
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
นายกฯส่งคำแถลงปิดคดีถึงศาล รธน.แล้ว -ปัดหานายกฯสำรอง ยังไม่ได้ชวน ‘ทักษิณ’ ช่วยงานรัฐบาล หลังพ้นโทษ ทุ่ม 450 ล้าน ผ่าน 7 มาตรการแก้ ‘ปลาหมอคางดำ’ เช็คความพร้อมรับมือน้ำท่วม ตั้งเป้าเบิกจ่ายงบลงทุน 70% ดัน GDP ปีนี้โต 3% มติ ครม.หักลดหย่อนภาษี ‘Thailand ESG’ ได้ 3 แสน ถือครอง 5 ปี ดึงคนไทยฝีมือดีกลับ ปท. ชูเก็บภาษีเงินได้ 17% – นายจ้างหักลดหย่อน 1.5 เท่า จัดงบฯ 1,350 ล้าน ช่วย SMEs จ่ายดอกกู้ 3 ปี เริ่มใช้น้ำมัน ‘EURO 6’ ตั้งแต่ 1 ม.ค.ปี’68 ผลิตพยาบาลเพิ่ม 5 ปี 15,985 คน ใช้งบฯ 7,033 ล้าน
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
ประชุมแผนรับมือน้ำท่วมที่กรมชลฯ 5 ส.ค.นี้
นายเศรษฐา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่ฝนตกต่อเนื่อง เกิดปัญหาน้ำท่วม จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานความมั่นคง บูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก นอกจากนี้ยังสั่งการให้กระทรวงกลาโหม โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ช่วยดูแลเรื่องน้ำท่วมอีกด้วย
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ตรวจพื้นที่ภาคตะวันออกและรายงานในที่ประชุม ครม. ว่ายังสามารถควบคุมได้อยู่ แต่หลังจากนี้จะลงไปตรวจพื้นที่ภาคอีสาน เพราะน่าจะมีปัญหาที่หนักกว่า จึงอยากให้เตรียมพร้อมรับมือ
“สัปดาห์หน้า วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 ผมจะไปประชุมบูรณาการแผนจัดการน้ำ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่กรมชลประทาน เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด ผมว่าเหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีการไปดูในพื้นที่ที่ท่วมแล้วท่วมอีก และมีการป้องกัน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง” นายเศรษฐา กล่าว
ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา ‘ปลาหมอคางดำ’
นายเศรษฐา รายงานว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในที่ประชุม ครม. ว่า “เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ โดยตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ พร้อมเสนอร่างการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ 7 มาตรการ ทั้งระยะสั้นสั้น กลาง และยาว โดยกระทรวงเกษตรฯ จะแถลงต่อไป”
มอบ ‘ดีอีเอส – สตช.’ ตั้ง คกก.ปราบโกงออนไลน์
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการปราบอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อย่างเร่งด่วน
“สืบเนื่องจากอาทิตย์ที่แล้ว ผมไปประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย สตช. ขอความช่วยเหลือว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่หลวง และไม่ใช่แค่ สตช. ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงดีอีเอส และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต้องติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาอยู่ และต้องตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว
เล็งเพิ่มเงินรางวัล จูงใจ จนท.ปราบยาเสพติด
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 เดือนใน 25 จังหวัดเป้าหมาย พร้อมทั้งเตรียมการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ตลอดจนพิจารณาเรื่องรางวัลนำจับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่สำเร็จเป้าหมายอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
“หลายจังหวัดทำได้เกินเป้า หลายจังหวัดทำต่ำกว่าเป้า ได้มีการคุยกับ รมว.มหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ว่าให้ไปกำชับหน่อยว่าจังหวัดไหนที่ต่ำกว่าเป้าให้เร่งดำเนินการ” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “เรื่องรางวัลนำจับ เป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่เรา ต้องนำมาแก้ไขและปรับปรุง เพื่อให้แรงจูงใจกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ และยุทโธปกรณ์ที่พร้อมเพียงในการจับกุม เพราะเมื่อมีการจับกุมมากขึ้น ความเสี่ยงกับชีวิตและทรัพย์สินเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ”
เคาะ 7 พันล้าน ผลิตพยาบาล 16,000 คน
นายเศรษฐา รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2566 – 2570 กรอบวงเงิน 7,000 ล้านบาท เพื่อผลิตพยาบาลระดับวิชาชีพ ระดับปริญญาตรี ให้เพียงพอ รองรับการขยายศักยภาพสาธารณสุขของประเทศในทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าหมายผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นเกือบ 16,000 คน
“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก การขาดแคลนบุคลากรการพยาบาล ไม่ใช่แค่ประเทศไทยอย่างเดียว ทั่วโลก และพยาบาลของเราที่มีศักยภาพที่ผลิตมาได้น้อยอยู่แล้ว ก็ถูกดึงตัวออกไป ไม่ใช่แค่จากระบบราชการอย่างเดียว ไปสู่ระบบเอกชน ถูกดึงตัวข้ามประเทศก็มีเยอะมาก” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังมีปัญหาสังคมสูงวัยต่างๆ โยงไปถึงนโยบายหลักของประเทศคือ ‘IGNITE THAILAND’ เรื่อง wellness ดังนั้นความต้องการภาคพยาบาล จึงมีสูงมาก และขอบคุณกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่ให้ความสำคัญและเร่งด่วน
จัดสินเชื่อยกระดับ SMEs สู่อุตฯสีเขียว1.5 หมื่นล้าน
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เรื่องการดำเนินโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity กรอบวงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนขั้นต่ำ และมีสภาพคล่องที่พอเพียง ที่สามารถปรับปรุงกิจการ ขยายธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว
สั่งท่องเที่ยวจัดตั้ง ‘FIFA’ มวยไทย
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาเสนอ เรื่องการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการมวยไทย soft power ปี 2567 จำนวน 275 ล้านบาท เพื่อยกระดับมวยไทยจากศิลปะต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติสู่ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวระดับโลก โดยจะมีการดำเนินการ เช่น จัดหลักสูตรมวยไทย อบรมผู้ตัดสินและผู้ฝึกสอน ตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานสมรรถนะกลุ่มมวยไทย จัดการแข่งขันมวยไทยทั้งในและต่างประเทศ จัดกิจกรรมเผยแพร่มวยไทย ตรวจรองรับค่ายมวยในต่างประเทศ
“เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้นอีก เพราะไม่ใช่แค่ soft power อย่างเดียว กีฬามวยไทยเป็นเรื่องที่ชาวโลกรู้จักดี ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด มีคำว่า ‘ไทย’ อยู่ด้วย ฉะนั้นการจะบิดเบือนว่ามาจากประเทศไหนอย่างไรคงจะไม่มีการถกเถียงกันได้ อย่างไรก็ตามมันมีกีฬาที่อาจจะคล้ายกับมวยไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง ฉะนั้นการที่เราเป็นเจ้าของมวยไทยอยู่แล้ว พูดได้อย่างเต็มปากเลย”
“ผมเสนอ รมว.ท่องเที่่ยวและกีฬา (นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช) ว่า ฟุตบอลเขาก็มี FIFA (สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ) เป็นองค์กรกำกับ เรื่องมวยไทยอาจจะต้องมี Something like FIFA ของมวยไทยมากำกับ เพื่อให้รู้ว่าเป็นกีฬาคนไทย เราเป็นผู้จัด ผู้ริเริ่ม โดยยกระดับจากภายในประเทศให้เป็นระดับสากล” นายเศรษฐา กล่าว
