“ ธีรยุทธ บุญมี” เปิดใจในงานนิทรรศการ จัดแสดงภาพวาด บนเส้นทางศิลปะ:Journey on Art Manifolds” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เผย 75 ปี “เหนื่อย หนัก” กับการแบกความเป็นคนดี “ห่วงการเมืองไทย ความยุติธรรม-จริยธรรมถูกกัดเซาะสูญสลายลงไปเรื่อยๆ” เตรียมเสื้อกั๊ก วิเคราะห์การเมืองอีกครั้ง ขณะที่ “อานันท์ ปันยารชุน” ห่วงประชาธิปไตยไทยยังเป็นเด็กทารก

การกลับมาของ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี นักคิด นักวิเคราะห์การเมือง อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในบทบาทศิลปิน ภาพวาดในงานเปิดตัวนิทรรศการ ภาพวาดบนเส้นทางศิลปะ: Journey on Art Manifolds” อาจจะแตกต่างจากบทบาทนักวิชาการเสื้อกั๊กวิจารณ์เคราะห์การเมืองที่หลายคนรู้จัก เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567
อาจารย์ธีรยุทธ ชื่นชอบในการวาดภาพศิลปะ และใช้เวลากว่า 30 ปีกับงานศิลปะภาพวาด พัฒนาจากสีน้ำ มาเป็น สีพาสเทล และภาพวาดสีน้ำมัน ทำให้เขามีวาดภาพมากกว่า 200 ภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในบ้านย่านสุขุมวิท และนำภาพบางส่วนจำนวน 80 ภาพ มาจัดแสดงระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 1 กันยายน 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 3 ห้อง New Gen Space: Space for All Generations โดยมูลนิธิเอสซีจี
ภาพวาดที่นำมาจัดแสดงเป็นภาพวาดสีน้ำมัน และ สีพาสเทล ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ภาพวาดธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา เจดีย์ ซึ่งทุกภาพเป็นสถานที่จากความทรงจำ และประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมาแล้วทั้งหมด
บางภาพอย่าง ”ดอยผาตั้ง” จังหวัดเชียงราย คือความทรงจำที่เคยแบกเป้เดินผ่านไปมาในช่วงที่เป็นอดีตนักศึกษาเข้าป่า ในสมัย 14 ตุลาคม 2516 หรืออีกหลายภาพมาจากการท่องเที่ยว และการเดินทางไปเรียนในต่างประเทศ

ภาพไฮไลท์ “พระธาตุอิงฮัง” สถูปในสายฝน
ภาพที่ถือเป็นไฮไลท์ของงาน และดูจะสร้างความตื่นเต้นกับอาจารย์ธีรยุทธ และผู้ที่เข้ามาชมนิทรรศกาล คือ “ภาพวาดพระธาตุอิงฮัง” เป็นพระธาตุในประเทศลาว หรือ ภาษาไทย ชื่อ “อิงรัง” ซึ่งศิลปินแห่งชาติ “ปรีชา เถาทอง” ส่งมาแสดงความยินดีในงานแสดงภาพแต่มีเงื่อนไขต้องเติมภาพวาดให้สมบูรณ์ และสวยงาม
“ผมดีใจมากและแปลกใจที่ ศิลปินแห่งชาติ “ปรีชา เถาทอง” ส่งภาพมาบอกงว่าส่งมาแสดงความยินดีแต่มีเงื่อนไขว่าภาพวาดที่ส่งมา วาดในช่วงที่ฝนมาพอดี วาดไม่จบ ไม่มีเวลาทำต่อให้จบ แต่รู้ว่าผมจัดงาน จึงส่งมาให้ผมและมีเงื่อนไขว่า ต้องช่วยต่อให้จบ”
อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่าการเติมภาพศิลปินแห่งชาติ รู้สึกเกร็ง และไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภาพวาดพระธาตุอิงฮัง มีความสวยงามอยู่แล้วกว่า 90 % ซึ่งโจทย์ที่ “ปรีชา เถาทอง” บอกมาคือ ฝนตก บรรยากาศคือ ฝน ผมก็พยายามคลุมโทนนี้เอาไว้
ส่วนสถูปหรือพระธาตุมีความสวยอยู่แล้วจึงคิดว่าไม่ต้องเติมอะไร แต่คิดว่าต้องเติมบรรยากาศรอบๆ ฟ้าที่ดูสว่างไปหน่อย เติมให้เห็นเงาฝนมากขึ้น และสีของ ต้นไม้ กิ่งไม้ ให้ออกโทนสีครึ้มให้รู้ว่าเป็นพระธาตุ ในวันฝนตกมากขึ้น
“ผมเติมเสร็จก็ส่งภาพไปให้ “ปรีชา เถาทอง” เขาก็นำภาพนี้ไปทำวีดิโอเผยแพร่แล้ว ซึ่งส่วนตัวผมเองมีส่วนร่วมในการเติมภาพนิดเดียว ถ้าจะพูดไปก็แค่เติมภาพให้มีสีสันมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่ก็ดีใจที่มีโอกาส สร้างสรรค์งานร่วมกับศิลปินแห่งชาติ”
“ภาพวาดพระธาตุ”อิงฮัง” เป็นเพียง หนึ่ง ไฮไลท์ ของงาน เปิดตัวนิทรรศกาลภาพวาดบนเส้นทางศิลปะ: Journey on Art Manifolds” แต่ความน่าสนใจที่ไม่ต่างจากภาพวาดที่จัดแสดงคือ การเปิดเส้นทางศิลปะของ “อาจารย์ ธีรยุทธ บุญมี ” ซึ่งพูดคุยกับ สุภาพ คลี่กระจาย ถึงที่มาของงานศิลปะที่มาจัดแสดงในครั้งนี้
75 ปี บนเส้นทางศิลปะ “ธีรยุทธ บุญมี”
อาจารย์ธีรยุทธบอกว่า เป็นคนชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และได้ทำงานศิลปะ 30 ปี ได้ใช้เวลาในการเขียนภาพวาด ทั้งเขียนสีน้ำมันและสีพาสเทลมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์ เพราะฉะนั้นทุกคนมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะในด้านต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตของแต่ละคน
“ที่บอกว่าเป็นดีเอ็นเอของมนุษย์ก็เพราะว่าครั้งแรกที่มนุษย์รู้จักภาษา ในอดีตนั้นมนุษย์พูดไม่ได้ มนุษย์เพิ่งรู้จักภาษาเมื่อ 100,000 ปีมา เราพบว่าศิลปะเกิดพร้อมกับภาษา เพราะฉะนั้นจึงมีภาพศิลปะเกิดขึ้นในถ้ำต่าง ๆ ดังนั้นจึงเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและความสามารถในการทำงานศิลปะได้”
อาจารย์ธีรยุทธเล่าว่า สำหรับตัวเองค้นพบว่าชอบงานศิลปะตั้งแต่สมัยเรียนระดับประถมศึกษาซึ่งเริ่มต้นมาจากฉากลิเก เนื่องจากคุณพ่อเป็นนายทหารยศจ่าสิบเอกและชอบดนตรีไทย คุณพ่อมักจะเป็นโต้โผจัดลิเกด้วย โดยฉากลิเกต่าง ๆ ก็จะมีคนมาวาดอยู่ที่แถวหน้าบ้านซึ่งเป็นสโมสรทหาร
ขณะนั้นเรียนอยู่ ป.2 ก็เลยสนใจอยากจะลองเขียนดูก็เลยรู้ว่าตัวเองสามารถวาดได้เขียนได้ พอระดับ ป.3 ป.4 ก็สามารถไปแข่งขันและได้รางวัล แต่สาเหตุที่ไม่ไปเรียนโรงเรียนเพาะช่างเพราะว่าทางครูอยากให้ไปสอบสายวิทยศาสตร์มากกว่า ซึ่งขณะนั้นชอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากกว่า จากนั้นสอบติดอันดับหนึ่งของประเทศ
