ThaiPublica > เกาะกระแส > ADB ลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2567 ลงมาที่ 2.3% หนี้ครัวเรือนรายได้น้อย-SME ความเสี่ยงหลักสี่ยง

ADB ลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2567 ลงมาที่ 2.3% หนี้ครัวเรือนรายได้น้อย-SME ความเสี่ยงหลักสี่ยง

25 กันยายน 2024


เอดีบีปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลงมาที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2567 จากร้อยละ 2.6 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 ลงจากร้อยละ 3 มาที่ร้อยละ 2.7 โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะลดลงเล็กน้อย และยังมีความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มการเติบโต โดยเฉพาะจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหนี้ครัวเรือนและหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง(SME)ที่อยู่ในระดับสูง

วันที่ 25 กันยายน 2567 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี(ADB) เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย Asian Development Outlook (ADO) ฉบับเดือนกันยายน ประจำปี 2567

สำหรับเศรษฐกิจไทย เอดีบีปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในรายงาน Asian Development Outlook มาที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2567 จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ร้อยละ 2.6 และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 ลงจากร้อยละ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7
โดยมีสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอลงระยะในระยะถัดไปจากภาวะการเงินที่ตึงตัวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคและการลงทุนภาครัฐและเอกชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สําหรับมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กําลังจะออกมานั้นคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในระยะสั้น

เอดีบีชี้ว่ายังคงมีหลายปัจจัยที่ยังคงจะต้องติดตามในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด คือ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง หนี้ SME โดยเฉพาะธุรกิจที่เปราะบาง ปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแผนการลงทุนของภาครัฐ ในส่วนของเสถียรภาพทางด้านราคานนั้น ADB คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ในปีนี้และร้อยละ 1.3 ในปีหน้า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวได้ช้า และภาครัฐยังคงดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน

ภาวะเศรษฐกิจไทย

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจชะลอตัวจากครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว จากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐลดลง ควบคู่ไปกับการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน GDP ที่แท้จริงขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เป็น 17.5 ล้านคนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566

การส่งออกสินค้ายังคงเท่าช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้วที่ประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท การส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าว ผลไม้ ผลไม้แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ยางพารา และไก่แปรรูป ได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายนอกที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำตาลและมันสำปะหลังชะลอตัว จากการขาดแคลนอุปทานที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ การส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขยายตัวปานกลาง จากการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์โทรคมนาคมไปยังสหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ประเทศจีนเป็นหลัก

ส่วนการส่งออกภาคการผลิตหลักอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ วงจรรวม เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์เคมี หดตัวเนื่องจากการส่งออกไปออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่ลดลง การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.8 จากการท่องเที่ยวขาออกและการชำระเงินบริการธุรกิจอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ค่าระวางค่าขนส่งก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.4 ในครึ่งแรก จากการใช้จ่ายด้านบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากการจ้างงานในภาคบริการและการผลิตที่สูงขึ้น อัตราว่างงาน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับต่ำร้อยละ 0.9 อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมือง

หนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90.8 ของ GDP ในไตรมาสแรก ปี 2567 แต่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ที่ร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ยอดขายรถยนต์และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยลดลงในครึ่งแรกของปี 2566
เงื่อนไข.

การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.9 เป็นผลจากการหดตัวในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 การลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการลงทุนในภาคยานยนต์ที่ลดลง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่ง รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ และรถโดยสารที่ลดลง การลงทุนด้านการก่อสร้างหดตัว ในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยทุกประเภท โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะในรถยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง

การบริโภคภาครัฐหดตัวร้อยละ 0.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยการลงทุนหดตัวร้อยละ 16.7 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 (ปีงบประมาณ 2567 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567) ผ่านสภาในเดือนมีนาคม 2567 โดยรัฐบาลเริ่มเบิกจ่ายในเดือนพฤษภาคม การเร่งเบิกจ่ายในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 ไม่ได้ช่วยดึงการใช้จ่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่หดตัวได้ การลงทุนภาครัฐเริ่มขยับขึ้นในเดือนมิถุนายน นำโดยการเบิกจ่ายของหน่วยงานชลประทาน ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มไม่มาก นำโดยโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำ การจำหน่ายไฟฟ้า การสำรวจแร่ และอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสาร

อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังคงในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 63.5 ในปลายเดือนมิถุนายน 2567 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.3 ณ ต้นปีงบประมาณ 2567

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2024 รัฐบาลได้เร่งดำเนินการเพื่อผลักดันการเติบโตของ GDP ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ คือ การลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางภายในประเทศในเมืองรอง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจ SME และการแจกเงินจำนวนมหาศาล (โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล) มูลค่า 450 พันล้านบาท (12.5 พันล้านดอลลาร์) การลงทะเบียนโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลเริ่มในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 โดยมีกำหนดโอนเงิน 10,000 บาท ($277) ไปยังผู้รับผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และคาดหวังจะมีการใช้เงินในระดับท้องถิ่นภายใน 6 เดือน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กู้ยืมเพิ่มเติมจำนวน 276 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 เพื่อใช้ในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล ส่งผลให้งบประมาณรวมของปีงบประมาณ 2567เพิ่มขึ้น จาก 3.5 ล้านล้านบาท (95.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็น 3.6 ล้านล้านบาท (98.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ได้มีการปรับแก้เงื่อนไขของโครงการ โดยการแจกเงินส่วนหนึ่งจะแจกเป็นเงินสด ซึ่งระยะเวลาการแจกเงินอาจมีการปรับเปลี่ยน

เมื่อแยกตามรายภาค ภาคบริการยังขยายตัวดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ร้อยละ 3.3% นำโดยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.9 จากปรากฏการณ์เอลนีโญคุกคามผลผลิตพืชสำคัญ เช่น ข้าวนอกฤดู อ้อย มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม และผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ภาคการผลิตยังคงลดลงร้อยละ 1.4 การหดตัวส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วงแบบบูรณาการ แผงวงจรและเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อัน เนื่องมาจากอุปสงค์จากภายนอกที่ชะลอตัวลง ภาคการก่อสร้างหดตัวจากการก่อสร้างภาครัฐลดลงเป็นหลัก

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 1-3 ของธนาคารกลาง นับตั้งแต่การเผยแพร่ ADO เดือนเมษายน 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกและค่อยๆ กลับเข้าสู่เป้าหมายของธนาคารกลาง เงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 5.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกระแสเงินไหลออกอย่างต่อเนื่องทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากความผันผวนทั่วโลกในขณะที่รอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

แนวโน้ม

เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ใน ADO เดือนเมษายน 2567 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ จึงมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตที่แท้จริงของ GDP ปีนี้จากร้อยละ 2.6 ในเดือนเมษายนเป็นร้อยละ 2.3

จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยในด้านการผลิตเพื่อการส่งออก เศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ จึงปรับลด GDP ที่แท้จริงของปีหน้าลงจากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 2.7 การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าการคาดการณ์ครั้งก่อน สาเหตุหลักมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่การส่งออกบริการคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง

แม้ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงเวลาคาดการณ์ แต่ประเทศไทยอาจยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสินค้าส่งออกหลายรายการไม่สามารถตอบสนองความต้องการสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่เปลี่ยนไปทั่วโลก ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ราคาพลังงานและไฟฟ้า ค่าระวางขนส่งและค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้า

การเติบโตของการส่งออกบริการคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง จึงได้ปรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 34 ล้านคนเป็น 35 ล้านคน หลังจากที่ประเทศไทยประกาศขยายระยะเวลายกเว้นวีซ่าและเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถขอวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึงที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง( visa on arrival )ได้ และยังคงคาดการณ์การนำเข้าสินค้าและบริการไว้ที่ร้อยละ 4.0 ในปีนี้และร้อยละ 2.6 ในปีหน้า

