คพ. แนวโน้มที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 จะสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม พร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ในปี2568 คาดเริ่มมาช่วงปลายเดือนพ.ย. แต่สถานการณ์ดีขึ้นกว่าปี 67 ตั้งเป้าลดจุดความร้อนทั่วประเทศให้ได้ร้อยละ 30%
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมด้วยดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ร่วมแถลงข่าวการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 และการเตรียมรับมือในปี 2568
น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะเริ่มมีแนวโน้มที่สูงขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ย. ซึ่งมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเข้าปกคลุมประเทศไทย ทำให้ฝุ่นเริ่มสะสมตัว จากการประเมินปี 2567 ดีขึ้นกว่าปี 2566 เพราะมีจุดความร้อนลดลงถึงร้อยละ 22 และจำนวนวันที่มีฝุ่นเกินมาตรฐานลดลงถึงร้อยละ 11
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินว่าช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล มีแนวโน้มที่ค่าฝุ่นละอองจะสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่จะมีสภาวะที่อากาศปิดส่งผลให้ฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้
ส่วนสถานการณ์ใน อ.แม่สาย จ. เชียงราย อยู่ระกว่างการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม พบว่าสภาพดินโคลนที่แห้ง เมื่อมีการขนส่งจราจร ทำให้เกิดฝุ่น PM 10 ฟุ้งกระจาย ส่งผลกระทบต่อประชาขนในพื้นที่ ทางจังหวัดใช้วิธีพรมน้ำเพื่อช่วยลดการฟุ้งกระจาย โดยวางแผนนำดินโคลนออกให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้
น.ส.ปรีญาพร กล่าวอีกว่า ตั้งเป้าการปฏิบัติการในปี 2568 โดยพื้นที่เมือง ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ เข้มงวดเรื่องการตรวจควันดำ โดยเฉพาะรถของหน่วยงานข้าราชการ รถขสมก. ที่แม้จะบอกว่าตรวจแล้วไม่เจอควันดำ เราก็ต้องเข้มงวดในการตรวจอย่างต่อเนื่อง
ส่วนในพื้นที่ป่า 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จ.กาญจนบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องลดลงร้อยละ 25 ในพื้นที่เกษตรทั่วประเทศต้องลดลงร้อยละ 10-30 และในภาพรวมทั้งประเทศของปี2568 ได้ตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนให้ได้ร้อยละ 30
โดยสรุปมีการกำหนดเป้าหมายลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่า ร้อยละ 25 และบริหารจัดการพื้นที่ป่าแปลงใหญ่รอยต่อไฟ 14 กลุ่มป่า (Cluster) ด้วยกลไกข้ามเขตป่าข้ามเขตปกครอง ลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรและพืชเป้าหมาย ร้อยละ 10 – 30 ควบคุมฝุ่นจากยานพาหนะและโรงงานในพื้นที่เมือง ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎระเบียบ ร้อยละ 100 ตั้งเป้าลดค่าเฉลี่ย PM2.5 ลงร้อยละ 5 – 15 ควบคุมค่าเฉลี่ย PM2.5 24 ชั่วโมงสูงสุดไม่เกินค่าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และลดจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานลงร้อยละ 5 – 10

ด้าน ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กระยะไกลล่วงหน้า องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration/NOAA) ประเมินว่าช่วงระหว่างเดือนกันยายนไปจนถึงพฤศจิกายน 2567 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” (La Nina) ซึ่งจะส่งผลให้ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกรวมประเทศไทย มีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้การลุกลามจากการเผาไหม้เศษวัสดุชีวมวลไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์ภายใต้ปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” (สภาวะแห้งแล้ง) ประกอบกับการดำเนินการภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ที่จะสามารถควบคุมแหล่งกำเนิดที่มีนัยสำคัญได้ครบทุกมิติ จึงคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้ว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเข้มงวดในเรื่องยานพาหนะเป็นหลัก โดยเฉพาะการควบคุมการระบายฝุ่นจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ชุมชนและริมทาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ทั้งในมิติการส่งเสริมและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเตรียมพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุข การ Work From Home การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้กับพี่น้องประชาชน และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai
ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด ภาคเหนือจะจัดทำพื้นที่เสี่ยงการเผาล่วงหน้า บริหารพื้นที่เกษตร ประสานกับประเทศเพื่อนบ้านก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน รวมทั้งการบริหารจัดการใน 14 กลุ่มป่าที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
ได้แก่ กลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย กลุ่มป่าศรีลานนา-แม่ลาว กลุ่มป่าสะเมิง กลุ่มป่าสาละวิน กลุ่มป่าตอนใต้จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มป่าถ้ำผาไท กลุ่มป่าแม่ยม กลุ่มป่าเหนือเขื่อนสิริกิติ์ กลุ่มป่าเขื่อนภูมิพล กลุ่มป่าเวียงโกศัย-แม่วะ-ป่าแม่มอก กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง-แม่วงก์ กลุ่มป่ารอบเขื่อนศรีนครินทร์ กลุ่มป่าจังหวัดเลย กลุ่มป่าจังหวัดชัยภูมิ ขณะที่พื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ที่พบจำนวนจุดความร้อนสูง เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรการช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ระบบชลประทาน ช่วงเวลาการเผา
นอกจากนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังเห็นชอบขับเคลื่อนกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด โดยการปฏิบัติการมีดังนี้
- ระยะเตรียมการ จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด
- การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
- การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา
- การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง
- การจัดการหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน
- การบริหารจัดการภาพรวม จะเร่งรัดการของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ PM2.5 มีนโยบายการ Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤติ