ThaiPublica > คอลัมน์ > นิทานคาร์บอนเครดิตแห่งเมืองวิน-วินนิยม

นิทานคาร์บอนเครดิตแห่งเมืองวิน-วินนิยม

21 สิงหาคม 2022


กฤษฎา บุญชัย

ณ เมืองแห่งหนึ่งที่ได้รับการขนานนามว่า “วิน-วินนิยม” ชาวเมืองที่นี่ฉลาดเฉลียวในการหาทางออกให้กับเรื่องยาก ๆ เรื่องที่ขัดแย้งจากความต้องการไม่ตรงกัน พวกเขาไม่ชอบให้ใครได้หมดหรือเสียหมด เพราะค่านิยมของชุมชนนี้คือ ทุกอย่างจัดการได้ด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ ขณะที่ชุมชนอื่นทะเลาะกันจะเป็นจะตาย แต่ชุมชนนี้ถ้าผลประโยชน์ลงตัว ทุกอย่างจบ

เมืองวิน-วินนิยม มีปัญหาสิ่งแวดล้อมมาแต่ไหนแต่ไร และกำลังรุนแรงขึ้นเจ้าสัวหลายรายที่ทำธุรกิจปล่อยก๊าซทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน น้ำมัน เหมืองปูน ฟาร์มปศุสัตว์จนร่ำรวย และสร้างปัญหามลภาวะให้กับชาวชุมชนตลอดมาโดยไม่มีกติกาควบคุมป้องกัน เพราะที่นี่ปล่อยเสรี ใครอยากทำอะไรก็ได้ที่ได้เงินได้ประโยชน์ ขอเพียงปันประโยชน์นั้นสู่เมืองก็เป็นที่ยอมรับได้ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านก่นด่า เจ้าสัวส่วนมากได้จ่ายให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหา หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมมารับผิดชอบแทนตน ครั้นพอชาวบ้านโวยวายว่าปัญหาไม่ถูกแก้ เจ้าสัวเหล่านี้ก็ชี้ว่าเป็นความบกพร่องของหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับจ่ายเงินชดเชย เยียวยา จ่ายค่าทำขวัญ ให้ทุนการศึกษา ทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ แจกของยังชีพ

จนเมื่อวันหนึ่ง เมืองวิน-วินนิยมได้รับการเตือนจากรัฐบาลกลางว่า โลกกำลังประสบปัญหาวิกฤติโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก โดยจะบังคับให้ภาคธุรกิจในเมืองวิน-วินนิยมและเมืองอื่น ๆ ลดก๊าซคาร์บอนฯ ให้หมดไปภายใน 10 ปี บรรดานายทุนหรือเจ้าสัวพากันแตกตื่นนัดประชุมหาทางออกว่า “ทำไงดีหล่ะ ธุรกิจโรงไฟฟ้า เหมืองแร่ ปศุสัตว์ ฯลฯ กำลังเติบโต สร้างความมั่งคั่ง ถ้าจะต้องเลิก ลดปล่อยก๊าซ หรือเปลี่ยนเครื่องจักรไปใช้พลังงานหมุนเวียน มันลงทุนเยอะ เราก็ขาดทุนกำไรหมดสิ ธุรกิจกำลังโตทีเดียว”

ทันใดนั้นมีเสมียนหัวใสปิ๊งไอเดียเสนอว่า “ทำไมเราไม่ยื่นข้อเสนอที่ผู้ปกครองเมือง และชาวเมืองปฏิเสธไม่ได้ล่ะ แทนที่เราจะลด ละ เลิกปล่อยก๊าซที่เขาเรียกว่า “คาร์บอน” ทันทีทันใด เราใช้วิธีไปจ่ายเงินให้คนในชุมชนปลูกป่า ไปทำเกษตร แจกอุปกรณ์ให้ชุมชนประหยัดไฟฟ้า (แม้ชุมชนจะใช้ไฟฟ้าน้อยอยู่แล้ว) รณรงค์ให้ชาวบ้านลดบริโภคเนื้อสัตว์” เจ้าสัวขี้งกรายหนึ่งส่ายหน้าบอกว่า “ลงทุนเกินไป แค่ได้ภาพว่าช่วยสิ่งแวดล้อม แต่เราก็ยังถูกบีบให้ลดปล่อยก๊าซอยู่ดี” เสมียนตอบกลับว่า “มีวิธี ก็เราจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญขาประจำมาคำนวณให้ว่า ต้นไม้ที่ปลูก แปลงเกษตรที่ทำ หรือกระทั่งชาวบ้านลดใช้ไฟฟ้าไป มันน่าจะลดปล่อยคาร์บอนฯ ได้กี่หน่วย แล้วเอามาหักลบกับโควตาการปล่อยคาร์บอนที่รัฐบาลกลางกำหนดให้เราลดลง แค่นี้เราก็อ้างได้ว่า ลดปล่อยก๊าซด้วยวิธีหักลบแล้ว หรือจะเรียกว่าคาร์บอนเป็นกลางก็ได้นะ แถมยังกระจายรายได้ให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำมาหากิน มีงานตรวจวัดคาร์บอน ชุมชนก็ได้ตังค์อีกด้วย ใครจะไม่เอา”

เจ้าสัวรายหนึ่งไม่มั่นใจวิธีนี้ จึงถามว่า “แล้วเราจะจูงใจชาวบ้านได้ยังไง ที่ผ่านมาพวกนี้บ่น วิจารณ์ บางทีก็คัดค้านธุรกิจของเราหาว่าทำลายสิ่งแวดล้อม และยังไงเราก็ต้องยอมเสียเงินกับพวกนี้ด้วยหรือ” เสมียนนึกหาทางออก “เอาอย่างนี้สิ เราเอากำไรอีกต่อได้ ไอ้เงินที่เราให้ ไม่ได้ให้เปล่า คิดเสียว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต ยุให้ชาวบ้านปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตมาให้เรา แค่นี้พวกชาวบ้านจนๆ ทั้งหลายก็ยินดีแล้ว”

เจ้าสัวอีกรายสีหน้าสว่างวาบ หนุนไอเดียว่า “แล้วเราก็เอาคาร์บอนเครดิตไปเก็งกำไรต่ออีกที ลงทุนไปร้อยบาท เราปั่นกำไรได้เป็นพันบาท แบ่งส่วนหนึ่งไว้หักลบกับธุรกิจของเราที่ต้องปล่อยคาร์บอน และเหลือไว้ขายต่อ หากคาร์บอนเครดิตที่ตุนไว้หมด ก็ไปซื้อต่อมาจากชาวบ้าน” “ใช่ๆๆ” เสมียนยังตบท้ายด้วยว่า “แถมเรายังหากำไรด้วยการขายของทั้งเครื่องจักรเพาะกล้าไม้ ทำเกษตรคาร์บอนต่ำ โซล่าเซลล์ ขายเนื้อสัตว์เทียมจากพืช อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน บลา บลา บลา นี่ก็ยิงปืนนัดเดียว นกตายหลายตัวเลย555”

โมเดลแก้ปัญหาโลกร้อนแบบวิน-วิน ด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจแพร่สะพัด ชาวชุมชนหลายรายที่ยากจน และถูกผู้ปกครองกดขี่ไม่ให้ใช้ทรัพยากรจากป่าที่ชาวบ้านดูแล และไม่ได้การสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้ปกครองตลอดมา เมื่อได้ยินโมเดลธุรกิจคาร์บอนเครดิต ต่างพากันตื่นเต้นว่าจะได้ลืมตาอ้าปาก ได้รับการเหลียวแลสนับสนุนจากรัฐและนายทุนอย่างเป็นธรรมมากขึ้น และอาจพัฒนาเป็นธุรกิจชุมชนปลูกป่าขายคาร์บอน ยิ่งมีหน่วยงานผู้ปกครองมาช่วยค้ำประกัน ดูแล จัดสรรผลประโยชน์ให้ยิ่งมั่นใจ แต่สิ่งที่ชุมชนอาจลืมคิดไปว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเจ้าคาร์บอนเครดิตนี่เป็นธุรกิจของชุมชนหรือของนายทุนกันแน่

และแล้วบรรดาเจ้าสัวก็เอาเศษเงินเล็กน้อยมาให้ชาวบ้านได้สำนึกบุญคุณว่ากำลังมาช่วยชุมชนและแสดงให้โลกประจักษ์ว่าพวกเขารักษ์สิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนหลายรายก็จัดสรรที่ดินที่ป่าเตรียมให้พร้อมธุรกิจคาร์บอนเครดิต บางรายไม่มีที่ป่ามากนัก ก็ต้องไปถางป่าเพื่อให้มีที่ว่างปลูกใหม่ บ้างก็ขอเป็นแรงงานรับจ้างปลูกก็ยังดี