อย่างไรก็ตามในช่วงเรียนมัธยม ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ก็เริ่มรู้จักการวาดภาพศิลปะ หรือได้เรียนวาดภาพอย่างจริงจัง กับ ครูตื้อที่โคตรลำเอียง เนื่องจากตนเป็นนักเรียนที่วาดภาพดี ได้ติดบอร์ดตลอด ทำให้ครูตื้อให้ความรักและใส่ใจเป็นพิเศษ แม้ครูจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ แต่ครูตื้อไม่ได้ละทิ้งลูกศิษย์คนอื่นๆ จนเป็นที่รักและยังได้รับการพูดถึงในหมู่เพื่อนมาถึงปัจจุบัน
อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า ตอนที่เดินขบวนขับไล่พลโทถนอม (กิตติขจร) จอมพลประภาส (จารุเสถียร) ตอนนั้นก็เขียนบทกวีและมีความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะอยู่หลายด้านด้วยกัน แต่เริ่มทำงานศิลปะอย่างจริงจังไปพร้อมกับงานวิชาการ หลังจากนั้นมาก็เริ่มจริงจังกับงานศิลปะในช่วงเกิดสึนามิ ซึ่งได้เตรียมรูปจัดแสดงภาพเพื่อนำรายได้ไปช่วยผู้ประสบภัยจากสึนามิ และจากวันนั้นก็วาดภาพอย่างจริงจังเรื่อยมา
“ในส่วนการทำงานของศิลปินนั้นที่จริงค่อนข้างลำบาก อย่างเช่น โมเนต์ ศิลปินแนวอิมเพรสชั่นของโลกก็ยังต้องเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาสถานที่ในการวาดภาพ สำหรับผมถ้าเดินทางไปต่างประเทศก็จะสเก็ตช์ภาพไว้ อย่างเช่น ภูฏาน กรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย บางรูปก็ใช้วิธีถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อนำมาเป็นแบบ แล้วมาค้นหาในอินเทอร์เน็ต เพราะบางทีรูปที่ถ่ายไว้คุณภาพไม่ดีพอ”
อาจารย์ธีรยุทธ บอกด้วยว่า ภาพที่วาดจะเป็นภาพวาดสีน้ำมัน ซึ่งให้อารมณ์ที่ดื่มด่ำกับบรรยากาศ ส่วนสีพาสเทลซึ่งให้ความสดใส ซึ่งเทคนิคการวาดส่วนใหญ่ก็จะเป็นแนวอิมเพรสชั่น และใช้สีที่ไม่ใช่สีจริง แต่ใช้โทนสีน้ำเงิน คุมโทนครึ้มๆโรแมนติก
“ผมเห็นว่า ศิลปะคืองานสร้างสรรค์ที่เราอยากสื่อสารออกไป ไม่ใช่เป็นการถ่ายทอด ซึ่งการวาดภาพผมได้ข้อสรุปว่า เป็นการสร้างสรรค์ร่วมกัน เพราะขณะที่วาดภาพไป ภาพมันก็มาวาดเราด้วย”
สำหรับศิลปินที่ประทับใจ อาจารย์ธีรยุทธบอกว่า ส่วนตัวมีความประทับใจอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ทั้งในการแต่งบทกวีและการวาดภาพ ที่ผ่านมาเคยไปขอความรู้ในการวาดภาพ ซึ่งท่านอังคารสอนสเก็ตช์ลายต่าง ๆ อย่างเช่น ลายกนก
“ท่านอังคาร เอาภาพวาดตอนปี 1 มาให้ดู โอโห้ ! รู้เลยว่าทำไมเขาถึงเป็นอัจฉริยะทางด้านนี้ ภาพวาดปี 1 ก็ยังสวยงามขนาดนี้ เช่นเดียวกันนะครับ ผมเคยเห็นภาพวาดตอนปี 1 ของ ปิกัสโซ ก็สวยงามเหมือนกัน คือรู้เลยว่านี่คืออัจฉริยะ ”
ศิลปะ คือความธรรมดาที่สวยงาม
การวาดภาพ หรือ การทำงานศิลปะ สำหรับ อาจารย์ธีรยุทธ แล้วคือความธรรมดา โดยเห็นว่า ถ้าอยากวาดภาพให้วาดสิ่งที่สามัญธรรมดา แต่ทำให้สวย มองว่าศิลปะเป็นเรื่องพื้น ๆ ใครทำก็ได้ เพราะฉะนั้นศิลปะเป็นสมบัติร่วมหรือกิจกรรมร่วมของมนุษย์ได้ และทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนี้มากขึ้น เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ก็เริ่มทำไอแพดอาร์ต ไอโฟนอาร์ต อาร์ตทอย หรือ NFT ซึ่งศิลปะมีความเป็น Democratization หรือความเป็นประชาธิปไตย มันเกิดขึ้นมากกว่าในสมัยตน
