
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นางสาวแพทองธาร มอบหมายให้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
สั่งทุกหน่วยอำนวยความสะดวก ปชช.ช่วงปีใหม่
นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงข้อสั่งการว่า ในช่วงเทศกาลหยุดยาวนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอเพื่อดูแลประชาชนช่วงปีใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง
สั่งคลังเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี – เร่งเบิกงบลงทุน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงาน ได้มีนโยบายต่างๆ ที่เป็นนโยบายสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น แต่มียอดการขาดดุลการคลังที่ลดลง ถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจหลายตัวยังต้องมีการเร่งรัด เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้ฝากข้อสังเกตให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและกระทรวงการคลังดำเนินการ ดังนี้
-
1. ให้กระทรวงการคลัง เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับประเทศที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน
2. ให้หน่วยงานรับงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
3. ให้หน่วยงานรับงบประมาณ นำเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือ เงินที่สะสมมาใช้ดำเนินการภารกิจเป็นลำดับแรก
4. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
แจก ‘เงินหมื่น’ ผู้สูงอายุใน ม.ค.ปี’68
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้สูงอายุให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นโดยการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” สัญชาติไทยและมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะจ่ายเงินแก่กลุ่มเป้าหมาย 10,000 บาทต่อคน โดยให้เร่งจ่ายเงินครั้งแรกภายในเดือนมกราคม 2568 ผ่านบัญชีพร้อมเพย์
เห็นชอบ Easy E-Receipt ช้อปลดหย่อนภาษี 5 หมื่น
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศภายในปี 2568 ผ่านการส่งเสริมการบริโภคสินค้าและบริการ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการได้สูงสุดรวม 50,000 บาท
รับทราบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ไม่ทั่วประเทศ
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ที่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 7 – 55 บาท เป็นอัตรา 337 – 400 บาทต่อวัน จากเดิม 330 – 370 บาทต่อวัน
นอกจากนี้ยังกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทใน 4 จังหวัดและ 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นจังหวัดนำร่อง โดยจังหวัดอื่นๆ จะทยอยปรับตามแผนที่กระทรวงแรงงานจะชี้แจงในรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568
จัดครม.สัญจรสงขลา 28 ม.ค.ปี’68
นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ในวันที่ 28 มกราคม 2568 จะมีการประชุม ครม. นอกสถานที่อย่างเป็นทางการในจังหวัดสงขลา และเขตตรวจราชการที่ 5 ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา
ชี้ MOU44 เป็นเรื่อง ‘เซนซิทีฟ’ แถลงสาธารณะก่อนไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นายสนธิ ลิ้มทองกุล ยื่นหนังสือทวงความคืบหน้าขอให้ยกเลิก MOU44 โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรื่องนี้ก็มีการคุยกันอยู่ในรายละเอียด ในการทำงานกระบวนการต่างๆ และกระทรวง และคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย”
“นอกจากเรื่อง MOU44 แล้ว เรื่องการเจรจาทั้งหมดก็มีรายละเอียดอยู่ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ปล่อยผ่านนะคะ มีการพูดคุยและความเห็นที่หลากหลายและไม่ตรงกันหลายเรื่อง ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องถูกคุยในรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในการคุยกันเราก็พยายามรับฟังทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ถามต่อว่า ทำไมไม่เปิดเวทีสาธารณะพูดคุยกัน นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริงๆ แล้ว เวลาเป็นเรื่องระหว่างประเทศแล้ว เรามาสัมภาษณ์กันแบบนี้ มันก็ไม่ได้เป็นข้อที่ได้เปรียบสำหรับประเทศ เพราะฉะนั้น บางเรื่องเป็นรายละเอียดที่ยังเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งก็มีความสำคัญมาก ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจในเรื่องนี้ว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ กับกระทรวงการต่างประเทศก็ปรึกษากันในหัวข้อนี้ตลอด และในส่วนของผู้คนที่จะเกี่ยวข้องก็ได้มีการคุยเรื่องนี้อย่างละเอียด และนี่เป็นเรื่องเซนซิทีฟมาก ต้องใช้ความรอบคอบในการทำเรื่องนี้ มันมีอีกหลาย Issue”
“เรื่องนี้เป็นเรื่องเซนซิทีฟมากจริงๆ ของระหว่างประเทศและการคุยกันโดยเฉพาะผลประโยชน์ของประเทศชาติ เราก็ไม่สามารถจะแถลงออกมาได้ก่อนจะไปคุยกับอีกประเทศหนึ่ง มันจะไปทำให้เราเสียเปรียบด้วย เรื่องนี้จะบอกว่าไม่ได้ปล่อยผ่าน และจะให้รายละเอียดให้ได้มากที่สุดในต้นปีหน้า ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมด้วย”
ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวกำลังถามคำถามถัดไป นางสาวแพทองธาร แทรกว่า “เดี๋ยวขอเป็นคำถามเรื่องอื่นด้วยได้ไหมคะ” ผู้สื่อข่าวจึงบอกว่าคำถามสุดท้าย และถามต่อ นายทักษิณช่วยเหลือประเด็นนี้อย่างไร เนื่องจากสนิทกับทางกัมพูชา โดยนางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อ๋อ จริงๆ มันเป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันก่อนในประเทศ ยังไม่ได้คุยในรายละเอียดต่างประเทศ เพราะจริงๆ เราก็มีข้อมูลของแต่ละประเทศอยู่แล้ว”
“เชิญคำถามเรื่องอื่นด้วยค่ะ” นางสาวแพทองธาร ย้ำ
ตั้งเป้าดัน GDP ปีหน้าไม่ต่ำกว่า 3%
เมื่อถามถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจปี 2568 และการคาดการณ์ของนายกฯ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราคาดหวัง…คืออย่างนี้ ในแต่ละไตรมาสเรามีการคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่เราก็หวังว่าจะเกิน…เท่าไรดี เราอยากให้เกิน 3% แน่นอน แต่ละไตรมาสเราดันได้แค่ไหน เราก็ดันสุดอยู่แล้วทุกไตรมาส เพราะไม่อยากให้ทีเดียว เราต้องดันทุกไตรมาสจะได้ต่อเนื่อง”
ถามต่อว่า นายกฯ อยากให้เป้าหมายเป็นไปตามที่นายทักษิณ ชินวัตร พูดไว้หรือไม่ว่าแต่ละปีโตเท่าไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ถ้าจริงๆ เป้าหมายที่สูงไม่ว่าใครจะพูด เราอยากไปถึงตรงนั้นอยู่แล้ว”
ถามนักวิชาการ ทำไมไม่ไปปรามาสผู้มีอิทธิพล
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นักวิชาการออกมาปรามาสนายกฯ ในฐานะที่นั่งตำแหน่งประธานการปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยหลังจากถามจบ นางสาวแพทองธาร ทวนคำถาม “นักวิชาการปรามาสตัวดิฉัน ที่จะนั่งหัวโต๊ะปราบผู้มีอิทธิพล” และพูดกลับว่า “ปรามาสดิฉันทำไมคะ ทำไมไม่ปรามาสผู้มีอิทธิพล มันเริ่มก็ผิดแล้ว”
“ต้องถามด้วยว่าการปรามาสแบบนี้มันเกิดประโยชน์อะไร ทำไมเราไม่ดูในเรื่องผู้มีอิทธิพลว่า ตอนนี้รัฐบาลก็มีนโยบายอยู่แล้ว มีแนวทางอยู่แล้วที่จะต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเราก็ไม่อยากทำให้เกิดความไม่สงบสุข ไม่อยากทำให้ประชาชนต้องลำบากจากผู้มีอิทธิพลในเรื่องต่างๆ ต้องดูแลเต็มที่อยู่แล้ว” นางสาวแพทองงธาร กล่าว
คาด ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ เฟส 3 เริ่มแจกไตรมาส 2/68
เมื่อถามถึงดิจิทัลวอลเลตเฟส 3 นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ในไตรมาส 2 ของปีหน้า คิดว่าน่าจะได้ความชัดเจนตรงนี้” นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร ย้ำว่า รายละเอียดอื่นๆ ต้องรอทางกระทรวงการคลัง
เผยคลังแจกของขวัญปีใหม่ 3 อย่าง กว่า 1.45 แสนล้านบาท
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. กรอบวงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ได้ลงทะเบียนผ่านระบบทางรัฐที่มีอายุเกิน 60 ปี มีรายได้และเงินฝากตามกติกาที่ได้เคยกำหนด กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการภายในวันที่ 29 มกราคม 2568 หรือ ก่อนช่วงตรุษจีน
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปศึกษารายละเอียดและดำเนินการต่อ
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ระบบจะโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ (Prompt pay) สำหรับกลุ่มที่ลงทะเบียนอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะต้องมีการประชุมที่กระทรวงการคลังและกำหนดวันให้ดำเนินการ โดยคาดว่าเป็นช่วงหลังปีใหม่ปี 2568
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติอนุมัติมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาทต่อราย และแบ่งเป็นสองส่วน คือ (1) 30,000 บาทในส่วนการจับจ่ายใช้สอยร้านค้าทั่วไป และ (2) 20,000 บาทใช้ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้กับ OTOP ที่มีการลงทะเบียน ซึ่งเป็นกระบวนการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปี ซึ่งกำหนดกรอบเวลาไว้ช่วง 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568
“Easy E-Receipt มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนก่อนเข้า ครม. คือส่วนลดหย่อน มีสินค้าที่ไม่ร่วมโครงการ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซ ค่าบริการประจุไฟฟ้าสำหรับการเติมยานพาหนะ ค่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ ค่าประปา ไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าเบี้ยประกัน ค่าบริการนำเที่ยว ค่าบริการที่พักโรงแรมและโฮมสเตย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคือไม่รวมในกลุ่มการท่องเที่ยว” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงการคลังต้องพูดคุยกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต่อไปว่าจะออกเป็นมาตรการอะไรที่จะออกเป็นมาตรการอะไรที่จะกระตุ้นได้เหมาะสม เพราะหลังจากที่ได้ดำเนินการก็มีข้อห่วงใยบางประการในเรื่องจังหวะเวลา เพราะยังอยู่ในช่วงไฮซีซันอยู่
อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ ย้ำว่า โครงการทั้งหมดคือ ‘ของขวัญปีใหม่’ ปี 2568 โดยสองโครงการที่ผ่านมติ ครม. วันนี้เป็นเพียง 2 ใน 3 ที่รัฐบาลมอบให้
“เรามีของขวัญปีใหม่ 3 อย่าง อย่างแรกดำเนินการไปแล้วคือช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้ชาวนาผ่านโครงการ 1,000 บาทต่อไรที่ดำเนินการโดย ธ.ก.ส. เม็ดเงินรวม 35,000 บาท สอง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ 40,000 ล้านบาท และ Easy E-Receipt 2.0 อีก 70,000 ล้านบาท” นายจุลพันธ์ กล่าว

“ของขวัญปีใหม่ที่เราได้ดำเนินการคือได้ส่วนลดการเสียภาษี กับการเติมเม็ดเงินให้กลุ่มชาวนาและกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประชาชนทั่วประเทศจะได้รับผลประโยชน์ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าปลายไตรมาส 3/2567 เราเติมเงินให้กลุ่มเปราะบาง 145,000 ล้านบาท ช่วงเดือน ธ.ค. 2567 – ก.พ. 2568 จะมีเม็ดเงินจากสามโครงการอีก 1.4 – 1.5 แสนล้านบาท”
นายจุลพันธ์ เสริมว่า “เราพยายามรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่จะส่งผ่านตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปี และในช่วงไตรมาสสอง โครงการดิจิทัลวอลเลตเฟสถัดไปก็คงจะมีความพร้อม มีเม็ดเงินอีกแสนกว่าล้านบาทในช่วงนั้น เป็นการรักษาโมเมนตัมที่ดีให้ระบบเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2568 โดยเราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้สูงกว่าที่หลายๆ คนคาด เรายังหวังตัวเลขถึง 3% เป็นอย่างน้อย จะทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนรับรู้ได้ถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เป็นความหวังใในปี 2568 ต่อไป”
กำชับ สตช. คุมเข้ม ‘เมา ไม่ขับ’
นายจิรายุ รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องการดูแลประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 นี้ นายกฯ จะลงพื้นที่ไปศูนย์อำนวยการด้านการจราจร เพื่อตรวจการเดินทางไม่ว่าจะเป็นทางบก น้ำหรืออากาศ และได้มีข้อสั่งการไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงกลาโหมเตรียมความพร้อมต่างๆ จากนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยฯ ได้สั่งการไปยังกองทัพต่างๆ ที่มีจุดบริการสาธารณะให้อำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็น การดูแลประชาชนที่สัญจรไปมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคมเป็นต้นไป
นายจิรายุ เสริมว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แจ้งว่าที่สถานีกลางบางซื่อจะมีการจัดดนตรีในห้องโถงต่างๆ อีกทั้งกระทรวงคมนาคมจะอำนวยความสะดวกในจุดที่มีการจราจรหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางภาคเหนือ สระบุรี-พระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ ถนนเพชรเกษม โดยมีเป้าหมายให้อุบัติเหตุน้อยที่สุด
นอกจากนี้ นายกฯ ยังกำชับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ โครงการเมาไม่ขับต้องจับอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมจุดแพทย์ไว้บริการและเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน ส่วนข้อมูลอื่นๆ จะส่งให้ในภายหลัง
เร่งจ่ายเยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาท ก่อนสิ้นปี’67
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยเฉพาะการลงทะเบียนจ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 9,000 บาท นั้น ล่าสุดนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานว่ามีพื้นที่ประสบอุทกภัยที่เข้าหลักเกณฑ์ ตามที่ ครม.กำหนดมีประชาชนมายื่นขอรับเงินช่วยเหลือแล้วมากกว่า 7 แสนครัวเรือน โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่และมีผู้ประชาชนที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์แล้วหลักข่ายเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 1,978 ครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถโอนเงินเข้าบัญชี ผู้ประสบภัยรอบแรกได้ภายในเดือนธันวาคมนี้
นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อว่า ตามที่ ครม. กำหนด คือ ประชาชนในพื้นที่ จ.ชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร และสิงห์บุรี จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในห้วงวันที่ 20 พ.ค. – 2 พ.ย. 2567 และประชาชน ในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในห้วงวันที่ 3 พ.ย. 2567 เป็นต้นไปเท่านั้น นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้จังหวัดได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนได้จัดเตรียมเอกสารหลักฐาน เพื่อลงทะเบียน ขอรับความช่วยเหลือ ทั้งแบบ Onsite ยื่นด้วยตนเอง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ประสบภัย และแบบ Online ผ่านเว็บไซต์ www.flood67.disaster.go.th
นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้รับทราบ ประกาศแจ้งเตือน ฉบับที่ 7 เรื่องพายุโซนร้อนปาบึกจากกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 11.00 น.ว่าพายุเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนามก่อนอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และส่งผลให้หลายพื้นที่ เกิดฝนตกช่วง 25 – 26 ธันวาคมนี้ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือกับฝนที่จะตกลงมาอีกรอบ โดยเฉพาะพื้นที่ประสบอุทกภัยเดิมหากจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ก็สามารถใช้กำลังคนและเครื่องจักรกลที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร 1,686 นาย พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ 1,195 หน่วย พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดสถานการณ์
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
ร่วมทุนเอกชนสร้างส่วนต่อขยาย ‘โทลล์เวย์’ ถึงบางปะอิน 8 หมื่นล้าน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ การก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต -บางปะอิน ของกรมทางหลวง หรือ “M5” โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
• แนวเส้นทาง : เป็นการต่อขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ รวมระยะทางประมาณ 22 กม. เริ่มต้นตั้งแต่ ปลายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ณ บริเวณโรงกษาปณ์ ไปจนถึงบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเป็นการก่อสร้างทางยกระดับอยู่บนเกาะกลาง ถ.พหลโยธิน ขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดขึ้นลง จำนวน 7 แห่ง
• รูปแบบการลงทุน : เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยภาครัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง เป็นเจ้าของโดยมีหน้าที่ เช่น เวนคืนที่ดิน กำกับดูแลการดำเนินงานของภาคเอกชน และเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการ
• ค่าใช้จ่าย : รวมทั้งสิ้น 79,916.78 ลบ. รายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทาง (Availability Payment) (ค่า AP) จากภาครัฐ โดยมีหน้าที่ เช่น ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานโยธา รวมถึงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) แบ่งเป็น (1) การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน 77.78 ลบ. โดยใช้จ่ายจากงบประมาณปี 67 และค่า AP 79,839 ลบ. (มูลค่าปัจจุบัน = 47,881 ลบ.) โดยใช้จ่ายจากเงินกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง สำหรับระยะเวลาโครงการ : รวมทั้งสิ้น 34 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) ออกแบบและก่อสร้าง 4 ปี (2 ) ดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี (นับจากวันเปิดให้บริการ)ส่วนค่าผ่านทาง : รถยนต์ 4 ล้อ 20 หรือ 40 บาทต่อคัน และรถยนต์มากกว่า 4 ล้อ 30 หรือ 65 บาทต่อคัน (ปรับขึ้นทุก 5 ปี ในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี)
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่เลขา ครม. สรุปความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ มา จะเห็นว่า ความเห็นของ สภาพัฒน์ฯ มีข้อสังเกตหลายประเด็น ขอให้รองเลขา สภาพัฒน์ฯ ได้ยืนยันกับ ครม. ว่า โครงการนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ โดยครม. จะอนุมัติวันนี้ จะเป็นกรอบที่ทางกระทรวงคมนาคม นำไปใช้คัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการ จึงขอย้ำให้ทาง ก.คมนาคม ดำเนินการคัดเลือกและต่อรองราคา เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด โดยที่ประชุม ครม.อนุมัติ ตามที่ ก.คมนาคม เสนอ และให้รับความเห็น หน่วยงาน
ผ่านแผนการคลัง ตั้งงบฯปี’69 วงเงิน 3.78 ล้านล้าน กู้ 8.6 แสนล้าน
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางประจำปีงบประมาณ 2569 – 2572 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คกก.นโยบายการเงินการคลังฯ) เสนอ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี ตาม ม.15 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้การจัดทำงบฯ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตาม ม.16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 ต่อไป สาระสำคัญมีดังนี้
• ตาม ม.13 และ ม. 14 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ได้บัญญัติให้ คกก. นโยบายการเงินคลังฯ จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางแล้วนำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ประกอบกับ ครม. ได้มีมติ (17 ธ.ค. 2567) เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบฯ ปี 2569 ซึ่งกำหนดให้เสนอแผนการคลังระยะปานกลางดังกล่าวให้ ครม. พิจารณาในวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ทั้งนี้ คกก. นโยบายการเงินการคลังฯ [รนม. (นายพิชัยฯ) เป็น ปธ. คกก.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังยะปานกลาง (ปีงบฯ 2569 – 2572) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
• เป้าหมายและนโยบายการคลัง : ปัจจุบันภาคการคลังของไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งจากการดำเนินนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และการดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ทั้งนี้ จากการดำเนินนโยบายการคลังทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังกล่าว จึงอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบฯ ของรัฐบาล ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ดังนี้
• ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐมุ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพทางการคลังให้กลับสู่สภาวะที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต ภายใต้แนวคิด “Restoring” โดยการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้อย่างเหมาะสมผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารการจัดเก็บรายได้ การขยายฐานภาษี ประกอบกับการจัดสรรงบฯ อย่างคุ้มค่า ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ตลอดจนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างยั่งยืนในเชิงรุกและการรักษาวินัยในการชำระหนี้ รวมทั้งคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการดำเนินรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไปในอนาคต
• เป้าหมายการคลังของแผนการคลังยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบฯ แบบขาดดุล เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้อย่างเหมาะสมในระยะปานกลาง สำหรับเป้าหมายการคลังในระยะยาว รัฐบาลจะมุ่งสู่การดำเนินการคลังอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้ ควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ภาคการคลังของประเทศเข้าสู่จุดดุลยภาพ (Fiscal Equilibrium) รวมถึงเสริมสร้างความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนโยบาย เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างยึดหยุ่น เหมาะสม และทันการณ์
อนุมัติกรอบเงินเฟ้อปี 2568 ที่ 1-3%
นายจิรายุ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2568 ตกลงร่วมกันระหว่าง คกก.นโยบายการเงิน (กนง.) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2568 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 และเมื่อได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้วจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป (พ.ร.บ. ธปท.ฯ บัญญัติให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไปให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. โดยเป้าหมายดังกล่าวจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2568) สาระสำคัญมีดังนี้
