‘ธีรยุทธ บุญมี’ เปิดประสบการณ์ชีวิต 75 ปี บนเส้นทางศิลปะ จัดงานแสดงภาพวาด Journey on Art Manifolds วันที่ 20 ส.ค. – 1 ก.ย. 67 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หลังจากห่างหายไปจากพื้นที่สื่อสาธารณะในการแสดงทัศนะทางวิชาการและการวิเคราะห์การเมืองกว่า 5 ปี ศ. ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยากลับมาอีกครั้ง
การกลับมาครั้งนี้ของอาจารย์ธีรยุทธ ไม่ได้สวมหมวกนักวิชาการที่วิเคราะห์การเมืองแหลมคมตรงไปตรงมา แต่มาในฐานะศิลปินที่จัดงานแสดงภาพวาด “บนเส้นทางศิลปะ: Journey on Art Manifolds” ซึ่งจะจัดแสดงขึ้นระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 1 กันยายน 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 3 ห้อง New Gen Space: Space for All Generations โดยมูลนิธิเอสซีจี มีนายอานันท์ ปันยารชุน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ในวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 16.00น. เป็นต้นไป
การจัดแสดงภาพวาดครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยเคยจัดงานแสดงภาพมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ปี 2550 ที่สถาบันเกอเธ่ ในช่วงเกิดเหตุการณ์สึนามิ จึงนำรายได้ทั้งหมดให้กับผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ
ส่วนครั้งที่สองจัดแสดงภาพ เพื่อมอบรายได้ให้กับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิอิศรา ครั้งที่ 3 จัดแสดงภาพวาดสีน้ำมันและสีพาสเทลที่ สถาบันปรีดี พนมยงค์
การจัดงานแสดงภาพวาด “บนเส้นทางศิลปะ: Journey on Art Manifolds” จึงเป็นครั้งที่สี่อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่าจัดแสดงภาพวาดครั้งนี้ เนื่องจากเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเป็นปีที่จะอายุครบ 75 ปี จึงได้จัดงานแสดงภาพเขียน ซึ่งได้ตั้งใจจะนำมาเปิดแสดงนานแล้ว โดยจะนำภาพเขียนสีน้ำมัน สีพาสเทล สีน้ำ ประมาณ 80 รูปมาจัดแสดงภายในงาน
อาจารย์ธีรยุทธเป็นคนชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กและได้ทำงานศิลปะ 30 ปี ในการเขียนภาพวาด ทั้งเขียนสีน้ำมันและสีพาสเทลมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่าการสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของ DNA มนุษย์ ไม่ว่าจะใช้ในทางศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ โดยเชื่อว่ามนุษย์สร้างสรรค์วิทยาศาสตร์เพื่อเข้าใจโลก ขณะที่ทำงานศิลปะเพื่อเข้าใจตัวเอง เข้าใจความรู้สึกที่ตัวเองมีต่อโลกและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
อาจารย์บอกว่าทั้งสองด้านล้วนต้องอาศัยการทำความเข้าใจ สิ่งที่ตัวเองจะศึกษา สังเกต วิเคราะห์ ทดลอง ลงมือทำ แก้ไข เปลี่ยนแปลง ลองผิดลองถูก ก่อนนำไปสู่บทสรุป ถ้าข้อสรุปตรงกับกฎเกณฑ์ของโลกก็เป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ถ้าผลงานสื่อความหมาย ความงาม อารมณ์อย่างสอดคล้องกับจริตของผู้คน แต่ละยุคสมัย ก็จะเป็นผลงานศิลปะ
ขณะที่โลกยุคสมัย เน้นสิ่งใหม่ ความต้องการใหม่ ปัจจุบันโลกเปลี่ยน เป็นพ้นยุคสมัยใหม่ อัตราการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ยิ่งรวดเร็วขึ้น ศิลปะก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงทั้งเป้าหมาย รูปแบบ เนื้อหา หรือไม่มีรูปแบบ ไม่มีเนื้อหา ทั้งหมดเป็นวิถีที่คนยุคสมัยปัจจุบันพยายามสื่อถึงยุคสมัยของพวกเขา
อาจารย์ธีรยุทธ บอกด้วยว่า “วิทยาศาสตร์ ปรัชญาของโลกปัจจุบัน เป็นการมองแบบหลากหลาย มีพลวัตร จึงทำให้มีศิลปะแบบใหม่หลากหลายมาก แต่ภาพวาดสีน้ำมันของผมยังเป็นภาพทิวทัศน์ Impressionism ส่วนสีพาสเทลเป็น Abstract landscape ซึ่งสะท้อนความเชื่อว่าธรรมชาติสื่อความงามและความหมายได้ดีที่สุด มนุษย์ดื่มด่ำกับพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ภูเขา แม่น้ำ ทะเล มาตั้งแต่มนุษย์กำเนิดมาและไม่มีวันสิ้นสลายไปได้ ถ้าโลกยังคงอยู่ ศิลปะของผม ไม่ได้มีเป้าหมายที่ลึกซึ้ง เพื่อหยั่งถึงสัจธรรมใด ๆ มุ่งให้ผู้ชมได้สัมผัสขณะแห่งความงามในแง่มุมต่าง ๆ”
ภาพวาดส่วนใหญ่ที่อาจารย์ธีรยุทธ นำมาจัดแสดงไม่ต่างจากบันทึกเส้นทางศิลปะ ที่ผ่านการฝึกฝน วิเคราะห์ ลองผิดลองถูก นำเรื่องราวจากความทรงจำทั้งเหตุการณ์ สถานที่ และจิตนาการออกมาเป็นภาพวาด ที่เป็นจริต หรือ สไตล์ในแบบของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร
“จริตในการวาดภาพของผมคือการวาดรูปแบบไวๆ ผมทำไว ขึ้นรูปไวมาก สวยจนบางครั้งไม่อยากต่อ เขียนภาพสีน้ำ แบบรวดเดียวจบ ซึ่งการวาดเร็ว ก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่ผมคิดทุกจุด ที่มีปัญหา ก็จะมีการวิเคราะห์ เรียนรู้และแก้ไขว่า มันควรจะทำยังไง”
อาจารย์ธีรยุทธบอกว่า ภาพที่วาดทั้งหมดมาจากประสบการณ์ที่สัมผัสมาเกือบ 100 % แต่บางภาพอาจจะวาดจากมุมมองที่ต่างออกไปจากที่มองเห็น เช่น ดอยผาตั้ง จังหวัดเชียงราย ซึ่งคุ้นเคยในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เดินทางไปใช้ชีวิตในป่าแถบจังหวัดภาคเหนือ
“ดอยผาตั้ง คุ้นกับมัน เดินเหนื่อยๆ แบกเป้เดิน ผ่านไปมาหลายรอบเหลือเกิน และมีอีกหลายๆภู ในภาคเหนือที่เดินผ่านในช่วงนั้น มันเหมือนเป็น reference ไม่ใช่แค่รูป แต่มันเหมือนชีวิตเราด้วย ซึ่งส่วนตัวแล้วเวลาวาดภาพแลนด์สเคป หรือทิวทัศน์จะวาดให้เหมือนตัวเขา เช่น ภาพวาดผาตั้ง ซึ่งศิลปินบางคนอาจะวาดออกมาเป็นนามธรรม ไม่เหมือนจริง แต่ผมชอบวาดให้เหมือนตัวเขาจริงๆ ต้องเคารพ แต่บางภาพก็ทำให้สวยเป็นหลัก”
‘ครูตื้อ’ ผู้ลำเอียง จุดเริ่มเส้นทางศิลปะ
“ผมไม่อยากโม้ วาดภาพครั้งแรกตั้งแต่เรียน ม.ศ.3 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ตอนนั้นเรามีครูโคตรลำเอียงเป็นคนสอน”
อาจารย์ธีรยุทธบอกอย่างอารมณ์ดีว่า ชอบการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก แต่เรียนรู้การวาดภาพอย่างจริงจังครั้งแรกตอนเรียน ม.ศ3 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบกับคุณครู “ตื้อ” ซึ่งสอนให้วาดรูปแบบใจกล้าๆ สีโชกๆ น้ำชุ่ม และต้องวาดให้เต็มรูปและวาดรูปตามแบบจนเสร็จ
“ครูตื้อสอนดีนะ เขาสอนให้ใจกล้า วาดเต็มรูป วาดรูปตามแบบให้สำเร็จ คือไม่ใช่วาดรูปต้นมะพร้าว แค่สองต้น ชายหาด เส้นน้ำ ทะเลภูเขา แต่เขาให้วาดทั้งรูป ซึ่งวาดรูปสีน้ำ โอกาสเสียมันเยอะนะ แต่ทุกคนจะถูกฝึกว่า ต้องเขียนให้จบรูป เพราะฉะนั้นทุกคนจะเป็นเรื่องของการเรียนศิลปะมาตั้งแต่ตอนนั้น”
“ครูตื้อได้ชื่อว่าเป็นครูสอนศิลปะที่ทุ่มเท สอนเข้าใจง่าย สอนเก่ง แต่โคตรลำเอียง ถ้าใครวาดรูปดี ครูจะเอาใจใส่เป็นพิเศษ แต่คนที่วาดภาพไม่ดี ก็ไม่ได้ละเลย จนทำให้นักเรียน รัก และสนุกเวลาเรียนกับครู”
อาจารย์ธีรยุทธเป็นลูกศิษย์ที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพราะวาดรูปได้ท๊อปในชั้นและภาพวาดมักจะถูกนำมาติดบอร์ดที่ห้องศิลปะตลอดทั้งปี
“ความลำเอียงของครูตื้อ ชัดเจนมากในห้องเรียนศิลปะที่มีเพื่อนเรียนห้องเดียวกัน ชื่อชัชพงศ์ เรียนเก่ง ครูตื้อเรียก นายชัชพงศ์ ไม่ได้เอาพู่กันมา ไม่ได้เอาจานสีมาหัก 1 คะแนน นายธีรยุทธ ไม่ได้เอาสีมา เดี๋ยวครูไปเอามาให้ ลำเอียงจริงๆ”
อาจารย์ธีรยุทธ เล่าว่า ครูตื้อเป็นครูสอนศิลปะที่นักเรียนรัก ด้วยวิธีการสอนที่ตลก และสนุก ทำให้รู้จักการการวาดภาพ และชอบการวาดภาพ แต่ความลำเอียงของครูตื้อก็ถือเป็นตำนาน เพราะเป็นสุดยอดของความลำเอียง เพราะครั้งหนึ่งเคยเถียงครู เรื่องเงาสะพรานในน้ำ ซึ่งถ้าน้ำนิ่งจะโค้ง แต่ถ้าน้ำเป็นคลื่น เงาจะตรงๆ และวาดจนภาพเสีย ครูตื้อให้มาวาดใหม่ตอนเย็น และได้เตรียมโค๊กกับแซนวิชให้
“สุดยอดของคนขี้ลำเอียง แต่นักเรียนทุกคนรักแก เพราะว่าแกไม่ได้ลำเอียงจริงๆ คะแนนเต็ม 10 ครูตื้อให้ผม 10+ เพื่อนๆเวลาเจอกัน จะพูดถึงแกอย่างสนุกสนานตลอด”
เรียนรู้ วิเคราะห์ ลองผิด ลองถูก
ครูตื้อเป็นครูศิลปะคนแรกที่ทำให้ชอบการวาดภาพและเรียนรู้การวาดภาพมาโดยตลอด ตั้งแต่การวาดสีน้ำ ต่อมาวาดภาพสีพาสเทล จนตอนนี้ พัฒนามาวาดสีน้ำมัน
“ผมชอบวาด อาศัยการเรียนรู้ ดูจากภาพ และอ่านหนังสือ ซึ่งอ่านมาเยอะ ตอนนี้ก็ รู้ว่าสีอะไรเป็นอะไร รู้หมดแล้ว ไม่ยาก เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษเราได้ ก็ทดลองวาดมาเรื่อยๆ ทะลุมาที่ละชั้น จนมาวาดสีน้ำมัน”
การวาดภาพอยู่ในทุกช่วงชีวิต แม้แต่ตอนเข้าป่าก็วาดภาพ โดยให้คนในเมืองหาเครื่องไม้เครื่องมือมาให้ ส่วนใหญ่วาดกระท่อม ต้นไม้ แต่การวาดภาพในเวลานั้นออกไม่ค่อยดี เนื่องจากความไม่ค่อยพร้อมของอุปกรณ์ หรือแม้แต่ในช่วงที่ไปเรียนต่างประเทศก็วาดภาพมาตลอด
“การวาดภาพมันต้องคิดและต้องตัดสินใจ จะลงสี(น้ำ)แค่นี้ รอนิดหนึ่งแล้วเอาน้ำลงอย่างนี้แล้วต้องจบแล้วนะ อย่าไปซ้ำนะ เพราะซ้ำแล้วเสีย อันนี้ต้องมีความรู้ก่อนว่าเราต้องลงสีนี้ก่อน สีนี้”
อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า บางครั้งการวาดภาพก็ต้องเรียนรู้เทคนิคบางอย่างกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ เช่น การวาดสีน้ำกับกระดาษเก่าที่สีไม่วิ่งแล้วต้องวางแผนการวาดอย่างดีไม่ให้เสีย ซึ่งพอภาพออกมามันสวยและมีคุณค่าบางอย่างกับตัวเรา แต่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็น