ป่าไม้ที่เป็นฟาร์มคาร์บอนเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นสวนป่าหรือต้นไม้เข้าแถว มีพันธุ์พืชไม่กี่ชนิด แม้จะเป็นไม้ท้องถิ่นก็ตาม เพราะเจ้าสัวจะเน้นไม้ที่โตเร็ว ดูดคาร์บอนได้เร็ว ทำให้ป่าธรรมชาติที่มีพันธุ์พืชสัตว์นานาชนิด เป็นอาหารและสมุนไพรก็ค่อย ๆ ลดลงไป จากป่ากลายเป็นฟาร์มต้นไม้กักคาร์บอน ชาวบ้านหลายรายที่เคยหาผัก เห็ด หน่อไม้ สัตว์เล็กน้อยที่เป็นความมั่นคงอาหารก็เริ่มหากินได้ยาก ต้องไปซื้ออาหารจากตลาด บางรายจะตัดไม้จากฟาร์มคาร์บอนมาทำฟืน ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือซ่อมบ้านก็ไม่ได้

เพราะป่าเหล่านั้นคือทรัพย์สินคาร์บอนที่เจ้าสัวเขาลงทุนไว้ บางรายเดือดร้อนยิ่งกว่านั้น เกิดมีไฟป่าจากหมู่บ้านอื่นลามมาถึง ดับไฟไม่ทัน ป่าคาร์บอนเสียหาย เจ้าสัวบางรายถึงกับจะฟ้องร้องว่าไม่ดูแลทรัพย์สินให้ดี

ในความโชคร้าย ก็อาจมีแง่ดีอยู่บ้าง หลายรายได้เงินจากการปลูกป่าค้าคาร์บอน ได้ส่วนแบ่งคาร์บอนเครดิต แต่ได้ด้วยความเป็นคนจนก็ขายเครดิตไปหมดสิ้นในราคาถูก มารู้ทีหลังว่า ตัวเองขายไปร้อยเหรียญต่อหน่วยในราคาที่ผู้เชี่ยวชาญรับรอง แต่เจ้าสัวเอาไปขายต่อในตลาดต่างประเทศได้เป็นหน่วยละเป็นหมื่น ชาวบ้านบางรายเก็บคาร์บอนเครดิตไว้เป็นทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ก็ต้องแลกกับป่าที่พวกเขาไม่ได้มีสิทธิจัดการเต็มที่เหมือนก่อน

ชาวชุมชนวิน-วินนิยมพากันสาละวันกับการลงทุนปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตจนลืมไปว่า เจ้าสัวค้าคาร์บอนเหล่านี้เพิ่มกำลังการผลิตทั้งโรงไฟฟ้า เหมืองถ่านหิน ฟาร์มปศุสัตว์ มากขึ้นทุกปี ๆ ปล่อยมลพิษสู่ดิน น้ำ อากาศและคาร์บอนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองโลกแง่ดีว่า “เราก็มากันช่วยกำหนดเกณฑ์คัดเลือกเฉพาะนายทุนที่พยายามให้เห็นว่าลดปล่อยคาร์บอนจากธุรกิจตัวเองมาก่อนจึงจะมีสิทธิมาค้าขายคาร์บอน” แต่โลกไม่ได้สวยหรูเช่นนั้น นายทุนหลายรายลดปล่อยอย่างละนิดละหน่อย บางรายให้ผู้เชี่ยวชาญให้คำนวณการลดอย่างไม่มีหลักฐานรองรับ หลายรายไม่มีคำสัญญาใด ๆ ว่าจะเลิกปล่อยคาร์บอนเมื่อไหร่ แต่โดยรวมแล้วส่วนใหญ่กระโจนเข้าหาโอกาสหรือทางรอดจากธุรกิจตลาดคาร์บอนกันหมด เพราะไม่มีใครยอมเสี่ยงที่จะปรับธุรกิจตัวเองให้ลดปล่อยคาร์บอนโดยด่วน

แม้นายทุนหรือเจ้าสัวหลายรายไม่ได้ตั้งใจที่จะเล่ห์เหลี่ยมเพิ่มกิจกรรมทำร้ายธรรมชาติสร้างโลกร้อนเพิ่มขึ้น แต่เพราะกลไกตลาดที่การลงทุนเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำมันมีต้นทุนสูง และไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไลน์การผลิต เมื่อมีทางออกเรื่องคาร์บอนเครดิต พวกเขาก็ยังยึดติดกับธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่อไป

ดังนั้นแทนที่ธุรกิจปล่อยคาร์บอนในเมืองวิน-วินนิยมจะลดลงแต่กลับเติบโตขึ้น แต่เป็นการเติบโตที่ไม่โดนด่าแล้วว่าทำลายธรรมชาติ เพราะทุกรายล้วนอ้างว่าบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางด้วยกันหมดทั้งสิ้น ชาวบ้านที่ปลูกป่าก็ได้แบ่งผลประโยชน์ และปลูกป่าผลิตคาร์บอนเครดิตค้ำจุนธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่อไป

