนนี้มันเข้าไปในกระบวนการแล้ว อยู่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ของ กบข. และผู้จัดการกองทุนของ กบข. ตอนแรกเริ่มเราทำเป็นโครงการ เลือกโครงการนำร่อง์ก่อน เข้าไปคุยแล้วมีผลตอบรับอย่างไรบ้าง และต่อไปเราต้องติดตามว่าสิ่งที่เราได้เข้าไปคุยนั้นเขาทำหรือยัง เขามีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้นไหม เพราะบางทีบริษัททำแล้วไม่เปิดเผย เขาอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่คิดว่าต่อไปน่าจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น

โสภาวดี เลิศมนัสชัย-5

ไทยพับลิก้า : วงเงินลงทุนของ กบข. 580,000 ล้านบาท ทำอะไรได้พอสมควรในฐานะผู้ถือหุ้น

กบข. เราลงทุนนาน และเลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐานด้วย ความเสี่ยงอันหนึ่งจากการที่เราเข้าไปลงทุนคือความเสี่ยงของตลาด คือ เรื่องราคา เรื่องสภาพคล่อง แต่ความเสี่ยงที่เราไม่อยากเจอคือความเสี่ยงที่มันคาดไม่ถึง ความเสี่ยงที่คุณจัดการไม่ได้ เหมือนบริษัท BP ใครจะไปนึกว่าน้ำมันจะรั่ว นี่ถ้าเป็นบริษัทที่ดี ไม่ควรที่จะเกิดเรื่องคาดไม่ถึงขึ้นมา หรือโรงกลั่น ไม่ใช่มี unplan shut down น่าจะมีการวางแผนและป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่ให้เกิดขึ้นแล้วไปแก้ปัญหา อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าไปดูว่าบริษัทเขามีระบบป้องกันความเสี่ยงเรื่องพวกนี้ไหม

ไทยพับลิก้า : ESG จะช่วยยกระดับบริษัทให้มีมาตรฐานมากขึ้น

เราคาดหวังว่า หากบริษัททำสิ่งพวกนี้แล้ว มันจะช่วยสร้างระดับมาตรฐานของเขาและสร้างระดับมาตรฐานการแข่งขันของเขาได้ ถ้าเขามีศักยภาพ เราก็คิดว่าตัวบริษัทน่าจะมีคุณค่ามากขึ้น และสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้น หรือในฐานะที่เรามองว่าเราเป็นเจ้าของมากกว่าผู้ลงทุน เราก็จะอยู่กับบริษัทเขานาน เราจะลงทุนนานกับเขา ไม่ใช่ไม่พอใจแล้วขายทิ้ง ซึ่งลำบากมาก เพราะนักลงทุนสถาบันเราถือหุ้นไม่ใช่น้อยๆ กบข. ลงทุนในหุ้น SET 50 มีนอก SET 50 บ้าง เวลาเข้า-ออกเราก็ไม่อยากให้กระเทือนตลาด

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราไปทำ ไม่ใช่ว่าเราไปเจอสิ่งที่ไม่ดีในครั้งแรกแล้วขายทิ้งไปเลย เราจะใช้วิธีทำความเข้าใจและอยากเห็นผู้บริหารแก้ไขมากกว่า เพราะว่าถ้าเราทิ้งไปเลยมันไม่ได้ช่วยให้เขาดีขึ้น แต่การที่เราบอกว่าเราคาดหวังอะไร เราอยากเห็นอะไร น่าจะเป็นประโยชน์กับเขาและผู้ถือหุ้นด้วย และหากเราทำกันทุกๆ คน ในฐานะนักลงทุนสถาบัน ก็คิดว่าน่าจะมีผลกระทบกับเขา ทำให้เขาเปลี่ยนและยอมลงทุนในเรื่อง ESG

