ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ ชู 5 ภารกิจหลัก ย้ำ ‘ความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย’ ชี้ ‘ความไม่แน่นอนคือความแพง’

ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ ชู 5 ภารกิจหลัก ย้ำ ‘ความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย’ ชี้ ‘ความไม่แน่นอนคือความแพง’

20 มีนาคม 2024


“เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่า กฟผ. ชู 5 ภารกิจหลัก ตอกย้ำ ‘ความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย’ส่วนระบบ System Operator ยังไม่แยกขอเวลาปรับปรุงระบบเพื่อให้พร้อมโชว์ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมตอบสนองนโยบายรัฐ ชี้รัฐต้องนิ่ง เพราะ’ความไม่แน่นอนคือความแพง’

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. ได้กำหนด 5 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ (1) ความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย (2) ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (3) ดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม (4) เป็นเครื่องมือในการตอบสนองนโยบายรัฐ และ (5) การนำส่งรายได้เข้ารัฐ

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจที่ 1 เป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด (First Priority) คือ ‘ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย’ เพราะไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ เป็นต้นทุนของทุกภาคอุตสาหกรรมและประเทศ ขณะเดียวกันการจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน เขาดูว่าระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพหรือไม่และราคาค่าไฟสมเหตุสมผลไหม ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ”

นายเทพรัตน์ กล่าวต่อว่า ในะระย 4-5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากพลังงานไฟฟ้าที่เข้ามาในระบบในส่วนที่ควบคุมได้(พลังงานไฟฟ้าที่จะมาแก๊ส/น้ำ/ถ่านหิน) และไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้(พลังงานไฟฟ้าจากลม แสงแดด เป็นต้น) คาดว่าจะมีไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียนประมาณ 50% ภายในปี 2573 ปัจจุบันไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทะยอยเข้ามาแล้ว ขณะที่คาดว่าปี 2573 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะสูงสุด จะไปแตะโรงไฟฟ้าที่ควบคุมได้ ทำให้เริ่มจะมีความเสี่ยงหากมีการใช้เพิ่มขึ้นมากกว่านั้น หากเราสั่งไฟที่เหลือไม่ได้ เราจะมีปัญหากับระบบความมั่นคง

“หากสั่งไฟที่เฟลือไม่ได้จะมีปัญหากับระบบความมั่นคง เราอาจจะมีการสุ่มพื้นที่ดับไฟในบางส่วน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดี แม้จะทำเพื่อรักษาเสถียรภาพในส่วนที่เหลือ เราไม่ต้องการแบบนั้นเพราะจะทำให้คนบางกลุ่มเดือดร้อน ซึ่งเป็นเทคนิคในการบริหาร อย่างไรก็ตามพลังงานหมุนเวียนจะเข้ามาเรื่อยๆตามแผน PDP ตามความต้องการไฟสีเขียว แต่สิ่งที่เราต้องการคือความมั่นคง เราหวั่นไหวในเชิงเทคนิคว่าเราจะต้อนรับพลังงานหมุนเวียนอย่างไร ไม่ใช่เราไม่ต้อนรับ แต่เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องออกแบบให้เกิดความมั่นคง ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก ตัวอย่างเช่น ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant)มากขึ้นในการเร่งเครื่องหรือหรี่เครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้น”

นอกจากนี้เราต้องนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงระบบให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น สถานีต่างๆมีการเก็บข้อมูล สิ่งสำคัญในวันนี้เราออกแบบเพื่อดูแลในเรื่อง Demand Response เหมือนเรามีสระน้ำ คนผลิตไฟฟ้าจากหลายภาคส่วนมีหน้าที่เติมน้ำเข้าสระ ส่วนคนใช้ก็ดูดน้ำไปใช้ 2 ฝ่ายนี้ต้องรักษาสมดุลทั้งขาเข้าและขาออก เพื่อให้น้ำคงระดับที่นิ่งๆ นี่คือเสถียรภาพของไฟฟ้า ดังนั้นศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center)มีหน้าที่ดูให้ไฟมีเสถียรภาพ วันดีคืนดีมีแสงแดดมา เหมือนเทน้ำเข้ามาในสระโดยไม่ได้นัดหมาย โดยไม่รู้จะเข้ามาตอนไหน แต่วันนี้พลังงานหมุนเวียนที่เข้ามายังไม่เยอะมาก จึงยังสามารถบริหารจัดการได้อยู่ แต่ตามแผน PDP เรากำลังจะมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาโดยไม่รู้จะเข้ามาตอนไหน ดังนั้นคนที่ควบคุมระดับไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการบริหารจัดการกับพลังงานหมุนที่จะเข้า โดยไม่ได้นัดหมาย เป็นสิ่งเราต้องมี Grid Modernization และต้องมาคุยเรื่อง Demand Response Control Center เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า

นายเทพรัตน์ เสริมว่า “เวลาไฟไม่พอมีวิธีการบริหาร 2 อย่าง สมัยก่อนสุ่มตัดไฟ บางบ้านไฟดับ เขาเดือดร้อน ซึ่งไม่มีใครต้องการแบบนั้น แต่ปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับคนทุกคน เราเลือกวิธีลด Load กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ให้เราปรับลดหรือหรี่ไฟได้ นั่นคือ Demand Response Control Center โดยมีเงื่อนไขตามที่ตกลงกันและเขาจะได้รายได้ชดเชยด้วยไม่ได้หรี่ฟรีๆ เป็นการลดโหลดโดยที่ผู้ใช้ไฟไม่ได้เดือดร้อน”

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่จะมาตอนไหนอย่างไรที่ไม่สามารถรู้ได้นั้น นายเทพรัตน์กล่าวว่า “จะทำอย่างไรให้เรารู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมงว่าวันนี้เราจะได้ไฟฟ้าจะพลังงานแสงแดดกี่เมกะวัตต์ จากพลังงานลมกี่เมกะวัตต์ เรามีดีไซน์ในเรื่องการพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center:REFC) เพื่อให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีพลังงานหมุนเวียนมาจากแหล่งไหนและในช่วงไหนบ้าง ซึ่งได้เปิดศูนย์นี้เมื่อปลายปีที่แล้ว และทดลองใช้งาน ทำให้การบริหารจัดการมีความละเอียดมากขึ้นกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ต่างๆ เพราะมีศูนย์พยากรณ์อากาศตามจุดพื้นที่ต่างๆ นี่คือสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้สิ่งที่ไม่แน่นอน แน่นอนมากขึ้น ทำให้เรารู้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมในการเดินเครื่องมารองรับให้ทัน

“ศูนย์นี้เป็นการพัฒนาโดยทีมงานของกฟผ.และโลกใบนี้ยังไม่มีใครทำเรื่องนี้สมบูรณ์ได้ เรากำลังพัฒนาเรื่องนี้อยู่ทั้ง Demand Response Control Centerและ REFC มาทำงานผสมผสานกันอย่างสมดุล ให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และศูนย์ REFC นี้เราเรียกตัวนี้ว่าโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ”

ภารกิจที่ 2 บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

ภารกิจที่ 3 ดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า เป็นการนำมาใช้ได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งเทคโนโลยี่ใหม่ๆอื่นๆที่มีเสถียรภาพในเรื่องความปลอดภัย เป็นพลังงานทางเลือก อาทิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ขนาด 50-300 เมกะวัตต์ รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

ภารกิจที่ 4 เป็นเครื่องมือ/กลไกของรัฐในการตอบสนองนโยบายรัฐ “วันนี้ผมมาแล้ว ผมต้องการทำให้กฟผ.แข็งแรง หากกฟผ.ไม่แข็งแรง ใครจะมาบัฟเฟอร์ค่าไฟแสนกว่าล้าน เพื่อประโยชน์ของประเทศ กฟผ.ต้องเป็นกลไกตรงนี้ สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator : SO) มีคนถามว่าจะทำอย่างไร ด้วยกฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย แต่ประเด็นที่เรากังวลคือเรื่องความมั่นคงไฟฟ้า วันนี้ SO ยังไม่พร้อมเทคโนโลยี่เริ่มล้าสมัย เราจำเป็นต้องปรับปรุงซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์หลายส่วน เพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น เป็นสิ่งที่เราต้องรีบปรับปรุงคุณภาพและการบริหารจัดการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน นโยบายภาครัฐต้องการแยก SO ออกมาเพื่อให้อิสระ โปร่งใส แต่ด้วยยังมีปัญหาทางเทคนิคที่ต้องปรับปรุงให้แข็งแรงรองรับก่อน”

“ส่วนความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทีมงานของ SO จะไปออกแบบให้การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้ง must run(โรงไฟฟ้าที่ต้องดูแลเรื่องความมั่นคง), must take(โรงไฟฟ้าที่ต้องเดินเครื่องด้วยเงื่อนไขสัญญา ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้า SPP ที่มีลูกค้าในมืออยู่แล้ว) และ merit order (โรงไฟฟ้าไหนราคาถูก/แพง) ดังนั้น SO จะต้องนำเสนอให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าที่เข้าข่าย must run มีอะไรบ้าง must take มีใครบ้าง merit order มีใครบ้าง และสามารถดูข้อมูลเรียลไทม์ได้เลยว่าโรงไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ที่ไหนบ้างเป็นของรัฐ เอกชน ใครเดินเครื่องอยู่ไหม ไฟฟ้าวิ่งจากไหนไปไหน ซึ่งเป็นข้อมูลที่โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ข้อมูลแบบนี้ไม่มีอะไรต้องปิดบัง ดังนั้นศูนย์ SO ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด ดังนั้นการตรวจสอบได้ โปร่งใส มันทำได้ มันแฟร์ กับเงื่อนไขที่เราได้รับมาจากผู้กำกับดูแล(สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน : กกพ.) ซึ่งเป็นผู้กำกับกติกา และศูนย์นี้จะเป็นมืออาชีพที่ทำงานภายใต้เงื่อนไข และมีการตรวจสอบจากผู้กำกับดูแลได้”

  • เมื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าสั่นคลอน (2) ปฏิบัติการ “บิ๊กพลังงาน” สั่งแยก SO ออกจาก กฟผ.!!
  • ภารกิจที่ 5 การนำส่งรายได้เข้ารัฐ เนื่องจาก กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

    นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

    นายเทพรัตน์ ให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 20 มีนาคม 2567 กฟผ.มีเงินสภาพคล่องที่ราว 90,000 ล้านบาท และกล่าวต่อว่า “ภาครัฐก็พยายามประวิงค่า FT กฟผ.ก็แบกรับค่า FT ต่อเนื่องมา วันที่เราไม่ได้ค่าไฟตามค่า FT ทำให้เราขาดสภาพคล่อง แต่ช่วงนี้เริ่มดีขึ้น เข้าใจว่าราคาแก๊สที่ผ่านมาไม่ได้สูงอย่างที่คาดการณ์ โอกาสที่เราจะได้คืนกลับมามากขึ้น ช่วยลดปัญหาด้านสภาพคล่อง”

    “อีกส่วนเรามีเครดิตไลน์อยู่ ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้ แต่ไม่ได้อยากใช้ เพราะมีค่าดอกเบี้ย ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐทำเป็นข้อดี ช่วงแรกเราอาจโดนเยอะ เพราะภาครัฐลดค่า FT แต่ไม่ได้ล็อกค่าแก๊ส กลายเป็นว่าเราเก็บค่า FT ไม่ได้ แต่เราต้องจ่ายค่าแก๊สเต็มๆ ทำให้ปัญหาสภาพคล่องมันฝืด แต่ปัจจุบันดีขึ้นคือภาครัฐพยายามฟีดค่าแก๊สและล็อกค่า FT ด้วย ”

    พร้อมย้ำว่า “เรายังให้ความสำคัญกับเครดิตเรทติ้ง เราไม่พยายามไม่ผิดนัดชำระหนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ หากถูกปรับลดเครดิต ทำให้มีผลต่อต้นทุนเงินกู้จะแพงขึ้น ฉะนั้นการบริหารจัดการสภาพคล่องต้องขอให้ภาครัฐช่วยดูแล และเราเต็มที่กับภาครัฐในการดูแลประชาชน ถ้าหาก กฟผ. สภาพคล่องไม่ได้และต้องไปกู้เพิ่ม ภาครัฐก็ต้องไปค้ำประกัน ก็เป็นหนี้สาธารณะ มีดอกเบี้ยอีก จะเห็นว่ามีผลต่อเนื่องไม่ดี ฉะนั้นเราเอาตัวเลขที่ชัดเจน เคลียร์ และหวังว่าจะมีการสื่อสารมากขึ้น”

    ผู้สื่อข่าวสื่อยังถามว่า ถ้า FT คงค้างกลับมาใน 7 งวดจะไม่มีปัญหาสภาพคล่องใช่หรือไม่ นายเทพรัตน์ ตอบว่า “เราต้องการให้เงื่อนไขการคืนมันนิ่ง ถ้าคืนก็คือคืน เพราะเราจะได้บริหารได้ ตอนนี้เราก็วางแผนอยู่แล้วว่าถ้าคืน 7 งวดก็ 7 งวด จะได้บริหาร…ต้องการความแน่นอน ความไม่แน่นอนคือความแพง อะไรที่ไม่แน่นอนจะบริหารไม่ได้ และแพง”

    “อีกอันคือความไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยนักเรื่องค่าไฟ 4.18 บาท ค่าไฟไม่ควรต้องมาลุ้นเฉพาะงวด ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่ามันผิดถูกอย่างไร แต่เราเห็นว่าทุกอุตสาหกรรมต้องมีต้นทุนสินค้าของเขา ถ้าค่าไฟแพงบ้างถูกบ้าง เวลาผู้ประกอบการประเมินต้นทุนเขาจะคิดค่าไฟเป็นต้นทุนเขาจะใช้ค่าไหน เขาต้องเอาค่าที่สูงไว้ก่อนและบวกเข้าไป กลายเป็นค่าสินค้า แต่ถ้าค่าไฟนิ่งก็ไม่ต้องเผื่อ เป็นต้นทุนจริงๆ”

    “อะไรที่ไม่แน่นอนคือความแพง ผู้ประกอบการทุกคนเขาต้องคิดค่าไฟเผื่อไว้ก่อน เพราะถ้าค่าไฟแพงๆ เขาจะได้ไม่ขาดทุน เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ราคาพลังงานก็ไม่ควรโยโย่”

    นอกจากนี้มีการถามย้ำเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ในมิติพลังงานหมุนเวียน โดย นายเทพรัตน์ กล่าวว่า “กังวลอยู่แล้ว เรื่องพลังงานหมุนเวียนมีความไม่แน่นอน อย่างที่บอกความเสี่ยงต่อความมั่นคงมันมีมูลค่าสูงมาก ภาคนโยบายอาจไม่มีอะไรผิดพลาด แต่ถ้าเราดำเนินการไปแล้วมันเกิดไม่มีเสถียรภาพ เราที่ดูแลเรื่องความมั่นคงก็ต้องระมัดระวังเรื่องนี้ เรายืนยันว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน”

    และคำถามที่ว่าตลอดระยะเวลา 1 ปี 4 เดือนจะเห็นภาพ กฟผ. เป็นอย่างไร นายเทพรัตน์ ตอบในมุมของเทคโนโลยีว่า “วันนี้ผมว่าเป็น potential ของประเทศที่มีดิจิทัลแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการเรื่องพลังงานหมุนเวียนให้เกือบเป็นพลังงานหลักให้ได้ ผมว่าในโลกนี้ยังไม่มีใครทำได้ และถ้าไทยทำได้จะเป็นโอกาส เพราะจะเป็นแพลตฟอร์มที่ใครก็ต้องการ วันนี้นั่งตรงนี้เราสามารถไปควบคุม RE Forecast Center ได้ทุกประเทศ ขอเพียงแต่ได้ข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่ใดในโลก นี่คือสิ่งที่เราอยากสร้างให้ไทยเป็นโมเดลต้นแบบ และเป็นโอกาสทางธุรกิจ…อย่าลืมว่าเราพัฒนาระบบควบคุมด้วยตัวเองมาตลอด ถ้าเรามองโอกาส เราสามารถเอาไปทำธุรกิจต่อได้ ใครๆ ก็ต้องการระบบนี้ วันนี้หลายประเทศทั่วโลกดูงานของเราอยู่ ทุกประเทศต้องใช้หมด”

    พร้อมย้ำว่า “กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”