
‘พาณิชย์’ ระดม 16 หน่วยงาน สกัดของเถื่อนทะลัก หลังนายกฯขีดเส้นตาย 1 เดือน ต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม ด้านกรมศุลฯใช้เครื่อง X-Ray ตรวจของเร่งด่วน 100% – สุ่มตรวจตู้คอนเทรนเนอร์ 30% ขณะที่ อย.แก้กฎหมายปรับลดจำนวนของใช้ติดตัวผู้โดยสารลง 50% – ภายใน 90 วัน นำของติดตัวมาได้ 1 ครั้ง ป้องกันลักลอบนำเข้าแบบ “กองทัพมด” ส่วน สมอ.ตรวจเข้ม FREE ZONE ขนสินค้าออกจากพื้นที่ ต้องมีใบอนุญาต
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับ 16 หน่วยงาน ณ ห้องประชุมมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
ภายหลังการประชุมนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการติดตามและเร่งรัดมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ซึ่งท่านนายกฯ มีความห่วงใยมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ด้อยคุณภาพ และมีผลกระทบต่อประชาชน วันนี้คณะกรรมการฯ จึงเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อเร่งรัดออกมาตรการมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วภายใน 1 เดือน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความคืบหน้าและพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายพิชัย กล่าวต่อว่า วันนี้ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยให้นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด ประกอบด้วย
-
1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย และแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ทำหน้าที่กำหนดมาตรการ ดำเนินการควบคุมและกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และ
2. คณะอนุกรรมการป้องกัน และป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) เพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลและป้องปราม รวมถึงสืบสวน สอบสวน หรือ ตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลและนิติบุคคลที่อาจมีพฤติกรรมเป็นนอมินี

“ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ผมได้หารือร่วมกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งทางจีนยินดีให้ความร่วมมือ และต้องการรักษาความรู้สึกที่ดีกับไทย ซึ่งในวันที่ 4-6 พฤศจิกายนนี้ ตนจะเดินทางไปจีนจะพบกับผู้บริหารระดับสูงของจีนจะได้ปรึกษาหารือกัน เพราะไทยยังต้องพึ่งพาจีนทั้งด้านการค้าและการลงทุน และไทยมีสินค้าหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาจีน เช่น มันสำปะหลัง วัว เหล็ก เป็นต้น ซึ่งหวังว่าเรากับจีนจะพึ่งพากันได้และไม่กระทบผู้ประกอบการไทย โดยวางแผนที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ผ่านกลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน ซึ่งจัดตั้งโดยคณะกรรมการหอการค้า และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีนอีกด้วย”
นายพิชัย กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ก็ได้รับการติดต่อจาก “TEMU” ว่าจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยในเร็วๆนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็จะดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด และจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย เชื่อว่าภายใน 30 วัน จะเห็นผล ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมา ส่วนความกังวลในเรื่องอาหาร และผักผลไม้ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ประชุมฯก็ขอให้ อย. และศุลกากร เข้มงวดเรื่องนี้เช่นกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อสุขภาพของประชาชน

นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมศุลกากรก็ตรวจเข้มงวดมาตลอด โดยเฉพาะสินค้าด้อยคุณภาพ จากเดิมหากมีการนำเข้าสินค้าในปริมาณน้อยไม่เกินจำนวนที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (สมอ.) กำหนด และ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาขายในประเทศ กรณีการนำเข้าสินค้าลักษณะนี้ก็ไม่ต้องไปขอใบอนุญาตจาก สมอ. แต่ตอนนี้ได้มีการปรับปรุงระเบียบใหม่ แม้จะนำเข้าสินค้ามาเพียงเล็กน้อย ก็ต้องไปขอใบอนุญาต หรือ ใบรับรองจาก สมอ. ทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนการตรวจสอบสินค้านำเข้าของกรมศุลกากร หากเป็นสินค้าเร่งด่วนกรมศุลกากรจะใช้เครื่องเอกซเรย์สแกนสินค้า 100% แต่ถ้าเป็นการนำเข้าสินค้าผ่านตู้คอนเทรนเนอร์ กรมศุลกากรจะใช้วิธีการสุ่มตรวจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์สแกนประมาณ 30% ของจำนวนตู้คอนเทรนเนอร์ทั้งหมดที่ผ่านด่านศุลกากร
นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในส่วนของ อย.ก็เข้าไปตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดตั้งแต่ที่ด่านศุลกากร โดยมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับลดจำนวนสินค้าหรือของใช้ที่ติดตัวมากับผู้โดยสาร หรือ ผู้ที่เดินทางผ่านเข้า-ออกจากด่านศุลกากรในแต่ละครั้ง รวมทั้งลดความถี่ในการนำของใช้ติดตัวผ่านด่านศุลกากรเข้ามาด้วย ซึ่งตามกฎหมายของ อย.จะอนุญาตให้นำสิ่งของเครื่องใช้ติดตัวเข้ามาใช้ในประเทศได้ไม่เกิน 90 วัน ถ้าเป็นการนำเข้าในลักษณะนี้ไม่ต้องมาขอใบอนุญาต หรือ ใบรับรองจาก อย. อย่างเช่น อาหารพกติดตัวเข้ามาบริโภคในประเทศได้ในปริมาณไม่เกิน 90 วัน หรือ ลิปสติกไม่เกิน 6 หลอด ทาง อย.ก็ได้แก้ไขกฎหมายใหม่ โดยอนุญาตให้นำสินค้าติดตัวเข้ามาบริโภคในประเทศได้ในปริมาณไม่เกิน 45 วัน ลดจำนวนสินค้าลงไป 50% และยังลดความถี่ในการนำของติดตัวผ่านด่านศุลกากรลงมาด้วย กล่าวคือ ภายใน 90 วัน จะอนุญาตให้นำเข้าสินค้าติดตัวผ่านด่านศุลกากรได้เพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้ามาในลักษณะของ “กองทัพมด”
นอกจากนี้ อย.ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อย.ทั้งใน กทม. และภูมิภาคทุกสัปดาห์ ส่วนในต่างจังหวัดทาง อย.ก็ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. ซึ่งตรวจอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด

นางสาวทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สำหรับ สคบ.ก็มีหน้าที่ฉลากสินค้า และความปลอดภัยของสินค้าที่ผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศไทย ยกเว้นสินค้าที่อยู่ในความดูแลของ อย. ซึ่ง สคบ.จะดูแลสิ่งของเครื่องใช้ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยผู้นำเข้าจะต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดของสินค้าให้ถูกต้องก่อนที่จะนำมาขายให้กับผู้บริโภค แต่ที่เป็นประเด็นปัญหา คือ มีแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศส่งสินค้าเข้ามาขายให้กับผู้บริโภคในประเทศโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา สคบ.ก็ได้มีการจัดเก็บข้อมูลการนำเข้าสินค้าในลักษณะนี้ และเชิญผู้ประกอบการขนส่งสินค้ามาชี้แจง และตรวจสอบว่าในการนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรมีผู้ที่เกี่ยวข้องคือใครบ้าง และมีสถานะเป็นผู้นำเข้าสินค้าหรือไม่ อย่างไร ส่วนในอนาคต สคบ.อาจจะต้องขอความร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ ปรับปรุงกฎหมายในการที่จะเสนอขายสินค้าจะต้องระบุรายละเอียดไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ และถ้าหาก สคบ.นำตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีอันตรายต่อผู้บริโภค ก็จะออกข่าวแจ้งเตือนผู้บริโภคให้รับทราบไปจนถึงขั้นสั่งห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศ ส่วนกรณีเก็บเงินปลายทางผู้บริโภคมีสิทธิเปิดสินค้าตรวจสอบได้ หากไม่พอใจให้ส่งคืนแก่ผู้ให้บริการขนส่ง โดยผู้ให้บริการขนส่งสินค้าจะต้องเก็บรักษาเงินของผู้บริโภคไว้ภายใน 5 วัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้บางส่วน

ด้านนายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่าที่ผ่านมา สมอ. ได้ร่วมกับกรมศุลกากร ปิดช่องทางการนำเข้าสินค้าที่ต้องไม่ใช้ใบอนุญาตจาก สมอ. หรือที่เรียกว่า “EXEMPT 5” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา และร่วมกันจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตจาก สมอ. แต่ต้องการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของ สมอ. 144 รายการ ก็จะต้องมาแจ้งข้อมูลนำเข้าสินค้ากับ สมอ.ทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่ง สมอ.จะตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขาย และนำเข้ามาไม่เกินจำนวนที่ สมอ.กำหนดจริงหรือไม่ จากนั้น สมอ.จะนำข้อมูลของผู้นำเข้าใส่เข้าไปในระบบ Nation Single Window (NSW) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบสินค้า ซึ่งแตกต่างจากเดิมไม่ต้องมาขออนุญาต สมอ. โดยใช้รหัส “EXEMPT 5” กรอกลงในใบขนสินค้า ผู้นำเข้าก็จะได้รับสิทธิไม่ต้องใช้ใบอนุญาตจาก สมอ.ในการนำเข้าสินค้า ตอนนี้เราปิดช่องทางนี้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
“อีกช่องทางหนึ่ง คือ เขตปลอดอากร หรือ FREE ZONE เราได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการใช้พื้นที่ในเขตนี้เป็นที่พักสินค้าผิดกฎหมาย ทาง สมอ.และกรมศุลกากรก็ได้ร่วมกันเข้าไปตรวจสอบ และควบคุมสินค้าในเขตปลอดอากรอย่างเข้มงวด หากผู้ประกอบการต้องการนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากร ต้องมีใบอนุญาตจาก สมอ.เช่นเดียวกัน” นายนนทิชัย กล่าว