บางทีเรื่องพวกนี้เขาคิดเป็นค่าใช้จ่าย เขาคิดว่าต้นทุนเขาสูงขึ้น แต่โดยลึกๆ แล้วน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เช่น ค่าใช้จ่ายเรื่องเชื้อเพลิง หากเขาไม่เคยไปวิเคราะห์เลยว่าตรงไหนที่ต้องใช้น้ำมันหรือเชื้อเพลิงมากขนาดนี้ แต่ถ้ามีขบวนการวิเคราะห์ได้ว่าเขาสามารถประหยัดได้ตรงไหน อันไหนที่เป็นความเสี่ยง อันไหนที่เขาทำได้ดีแล้ว น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า มันคุ้มค่า

บริษัทเองเขาก็เรียนรู้ เพราะเวลาเขาไปคุยกับนักลงทุนต่างประเทศก็มักถูกตั้งคำถาม มันเป็นเรื่องที่เขาไม่อยากถูกตั้งคำถาม และไม่อยากเจอคำถามนี้ และทำให้ถูกจัดอันดับ (Rating)

เราใช้ไอโอดีเรตติ้ง และเราใช้ทั่วๆ ไปว่าเรตติ้งไม่ควรต่ำกว่า 3 ดาว หากต่ำกว่าเราก็จะไม่ลงทุน แต่เรามาวิเคราะห์ให้มากขึ้นในส่วนของ กบข. เอง เพราะของไอโอดีเขาใช้ข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไปอย่างเดียว ไม่ได้เข้าไปคุย การเข้าไปคุยทำให้รู้ว่าข้อมูลที่เปิดเผยมันเป็นจริงไหม บางทีบริษัทนี้เขียนโดยการไปก็อปเพจ มีบางบริษัทลืมลบชื่อออก ก็ปรากฏอยู่

โสภาวดี เลิศมนัสชัย-6

ไทยพับลิก้า : คงคิดว่าไม่มีใครอ่าน

ที่ทำอย่างนั้น เขาไม่ได้อยากได้รางวัล แต่กติกาให้เขาทำอะไรที่ต้องเขียน ก็ทำตามแบบฟอร์ม ไม่ได้ทำแบบอยู่ในจิตสำนึก หรืออยู่ในขบวนการทำงาน

ไทยพับลิก้า : ประเด็นนี้สำคัญ

ใช่ สำคัญมาก บ้านเราพิธีการเยอะมาก อย่างเราลงนามสัญญากับเครือข่ายพันธมิตร มันต้องให้เห็นในการปฏิบัติจริงหลังจากลงนามกันแล้ว ไม่งั้นก็เป็นแค่รูปแบบ ลงนามกัน จับมือกัน แล้วต่างคนต่างทำ อะไรอย่างนี้

เมื่อก่อนตัวเองก็ลงนาม MOU เยอะ ซึ่งไม่ดี มันไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ แต่ตอนนี้เราหวังว่าจะเกิด เราจะมานั่งคุยมาตรฐานกันว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน หากมองในแง่นักลงทุนสถาบัน เหมือนเราต้องเสียภาษีทางอ้อม และเป็นต้นทุนของเรา ไม่ใช่ภาษีทางตรงแต่เป็นภาษีทางอ้อม เพราะบริษัทที่เราไปลงทุนต้องจ่ายใต้โต๊ะ หรือว่ามีรายได้จากการที่ต้องไปจ่ายใต้โต๊ะ เท่ากับเป็นการเสียภาษีอีกอัตราหนึ่ง 20-30%

เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่ไม่เป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ มันมีผลในเชิงศักยภาพในการแข่งขันด้วย เพราะหากบริษัทคิดว่าได้งานแล้ว ไม่ต้องปรับปรุงพัฒนาให้ดีหรอก ยังไงก็ได้งานอยู่แล้ว ก็จะไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขัน

ไทยพับลิก้า: ขบวนการปฏิบัติที่จะเดินต่อไปจะต้องทำอะไร อย่างไร

กฎกติกา หากจะเริ่ม เราเริ่มในองค์กรของเราก่อน เช่น นโยบายต่อต่านการทุจริตประพฤติมิชอบ คอร์รัปชัน สิ่งที่เราทำได้และประกาศนโยบายให้พนักงานรู้ และเรามีเรื่องวินัยด้วย เราเองจะกำหนดขบวนการวิธีการทำงานที่ชัดเจน ที่จะป้องกัน มีการตรวจสอบ ติดตาม ในทางหนึ่งที่เราจะทำให้เห็นชัดเลยคือ เราจะทำจดหมายถึงซัพพลายเออร์ทั้งหลายที่เราซื้อของ หรือที่เราจ้างผู้จัดการกองทุนมาบริหาร เราบอกว่าเราจะไม่มีการรับค่านายหน้า คุณไม่ต้องจ่าย การที่คุณจะได้งานของ กบข. คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสินบนให้เรา เพราะพนักงานเราจะไม่รับเงิน อันนี้ก็เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของเราให้เขารู้ว่านี่เป็นนโยบายของ กบข. เขาจะได้รู้หากมีพนักงานเราไปเรียกค่านายหน้า นี่คือระบบงานที่ชัดเจน

ไทยพับลิก้า : ถ้าเป็นลูกค้าที่ กบข. ไปลงทุน

อย่างที่บอก ในการทำงาน เรามีการวิเคราะห์หุ้นที่จะไปลงทุน นักวิเคราะห์จะต้องเอาปัจจัย ESG เข้ามาเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจการลงทุน จากที่โดยปกติจะดูว่ามีกำไรไหม ราคาอนาคตเป็นอย่างไร แคชโฟลว์เป็นอย่างไร การจ่ายเงินปันผลน่าจะเป็นอย่างไร ผลตอบแทนน่าจะเป็นอย่างไร ราคาอัพไซด์น่าจะเป็นอย่างไร นี่เป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่ต่อไปจะมีว่าบริษัทนี้ ESG เป็นอย่างไรด้วย คะแนน CG เป็นอย่างไร ข้อมูลพวกนี้จะอยู่ในผลวิจัย จากนั้นผู้จัดการกองทุนต้องดูส่วนนี้ด้วย ว่ามีการแนะนำไว้อย่างไร หรือถ้าลงทุนแล้วก็ไปนั่งคุยกับบริษัทว่าในฐานะผู้ลงทุนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ท้ายที่สุด หากไม่เปลี่ยนเราก็ค่อยๆ ทยอยขายหุ้นออกไป ต้องดูปัจจัย ESG อย่างมีกรณีที่จับได้ว่ามีการทุจริต เราก็ค่อยๆ ถอนหุ้นออกมา

ไทยพับลิก้า: ถ้าหากว่าบริษัทนี้กำไรดีมาก ปันผลก็ดี แต่ ESG ไม่ได้ กบข. จะลงทุนไหม

เรื่องนี้มันต้องมีหลักการ ไม่ใช่ดูกำไรระยะสั้น หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่กำไรที่ยั่งยืน อาจจะเกิดความเสี่ยงอะไรขึ้นได้ เช่น ถ้าบริษัทมีการทุจริตข้างใน หรือบริษัทไปจ่ายสินบนแล้วถูกจับได้ ก็ไม่ดีแล้ว ก็ต้องมีคดีที่จ้องจ่ายค่าเสียหาย เกิดความเสียหาย กำไรที่สูงก็ไม่ใช่แล้ว ก็ต้องดูเป็นรายกรณีไป

ต้องยอมรับว่าบ้านเราเพิ่งเริ่มต้น ไม่มีใครอยากเป็นศัตรูกับใคร ถึงบอกว่า ESG อย่าทำคนเดียว เวลาเสียงที่ออกไปเป็นเสียงของกลุ่ม ไม่ใช่ตัวบุคคล มันเป็นพันธมิตร น่าจะมีผลกระทบมากกว่า หาก กบข. ทำคนเดียว กบข. ไม่ลงทุนก็ไม่เป็นไร คนอื่นซื้อลงทุนอยู่ เขาอาจจะไม่สนใจ แต่หากนักลงทุนสถาบันรวมตัวกัน ผลกระทบมันน่าจะเยอะกว่า แรงกว่า