หลังจากวาดสีน้ำ สีพาสเทล มาถึงจุดที่ต้องพัฒนาต่อไปสู่การวดภาพสีน้ำมัน ซึ่งอาจารย์ธีรยุทธไม่ชอบกลิ่นสีน้ำมันในตอนแรก จนมาถึงจุดเห็นว่าต้องเริ่มวาดสีน้ำมันเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านจนถึงวันนี้วาดสีน้ำมันมาแล้วกว่า 20 ปี
“สีน้ำ สีพาสเทล วาดได้แล้ว จึงอยากวาดสีน้ำมันแต่ช่วงเริ่มต้นก็พบอุปสรรคจำนวนมากต้นๆ อุปกรณ์ทั้งหมดมันไม่เหมือนสีน้ำ มันเป็นความยากลำบาก ผมติดอยู่ที่เทคนิค และทักษะไม่พอ ทำให้วาดในแบบที่เคยทำได้ เพราะว่าเราไปวาดช้า พอเราไปวาดช้า มันทำให้ความสดของรูปมันหายไป มันเสียไปเยอะเหมือนกัน”
อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า วาดสีน้ำมันเกือบ 20 ปีมาแล้วในช่วง10 ปีแรกไม่ประทับใจ มีภาพสวยไม่กี่ภาพ แต่ก็พยายามเรียนรู้และทะลุมาเป็นชั้นๆ
ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ทักษะจะมาจากการฝึกทดลอง ทำไปแล้วรู้ว่ามันแก้โจทย์ยังไง เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วงานศิลปะมันไม่ใช่งานแบบมือเทพ ที่มาจัดมาทำแล้วสวยเลย มันต้องผ่านการฝึก การวิเคราะห์ จนเราคิดว่ามันเอาอยู่แล้วสวยแล้ว
“ผมว่าเหมือนกันทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่วิชาการ ผมว่าทุกเรื่องมันต้อง ผ่านการมอง การสังเกตและการวิเคราะห์ มันเป็นยังไง แบบแผนเป็นไง ทิศทางเป็นอย่างไร ถ้าเราจะเปลี่ยนใหม่ จะเป็นยังไงในทุกเรื่องในชีวิต ไม่ใช่แค่การวาดภาพ”
งานแสดงภาพวาดบนเส้นทางศิลปะ
สำหรับงานแสดงภาพวาด “บนเส้นทางศิลปะ: Journey on Art Manifolds” อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า หลังจากเขียนภาพสีน้ำมันมาได้ระยะหนึ่ง ก็อยากจัดแสดงภาพวดของตัวเองโดยไม่ได้มีเป้าหมายอื่นใด ประกอบกับอยุครบ 75 ปี และครบ 50 ปีของการทำกิจกรรมทางการเมือง 14 ตุลาคม2516 จึงนำภาพที่วาดทั้งสีน้ำมันและ สีพาสเทล ประมาณ 80 ภาพมาจัดแสดง
ส่วนความหวังว่าคนดูจะชอบหรือไม่ชอบ อาจารย์ธีรยุทธ บอกว่า ความสวย โลกปัจจุบัน ความงามมันมีหลายแบบ มันเหมือนเป็นการคาดการณ์ หรือการใช้ศัพท์สมัยใหม่ เรียกว่าเป็นความเสี่ยง ซึ่งเราคาดการณ์แล้วว่าเราใส่ทุกอย่าง ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก การวิเคราะห์ ความชำนาญลงไปแล้ว และเราตีความในฐานะศิลปินว่า ดี พอ สวย สำหรับแสดง
แต่คนที่มาดูการแสดง เขาก็เอาชีวิตของเขาไปตีความ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันจะสวยหรือไม่สวยผมไม่คิดว่ามันเสี่ยงนะ เพราะมันเป็นการคาดการณ์เฉยๆ อย่างตอนนี้คือ เราคาดการณ์ว่า แบบนี้คือสวยแล้ว แต่คนดูภาพอาจจะชอบ หรือไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับการตีความของเขาด้วยเช่นกัน
อาจารย์ธีรยุทธ บอกทิ้งท้ายว่า ศิลปะมันสร้างศิลปิน หรือว่ามันสร้างงาน เพราะคล้าย ๆ กับว่า มันบอกกับเราว่าจะต้องทำอย่างไร ถ้าคุณสร้างงาน วาดแก้วกาแฟ แต่ทำแล้วปล่อยวาง ทำให้สวย ซึ่งตอนนี้ทั้งประสบการณ์ ความชอบของตัวเอง ความคิด ที่มีการขัดเกลา ผ่านประสบการณ์ทุกงาน จะมากหรือน้อย แล้วแต่คนจะเห็น ตีความความสวย ความชอบกับชีวิตเขาเอง หรือไม่