รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เรื่องราวของคนญี่ปุ่น โลกเรามักมีคำถามว่า ทำไม Ohtani Shohei นักเบสบอลที่มีชื่อเสียง เก็บขวดน้ำดื่ม หลังจากเสร็จการแข่งขันแล้ว ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถวอย่างสุภาพ รอจนกว่าไฟสัญญาณจราจรสีเขียม จึงจะเดินข้ามถนน ทำไมญี่ปุ่นจึงมีความเป็นระเบียบ อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีนิสัยเฉพาะแบบญี่ปุ่น สำหรับบางคน คำตอบอยู่ที่ “โรงเรียนประถมศึกษาปลาย” (elementary school) ที่เด็กนักเรียนญี่ปุ่นถูกสอนในการสร้างนิสัยความมีระเบียบวินัยดังกล่าว
นักการศึกษาบางคนมองว่า “โรงเรียน” ญี่ปุ่น ถูกออกแบบให้เป็น “สังคมเล็กๆ” (mini society) ที่นักเรียนทุกคนมีบทบาทหน้าที่ และได้รับการคาดหมายว่า จะต้องทำงานเพื่อสังคม การศึกษาจะเน้นหนักในเรื่องที่ไม่ใช่วิชาการ เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม จริยธรรมการทำงาน และความมุ่งมั่นในผลสำเร็จ นิสัยและความคิดดังกล่าวของคนญี่ปุ่น ถูกสร้างขึ้นมาจากโรงเรียนประถมศึกษาปลาย
ศิลปะการสร้างคนของญี่ปุ่น
บทความของนิยตสาร The Economist เรื่อง The Japanese Art of Child-Rearing เขียนไว้ว่า ที่โรงเรียนประถมศึกษาปลายแห่งหนึ่งในโตเกียว เมื่อระฆังดังขึ้นว่าเลิกเรียนแล้ว จะมีนักเรียน 4 คนที่ยังไม่กลับบ้าน เพราะเป็นเวรที่พวกเขาจะต้องทำความสะอาดห้องเรียน ครูคนหนึ่งบอกกับ The Economist ว่า การทำความสะอาด ทำให้สิ่งแรกที่เด็กนักเรียนได้เรียนรู้คือ ไม่ทำอะไรสกปรก ต่อมาได้เรียนเรื่องความเสมอภาคกัน เพราะไม่มีภารโรงจะมาทำความสะอาดห้องเรียน

หน้าที่ของโรงเรียนคือเตรียมเด็กเข้าสู่สังคม โดยสอนเด็กให้รู้จักการร่วมมือกับคนอื่น การริเริ่ม และการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเท่าเทียมกัน
ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาน่าประทับใจ ไม่เพียงแต่เด็กญี่ปุ่นทำได้ดีทางวิชาการ แต่ยังแสดงออกความเป็นอิสระในการพึ่งตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย
เด็กอายุ 6 ขวบเดินไปโรงเรียนเอง หรือนั่งรถไฟใต้ดินเอง แต่ความปลอดภัยของญี่ปุ่นก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้
The Economist กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของญี่ปุ่นแบบนี้ มีมานานหลายศตวรรษ ในสมัยเอโดะ (1603-1868) พวกซามุไรตั้งโรงเรียนฝึกนักรบ ให้รู้หนังสือและมีจริยธรรม โรงเรียนในวัดทางศาสนาฝึกฝนชาวนา สิ่งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการให้เด็กนักเรียนทำความสะอาดห้องเรียน หลังจากแพ้สงครามและสหรัฐฯเข้ามายึดครอง หลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ทุกวันนี้ โรงเรียนในญี่ปุ่นยังพยายามสร้างนิสัยแก่เด็กนักเรียน เน้นระเบียบวิจัย และความรับผิดชอบต่อคนอื่น สิ่งนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้รถไฟหัวกระสุน “ชินกันเซน” ของญี่ปุ่นตรงเวลา แต่ละปี รถไฟเดินรถล่าช้าเฉลี่ยน้อยกว่า 1 นาที และไม่เคยเกิดอุบัติทำให้คนเสียชิวิตเลย โรงเรียนยังเน้นเรื่องเอกภาพของกลุ่ม มาก่อนการที่แต่ละคนทำอะไรที่อิสระของตัวเอง กฎระเบียบกลายเป็นส่วนหนึ่งในความคิดภายในของคนญี่ปุ่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้การประนามคนที่ละเมิด
ปรัชญาการศึกษาญี่ปุ่น
กระทรวงศึกษาของญี่ปุ่นมีปรัชญาการศึกษาคือ การผสมผสานระหว่าง “ความสามารถทางวิชาการ” “คุณธรรม” และ “สุขอนามัย” ทำให้การศึกษาหมายถึงกีฬาและศิลปะด้วย
นอกจากนี้ ครูจะมีบทบาทส่งเสริมความพยายามของนักเรียน ไม่ใช่มุ่งความสำเร็จอย่างเดียว นักการศึกษาของตะวันตกบอกว่า สิ่งนี้ทำให้เด็กญี่ปุ่นมีความเข้มแข็ง
การศึกษาของญี่ปุ่นมีบริษททางสังคมคล้ายกับประเทศตะวันตก ญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มั่งคั่งและเสรี แต่ก็มีบางอย่างที่แตกต่าง คนอเมริกันต้องการให้บุตรหลานตัวเองเป็นผู้นำและเอาชนะแข่งขัน แต่ผู้ปกครองคนญี่ปุ่นต้องการให้บุตรหลานตัวเองเข้ากันได้กับคนอื่น พ่อแม่คนญี่ปุ่นมักคาดการณ์ว่า ลูกตัวเองต้องการอะไร แต่พ่อแม่คนอเมริกัน จะรอการร้องขอจากลูก

ดังนั้น โรงเรียนญี่ปุ่นจะไม่สอนเด็กแบบประจบเอาใจ เริ่มจากโรงเรียนอนุบาล เน้นอิสระในการละเล่น ดนตรี ศิลปะ การออกกำลังกาย และการชื่นชมธรรมชาติ สอนเด็กให้แต่งตัวเองและล้างมือ ประถมศึกษา สอนเด็กให้พร้อมที่จะเรียนรู้หน้าที่ใน “สังคมเล็กๆ” แต่ละวันเริ่มต้นและจบลงที่การประชุมในห้องเรียน เช่น งานโรงเรียนจะแสดงอะไร หน้าที่แต่ละวันจะมีการหมุนเวียน เช่น เด็ก 2 คนทำหน้าที่ลบกระดานห้องเรียน ใครทำหน้าที่นำอาหารจากโรงครัวมาให้เพื่อนแต่ละคน
การสร้างนิสัยและกฎระเบียบ ช่วยให้โรงเรียนญี่ปุ่นดำเนินงานอย่างราบรื่น เมื่อเด็กมาถึงโรงเรียน จะถอดรองเท้าเก็บไว้ในล๊อคเกอร์ แล้วเปลี่ยนเป็นรองเท้าใส่ภายในโรงเรียนแทน เพื่อให้โรงเรียนสะอาด
ในทศวรรษ 1970 และ 1980 นักการศึกษาทั่วโลกมองมาที่การศึกษาญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นทำอย่างไรในการปรับปรุงคะแนนทดสอบของเด็ก แต่ทุกวันนี้ คนต่างชาติสนใจว่า โรงเรียนญี่ปุ่นทำอย่างไรในการสร้างอุปนิสัยของเด็กนักเรียน ผู้แทนจากมองโกเลียมาถึงมาเลเซียพูดกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นในเรื่องนี้ ในปี 2014 สิงคโปร์เริ่มให้นักเรียนทำความสะอาดห้องเรียนตัวเอง
แต่พ่อแม่บางคนที่มีความคิดเสรีนิยมก็มองว่า การศึกษาของญี่ปุ่นบางด้านล้าสมัย แม้จะชื่นชมในประถมศึกษา แต่ก็ไม่ชื่นชมสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับมัธยมศึกษา โดยเฉพาะการเน้นเรื่องการท่องจำ หรือระเบียบที่เน้นให้ปฏิบัติตามที่ไม่จำเป็น เช่น ความยาวของถุงเท้านักเรียน สิ่งเหล่านี้เป็นผลเสียต่อการคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

สังคมเปลี่ยน โรงเรียนต้องเปลี่ยน
The Economist กล่าวว่า ไม่ควรมองข้ามความเป็นเลิศโดยรวมของโรงเรียนญี่ปุ่น ในการทดสอบของกลุ่ม OECD เด็กญี่ปุ่นอายุ 15 และ 16 ได้คะแนนที่ 3 ด้านการอ่าน ที่ 5 ด้านคณิตศาสตร์ และที่ 2 ด้านวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน โรงเรียนก็ต้องเปลี่ยนด้วย ทุกวันนี้ ไม่ใช่ทุกคนต้องการเป็น “มนุษย์เงินเดือน” ผลงานจากความเป็นปัจเจกชนได้รับรางวัลตอบแทนมากขึ้น การมีแรงงานอพยพจากต่างชาติมากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมที่เป็นเนื้อเดียวกันของญี่ปุ่นลดน้อยลง
ในความหมายของ “ศิปละการสร้างคน” สิ่งที่เป็นจุดแข็งของ “ประถมศึกษาปลาย” ของญี่ปุ่น คือ การสร้างนิสัยการทำงานเป็นกลุ่ม ความมีวินัย และพัฒนาการเติบโตของตัวบุคคล บทเรียนจากญี่ปุ่นสะท้อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจะมีส่วนกำหนดว่า สังคมอนาคตจะเป็นแบบไหน
การศึกษาของญี่ปุ่นย่อมมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่การเรียนรู้บทเรียนจากญี่ปุ่น จะช่วยให้แต่ละประเทศนำมาวิเคราะห์การศึกษาของตัวเอง เพื่อมองอนาคตว่า เราจะสร้างคนรุ่นต่อไปในอนาคตอย่างไร
เอกสารประกอบ
The Japanese Art of Child-Rearing, The Economist, 21 December 2024 – 3 January 2025.