ใช้มาตรการภาษี ดึงคนไทยเก่งๆกลับมาพัฒนาประเทศ
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลูกจ้าง ผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของนายจ้างที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย
“เป็นการดึงผู้มีความเชี่ยวชาญในการทำงาน หรือ Talent จากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรม low profit เป็น High Profit เป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งเราต้องการมีผู้เชี่ยวชาญจากเมืองนอกกลับมา” นายเศรษฐา กล่าว
ยัน ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ โปร่งใสตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ฝ่ายค้านมีข้อกังวลเรื่องการตั้งงบประมาณข้ามปี โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “เดี๋ยว รมช.คลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) จะชี้แจงในรายละเอียด แต่ผมมีความมั่นใจว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงานที่ได้เข้ามาชี้แจงเรื่องดิจิทัลวอลเลต เป็นไปตามกฎหมาย”
“ยืนยันครับ ทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสุจริต” นายเศรษฐา กล่าว
ส่งคำแถลงปิดคดีถึงศาล รธน.วันนี้-ปัดหานายกฯสำรอง
ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงความคืบหน้า การส่งคำแถลงคดี 40 สว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุด จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “วันนี้พร้อมแล้วทุกอย่าง เหลือผมต้องไปเซ็นลงนาม และจะส่งภายในวันนี้ก่อน 4 โมงครึ่ง”
ถามต่อว่า ยังมั่นใจในเก้าอี้นายกฯ ว่าจะไปต่อได้หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ทุกอย่างเราก็ส่งไป ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมแล้ว ผมไม่อยากจะก้าวล่วง วันนี้ผมก็จะทำ Closing Statements”
ถามต่อว่า วันนี้เริ่มมีการมองหานายกฯ ตัวสำรอง หวาดหวั่นหรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ครับ”
เมื่อผู้สื่อข่าวบอกว่า หนึ่งในนั้นมีชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ทำให้นายเศรษฐา ตอบว่า “ประเทศไทยมีบุคคลคุณภาพหลายคน ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทุกอย่างยืนยันว่าบริหารตามกฎหมายทุกอย่าง และน้อมรับคำตัดสิน”
ถามอีกว่า หากคำตัดสินเป็นลบ คิดว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ควรมาจากพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาล นายเศรษฐา ตอบว่า “มันไปไกลไปแล้วครับ ผมว่าอย่าเพิ่งเลย เชื่อว่ามีกลไกที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถ้าเกิดออกมาอย่างนั้นก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ว่ากันไป”
ยังไม่ได้ชวน ‘ทักษิณ’ ช่วยงานรัฐบาลหลังพ้นโทษ
เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์ต่างๆ นายกฯ ได้พูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “อย่างที่เรียนไปแล้วว่าได้โทรไปคุย (วันเกิด) ตอนเช้าผมโทรไป ท่านไม่รับสาย ติดทำบุญอยู่ ตอนเย็น ๆ บ่ายแก่ ๆ หลังกลับมาจากต่างจังหวัด ก็ได้มีการโทรเข้าไปอวยพรท่านให้มีสุขภาพแข็งแรง มีการพูดคุยกัน”
ถามต่อว่าได้พูดคุยสถานการณ์การเมืองหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่มีเลยครับ ยืนยันว่าไม่ได้มี อย่างที่บอก วันเกิดท่านด้วย ก็อยากให้ท่านมีความสุข เรื่องเขาใหญ่ หรือ เรื่องที่อื่นก็…อยากพบปะกันธรรมดา อย่างที่มีการถามไปแล้วเรื่องการตีกอล์ฟที่เขาใหญ่ ก็รู้จักกันมานาน คุณอนุทินเองก็เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาท่าน”
ถามต่อว่า เดือนสิงหาคม 2567 นายทักษิณ ชินวัตร จะพ้นโทษเป็นผู้บริสุทธิ์ นายกฯ มีแผนให้เข้ามาช่วยงานรัฐบาลหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “เรื่องแรกเลยคือต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมถึงจะได้รับการพ้นโทษ ผมก็ยังไม่ทราบว่าตอนนี้อยู่ stage ไหนแล้ว ส่วนเรื่องจะมาช่วยงานรัฐบาลยังไม่มีการพูดคุย ขอให้เป็นขั้นเป็นตอนไป แต่ยังไม่มีการพูดคุย”
ถามย้ำว่า ไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้เข้ารัฐบาลใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ปฏิเสธที่มีการพูดคุยกัน คงมีการพูดคุยกัน แต่ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะต้องเป็นเป็นไปตามความประสงค์ของท่านด้วย ไม่ใช่ของผมฝ่ายเดียว ก็ยืนยันว่ายินดี และพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกท่าน”
นายเศรษฐา ยังตอบเรื่องกระแสของนายทักษิณ ว่ายังเป็นที่ต้องการของประชาชนใช่หรือไม่ ว่า “ผมคิดว่าคนที่เป็นนายกฯ มานานขนาดนี้ และอย่างที่ผมเคยเรียน ท่านเป็นนายกฯ ที่มีความนิยมชมชอบสูงสุด ท่านก็ยังต้องมีคนรัก”
สุดท้ายถามว่า นายกฯ คิดเห็นอย่างไร หลังจากความนิยมผ่านมาเกือบ 20 ปี โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมเชื่อว่าทุกๆ ท่านก็มีความคิดเห็น มีความหวังดี ปรารถนาดีกับประเทศชาติในปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป องค์ประกอบหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป แต่ละปี แต่ละช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีความยาก มีความซับซ้อน”
‘จุลพันธ์’ เผย ปชช.แห่ลงทะเบียน ‘ทางรัฐ’ 1 ล้านคน/วัน
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามเรื่องข้อกังวลแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ที่อาจถูกมิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ว่า ระบบยืนยันตัวตนแอปทางรัฐเป็นระบบการยืนยันตัวตนที่มีความปลอดภัยระดับสูงสุด เป็นมาตรฐานสากล
“วันๆ มีคนเข้ามาโหลดแอปทางรัฐ รวมถึงดำเนินการลงทะเบียน วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนโดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมายไว้ นี่ยังไม่เริ่ม 1 ส.ค.นี้ ที่เริ่มกระบวนการยืนยันสิทธิ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทางระบบมาก เป็นการผ่องถ่ายโหลดให้ระบบดำเนินการได้อย่างราบรื่น มาจนถึงวันนี้ยังไม่มีปัญหาใดๆ” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า แอปทางรัฐเป็นซูเปอร์แอป (super app) ในอนาคตที่จะเป็นศูนย์รวมบริการของภาครัฐจำนวนมาก ขณะนี้ก็มีหน่วยงานของรัฐมาเชื่อมต่อบริการหลายส่วน
“ส่วนที่ทางรัฐรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น KYC (ระบบความปลอดภัย ยืนยันตัวตน: Know Your Customer) กลไกต้องเดินหน้าดิจิทัลวอลเลต ไม่ได้มีปัญหา เพราะเราเตรียมพร้อมรองรับ บางหน่วยงานที่มาเชื่อมต่อ กระบวนการที่พี่น้องประชาชนเข้าไปกดลองใช้ดูบางส่วนก็ช้า เพราะไม่ได้เตรียมรองรับประชาชนจำนวน 10 กว่าล้านคนที่เข้ามาแล้ว เป็นข้อดี เราจะได้เห็นข้อจำกัดของบริการภาครัฐในแต่ละมิติ และคงจะมีการประสานงานเพื่อให้อัพเกรดความจุ ปริมาณการเข้าถึงให้มากขึ้นต่อไป” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามย้ำเรื่องความปลอดภัย นายจุลพันธ์ ตอบว่า “ไม่มีปัญหาอะไรเลย อย่างที่บอก การลงทะเบียนทางรัฐ กระบวนการในการ KYC เป็นกลไกยืนยันตัวตนระดับสูงมาก ฉะนั้นเรื่องความปลอดภัยอยู่ในระดับสูงสุด”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าการดำเนินการโครงการนี้จะไม่ทำให้ตัวเองติดคุกในอนาคต หลังถามจบ นายจุลพันธ์ หัวเราะ และตอบว่า “มั่นใจครับ มั่นใจมาก ไม่ได้มีประเด็นปัญหาใดๆ ทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมาย และเราก็ระมัดระวัง รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานอย่างครบถ้วน ข้อสังเกตใดๆ ที่เข้ามาเราก็รับมาพิจารณาและมีการปรับแก้มาเป็นลำดับ เพราะฉะนั้นตอนนี้ตัวโครงการอยู่ในจุดที่เชื่อมั่นได้ว่า ภายในสิ้นปีนี้ เงินถึงมือประชาชนแน่นอน โดยทั้งหมดเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ”
เช็คความพร้อมทุกหน่วยรับมือน้ำท่วม
ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการเรื่องการจัดการอุทกภัยว่า เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่ฝนตกต่อเนื่อง เกิดปัญหาน้ำท่วม นายกฯ จึงอยากให้ปีนี้เตรียมการอย่างดีที่สุด โดยมีข้อสั่งการ 3 ข้อ ดังนี้
-
1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเน้นการเตือนภัยให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าให้ทันการว่าจะเกิดอุทกภัยหรือฝนตกหนักที่ไหนบ้าง อย่างไร
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการในพื้นที่ เช็คความพร้อมรับมือกับปัญหาอุทกภัย โดยเน้นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหน่วยทหารควรจะยื่นมือเข้าไปให้การสนับสนุนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย
3. ให้ทุกหน่วยราชการเตรียมความพร้อมและเร่งดำเนินการป้องกัน และจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเข้าช่วยเหลือและดูแลประชาชนอย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และทั่วถึง
“ล่าสุด อธิบดีกรมชลประทานยกคนไปตั้งวอร์รูมจังหวัดสุโขทัย อำเภอเมือง ซึ่งเป็นจังหวัดที่ทุกปีมักจะมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ภาพแบบนี้คนสุโขทัยบอกไม่เคยเห็นว่าหน่วยราชการจะ proactive คือเตรียมการตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วม นายกฯ สั่งว่าต้องการให้เกิดขึ้นในการรับมือกับอุทกภัยในปีนี้ แต่จะป้องกันน้ำไม่ให้ท่วม 100% คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าที่ไหนน้ำท่วมแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปแก้ปัญหาให้ไว ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้ไวกว่าเดิม นายกฯ เน้นมากๆ” นายชัย กล่าว
นายชัย รายงานว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกล่าวในที่ประชุมว่า “ที่ผ่านมาไม่เคยนิ่งนอนใจ สัปดาห์ที่ผ่านมาลงพื้นที่ภาคตะวันออกและไปกำกับ บังคับบัญชาที่จังหวัดตราดและจันทบุรี รแม้ที่ผ่านมาฝนจะตกหนักมากๆ ขณะนี้อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก 7 – 8 อ่าง มี 4 อ่างที่แทบจะเต็มความจุแล้ว”
“ปีนี้ฝนมากกว่าปีที่แล้วแน่ เพียงแต่โชคดีว่าฝนจะมีแนวโน้มมาหนักเดือนเว้นเดือน หนักเดือน ก.ค. และเดือนก.ย. ประเมินแล้วภาคตะวันออกเอาอยู่ ส่วนภาคอีสาน สัปดาห์หน้าจะขึ้นไปเช็คลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ดูว่าจะป้องกันอุทกภัยได้อย่างไร” นายชัย กล่าว
นอกจากนี้ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ข้อมูลในที่ประชุม ครม. ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำชี ตั้งแต่จังหวัดยโสธรขึ้นไปถึงร้อยเอ็ด มีระดับน้ำสูงกว่าปีที่แล้ว 1-2 เมตร ขณะที่แม่น้ำโขง ระดับน้ำที่แม่น้ำชีและมูลจะไหลลงไปจังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำยังต่ำอยู่ ดังนั้น จึงเสนอว่าอยากให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน พิจารณาการพร่องน้ำแม่น้ำมูลและชีตั้งแต่ในช่วงนี้ เพราะจากนี้ไปเดี๋ยวแม่น้ำโขงสูงแล้วถ้าพร่องช้าจะทำงานยากขึ้น
ทุ่ม 450 ล้าน ผ่าน 7 มาตรการแก้ ‘ปลาหมอคางดำ’
นายชัย กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องปลาหมอคางดำว่า แม้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจะเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และเป็นปัญหาคาราคาซังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่รัฐบาลถือว่ามีความเดือดร้อนกับประชาชน เป็นภารกิจที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ ต้องเอาใจใส่และจริงจังกับการแก้ปัญหา
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่าที่ผ่านมาจัดการอย่างไร และจากนี้จะมีมาตรการอย่างไร
“รมว.เกษตร มอบหมายให้นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตร เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และรมช. รายงานในที่ประชุมว่า กรมประมงได้พยายามแก้ไขปัญหาแล้ว แต่เอาไม่อยู่ รมช. ลงไปดูว่าทำไมถึงเอาไม่อยู่ เพราะที่ผ่านมาขาดการบูรณาการ เนื่องจากกรมประมงทำหน้าที่เพียงผู้เดียว ขาดการบูรณาการกับภาคประชาสังคมและภาคเอกชน” นายชัย กล่าว
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการรายงานว่า ปัญหาปลาหมอคางดำพบเจอใน 16 จังหวัด โดยได้รวบรวมข้อมูลจากคณะทำงานระดับจังหวัดจากทั้ง 16 จังหวัดและรวมออกมาเป็นร่างมาตรการ 1 ฉบับ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอ 9 มาตรการจากนายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย นายกสมาคมพื้นบ้าน รวมถึงตัวแทนชาวประมงจากทั่วทุกภูมิภาค คาดว่าใช้งบประมาณ 450 ล้าน และปัญหาจะหมดสิ้นภายในปี 2570 ผ่าน 7 มาตรการ ดังนี้
-
1. มาตรการกำจัด และนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศของไทยให้มากที่สุด
2. มาตรการรอการกำจัด ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องที่ต้องรอให้ปลาหมอคางดำลดลง หลังจากนั้นจะใช้วิธีธรรมชาติบำบัด โดยการปล่อยปลานักล่าลงไป ซึ่งเชื่อว่าการปล่อยปลานักล่าในช่วงเวลาที่พอเหมาะและในพื้นที่ที่ทำการศึกษามาแล้ว จะสามารถลดปริมาณปลาหมอคางดำได้มากขึ้น
3. นำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้นำไปใช้ในรูปแบบอื่นๆ โดยตั้งเป้าว่าภายในปีนี้จนถึงกลางปีหน้า จะจับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4 พันตัน หรือ 4 ล้านกิโลกรัม
4. มาตรการเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่น
5. การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้กับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ 16 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด
6. ใช้การวิจัยและนวัตกรรม เช่น การเหนี่ยวนำโครโมโซมจาก 2n เป็น 4n ซึ่งนอกจากจะทำให้ปลาเป็นหมันแล้ว จะยังใช้ฟีโรโมนในการนำแสง สีไปล่อเพื่อให้ปลาหมอคางดำมารวมอยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อง่ายต่อการจับและกำจัด ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการใช้แสงสีเขียวล่อปลาหมึก
7. มาตรการการฟิ้นฟู โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาแหล่งน้ำที่พบปลาหมอคางดำ เพื่อเป็นข้อมูลให้กรมประมงเตรียมเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อคืนสู่ระบบนิเวศที่ให้อุดมสมบูรณ์กลับมา
“ยืนยันว่าได้ผลแน่นอน ครั้งนี้เป็นการเบรนสตรอมทุกฝ่าย ทั้ง 7 มาตรการเป็นการตกผลึกร่วมกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน” นายชัย กล่าว
ตั้งเป้าเบิกจ่ายงบลงทุน 70% ดัน GDP ปีนี้โต 3%
นายชัย กล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม. เศรษฐกิจที่ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้จีดีพีขยายตัว จากประมาณการเดิมที่ 2.4% ให้ขึ้นไป 3%
นายชัย ให้ข้อมูลว่า นายพิชัยเสนอให้เร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีนี้ให้ได้ตามเป้าไม่ต่ำกว่า 70% ที่ผ่านมามักจะไม่ถึง โดยนายกฯ ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณช่วยรายงานในที่ประชุมว่า ขณะนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร และแนวโน้มเป็นอย่างไร
“ผอ. สำนักงบประมาณ รายงานว่า การใช้จ่ายงบประมาณนับจนถึงประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2567 มีงบที่ใช้จ่ายไปแล้วประมาณ 4.8 แสนล้านบาท คำว่าใช้จ่ายไปแล้ว ไม่ใช่เบิกจ่ายไปแล้ว แปลว่าเบิกจ่าย บวกกับได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว”
“4.8 แสนล้าน เบิกจ่ายแล้วประมาณ 3 แสนล้าน และภายในก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายและเซ็นสัญญาแล้วประมาณ 7 หมื่นล้าน รวมแล้วคาดว่าการใช้จ่ายงบประมาณจะได้ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท จากงบลงทุน 6.93 แสนล้านของงบลงทุนปี 2567 หรือประมาณ 79 – 80%” นายชัย กล่าว
นายชัย ย้ำว่า “งบเบิกจ่ายคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 70% ตามแผนแน่นอน จากนี้ไปคาดว่าจะเบิกจ่ายได้อีกไม่น้อยกว่า 1.85 แสนล้านบาท รวมแล้วงบเบิกจ่ายที่เป็นงบลงทุนจะไหลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเป็น 4.85 แสนล้าน”
“ขณะนี้เหลือเวลาอีก 2 เดือนจะถึง 30 กันยายน หรือสิ้นปีงบประมาณ 2567 แล้ว และ ครม. ได้มีมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบฯ ไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 โดย นายกฯ ได้ขอให้รัฐมนตรีกำชับหน่วยงานในกำกับให้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย” นายชัย กล่าว
ชงผลงานปราบโกงออนไลน์เสนอ ครม.สัปดาห์หน้า
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สรุปความคืบหน้าว่าที่ผ่านมาจัดการอาชญากรรมทางไซเบอร์อะไรบ้าง และจากนี้ไปจะมีมาตรการอะไรบ้าง และนายกฯ จะให้มีการตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์แบบบูรณาการ
“ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ทำหน้าที่ได้เข้มแข็งมาก หนักมาก และหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามก็ทำงานหนักเหมือนกัน แต่นายกฯ อยากเห็นการบูรณาการเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกัน ขอให้กระทรวงดิจิทัลฯ ทำรายงานสรุปเข้าที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า” นายชัย กล่าว
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
ปรับเวลาแข่ง ‘วัวลาน’ เริ่ม 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ มุ่งหวังกระตุ้นเมืองรองสู่การท่องเที่ยวเมืองหลัก จึงเน้นย้ำให้ช่วยกันคิด นำจุดเด่นแต่ละพื้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และกล่าวถึงแนวความคิดหลัก 4 แนวความคิด ได้แก่ 1) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 2) การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น High Season ตลอดทั้งปี 3) พัฒนาการเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยว และ 4) การทำให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น โดยเน้นนำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ อาจจะเป็นสถานที่สวยงามหรือผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ รวมถึงอาหารและวัฒนธรรมด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีเห็นว่า เวลาในการแข่งขันวัวลานไม่สอดคล้องกับการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น ซึ่งนิยมเล่นในเวลากลางคืน ควรแก้ไขจากเวลา 07.00 น. ถึง 19.00 น. เป็นเวลา 19.00 น. ถึง 01.00 น. และได้มีการจัดประชุมซักซ้อมแนวทางการพิจารณาอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันประเภทแข่งขันสัตว์ (วัวลาน) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวลานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสนอข้อคิดเห็นเวลาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่นที่แท้จริง คือ เวลา 18:00 น. ถึง 06:00 น. ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งการพิจารณาปรับเวลาดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงวัวและอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประกอบกับหากมีการอนุญาตให้มีการเล่นในเวลาที่สอดคล้องกับการละเล่นที่แท้จริงดังกล่าว ภาครัฐจะสามารถเข้าไปดูแลจัดการให้การเล่นเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
ร่างกฎกระทรวงฯ มีสาระสำคัญเป็นการปรับแก้ไขเวลาในการแข่งขันวัวลานจากเวลา 07:00 น. ถึง 19:00 น. เป็นเวลา 18:00 น. ถึง 06:00 น. ของวันรุ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่นซึ่งนิยมเล่นในเวลากลางคืน และเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่รับทราบและเห็นชอบผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร) วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 ในการประชุมหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) กับผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 ซึ่งรวมถึงการมอบหมายให้กรมการปกครองพิจารณาปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตระยะเวลาการละเล่นวัวลานให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน
อย่างไรก็ตาม แม้การพิจารณาปรับเวลาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การระบาดของยาเสพติด การมั่วสุมของเยาวชน การค้ามนุษย์ การเกิดอุบัติเหตุด้านการจราจรในช่วงเวลากลางคืน ปัญหาด้านการสาธารณสุข ขยะมูลฝอย ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง มท. ได้แจ้งกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขัน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น 1) กำหนดขอบเขตพื้นที่จัดให้มีการเล่นแข่งขันวัวลานชัดเจน สถานที่ต้องมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย 2) เจ้าของสถานที่ต้องจัดให้มีมาตรการคัดกรองเพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เช่น จัดให้มีจุดตรวจเข้า-ออก บุคคลและยานพาหนะเพื่อป้องกันการพกพาอาวุธปืนหรือสิ่งผิดกฎหมายเข้าในสถานที่ และ 3) จังหวัดหรืออำเภอต้องจัดให้มีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจร่วมกันตรวจตรา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งเป็นการทำนุบำรุง สืบสาน และอนุรักษ์การเล่นวัวลานซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ภาครัฐจะสามารถเข้าไปดูแลจัดการให้การเล่นเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงวัวลาน และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
จัดงบฯ 1,350 ล้าน ช่วย SMEs จ่ายดอกกู้ 3 ปี
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โครงการสินเชื่อ SME green productivity เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะสามารถฟื้น ปรับปรุงกิจการ ขยายธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรม โดยโครงการฯ ดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น วงเงินโครงการ 15,000 ล้านบาท วงเงินอนุมัติสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ร้อยละ 3 ต่อปี (รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ ธพว. ร้อยละ 3 ใน 3 ปีแรก) โดยปีที่ 4 เป็นต้นไปให้เป็นไปตามที่ ธพว. กำหนด โดยมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี (ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี) ซึ่งผู้กู้สามารถใช้ประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมค้ำประกันหรือใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันตามที่ ธพว. กำหนด และมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ โดยจะสิ้นสุดรับคำขอกู้ภายใน 30 ธันวาคม 2568 หรือ จนกว่าวงเงินสินเชื่อร่วมในโครงการจะหมด ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ธพว. มีความจำเป็นต้องขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลเพื่อชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับ ธพว. รวมทั้งทั้งสิ้นไม่เกิน 1,350 ล้านบาท ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า ธพว. ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสนับสนุนสินเชื่อให้ชัดเจน รวมถึงมีกระบวนการติดตามการใช้สินเชื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การกู้ยืม และสำนักงบประมาณเห็นว่าสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เห็นควรให้ ธพว. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการสื่อสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามขั้นตอนต่อไป เป็นต้น
เริ่มใช้น้ำมัน ‘EURO 6’ ตั้งแต่ 1 ม.ค.ปี’68
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. … ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 3017-2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 5690 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบสูบระเบิดด้วยประกายเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 10 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยแก้ไขการบังคับ จากเดิม บังคับมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศเทียบเท่าระดับ EURO 4 ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2540-2554 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงมาตรฐานเลขที่ มอก. 2555-2554 เป็นการบังคับมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศเทียบเท่าระดับ EURO 6 ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย: สารมลพิษจากเครื่องยนต์ระดับที่ 10 มาตรฐานเลขที่ มอก. 3017-2563 เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” และควบคุมการระบายมลพิษจากแห่งกำเนิด โดยใช้กลไกของกฎหมายในการกำกับดูแลเพื่อยกระดับมาตรฐานมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานยนต์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล (EURO 6) และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น
รวมทั้งเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในด้านสุขภาพการได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ ผู้ทำ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟจะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ อก. ได้นำเสนอร่างกฏกระทรวงอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวงกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. … ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบเช่นเดียวกัน
จ่ายงบฯ 7,742 ล้าน หนุนตัดอ้อยคุณภาพดี – ลด PM 2.5
นางรัดเกล้า กล่าวว่า อก. รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีการกำหนดอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนตามโครงการฯ โดยใช้ข้อมูลปริมาณอ้อยสดคุณภาพดีของฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน กรอบวงเงินงบประมาณสนับสนุนรวมจำนวน 7,775.01 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี และนำไปแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาโดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
โครงการดังกล่าวมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับการสนับสนุนรวมทั้งทั้งสิ้นจำนวน 125,163 ราย ปริมาณอ้อยสูตรคุณภาพดีจำนวน 64.52 ล้านตัน วงเงินสนับสนุนเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี จำนวน 6,894.43 ล้านบาท วงเงินที่จ่ายสนับสนุนนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย จำนวน 847.52 ล้านบาท รวมทั้งทั้งสิ้น 7,741.95 ล้านบาท โดยจำแนกรายละเอียดได้ ดังนี้
กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าการดำเนินโครงการฯ ช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมทั้งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย และเป็นแรงจูงใจให้ชาวไร่อ้อยมุ่งมั่นที่จะตัดอ้อยสดเพิ่มขึ้น
หักหย่อนภาษี ‘Thailand ESG’ ได้ 3 แสน ถือครอง 5 ปี
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ TESG) โดยให้ขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนจาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี ทั้งนี้ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน และให้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี (จากเดิมต้องถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี) สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และกำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดใดที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน) โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
กรณีผู้มีเงินได้ซื้อกองทุน TESG ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ดังกล่าวได้รับสิทธิ์หักค่ารดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้รับลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย (ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิ หักค่ารถหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีกปีละประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท (ตามมาตรการเดิม คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาทและในปีถัดถัดไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท) และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับดังนี้ 1.) เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล 2.) ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน และ 3.) ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออมและการลงทุนระยะยาว อันจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติม อาทิ เห็นควรที่กระทรวงการคลังจะติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีในครั้งนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้น กระทรวงการคลังต้องหาแนวทางการเพิ่มรายได้ภาษีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายและเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังในอนาคตต่อไปด้วย
ดึงคนไทยฝีมือดีกลับ ปท. ชูเก็บภาษีเงินได้ 17% – นายจ้างหักลดหย่อน 1.5 เท่า
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ และมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรายกเว้นภาษี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …ตามที่ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาตรการและร่างพระราชกฤษฎีกา มีสาระสำคัญเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ดังนี้
1. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ เมื่อคำนวณแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ สำหรับคนไทยที่เคยทำงานอยู่ในต่างประเทศและจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีเงินได้เมื่อคำนวณแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ให้ผู้มีสิทธิ์ได้มีสิทธิ์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้นั้น นอกจากนี้ ผู้มีเงินได้จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดในการกลับมาใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว เช่น ต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี ต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งได้จ่ายเงินเดือนให้แก่บุคคลธรรมดาที่เดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยให้หักรายจ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดที่จ่ายไประหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ได้ 1.5 เท่า (ปกติหักได้ 1 เท่า) และนายจ้างจะต้องแจ้งชื่อผู้มีเงินได้ที่เป็นลูกจ้างซึ่งจะใช้สิทธิลดอัตราภาษีดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรทราบด้วย
3. มาตรการภาษีดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ดังนี้
- มาตรการมีผลใช้บังคับวันถัดจากวันที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- ผู้เข้าร่วมมาตรการภาษีดังกล่าวจะต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
- ผู้เข้าร่วมมาตรการภาษีดังกล่าวสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572
4. นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการประชาสัมพันธ์มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกประชาสัมพันธ์ให้บริษัทที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายรับทราบรายละเอียดของมาตรการนี้ด้วย
5. กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรามาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ. 2561 แล้วโดยคาดการณ์ว่า
-
5.1 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศและไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย ดังนั้น การดำเนินมาตรการนี้อาจเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล
5.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล คาดว่าจะสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 120 ล้านบาท จากการคาดการณ์ว่าจะมีคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนประมาณ 500 คน
อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีดังกล่าวจะช่วยดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวชาญในสาขาตามความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการลงทุน และการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และนอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล Thailand Vision “IGNITE Thailand” อีกด้วย
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการดึงแรงงานทักษะสูงกลับประเทศว่า “อย่างที่รัฐบาลตั้งโจทย์ เรามีหน้าที่ในการดึงดูด ทั้งเรื่องคน เม็ดเงิน การค้าการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดึงคนและทักษะมนุษย์เข้าสู่ประเทศ”
นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการเข้ามาในประเทศแล้ว เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการดึงดูดคนไทยที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่เรียนจบและทำงานในต่างประเทศ หรือคนไทยที่ทำงานอยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง ถูกจ้างงานโดยบริษัทต่างประเทศ
“รัฐบาลเลยมีมาตรการดึงคนเหล่านี้กลับประเทศ เราใช้ชื่อเล่นว่า ‘มาตรการดูดแรงงานหัวกะทิเข้าสู่ประเทศ’ โดยมีมาตรการทางภาษี 2 ด้านให้ลูกจ้างหรือแรงงานทักษะสูงในเรื่องสิทธิประโยชน์ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีรายได้ที่จะให้ไม่เกิน 17% สมมติเสียภาษีเกิน 17% ก็จะเสียแค่ 17% เพื่อเป็นการดึงดูดแรงงาน ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่ดึงดูดแรงงาน เราก็ดึงดูดให้นายจ้างจ้างแรงงานเหล่านี้ด้วย โดยให้การลดหย่อนภาษีรายจ่ายเงินเดือน ปกติเคลมได้ 1 เท่า เพิ่มเป็น 1.5 เท่าในการสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างจ้างแรงงานเข้าประเทศ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” นายเผ่าภูมิ กล่าว
เมื่อถามว่ามาตรการกฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้เมื่อไร นายเผ่าภูมิ ตอบว่า “เริ่มปีภาษี…ขึ้นกับว่ากฎหมายจะบังคับใช้เมื่อไร แต่คาดว่าน่าจะเร็วที่สุด ไม่น่าจะนาน”
เดินหน้าสัมปทานท่าเทียบเรือ A0 – แหลมฉบัง ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯต่อ
นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้ความเห็นชอบแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมของโครงการท่าเทียบเรือ เอ และท่าเรือแหลมฉบัง โดยการให้มีสัญญามีผลใช้บังคับต่อไป ตามรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ด้านการเงิน และด้านกฎหมายตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือ เอ 0 และท่าเรือแหลมฉบังเสนอ ตามที่ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (10 สิงหาคม 2553) มอบหมายให้ คค. ตรวจสอบความถูกต้อง และครบถ้วนในการดำเนินการตามกฎหมายของโครงการท่าเทียบเรือ และหากพบว่าโครงการใดมีมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งต่อมา คค. ตรวจสอบแล้วพบว่า โครงการท่าเทียบเรือ เอ 0 ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นโครงการที่การท่าเรือประเทศไทย (กทท.) ทำสัญญาลงทุน บริหาร และประกอบการท่าเทียบเรือ เอ 0 (สัญญาลงทุนฯ) กับบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด (บริษัทฯ) โดยมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2577 และเป็นโครงการท่าเทียบเรือที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (ที่ใช้บังคับในขณะนั้น) ซึ่งมาตรา 72 บัญญัติให้ในกรณีที่ปรากฏว่าโครงการใดต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 แต่มิได้ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ถูกต้อง หรือ ครบถ้วนในขั้นตอนใด ให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการยกเลิก การแก้ไขสัญญา และการให้สัญญามีผลใช้บังคับต่อไป
ดังนั้น กทท. จึงว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ด้านกฎหมาย และด้านการเงินของโครงการดังกล่าว ซึ่งที่ปรึกษาเห็นควรให้สัญญาลงทุนฯ มีผลใช้บังคับต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากโครงการท่าเทียบเรือ เอ 0 มีอัตราผลตอบแทน (Internal rate of return: IRR) สูงกว่าที่ กทท. คาดหวัง และการยกเลิกหรือแก้ไขสัญญาอาจนำมาสู่ข้อพิพาทจนทำให้บริการสาธารณะหยุดลง และส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการตามมาตรา 72 ดังกล่าว มีมติเห็นชอบการให้สัญญามีผลใช้บังคับต่อไปด้วยแล้ว
ตามที่สัญญาลงทุนฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2577 ซึ่งตามนัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 บัญญัติให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง และกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุนเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง ดังนั้น คค. และ กทท. จึงควรศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการที่เป็นไปได้และเหมาะสมสำหรับสัญญาลงทุนดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่สัญญาลงทุนฯ จะสิ้นสุดลง โดยดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ
ผลิตพยาบาลเพิ่ม 5 ปี 15,985 คน ใช้งบฯ 7,033 ล้าน
นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566- 2570) และการจัดสรรงบประมาณในการผลิตพยาบาลเพิ่ม โดยมีอัตราค่าใช้จ่ายเป็นงบดำเนินการในการผลิตบัณฑิตในอัตรา 110,000 บาทต่อคนต่อปี หรือ 440,000 บาทต่อคนต่อหลักสูตร รวมวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 7,033.40 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการขาดแคนพยาบาลยังคงความรุนแรงและส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศทุกด้าน โดยจากข้อมูลล่าสุดในปี 2566 ประเทศไทยมีอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรในภาพรวมเท่ากับ 1: 365 ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกเท่ากับ 1: 270 สภาการพยาบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดทำโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรฯ ปีการศึกษา 2566-2570 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการขยายระยะเวลาฯ ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2561-2562 รวมทั้งสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปกำลังคน และภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
การดำเนินงานโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566-2570) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 15,985 คน ให้สามารถรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศในทุกภาคส่วน และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคนพยาบาล โดยมีเป้าหมายอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรเท่ากับ 1: 326 ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการในปี 2574 (อัตราส่วนปัจจุบัน ณ ปี 2566 เท่ากับ 1: 365) และการจัดสรรงบประมาณในการผลิตพยาบาลเพิ่มในอัตรา 110,000 บาท/คน/ปี หรือ 440,000 บาท/คน/หลักสูตร อัตราเดิมที่ ครม. ได้เคยอนุมัติไวเมื่อวันวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 รวมวงเงินทั้งสิ้นจำนวน 7,033.40 ล้านบาท เพื่อผลิตบัณฑิต จำนวน 15,985 คน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 เห็นชอบโครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการการศึกษา สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2561-2565 เพื่อพัฒนาสุขภาพวะของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561-2562) โดยสรุปแผนจำนวนการผลิตพยาบาลเพิ่มและงบงบงบประมาณดำเนินการจำแนกตามสังกัดสถาบันการศึกษา ดังนี้
รวม พยาบาลวิชาชีพที่จะผลิตเพิ่ม 15,985 คน งบประมาณ 7,033.40 ล้านบาท
ซึ่งคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เห็นชอบโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว และหน่วยงานมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำผลการติดตามและประเมินผลโครงการดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาการผลิตพยาบาลให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบ และควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานในการรักษาบุคลากรพยาบาลวิชาชีพ และสร้างแรงจูงใจให้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐอย่างต่อเนื่อง
สั่งกรมศุลฯทำ ‘ฐานข้อมูลกลาง’ เบิกจ่ายเงินสินบน – รางวัล
นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร เช่น
-
1. ให้กระทรวงการคลังศึกษาวิจัยความจำเป็นในการให้เงินรางวัลเพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่และความเป็นไปได้ในการใช้ช่องทางตามระบบการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐในปัจจุบันให้เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่แทนระบบการจ่ายรางวัลจากเงินค่าปรับที่ได้รับ
2. พิจารณาปรับปรุงบัญชีอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัลให้เหมาะสมสะท้อนการมีส่วนร่วมและผลการปฎิบัติงานมากกว่าระดับตำแหน่งเพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและลดการใช้ดุลยพินิจโดยหัวหน้าส่วนราชการ
3. ให้กรมศุลกากรจัดทำ “ฐานข้อมูลกลาง” เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ และให้จัดทำข้อมูลเชื่อมโยงถึงที่มาที่ไปของรายการการกระทำความผิด รายการทรัพย์สินที่นำไปสู่การจ่ายเงินสินบนและรางวัล ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับแจ้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครบกำหนดวันที่ 29 กันยายน 2567)
ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงการคลังสรุปผลการพิจารณาผลการดำเนินการในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
อนุมัติ 275 ล้าน ทำโครงการ ‘MUAYTHAI SOFT POWER 2024’
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 275.65 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567 แบ่งเป็น 6 โครงการ ประกอบด้วย
-
1.การพัฒนาองค์ความรู้มวยไทย จำนวน 4,925,400 บาท
2.การเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของบุคคลในวงการกีฬามวย จำนวน 46,602,400 บาท
3.การจัดการแข่งขันมวยไทยเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 143,716,800 บาท
4.การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทยทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 23,641,800 บาท
5.การรับรองมาตรฐานมวยไทยสู่การสร้างรายได้กับประเทศ จำนวน 51,042,600 บาท
6.การกำกับ ติดตาม ประเมินและรายงานผล จำนวน 5,717,800 บาท
นายคารม กล่าวว่า แผนโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER มีเป้าหมายในการยกระดับมวยไทยจากศิลปะการต่อสู้ประจำชาติสู่การเป็นศิลปะการต่อสู้ระดับโลก สามารถให้นักมวยไทย ครูมวยไทย เทรนเนอร์มวยไทย รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจมวยไทยได้มีโอกาสแข่งขันและถ่ายทอดวิชาความรู้เพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมสู่ระดับนานาชาติ เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มด้วยมาตรฐานระดับโลกสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 2,234 ล้านบาท และสร้างการรับรู้กิจกรรมมวยไทยในต่างประเทศ 190 ประเทศทั่วโลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาประเทศไทยและนำรายได้เข้าประเทศ
พกยาเสพติดเพื่อใช้รักษาโรค ผ่านเข้า-ออก ปท. ต้องขออนุญาต
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงอนุญาต นำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตนำเข้า หรือ ส่งออก ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และประเภท 3 หรือวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 และประเภท 4 สำหรับผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและมีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทดังกล่าว รักษาโรคเฉพาะตัวติดเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร
นายคารม กล่าวว่าสาระสำคัญร่างฯ สรุปได้ ดังนี้
-
1. กำหนดให้ผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและต้องใช้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 3 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ที่ประสงค์จะขออนุญาตนำยาเสพติดให้โทษ หรือ วัตถุออกฤทธิ์ในประเภทดังกล่าวติดตัวเข้ามาใน หรือ ออกไปนอกราชอาณาจักรในปริมาณที่จำเป็นสำหรับการใช้รักษาไม่เกิน 90 วัน ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบที่กำหนดต่อผู้อนุญาต (เลขาธิการ อย.) ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันที่จะนำติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอามาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสังยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา
2. กำหนดให้เจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์ป่วยเดินทางระหว่างประเทศและต้องใช้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวของสัตว์นั้นที่ประสงค์จะขออนุญาตนำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทดังกล่าวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรในปริมาณที่จำเป็นสำหรับการใช้รักษาที่เกิน 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน ให้เจ้าของสัตว์ซึ่งมีอาย ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันที่นำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทดังกล่าวติดตัวเข้ามาในหรืออออกไปนอกราชอาณาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา
3. การดำเนินการตามกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
4. บุคคลดังต่อไปนี้อาจยื่นคำขอรับใบอนุญาตแทนผู้ป่วย ได้แก่ (1) บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นมีอายุไม่ไม่เกิน 18 ปี (2) บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรรม ที่น้องผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ให้การรักษามีหนังสือรับรองว่าผู้ป่วยเป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเพื่อนไม่สมประกอบ ไม่รู้สึกตัว หรือไม่สามารถสื่อสารหรือแสดงเจตนาได้
5. กำหนดให้ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาต ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่พิจารณาเสร็จ ในกรณีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต พร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์
6. กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้า หรือ ส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือ ประเภท 3 หรือ วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือ ประเกท 4 แล้วแต่กรณี
7. กำหนดให้คำขอตามกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือ ส่งออก ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้อนุญาตให้ถือว่าเป็นคำขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ และให้ดำเนินการต่อไปตามกฎกระทรวงนี้ และในกรณีที่คำขอมีข้อความแตกต่างไปจากคำขอตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอและส่งข้อมูล เอกสาร หรือ หลักฐานเพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ได้
ต่อเวลา ‘ชยธรรม์’ นั่งปลัดคมนาคมอีก 1 ปี
นายชัย กล่าวต่อว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหรือผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานของรัฐ มีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของปลัดกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1 (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าว ครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2567 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมรายงานว่า เพื่อให้การบริหารราชการของกระทรวงคมนาคม เป็นไปด้วยความต่อเนื่อง และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของส่วนราชการ จึงจำเป็นต้องให้นายชยธรรม์ ฯ ปฏิบัติหน้าที่เดิมต่อไปอีก
2. เรื่อง ขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการขนส่งทางบก ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568
2. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568
3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอย้ายข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงให้ดำรงตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจากผู้ครองตำแหน่งเดิมเกษียณอายุราชการสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และทดแทนตำแหน่งที่ว่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708/ว 9 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 จำนวน 3 ราย ดังนี้
-
1. นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวง ทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ
2. นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท ทดแทนตำแหน่งที่จะว่างในข้อ 1.
3. นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับต้นขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตามแนวทางที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว 22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 และ ที่ นร 1003/ว 22 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2553 เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นายผดุงศักดิ์ สรุจิกำจรวัฒนะ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมทางหลวง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
-
1. นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร) (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567
2. นางสาวภิญญู กำเนิดหล่ม ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการคอมพิวเตอร์) สูง] กองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นักวิชาการคอมพิวเตอร์ทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์เสนอแต่งตั้ง นางสาวบุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายชัยธร สุวรรณอำภา ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนัก 5 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
8. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางทิพาภรณ์ ศรีพลลา (ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรผู้ถือหุ้น) เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แทน นายสุนทร ตาละลักษณ์ กรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากลาออก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เพิ่มเติม