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) ในฐานะ ประธานกนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นชอบร่วมกันในการเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง(เป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด) และเป้าหมายสำหรับปี 2568 และต่อมา ธปท. ได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง.และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดเป้าหมายดังกล่าว
โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
-
1.การกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2568(เป็นการกำหนดเป้าหมายเช่นเดียวกันกับปี 2567-2568) เนื่องจากเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพและมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด และการคงเป้าหมายเป็นการแสดงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพด้านราคา และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนทั้งนี้ กระทรวงการคลังและ ธปท. จะมีการดูแลเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายในช่วงดังกล่าวอย่างเหมาะสมและไม่อยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง โดยให้งินฟ้อทาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในระดับกึ่งกลางของช่วงดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
2.ติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน โดยกระทรวงการคลัง และ ธปท.จะหารือร่วมกันเป็นประจำ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปีแจ้งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ โดยในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยชี้แจงถึง (1) สาเหตุการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย (2) แนวทางการดำเนินนโยบาในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายโดยจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
3.ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. อาจตกลงพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา
ทั้งนี้ ครม.มีข้อเสนอแนะ หลังอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2568 พร้อมข้อตกลงร่วมกันกันหว่าง กนง.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2568 ไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอโดยให้ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ดูแลให้ (1) อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ภายในช่วงร้อยละ 1-3 อย่างเหมาะสมไม่สูงหรือต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง (2) อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยึดเหนียวอยู่ในระดับกึ่งกลางของช่วงร้อยละ 1-3 อย่างสม่ำเสมอ และ (3) ไม่ให้ค่าเงินผันผวนเกินไป เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รับทราบ “BRICS” ตอบรับไทยเป็นสมาชิกแล้ว
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบกรณีที่ประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS (BRICS Partner Country) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อันประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) และประเทศใหม่อีก 5 ประเทศ อียิปต์ สหรัฐอาหรับฯ เอธิโอเปีย ซาอุดีฯ อิหร่าน เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมามีประเทศที่เสนอเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติมอีก 3 ประเทศ คือ ไทย แอลจีเรีย และประเทศโบลิเวีย
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เสนอให้ ครม. รับทราบเกี่ยวกับการมีหนังสือตอบรับคำเชิญเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS4 (BRICS Partner Country) ของไทย ตามมติของที่ประชุมผู้นำ BRICS ครั้งที่ 16 (The 16th BRICS Summit) เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 67 ณ เมืองคาซาน รัสเซีย เพื่อ ก.ต่างประเทศจะได้แจ้งฝ่ายรัสเซียต่อไป (ภายในปี 67 ก่อนที่รัสเซียจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำฯ)
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า การเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย เช่น ส่งเสริมการเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบและการมีปฏิสัมพันธ์ของไทยกับกลุ่ม BRICS โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งเพิ่มบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี และเมื่อไทยเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS แล้ว จะต้องดำเนินการ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการมีส่วนร่วมของกลุ่ม BRICS ที่ไทยจะได้รับเชิญ และส่งผู้แทนระดับ รมต. เข้าร่วมการประชุมระดับ รมต. รายสาขาที่ได้รับเชิญในแต่ละปี รวมทั้งพิจารณาตั้งงบฯ ในการเข้าร่วมประชุมที่เกี่ยวข้องต่อไป ไทยอาจพิจารณาให้การสนับสนุนต่อเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำ และการประชุมผู้นำและการประชุม รมต. ต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ได้
ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
นายคารม กล่าว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2554 โดยมีเจตนารมณ์ เพื่อกำหนดมาตรฐานการควบคุม กำกับดูแล และคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้ได้รับการปฏิบัติจากผู้จ้างงานอย่างเป็นธรรม แต่โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รง. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น
“งานที่รับไปทำที่บ้าน” หมายความว่า งานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม งานบริการ มอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อนำไปผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม แปรรูป ออกแบบ บริการ หรือจำหน่าย นอกสถานประกอบกิจการของผู้จ้างงาน หรือ งานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง และกำหนดให้ในกรณีที่ผู้จ้างงานไม่คืนหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่จ่ายค่าตอบแทน หรือ ไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟู สมรรถภาพและค่าทำศพ ให้ผู้จ้างงานเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทที่มีสิทธิ แล้วแต่กรณีในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี โดยหากผู้จ้างงานจงใจไม่คืน หรือ จ่ายเงิน ดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ให้ผู้จ้างงานชำระเงินเพิ่มให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทที่มีสิทธิแล้วแต่กรณีร้อยละ 15 ต่อปีของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน
ทั้งนี้ หากผู้จ้างงานนำเงินที่จะต้องคืนหรือจ่ายดังกล่าวไปมอบไว้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ให้ผู้จ้างงานไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หรือ เงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ผู้จ้างงานนำเงินไปมอบไว้ โดยกำหนดห้ามผู้ใดจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน และห้ามเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กนั้น
ทั้งนี้ รง. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว รวมทั้งได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวรวม 3 ฉบับ โดยออกเป็นกฎกระทรวง จำนวน 1 ฉบับ เป็นการกำหนดงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์หรือเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกเป็นประกาศกระทรวงแรงงาน จำนวน 1 ฉบับ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน และออกเป็นประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำนวน 1 ฉบับ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับเงินเก็บรักษาเงิน และการจ่ายงานที่ผู้จ้างงานมามอบไว้แก่อธิบดี ทั้งนี้ กฎหมายลำดับรองดังกล่าว มีกรอบระยะเวลาในการออกภายใน 1 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