จนมาถึงฤดูกาลหนึ่ง ฝุ่นควันมลพิษที่สั่งสมมาก ๆ ได้กลายเป็นพิษทำลายสุขภาพชาวบ้าน ความร้อนในอากาศสูงทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารการเกษตรเสียหาย น้ำให้ห้วยหนองคลองบึงเหือดแห้ง แต่พอเข้าสู่ฤดูฝนแทนที่ฝนจะตกตามปรกติ กลับตกหนักรุนแรงเกิดน้ำท่วม อุทกภัย สร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตและทรัพย์สิน และยังมีโรคระบาดทั้งโรคเก่า โรคใหม่แพร่ในชุมชน ชาวบ้านหลายรายขาดอาหาร รายได้ลดลง ต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำงานรับจ้างหนักขึ้น

ชาวบ้านหลายรายพากันย้ายออกเมือง เพราะได้ข่าวว่าเมืองจะจมน้ำทะเลอีกไม่นาน มีเพียงน้อยรายที่ย้ายไปได้ แต่หลายคนยากจนไม่มีทุน ไม่มีทางเลือกจะไปไหนได้ ส่วนพวกเจ้าสัวล่ะ พวกเขาย้ายไปลงทุนที่อื่นนานแล้ว คราวนี้พัฒนาไลน์ธุรกิจใหม่เป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและค้ากำไรคาร์บอนเครดิตที่อื่นต่อ

เมืองวิน-วินนิยมจึงเหลือแต่ชาวบ้านยากจนที่จมอยู่กับมลภาวะและภัยโลกร้อนวิบัติที่ต้องการช่วยเหลือจากผู้ปกครองยิ่งกว่าเดิม โดยไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ จากกลุ่มนายทุน เพราะพวกเขาไม่ใช่ต้นไม้หรือธรรมชาติที่จะดูดซับคาร์บอนฯ ได้ ชีวิตพวกเขาจึงเป็นคาร์บอนเครดิตไม่ได้

ก่อนที่ชาวบ้านจากเมืองวิน-วินนิยมกลุ่มหนึ่งที่เคยปลูกป่าขายคาร์บอนกำลังเตรียมย้ายถิ่นฐานไปหางานทำที่อื่น พวกเขาผ่านไปยังเมืองนิเวศนิยม พบว่าชุมชนเหล่านี้ไม่สนใจปลูกป่าคาร์บอน แต่พวกเขาดูแลรักษาป่าชุมชนให้เป็นป่าธรรมชาติที่มีความหลากหลายชีวภาพ มีบริการนิเวศที่ดี มีความมั่นคงอาหาร ทำเกษตรที่ยั่งยืน และมีรายได้จากป่าชุมชนจากผลผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์จากป่าและการเกษตร และการท่องเที่ยว ชาวชุมชนเหล่านี้ได้รายได้จากป่าเพิ่มขึ้นทุกปี พวกเขาไม่ยากจน ไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากรัฐหรือนายทุน และยามเมื่อเกิดภัยพิบัติ ระบบนิเวศป่าชุมชนของเขาก็ช่วยรับมือผ่อนหนักเป็นเบาได้อย่างดี

ป่าชุมชนในเมืองนิเวศนิยมถูกวัดว่าดูดซับคาร์บอนได้มาก นับว่าช่วยลดโลกร้อนได้เยอะ มีนายทุนหลายรายอยากมาสนับสนุนป่าชุมชนของพวกเขา พวกเขาก็ยินดี แต่ก็ยืนยันไม่ขายคาร์บอนเครดิต เพราะรายได้จากป่าชุมชนก็ดีอยู่แล้ว และไม่อยากไปเป็น “นั่งร้าน” ให้กับธุรกิจทำลายธรรมชาติปล่อยคาร์บอน และเมื่อรัฐบาลกลางควบคุมให้ธุรกิจในเมืองนิเวศนิยม ธุรกิจเหล่านี้ก็พยายามปรับเปลี่ยนลดการปล่อยก๊าซในธุรกิจของตัวเอง แม้จะใช้ทุนสูง แต่รัฐบาลและประชาชนก็สนับสนุน ประกอบกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำใหม่ๆ มีราคาถูกลงมาก ผลสุดท้าย เมืองนิเวศนิยมก็กลายเป็นเมืองคาร์บอนต่ำจริง ๆ เป็น “Real ZERO” ไม่ใช่ Net ZERO” อย่างเมืองวิน-วินนิยม