ThaiPublica > เกาะกระแส > สมอ.แจงผู้ประกอบการ-มอเตอร์ไซด์ใหม่ทุกคัน ต้องได้ “ยูโร 4” เริ่ม 29 มี.ค.นี้

สมอ.แจงผู้ประกอบการ-มอเตอร์ไซด์ใหม่ทุกคัน ต้องได้ “ยูโร 4” เริ่ม 29 มี.ค.นี้

5 กุมภาพันธ์ 2020


สมอ.ขานรับนโยบายแก้ปัญหา PM 2.5 เริ่มบังคับใช้มาตรฐาน “ยูโร 4” กับมอเตอร์ไซด์ใหม่ทุกคัน ตั้งแต่ 29 มี.ค.63 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย มาหารือ เพื่อทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 ตามมาตรฐานยูโร 4 ห้อง 200 ชั้น 2 อาคาร สมอ.

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า วันนี้ สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย อาทิ ฮอนด้า , ยามาฮ่า , คาวาซากิ , ซูซูกิ , ไทเกอร์ ฯลฯ มาชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4 ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุม ปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์, ไฮโดรคาร์บอน และออกไซด์ของไนโตรเจน ให้ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3

นอกจากนี้มาตรฐานฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานไปแล้วในระะเวลาหนึ่ง ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. ทั้งหมด 54 ราย แบ่งเป็นผู้ผลิต 23 ราย ผู้นำเข้า 27 ราย และเป็นผู้ประกอบการทั้งผลิตและนำเข้าอีก 4 ราย การที่สมอ.นำมาตรฐานยูโร 4 มาบังคับใช้กับรถมอเตอร์ไซด์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมนี้เป็นต้นไป จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,500 บาทต่อคัน แต่จะมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ได้ถึง 50% ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ แต่ก็อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายที่มีปัญหา ซึ่งทางสมอ.จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป” นายวันชัยกล่าว

เลขาธิการ สมอ. กล่าวต่อว่า เรื่องนี้นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับเป็นพิเศษให้ สมอ. เร่งดำเนินการ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในขณะนี้ ซึ่งเมื่อมาตรฐานมีผลใช้บังคับแล้ว ทั้งผู้ผลิตในประเทศ,ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยบทลงโทษสำหรับผู้ผลิต ผู้นำเข้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,00 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดยขณะนี้ สมอ. ได้เตรียมความพร้อมในการให้การรับรองแล้ว ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอได้ทันที ซึ่งจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-license ทั้งหมดสะดวก รวดเร็วใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 15 วันทำการ