รับรองปฏิญญาปกป้องพลเรือนจากการใช้อาวุธระเบิดในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยโดย กต. ร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยการเสริมสร้างการปกป้องพลเรือนจากผลกระทบด้านมนุษยธรรม อันเกิดจากการใช้อาวุธระเบิดในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น (ปฏิญญาทางการเมืองฯ) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป โดยให้เป็นไปตามขอบเขตกฎหมายภายในของประเทศไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2565 กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายกัน เช่น สาธารณรัฐไอร์แลนด์ (ไอร์แลนด์) และราชอาณาจักรนอร์เวย์ (นอร์เวย์) ได้ยกร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ซึ่งมีเนื้อหาย้ำความสำคัญของการปกป้องพลเรือนจากการใช้อาวุธระเบิดในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ต่อมาได้มีการรับรองปฏิญญาทางการเมืองดังกล่าวในที่ประชุมระดับสูง ณ กรุงดับลิน ไอร์แลนด์ (18 พฤศจิกายน 2565) และได้เปิดให้ประเทศต่าง ๆ แจ้งเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองฯ ได้ในภายหลัง ซึ่งปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองฯ รวม 86 ประเทศ (สำหรับประเทศในอาเซียนร่วมรับรองแล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซียและสาธารณรัฐฟิลิปปินส์) ต่อมาสาธารณรัฐคอสตาริกา ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ได้ร่วมจัดการประชุมเพื่อติดตามผลการรับรองปฏิญญาทางการเมืองฯ (การประชุมฯ) ณ กรุงออสโล นอร์เวย์ (23 เมษายน 2567) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประมาณ 90 ประเทศ โดยประเทศไทยได้ส่งผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมฯ ด้วย
ทั้งนี้ การร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองฯ ถือเป็นการแสดงจุดยืนและย้ำการให้ความสำคัญของประเทศไทยต่อการให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการสนับสนุนหลักการด้านมนุษยธรรม รวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนประเด็นดังกล่าวอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการแสดงท่าทีซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย กต. จึงมีความประสงค์จะเสนอให้ประเทศไทยร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองดังกล่าว
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองฯ เป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนและย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมหลักการด้านมนุษยธรรม และการปฏิบัติตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน และการส่งเสริมให้มาตรการทางทหารของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
เห็นชอบร่าง กม.เยียวยาค่าเสียหายจำเลยคดีอาญา
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎี (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยการเป็นแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญาให้ครอบคลุมถึงผู้เสียหายผู้ต้องหา และจำเลยที่มิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดในคดีอาญา แต่ถูกควบคุมหรือขังในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีของศาล ให้ได้รับการอำนวยความยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็ว เท่าเทียมและเป็นธรรมสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพิ่มเติมการคุ้มครองผู้ต้องหาให้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย (เดิมพระราชบัญญัติแทนผู้เสียหายฯ พ.ศ. 2544 ไม่ได้กำหนดให้ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครอง) เพิ่มเติมให้จำเลยได้รับการคุ้มครองในชั้นสอบสวน (เดิมคุ้มครองเฉพาะจำเลยที่ถูกคุมขังในขั้นการพิจารณาของศาล) กำหนดเพิ่มเติมผู้มีสิทธิขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายให้ให้กับผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจำเลยให้ครอบคลุมผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา หรือบุคคลใด ๆ ที่ให้การดูแลหรืออยู่ในการดูแลของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจำเลย และขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย จากเดิม 1 ปี เป็น 2 ปี รวมทั้งลดขั้นตอนการดำเนินงานให้สามารถยื่นคำขอผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แล้วโดยรายงานว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้มีกฎหมายลำดับรอง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. …. 2. ร่างระเบียบคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาว่าด้วยการยื่นคำขอและวิธีพิจารณาคำขอค่าตอบแทน ค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย พ.ศ. …. 3. ร่างระเบียบคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ว่าด้วยคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าต่อบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. …. 4. ร่างระเบียบคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการยื่นคำขออุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา
ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมพื้นที่บางละมุง – สัตหีบ
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2563 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
นายคารม กล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศฯ ที่ ทส. เสนอ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2563 ออกไปอีก 2 ปี นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งประกาศที่ใช้บังคับในปัจจุบันจะสิ้นสุดการใช้บังคับในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอบางละมุงและอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นไปอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่ ประกอบกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบด้วยแล้ว นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบหรือไม่ขัดข้องในหลักการของร่างประกาศ
เคาะช้อปลดหย่อนภาษี 5 หมื่นบาท เริ่ม 16 ม.ค.-28 ก.พ.ปีหน้า
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” เพื่อสนับสนุนการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีและการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือ ค่าบริการในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงสุด รวม 50,000 บาท สำหรับสินค้าหรือค่าบริการทั่วไป (รวมค่าซื้อสินค้า OTOP และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม) ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ หากเกิน 30,000 บาท ให้หักลดหย่อนสำหรับค่าซื้อสินค้า OTOP ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับเงื่อนไขในการใช้มาตรการฯ มีดังนี้ ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ 1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร 2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (E- book) 3) ค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว 4) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าวิสาหกิจชุมชนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 5) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อ สวส.
ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการนี้ไม่รวมถึง 1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 2) ค่าซื้อยาสูบ 3) ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ 4) ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และค่าซื้อเรือ 5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต 6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการ และผู้รับบริการสามารถใช้บริการ ดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด 7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย 8) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 9) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม 10) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยให้แก่ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) 11) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบการสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ซึ่งผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการนี้ต้องไม่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
“มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท และช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 2.3 – 3.3 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี โดยกรมสรรพากรคาดการณ์ว่ามาตรการ “Easy E-Receipt 2.0″ จะมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 1.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 10,500 ล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)” ของกรมสรรพากรเท่านั้น” นางสาวศศิกานต์ กล่าว
เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลำปะทาว
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการเพื่อจ่ายเงินค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิ ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
โดยอนุมัติในหลักการเพื่อจ่ายเงินค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษในรูปค่าขนย้ายให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิ (โครงการฯ) โดยอนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ (ค่าชดเชยฯ) ไร่ละ 32,000 บาท ตามมติคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ (คณะกรรมการพิจารณาฯ) ซึ่งประกอบด้วยบัญชีรายชื่อราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ จำนวน 4 บัญชี (บัญชีที่ 3,4,5 และ 6) จำนวน 131 ราย เนื้อที่รวม 1,691.47 ไร่ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 48,887,840 บาท ปรับเนื้อที่ผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศของผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ของราษฎรที่มีเนื้อที่ไม่ถึง 1 ไร่ ให้ปรับเป็น 1 ไร่ หากมีเนื้อที่เกิน 1 ไร่ให้คิดตามความเป็นจริง และอนุมัติในหลักการให้ พน. ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเงินค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษในรูปค่าขนย้ายให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 48,887,840 บาท
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการเพื่อจ่ายเงินค่ายเงินค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษในรูปค่าขนย้ายให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นการจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้กับราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ โดยเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากเดิมที่มติคณะรัฐมนตรีมีมติ (24 กันยายน 2562) อนุมัติในหลักการเพื่อจ่ายเงินค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษในรูปค่าขนย้ายให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ จำนวน 4 บัญชี รวม 523 ราย ไว้แล้ว [จ่ายเงินค่าชดเชยแล้วเสร็จ จำนวน 2 บัญชี จำนวนรวม 392 ราย ได้แก่ บัญชีที่ 1 (ราษฎรที่ได้ดำเนินการตามแนวทางในการพิจารณาการจ่ายเงินค่าชดเชยครบทุกขั้นตอนแล้ว) และบัญชีที่ 2 (ราษฎรที่ได้ดำเนินการตามแนวทางในการพิจารณาการจ่ายเงินค่าชดเชยครบทุกขั้นตอน แต่ที่ผู้ครอบครองที่ดินถึงแก่ความตายและได้ตั้งผู้จัดการมรดกเรียบร้อยแล้ว)]
โดยครั้งนี้เป็นการใช้จ่ายเงินค่าชดเชย ไร่ละ 32,000 บาท (อัตราเดิม) ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างกลุ่มที่เหลือ (บัญชีที่ 3 และ 4) และกลุ่มที่คณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ เห็นควรเพิ่มเติมครั้งนี้ (บัญชีที่ 5 และ 6) จำนวน 131 ราย เนื้อที่รวม 1,691.47 ไร่ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 48,887,840 บาท
ห้ามตั้ง-ขยายโรงงานที่ใช้สารปรอทในกระบวนการผลิต
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตและห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทฯ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตและห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตในโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานเพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท
โดยที่ประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (Minamata Convention on Mercury) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2560 เป็นต้นมา โดยบทบัญญัติในข้อ 5 กระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอท ของอนุสัญญามินามาตะฯ ได้กำหนด ดังนี้
-
1. ไม่ให้ภาคีสมาชิกอนุญาตให้มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตตามที่ระบุไว้ในส่วนที่ 1 ของภาคผนวก บี หลังจากวันที่กำหนดให้มีการเลิกสำหรับแต่ละกระบวนการ ได้แก่ (1) การผลิตคลอร์ – แอลคาไล (ภายในปี พ.ศ. 2568) และ (2) การผลิตอะซีตัลดีไฮด์ ที่ใช้ปรอทและสารประกอบปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (ภายในปี พ.ศ. 2561)
2. กำหนดให้ภาคีสมาชิกต้องดำเนินมาตรการเพื่อจำกัดการใช้ปรอทในกระบวนการผลิตตามที่ระบุไว้ในส่วนที่ 2 ของภาคผนวก บี ได้แก่ (1) การผลิตสารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (2) การผลิตโซเดียมหรือโพแทสเซียม เมทิลเลต หรือเอทิลเลต และ (3) การผลิตโพลียูรีเทน ที่ใช้ปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
3. กำหนดให้ภาคีสมาชิกต้องไม่อนุญาตให้มีการใช้ปรอท และสารประกอบปรอทในโรงงาน หรือ สถานประกอบการใหม่ รวมทั้งไม่ส่งเสริมการพัฒนาสถานประกอบการใด ๆ ที่ใช้กระบวนการผลิตอื่น ๆ ที่มีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทอย่างจงใจซึ่งสถานประกอบการนั้นไม่ได้มีอยู่ก่อนวันที่อนุสัญญามีผลใช้บังคับกับภาคีนั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทใน 5 กระบวนการผลิตตามข้อ 2.1 และ 2.2 แล้ว แต่ยังจำเป็นต้องออกประกาศกระทรวงดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำมาใช้ในอนาคต
ต่อมา อก. (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตและห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต พ.ศ …. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
-
• กำหนดบทนิยาม ได้แก่ คำว่า “ปรอท” “สารประกอบปรอท” และ “โรงงาน”
• ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต (5 กระบวนการผลิตตามข้อ 2.1 และ 2.2) ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
• ห้ามใช้ปรอท หรือ สารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตในโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานมาก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อเป็นการดำเนินการออกอนุบัญญัติเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะ ว่าด้วยปรอทตามมติคณะรัฐมนตรี20 มิถุนายน 2560 และผ่านกลไกการพิจารณาของคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีของอนุสัญญามินามิตะว่าด้วยปรอท (รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นประธาน) และให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศดังกล่าว ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 โดยมีการปรับแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมและผ่านขั้นตอนการตรวจทานจากผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) แล้ว
ผ่าน กม.คุ้มครองปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. …. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เพื่อประโยชน์ในการสงวน คุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ เช่น กำหนดให้การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำต้องมีผู้ควบคุมในการดูแลนักท่องเที่ยวไม่ให้กระทำการที่เป็นการต้องห้ามตามร่างประกาศนี้ กำหนดให้ผู้ควบคุมต้องแจ้งนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำโดยไม่กระทบกระเทือนต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เป็นต้น โดยมาตรการตามร่างประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะไม่ใช้บังคับกับกิจกรรมที่มิใช่กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น การดำน้ำเพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การดำน้ำเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภายใต้การกำกับของหน่วยงานพื้นที่ที่รับผิดชอบ เป็นต้น โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยกเลิกกฎกระทรวง กำหนดการผลิตเชื้อเห็ดเป็นมาตรฐานบังคับ
