ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยมีรถจดทะเบียน 44 ล้านคัน รถเกิน 7 ปี 25 ล้านคัน มาตรวจสภาพไม่ถึง 6 ล้านคัน

ไทยมีรถจดทะเบียน 44 ล้านคัน รถเกิน 7 ปี 25 ล้านคัน มาตรวจสภาพไม่ถึง 6 ล้านคัน

29 ตุลาคม 2024


จำนวนรถสะสมในประเทศไทยในช่วงปี 2562–2567 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ซึ่งมีการจดทะเบียนยอดสะสมสูงถึง 44 ล้านคันในปี 2567 อย่างไรก็ตาม รถจดทะเบียนใหม่ในปี 2567 กลับมีจำนวนลดลงชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีรถใหม่จดทะเบียนเพียง 2 ล้านคันจากที่เคยเฉลี่ย 2.6–3 ล้านคันต่อปี อีกทั้งยังพบว่ารถกลุ่ม EV และไฮบริดมีการเติบโตที่โดดเด่น ในขณะที่รถเชื้อเพลิง LPG และ CNG ลดลง

จำนวนรถปี 2562–2567

จำนวนรถจดทะเบียนสะสมในแต่ละปีงบประมาณมีดังนี้

ปี 2567 จำนวน 44,761,896 คัน แบ่งเป็น รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 43,382,923 คัน คิดเป็น 96.92% และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,378,973 คัน คิดเป็น 3.08%

ปี 2566 จำนวน 44,179,926 คัน แบ่งเป็น รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 42,808,462 คัน คิดเป็น 96.90% และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,371,464 คัน คิดเป็น 3.10%

ปี 2565 จำนวน 43,152,117 คัน แบ่งเป็น รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 41,801,329 คัน คิดเป็น 96.87% และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,350,788 คัน คิดเป็น 3.13%

ปี 2564 จำนวน 42,090,253 คัน แบ่งเป็น รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 40,754,196 คัน คิดเป็น 96.83% และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 3.17 คัน คิดเป็น%

ปี 2563 จำนวน 41,241,378 คัน แบ่งเป็น รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 39,927,285 คัน คิดเป็น 96.81% และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,314,093 คัน คิดเป็น 3.19%

ปี 2562 จำนวน 40,467,665 คัน แบ่งเป็น รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 39,160,454 คัน คิดเป็น 96.77% และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,307,211 คัน คิดเป็น 3.23%

ทั้งนี้ รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ แบ่งรถออกเป็น 18 ประเภท ได้แก่ (1) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (2) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (3) รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (4) รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล (5) รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด (6) รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (7) รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง (8) รถยนต์รับจ้างสามล้อ (9) รถยนต์บริการธุรกิจ (10) รถยนต์บริการทัศนาจร (11) รถยนต์บริการให้เช่า (12) รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (13) รถแทรกเตอร์ (14) รถบดถนน (15) รถใช้งานเกษตรกรรม (16) รถพ่วง (17) รถจักรยานยนต์สาธารณะ และ (18) รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1) รถโดยสารกลุ่ม bus แยกเป็นรถประจำทาง ไม่ประจำทาง และรถส่วนบุคคล (2) รถบรรทุก แยกเป็นรถไม่ประจำทางและรถส่วนบุคคล และ (3) รถขนาดเล็กกลุ่ม small rural bus

ปี ’67 รถจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัว

ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ปี 2562–2566 จำนวนรถสะสมมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.77% หรือประมาณ 0.93 ล้านคันต่อปี โดยรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์เพิ่มขึ้น 1.80% โดยประเภทรถที่มีจำนวนเพิ่มมากสุดคือรถยนต์รับจ้างผ่านนระบบอิเล็กทรอนิกส์ สวนทางกับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์ที่มีอัตราการเติบโตลดลง ส่วนรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เติบโต 0.96% 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 รถที่จดทะเบียนใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรถจดทะเบียนใหม่ราว 2.6–3 ล้านคันต่อปี แต่ในปี 2567 กลับมีรถจดทะเบียนใหม่ประมาณ 2 ล้านคันเท่านั้น ดังนี้

  • ปี 2567 2,067,841 คัน
  • ปี 2566 3,081,474 คัน
  • ปี 2565 2,971,535 คัน
  • ปี 2564 2,682,200 คัน
  • ปี 2563 2,657,060 คัน
  • ปี 2562 3,106,951 คัน

อีกทั้งในแต่ละปีมีการออกใบอนุญาตขับชี่ใหม่เฉลี่ย 2.4 ล้านฉบับต่อปี และมีการต่ออายุใบอนุญาตฯ เฉลี่ย 2.81 ล้านฉบับต่อปี

ไฟฟ้า–ไฮบริด โตสวน LPG-CNG

เมื่อจำแนกประเภทตามชนิดเชื้อเพลิง พบว่า “เบนซิน” ยังคงมีสัดส่วนสูงสุดที่ราว 67–70% รองลงมาคือดีเซลเกือบ 30% ขณะที่ LPG และ CNG มีการเติบโตที่ลดลงต่อเนื่อง โดยมีรถไฟฟ้า (EV) และไฮบริดที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะปี 2567 ที่รถไฟฟ้าเติบโตมากกว่าเท่าตัว

นอกจากนี้ ในปี 2567 กรมการขนส่งทางบก เพิ่มชนิดเชื้อเพลิงใหม่ 1 ประเภท คือ “ไฮโดรเจน” ซึ่งมีรถที่จดทะเบียนไฮบริดเพียง 1 คันเท่านั้น

รถเกิน 7 ปี 25 ล้านคัน มาตรวจสภาพไม่ถึง 6 ล้านคัน

ในจำนวนรถสะสมกว่า 44 ล้านคันในประเทศไทย กลุ่มอายุรถที่มีสัดส่วนสูงสุดคือ รถที่มีอายุตั้งแต่ 11–15 ปี โดยปี 2567 กลุ่มนี้มีจำนวนถึง 9,126,275 คัน ส่วนกลุ่มอื่นๆ มีรายละเอียดดังนี้

  • น้อยกว่า 1 ปี 1,819,853 คัน
  • 1 ปี 2,693,307 คัน
  • 2 ปี 2,658,215 คัน
  • 3 ปี 2,358,908 คัน
  • 4 ปี 2,168,387 คัน
  • 5 ปี 2,481,172 คัน
  • 6 ปี 2,427,108 คัน
  • 7 ปี 2,222,833 คัน
  • 8 ปี 1,943,081 คัน
  • 9 ปี 1,839,629 คัน
  • 10 ปี 1,900,597 คัน
  • 11–15 ปี 9,126,275 คัน
  • 16–20 ปี 5,420,225 คัน
  • มากกว่า 20 ปี 5,701,908 คัน
  • ไม่ระบุปี 398 คัน

เกณฑ์สำคัญของรถคือ การตรวจสภาพรถ โดยกฎหมายระบุให้ต้องเข้ารับการตรวจสภาพ (ตรอ.) เมื่อรถยนต์ส่วนบุคคลมีอายุการใช้งานถึง 7 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียนรถ และต้องตรวจสภาพรถทุกปี ส่วนมอเตอร์ไซค์กำหนดไว้ที่ 5 ปี

แม้ข้อมูลจากกรมการขนส่งจะไม่ได้จำแนกประเภทรถตามอายุการใช้งาน แต่จากข้อมูลปี 2567 พบว่า เมื่อนำรถที่มีอายุมากกว่า 7 ปีมารวมกัน มีจำนวนสูงถึง 25,931,715 คัน ในจำนวนนี้มีรถที่เข้ารับการตรวจสภาพไม่ถึง 6 ล้านคัน โดยรถที่เข้ารับการตรวจสภาพสูงที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ จักรยานยนต์ รถบรรทุก รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง รถบรรทุกส่วนบุคคล และรถโดยสาร ตามลำดับ

ปี 2567 มีรถเข้ารับการตรวจสภาพ 5,525,117 คัน แบ่งเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 4,225,968 คัน และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,299,149 คัน

ปี 2566 มีรถเข้ารับการตรวจสภาพ 5,975,424 คัน แบ่งเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 4,660,284 คัน และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,315,140 คัน

ปี 2565 มีรถเข้ารับการตรวจสภาพ 5,864,722 คัน แบ่งเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 4,566,144 คัน และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,298,578 คัน

ปี 2564 มีรถเข้ารับการตรวจสภาพ 5,288,463 คัน แบ่งเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 4,035,245 คัน และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,253,218 คัน

ปี 2563 มีรถเข้ารับการตรวจสภาพ 5,466,665 คัน แบ่งเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 4,182,889 คัน และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,283,776 คัน

ปี 2562 มีรถเข้ารับการตรวจสภาพ 6,026,173 คัน แบ่งเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 4,739,844 คัน และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,286,329 คัน