รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
ก่อนหน้าที่ โจ ไบเดน จะประกาศถอนตัว จากการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งของพรรคเดโมแครต ก็เริ่มมีสัญลักษณ์ปรากฎขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย ที่สนับสนุนให้รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี สัญลักษณ์นั้นคือ อิโมจิรูป “ต้นมะพร้าว”
เรื่องราวของ กมลา แฮร์ริส ที่ไปเกี่ยวข้องกับต้นมะพร้าว เกิดขึ้นเมื่อปี 2023 ในการกล่าวปราศัยที่ทำเนียบชาว เกี่ยวกับโอกาสของคนอเมริกัน ที่มาจากลาตินเมริกา ในช่วงสุดท้ายของคำปราศัย รองประธานาธิบดีกล่าวเน้นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยง ที่เราแต่ละคนมีกับชุมชน “ไม่มีใครในพวกเราที่อยู่โดดเดี่ยว ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน”
เพื่อเน้นหนักในประเด็นนี้ กมลา แฮร์ริส เล่าเรื่องราวที่เป็นคำพูดของ ชยามาลา โกพาลาน (Shyamala Gopalan) มารดาของเธอ ที่เสียชีวิตไปแล้วว่า “แม่ฉันมักพูดเสมอว่า ‘ฉันไม่รู้ว่า พวกเธอคนรุ่นใหม่ผิดที่ตรงไหน พวกเธอคงคิดว่าตัวเองเพิ่งหล่นจากต้นมะพร้าว’” ต่อจากนั้น กมลา แฮร์ริสก็ขยายความเพิ่มเติ่มว่า “พวกคุณดำรงอยู่ในบริบทที่คุณมีชีวิตอยู่ และในสิ่งที่มีมาก่อนหน้าคุณ”
ใครคือกมลา แฮร์ริส?
กมลา แฮร์ริส คือนักต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยว สตรีที่ทุ่มเทและยืนหยัดเพื่อคนที่มีฐานะเสียเปรียบในสังคม ไม่หลีกเลี่ยงที่จะต่อสู้ หากเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นความยุติธรรมและความถูกต้อง ตัวอย่างล่าสุด ในการพบปะกับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ต่อมา กมลา แฮร์ริส กล่าวกับสื่อมวลชนว่า เธอจะไม่ปิดปากเงียบ ในเรื่องความทุกข์ยาก ที่เกิดขึ้นในกาซ่า ภาพเด็กเสียชีวิต และผู้คนอดยากที่ต้องอพยพหลบหนีไปหาที่ปลอดภัย เป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สาม และครั้งที่สี่
คุณสมบัติดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นผู้สมัครตำแหน่าง “รองประธานาธิบดี” ของพรรคเดโมแครตในปี 2020 ในเดือนสิงหาคม 2020 เมื่อโจ ไบเดน ประกาศว่า กมลา แฮร์ริส จะเป็นผู้ร่วมสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ทำให้เธอกลายเป็นสตรีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาและเอเชียใต้คนแรก ที่เป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดี ของพรรคการเมืองสำคัญในสหรัฐฯ
โจ ไบเดน เคยเรียกเธอว่า “นักต่อสู้ที่ไม่หวาดกลัว” คำพูดนี้อธิบายชีวิตและหน้าที่การงานของเธอเป็นอย่างดี กมลา แฮร์ริส ทุ่มเทให้กับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิพลเมือง และประเด็นอื่นๆ เมื่อเธอต่อสู้ในเรื่องความเป็นธรรม ไม่หวาดวิตกที่จะนำคนมีอำนาจมารับผิด
กมลา แฮร์ริส เกิดที่เมืองโอ๊คแลนด์ แคลิฟอร์เนีย เธอได้สัมผัสกับเรื่องสิทธิพลเมืองและความเป็นธรรมในสังคม ตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากทั้งบิดามารดาเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมือง ต่อมาเข้าศึกษาที่ Howard University มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของคนผิวดำ และกลับมาศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
นับจากเริ่มต้น เธอทำงานกับหน่วยงานบริการของรัฐมาตลอด เป็นอัยการของเขตท้องถิ่นในซานฟานซิสโก ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียถึง 2 ครั้ง ปี 2016 ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก และลงสมัครเป็นประธานาธิบดี ก่อนที่จะลงสมัครร่วมกับ โจ ไบเดน ในฐานะรองประธานาธิบดี