“ส่วนตัวผมเป็นขบถต่อการแบ่งระหว่างศิลปะสูงกับศิลปะขั้นต่ำ พวกศิลปะขั้นต่ำให้เรียกว่าช่าง ถ้าขั้นสูงมาให้เรียกว่าศิลปินหรือจิตรกร ซึ่งการขบถเกิดขึ้นเมื่อปี 50 และ 60 ในยุโรปและแพร่กระจายมาที่ไทย โดยลดการแบ่งชั้นของศิลปะมาเป็นเพียงแค่วัฒนธรรม หรือแปลว่า วิถีชีวิต ไม่ได้แปลว่าของสูง หรือของต่ำ เพราะมันเป็นจุดลดช่องว่างของคน และพอมาเป็น Popular art อย่างเช่น เอารูปกระป๋องมาทำงานศิลปิน ตอนนี้น่าจะเรียกว่า Populist Art หรือ Identity Art เพราะทุกคนอยากเป็นศิลปินกันหมด”
“ปัจจุบันที่มีการสร้างสรรค์จากเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้น อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า อยากให้ชื่นชมศิลปะได้อย่างเต็มที่ เด็ก ๆ ที่ทำ บางคนก็บ่นอะไรก็ไม่รู้ ผมว่าปล่อยไปเถอะ เดี๋ยวก็ดีขึ้นมา ทุกอย่างจะควบคุมตัวมันเองได้ หนังสือพิมพ์สมัยก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้น 500 ฉบับ ซึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปมา เสร็จแล้วก็ปรับตัวกันมาเป็นหนังสือพิมพ์มาตรฐาน ขณะนี้ในโซเซียลมีเดียเราคล้าย ๆ แบบนี้ ผมคิดว่าในอนาคตน่าจะมีการปรับ เพราะฉะนั้นมันอาจจะอยู่ไม่ได้ และทุกอย่างจะควบคุมตัวมันเองได้”
“ผมอยากจะเห็นศิลปะสื่อออกไปโดยใครก็ได้ และสื่อออกไปในลักษณะที่ไม่ใช่ทำให้ขลัง ทำให้ศักดิ์สิทธิ์จนเกินไป อยากให้มันเป็นของที่สวย แต่เป็นสวยที่คนทำได้ คนเสพย์ได้ แต่ถ้าถามผมว่าจะยึดเป็นอาชีพได้ไหม ผมว่าไม่ได้ งานเขียนของผมเคยได้รับการประมูลรูปภาพสูงสุดได้ประมาณ 4 แสนบาท แต่ผมเป็นคนที่ทำอะไรจริงจัง งานนี้สำเร็จได้ เพราะผมทำงานหนักมาก ไม่ง่ายนะ หนักมากในการวาดภาพเพื่อจัดแสดง”
จับเข่า ปรับทุกข์ กับ”เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”
หากถามถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์เดือนตุลาคน ระหว่างธีรยุทธ บุญมี ที่มีงานเขียนรูปกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนหนังสือ ใครควรมีความสุขกว่ากัน
อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า ทุกข์พอกัน คือตอนนี้สองคน เคยเจอกัน เกือบจะกอดเข่าคุยกันที่ห้องรับรองของ รพ.ธรรมศาสตร์ ทุกคนก็เป็นแขกโรคหัวใจ อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภาองค์การนิสิต ทราบดีว่า ผมกับเสกสรรค์ ตอนนี้ก็จับเข่าคุยกันเรื่องสุขภาพเป็นหลัก ทุกข์พอกัน
หากย้อนเวลากลับไปได้ในช่วงที่เป็นนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ทั้งธีรยุทธ บุญมี และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยถามกันหรือไม่ว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นนักศึกษาคิดถูกหรือคิดผิด
