1721955
หลุยส์ บุนเญลส์ (1900-1983) ผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นครูชาวสเปน ผู้มีผลงานทั้งในสเปนเอง เม็กซิโก และฝรั่งเศส ครั้งหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า “God and Country are an unbeatable team; they break all records for oppression and bloodshed.” / “พระเจ้าและประเทศชาติ คือสองสิ่งที่ไม่อาจทำลายลงได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี้ได้ทำลายทุกสถิติการกดขี่และนองเลือด”
ที่เราขอยกคำกล่าวนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการกระตุกให้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่ในโลกนี้มีความเชื่ออันหลากหลาย และมนุษย์พยายามอย่างยิ่งยวดในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี และต่างก็แสวงหา “เสรีภาพ” อันเป็นเป้าหมายแรกๆ ของการจัดเกมกีฬาอันเก่าแก่ระดับโลกนี้ที่เราเรียกกันว่า “โอลิมปิก”
โอลิมปิกโบราณ
ชื่อของมันมาจากยุคกรีกโบราณ ที่มีการแข่งขันบนเขาโอลิมเปีย เพื่อบูชาเทพซุส (เซอุส เทพบิดรแห่งท้องฟ้า ตามตำนานเล่าว่าสถิตอยู่บนยอดเขา “โอลิมปัส” อันเป็นที่มาของชื่อภูเขา “โอลิมเปีย” และกลายเป็นชื่อเกมการแข่งขัน “โอลิมปิก”) ตั้งแต่ 776 ปีก่อนคริสตกาลและจัดทุก 4 ปี ซึ่งแม้ภายหลังกรีซจะตกอยู่ใต้การปกครองของโรมันก็ยังมีจัดอยู่ มีการบันทึกว่าครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี ค.ศ.393 แต่หลังจากปีนั้นยังคงพบหลักฐานว่ายังมีการจัดแข่งบางประเภทกีฬาอยู่ แม้กระทั่งเกมสิ้นสุดลงจริงๆ ในปี ค.ศ. 426 สมัยจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 2 (ค.ศ. 401-450) เพราะได้เกิดเหตุเพลิงไหม้วิหารเทพซุสบนเขาโอลิมเปีย (มีทฤษฎีเชื่อว่าจักรพรรดิเป็นผู้สั่งเผาเอง)
ส่วนในโลกปัจจุบัน เมื่อมีการสำรวจเขาโอลิมเปีย พบว่าวิหารที่มีเสาขนาดมหึมาเรียงรายค้ำยันได้หักลงสิ้น แรกๆ สันนิษฐานกันว่าอาจเพราะเหตุแผ่นดินไหวในปี 522 และ 551 หรืออาจเพราะสึนามิ น้ำท่วมใหญ่ แต่ล่าสุดในปี 2014 มีรายงานว่าอาจเป็นความจงใจทำลายวิหารนี้ในสมัยยุคไบแซนไทน์ (ค.ศ. 330-1453) เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาคริสต์อย่างเข้มข้นซึ่งมีแนวคิดหลักใหญ่คือ ห้ามบูชาพระเจ้าอื่นใด และห้ามกราบไหว้รูปเคารพ
โอลิมปิกสมัยใหม่
โอลิมปิกสมัยใหม่ภายใต้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1894 หรือ 130 ปีก่อน นับจากการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-23 มิถุนายนในปีนั้นเอง ณ มหาวิทยาลัยปารีส (หรือ “ฌอร์บอนน์”) ดังนั้น ในทางพฤตินัยแล้ว ฝรั่งเศสจึงถือเป็นตัวต้นเรื่องในการนำโอลิมปิกคืนสู่โลกใบนี้ แต่เพื่อเป็นเกียรติแด่ประเพณีดั้งเดิม ฝรั่งเศสจึงยืนยันว่าเกมปีแรกจะต้องเกิดขึ้นที่กรีซเท่านั้น นี่คือเหตุผลในการจัดโอลิมปิกยุคใหม่ที่เริ่มในปี 1896 ณ กรุงเอเธนส์ อันจะจัดทุก 4 ปีนับจากนั้น โดยในคราวแรกมีเพียง 14 ชาติ นักกีฬา 241 คน แข่งขัน 43 รายการ ส่วนครั้งที่สองจึงกลับมาจัดในปารีสปี 1900 ต่อมามีการจัดโอลิมปิกฤดูหนาวคั่น ปีแรกคือ 1924 ณ เมืองชามอนี ฝรั่งเศส และพาราลิมปิกสำหรับผู้พิการที่จะเริ่มแข่งต่อจากโอลิมปิก ครั้งแรกคือในปี 1988 ณ โซล เกาหลีใต้
คีย์สำคัญ
สิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับปารีส 2024 ในเกมโอลิมปิกคราวนี้ คงต้องย้อนกลับไปในงานแถลงข่าวเมื่อกรกฎาคม 2023 หนึ่งปีล่วงหน้าก่อนเปิดเกม โทนี แอสตันเกต แชมป์พายแคนูโอลิมปิกสามสมัย และหัวหน้าคณะกรรมการจัดงานปารีส 2024 กล่าวว่า “เราต้องการให้โอลิมปิกคราวนี้… เป็นรูปแบบใหม่… เราต้องการแสดงให้เห็นว่าปารีสและฝรั่งเศสสามารถรับช่วงต่อเกมกีฬานี้ในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากอดีต… ตื่นตาตื่นใจ และมีความยั่งยืน”
ตรงนี้ คือ 3 คีย์สำคัญของโอลิมปิกคราวนี้ 1. รูปแบบใหม่ 2. ตื่นตาตื่นใจ 3. ยั่งยืน
สำนักข่าว BBC รายงานว่า “ผู้จัดให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นฐานหน้าในแผนงานครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยกาซเรือนกระจกลง 50% เมื่อเทียบกับงาน ลอนดอน 2012 และรีโอ 2016 พวกเขาต้องการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างของยุคสมัยใหม่ โดยยังมีรายงานด้วยว่า โตเกียว 2020 (แต่จัดในปี 2021) แม้จะจัดในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่กลับปล่อยก๊าซคาร์บอนราว 1.96-2.42 ล้านตัน อันเกินกว่าค่าความเป็นกลางของคาร์บอน’
โทนี แอสตันเกต อธิบายว่า “เพื่อความยั่งยืน… เราต้องเปลี่ยนนิสัยเรา เพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดเกมการแข่งขันระดับโลก ไม่เช่นนั้นผู้คนจะไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน… ทั้งในเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก และในการใช้ชีวิตปกติประจำวัน… นี่คือเหตุผลที่เราจะกำหนดระดับความทะเยอทะยานที่สูงมาก เพื่อความยั่งยืน และส่งต่อใจความสำคัญเหล่านี้ออกไป”
ถึงตรงนี้คุณจะพบอีก 2-3 คีย์ คือ 4. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5. เป็นแบบอย่างในการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่ต่างไปจากเดิม (หรือง่ายๆ ว่า แหกกฎเดิมๆ) 6. สื่อสารและส่งต่อใจความสำคัญออกไป
ก๊าซเรือนกระจกมีหลายตัวด้วยกัน แต่เอาเป็นว่ามันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การตัดไม้ทำลายป่า การทำฟาร์มสัตว์ การขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในการทำฉนวนไฟฟ้า หรือกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การถลุงอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมเคมีต่างๆ สารที่ใช้ในการปรับความเย็น สเปรย์ กระบวนการฝังกลบขยะ ฯลฯ ซึ่งมีทางลด เช่น ควบคุมและลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้พลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบการขนส่งขนย้าย ปลูกต้นไม้ปลูกป่า ลดการใช้น้ำ กระดาษ ปุ๋ยเคมี สารเคมี พลาสติก (อันเป็นสิ่งที่ย่อยสลายยากและกระบวนการผลิตก็ทำให้เกิดคาร์บอน) ไปจนถึงการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล/อัปไซเคิลใหม่ และกำจัดขยะให้ถูกวิธี
จอร์จินา เกรนอน หัวหน้าฝ่ายความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อมของปารีส 2024 เสริมด้วยว่า “เราต้องการเป็นมหกรรมแรกที่สอดคล้องกับ ‘ข้อตกลงปารีส’ อย่างสมบูรณ์ ในแง่ความทะเยอทะยานด้านสภาพอากาศ… นี่คือส่วนหนึ่งของวิธีจัดการที่ต่างออกไปในการจัดการแข่งขันคราวนี้ให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น เรามองด้วยว่างานนี้จะเป็นเหมือนห้องแล็บปฏิบัติการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ในการมองหาหนทางแก้ปัญหาเพื่อลดการปล่อยกาซเรือนกระจก และให้สิ่งนี้เป็นมรดกสืบทอดไปยังโอลิมปิกคราวต่อ ๆ ไป”
ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อกำหนดการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2020 อันสืบเนื่องจากการเคยเจรจากันเอาไว้ระหว่างภาคีสมาชิกและได้รับความเห็นชอบ ณ กรุงปารีส เมื่อปี 2015 โดยครั้งนั้น โลร็อง ฟาบีอุส ประธานในที่ประชุมและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของฝรั่งเศส กล่าวว่า “นี่คือแผนการอันทะเยอทะยานและสมดุล… นี่คือจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ ในความพยายามลดโลกร้อน”

ทีมนักกีฬาประเภทรายบุคคลจากชาติเป็นกลาง
“การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไม่สามารถป้องกันสงครามและความขัดแย้งได้” IOC กล่าวขึ้นในแถลงการณ์ปี 2023 “และไม่สามารถจัดการกับความท้าทายทางการเมืองและสังคมทั้งหมดในโลกของเราได้ นี่คือขอบเขตของการเมือง แต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสามารถสร้างตัวอย่างให้กับโลกได้ โดยที่ทุกคนเคารพกฎเกณฑ์เดียวกันและเคารพซึ่งกันและกัน”
ความตกลงหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ครั้งเริ่มแรกโอลิมปิกโบราณแล้วคือ เมื่อมาทำการแข่งขัน รัฐคู่สงครามต้องมีการพักรบ นี่คือสาเหตุที่ปารีส 2024 คราวนี้มีการแบน 2 ประเทศ คือ รัสเซียกับเบลารุส ด้วยข้อหาร่วมกันก่อสงครามรุกรานยูเครน อย่างไรก็ตาม นักกีฬาจากทั้งสองประเทศสามารถเข้าร่วมได้ในแบบรายบุคคล แต่จะไม่ให้สถานะกับสองประเทศนี้ คือ ไม่มีการแสดงธงชาติ ไม่มีเพลงชาติ ไม่มีการแสดงสีหรือตราสัญลักษณ์ประจำชาติ และจะไม่มีการเชิญรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมงานครั้งนี้ โดยนักกีฬาจากทั้งสองประเทศนี้จะต้องใช้ “ธงนักกีฬาประเภทบุคคลจากชาติเป็นกลาง” หรือ athletes individuels neutres (AIN ตัวย่อฝรั่งเศส อันแปลเป็นอังกฤษว่า individual neutral athletes)
ที่ผ่านมารัสเซียเคยโดนโทษแบนคล้ายกันนี้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2015 เมื่อหน่วยงานต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency) พบว่าทีมนักกรีฑาจากรัสเซียฉีดสารกระตุ้น ตามรายงานระบุด้วยว่า “มีมากกว่าหนึ่งพันรายที่เชื่อมโยงกับการใช้สารกระตุ้นที่สนับสนุนโดยรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว แถมบางคนยังคว้าเหรียญทองด้วยซ้ำ และรัสเซียร่วมกันก่อการนี้อย่างเป็นเครือข่ายในระดับสถาบันและเกี่ยวข้องกับหน่วยสืบราชการลับ” รายงานนี้มีผลให้ IOC แบนรัสเซียตั้งแต่นั้น กระทั่งในงานโตเกียว 2020 และโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 นักกีฬาจากรัสเซียได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมได้ภายใต้ธงคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งรัสเซีย (ROC) โดยล่าสุด IOC ประกาศว่า “การคว่ำบาตรนี้จะยังไม่ยกเลิกในเร็วๆ นี้” แปลว่าถ้ารัสเซียยังไม่ปรับตัว ก็จะยังคงแบนในโอลิมปิกครั้งต่อๆ ไป
ทีมนักกีฬาโอลิมปิกผู้ลี้ภัย
“นี่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคนในโลก และจะทำให้โลกตระหนักถึงขนาดของวิกฤตินี้ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นสัญญาณส่งไปยังประชาคมระหว่างประเทศว่า ผู้ลี้ภัยเป็นเพื่อนมนุษย์ของเราและมีคุณค่าต่อสังคม” คือคำประกาศในปี 2016 ของประธาน IOC โทมัส บัค ในการจัดตั้งทีมผู้ลี้ภัย
อันต่อมาในปี 2017 ทาง IOC ได้จัดตั้งมูลนิธิโอลิมปิกผู้ลี้ภัยเพื่อช่วยเหลือในระยะยาว โดยทีมนี้จะใช้ธงและเพลงโอลิมปิกเป็นสัญลักษณ์ และเข้าร่วมแข่งขันตั้งแต่ปี 2016 ที่รีโอเดจาเนโร บราซิล อยู่ในลำดับสุดท้ายของขบวนพาเหรดก่อนประเทศเจ้าภาพจะเข้าสู่สนาม โดยในปารีสคราวนี้มีนักกีฬาผู้ลี้ภัย 37 คนจาก 11 ประเทศต้นทาง แข่งขันใน 12 ประเภท ในจำนวนนี้มีอยู่ 14 คนเป็นชาวอิหร่าน นอกนั้นคือ คองโก, ซูดาน, เอริเทรีย, ซีเรีย, เอธิโอเปีย, แคเมอรูน, อัฟกานิสถาน, คิวบา, เวเนซุเอลา
เสรีภาพนำประชาชน
ในแง่ปรัชญาแนวคิดหลายอย่างในปารีสโอลิมปิกคราวนี้ หัวใจหลักคือภาพวาดสีน้ำมัน La Liberté guidant le peuple (เสรีภาพนำประชาชน) โดย เออแฌน เดอลาครัว ที่เคยวาดเอาไว้เพื่อรำลึกถึงการปฏิวัติในวันที่ 26-29 กรกฎาคม (วันเวลาเดียวกันกับพิธีเปิดโอลิมปิกคราวนี้ คือ เวลาเย็นของวันที่ 26 กรกฎาคม) เมื่อปี 1830 อันเป็นการโค่นล้มกษัตริย์ชาร์ลที่ 10 แห่งราชวงศ์บูร์บง และนับเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่สอง หรือ The Three Glorious Days (สามวันอันรุ่งโรจน์)
เว็บ le24heures ของฝรั่งเศสอธิบายว่า “เดอลาครัวพรรณนาถึงเสรีภาพด้วยการใช้เทพีมารียาน (Marianne หรือ Liberty ลิเบอร์ตี/ลิเบอร์ตัส คือ เทพีเสรีภาพ ใช่แล้ว เธอคือสิ่งเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสมอบให้สหรัฐฯ เมื่อปี 1886 ไปตั้งบนเกาะลิเบอร์ตีในนิวยอร์ก นั่นแล / เพิ่มเติมโดยเรา) เธอมาในท่วงท่าราวเทพธิดากรีก เพราะฝรั่งเศสยกย่องว่ากรีกโบราณเป็นต้นกำเนิดแห่งประชาธิปไตย กองศพกับซากปรักหักพังพะเนินเป็นเหมือนแท่นนำขึ้นสู่ชัยชนะของประชาชน เสรีภาพที่มารียานเป็นตัวแทนนั้น เธอก้าวเท้าเปล่า และอกเปลือยนำสายตาไปสู่ธงชาติที่เลยพ้นออกไปจากกรอบพื้นที่บนผืนผ้าใบ”
อนึ่ง ชุดคลุมที่ทำให้เธอราวกับเทพธิดา เป็นเสื้อผ้าที่ผู้คนในเวลานั้นเลิกใส่กันแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ถูกพบเห็นคือเมื่อ 75 ปีก่อนเหตุการณ์นี้ อันเป็นการยืนยันว่าเธอคือเทพีมารียาน ส่วนนามนั้นที่จริงนั้นคือชื่อโดยทั่วไปที่หญิงฝรั่งเศสนิยมตั้งกัน นามนี้จึงเป็นเสมือนตัวแทนภาพโดยรวมของหญิงสาวสามัญชน
ธงไตรรงค์นี้มีหลากหลายความหมาย ก่อนการปฏิวัติครั้งแรก ธงชาติฝรั่งเศสเป็นสีขาวประดับดอกลิลลีสีทอง มีตราประทับราชวงศ์บูร์บงตรงกลาง เรียกว่าธงเฟลอร์เดอลี ดังนั้น สีขาวจึงเป็นสีของกษัตริย์ ทีนี้ เมื่อเกิดการปฏิวัติในปี 1789 กลุ่มปฏิวัติได้ชูธงไตรรงค์ (tricolore) อันเดิมทีหมายถึงฐานันดรทั้งสาม คือ น้ำเงิน-ขุนนาง, ขาว-คณะสงฆ์, แดง-สามัญชน ต่อมาสัญลักษณ์นี้ได้กลายความหมายให้สอดคล้องต่ออุดมการณ์ คือ liberté (เสรีภาพ: สีน้ำเงิน), égalité (เสมอภาค: สีขาว), fraternité (ภราดรภาพ: สีแดง) นำความหมายกลับคืนสู่ประชาชนและใช้ธงนี้เป็นธงชาติในปี 1794 เป็นเครื่องเตือนใจว่าประชาชนมีชัยชนะเหนืออำนาจเผด็จการกษัตริย์ กระทั่งช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์บูรบง ธงหลวงสีขาวก็ถูกกลับมาใช้แทนที่นับตั้งแต่ปี 1815 รวมถึงมีคำสั่งห้ามชูธงไตรรงค์นี้อีก ดังนั้น หลังจากโค่นกษัตริย์ได้สำเร็จอีกครั้งในปี 1830 ฝรั่งเศสจึงนำธงไตรรงค์นี้กลับมาใช้แทนที่ใหม่อีกครั้ง
หมวกฟรีเจียน(Phrygian) สีแดงสีของสามัญชน ที่มารียานสวมเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรกเมื่อปี 1789-1799 เดิมทีหมวกในลักษณะนี้ถูกใช้กันในกลุ่มชาวอาหรับ รวมถึงชาวซิท (ผู้เร่ร่อนชาวอิหร่านโบราณ), ชาวเมเดีย (อยู่ระหว่างอิหร่านตะวันตกกับเหนือ) และเปอร์เซียในยุคโบราณ ถูกบันทึกไว้โดยชาวกรีกโบราณที่ในสมัยนั้นเรียกคนเหล่านี้โดยรวมว่า “ชาวฟรียอง” แต่อันที่จริงเป็นหมวกที่ใช้โดยทั่วกันในกลุ่มชนเผ่าอิหร่านเกือบทั้งหมดในยุคนั้น ต่อมาแพร่หลายในหมู่ชาวโทรจันเมืองทรอย ไปจนถึงชาวอานาโตเลีย (เอเชียไมเนอร์ในตุรกี) และปรากฏบนรูปสลักวีรบุรุษกรีก-โรมัน เช่น ปารีส อีเนียส และแกนีมีด ฯลฯ
หมวกคล้ายกันนี้ในยุคจักรวรรดิโรมันถูกเรียกว่า “พิลีอัส” นิยมใส่กันในหมู่ชาวไร่ชาวสวนหลายภูมิภาค ไปจนถึงเสรีชนหรือไพร่ทาสที่ได้รับการปลดปล่อย โดยพวกทาสจะโกนหัวแล้วสวมหมวกนี้เป็นสัญลักษณ์ถึงการเปลี่ยนไปสู่สถานะทางสังคมใหม่ รวมถึงกลุ่มที่เรียกตนเองว่า ลิเบอราทอเรส (Liberatores) ที่มีผู้หนึ่งในนั้นคือ มาร์คัส จูเนียส บรูตัส ผู้ลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์ (100-44 ปีก่อน ค.ศ.) บรูตัสและผู้สมคบคิดได้ใช้หมวกนี้แขวนไว้บนปลายหอก เพื่อสื่อถึงการสิ้นสุดการปกครองแบบเผด็จการของซีซาร์ และการกลับคืนสู่ระบบสาธรณรัฐแบบโรมัน

หมวกโบราณนี้กลับมาโดดเด่นอีกครั้งในศตวรรษที่ 17 ช่วงการต่อสู้ของชาวดัตช์เพื่อปลดแอกจากสเปน มันถูกเรียกว่า หมวกเสรีภาพ (liberty cap) จนเดินทางมาสู่ฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปด เมื่อผู้นำการปฏิวัติได้ใช้เป็นตัวแทนถึงเสรีภาพ ก่อนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้นิยมสาธารณรัฐ (ไม่เอาระบอบกษัตริย์) อย่างไรก็ตาม ด้วยความโหดเหี้ยมในช่วงการโค่นล้มกษัตริย์ฝรั่งเศสครั้งแรก หมวกนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของพวกหัวรุนแรงในสายตาของชาวอังกฤษและชาวอเมริกันในศตวรรษที่สิบแปด กระทั่งศตวรรษที่สิบเก้า กลายเป็นว่าหมวกนี้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชในลาตินอเมริกา ปัจจุบันมันจึงไปปรากฏบนธงชาติและตราแผ่นดินของอาร์เจนตินา โบลิเวีย โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์ เฮติ นิการากัว ฯลฯ
หากสังเกตดีๆ ในบางคราวจะมีการประดับริบบิ้นสีไตรรงค์จีบเป็นรูปวงกลมเรียกว่า “cockade” ไว้บนหมวก ซึ่งมีมาตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรกในปี 1789 ใช้ในกองกำลังอาสาบางกลุ่ม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์หลักของการปฏิวัตินับตั้งแต่ปี 1792 เป็นต้นมา จนถึงเดี๋ยวนี้เมื่อมีการประท้วงอะไรก็ตาม ชาวฝรั่งเศสจะนิยมสวมหมวกฟรียองสีแดงประดับ cockade สีไตรรงค์เอาไว้ด้วย อันเป็นการแสดงออกว่า “เสรีภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน”
ในคอลัมน์ประวัติศาสตร์จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (NG) ของสเปน อธิบายที่มาของการปฏิวัติฝรั่งเศสคราวนั้นว่า “การปฏิวัติครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นเมื่อกษัตริย์ชาร์ลที่ 10 สร้างความตึงเครียดให้ปะทุขึ้นเมื่อพระองค์ประกาศใช้ พ.ร.บ.กรกฎาคม 1830 เพื่อหมายจะยกเลิกเสรีภาพของสื่อมวลชน ยุบสภาผู้แทนราษฎร และเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งเพื่อสนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเต็มที่ ทำให้วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 1830 หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ พ.ร.บ. นี้ พร้อมกับแถลงจาก อดอล์ฟ เธียร์ส ฝ่ายต่อต้านกษัตริย์ผู้สนับสนุนเสรีนิยม และลงนามโดยนักข่าวอีก 43 คน ความว่า“เมื่อระบอบการปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายถูกแทรกแซง การใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขตได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว… การเชื่อฟังจึงหมดหน้าที่ลง!” เย็นวันนั้น ฝูงชนมารวมตัวกันในสนามหลวงปาแล-รัวยาล ตำรวจพยายามจะปิดสวน แต่ฝูงชนก็แห่แหนกันมามากขึ้นแล้วเริ่มก่อจราจล โค่นโคมไฟข้างถนนหักลง รุ่งขึ้นวันที่ 27 กษัตริย์ชาร์ลที่ 10 จึงสั่งปิดหนังสือพิมพ์สี่ฉบับ การปะทะกันจึงเกิดขึ้นระหว่างกองทัพกับคนงานในสำนักพิมพ์เหล่านี้ ซึ่งในไม่ช้าชาวบ้านร้านตลาดปารีเซียงกลุ่มใหญ่ก็เข้ามาสมทบด้วย
หลายคนสับสนว่าจุดจบของชาร์ลที่ 10 จะถูกตัดคออย่างคราวแรกหรือไม่ เรามีคำตอบให้ ไม่กี่วันต่อมาคือในวันที่ 2 สิงหาคม กษัตริย์ชาร์ลที่ 10 สละราชสมบัติ ก่อนจะย่องลี้ภัยไปอังกฤษทางเรือในวันที่ 16 สิงหาคม นายกรัฐมนตรีอังกฤษสั่งให้พระองค์ใช้นามแฝง พระองค์จึงเรียกตนเองว่า “เคานต์แห่งปงติเยอ” ทว่าฝ่ายอังกฤษต้อนรับพระองค์อย่างเย็นชาด้วยการโบกธงไตรงค์ อันเป็นสัญลักษณ์ที่นำกลับมาใหม่เพื่อเย้ยหยันกษัตริย์ฝรั่งเศส
หลังจากนั้น พระองค์ก็ระหกระเหินย้ายไปอยู่ตามวังต่างๆ ในแถบยุโรป ก่อนจะติดเชื้ออหิวาต์ที่ระบาดหนัก อันเป็นสาเหตุให้กษัตริย์ชาร์ลที่10 แห่งราชวงศ์บูรบงสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 1836 ในออสเตรีย ศพถูกฝังในพื้นที่ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศสโลวีเนีย กลายเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสเพียงองค์เดียวที่ฝังอยู่นอกประเทศ

วกกลับไปที่ภาพวาดของเดอลาครัว จะเห็นได้ว่าแนวร่วมการต่อสู้มาจากผู้คนหลากหลายชนชั้นทางสังคม ซึ่งสังเกตได้จากหมวกและชุด เช่น ทางขวามือของมารียาน มีตั้งแต่กระฎุมพี (ชนชั้นกลางหรือพ่อค้าวาณิช ผู้ได้สถานะทางสังคมหรืออำนาจจากหน้าที่การงาน การศึกษา หรือความมั่งมี เลื่อนฐานะขึ้นจากการค้าขายหรืองานช่างฝีมือ หรืออาจรวมถึงกลุ่มนายทุน) สังเกตได้จากหมวกทอปแฮตทรงสูง ถัดจากเขาเป็นชายเสื้อขาวถือดาบยาวสวมหมวกเบเรต์เป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพ สังเกตได้จากชุดที่เขาใส่เป็นผ้าฝ้ายธรรมดา ชั้นนอกเป็นเหมือนชุดเอี๊ยมหรือผ้ากันเปื้อน และอีกคนที่อยู่เกือบสุดขอบภาพเป็นนักเรียนมีการศึกษาอันทรงเกียรติสวมหมวกไบคอร์น (bicorne) อันเป็นชุดเครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยสมัยนั้น
ส่วนฟากทางซ้ายของมารียาน เป็นเด็กน้อยแววตามุ่งมั่น เป็นคนเดียวในภาพที่ไม่ได้หันมองมารียานแต่จ้องไปข้างหน้าอย่างอาจหาญ เขาเป็นตัวแทนเด็กรุ่นใหม่ อนาคตของชาติ ถือปืนพกสวมหมวก กา-วรอช (Gavroche) หมวกนี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบนิยมใส่กันในหมู่เด็กผู้ชายและเด็กหนุ่ม วัยทำงานหาเลี้ยงตัวตั้งแต่เด็ก ขายหนังสือพิมพ์ ขัดรองเท้า ไปจนชนชั้นแรงงาน “กา-วรอช” เป็นคำพ้องเสียงถึงคนร่อนเร่/เด็กจรจัด และมีนัยถึงเด็กเจ้าเล่ห์ ดื้อรั้น ซุกซน ชอบพูดเหน็บแนม แต่ก็กล้าหาญ เสียสละ รักเพื่อนฝูง ใจสู้กล้าเสี่ยง เป็นลักษณะทั่วไปของเด็กถูกทอดทิ้งที่พบได้ในช่วงปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์
ฉากสำคัญใน Les Misérables (2012) ฉบับภาพยนตร์
ด้วยแรงบันดาลใจจากภาพวาดของเดอลาครัวนี้เอง ต่อมา วิกตอร์ อูว์โก (1802-1885) นักเขียนผู้โด่งดังจึงหยิบตัวละครจากในภาพนี้ หนึ่งในนั้นเรียกเขาว่ากา-วรอชในนิยายแสนคลาสสิกของฝรั่งเศส Les Misérables (เหยื่ออธรรม) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1862 แต่เนื้อหาของนิยายย้อนกลับไปเล่าในช่วงต้นศตวรรษที่สิบแปด (แต่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เรากล่าวถึงในภาพวาด) อันต่อมาถูกดัดแปลงไปอีกหลายเวอร์ชันทั้งมิวสิคัล สเตจคอนเสิร์ต ละครเวที ภาพยนตร์ ซีรีส์ เกมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ (ไว้เราจะมาเหลาให้ฟังในบทความชิ้นต่อไป ที่จะเกี่ยวกับพิธีเปิดโอลิมปิกอันลือลั่นในปีนี้)

ตรงแทบเท้าของมารียาน NG ฉบับสเปนอธิบายเพิ่มว่า “คือทหารราชวงศ์ที่เสียชีวิตอันเป็นตัวแทนของการปกครองสมัยโบราณ สองคนทางขวาของภาพที่กำลังจะถูกฝูงชนเหยียบย่ำ คนนอนหงายคือกลุ่มทหารรับจ้างจาก Swiss Guard ที่รับใช้กองทัพประเทศต่างๆ ในแถบยุโรป ส่วนคนคว่ำหน้าเป็นทหารม้ารักษาพระองค์สวมเสื้อเกราะเหล็กแขนกุด แล้วหากสังเกตตรงเหนือหัวของคนนอนหงายจะเห็นลายเซ็นลงวันที่ของเดอลาครัว” ขณะที่คนทางด้านซ้ายของรูปที่นอนเปลือยท่อนล่างอยู่นั้น le24heures อธิบายเสริมว่า “ทหารเปลือยทางซ้ายถูกจับแก้ผ้าเพื่อลบหลู่เกียรติของเขา ทั้งหมดนี้คือความเป็นจริงอันโหดร้ายอันเป็นพยานถึงราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความสำเร็จของการปฏิวัติ แม้เราจะเห็นความตายน่าอนาถใจของทหารฝ่ายกษัตริย์ในภาพนี้ แต่ความเป็นจริงคือในหมู่ทหารมีผู้เสียชีวิต 200 นาย ขณะที่ฟากประชาชนผู้ต่อต้านถูกคร่าไปมากถึงกว่า 800 คน”
จากเรื่องราวเหล่านี้จึงกลายเป็นที่มาของตราสัญลักษณ์ปารีส 2024 ในครั้งนี้ ที่จะมองเป็นรูปไฟลุกโชนในคบเพลิงโอลิมปิกก็ได้ หรือจะมองเป็นใบหน้าหญิงสาวอันหมายถึงมารียานก็ได้ด้วย รวมถึงหมวกฟรียองก็ถูกดัดแปลงเป็นแมสคอต “ฟรีจีส” ที่ตาของมันดัดแปลงมาจาก cockade ประดับหมวก พวกมันจะมากันเป็นคู่ ตัวหนึ่งมีขาเทียมแทนพาราลิมปิก แล้วที่ต้องมาคู่กันก็เพราะพวกมันมีคำขวัญว่า “แม้ตัวคนเดียวจะไปได้เร็วกว่าก็จริง แต่หากจับมือร่วมกันเราจะไปได้ไกลกว่า”
รวมถึงในงานออกแบบของ LV จะเห็นได้ชัดว่าพวกเขาจงใจให้เด็กเชิญถาดเหรียญรางวัล และหนุ่มกรรมกรขนหีบรางวัลสวมหมวกแบบกา-วรอช อันเป็นตัวแทนของผู้ทุกข์ยากถูกทอดทิ้ง ผู้ดิ้นรนต่อสู้ในสังคม และตระหนักถึงการต่อสู้เพื่อแสวงหาเสรีภาพในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อลมล้างอำนาจกษัตริย์ (รวมถึงชุดเสื้อผ้า LV สุดเนี้ยบของอาสาสมัครเหล่านี้ ตัดเย็บโดยกลุ่มช่างฝีมือผู้ลี้ภัยมาอยู่ในฝรั่งเศส ซึ่งชุดทั้งหมดจะถูกมอบให้กับอาสาสมัครเหล่านี้เป็นการตอบแทนด้วย)

อาร์ตเดโค
ธีมหลักของปารีส 2024 คือการผสานระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ แหกขนบและตามประเพณี ทะเยอทะยานท้าทายกฎเกณฑ์แต่ก็ไม่ลืมรากเหง้า และทางผู้จัดก็จงใจเลือกอาร์ตเดโค เป็นตัวเชื่อมโยงนำเสนอทุกสิ่งอย่างในงานคราวนี้
แม้ว่าอาร์ตเดโคจะบูมมากในยุคทศวรรษ 1920 แต่อันที่จริงมันมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว กุญแจสำคัญในการให้ความเป็นไปได้แก่อาร์ตเดโคคือ คอนกรีตเสริมเหล็ก ปารีสมีบ้านคอนกรีตหลังแรกในปี 1853 ก่อนที่ต่อมาในปี 1877 จะมีผู้นำเสนอไอเดียเสริมเหล็กตาข่ายเข้าไปในคอนกรีตเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบที่แข็งแรงและมหึมาขึ้น แล้วนับแต่ปี 1893 ก็มีการสร้างอาคารรูปแบบใหม่ๆ ล้ำสมัยมากขึ้น ตั้งแต่โรงจอดรถ โรงละคร โรงแรม และอาคารอาร์ตเดโคในยุคต่อมาส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
คอนกรีตเสริมเหล็กทำให้มีอิสระในการสร้างโดยไม่จำเป็นต้องเสริมเสา อันต่อมาทำให้เกิดไอเดียเรื่องการปูพื้นด้วยกระเบื้องเซรามิกเพื่อความสวยงามและป้องกันฝุ่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เกิดแผ่นกระจกใสที่แข็งแรง ราคาถูกลง และผลักความเป็นไปได้ในการออกแบบให้ช่องหน้าต่างมีขนาดกว้างขึ้น รวมถึงอะลูมิเนียมที่ใช้ในการประกอบเหล็กดัด เชื่อมกรอบกระจกหน้าต่าง ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ประดับอื่นๆ ที่มีน้ำหนักเบาลง
แนวทางแบบอาร์ตนูโว

ไล่เลี่ยกันในปี 1897 ที่ออสเตรียมีการก่อตั้งกลุ่มนักออกแบบเรียกว่า Vienna Secession (กลุ่มเวียนนาผู้ปลีกตัวออกมา ชื่อนี้มาจากกลุ่มเคลื่อนไหวคล้ายกันในมิวนิก Munich Secession ก่อตั้งในปี 1892) หรือรู้จักกันในนาม Union of Austrian Artists (สหภาพศิลปินออสเตรียน) โดยกลุ่มจิตรกร นักออกแบบกราฟิก ประติมากร และสถาปนิก เช่น โจเซฟ ฮอฟฟ์มัน, โคโลแมน โมเซอร์, อ็อตโต วากเนอร์, กุสตาฟ คลิมต์ ฯลฯ ต่างก็ยกทัพกันลาออกมาจาก Association of Austrian Artists (สมาคมศิลปินออสเตรียน) เพื่อประท้วงสมาคมนี้ที่มีแนวคิดล้าหลังในการย้อนกลับไปสร้างศิลปะรูปแบบเก่าให้มากขึ้น ทีนี้ เพื่อต่อต้านโลกเก่า กลุ่มนี้เลยร่วมกันรังสรรค์ศิลปะแนวใหม่ๆ อันเป็นหนึ่งในที่มาของสไตล์แห่งยุคนั้นเรียกกันว่า “อาร์ตนูโว” (Art Nouveau ศิลปะใหม่) เป็นเทรนด์นิยมทั่วยุโรปในช่วง 1895-1900 ที่ดึงเอาเส้นสายลวดลายจากธรรมชาติ ดอกไม้ ใบหญ้า เปลี่ยนความกระด้างให้พริ้วไหวอ่อนช้อย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาร์ตนูโว https://thaipublica.org/2022/12/pinocchio/
ต้นกำเนิดอาร์เดโค

อย่างไรก็ตาม ในช่วงรอยต่อระหว่างนูโวกับเดโค มีผลงานหนึ่งในนั้นของกลุ่ม Vienna Secession ที่ทรงอิทธิพลมากอันต่อมากลายเป็นแม่แบบให้กับอาร์ตเดโค คืออาคารห้องนิทรรศการของกลุ่ม Secession เองในกรุงเวียนนา ที่กลายเป็นว่ามันเรียบหรูดูล้ำ คลี่คลาย ลดทอนเส้นสายอันยุ่งเยอะของอาร์ตนูโวลง เปลี่ยนความอ่อนช้อยให้กระด้างขึ้นด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิตแทนที่จะใช้เส้นพลิ้วอย่างนูโว ต่อมากลุ่มนี้แตกคอกันในปี 1905 แต่ต่างคนต่างยังคงพัฒนางานของตัวเองต่อไป
กระทั่งโจเซฟ ฮอฟฟ์มัน ได้รับการว่าจ้างให้สร้าง Stoclet Palace ในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ในช่วงปี 1905-1911 แล้วพัฒนารูปแบบเปลี่ยนไปจากเดิม อาคารหลังนี้จึงถูกนับเป็นต้นตระกูลรูปแบบแห่งอาร์ตเดโค โดยฮอฟฟ์มันได้ละทิ้งแฟชั่นและสไตล์สมัยนิยมในยุคก่อนหน้านั้น ด้วยการรวมบล็อกสี่เหลี่ยมที่ไม่สมมาตรกัน ใช้เส้นหนาทึบและมุมที่เกินจริง ดึงรูปทรงเหลี่ยมและเรขาคณิตเข้ามาใช้มากขึ้น ให้ความรู้สึกหนาหนัก มหึมาอลังการ และทรงอำนาจ
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่ฝรั่งเศสยังเกิดกลุ่มศิลปินมัณฑนากร Society of Decorative Artists (SAD ย่อมาจากชื่อฝรั่งเศส Société des aRtistes Décorateurs, 1901–1945) ซึ่งรวบรวมนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ และการตกแต่งภายในอื่นๆ ประกอบกับนักออกแบบถูกท้าทายจากเครื่องเรือนของเยอรมันที่มีราคาถูกกว่ามาก กระทั่งในปี 1911 SAD นำเสนอว่าจะจัดนิทรรศการนานาชาติขึ้น ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นรูปแบบใหม่เท่านั้น แต่ในที่สุดนิทรรศการก็ถูกเลื่อนไปในปี 1914 เนื่องจากภาวะสงคราม
จนในปี 1925 SAD ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้จัด “นิทรรศการศิลปะการตกแต่งและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ระดับนานาชาติ” ขึ้นในเดือนเมษายน-ตุลาคม โดยเน้นแนวทางใหม่ๆ ทั้งสถาปัตย์ ตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแก้ว มันฑณศิลป์ต่างๆ บนลานกว้างของเลแซ็งวาลีด (หรือสุสานนโปเลียน), บริเวณพระราชวังหลวง, เปอตีปาแล (พระราชวังน้อย) และสองฝั่งแม่น้ำแซน มีผู้แสดงสินค้ากว่า 15,000 รายจาก 20 ประเทศ และผู้เข้าชมมากถึง 16 ล้านคน แนวทางนี้จึงแพร่ระบาดเป็นที่นิยมกระจายไปทั่วโลก (รวมถึงไทย เช่น หัวลำโพง ไปรษณีย์กลาง และปัจจุบันยังคงใช้กันอยู่ในเกาหลีเหนือ รวมถึงในหนังที่เล่าประเด็นเผด็จการไซ-ไฟแบบดิสโทเปียอย่าง The Hunger Games ด้วยเหตุว่ามันมีลักษณะทึบ หนา มหึมา แสดงถึงพลังอำนาจ และมีร่องรอยของอารยธรรมโบราณ)
อันที่จริงในยุคนั้นตัวสไตล์ศิลปะแนวนี้ยังไม่ได้ถูกเรียกว่า “อาร์ตเดโค” เวลานั้นพวกเขาเรียกมันว่า “โมเดิร์นสไตล์” “แนวทางใหม่” “โมเดิร์นิสติก” ไปจนถึง “แนวทางร่วมสมัย” กว่ามันจะถูกเรียกว่า “อาร์ตเดโค” ก็เมื่อล่วงเลยไปจนถึงปี 1966 นู่น เมื่อครั้งนิทรรศการโมเดิร์น ที่จัดโดยมิวเซียมแห่งศิลปะการตกแต่งในปารีส ที่ครอบคลุมสไตล์หลากหลายในยุคทศวรรษ 1920-1950 ในช่วงก่อนหน้านั้น มันจึงเพิ่งถูกเรียกว่า “อาร์ตเดโค” อันมาจากคำว่า “arts décoratifs” ตามชื่อนิทรรศการ Exposition internationale des Arts décoratifs et industriels modernes ที่จัดเมื่อปี 1925 นั้นเอง
อาร์ตเดโดในยุครุ่งเรืองมีความหรูหรา เย้ายวนใจ แสดงพลัง อุดมสมบูรณ์ ศรัทธาในความก้าวหน้าทางสังคมและเทคโนโลยี มูฟเมนต์ของแนวทางนี้ประกอบด้วยวัสดุหายาก ราคาแพง ฝีมืออันประณีต ผสมผสานกับวัสดุใหม่ๆ เช่น โครเมียม สแตนเลส ดึงเอาลักษณะเด่นลวดลายแปลกตามาจากอารยธรรมโบราณอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย อียิปต์ โรมัน มายา ฯลฯ
แต่อาร์ตเดโคไม่ใช่สไตล์เดียว ทว่ามันเป็นคอลเลกชันสไตล์ที่แตกต่างและบางครั้งก็ขัดแย้งกัน เป็นทั้งผู้สืบทอดและโต้ตอบต่อสไตล์อาร์ตนูโวที่รุ่งเรืองในแถบยุโรปช่วงก่อนหน้านั้น ความขัดแย้งกันในตัวเองของอาร์ตเดโคนี้ เกิดจากแนวคิดของสองสกุลช่างที่แข่งกันในช่วงการระบาดของอาร์ตเดโคหลังปี 1925 กลุ่มหนึ่งคือพวกอนุรักษนิยมในสมาคมศิลปินมัณฑนศิลป์ พวกเขาผสมรูปแบบสมัยใหม่เข้ากับงานฝีมือดั้งเดิมด้วยวัสดุราคาแพง อีกกลุ่มเป็นพวกหัวก้าวหน้าที่ปฏิเสธอดีตโดยสิ้นเชิง และต้องการสไตล์ที่อิงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเรียบง่าย วัสดุราคาไม่แพง และผลิตได้เป็นจำนวนมาก กลุ่มหลังนี้ต่อมาก่อตั้งองค์กรเรียกว่า The French Union of Modern Artists ในปี 1929
กลุ่มแรกเน้นความหรูหรา ประณีต กลุ่มหลังเชื่อว่างานออกแบบที่ดีต้องมาพร้อมด้วยฟังก์ชันการใช้งาน และเปิดให้ผู้คนสามารถใช้งานร่วมกันได้ ไม่ใช่หวงแหนสำหรับผู้มีอันจะกิน แนวคิดที่ขัดแย้งกันนี้เองของอาร์ตเดโคที่ผสมผสานความล้าหลังและล้ำสมัยให้กลายเป็นสิ่งใหม่ ในปีนี้จึงกลายเป็นไอเดียตั้งต้นสำหรับโอลิมปิกที่มีผู้คนมาจากหลากหลายวัฒนธรรมด้วยความเชื่อที่ขัดแย้งแต่ร่วมกันได้นั่นเอง
พิกโตแกรม
ส่วนตัวแล้วเราชื่นชมไอเดียและรายละเอียดของปารีส 2024 คราวนี้มาก แม้จะมีดราม่าทุกวี่วัน (ไว้เราจะรวมมาเล่าให้ฟังตอนหน้า) เพราะมันสร้างความขัดแย้งกันชนิดที่คนชอบก็ชอบมาก คนเกลียดก็เกลียดเข้าไส้ แต่เราสะใจมากที่ได้เห็นแนวทางใหม่ๆ ชนิดที่ไม่ประนีประนอมใดใดเลย อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่เรามองว่าบ้ง แม้ว่ามันจะสวยเหลือเชื่อ ล้ำฉีกจากครั้งไหนๆ นั่นก็คือ พิกโตแกรม (pictogram)
พิกโตแกรมเป็นสิ่งที่เราคุ้นตาเพราะมันอยู่ในสัญลักษณ์จราจร ป้ายบอกทางในห้าง ตามสถานีรถไฟฟ้า หรือแบ่งเพศหน้าห้องน้ำ ส่วนในโอลิมปิกมันเอาไว้สื่อถึงกีฬาประเภทต่างๆ ขณะที่โอลิมปิกคราวนี้ โจอาร์คิม รอนซิน หัวหน้าฝ่ายออกแบบอธิบายว่า “เราพยายามจะฉีกออกไปจากการออกแบบพิกโตแกรมของโอลิมปิกที่ผ่านๆ มา… ผมและทีมงานมองว่ามันเป็นเหมือนการทดลองสิ่งใหม่ๆ ในฐานะตัวแทนเจ้าภาพที่ต้องการนำเสนอความท้าทายที่ต่างออกไป ดังนั้น ความตั้งใจหลักของเราคือ เราต้องการทำลายขนบเก่าเหล่านี้สักเล็กน้อย”
ขณะที่จูลี มาติไคน์ แบรนด์ไดเรกเตอร์ของงานปีนี้แถลงเสริมด้วยว่า “ด้วยความที่พิกโตแกรมเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่อดีต เราจึงออกแบบมันใหม่ในรูปแบบของอาร์มตราสัญลักษณ์ (coat of arms)” ในที่นี้เราขออธิบายเสริมว่า นี่คือแนวคิดแบบอาร์ตเดโคโดยแท้ทรู เพราะแทนที่จะทำลายขนบเก่าอย่างที่ตั้งใจไว้เพื่อไปหาแนวทางใหม่ๆ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาเลือกจะย้อนกลับไปหาอดีตรากเหง้าตัวเอง เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ล้ำและแตกต่างไปจากเดิม
อาร์มตราสัญลักษณ์หรือที่บ้านเราในทางทหารเรียกกันสั้นๆ ว่า “อาร์ม” คือป้ายปักตราสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนไหล่ บนแขนเสื้อ หรือหน้าอกของเครื่องแบบทหารหรือลูกเสือ หรือธง เพื่อแสดงราชวงศ์ ตระกูล กลุ่ม หมู่ เหล่า ถ้าให้เรายกตัวอย่างชัดๆ ก็เช่นใน Game of Thrones หรือแม้แต่ใน Harry Potter เราจะเห็นตราสัญลักษณ์เพื่อแบ่งแยกบ้าน สกุล หรือเหล่าทัพ และนี่คือไอเดียตั้งต้นของการออกแบบพิกโตแกรมในปีนี้
ไฮไลต์ที่ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจคือการแสดงพิกโตแกรมในแบบไลฟ์แอ็กชัน
ที่ญี่ปุ่นเป็นคนนำเข้ามาสู่โอลิมปิกเป็นชาติแรก
พิกโตแกรมในโอลิมปิกเป็นสิ่งที่กำเนิดครั้งแรก ณ โตเกียว 1964 เพื่อแก้ปัญหาให้สื่อสารได้ง่ายและชัดเจนขึ้น คือนึกออกใช่ไหมว่าญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก การสื่อด้วยรูปภาพจะเข้าใจได้เคลียร์กว่า อีกทั้งสิ่งพิมพ์ต่างๆ บางทีก็ใช้ภาษาญี่ปุ่นตะพึดไม่รู้หินรู้แดดตามประสาญี่ปุ่นเขา ดังนั้น นอกจากจะใช้แบ่งประเภทกีฬาแล้ว มันยังไปปรากฏทั้งในแผนที่ สิ่งพิมพ์ต่างๆ เพื่อช่วยนำทางให้ไม่สับสน รวมถึงบนจอทีวีตอนถ่ายทอดสด
เอาล่ะ หากย้อนกลับไปดังความตั้งใจแรกที่ญี่ปุ่นสร้างไว้ดังกล่าวแล้วเราจะพบด้วยว่า พิกโตแกรมต่อๆ มาในแต่ละคราวมีจุดร่วมกัน 4 ประการ คือ
-
1. ความหมายชัดเจนไม่สับสน ตรงนี้คุณต้องนึกภาพด้วยว่า โอลิมปิกมาจากผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม สัญลักษณ์ประหลาดบางอย่างอาจทำให้คนบางวัฒนธรรมเข้าใจผิดได้ พิกโตแกรมจึงจำเป็นต้องสื่อสารให้เข้าใจชัดเจน ตรงไปตรงมา
2. สามารถอ่านได้ไม่ว่าจะอยู่ในสเกลขนาดไหนก็ตาม จะเล็กจิ๋วหรือใหญ่เป้งก็ยังเข้าใจได้ชัดเจนร่วมกัน เห็นได้ง่ายด้วยการเพียงมองแค่แวบเดียว มองเห็นเด่นได้แม้จะอยู่ไกลก็เข้าใจได้ทันที
3. ทั้งหมดควรมาในรูปแบบเดียวกัน มีลักษณะโดยรวมร่วมกัน
4. แต่ถึงแม้มันจะมีรูปแบบเดียวกัน แต่เรายังสามารถแยกแยะมันแต่ละอันออกจากกันได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
เอาล่ะ มาถึงบรรทัดนี้ เราขอตั้งคำถามว่า แม้พิกโตแกรมของชาวปารีเซียงในคราวนี้จะมีข้อสาม คือรูปแบบเดียวกันทั้งหมด และมันช่างเก๋ไก๋ยังกับลวดลายโมโนแกรมอันลือลั่นจากแบรนด์หรูชื่อดังก็ตามที แต่คำถามก็คือ มันสื่อความหมายชัดเจนหรือไม่ อ่านออกได้ง่ายๆ แม้จะมีขนาดเล็ก หรือเห็นไกลๆ เราสามารถอ่านเข้าใจทันทีเพียงมองปราดเดียวได้หรือไม่ มันแยกแยะออกจากกันได้ชัดเจนจริงหรือ!
ความฉีกล้ำอย่างหนึ่งของพิกโตแกรมปีนี้คือ เขาไม่ต้องการแสดงโครงร่างของมนุษย์ลงไปในนั้น เพื่อไม่ต้องการแบ่งแยกเพศ ชาย หญิง นอนไบนารี และผู้พิการ แต่เราอยากให้คุณดูรูปนี้ สีน้ำเงินคือ พิกโตแกรมจากโตเกียว 2022 คำถามคือ คุณสามารถแยกออกไหมว่า พิกโตแกรมสีดำของปารีสปีนี้ แต่ละอันมันคือกีฬาอะไร… ทิ้งไว้ให้คิดแค่นี้ก็แล้วกัน
BRAND IDENTITY
มาถึงหัวข้อสุดท้ายของบทความในคราวนี้สักที อันที่จริงเราเคยอธิบายหัวข้อ CI และ place branding ไปแล้วเมื่อตอนที่มีการจวกยับและเยินยอการแบรนดิ้งเมืองของ กทม. อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://thaipublica.org/2024/06/bangkok/
ด้วยความที่เราเคยอธิบายเรื่องการสร้างแบรนด์ให้เมืองไปแล้ว คราวนี้สิ่งที่เราอยากจะเล่าในที่นี้และเราเห็นว่ามันน่าสนใจมากๆ และยังไม่เคยมีใครเจาะลึกเรื่องนี้ คือไอเดียปรัชญาเบื้องหลังแบบฝรั่งเศส อันเป็นตัวช่วยให้ผู้ออกแบบเลือกแนวทางว่าจะใช้ลวดลายหรือสีสันด้วยแนวคิดอย่างไร อนาอิส กิลมาเน มูตูซามี นักออกแบบชาวปารีเซียง ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของ Conran Design Group บริษัทผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างแบรนด์เมืองให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกปารีส 2024 เล่าว่า
“โอลิมปิกปารีส 2024 ถือเป็นการแข่งขันที่ปารีสเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในรอบ 100 ปี (ปารีสเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนมาก่อนแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 1900 และ 1924 ครั้งนี้จึงห่างจากครั้งที่แล้วร้อยปีพอดี) ซึ่งทำให้ทีมสร้างรากฐานของแบรนด์พิจารณาแนวโน้มจากศตวรรษที่แล้ว นำไปสู่การสร้างออร์ฟิสม์ อันเป็นกระแสศิลปะของปารีสในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่แยกตัวออกมาจากลัทธิคิวบิสม์ คือในขณะที่คิวบิสม์แสดงฉากจริงจากหลายมุมในเวลาเดียวกัน ออร์ฟิสม์เฉลิมฉลองให้กับความนามธรรมที่แฝงอยู่ในเทคนิคการวางภาพแบบคาไลโดสโคปิกนี้”
มึนตึ้บไปเลยมั้ยเพียงแค่ย่อหน้าเดียวเจอศัพท์เทคนิคไปแล้ว 3-4 คำ เอาล่ะ เราจะค่อย ๆ อธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกันได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของศัพท์เฉพาะเหล่านี้มีปารีสเป็นตัวเชื่อมโยงกันหมด คือ
ออร์ฟิสม์ (Orphism / Orphic Cubism) เป็นศัพท์บัญญัติโดยกวีชาวปารีเซียงเชื้อสายโปแลนด์ กีโยม อาปอลีแนร์ มูฟของกลุ่มนี้เคลื่อนไหวในช่วง 1912 พวกเขาได้รับอิทธิพลมาจากคิวบิสม์ ทว่าพวกเขาเน้นไปทางนามธรรม หรือกวีนามธรรม (lyrical abstraction) มากกว่า ด้วยการผลิตผลงานที่ผสานกันระหว่างความรู้สึกกับสีสัน คือแทนที่จะเล่าเรื่องราวด้วยรูปทรง วัตถุ แต่พวกเขากลับใช้สีสันในการพยายามจะอธิบายความรู้สึกในแบบนามธรรม
คิวบิสม์ (Cubism) เป็นมูฟของศิลปะอาวองการ์ด (กลุ่มศิลปินผู้ทดลองแนวทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน) ในช่วงยุคทศวรรษ 1910-1920 ซึ่งเริ่มต้นในปารีส เพื่อปฏิวัติงานทัศนศิลป์และส่งอิทธิพลต่อแวดวงศิลปะแขนงอื่น เช่น วรรณกรรม บัลเลต์ สถาปัตย์ ไปจนถึงภาพยนตร์ โดยมีผู้นำมูฟนี้คือปาโบล ปิกัสโซ ศิลปินชาวสเปนผู้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส คิวบิสม์มองวัตถุหรือเรื่องราวในแบบวิเคราะห์ แบ่งออก แล้วประกอบขึ้นใหม่ในรูปแบบนามธรรม แล้วแทนที่จะใช้มุมมองด้านเดียว พวกเขาจะพรรณนาวัตถุจากหลายมุมมอง
คาไลโดสโคปิก (kaleidoscopic) เชื่อว่าตอนเด็กๆ เราน่าจะเคยเล่นกล้องคาไลโดสโคป (กล้องสลับลาย) ที่ข้างในเป็นกระจก 6 ด้าน แล้วใส่กระดาษสีลงไป เวลาพลิกแต่ละมุมมันจะสะท้อนออกมาเป็นลวดลายต่างๆ กัน อันเป็นกล้องที่มีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ในที่นี้หมายถึงเทคนิคการแยกชิ้นส่วน แล้วนำมาประกอบใหม่ ที่เห็นได้ชัดคือในพิกโตแกรมที่ออกแบบเหมือนหน้าไพ่ คือไม่ว่าจะตีลังกาจากบนลงล่างมันก็ยังคงเห็นเป็นภาพเดิม อีกส่วนคือองค์ประกอบของคีย์ CI อันเป็น DNA หรืออัตลักษณ์ของงานปีนี้ต่างๆ เช่น รูปร่างของหอไอเฟล หัวใจ วงกลม หรือซุ้มโค้งของตึก นำมาตัดแล้วประกอบไปประดับตามมุมต่างๆ ของเมือง
ในที่นี้เราจะแปลสิ่งที่มูตูซามีสื่อสารอีกทีก็คือ ไอเดียตั้งต้นของการออกแบบคือการวางรูปที่คลี่คลายลงเป็นรูปร่างหรือลายเส้นในแบบคาไลโดสโคปคือ ตัดแยกชิ้นแล้วพลิกไปพลิกมา อันเป็นแนวทางแบบคิวบิสม์ ที่มองสิ่งต่างๆ เป็นทรงเรขาคณิต โดยสื่อด้วยความรู้สึกทางสีแบบออฟิสม์ ทีนี้มันเลยมีคำถามตามมาว่า เขาเลือกสีอะไรเป็นหลัก แล้วเพราะอะไร
ตรงนี้มูตูซามีตอบแค่ว่า “ในขณะเดียวกัน สีของระบบนี้ก็ตอบสนองโดยตรงต่อสถาปัตยกรรมของปารีสด้วย… จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของหินทราย… ปารีสก่อสร้างจากหินทรายหลากหลายชนิด ภาพรวมของเมืองปารีสเลยเป็นสีหินทรายหรือสีมัสตาร์ด เมืองนี้แซมด้วยต้นไม้สีเขียว ท้องฟ้าสีฟ้า และแม่น้ำแซนก็สีฟ้าๆ เขียวๆ ดังนั้น เราจึงอยากจะเพิ่มความรื่นเริงให้เมืองนี้สักหน่อย… แล้วอะไรอีกล่ะที่จะโดดเด่นไปกว่าสีชมพู ทีมงานเราเลือกสีชมพูเป็นส่วนประกอบหลักของการสร้างแบรนด์เมือง โดยจะใช้สีสนับสนุนจากเฉดอันหลากหลาย อันเป็นสีที่จะไปเติมเต็มกับสีมัสตาร์ดของปารีส”
ในบทสัมภาษณ์นี้มูตูซามีกำลังบอกเราว่า ปารีสมีสีโดยรวมของมันอยู่แล้วคือสีหินทราย อันเป็นส่วนประกอบของสิ่งปลูกสร้างอลังการทั้งหลายแหล่ เป็นภาพรวมของเมืองนี้ซึ่งเป็นสีเหลืองคล้ายสีมัสตาร์ด ในแง่นี้เราอาจจะต้องเข้าใจในเรื่องของวงจรสีอีกนิด ที่เราขอสรุปแบบง่ายๆ ว่าในวรรณะสีที่เราเคยเรียนกันสมัยเด็กๆ ก็มีโทนร้อนกับโทนเย็นใช่ไหม สีที่เป็นสีกลางที่อยู่ได้ทั้งร้อนและเย็น คือ สีเหลืองกับสีม่วง
ทีนี้ ถ้าเขาบอกว่าเมืองนี้เป็นสีเหลือง ดังนั้น สีคู่ตรงข้ามของเหลืองก็คือสีม่วง แต่เขาไม่ได้เลือกแค่สีม่วง เขาบอกด้วยว่าสีเหลืองของเขามันเป็นสีมัสตาร์ด อันหมายถึงเหลืองปนน้ำตาลหรือส้ม ทีนี้สีที่จะไปเติมเต็มกับสีมัสตาร์ด จากรูปด้านบนแถบซ้าย อันเป็นชุดสีที่เรียกว่าสีข้างเคียงคู่ตรงข้าม หรือสีเยื้องตรงข้าม (split complementary color scheme) ของสีเหลือง น้ำตาล ส้ม ซึ่งจะเห็นว่าสีชมพูที่เขาใช้เป็นสีหลักก็อยู่ในชุดสีนี้ด้วย แล้วยังจะเห็นได้ชัดด้วยว่า จริงๆ แล้วสีที่เขาเลือกใช้คือสีที่มาช่วยขับเน้นสีของเมือง ทว่าหากเราดูรายละเอียดของการใช้สีของเขาแล้ว จะพบว่าเขาเลือกสีที่ประกอบได้เข้ากับสีโดยรวมของพื้นที่ในแต่ละอาณาบริเวณอีกด้วย เช่น ถ้าอาคารเป็นสีส้ม ก็จะเลือกสีประกอบเป็นเขียวหรือน้ำเงิน ส่วนถ้าสนามบาสเป็นพื้นไม้สีน้ำตาล ก็ใช้สีประกอบของมันคือสีเขียว ดังนั้น การจะสรุปว่าเขาเลือกใช้สีม่วงกับชมพูเป็นหลักอย่างที่เห็นๆ ตามบทความของไทยหลายๆ ชิ้นอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเอาเข้าจริงจะพบว่าบางโซนพื้นที่ก็ไม่มีสีม่วงเข้าไปประกอบด้วยเลย
มูตูซามีทิ้งท้ายคำสัมภาษณ์ของเขาว่า “เราต้องการหลีกหนีจากกรอบเดิมๆ เพื่อสร้างสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน… แต่ในขณะเดียวกัน… คนฝรั่งเศสไม่ชอบความสมบูรณ์แบบมากนักหรอก” เขาทิ้งท้ายอย่างมีนัยสำคัญว่า “มันเป็นเรื่องของความไม่สมบูรณ์แบบ และไม่สมบูรณ์แบบอย่างสมบูรณ์แบบ”
** เราขอทิ้งไว้แค่นี้ คราวหน้าเราจะมาเจาะลึกพิธีเปิดสุดดราม่าของปารีสในปีนี้กัน