รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ก่อนหน้าจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รองประธานาธิบดี “กมลา แฮร์ริส” ตัวแทนพรรคเดโมแครต เริ่มใช้การรณรงค์เป็นฝ่ายรุกโดยการใช้มนตร์เสน่ห์ส่วนตัว (charm offensive) เพื่อสร้างคะแนนนิยมในรัฐที่มีคะแนนสูสีกับโดนัลด์ ทรัมป์ และเป็นรัฐที่จะชี้ขาดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เช่น รัฐมิชิแกนและวิสคอนซิน
กมลา แฮร์ริส ได้รับการยอมรับว่ามีทักษะในการพูดปราศัยที่มีพลวัต มีสติปัญญาที่แหลมคม และความสามารถในการตัดสินใจรวดเร็ว การลงหาเสียงในรัฐที่เรียกว่า swing state หรือก็คือรัฐที่ผู้สมัครจากเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนเสียงสนับสนุนพอๆ กัน ก็เพื่อดึงคะแนนเสียงของประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร
จากการสำรวจคะแนนเสียงล่าสุดของ The New York Times ในรัฐที่เป็นแนวรบสำคัญ ปรากฏว่าในรัฐแอริโซนากมลา แฮร์ริส นำทรัมป์ 50% ต่อ 45% รัฐนอร์ทแคโรไลนานำอยู่ 49% ต่อ 47% ส่วนในรัฐเนวาดาทรัมป์นำ 48% ต่อ 47% และรัฐจอร์เจียทรัมป์นำ 50% ต่อ 46%
อิทธิพลของมนตร์เสน่ห์ส่วนตัวผู้นำ
หนังสือชื่อ Charm (2024) ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย Princeton กล่าวว่า เวลานักวิเคราะห์กล่าวถึงการเมืองระหว่างประเทศ มักจะมองว่าสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนคือ “ผลประโยชน์ชาติ” ซึ่งเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของประเทศต่างๆ
แต่หลายปีที่ผ่านมา นักรัฐศาสตร์มองเห็นถึงการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยบุคลิกส่วนตัวของผู้นำมากขึ้น ประชาชนมีความเชื่อถือพรรคการเมืองน้อยลง แต่หันไปเชื่อถือตัวผู้นำมากขึ้นแทน อำนาจผู้นำที่สามารถดึงดูดการสนับสนุนจากประชาชน กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจทางการเมือง
ในทางการเมือง บุคลิกส่วนตัวที่สามารถเป็นพลังดึงดูด มักจะเรียกว่าอำนาจที่มาจาก “บารมี” (charisma) โดยนักรัฐศาสตร์มองว่า เป็นคุณสมบัติส่วนตัว ที่คนคนนั้นมีความแตกต่างจากคนธรรมดา หรือมีอำนาจและคุณสมบัติพิเศษอยู่ในตัว การมีอำนาจทางบารมี เกิดจากทัศนะของคนทั่วไป ที่จะมองว่าบุคคลใดมีคุณสมบัติแบบนี้
แต่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางการเมืองและทางสื่อต่างๆ แตกต่างออกไปจากอดีต ประชาชนทั่วไปต้องการเห็นผู้นำการเมืองที่เป็นคนธรรมดาแท้จริงและไม่เสแสร้ง (authentic) การรณรงค์ทางการเมืองผ่านแพลตฟอร์มสื่อในหลายแบบ ทำให้คนทั่วไปได้ติดต่อสื่อสารกับนักการเมือง เหมือนกับว่าพวกนักการเมืองนั้น “ก็เหมือนกับเรา”
หนังสือ Charm บอกว่า บรรดาผู้นำการเมืองในปัจจุบัน จะนำเสนอตัวเองในแบบที่คนทั่วไปต้องการจะเห็น คือเป็นคนธรรมดา แสดงความเป็นตัวตนแท้จริง และไม่เสแสร้ง ความสำเร็จของนักการเมืองในปัจจุบันไม่ได้มาจากความเป็นผู้นำที่มีอำนาจแบบบารมี แต่มาจากสิ่งที่ประชาชนรู้สึกมีความผูกพันทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่คนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติของพวกเขา
นักการเมืองที่มีบุคลิกลักษณะแบบนี้ คือสิ่งที่เรียกว่ามี “มนตร์เสน่ห์” (charm) ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน นักการเมืองจะประสบความสำเร็จ ต้องแสดงตัวในแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึง ไม่เสแสร้ง แสดงออกตัวตนแท้จริง และประชาชนรู้สึกว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับการแสวงหาอำนาจของนักการเมืองนั้น แม้แต่มหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของตึก Trump Tower ในนิวยอร์ก การหาเสียงจะทำตัวแบบเป็นคนที่ “เหมือนกับเรา” มีคำขวัญที่คนฟังรู้สึกมีส่วนร่วม เช่น “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”