ช่วงที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของแคลิฟอร์เนีย กมลา แฮร์ริส ต่อสู้เพื่อช่วยเหลือประชาที่ถูกสถาบันการเงินยึดบ้าน เนื่องจากวิกฤติการเงินซับไพร์มปี 2007-2008 ในแคร์ลิฟอร์เนีย มีคนตกงานหลายล้านคน ทำให้ไม่สามารถชำระเงินกู้ซื้อบ้าน และถูกธนาคารยึดคืน ต่อมาการสอบสวนว่า การปล่อยกู้ซื้อบ้านของธนาคาร ได้มีการทำสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่
ในฐานะอัยการของรัฐแคลิฟอร์เนีย กมลา แฮร์ริส พบว่า ธนาคารใช้วิธีการผิดกฎหมายกับเจ้าของบ้านที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และยังทำผิดระเบียบของธนาคารเอง เช่นปล่อยให้กู้แก่คนที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะกู้ตั้งแต่แรก เธอจึงดำเนินการให้ธนาคารจ่ายค่าชดเชยแก่คนที่ถูกยึดบ้าน ในตอนแรก สำหรับแคลิฟอร์เนีย ธนาคารจะให้ค่าชดเชย 2 พันล้านดอลลาร์ ต่อมายอมที่จะเพิ่มเป็น 25 พันล้านดอลลาร์ ผลจากการต่อสู้ของกมลา แฮร์ริส และอัยการทั่วสหรัฐฯในเรื่องนี้ เรียกกันว่า ข้อตกลงการจำนองแห่งชาติ (National Mortgage Settlement)
กมลา แฮร์ริสจะชนะทรัมป์หรือไม่?
หลังจาก โจ ไบเดน ประกาศถอนตัว และ กมลา แฮร์ริส เสนอตัวลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ภายใน 48 ชั่วโมง เธอก็สามารถได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนท่วมท้น มากพอที่จะเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต สิ่งนี้สร้างความประหลาดใจมาก เพราะมีไม่กี่คนที่คิดว่า กมลา แฮร์ริส จะสามารถระดมคะแนนเสียงสนับสนุนได้ล่วงหน้า ก่อนการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตในวันที่ 19 สิงหาคมนี้
การเป็นตัวแทนผู้สมัครของดีโมแครทของ กมลา แฮร์ริส มีความหมายสำคัญ ช่วยลบล้างเสียงวิจารณ์ที่ว่าเธอเป็นคนขาดแรงขับดัน และขาดสิ่งที่เป็นจุดศูนย์รวม ช่วงเป็นรองประธานาธิบดีก็ขาดบารมี และทักษะพื้นฐานทางการเมือง การได้รับความนิยมที่พุ่งขึ้นมารวดเร็ว แสดงว่าคนส่วนหนึ่งมองเธอผิดพลาด โดยเฉพาะการประเมินผิดพลาดเรื่องความเป็นผู้นำของผู้หญิง
นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครประธานาธิบดีปี 2016 ของพรรคเดโมแครต เขียนบทความลง The New York Times ว่า “นางแฮร์ริสถูกประเมินต่ำมาตลอด เหมือนกับสตรีทางการเมืองคนอื่นๆอีกจำนวนมาก แต่เธอเตรียมตัวมาอย่างดี ในบทบาทของผู้กล่าวโทษ และอัยการในแคลิฟอร์เนีย เธอต่อสู้กับพ่อค้ายาเสพติด พวกสร้างมลพิษ และพวกปล่อยเงินกู้ที่เอาเปรียบ ในฐานะรองประธานาธิบดี เธอได้ร่วมกับประธานาธิบดี ในการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุด”
แต่บทนำของนิตยสาร The Economist ฉบับล่าสุดกล่าวว่า ยังมีเวลากว่า 100 วัน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ที่ กมลา แฮร์ริส จะเอาชนะคะแนนนิยมที่ทรัมป์นำอยู่ ปัญหาอยู่ที่ว่าเธอจะสามารถทำได้หรือไม่ ภาระกิจที่จะเอาชนะทรัมป์ได้ คือการทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งนี้ เป็นการลงคะแนนเสียงแบบประชามติต่อตัวทรัมป์ แต่หากน้ำเสียงการเลือกตั้งเป็นประเด็นเรื่องผลงานของรัฐบาลไบเดน ที่เธอมีส่วนร่วม เธอคงจะแพ้การเลือกตั้ง
กมลา แฮร์ริส จะชนะการเลือกตั้ง เธอต้องผ่านการทดสอบทางการเมือง สิ่งแรกคือ การนำเสนอว่า อะไรคือสิ่งที่จะเป็นรากฐานการเป็นประธานาธิบดีของเธอ อัตลักษณ์การเป็นสตรีผิวดำจากชาวเอเชียใต้คนแรก ที่ลงสมัครเป็นประธานาธิบดี สามารถทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ “ความฝันของคนอเมริกัน” เธอหลีกเลี่ยงการถูกดึงด้านนโยบายไปในทิศทางของฝ่ายซ้าย แต่เสนอนโยบายเป็นไปได้ทางปฏิบัติ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนอเมริกันทั่วไป
ส่วน Michael Sandel อาจารย์สอนปรัชญาของฮาร์วาร์ด เขียนบทความใน The New York Time เรื่อง How Kamala Harris Can Win ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กมลา แฮร์ริ หาเสียงเรื่องการปกป้องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และในฐานะที่เคยเป็นอัยการรัฐ ได้ดำเนินคดีกับคนละเมิดกฎหมายมาทุกประเภท และจึงรู้ดีว่าโดนัลด์ ทรัมป์เป็นคนทำผิดกฎหมายแบบไหน
แต่การปกป้องสิ่งนี้ไม่พอที่จะเอาชนะทรัมป์ กมลา แฮร์ริส จะต้องเข้าใจ และจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นหลายอย่าง ที่คนอเมริกันเห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นปัญหาที่ทรัมป์เอามาใช้ประโยชน์ในการหาเสียง เช่น คนอเมริกันที่ไม่ได้เรียนระดับวิทยาลัยรู้สึกว่า ทัศนะและการงานของพวกเขา ถูกคนชั้นนำละเลยมองข้าม กมลา แฮร์ริส ต้องเสนอแนวคิดที่ไปเชื่อมโยงกับคนลงคะแนนเสียง ที่เป็นชนชั้นแรงงาน จึงจะสามารถดึงการเมืองที่เป็นแบบก้าวหน้า ออกมาจากขบวนการ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง” (MAGA) ที่เป็นฐานที่มั่นการเมืองของทรัมป์
การจะดึงความเชื่อมั่นของคนทำงานกลับมาได้ พรรคเดโมแครตจะต้องยอมรับความจริงว่า นโยบายโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ที่พวกเดโมแครตและรีพับลิกันกระแสหลักได้ดำเนินการในหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้คนระดับนำได้ประโยชน์มหาศาล แต่คนใช้แรงงานต้องสูญเสียการจ้างงาน และค่าแรงที่ไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 คนชั้นนำใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ ไปอุ้มสถาบันการเงิน แต่ปล่อยให้คนธรรมดาที่กู้เงินซื้อบ้าน ต้องหาทางช่วยตัวเอง
หลายสิบปีที่ผ่านมา นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ สร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง สหภาพแรงงานตกต่ำ แรงงานได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรน้อยลง ในสิ่งที่ตัวเองเป็นผู้ผลิต ภาคการเงินมีสัดส่วนมากขึ้นในเศรษฐกิจ และก็ไหลโอนไปยังสินทรัพย์ที่เป็นการเก็งกำไร เช่น อนุพันธุ์การเงินต่างๆ มากกว่าสินทรัพย์การผลิตในเศรษฐกิจแท้จริง เช่น โรงงาน บ้าน ถนน และโรงเรียน
Michael Sandel เสนอว่า การเอาชนะทรัมป์ คือการให้ความสำคัญกับการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจของสังคม ที่มีผู้ชนะและผู้แพ้ ยอมรับรู้ในสิ่งที่เป็นความไม่พอใจของคนใช้แรงงานชาวอเมริกัน เสนอแนวทางรูปธรรมต่อการให้ “คุณค่าศักดิ์ศรีของงาน” และการได้รับผลตอบแทนที่ยุติธรรม การปกป้องประชาธิปไตยมีความหมายมากกว่าการป้องกันอันตรายจากทรัมป์ ความหมายต่ำสุดของประชาธิปไตยคือ เมื่อคุณแพ้ คุณก็ลงจากอำนาจ
แต่ประชาธิปไตยในความหมายสมบูรณ์ที่สุดคือ การที่พลเมืองได้ไตร่ตรองร่วมกันในเรื่องความยุติธรรม และในสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ ศักดิ์ศรีคุณค่าของงานมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ที่มั่นคงของประชาธิปไตย เพราะทำให้คนเราทุกคนมีส่วนสร้างความสำเร็จ ให้กับสาธารณประโยชน์ การที่คนทำงานทุกคนได้รับศักดิ์ศรีคุณค่า และได้รับการยอมรับในการทำในสิ่งนี้
เอกสารประกอบ
The Truths We Hold: An American Journey, 2019.
How Kamala Harris Can Win, Michael Sandel, July 27, 2024, nytimes.com