ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน?

ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน?

2 กันยายน 2024


แม้กระแสโลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง “Climate-Nature Nexus” หรือความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเรื่องของธรรมชาติ ท่ามกลางโลกที่กำลังเผชิญกับ 3 มหาวิกฤติ คือ วิกฤติโลกร้อน วิกฤติการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และวิกฤติขยะและมลพิษ ทว่าการแก้ไขปัญหากลับยังไปไม่ถึงไหน เพราะสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของปัญหานั้น มีรากเหง้ามาจากความไม่ยุติธรรมธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและการรับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เสียหายอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ระหว่างคนรวยกับคนจน และระหว่างคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นหลัง

จากรายงาน Global Climate Risk Index 2021 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลในช่วง 2 ทศวรรษ ระหว่างปี 2543-2562 พบว่านี้มียอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศราว 475,000 รายทั่วโลก มูลค่าความเสียหายทางธุรกิจราว 2.56 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่จัดอยู่ใน 10 อันดับแรกที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 9 ของโลกจาก 180 ประเทศ

เพื่อทำความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมทั้งในบริบทโลกและบริบทของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อร่วมกันหาทางออก สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ “Environmental Justice” ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน?” ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567

ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว

โลกป่วยหนักเพราะความต้องการของมนุษย์นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น

ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังป่วยหนักเพราะทรัพยากรโลกมีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ความต้องการของมนุษย์ทวีขึ้นตามจำนวนประชากรโลก ข้อมูลจาก United Nations Department of Economic and Social Affairs, Population Division ระบุว่าประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 5.3 พันล้านคน ในปี 2533 เป็น 7.6 พันล้านคน ในปี 2560 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากราว 8 พันล้านคนในปัจจุบัน เป็นหลักหมื่นล้านคนภายใน 30 ปีข้างหน้า

ดร.บริพัตรยังได้ขยายความถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพังทลายของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยยกตัวอย่างการระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)” และตอกย้ำว่า มนุษย์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ หากสัตว์และสิ่งแวดล้อมมีปัญหา มนุษย์ย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน

ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงมหาศาลทั่วโลก มหาสมุทรกำลังวิกฤติหนัก น้ำทะเลหนุนสูง น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า ฯลฯ ซึ่งล้วนกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ ทั้งสิทธิในชีวิตร่างกาย สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในสุขภาพ สิทธิในน้ำและสุขาภิบาล และสิทธิในอาหาร โดยกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเปราะบางจะยิ่งได้รับความเดือดร้อนหนักขึ้นไปอีก

ขณะที่ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม คือ การทำให้กลุ่มคนทุกกลุ่มเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างเป็นธรรม และได้รับการปกป้องจากอันตรายทางสิ่งแวดล้อมอย่างไม่แบ่งแยก โดยคำนึงถึงความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลักในการกำหนดนโยบายหรือการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น หากพิจารณาในบริบทของประเทศไทย จะเห็นกรณีความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น “โครงการแลนด์บริดจ์” ภายใต้ในการบริหารงานรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นกรณีการกำหนดนโยบายประเทศโดยที่ผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้ถูกกระทำไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจตั้งแต่กระบวนการต้นทาง “กรณีสารพิษอุตสาหกรรม” อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่ผู้ได้รับผลกระทบมิได้เป็นผู้ก่อ หรือ “กรณีปลาหมอคางดำ” ภัยคุกคามจากเอเลียนสปีชีส์ที่จะทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยข้อมูลจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2566 พบว่า คนไทยกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมสูงสุดเป็นอันดับแรก แซงหน้าปัญหาเรื่องค่าครองชีพ โดยกังวลเกี่ยวกับปัญหามลภาวะทางอากาศมากที่สุด อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ (37%) ยังมองว่าการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศนั้นเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของภาครัฐ รองลงมา (35%) มองว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของประชาชน/ผู้บริโภค

“กุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพังทลายของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งที่ต้องรวมพล เร่งแก้ และลงมือทำทันที ทั้งในระดับชุมชน องค์กร ประเทศ และระดับโลก”

ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมในบริบทโลกและประเทศไทย

นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3 HD

นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3 HD ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำข่าวการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) มาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นว่าการเจรจาในระดับพหุภาคีเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยประเด็นที่ยากที่สุดในเวทีนี้คือ การเจรจาเรื่องการเงินที่จะเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปแก้ปัญหาเกี่ยวกับภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นความหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากและประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อย และความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน โดยแต่ก่อนในเวทีเจรจาจะมีการแบ่งโซนตัวแทนจากแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีพื้นที่สำหรับตัวแทนภาคประชาสังคมทั่วโลก แต่ระยะหลังมานี้ ภาคประชาสังคมได้ถูกกันออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่มีสิทธิเข้าไปนั่งหรือเข้าไปเสนอประเด็นในเวทีหลักของผู้เจรจา

“ดังนั้น เราก็จะได้เห็นภาคประชาสังคมมายืนถือป้ายหรือแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ในบริเวณด้านนอกใกล้กับเวทีการประชุม เพราะสิ่งที่เขาทำได้คือ การมาทำ Action เพื่อให้เป็นข่าว ยิ่งถ้าประชุมในประเทศที่เข้มงวดมาก ๆ แทบจะไม่มีพื้นที่ให้เขาทำ Action เลย”

สำหรับประเทศไทย จากประสบการณ์ทำงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 30 ปี ทำให้เห็นว่ารากเหง้าของปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม เช่น “กรณีเขื่อนปากมูล” มหากาพย์ การประท้วงมายาวนาน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อนุมัติโดย ครม. เป็นวาระจรในสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมตั้งแต่ที่มาของโครงการ หรือ “กรณีมลพิษ วิน โพรเสส” ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ และการต่อสู้กันในทางคดีก็ไม่รู้ว่าอีกกี่สิบปีกว่าจะได้เงินมาเยียวยา

พร้อมกับมองว่าคนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยหากลองดูในเว็บไซต์ข่าวประจำวันจะพบว่าส่วนใหญ่จะไม่มีเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ใน 10 อันดับแรก โดยเฉพาะข่าวเชิงลึกแบบเชื่อมโยงสาเหตุที่มา เพราะประชาชนไม่สนใจ ดังนั้น การรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จึงเป็นการรายงานในเชิงปรากฏการณ์

“ในยุคที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมหนัก ๆ เราเคยรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมซึ่งก็อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะมีหน้าสิ่งแวดล้อม รายงานกันเต็มที่ หน้าจอทีวีก็มี แต่พอมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเรื่อยมา หน้าข่าวสิ่งแวดล้อมจะถูกปิดก่อน เช่นเดียวกับนักข่าวสิ่งแวดล้อมที่โดนเลย์ออฟก่อนเลย”

ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมกับการแก้ปัญหาบุกรุกป่าในไทย

นายสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการสถาบัน Change Fusion

นายสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ 10 อันดับแรกของโลกที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยล่าสุดเราต้องเจอปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมรุนแรงเป็นเพราะการบุกรุกทำลายป่า ทำให้ไม่มีต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้ ขณะที่ปัญหาไฟป่าก็ยังเกิดขึ้นทุกปี โดยจากสถิติในช่วงปี 2562-2564 มีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้เป็นหลักหลายแสนไร่ต่อปี โดย 99.9% เป็นไฟที่เกิดจากมนุษย์ หรือที่เรียกว่าไฟแห่งความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับป่า ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความไม่เป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากป่า