มนตร์เสน่ห์ของจาซินดา อาร์เดิร์น
หนังสือ Charm กล่าวว่า มนตร์เสน่ห์อย่างหนึ่งของนักการเมือง คือการแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง จาซินดา อาร์เดิร์น อดีตนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ ได้รับความชื่นชมมากในความเป็นผู้นำที่มีบทบาทด้านนี้ โดยเฉพาะการนำเสนอเนื้อหาที่มีมนตร์เสน่ห์ส่วนตัว ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนแท้จริงในโลกออนไลน์
จาซินดา อาเดิร์น อาศัย Facebook เป็นโซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับคนนิวซีแลนด์ เพราะ 2 ใน 3 ของคนนิวซีแลนด์มีข้อมูลส่วนตัวใน Facebook เธอให้ความสำคัญในการสื่อสารผ่าน Facebook มากกว่าช่องทางสื่อสารของรัฐ เนื้อหานำเสนอที่คนชื่นชมคือเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ความยากจนของเด็ก และปัญหาบ้านพักอาศัย บางครั้งก็ผสมเรื่องราวเกี่ยวกับความสมดุลทางหน้าที่การงานกับความเป็นแม่
เธอเป็นผู้นำสตรีคนแรกของโลกที่นำลูกสาวอายุ 3 เดือนไปร่วมประชุมใหญ่สหประชาชาติในปี 2018 บัตรประจำตัวของลูกสาวผ่านเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอนเขียนข้อความว่า “ทารกหมายเลข 1”


เธอได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ใช้เงินประหยัด ทางครอบครัวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการเดินทางของสามีที่ติดตามไปด้วยเพื่อช่วยดูแลลูก ต่อมานิวซีแลนด์แก้ระเบียบ อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเดินทางต่างประเทศโดยมีคนดูแลบุตร และทางรัฐออกค่าใช้จ่าย
ในการกล่าวปราศัยที่สหประชาชาติ จาซินดา อาเดิร์น ยกระดับมนตร์เสน่ห์ส่วนตัวของเธอจากเรื่องเล็กไปสู่ระดับโลก โดยกล่าวว่า “หากจะสรุปรวบยอดเป็นความคิดเดียวที่เราดำเนินการในนิวซีแลนด์อย่างง่ายๆ คือคำว่า ‘ความเอื้ออาทร’ (kindness)” แนวคิดนี้ตรงกันข้ามกับแนวคิดที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น ที่เสนอออกมาว่า “อเมริกาต้องมาก่อน”
แต่ไม่มีตัวอย่างใด ที่จะสะท้อนความเอื้ออาทรระดับโลกของจาซินดา อาร์เดิร์น ได้ดีเท่ากับปฏิกิริยาของเธอ ต่อการก่อการร้ายในเมืองไครสต์เชิร์ช ที่ได้รับความชื่นชมจากทั่วโลก มีนาคม 2019 คนผิวขาวที่คลั่งเชื้อชาติจากออสเตรเลียบุกยิงมัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช มีคนตาย 51 คน บาดเจ็บ 40 คน อีกทั้งผู้ก่อการร้ายยังนำเหตุการณ์นี้ออกเผยแพร่ทาง Facebook
แถลงการณ์ครั้งแรกของอาร์เดิร์นกล่าวว่า การก่อการร้ายครั้งนี้ ถือเป็นวันมืดมนที่สุดของนิวซีแลนด์ และจำแนกระหว่าง “เรา” หมายถึงคนนิวซีแลนด์ กับ “เขา” (ผู้ก่อการร้าย) และไม่ยอมรับการที่จะมองคนมุสลิมกลุ่มน้อยว่าเป็นคนพวกอื่น ไม่ใช่พวกเรา เธอกล่าวว่า “หลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการยิงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อาจเป็นผู้อพยพมานิวซีแลนด์ เป็นคนอพยพที่นี่ พวกเขาเลือกจะทำให้นิวซีแลนด์เป็นบ้านของเขา และที่นี่ก็คือบ้านของพวกเขา พวกเขาก็คือพวกเรา คนที่ทำให้เกิดความรุนแรงนี้ต่อเรา ไม่ใช่พวกเรา”

วันต่อมา อาเดิร์นเดินทางไปเมืองไครสต์เชิร์ช สวมผ้าคลุมศีรษะดำ ภาพที่เธอสวมกอดคนมุสลิมที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ซึ่งสะท้อนความรู้สึกของการเอื้ออาทร ได้กระจายออกไปทั่วโลกเพื่อสื่อสารว่า เราอยู่ในชุมชนเดียวกัน และกล่าวว่า “นิวซีแลนด์ขอไว้ทุกข์กับพวกคุณ”
ในการไปเยือนชุมชนมุสลิมที่ไครสต์เชิร์ช อาเดิร์นได้พังทลายกำแพงและสิ่งกีดขวางระหว่างชุมชนศาสนา มนตร์เสน่ห์ส่วนตัวของเธอก้าวมาสู่ระดับแถวหน้า พลังของบุคลิกส่วนตัวของผู้นำก้าวขึ้นมาอยู่เหนือการแบ่งแยกทางอุดมการณ์และความเชื่อต่างๆ บุคลิกส่วนตัวไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกต่อไป แต่กลายเป็นการแก้ปัญหาที่ทรงพลังในการเอาชนะความแตกแยกในสังคม
คำพูดของอาเดิร์นเรื่อง “ความเอื้ออาทร” และ “การดูแลเอาใจใส่” กลายเป็นคำพูดที่มีการหยิบยกมากล่าวกันทั่วโลก ศิลปินนำมาสะท้อนภาพวาดตามที่ต่างๆ ภาพที่สร้างความประทับใจมากที่สุดเป็นภาพวาดบนบนอาคารถังไซโล เมืองเมลเบิร์น ที่อาร์เดิร์นสวมกอดสตรีมุสลิม หลังจากเกิดเหตุยิงกันที่ไครสต์เชิร์ช ภาพนี้สะท้อนการแสดงออกทางการเมืองแบบใหม่ของผู้นำ ในยามที่สังคมเผชิญหน้ากับการก่อการร้าย และความรุนแรงจากอาวุธปืน

เอกสารประกอบ
Charm: How Magnetic Personalities Shape Global Politics, Julia Sonnevend, Princeton University Press, 2024.