การบริโภคภาคเอกชนจะแข็งแกร่งในปี 2567 แต่มีแนวโน้มชะลอตัวในปีหน้า จากภาวะการเงินที่ตึงตัว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง แม้การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวอาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการจูงใจทางภาษีของภาครัฐและสำหรับผู้ที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยวและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ และธนาคารที่เพิ่มความเข้มงวดขึ้น อาจทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องการปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะสั้น โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลคาดว่าจะมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเขตพื้นที่ ขนาดของร้านค้าปลีก และประเภทของผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้

รายงานได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนได้จากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 0.7 ในปี 2567 จากภาวะที่อ่อนแอกว่าคาดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยการเติบโตในปีหน้าได้ปรับลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 3.2 เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบาย นอกจากนี้ มีการนำเข้าสินค้าราคาถูกจำนวนมากตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าและรองเท้า ของตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ในครัว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

ADO คาดการใช้จ่ายภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นหลังงบประมาณปี 2567 ล่าช้าไปหลายเดือน การบริโภคภาครัฐในปีนี้ต่ำกว่าคาดในเดือนเมษายน จากการหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ดังนั้นจึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการบริโภคภาครัฐลงเล็กน้อยจากกร้อยละ 1.5 ในเดือนเมษายนเป็นร้อยละ 1.2 โดยยังคงการเติบโตในปีหน้าไว้ที่ร้อยละ 2.5 และคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากการเร่งเบิกจ่ายหลังจากมีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2567 อย่างไรก็ตามไม่น่าจะสามารถชดเชยการหดตัวลึกในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ได้ คาดว่าปีหน้าหน่วยงานภาครัฐจะเร่งเบิกจ่ายต่อไปโดยเฉพาะโครงการที่ล่าช้าตั้งแต่ปีที่แล้ว

ในด้านอุปทาน เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงและการส่งออกสินค้าที่อ่อนแออาจกระทบภาคเกษตรกรรม และการเติบโตของภาคการผลิต ขณะที่ภาคบริการยังคงแข็งแกร่ง

สภาวะอากาศที่พ้นจากเอลนีโญเข้าสู่ลานีญา มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงต้นปีหน้า ทำให้มีฝนตกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ลานีญาอาจบรรเทาความรุนแรงของภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อข้าว ผักสด และผลไม้บางชนิด

รายงานได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ลง เนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าช้ากว่าคาด การเติบโตของอุตสาหกรรมในปีหน้ายังคงอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ส่วนการเติบโตของบริการได้ปรับขึ้นในปี 2567 ตามประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

อัตราเงินเฟ้อน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปี 2567 และ 2568 โดยปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากร้อยละ 1.0 ในปี 2567 เป็นร้อยละ 0.7 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ต่ำกว่าคาดในเดือนเมษายน สำหรับปี 2568 การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อก็ปรับลดลงจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.3 เช่นกัน ราคาเนื้อสัตว์ ปลา เนื้อหมู สัตว์น้ำ และผักสดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ต่ำกว่าคาดเนื่องจากมีอุปทานในตลาดเพียงพอ ราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้คาดว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2567 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2568 สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยอาจทำให้ผลผลิตลดลง รัฐบาลยังคงคุมราคาพลังงานและอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของครัวเรือนจนถึงสิ้นปี 2567

ความเสี่ยงด้านลบมีมากขึ้นตั้งแต่รายงาน ADO เมษายน 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเผชิญกับความเปราะบางและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น สภาพอากาศสุดขั้วอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรเกินคาด

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา และค่าระวางขนส่งที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากกว่าที่คาด ทำให้…

มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการชำระหนี้ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และธุรกิจSME ถือเป็นความเสี่ยงหลักในประเทศ

นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์การเมืองภายในประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจเกิดขึ้นได้ หากการอุดหนุนราคาพลังงานและไฟฟ้าลดลงอีกในปี 2568 และราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเกินคาด

ในรายงาน Asian Development Outlook ธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกในปีนี้ ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการส่งออกที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยังปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคอีกด้วย โดยคาดว่าภูมิภาคจะเติบโตร้อยละ 5.0 ในปีนี้ เมื่อเทียบกับคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ร้อยละ 4.9 และยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้าไว้ที่ร้อยละ 4.9 เช่นเดิม สำหรับอัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกในปี 2567 คาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 3.2