อาจารย์ธีรยุทธ ตอบว่า “ไม่เคยถามกันว่าคิดว่าคิดถูกหรือคิดผิด เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว ทั้งเสกสรรค์กับผม เราไม่ได้พูดกัน แต่ใจตรงกัน แต่ขออนุญาตพูดความในใจที่เก็บไว้นานแล้วเป็นความทุกข์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานะครับ
“ผมคิดว่า ผมกับเสกสรรค์ต้องวางตัว ต้องครองตัวว่าเป็นคนดีในสังคม ผมไปทำหากินอย่างอื่นเกือบไม่ได้เลย ที่วาดรูปส่วนหนึ่งก็เป็นรายได้ เป็นทุนสำหรับวัยเกษียณได้ ถ้าเราจะทำงานเพื่อหารายได้ ต้องไปทำงานที่อยู่ในกรอบบ ริษัทไม่จ้างผม เพราะไม่รู้ว่าวันไหน ผมจะออกมาด่ารัฐบาล แบบไหน อย่างไร อันตรายมาก ผมเข้าใจ เราต้องเป็นคนซึ่งอยู่ในวัตรปฏิบัติที่ดีพอสมควร”
“แต่ผมพอใจนะ ผมรู้สึกว่า คนทุกคนพูดได้ว่า ผมไม่เคยเข้าไปเล่นการเมือง ไม่เคยมีพรรคพวกอยู่ในการเมืองฝ่ายไหน ผมก็จะวิจารณ์อย่างแฟร์ ๆ ผมไม่เคยไปมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับกลุ่มไหนทั้งธุรกิจหรือใด ๆ ทั้งสิ้น ก็ดำรงตนในส่วนที่ผมเป็นอย่างนี้ ก็ภูมิใจ แต่ต้องบอกว่าก็เหนื่อยไหม ก็เหนื่อย เหนื่อยมากครับ”
“ครูสอนคณิตศาสตร์” คือ สิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ
สำหรับสิ่งที่อยากทำและยังไม่ได้ในวัย 75 ปี อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า คือการสอนคณิตศาสตร์ เพราะบังเอิญผมคิดว่าสมองผมใช้ได้ทั้งสองซีกเหมือนคนปกติทั่วไป บังเอิญชอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และตอนหลังนี้ ผมอ่านหนังสือคณิศาสตร์ในเวลาว่างและไปอ่านวิทยาศาสตร์ต่อ ทำให้เข้าใจคณิตศาสตร์มาก ๆ อ่านแล้วสวยเหมือนวาดรูป ยิ่งอ่าน ยิ่งเข้าใจปรัชญา
“ผมรู้สึกว่าคณิตศาสตร์ที่ผมเรียนมาตั้งแต่เด็กซึ่งสอบได้คะแนนดีมาก จนผมอายุ 50 ปี 60 ปี ผมถึงรู้ว่าที่ผมเรียนมาโง่เกือบหมดเลย เรียนมาแบบไม่ฉลาดเลย คือสิ่งที่เราเข้าใจ วิธีที่ควรจะคิดจะมอง หรือ วิธีที่จะพูดกับเด็กว่าควรจะคิดอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างที่เราเรียนมาหรือเข้าใจมา ผมก็คิดว่าผมคงจะอยู่ไม่นาน สุขภาพไม่ดีเท่าไหร่ ผมก็อยากจะหาทางถ่ายทอดการเรียนคณิตศาสตร์ที่ง่าย ๆ ให้กับเด็ก อาจจะทำเป็นยูทูปหรือคลาสให้กับเด็กก็ได้”
อาจารย์ธีรยุทธย้ำว่า อยากสอนคณิตศาสตร์ เพราะเชื่ออย่างนี้ ผมกับเพื่อนที่เป็นเด็กเก่งในโรงเรียนมัธยมรู้จักกันหลายโรงเรียนรู้ว่าแต่ละคนเก่งอย่างไร เลยรู้ว่าคนที่เก่งมาก ๆ มีอยู่เยอะในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเด็กไทยที่เป็นจีเนียส มีทุกรุ่น ขึ้นอยู่กับว่าพาเขาไปตรงไหน หรือว่าได้เจออะไรที่บันดาลใจให้เขาไปต่อได้
เตรียมใส่เสื้อกั๊กวิจารณ์การเมืองอีกครั้ง
หลายคนตั้งคำถามว่า อาจารย์ธีรยุทธ วางมือจากการเป็น นักวิชาการเสื้อกั๊ก วิจารณ์การเมืองหรือไม่ อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า ยังไม่ได้หายไปไหน มีโอกาสจะกลับมาอีกครั้ง เพราะปัญหาโครงสร้างการเมืองเราตั้งแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ นักการเมือง กลไกการเมือง ยังเป็นเรื่องที่เป็นห่วงทั้งหมด
“ผมห่วงทั้งหมด ห่วงอย่างยิ่ง ห่วงมาก ๆ อย่างยิ่งไม่รู้จะห่วงอย่างไรแล้ว ทุกเรื่อง ผมคิดว่า ความรับผิดชอบต่อสิ่งซึ่งเป็นกลไกใหญ่ทางการเมือง สังคม ศีลธรรม ความยุติธรรมของบ้านเรา มันถูกกัดเซาะสูญสลายไปเรื่อย ๆ มันแย่ลงมากทาง Moral (จริยธรรม) ผมหา Index (ดัชนี) ทางศีลธรรม คุณธรรมอยู่ตลอดว่าเป็นอย่างไร เพราะในหมู่ข้าราชการ นักการเมือง ผมคิดว่ามันลดลงไปเรื่อย ๆ”

“อานันท์ ปันยารชุน” เปิดงานชื่นชมภาพวาด
ความห่วงใยบ้านเมืองคือ คำถามสุดท้ายในช่วงของการเปิดใจ บนเส้นทางศิลปะของ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ก่อนที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานเปิดงานนิทรรศกาล ด้วยการชื่นชมภาพวาด และเศร้าหมองกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีผู้เห็นต่างและต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ ถูกอุ้มหาย หรือทำให้ชีวิตหยุดลง
นายอานันท์ กล่าวเปิดงาน ด้วยการออกตัวว่า “ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหตการณ์ตุลาคม เป็นข้าวนอกนา มีส่วนเกี่ยวข้องกับเดือนตุลาฯ เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หลังจาก 6 ตุลาคม ฯ แต่ชีวิตผมก็มีอุดมการณ์อยู่ในใจเสมอ แต่ไม่ค่อยแสดงออก แต่แม้กระนั้นก็ดีจะมีการกล่าวหาผมในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย”
“ผมก็ค่อนข้างแปลก ผมเกิดในตระกูลอำมาตย์แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ผมคิดว่ามันคือการแสดงความแปลกประหลาดของสังคมไทย ว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่มีความแปลกประหลาดในใจ และ ในสมอง”
นายอานันท์ บอกว่า “ยังจำได้ตอนผมเด็กๆ มีกรณี 4 นักการเมืองภาคอีสาน ผมจำชื่อไม่ค่อยได้ ที่ถูกอุ้มหาย และถูกฆ่า ตั้งแต่นั้นมาก็มีกรณีการหายตัวและถูกฆ่าตลอดมาทั้ง 6 ตุลา ฯหรือ 14 ตุลาฯ เช่น กรณี บุญสนอง บุณโยทยาน หรือมีบางคนก็ฆ่าตัวตายเพราะความผิดหวังเช่น นักสิ่งแวดล้อม อย่างคุณสืบ นาคะเสถียร ผมมานึกถึงประวัติศาสตร์ของเมืองไทยมันเต็มไปด้วยความ อยุติธรรม เต็มไปด้วยความแปลกประหลาดตลอดมา”

“อานันท์” ห่วงประชาธิปไตยไทยไม่ไปไหน
นอกจากนี้ นายอานันท์ ยังกล่าวถึง บทเพลง แสงดาวแห่งศรัทธาที่หลายคนเรียกว่าเพลงชาติของคอมมิวนิสต์ โดยบอกว่า “ชอบเพลงนี้มากทำให้ผมคิดถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ผมไม่รู้จักท่านแต่ได้อ่านหนังสือของท่าน และทราบมีการสร้างอนุสาวรีย์ด้วย ซึ่งผมถือว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งถูกพรากชีวิตไปในวัยที่ไม่สมควรและไม่สมเหตุสมผล”
