ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ และหยั่งรากลึกลงไปถึงการไม่ยอมรับในวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมทั้งในมิติของการใช้ทรัพยากร การสร้างปัญหา และการรับผลกระทบ โดยผู้ที่มีส่วนก่อปัญหาน้อยที่สุดกลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาถูกเรียกร้องให้ปรับตัวขนานใหญ่ และการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าออกไปในปัจจุบัน ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อคนในรุ่นถัดไปมากขึ้น
การเจาะลึกถึงสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม การแสวงหาทางออกในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางที่เป็นแสงสว่างในอนาคต จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ได้มีการหยิบยกมาพูดคุยกันในวงเสวนาหัวข้อ “ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน?” (ตอนที่ 2) ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 โดยวงเสนาในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งมุมมองทางวิชาการ มุมมองในระดับสากล มุมมองจากภาคเอกชน และมุมมองจากภาคประชาชน
ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม กฎหมาย-การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด (ประเทศไทย) รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า จากการขับเคลื่อนเรื่องอากาศสะอาดอย่างขะมักเขม้นมาเป็นเวลา 7 ปี บัดนี้ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน เป็น 1 ใน 7 ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดที่ได้มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมทางกฎหมายที่ไม่ได้ใช้เพียงมาตรการลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ได้นำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยใช้หลักการเก็บเงินจากผู้สร้างมลภาวะเพื่อหมุนเวียนกลับไปช่วยสนับสนุนการสร้างอากาศสะอาด
ส่วนในมุมมองด้านวิชาการ รศ.ดร.คนึงนิจ ได้อธิบาย “ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม” ว่าเป็นคำประดิษฐ์ใหม่ที่มีความหมายกว้าง แต่สามารถจับคู่ได้เป็นอย่างดีกับคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ไม่เพียงต้องคำนึงถึงความยุติธรรมระหว่างคนภายในรุ่นเดียวกัน แต่ยังมองครอบคลุมไปถึงความยุติธรรมของคนระหว่างรุ่น กล่าวคือ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นปัจจุบันจะใช้ทรัพยากรอย่างไรก็ได้ แต่ต้องบำรุงรักษาและส่งมอบทรัพยากรที่ดีให้คนรุ่นอนาคตได้มีโอกาสใช้ด้วย
ความพยายามในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ปรากฏอยู่ในปฏิญญาแห่งกรุงริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ตั้งแต่ปี 2535 ประกอบด้วย 27 หลักการเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบของสหประชาชาติในการดำเนินงานพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งภายใต้หลักการข้อ 20-23 ให้ความสำคัญกับบทบาทของคนกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสตรี เด็กและเยาวชน และคนในชุมชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น โดยมองว่าหากมีการสร้างเสริมประสบการณ์ คนเหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล (Influencer) ในการร่วมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนไปกับรัฐได้
หลักการตามปฏิญญาฯ ข้อที่ 7 ยังได้ระบุถึงหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน โดยมองว่าไม่เป็นธรรม หากให้ประเทศร่ำรวยที่ครั้งหนึ่งเคยเอาเปรียบหรือฉกฉวยทรัพยากรจากประเทศอื่น ๆ รับผิดชอบปัญหาในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน ยิ่งกว่านั้น หลักการข้อ 6 ยังระบุว่าต้องให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนา
โดยประเทศพัฒนาแล้วต้องช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี แนะนำ ให้ความรู้ และสนับสนุนเรื่องการเงินหรืออื่น ๆ และหลักการข้อ 2 เรื่องการสร้างความรับผิดของรัฐทั้งหลายที่ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐอื่นหลายเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขได้วิวัฒน์มาเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในปัจจุบัน เช่น SDG ข้อ 5 เรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” การพัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง SDG ข้อ 10 เรื่อง “ลดความเหลื่อมล้ำ” ทั้งภายในและระหว่างประเทศ และ SDG ข้อ 16 เรื่อง “สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง” มุ่งสร้างนิติรัฐที่อำนวยความยุติธรรม ส่งเสริมสังคมสงบสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่แบ่งแยก สหประชาติยังได้ประกาศให้สิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง ประกอบด้วย “สิทธิเชิงเนื้อหา” หมายถึงการอยู่ในสิ่งแวดลอมที่ดี มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การได้มาซึ่งสิทธิเชิงเนื้อหานั้นไม่ง่าย จึงมีอีกสิทธิเรียกว่า “สิทธิในเชิงกระบวนการ” ครอบคลุมถึงสิทธิในข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการเข้าถึงการร้องเรียนและกระบวนการเพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นพาหนะนำทางไปสู่สิทธิเชิงเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