ดังนั้น เรื่อง ESG น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างให้นักลงทุนรายย่อยรู้ว่า ขนาดนักลงทุนสถาบันยังไม่ลงทุน เขาก็อาจจะไม่อยากลงทุนด้วย หรือนักลงทุนรายอื่นเขาอาจจะเห็นตัวอย่างจากเรา แล้วเขาจะไปลงทุนทำไม ก็น่าจะมีส่วนช่วยเรื่องพวกนี้ขึ้นมาได้

ไทยพับลิก้า : น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้

ใช่ แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่งั้นเราจะมองจนเคยชิน อย่างเรื่องคอร์รัปชัน เป็นวัฒนธรรมของเรา อย่างผลสำรวจที่ว่าขอให้โครงการเกิดคอร์รัปชันก็ไม่เป็นไร กลายเป็นสิ่งปกติที่เรายอมรับได้ แล้วเราจะทำให้เป็นเรื่องเคยชินไหม บางคนอาจจะท้อใจแล้ว และบริษัทบางแห่งก็ไม่อยากทำแล้ว ทำแล้วไม่ได้อะไร งานก็ไม่ได้ แล้วจะทำไปทำไม

โสภาวดี เลิศมนัสชัย-7

ไทยพับลิก้า: บลจ. กองทุนประกันสังคม กบข. รวมแล้ววงเงินลงทุนเท่าไหร่

เท่าที่ดูสินทรัพย์ที่ลงทุนประมาณ 7 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงพอสมควร ขณะที่มาร์เก็ตแคปประมาณ 11-12 ล้านล้านบาท แต่ต้องทำจริง

ที่ต่างประเทศ อย่าง กองทุนคาลเปอร์ส เขามีการกดดันเรื่องการแต่งตั้งกรรมการด้วย ให้ลาออกได้หากกรรมการไม่รับผิดชอบหรือทำงานไม่เต็มที

ไทยพับลิก้า : สังคมไทยจะกดดันได้ไหม เพราะคนไทยมีความสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลและอำนาจมากมาย

คือ อันนี้มันอาจจะไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นการลงทัณฑ์ทางสังคม (Social Sanction) การลงทัณฑ์ทางสังคมในบ้านเราค่อนข้างอ่อน มันก็ต้องเริ่ม อาจจะไม่มีใครออกหน้า ก็ต้องออกในนามกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ออกไปคนเดียวอาจจะตายก่อน กว่าจะได้ทำ แต่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่จะต้องทำอย่างเดียว เป็นเรื่องที่ต้องให้ความเข้าใจด้วย เราจะทำอย่างไรให้เกิดเป็นวัฒนธรรมเรื่องการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ถือว่า ESG เป็นกติกาที่ต้องปฏิบัติ เป็นเงื่อนไขไปเลย หากวางไว้ว่าทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ก็อาจจะเป็นการเลือกไป เราต้องมีเหตุมีผล น่าจะพูดตามข้อเท็จจริงได้

เพราะถ้าเราหวังจะพึ่งแต่กฏหมาย มันยาก มันช้า มันอาจจะไม่ทันรุ่นเราก็ได้ บางคนยอมทำผิด เพราะในชีวิตเขายังไงกฎหมายก็ไม่สามารถลงโทษได้ทัน เขาอาจะตายก่อน

ไทยพับลิก้า : มีด้วยหรือ

มีนะ ที่เจอนักปั่นหุ้นสมัยอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ เขาบอกว่าเขาไม่กลัวเลย เขาเป็นโรคอยู่ เขาบอกเขาอยู่ไม่นานหรอก ปั่นหุ้นไปเลย เอาเงินมาก่อน กว่าคดีจะตัดสินเขาตายก่อนแล้ว อะไรอย่างนี้ เออ เขาก็คิดได้นะ แทนที่ใกล้ตายแล้วจะทำความดีนะ แสวงหาความสุขก่อน

