หน่วยงานรัฐต่างงัด “อำนาจ” – เข้มบังคับใช้ กม. สกัดของเถื่อน – ผู้นำเข้าเดือดร้อน จากกรมศุลฯ รับคนเดียว ต้องไปติดต่อหลายหน่วยงาน
จากปัญหาสินค้าราคาถูกเกรดต่ำไม่ได้มาตรฐาน อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ไหลทะลักเข้ามาวางขายกันเกลื่อนเมืองทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าไทย โดยเฉพาะ SME ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ต้องปิดกิจการกันไปหลายราย เป็นเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องทยอยออกมาตรการมาสกัดกั้นการไหลบ่าของสินค้าราคาถูกเกรดต่ำ ซึ่งมีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ไล่จากเบาไปหาหนัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ และจะต้องไม่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ช่วงปลายสมัยของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้สั่งการให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ไปจนถึงสิ้นปีนี้ (จากเดิมยกเว้น) ก่อนที่กรมสรรพากรจะมารับไม้ต่อ โดยออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์มีหน้าที่เก็บ VAT จากเจ้าของสินค้าที่มาโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นำส่งกรมสรรพากร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ
ส่วนสินค้าราคาถูกเกรดต่ำไม่มีมาตรฐาน รวมทั้งของผิดกฎหมายไม่มีใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งถือเป็นของต้องห้าม–ต้องกำกัด แอบลักลอบนำเข้ามาขายกันตามท้องตลาดนั้น หลังจากนายเศรษฐาถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย ปฏิบัติหน้าที่แทนนายเศรษฐา ก็ได้นำ 5 มาตรการ 63 แผนปฏิบัติในการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ไปดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว รวมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด
พอมาถึงรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานต่างก็เข้มงวดกวดขันจับกุมของเถื่อน และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยงานอย่างเคร่งครัด ตามนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของรัฐบาล ในลักษณะต่างคนต่างทำ เพื่อปิดช่องโหว่ อุดรูรั่วไหล ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ดี ให้ต้องเดือดร้อนตามไปด้วย จากติดต่อกรมศุลกากรที่เดียวจบ ต้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ด้วย เพื่อขอใบอนุญาตนำเข้า
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกเลิกการใช้รหัส “EXEMPT 5” ประกอบการนำเข้าสินค้า 144 รายการ ภายใต้การควบคุมของ สมอ. ทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด หรือนำเข้ามาเพียงไม่ก็ชิ้นก็ตาม ต้องมาแจ้งข้อมูลนำเข้าที่ “ศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการนำเข้า” ได้ที่ชั้น 1 สมอ. หรือ โทร. 024306815 ต่อ 3001–3003 ในวันและเวลาราชการ เพื่อยื่นคำขอใช้บริการผ่านช่องทาง National Single Window (NSW) โดยนำเลข “PERMIT” จาก สมอ. กรอกลงในใบขนสินค้าขาเข้าแทนเลขรหัส “EXEMPT 5” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา
จากเดิมกรณีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้วัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่าย และไม่เกินจำนวนที่ สมอ. กำหนด สามารถใช้รหัส EXEMPT 5 กรอกลงในใบขนสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรได้ โดยผู้นำเข้าไม่ต้องมาขออนุญาตที่ สมอ. ส่วนเหตุผลที่ สมอ. ต้องปิดช่องทางนี้ เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานว่า อาจมีผู้นำเข้าอาศัยช่องว่างดังกล่าว ลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศ โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นการนำเข้าของใช้ส่วนตัว ไม่ได้นำเข้ามาเพื่อขาย และมีจำนวนชิ้นไม่เกินที่ สมอ. กำหนด
นอกจากนี้ ทาง สมอ. ยังย้ำเตือนผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย แอบลักลอบนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ไม่ว่าจะขายผ่านออนไลน์หรือออฟไลน์ หากถูกเจ้าหน้าที่จับได้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ล่าสุด กรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีน้ำหอม หรือหัวน้ำหอม ได้ทำบันทึกข้อความถึงอธิบดีกรมศุลกากร โดยแจ้งว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าน้ำหอม หัวน้ำหอม และสารผสมที่มีกลิ่นหอม ตามพิกัดศุลกากรที่ 3302 เป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงสารละลายในแอลกอฮอล์ ที่มีสารดังกล่าวตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปเป็นหลัก และชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ่งปรุงแต่งอื่นๆ ที่ใส่สารที่มีกลิ่นหอมเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้นำตัวอย่างสินค้าในพิกัด 3302 มาตรวจวิเคราะห์ พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าหัวน้ำหอม ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้นำเข้า และผู้ประกอบการที่ซื้อสินค้าดังกล่าว กรมสรรพสามิต “จึงขอความอนุเคราะห์กรมศุลกากร กรณีการนำเข้าสินค้าในพิกัดศุลกากร 3302 ให้ช่วยแจ้งผู้นำเข้าให้ไปติดต่อสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ ที่สำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากรที่นำเข้าตั้งอยู่ หรือด่านศุลกากรที่มีการดำเนินการพิธีการตรวจปล่อยสินค้าตั้งอยู่ เพื่อพิจารณาว่าสินค้าที่นำเข้าเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตหรือไม่อย่างไร เพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บต่อไป”
แหล่งข่าวจากผู้นำเข้าหัวน้ำหอมรายหนึ่งกล่าวว่า หลังจากที่กรมสรรพสามิตทำบันทึกข้อความมาถึงอธิบดีกรมศุลกากร ก็ได้มีการนำบันทึกข้อความดังกล่าวเวียนแจ้งไปตามด่านศุลกากร ปรากฏว่ามีผู้นำเข้าหัวน้ำหอมที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าหลายราย ไม่สามารถนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรแนะนำให้ไปติดต่อสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ โดยนำตัวอย่างส่งให้กรมสรรพสามิตตรวจวิเคราะห์หัวเชื้อน้ำหอมแต่ละกลิ่น (flavor) เพื่อขอออกใบรับรองสินค้าว่าอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีสรรพสามิตหรือไม่ ซึ่งบางกรณีต้องใช้เวลาตรวจวิเคราะห์ประมาณ 10 วัน กลายเป็นภาระของผู้ประกอบการต้องเสียเวลา และค่าเช่าพื้นที่โกดังเก็บสินค้า จากมาตรการสกัดของเถื่อน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงกลายเป็นภาระของผู้ประกอบการที่ดี
อนึ่ง จากข้อมูลสถิติการนำเข้าน้ำหอม หรือหัวน้ำหอมของไทยในช่วงปี 2563–2567 (ม.ค.–ส.ค. 2567) พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีปริมาณนำเข้า 37.71 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 20,342 ล้านบาท, ปี 2564 มีปริมาณนำเข้า 39.83 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 22,124 ล้านบาท, ปี 2565 มีปริมาณนำเข้า 42.42 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 24,610 ล้านบาท, ปี 2566 มีปริมาณนำเข้า 40.84 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 24,611 ล้านบาท และในช่วงเดือนมกราคม–สิงหาคม 2567 มีปริมาณนำเข้า 29.74 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 19,474 ล้านบาท
และจากข้อมูลของศุลกากรในปี 2566 พบว่า ประเทศที่ไทยนำเข้าน้ำหอมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายน้ำหอม และหัวน้ำหอม มียอดนำเข้าอยู่ 15,055 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 71% ของมูลค่านำเข้าน้ำหอมในปีนี้ ถัดมาเป็นอินโดนีเซีย มีมูลค่านำเข้า 2,804 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13% ของมูลค่านำเข้าในปีนี้ สหรัฐอเมริกามูลค่านำเข้า 1,730 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8% ญี่ปุ่นมีมูลค่านำเข้า 1,032 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% และอังกฤษมูลค่านำเข้า 679 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3%