สำหรับประเทศไทย มีความท้าทายในหลายประการ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง กฎหมายที่กระจัดกระจาย หน่วยงานที่ทำงานแบบไซโล สิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่สามารถไปถึงฝันได้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้เปิดรับแนวทางใหม่ ๆ ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบต่อไป เช่น การผลักดันร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดไปสู่การปฏิบัติ การต่อสู้กับอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมด้วยกฎหมายอาญาเช่น ในสหภาพยุโรป การนำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) และเรื่องสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้ในประเทศไทยอย่างเข้มข้น ฯลฯ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างระบบนิเวศใหม่ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ในอนาคต
ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และความท้าทายของโลก
ในมุมมองระดับสากล ‘แดเนียล ลีโอ ฮอร์น พัธโนทัย’ ผู้ก่อตั้ง Asia Just Transitions Lab กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากการหาประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียม เป็นผลลัพธ์ของระบบที่คนเราสร้างขึ้นเองและสิ่งที่เราเลือกทำ ขณะที่การแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำแบบแยกส่วนและไม่อาจเพิกเฉยได้ เพราะท้ายที่สุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะบีบให้เราต้องแก้ไขรากเหง้าของปัญหา นั่นก็คือความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมและระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและมีความยุติธรรมมากขึ้น
สำหรับความไม่เป็นธรรม 3 ประเด็นสำคัญที่เรากำลังเผชิญอยู่ คือ 1) ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดคือผู้ที่มีส่วนในการทำให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ยกตัวอย่าง ชาวบังกลาเทศซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าชาวอเมริกัน แต่กลับต้องได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสมาก 2) ประเทศกำลังพัฒนาถูกร้องขอให้ปรับตัวขนานใหญ่และแก้ไขปัญหาที่ตัวเองไม่ได้สร้างขึ้น และ 3) การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าออกไปในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อคนในรุ่นถัดไปและจำกัดทางเลือกในการพัฒนาของพวกเขา
ปัจจุบันความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคที่ชาติตะวันตกล่าอาณานิคมถึงขีดสุด คนที่ร่ำรวยยิ่งรวยขึ้น แต่ประเทศกำลังยากจนลง ความไม่เท่าเทียมกำลังเพิ่มขึ้นภายในประเทศ คนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 10% ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 50% ของทั้งโลก ขณะที่คนที่จนที่สุดของประชากรโลก 50% ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 10% ของทั้งหมด
สำหรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero มีบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกคิดเป็นประมาณ 40% ของมูลค่าตลาดที่รับปากว่าจะทำตามเป้าหมายนี้ อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียสยังอยู่ห่างไกล และจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เร็วขึ้นจากปัจจุบัน 5 เท่าจึงจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้
ยิ่งกว่านั้นคือ ในขณะที่เราต้องช่วยเหลือคนยากจนราว 750 ล้านคนทั่วโลกซึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้ เรายังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการขยายตัวของกลุ่มคนชนชั้นกลางที่กำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านคนภายใน 2-3 ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งความต้องการต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้องลดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการรองรับของโลกไปด้วย เพราะปัญหาที่ทวีความรุนแรงจะทำให้ระบบนิเวศไม่สามารถเยียวยาให้โลกกลับคืนความสมดุลได้ ทั้งนี้หากดูจากแผนภูมิแสดง “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” ซึ่งเป็นข้อมูลจากการวิเคราะห์ของ Stockholm Resilience Centre ในปี 2566 พบว่า มีการก้าวข้ามเขตของการรักษาสมดุลไปแล้ว 6 ด้าน จากทั้งหมด 9 ด้าน
ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราต้องคำนึงถึงคุณภาพของการเปลี่ยนแปลง โดยปรับวิสัยทัศน์ให้กว้างขึ้น และต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังต้องพยายามบรรลุเป้าหมายทั้งด้านสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และสังคมไปพร้อม ๆ กัน