ไทยพับลิก้า : เวลาเข้าไปคุยกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เขาพร้อมที่จะปรับปรุงไหม

มี แต่อาจจะไม่เร็วมาก เมืองนอกเขามีกลุ่มงานที่ทำเรื่อง ESG เลย แต่บ้านเรายังให้กลุ่มนักวิเคราะห์ทำอยู่ กบข. เองก็มีกลุ่มงานธรรมาภิบาล ส่วน บลจ. จะมีหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ เพราะต้องลงทุนเรื่องคน

ไทยพับลิก้า: จากนี้ไป ถ้ามีเรื่องไม่ชอบมาพากล จะมีการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนไหม หากมีกรณี ESG ขึ้นมา

อะไรที่เราไม่เห็นด้วยเราจะคุยกับบริษัทก่อน อะไรที่ถอนได้ก็ถอนไป แต่หากเขาไม่ถอน เราจะคุยกันในกลุ่มนักลงทุนสถาบันว่าจะโหวตไม่เห็นชอบมตินี้

ไทยพับลิก้า : เคยมีไหม

เคยมีผู้ถือหุ้นสองข้างทะเลาะกัน มีบางกลุ่มก็มาหาเราเพื่อให้เลือกข้างเขา พวกเรากลุ่มนักลงทุนสถาบันก็หารือกันว่ากลุ่มไหนมองประโยชน์บริษัทเป็นหลัก และผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย หรือก็เคยมีที่คุยกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนนอกรอบก่อน แล้วเขาก็ไปปรับให้เป็นที่ควรจะเป็น ก็เคยมี

ไทยพับลิก้า : กระบวนการทำงานกับเครือข่ายเป็นอย่างไร

ตอนนี้ยังไม่เป็นทางการ แต่เราคิดว่าหลังจากที่ลงนามกันไปแล้วน่าจะเป็นทางการมากขึ้น จะไม่ขึ้นกับตัวบุคคล แต่วางเป็นระบบการทำงาน ซึ่งก็ต้องกำหนดมาตรฐานการทำงานของกลุ่ม และหากมีเรื่องเกิดขึ้นจะมาคุยกันรูปแบบไหน เพื่อที่จะให้เสียงดังและมผลกระทบมากขึ้นในการโหวต การแสดงความคิดเห็นร่วมกัน และทำไปด้วยกัน มากกว่าที่ต่างกันคนต่างทำ

ไทยพับลิก้า : ถือเป็นการส่งสัญญาณของนักลงทุนสถาบันที่ชัดเจนมากขึ้น

ก็หวังว่าอย่างนั้น เพราะนักลงทุนสถาบันก็นับวันจะใหญ่ขึ้น และบริษัทจดทะเบียนอยากให้เข้าถือหุ้น อยากให้สถาบันเข้าไปถือหุ้นด้วย เพราะการที่นักลงทุนสถาบันเข้าไปลงทุนเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับการซื้อขายหุ้นของเขา หากมีแต่นักลงทุนรายย่อยซื้อๆ ขายๆ หุ้นเขาก็ไม่มีเสถียรภาพเท่าไหร่ เพราะนักลงทุนสถาบันนั้นหากลงทุนแล้วส่วนใหญ่จะอยู่กับคุณนาน และเห็นคุณค่าในบริษัท มากกว่าที่จะเห็นค่าเรื่องราคา เรามองยาว ไม่ใช่ซื้อๆ ขายๆ วันละหลายๆ รอบ

ไทยพับลิก้า : เมืองไทยจะมี SRI Index ไหม

บ้านเรายังไม่มี แต่ตลาดหลักทรัพย์ก็มีการคิดกันอยู่