ขณะที่หากดูสถิติคดีความเกี่ยวกับป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2557-2560 พบว่า มีคดีความมากกว่า 28,000 คดี ซึ่งลึก ๆ แล้วการบุกรุกทำลายป่าและปัญหาไฟป่าเกี่ยวข้องกับเรื่องภูมินิเวศหรือถิ่นที่อยู่อาศัย และเรื่องของสิทธิทำกินของประชาชนที่เคยอาศัยในพื้นที่มาก่อน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสในปี 2516 ว่า “…ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก แต่ว่าเมื่อเราขีดเส้นไว้ประชาชนก็อยู่ในนั้นแล้ว เขาจะเอากฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่ยังอยู่ในป่าที่พึ่งสงวนทีหลัง โดยขีดเส้นบนแผ่นกระดาษก็ดูชอบกลอยู่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นฝ่าฝืนกฎหมายไป ถ้าดูในทางกฎหมายเขาก็ฝ่าฝืน เพราะตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ถ้าดูตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าบุคคลผู้อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน เขามีสิทธิในความเป็นมนุษย์ หมายความว่าทางราชการบุกรุกบุคคล ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง”

หลายครั้งที่เราโทษคนในพื้นที่ว่าทำลายป่า แต่จะเห็นว่าพื้นที่เหล่านี้มีความเปราะบางอย่างมาก เพราะประชาชนที่เคยอาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิม กลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงในสิทธิการถือครองทั้งที่ดินและทรัพย์ที่อยู่บนดิน

นอกจากนี้ ยังขาดโอกาสในการทำเกษตรแบบถูกกฎหมาย ทำให้มีแนวโน้มทำเกษตรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เช่น การปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชที่เสี่ยงต่อการเผา และอาจต้องบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้หนีได้ง่าย ทำให้ขาดสิทธิในการรับบริการจากภาครัฐ เช่น ไฟฟ้า ประปา และเป็นการผลักภาระทุนเกษตรในห่วงโซ่การผลิตให้กลุ่มคนเปราะบางเพื่อมาตอบสนองความต้องการอาหารสัตว์ของประเทศ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ปรับแก้ไขให้คนเหล่านี้มีสิทธิทำกินและสิทธิดูแลพื้นที่ป่าได้อย่างเหมาะสม แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสนับสนุนให้ชุมชนทำข้อมูล และการทำกระบวนการใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ได้ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนระหว่างคนและป่าโดยเฉพาะการสร้างรายได้จากการอยู่และดูแลรักษาป่า ตัวอย่างรูปธรรมที่ทำได้ เช่นที่อังกฤษ มีการจ่ายค่าตอบแทนระบบนิเวศในพื้นที่เป้าหมาย โดยมีกลไกการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนชุมชนในการดูแลรักษาป่าไม้ หรืออาจขยายขอบเขตให้คนเมืองที่ได้ประโยชน์ในภาพรวมได้มาร่วมสนับสนุนการดูแลป่าของคนในชุมชน

“ตัวอย่างในประเทศอย่างโครงการที่เชียงใหม่ มีการสนับสนุนให้ชุมชนมีทรัพยากรเพียงพอในการดูแลป้องกันไฟป่าของตัวเองได้ ผ่านไป 1 ปี ไฟป่าลดลงเป็นอย่างมาก และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เราก็จะไปทำเรื่องท่องเที่ยวตามแนวกันไฟ เพื่อให้มีรายได้ 20-30% กลับมาดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องรอภาครัฐ”

นายสุนิตย์ย้ำกว่าการแก้ปัญหาโลกร้อน โลกรวน เป็นโจทย์ของทุกภาคส่วนในสังคม ที่จะต้องส่งต่อโลกที่ไม่แย่ลงในทุก ๆ ทางให้แก่เด็ก ๆ ที่ยังไม่เกิด เติมเต็มอย่างน้อยให้เท่ากับที่ตักตวงไป หรือให้กลายเป็นบวกได้ยิ่งดี โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่วัดผลได้ จับต้องได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมในบริบทการประมงไทย

ดอมินิก ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) หรือ EJF

ดอมินิก ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) หรือ EJF กล่าวว่า EJF เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เพื่อปฏิบัติภารกิจในการคุ้มครองประชาชนและโลก โดยมีการใช้วิธีการที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และการใช้ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวเพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชนและ
ผู้กำหนดนโยบาย

ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ EJF ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 และในอินโดนีเซียในปี 2560 โดยต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือที่เรียกว่าการทำประมงแบบ IUU (Illegal, unreported and unregulated fishing) รวมถึงการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ยังได้รายงานกรณีเหล่านี้ไปยังเจ้าหน้าที่ทางการระดับสูง พร้อมกับให้คำแนะนำต่าง ๆ ตลอดจนได้มีการส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม การทำให้มั่นใจว่าเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมจะเป็นวาระสำคัญลำดับแรก ๆ ของรัฐบาล และการส่งเสริมให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม

ดอมินิกยังได้กล่าวถึงของความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมว่า นอกจากเป็นการทำให้กลุ่มคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างเป็นธรรม และได้รับการปกป้องจากทั้งอันตรายทางสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังรวมถึงการเปิดกว้าง การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ความโปร่งใส และความรับผิดชอบในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมด้วย หากพิจารณาในบริบทด้านการทำประมงโดยเฉพาะในประเทศไทยพบว่า การบริหารจัดการที่ผิดพลาดและการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมได้นำไปสู่ความไม่สมดุลที่อันตราย การทำประมงระดับอุตสาหกรรมเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรที่เลวร้าย มีการใช้ตาข่ายขนาดใหญ่ใกล้แนวชายฝั่ง การขายตัดราคาตลาด การตัดค่าแรงคนงาน ซึ่งส่งผลให้ต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรง

จากสถิติปริมาณปลาที่จับได้ต่อชั่วโมงพบว่า ตัวเลขลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2503 ซึ่งจับปลาได้ประมาณ 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ขณะที่ในปี 2563 อยู่ที่ 20 กิโลกรัมต่อชั่วโมงเท่านั้น ทำให้ชาวประมงรายเล็กและเรือหาปลาขนาดเล็กลดจำนวนลง หรือต้องออกนอกชายฝั่งไปหาปลาไกลขึ้นและใช้เวลามากขึ้น

“สิ่งที่ผลักดันให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมขึ้นในอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทยคือ การขาดความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ไม่พัฒนาการเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับเรือหาปลา ไม่มีการลงทะเบียนคนงาน ทำให้ไม่รู้ว่า คนที่ทำงานบนเรือถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกค้ามนุษย์ หรือมีการใช้แรงงานเด็กหรือไม่”

ดังนั้น การจะสร้างความเป็นธรรมหรือสิทธิทางสิ่งแวดล้อมได้นั้น ต้องมีการส่งเสริมความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมง การจับตามองการบังคับใช้กฎหมาย การให้การศึกษากลุ่มคนต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของพวกเขา การให้ชาวประมงรายเล็กได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และสุดท้ายคือการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเพื่อที่พวกเขาจะได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

ทั้งนี้ จากการต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ทางออนไลน์ มีข้อมูลเรือพาณิชย์อย่างน้อย 4,000-5,000 ลำ และมีศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (Port-in Port-out Control Center) คอยตรวจสอบการออกหาปลาของเรือประมง ส่งผลให้มีการทำประมงแบบ IUU ลดลงในพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งสงวนไว้สำหรับการทำประมงขนาดเล็ก ชาวประมงรายเล็กจึงจับปลาได้มากขึ้น

ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมระหว่างคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นหลัง

นายสิปโปทัย เกตุจินดา นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ขวาสุด)

นายสิปโปทัย เกตุจินดา นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศในการไปเจรจาเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ชี้ให้เห็นว่า จากสถิติทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรทางทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันที่ลดลงเป็นอย่างมาก สะท้อนว่า ในอดีตเราเคยมีทรัพยากรที่มากกว่านี้ แต่ปัจจุบันเหลือไม่มากสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเกิดหรือเพิ่งเติบโตมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้สิทธิของคนรุ่นก่อนได้กระทบสิทธิของคนรุ่นต่อไปเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

นายสิปโปทัยได้ยกตัวอย่างสมมติว่า หากเยาวชนคนหนึ่งที่ครอบครัวของเขาเคยอยู่ในพื้นที่ชายทะเล ประกอบอาชีพทำประมงมาแต่เดิม และมีวิวสวย ๆ อยู่หน้าบ้าน หากมีการใช้ทรัพยากรโดยคำนึงถึงสิทธิของคนรุ่นหลัง เยาวชนคนนั้นก็อาจมีทางเลือกในการใช้สิทธิเสรีภาพจากทรัพยากรที่มีอยู่ โดยไม่ต้องไปทำงานในโรงงาน หรือไปทำงานอื่นที่เขาไม่ได้อยากทำ แต่หากเขาเกิดมาในขณะที่พื้นที่ตรงนั้นได้รับความเสียหายหรือสูญเสียไปแล้ว ก็เท่ากับว่าเขาสูญเสียสิทธิในการใช้ทรัพยากรหน้าบ้านไปด้วย

“ในวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรอาหารเป็นจำนวนมากจากความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในอีก 50 ปีข้างหน้า หากเราใช้เสรีภาพโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของคนรุ่นถัดไป ก็อาจจะเหลือแค่แท่งโปรตีนสีดำ ๆ ที่ทำมาจากแมลงเหลือไว้สำหรับคนรุ่นหลัง”

ปัจจุบัน ทั่วโลกพยายามดึงเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาในกระบวนการออกแบบเชิงนโยบายมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาได้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกทักษะ หรืออย่างน้อยรู้ว่าปัญหาคืออะไร จะออกแบบอย่างไร หรือจะใช้ทักษะเหล่านี้ในการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมอย่างไรได้บ้าง เพื่อมีส่วนร่วมในการยืนยันว่าสิทธิและเสรีภาพของพวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครองมากกว่านี้

นายสิปโปยังได้ยกตัวอย่างภาพยนต์เรื่อง “TENET” ซึ่งในมุมมองของเขานั้น ภาพยนต์เรื่องนี้ต้องการสื่อสารเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยมีใจความสำคัญอยู่ที่การป้องกันการล่มสลายของโลกปัจจุบันจากการโจมตีของกลุ่มคนจากโลกในอนาคต โดยที่ฝั่งตัวเอกเป็นฝั่งผู้ปกป้องโลกและต้องสู้กับสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถคาดเดาหรือวางแผนรับมือได้ด้วยวิธีการปกติ ขณะที่การคุกคามของคนในอนาคตนั้นเป็นเพราะพวกเขารู้สึกเจ็บปวดจากการที่คนในยุคปัจจุบันได้ทำลายสิ่งแวดล้อม จนทำให้โลกในอนาคตข้างหน้าตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะล่มสลายและสูญพันธุ์

“บางทีเวลาเด็กและเยาวชนเรียกร้องอะไรแล้วเราไม่ฟัง พอเขาขึ้นมามีบทบาทเขาก็ไม่ฟังเราเหมือนกัน หนังเรื่องนี้พยายามสื่อว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ต้องพยายามไม่ให้คนรุ่นหลังคิดในเชิงสุดโต่ง แต่ให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่อย่างนั้น คนรุ่นหลังอาจจะจัดการกับปัญหาโดยไม่ฟังคนรุ่นที่ได้สร้างปัญหาเอาไว้”

วงเสวนายังได้มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้คนไทยจะให้ความสำคัญกับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่องมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ปัจจุบันทุกคนเริ่มจับตามองมากขึ้น และทำให้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกด้วย อย่างไรก็ดี คนไทยยังตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาค่อนข้างน้อย และประเทศไทยยังขาดกลไกที่สร้างความโปร่งใสในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลโครงการต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีการรายงานผลกระทบที่ชัดเจน ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใสจะทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต