ปส.จัดเสวนา – ระดมสมองขับเคลื่อน “Small Modular Reactor” ภายใต้แผน PDP2024 ตอบโจทย์มาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง – รักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้า – ลดต้นทุนการผลิต – เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน – นำพาประเทศสู่เป้าหมาย ‘Net Zero’ อย่างยั่งยืน
ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันจากมาตรการทางการค้า ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ทั่วโลกพยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จึงเป็นพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความไม่แน่นอนที่ผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา และต้องพึ่งพาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ซึ่งยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้หลายประเทศชะลอการลงทุนเพื่อรอให้เทคโนโลยีมีราคาถูกลง
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ “Small Modular Reactor : SMR” จึงถูกจับตามองว่า “จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมของการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด” เนื่องจากสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เช่นเดียวกับพลังงานหมุนเวียน โดยในการประชุม COP28 ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำโลก 22 ชาติ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม เพื่อผลักดันให้มีการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็น 3 เท่าภายในปี พ.ศ. 2593 สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 หรือ “แผน PDP2024” ที่ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้า SMR เอาไว้ในช่วงปลายของแผน PDP2024
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดเสวนาหัวข้อ “มองต่างมุม SMRs for net Zero” ภายใต้งาน “อว.แฟร์” โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิวเคลียร์หลายท่านมาให้มุมมองต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (แผน PDP2024) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ภายใต้แผน PDP2024 ที่ได้บรรจุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ “Small Modular Reactor : SMR” ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมีกำลังผลิตไม่เกิน 300 MW เข้าไปอยู่ในแผน PDP2024 ณ ฮอลล์ 3 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยนายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การที่จะมีโรงไฟฟ้า SMR ในปี 2580 ตามร่างแผน PDP2024 นั้น จะต้องเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายในปี 2574 สำหรับปัจจุบัน กฟผ. ได้เตรียมการโครงการเบื้องต้นทั้งการคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากเดิมที่เคยทำเมื่อปี 2011 นำมาอัพเดท และมีพื้นที่ที่มีศักยภาพระดับหนึ่ง การสรรหาเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับกับประชาชน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเนื่องจากเป็นโครงการระดับชาติ เพราะโรงไฟฟ้า SMR เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ สำหรับประเทศไทยเคยมีแนวคิดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 30 ปี กฟผ. จึงดำเนินการพัฒนาบุคลากรมาตลอด ทั้งการจัดหลักสูตรอบรมทางด้านนิวเคลียร์ ร่วมงานวิจัยใหม่ ๆ กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนากับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
กฟผ.เล็งสร้างโรงไฟฟ้า SMR ในภาคอีสาน – ใต้ ชี้เหมาะสมที่สุด
นายศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีเทคโนโลยี SMR เข้ามา ทาง กฟผ. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกสถานที่ตั้งแล้ว โดยใช้ข้อกำหนดของ IAEA นำมากำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพมีอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ซึ่งพิจารณาจากการตอบสนองปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ความปลอดภัย สายส่งไฟฟ้าแรงสูง การจัดหาแหล่งน้ำ กำลังผลิตประมาณ 300 เมกะวัตต์
ทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้า SMR – ประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างไร?
ถามว่า SMR จะมีผลต่อระบบไฟฟ้าของไทยอย่างไร นายศิริวัฒน์ กล่าวว่าประการแรก SMR จะช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load) สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถใช้เดินเครื่องร่วมกับพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นได้ โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประการที่ 2 ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพราะใช้เชื้อเพลิงในปริมาณน้อยมากเพราะมีความร้อนสูง ยกตัวอย่าง ยูเรเนียม 1 กิโลกรัม สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับถ่านหิน 100,000 กิโลกรัม หรือก๊าซธรรมชาติ 50,000 กิโลกรัม เป็นต้น โดยโรงไฟฟ้า SMR ขนาด 300 เมกะวัตต์ จะใช้แร่ยูเรเนียมเฉลี่ยประมาณ 12 ตันต่อปี ในขณะที่แร่ยูเรเนียมยังมีอยู่ในปริมาณมาก สามารถเลือกซื้อได้จากหลายแหล่ง ทำให้ไม่เกิดการผูกขาดเหมือนก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน ราคาเชื้อเพลิงค่อนข้างคงที่ ไม่ผันผวน และมีต้นทุนที่แข่งขันได้

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มองว่าปัจจัยที่จะทำให้ SMR เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย สิ่งสำคัญคือ ต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ประเทศไทยมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน หรือ เป็นแค่ผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ถ้าเรามีเป้าหมายจะสร้างรูปแบบ SMR ของประเทศไทยเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ใหญ่มาก ทั้งกำลังคนและเทคโนโลยีอาจมีไม่เพียงพอ ประเทศไทยต้องเลือกบาง Sector ที่มองว่าประเทศไทยมีโอกาสและเรามีความต้องการ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนต่าง ๆ ต้องร่วมกันหารือ และเสนอให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะเดินอย่างไร ทั้งนี้นอกจาก SMR จะใช้ในผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแหล่งพลังงานความร้อนในอุตสาหกรรมต่าง ๆได้อีกด้วย อาทิ การผลิตไฮโดรเจน กระบวนการผลิตน้ำจืด เป็นต้น

ปส.เล็งออกเกณฑ์กำกับดูแลโรงไฟฟ้า SMR ภายใต้มาตรฐาน “IAEA”
นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าถามความพร้อมเรื่องกฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับแล้วคือ พระราชบัญญัตินิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีการกำหนดหมวดเกี่ยวกับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ อยู่แล้ว แต่โรงไฟฟ้า SMR ก็จะมีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่เคยร่างไว้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับเทคโนโลยี และบริบทของกฎหมายไทยด้วย ขณะนี้วิศวกรนิวเคลียร์ก็มีการศึกษา SMR ในแต่ละประเทศ รวมทั้งระเบียบของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ “IAEA” ซึ่งจะต้องมีการปรับหลายส่วน
นางเพ็ญนภา กล่าวต่อว่า ส่วนการออกใบอนุญาตของสถานประกอบการในการตั้งโรงไฟฟ้า SMR จะใช้มาตรฐานสากลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้า การก่อสร้าง การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งที่ผ่านมาพระราชบัญญัตินิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ใช้เวลาในการยกร่างเกือบ 10 ปี แต่ก็มีมาตรการเร่งรัดเช่นกัน

ด้าน รศ.ดร.สมบูรณ์ รัศมี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงไฟฟ้า SMR มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ “SMR” ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยมีกำลังผลิตไม่เกิน 300 MW ถามว่าทำไมประเทศไทยถึงต้องการโรงไฟฟ้า SMR ประการแรก Flexible Power Generation สามารถเพิ่มโมดูล หรือ กำลังผลิตได้เหมาะสมตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป หรือ หากต้องเปลี่ยน หรือ ซ่อมบำรุงสามารถเลือกเฉพาะโมดูลที่มีปัญหาได้ไม่ต้องหยุดการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ประการที่ 2 Performance Comparable มีความปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้ายุคปัจจุบัน และประหยัดมากขึ้น
ดังนั้น การจัดให้มีการศึกษา วิจัย เพื่อทบทวนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มาก และผลการศึกษาในเบื้องต้นได้เห็นความสำคัญของ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ (Nuclear Technology) พร้อมทั้งได้เสนอให้เป็นสาขาเทคโนโลยีที่ควรเน้น (Focused Technology) ในกลุ่มเป้าหมายเทคโนโลยี เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มโลกและประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ การศึกษาวิจัยความเหมาะสมของเทคโนโลยี SMRs ในมิติต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรต้องดำเนินการ เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาตัดสินใจ
เตาปฏิกรณ์ฯออกแบบตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง – รองรับภัยธรรมชาติ
ถามว่าโรงไฟฟ้า SMR มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปัจจุบันโรงไฟฟ้า SMR ถูกออกแบบขึ้นมาภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถหยุดการทำงานได้เอง โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะมีระบบหล่อเย็นภายในตัว สามารถระบายความร้อนได้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่มาควบคุมเหมือนในอดีต ทั้งนี้ การออกแบบระบบระบายความร้อนของโรงไฟฟ้า SMR จะใช้หลักการทางธรรมชาติ เช่น การถ่ายเทความร้อนจะอาศัยหลักการของน้ำ ซึ่งไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น โรงไฟฟ้าจะไม่เกิดความเสียหาย ถึงแม้จะไม่มีกระแสไฟฟ้าในระบบเลยก็ตาม นอกจากนี้เทคโนโลยีของบางประเทศได้ออกแบบให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ใต้ดิน เพื่อช่วยลดความเสี่ยง เมื่อเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งระบบหล่อเย็นต้องใช้กระแสไฟฟ้า อีกทั้งการลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ทำให้การควบคุมตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุ และรังสีรั่วไหลจึงน้อยลงตามไปด้วย
ตอบโจทย์ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าไทย
ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า SMR ที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า Akademik Lomonosov เป็นโรงไฟฟ้า SMR แบบลอยน้ำ ขนาด 70 MWe ตั้งอยู่ที่เมืองชูคอตกา ทางตอนเหนือของประเทศรัสเซีย สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 1 แสนคน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ HTR-PM ของประเทศจีน ขนาด 210 MWe เริ่มเดินเครื่องเมื่อปี 2565 สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 3 แสนครัวเรือน
นอกจากนี้หลายประเทศต่างก็มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ในอนาคต อาทิ ประเทศนอร์เวย์วางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรม หรือ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วนประเทศแคนาดาตั้งเป้าดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR แห่งแรกภายในปี 2577 และเกาหลีใต้ได้ประกาศร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR ให้พร้อมใช้งานด้วย ส่วนประเทศไทยที่ได้บรรจุโรงไฟฟ้า SMR ไว้ในช่วงปลายแผนของร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024)
…โรงไฟฟ้า SMR จึงถือเป็นเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยุคใหม่ ตอบโจทย์ทั้งการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมแข่งขันได้ และช่วยให้ประเทศมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ได้อย่างยั่งยืน…