“ผมเห็นว่าสังคมไทยเก่งในเรื่องของการตัดชีวิต ตัดอนาคตของคนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ ผมอายุกว่า 92 ปี เท่าอายุประชาธิปไตยของเมืองไทย ผมเติบโตมาและอาจจะถึงวันตายในอีกไม่ช้านี้ แต่ประชาธิปไตยเมืองไทยก็ยังเป็นเด็กทารกอยู่ไม่เอาไหนทั้งสิ้น”
นายอานันท์ บอกว่า “มาวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องนึกถึงเรื่องความเศร้าหมอง มันไม่ใช่เรื่องของคนเดือนตุลาคม แต่เป็นเรื่องของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับ 14 ตุลาฯ คือคุณธีรยุทธ บุญมี ที่หันมาทำงานศิลปะ และธีรยุทธ บุญมี ใช้ชีวิตมามากมาย ต่อสู้มามากมายเข้าป่าได้ชีวิตคู่ในป่า แต่มาแต่งานข้างนอก แต่เค้ามีงานอดิเรกที่ดี คืองานเขียนภาพสีน้ำมันและสีพาสเทล”
“ความจริงแล้วผมเป็นคนสละความโกรธ แค้น อิจฉาริษยาและพยาบาท แต่ก็เริ่มอิจฉาและน้อยใจตัวเองว่าคนอย่างเรามีความสำเร็จในการงานในด้านต่างๆพอสมควร แต่ไม่สามารถมีงานอดิเรกที่ดีได้ คนหลายคนในที่ประชุมแห่งนี้ ก็มีงานอดิเรกของตัวเอง เช่น เขียนภาพเป็นจิตรกร เล่นดนตรี เป็นนักเขียนคอลัมนิสต์ ซึ่งดนตรี ผมชอบ แต่เล่นอะไรไม่เป็นสักอย่าง ภาพเขียนผมก็ชอบแต่ก็ไม่คิดจะลงมือเขียน เพราะฉะนั้น ผมเป็นคนที่ขาดบางอย่างในชีวิต ผมไม่มีงานอดิเรก ที่มีทำให้มีความสุขในยามที่ ไม่ทำงาน มันคือความอิจฉาในใจส่วนตัว”
นายอนันท์ บอกว่า รู้จักธีรยุทธมากกว่า 30 ปี ซึ่งเขาเป็นนักคิด นักพูด มีอุดมการณ์ เป็นผู้นิสัยดี มีจริยธรรมดี แต่อย่าไปถามศาลรัฐธรรมนูญนะเขาอาจจะวินิจฉัยไปอีกอย่าง ผมเห็นว่า ธีรยุทธ เป็นคนที่มีอารมณ์ราบรื่น ไม่โกรธแค้นใคร
“ผมพึ่งมารู้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองว่าเขามีอารมณ์ศิลปินเขาเขียนรูปแต่ไม่คิดว่าเขาจะเขียนอะไรมากมายขนาดนี้ ผมก็ถามเขาไปว่าก่อนที่คุณจะมาแสดงภาพ คุณเก็บรูปพวกนี้ไว้ที่ไหนเพราะผมรู้ว่าบ้านเขาไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก และรูปพวกนี้ ต้องเก็บรักษาอย่างดี
นายอนันท์ บอกว่า “รู้สึกทึ่งกับภาพวาดเหล่านี้ เพราะไม่ได้เขียนด้วยนักเขียนภาพอาชีพ แต่เขียนโดยคนที่ไม่มีอาชีพวาดภาพ แต่มีความรักศิลปะด้วยความลึกซึ้ง และแต่ละรูปก็ไม่ใช่รูปการเมือง เป็นรูปธรรมชาติเป็นส่วนมาก ทำให้ผมมีความอิจฉาส่วนตัว ก็หวังว่าท่านทั้งหลายเห็นภาพต่างๆจะช่วยสนับสนุนคุณธีรยุทธไว้ในครั้งนี้ด้วย”
สำหรับผู้ที่สนใจงานศิลปะ สามารถเดินทางไปชมนิทรรศการ บนเส้นทางศิลปะ: Journey on Art Manifolds” จัดแสดงขึ้นระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 1 กันยายน 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 3 ห้อง New Gen Space: Space for All Generations โดยมูลนิธิเอสซีจี