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ดเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. 2560 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และกำหนดให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายอนุกูล กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ดเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ.2560 ในการควบคุมกระบวนการผลิตที่จะทำให้เชื้อเห็ดมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อลดภาระของผู้ผลิตเชื้อเห็ดที่จะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ และขอรับการตรวจสอบและรับรองจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 เนื่องจากในปัจจุบันสถานการณ์การค้าได้เปลี่ยนแปลงไป การยกระดับมาตรฐานการผลิตเชื้อเห็ดให้มีคุณภาพ และมีกระบวนการจัดการตามหลักวิชาการอย่างถูกสุขลักษณะ โดยการใช้มาตรการทางกฎหมายภาคบังคับได้บรรลุผลตามเป้าหมายแล้ว ประกอบกับมีกลไกการประกันคุณภาพในการซื้อขายเชื้อเห็ดที่มีความเชื่อมั่นต่อกัน จึงทำให้การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร
สำหรับหลักปฏิบัติการผลิตเชื้อเห็ด เป็นมาตรฐานบังคับ เป็นภาระที่เกินความจำเป็นต่อผู้ผลิตเชื้อเห็ด ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนกลไกมาเป็นภาคสมัครใจ ในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมจะเป็นผลดีในการลดภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ผลิตเชื้อเห็ดได้โดยตรง และผู้ผลิตเชื้อเห็ดที่ประสงค์จะใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรยังสามารถขอรับการรับรองมาตรฐานตามความสมัครใจได้ ถือเป็นการจัดการที่เหมาะสมสอดคล้องกับประโยชน์ที่ผู้ผลิตเชื้อเห็ดจะได้รับ และโดยที่การยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าวจะทำให้รับสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 นั้น ปัจจุบันจากการประมาณการจำนวนใบอนุญาตทั้งหมดที่ยังคงสถานะมีผลใช้บังคับ สำหรับบุคคลธรรมดา (ฉบับละ 100 บาท) จำนวน 34 ราย และนิติบุคคล จำนวน 6 ราย (ฉบับละ 1,000 บาท) รวม 9,400 บาท และสำหรับค่าบริการตรวจสอบและรับรองปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้ถ่ายโอนภารกิจให้ผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน (ภาคเอกชน) เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองแล้ว ซึ่งจะมีการควบคุมให้ไม่เกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดดังนั้น จึงไม่มีการสูญเสียรายได้จากการไม่ต้องขอรับการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานบังคับตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 แต่อย่างใด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้เสียกับร่างกฎกระทรวงนี้แล้วและคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้เห็นชอบแล้วด้วย
ไฟเขียวมาตรการรับมือภัยแล้ง – ฝนทิ้งช่วงปี’68
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/2568 (8 มาตรการ) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 โดยมอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามาตรการดังกล่าว และรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
นายอนุกูล กล่าว่า ตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ให้หน่วยงานนำไปใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานแล้ว สำหรับช่วงฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน ของปีถัดไปยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเริ่มวันที่ 1 มีนาคม สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปี ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ (1) ช่วงก่อนฤดู การเตรียมการและการสร้างการรับรู้ (2) ช่วงระหว่างฤดู การวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ และ (3) ช่วงสิ้นสุดฤดู การประเมินผลเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ได้ดำเนินการตามกรอบแนวทางวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ดังนี้
-
1. คาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 แผนการจัดสรรน้ำ และความต้องการใช้น้ำรายกิจกรรม ช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด และปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ แหล่งน้ำบาดาลตามข้อมูลมูลศักยภาพน้ำบาดาล (รายตำบล/อำเภอ/จังหวัด) โดยมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
2. คาดการณ์แผนการใช้น้ำรายเดือน ช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/2568 รายกิจกรรม ประกอบด้วย การอุปโภคบริโภค การเกษตรโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร เช่น เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการตรวจวัด รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม โดยการส่งเสริม จัดการน้ำใช้หลัก 3R (Reduce Reuse Recycle) ให้เพียงพอต่อปริมาณน้ำต้นทุนช่วงฤดูแล้ง
3. คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกพืช ช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน
4. ประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ช่วงฤดูแล้งปี 2567/2568 โดยแบ่งเป็นพื้นที่อุปโภคบริโภค (ในเขต/นอกเขตพื้นที่ให้บริการประปานครหลวง/ภูมิภาค) พื้นที่เกษตรกรรม (นาข้าว/ไม้ผลที่มีมูลค่าเศรษฐกิจ) และพื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ
5. การส่งเสริมความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำชุมชน/องค์ใช้น้ำ
นายอนุกูล กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/2567 มาปรับปรุง และจัดทำมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันสถานการณ์ จำนวน 8 มาตรการ และจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 จำนวน 3 ด้าน 8 มาตรการดังนี้ ด้านต้นทุน (Supply)
-
มาตรการที่ 1 คาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 2 สร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ(ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand)
มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพราะปลูกพืชฤดูแล้งบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 5 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) ด้านการบริหารจัดการ (Management)
มาตรการที่ 6 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 7 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) และ
มาตรการที่ 8 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดน้อยของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้งรวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับฝนทิ้งช่วง ปี 2568 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ จำนวน 120 วัน นับแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ สำหรับพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด รวมถึงพื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนตามคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร
เห็นชอบเข้าร่วมเป็นสมาชิก ‘Climate Market Club’
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Market Club ของประเทศไทย (ร่างหนังสือแสดงความสนใจฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างหนังสือแสดงความสนใจฯ หรือการดำเนินการใดในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ ทส. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Market Club ในนามของประเทศไทย โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยดำเนินการ พร้อมทั้ง มอบหมายให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนประเทศไทยลงนามในร่างหนังสือแสดงความสนใจฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า ธนาคารโลก (The World Bank) มีหนังสือเชิญประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Market Club เพื่อส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ โดยยึดหลักการที่สำคัญในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) การประกันความน่าเชื่อถือของผลการลดก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก 2) การปรับบัญชีและหลีกเลี่ยงการนับซ้ำของผลการลดก๊าซเรือนกระจก และ 3) การดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ ของความตกลงปารีส โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขอความเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Climate Market Club ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือภายใต้ธนาคารโลก เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานระหว่างประเทศสมาชิกในการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (ปัจจุบันมีสมาชิก 14 ประเทศ บังคลาเทศ ภูฏาน ชิลี กานา คาซัคสถาน ญี่ปุ่น เปรู รวันดา เซเนกัล สิงคโปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ยูเครน และนามีเบีย)
“คาดว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยได้รับทราบแนวโน้มและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกฎกติกาตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเข้าร่วมการดำเนินงานตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศต่อไป” นายอนุกูล ระบุ
โยก 33 บิ๊กมหาดไทย
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นายสิทธิรัตน์ ดรงคมาศ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
2. นางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายพลพิศิลป์ สุวรรณชัย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมประมง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการประมง (นักวิชาการประมงทรงคุณวุฒิ) กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายลิขิต ทิฐิธรรมเจริญ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) สูง] สำนักวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนา กรมทางหลวงชนบท ให้ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
-
1. นายไพโรจน์ พรหมพันใจ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านสาธารณสุข) กรมควบคุมโรค ให้ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567
2. นางไฉไล ช่างดำ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านสาธารณสุข) ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กรมอนามัย ให้ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านสุขาภิบาล) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอแต่งตั้ง นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สกท. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สกท. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. ว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดีกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นางสาวจีระภา บุญรัตน์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณ เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. นางสาวมัทนา เจริญศรี ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ
2. นายพลากร ม่วงพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 33 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
-
1. นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายศรัณย์ศักดิ์ ศรีเครือเนตร รองอธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
6. นายสมบัติ ไตรศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
7. นายสันติ รังษิรุจิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
8. นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
9. นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
10. นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร สำนักงานปลัดกระทรวง
11. นายชานน วาสิกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก สำนักงานปลัดกระทรวง
12. นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม สำนักงานปลัดกระทรวง
13. นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม สำนักงานปลัดกระทรวง
14. นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานปลัดกระทรวง
15. นางสาวชุติพร เสชัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานปลัดกระทรวง
16. นายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานปลัดกระทรวง
17. นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวง
18. นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา สำนักงานปลัดกระทรวง
19. นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง สำนักงานปลัดกระทรวง
20. นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร สำนักงานปลัดกระทรวง
21. ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
22. นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ สำนักงานปลัดกระทรวง
23. นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปลัดกระทรวง
24. นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร สำนักงานปลัดกระทรวง
25. นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่ารายการจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปลัดกระทรวง
26. นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง สำนักงานปลัดกระทรวง
27. นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
28. นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน สำนักงานปลัดกระทรวง
29. นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย สำนักงานปลัดกระทรวง
30. นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานปลัดกระทรวง
31. นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานปลัดกระทรวง
32. นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง สำนักงานปลัดกระทรวง
33. นายณรงค์ เทพเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวงดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
9. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่าการการประปานครหลวง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้ง นางสาวสุวรา ทวิชศรี เป็นผู้ว่าการการประปานครหลวง ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการการประปานครหลวง ในการประชุมครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 และครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567
10. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอแต่งตั้ง ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
11. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2568 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2571 (ตามมติคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567)
12. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติเพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้ง นางเกศรา มัญชุศรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติเพิ่มเติมในตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
13. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รวม 2 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้
-
1. นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย ประธานกรรมการ
2. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
14. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
-
1. พลตำรวจเอก เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการ
2. นายไมตรี จงไกรจักร กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน
3. นายจำนงค์ หนูพันธ์ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน
4. ศาสตราจารย์อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. นางอุทัยวรรณ อุดมเจริญชัยกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
6. นายบุญธรรม พิกุลศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
15. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ประธานกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนจำนวน 7 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
-
1. นายจิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารองค์การมหาชน
2. นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารองค์การมหาชน
3. นายวุฒิสาร ตันไชย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารองค์การมหาชน
4. นายสรนิต ศิลธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารองค์การมหาชน
5. นายวิทิต อรรถเวชกุล
6. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
7. นายอธิปัตย์ บำรุง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
16. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 438/2567 เรื่อง แต่งตั้งประธานผู้แทนการค้าไทย
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 438/2567 เรื่อง แต่งตั้งประธานผู้แทนการค้าไทย ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 318/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 แต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 เป็นต้นไป นั้น เพื่อให้การประสานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนการค้าไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้ นางนลินี ทวีสิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย เป็นประธานผู้แทนการค้าไทย
ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2567 เพิ่มเติม