การใช้เงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564-2565 และการที่โลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำยังจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงปี 2573 ด้วย
การพัฒนาความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลาที่มีความแตกแยกทั้งในไทยและทั่วโลกเช่นในปัจจุบัน ‘แดเนียล’ มองว่า ประเทศไทยยังมีโอกาส โดยเฉพาะการมีพื้นที่ทางการเมืองให้พูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่อาจจะไม่สามารถนำมาหารือกันได้เมื่อ 2-3 ปีก่อน ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างฉันทามติใหม่ของสังคมร่วมกัน ผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การกำหนดกรอบของปัญหาในแบบที่แตกต่างออกไปและทำให้คนเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน การสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเพื่อประชาธิปไตยสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อม และการให้ข้อมูล ให้อำนาจ และให้เครื่องมือแก่ประชาชน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในเกาหลีใต้เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มเด็กได้รวมตัวกันฟ้องศาลและชนะกรณีที่รัฐบาลที่ไม่กระตือรือร้นต่อการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ
“ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น และธรรมชาติที่มีความสมดุล เราจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา อาจจะไม่ใช่ในชั่วอายุของเรา แต่เชื่อมั่นว่าในระยะยาว ปัญหานี้จะทำให้ไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องหาทางออกที่ดีกว่านี้ในการเพิ่มอาหาร และสร้างเมืองที่ดีขึ้น”
เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ สร้างแรงจูงใจในการลดมลภาวะ
ในมุมมองด้านตลาดทุน ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ชี้ให้เห็นว่า ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายระดับ บริษัทเอกชนเป็นทั้งผู้สร้างผลกระทบและผู้ถูกกระทำ โดยหากมองภาพใหญ่ในระดับโลก ในอดีตประเทศพัฒนาแล้วเคยพัฒนาอุตสาหกรรมและเติบโตสูงมาก แต่วันนี้ได้ส่งออกมลภาวะด้วยการใช้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นฐานการผลิต และบังคับให้ต้องใช้เทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่ใหญ่มาก ๆ ในปัจจุบัน
หากมองภาพเล็กลงมาในระดับประเทศ ก็จะพบความเหลื่อมล้ำระหว่างบริษัทใหญ่และบริษัทเล็ก แน่นอนว่าบริษัทใหญ่จะมีทรัพยากรมากกว่า ขณะที่กฎระเบียบต่าง ๆ ได้ลงไปถึงบริษัทเล็ก ๆ ที่อยู่ในระดับซับพลายเชน ซึ่งอาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้เลยเพราะเป็นต้นทุนที่สำคัญ ยิ่งกว่านั้น คือความเหลื่อมล้ำระหว่างบริษัทกับชุมชน
อย่างไรก็ดี มีหลาย ๆ มาตรการที่ให้ผลในเชิงบวกกับสิ่งแวดล้อมและสร้างความเป็นธรรมไปพร้อมกัน เช่น มาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจ โดยมีการออกแบบระบบ กฎหมาย และแรงจูงใจในเชิงเศรษฐกิจ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนคือ การใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจไทยพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG มากยิ่งขึ้น โดยปลายปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ร่วมกับตลาดทุนจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ให้บุคคลธรรมดาสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท และปีนี้ให้สิทธิลดหย่อนเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 บาท ซึ่งผลจากมาตรการนี้ ทำให้ในปีนี้มีบริษัทสมัครใจเข้ามาขอรับการประเมินความยั่งยืนเพิ่มขึ้นหลายร้อยบริษัท และส่งผลให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้นประมาณ 30%
ดร.ศรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่าทิ้งความหวัง อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ หรือมองว่าเราเป็นเพียงคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และเชื่อว่าการมีแพลตฟอร์มให้คนมาแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยสร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกได้”
พลังของภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่
ในมุมมองภาคประชาชน ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All และสมาชิก ROLD รุ่นที่ 2 กล่าวว่า เมื่อพูดถึงความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ สะท้อนความจริงที่น่าตกใจในยุคสมัยนี้ คือ ในขณะที่ผู้คนกลุ่มหนึ่งได้อยู่ในโลกศิวิไลซ์ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี คนอีกกลุ่มกลับแทบจะไม่เหลือทรัพยากรในการดำรงชีพ เพราะถูกดูดทรัพยากรไปหมด ซ้ำยังได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ภัยแล้ง ฯลฯ
ดร.กฤษฎาให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากคาร์บอนไดออกไซต์เกือบ 70% ยังมาจากพลังงานฟอสซิล ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของประเทศอุตสาหกรรมไม่กี่กลุ่ม และในจำนวนนี้ก็มาจากบริษัทพลังงานไม่กี่บริษัท แต่เรากลับถูกเรียกร้องให้ต้องรับผิดชอบต่อโลกเท่ากัน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามถึงความเป็นธรรมจากคนที่ถูกดูดทรัพยากรไป และเป้าหมายระดับโลกอย่าง SDGs ก็เกิดจากบทเรียนการต่อสู้ของคนชายขอบทั่วโลก
แนวคิดการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมมิได้เพิ่งเกิดขึ้น อย่างในประเทศไทยมีชุมชนจำนวนไม่น้อย เช่น ที่จังหวัดลำปาง แพร่ เชียงราย เชียงใหม่ จนไปถึงภาคอีสาน ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านสัมปทานป่าไม้ตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมต้องเกิดจากการยอมรับวิถีชีวิตของผู้คนต่าง ๆ ที่หลากหลายด้วย เช่น วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มักไม่ได้ถูกรับการยอมรับ แต่เมื่อไหร่ที่เราได้ยินว่ากลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในพื้นที่ป่าหรือกำลังปลูกพืชหมุนเวียน ก็จะไปตั้งคำถามว่าเขาเป็นต้นเหตุในการสร้าง PM 2.5 หรือเปล่า
จากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า การละเมิดสิทธิมากที่สุดหากนับตามจำนวนคนคือ เรื่องการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ปัญหาป่าไม้ ปัญหาที่ดินทำกิน ดังนั้น ในประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เงื่อนไขแรกที่ต้องพิจารณาคือ เขาอยู่ในภาวะเปราะบาง หรือถูกทำให้ความเปราะบางในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน และผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ความเปราะบางของเขาลดลงไปอีกหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนและการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเกิดสมดุลเกื้อกูลกันตามอนุสัญญา
ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
แม้ปัญหาโลกร้อนจะอยู่ไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน แต่ในมุมมองของ ดร.กฤษฎา เรายังมีความหวังที่จะสร้างจุดเปลี่ยนได้ จากพลังสำคัญของคนที่สู้ไม่ถอย นั่นคือ พลังจากภาคประชาชน คนรากหญ้า และคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม เพราะหากดูพื้นที่ป่าของโลกทั้งหมดที่ดูดซับคาร์บอนได้ไม่ต่ำว่า 60-70% พบว่าอยู่ภายใต้การดูแลของชนพื้นเมืองทั่วโลก ในบ้านเราก็เช่นกัน หากนำแผนที่ป่ามากางดูจะพบว่าป่าส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งมีกลุ่มชนพื้นเมืองอยู่มากที่สุด ปัจจุบันเกษตรกรก็เริ่มเรียนรู้เรื่องการปรับตัว เมื่อก่อนปรับจากการเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ปัจจุบันได้พัฒนาไปไกลถึงขั้นปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ
บทบาทของคนรุ่นใหม่เป็นอีกพลังที่น่าสนใจ ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ในสเปน มีเยาวชน แม้กระทั่งเด็ก 11 ขวบ รวมตัวกันฟ้องศาลยุโรปว่ารัฐไม่เอาจริงเรื่องของการลดโลกร้อน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ พลังของคนเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายใหม่ ทำให้สิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเรามองว่าไม่สามารถเปลี่ยนพลังงานฟอสซิลได้ในเร็ววันนี้ แต่เขาบอกว่ามีโอกาสเต็มไปหมดแล้ว พลังงานหมุนเวียนราคาถูกกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว ขอแค่อย่าให้ย้ายจากทุนใหญ่สู่ทุนใหญ่ แต่ย้ายจากกลุ่มทุนกระจายไปเป็นสวัสดิการของประชาชน
“ผมลองไปจัด Workshop กับเด็ก ม. 1 ที่สาธิตธรรมศาสตร์ ประเด็นน่าสนใจไม่แพ้ผู้ใหญ่เลย เขาพูดถึงความเป็นธรรมในหลาย ๆ รูปแบบ เขาสามารถโยงได้ว่าเกษตรกร คนเมือง และคนชั้นกลาง มีผลกระทบที่เชื่อมโยงกันอย่างไร และความเชื่อมโยงเหล่านั้น เราจะหาทางแก้ไขอย่างไร ปัจจุบันผมกำลังทำหลักสูตรเรื่องความยุติธรรมทางภูมิอากาศให้โรงเรียนที่สาธิตธรรมศาสตร์ และพยายามทำที่อื่น ๆ ให้เป็นต้นแบบ”
ผู้ร่วมเสวนายังได้ร่วมสะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อน ตั้งแต่ระดับการเมือง บริษัทขนาดใหญ่ ลงไปถึงเอสเอ็มอีที่ยังขาดทั้งการเงินและศักยภาพ หรือประชาชนทั่วไปที่ยังต้องสนใจเรื่องการทำมาหากินมากกว่าจะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเสนอให้มีการสร้างแรงจูงใจให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหาและความต้องการของคนทุกกลุ่ม เช่น การเมืองต้องการผลโหวต ธุรกิจต้องการผลกำไร ประชาชนต้องการรายได้และความอยู่ดีกินดี เป็นต้น เราก็นำสิ่งเหล่านี้มาออกแบบมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
นอกจากนี้วงเสวนายังได้ร่วมกันตกผลึกแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยสรุปประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1) การใช้กลไกทางนโยบาย กฎหมาย 2) การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างแรงจูงใจและสร้างแรงเสียดทาน 3) การใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง และ 4) การใช้พลังทางสังคมและคนรุ่นใหม่ โดยทั้ง 4 ด้านต้องอยู่ภายใต้โจทย์ร่วมกันคืออยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความสมดุลทางธรรมชาติ